ฟุตบอลยูโร 2024 (EURO 2024) จะเปิดการแข่งขันอย่างเป็นทางการในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้แล้ว นั่นคือตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายนเวลา 02.00 น. (คืนวันที่ 14 เข้า 15) ไปจนจบคู่สุดท้ายที่เป็นนัดชิงชนะเลิศในเวลาเดียวกันของคืนวันที่ 14 เข้า 15 กรกฎาคม สำหรับการถ่ายทอดสดในไทยก็จะมีอยู่สองรูปแบบหลักคือผ่านช่องทางของทรู ที่มีการเปิดตัวแอป TrueVision Now เพิ่มเข้ามา กับทางทีวีดิจิทัลที่ออกอากาศทางภาคพื้นที่สามารถดูได้ฟรี ในบทความนี้เราจะมาแนะนำการเลือกซื้อเสาทีวีดิจิทัล เพื่อใช้เป็นเสาดูบอลยูโร 2024 ผ่านฟรีทีวีกัน เผื่อใครที่มีทีวีอยู่ แต่ไม่ได้ติดตั้งเสาอากาศไว้ หรือใช้เสาร่วมในตึกอยู่ แล้วอยากได้เสาแยกเป็นของตัวเอง โดยในบทความนี้จะกล่าวถึงเสาอากาศเท่านั้น ไม่ได้รวมจานดาวเทียมที่เป็นอีกโครงข่ายนะ
ความจำเป็นของเสาอากาศ เสาทีวีดิจิทัล
ต้องบอกว่าในปัจจุบัน เสาอากาศทีวีได้รับความนิยมลดลงไปพอสมควร เนื่องจากหลายท่านก็ซื้อทีวีมาแต่ไม่ได้ใช้ดูทีวีเลย หรือใช้ดูรายการทีวีผ่านอินเตอร์เน็ต ผ่านกล่องในรูปแบบ IPTV แทน ทำให้ผู้ผลิตก็เริ่มไม่ค่อยมีแถมเสาหนวดกุ้งเล็ก ๆ มาให้ตอนซื้อทีวีบ้างแล้ว แต่ก็จะมีรายการบางประเภทที่มีการจำกัดลิขสิทธิ์การเผยแพร่ว่าให้ครอบคลุมเฉพาะพื้นที่ เฉพาะประเทศที่ซื้อลิขสิทธิ์เท่านั้น เช่น การถ่ายทอดสดกีฬา ทำให้ต้องใช้การส่งสัญญาณรายการออกได้แค่ทางภาคพื้นดินผ่านเสาในรูปแบบที่คุ้นเคยกันมานานเพียงอย่างเดียว ทำให้เกิดปัญหาจอดำเวลาถ่ายทอดกีฬาในกรณีที่ใช้การรับสัญญาณทีวีผ่านจานดาวเทียม หรือใช้การดูทีวีผ่านเน็ตที่สัญญาการซื้อสิทธิ์ถ่ายทอดไม่ครอบคลุมนั่นเอง
ตรงนี้จึงทำให้เสาอากาศ โดยเฉพาะเสาทีวีดิจิทัลยังคงมีความสำคัญอยู่ สำหรับผู้ที่เป็นคอกีฬา และยิ่งบอลยูโร 2024 กำลังจะเปิดฉากด้วย ตอนนี้ยังถือว่ามีเวลาไปหาซื้อเสาดูบอลยูโร 2024 ผ่านฟรีทีวีได้อยู่ครับ สั่งออนไลน์ก็ยังน่าจะทัน
ประเภทของเสาทีวีดิจิทัล
เสาทีวีดิจิทัลที่มีวางขายอยู่หลัก ๆ ในตอนนี้ ถ้าแบ่งตามรูปแบบการติดตั้งของผู้ใช้งานทั่วไป จะมีสองแบบคือเสาแบบที่ใช้ภายในบ้านในอาคาร และเสาที่ใช้ติดตั้งภายนอก ซึ่งการจะเลือกก็มีปัจจัยหลักคือเรื่องความยาก-ง่ายในการติดตั้ง และระยะที่อยู่ห่างจากเสาส่งสัญญาณทีวีเข้ามาเกี่ยวข้อง หากให้สรุปสั้น ๆ ก่อนก็จะเป็นตามนี้
ความง่ายในการติดตั้ง
- ปกติแล้วเสาแบบใช้ภายในจะติดตั้งง่ายกว่า แต่ก็จะมีบางกรณีที่มีขั้นตอนเพิ่มมานิดนึง
ระยะห่างจากเสาสัญญาณ
- เสาแบบติดตั้งภายนอกมักจะรับสัญญาณได้ดีกว่า เหมาะกับจุดที่อยู่ค่อนข้างห่างจากเสาส่ง
ราคา
- อันนี้แต่ละแบบก็มีหลากหลาย ช่วงราคาค่อนข้างกว้าง ไล่ตามประสิทธิภาพการรับสัญญาณและคุณสมบัติเสริมในตัว เช่น การไม่ต้องต่อไฟเพิ่ม การไม่ต้องใช้บูสเตอร์เพื่อส่งภาพไปยังทีวีได้หลายเครื่อง เป็นต้น
เสาทีวีดิจิทัลแบบติดตั้งภายในบ้าน ในอาคาร
หน้าตาของเสาประเภทนี้ส่วนมากแล้วจะดูเหมือนเป็นกล่อง รูปทรงที่หน้าตาดูมิดชิด หรือเป็นเสาที่ค่อนข้างสั้น ขนาดไม่ใหญ่มาก เพราะจุดประสงค์ของเสาทีวีดิจิทัลแบบนี้คือเพื่อให้สามารถติดตั้งไว้ในบ้านหรือข้างทีวีได้แบบไม่เกะกะสายตา ถ้ารุ่นใหม่ ๆ หน่อยก็จะมีการออกแบบกรอบพลาสติกด้านนอกให้มีความแบนราบ เหมาะกับการติดตั้งไปกับผนังบ้าน ทำให้คล้ายกับเป็นเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านไปอีกชิ้นแทน ต่างจากเมื่อก่อนที่มักจะได้รับการออกแบบเป็นแท่งโลหะยาวสองเส้น ชูขึ้นไปสูง ๆ ในอากาศ จนได้ชื่อเล่นเรียกว่าเป็นเสาหนวดกุ้ง
แน่นอนว่าเสาแบบนี้สามารถใช้เป็นเสาดูบอลยูโร 2024 ได้ทั้งหมด แต่จะมีข้อที่ต้องพิจารณานิดนึง เพราะเสาภายในจะมีแบ่งประเภทย่อยแบบที่ส่งผลกับการต่อใช้งานกับทีวี รวมถึงการต้องซื้ออุปกรณ์เสริมด้วย นั่นคือ
1) เสาภายในแบบ Passive
เป็นเสาที่ไม่มีวงจรขยายสัญญาณในตัว เรียกว่ารับสัญญาณมาแบบไหนก็ส่งไปเท่าที่ได้ เหมาะกับการใช้งานในพื้นที่โล่ง อยู่ไม่ไกลจากเสาส่งมาก สามารถต่อสายมาเสียบเข้าทีวีได้โดยตรงเลย เสากลุ่มนี้จะราคาย่อมเยากว่าเพราะไม่มีความซับซ้อนมากนัก
2) เสาภายในแบบ active
จะเป็นเสาที่ต้องมีการจ่ายไฟ 5V เข้าเสาด้วย เพื่อช่วยขยายสัญญาณที่ได้รับมาจากเสาส่ง ซึ่งการรับไฟจะมีสองแบบ ซึ่งส่งผลกับการต่อเข้ากับทีวีแบบเต็ม ๆ ได้แก่
- รับไฟจากกล่อง set-top box หรือกล่องดูทีวี ผ่านสาย RF กล่าวคือเสาแบบนี้จะมีระบุว่าต้องต่อผ่านกล่องทีวีเท่านั้น
- รับไฟจากอะแดปเตอร์ DC 5V แบบนี้ตัวเสามักจะมีสาย USB-A มาด้วย ผู้ใช้สามารถหาอะแดปเตอร์มือถือที่จ่ายไฟ 5V มาเสียบตรงกับปลั๊กไฟได้เลย หรือจะต่อสาย USB จากเสาเข้าที่ช่อง USB ของทีวีก็ได้ (แต่ไม่ค่อยแนะนำวิธีนี้เท่าไหร่ เพราะไฟอาจไม่เสถียร)
ข้อดีของเสาประเภทนี้คือต่อให้บ้านอยู่ไกลเสาออกมาหน่อย สัญญาณอ่อนนิดนึง แต่ถ้ายังอยู่ในรัศมีการส่งสัญญาณ เสาแบบ active จะช่วยขยายสัญญาณให้อีกที ทำให้สามารถรับชมทีวีดิจิทัลได้ ในกรณีที่ยังมีระดับสัญญาณที่ไม่ต่ำเกินไป
จากความแตกต่างในข้างต้น จึงแนะนำว่าตอนจะหาซื้อเสาดูบอลยูโร 2024 ในรอบนี้ ถ้าต้องการเป็นเสาภายใน ควรจะตรวจสอบข้อมูลหรือสอบถามผู้ขายก่อนว่าเป็นเสาแบบ passive หรือ active โดยหากสรุปการเลือกประเภทเสาตามข้อจำกัดเรื่องพื้นที่จะได้ประมาณนี้
- บ้านอยู่ค่อนข้างใกล้เสา อยู่ในพื้นที่โล่ง อยู่ในเมืองตรงจุดที่ไม่ค่อยมีตึกสูงบัง – เสา passive น่าจะพอ
- บ้านอยู่ไกลหน่อย หรือมีตึกบังเสาส่ง – เสา active
- เผื่อเหลือเผื่อขาด กะซื้อทีเดียวจบ – เสา active
โดยถ้าเลือกเสาแบบ active ก็เอาปัจจัยเรื่องการติดตั้งมาคิดอีกซ้อนอีกชั้นนึง ว่าจะใช้แบบต่อผ่านกล่องทีวีดิจิทัลหรือต่อตรงเข้าเครื่องทีวีไปเลย หากเป็นกรณีแรกก็สามารถเลือกซื้อเสา active ที่รองรับการจ่ายไฟผ่านสาย RF เพียงเส้นเดียวได้เลย แต่ถ้าต้องการต่อตรงจากเสาเข้าทีวีที่รองรับ DTV แบบ DVB-T2 ก็ต้องดูเป็นเสา active ที่มีสาย USB พ่วงมา หรือมีอุปกรณ์ประเภท power insert คั่นกลาง ซึ่งตัวนี้จะมีชุดจ่ายไฟที่ต้องเสียบกับปลั๊กไฟบ้านด้วย เพื่อให้วงจรขยายสัญญาณสามารถทำงานได้
แต่ก็จะมีเสา active บางรุ่นที่ไม่ต้องจ่ายไฟเพิ่มก็สามารถใช้งานได้เหมือนกันครับ พวกนี้ราคาจะสูงขึ้นไปอีกนิด แต่ก็ง่ายในการใช้งาน คือสามารถต่อสายตรงเข้าทีวีได้เลย แต่บางตัวก็จะถูกผู้ผลิตวางให้เป็นเสาติดตั้งภายนอกแทน หรือไม่ก็ไฮบริด เนื่องจากหน้าตามันสามารถวางในบ้านได้แบบไม่เคอะเขิน
ตัวอย่างเสาดูบอลยูโร 2024 แบบติดตั้งภายในอาคารก็เช่นในภาพด้านบน ซึ่งจะเป็นเสาประเภท active สังเกตได้จากสายเชื่อมต่อที่มีสาย USB ติดมาด้วย เพียงแค่เสียบสายเข้าทีวีและเสียบสาย USB เข้าแหล่งจ่ายไฟ 5V ก็สามารถใช้งานกับทีวีดิจิทัลได้ทันที หรือถ้าต้องกับกล่องทีวีก็จะมีลักษณะการติดตั้งที่คล้ายกัน ราคาของเสาประเภทนี้จะอยู่ที่หลักร้อย เริ่มตั้งแต่ร้อยกว่าบาทก็มีแล้ว
หรือจะมีอีกแบบก็คือเป็นเสาแบบ active แต่ไม่มีสาย USB หรือ power insert มาให้ ถ้าเป็นแบบนี้ก็สามารถซื้อ power insert แยกมาเพิ่มเองได้ครับ ราคาไม่ถึงร้อยบาท
ส่วนเสาแบบ passive ก็จะมีความซับซ้อนที่น้อยกว่า คือมีแค่สายต่อเข้าทีวีเพียงเส้นเดียว ขนาดก็ค่อนข้างเล็ก บางรุ่นก็เล็กกว่าฝ่ามือด้วยซ้ำไป ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ไม่ถึงร้อยบาท ในกรณีถ้าใช้ทีวีที่รองรับทีวีดิจิทัล DVB-T2 อยู่แล้ว และพื้นที่อยู่ในจุดสัญญาณแรง ไม่มีอะไรบดบัง ก็สามารถซื้อเสาประเภทนี้ไปใช้หรือไปลองก่อนได้ เพราะถ้าใช้ได้ก็ช่วยประหยัดงบลงไปได้เยอะมาก แถมติดตั้งก็ง่ายด้วย
เสาทีวีดิจิทัลแบบติดตั้งนอกบ้าน
เสาทีวีประเภทนี้ เกือบทั้งหมดก็คือพวกแผงหรือเสาก้างปลาที่คุ้นเคยนั่นเอง ลักษณะคือจะมีแท่งโลหะยื่นออกมาจากแกนกลาง จุดเด่นของเสาแบบภายนอกก็คือมีความสามารถในการดักจับสัญญาณที่สูง แต่ก็ตามมาด้วยการติดตั้งที่ทำได้ยากกว่า เพราะอาจจะต้องปักเสาติดกับบ้าน เพื่อใช้เป็นเสาติดตั้งเสาทีวีแบบนี้อีกทีนึง
เสารูปแบบนี้จะมีทั้งแบบสั้นและแบบยาวขึ้นอยู่กับระดับความสามารถในการรับสัญญาณทีวีที่ต้องการ อย่างถ้าบ้านอยู่ไกลเสาส่งหน่อยก็อาจจะต้องติดตั้งเป็นแผงใหญ่ มีแท่งโลหะช่วยรับสัญญาณเยอะ ๆ เพราะมันสามารถรับสัญญาณได้จากระยะไกลกว่า 70 กิโลเมตรเลยทีเดียว ส่วนเสาสั้น ๆ ก็จะเหมาะกับการใช้ในเมือง ระเบียงคอนโดที่อยู่ไม่ไกลจากเสาส่งมากนัก คือไม่เกิน 30 กิโลเมตร
ข้อดีอีกแบบของเสาทีวีดิจิทัลแบบภายนอกก็คือมักจะมีราคาที่ย่อมเยากว่าเสาแบบภายใน เรียกว่าส่วนใหญ่จะจ่ายน้อยกว่า แต่รับสัญญาณได้ไกลกว่า
ราคาเริ่มต้นของเสาดูบอลยูโร 2024 ในแบบเสาภายนอกจะอยู่ที่ไม่ถึงหนึ่งร้อยบาท ส่วนถ้าเสายิ่งยาว แผงใหญ่ขึ้น ราคาก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย
ซึ่งเสาดูทีวีทั้งหมดนี้สามารถหาซื้อได้จากร้านจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวข้อง ร้านขายอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ ร้านขายทีวี หรือในแพลตฟอร์มขายของออนไลน์ก็มีให้เลือกซื้อมากมายครับ
ถ้าจะดูทีวีหลายเครื่อง ต้องทำยังไง?
หากมีทีวีหลายเครื่องที่ต้องการรับภาพจากเสารับสัญญาณเสาเดียว ปกติแล้วก็จะต้องซื้ออุปกรณ์ประเภท splitter หรือตัวแยกสัญญาณมาเพื่อแบ่งสัญญาณออกด้วย หน้าตาก็เป็นตามภาพด้านล่าง
โดยจะมีขายหลากหลายแบบมาก ถ้าสำหรับผู้ใช้งานทั่วไปก็ดูแค่ว่าเป็นแบบสัญญาณออกกี่หัว เช่นแบบเข้า 1 ออก 3 ที่ตัว splitter ก็จะมีหัวให้เสียบสายจากเสา 1 หัว แล้วก็มีหัวให้เสียบสาย RG6 ต่อเข้าไปหาทีวีหรือกล่องทีวีได้อีก 3 หัว ก็แบ่งไป 1 หัวต่อทีวี 1 เครื่องเท่านั้นเอง ซึ่งแต่ละเครื่องก็สามารถดูช่องแยกจากกันได้แบบอิสระ ราคา splitter ก็เริ่มต้นที่ประมาณ 30 กว่าบาท ถ้าเป็นแบบกล่องเหล็กก็จะมีราคาสูงขึ้นมาอีกนิดนึง
แต่ถ้าต่อ splitter แล้วพบว่าสัญญาณที่ทีวีแต่ละเครื่องได้รับมันค่อนข้างอ่อน ภาพติด ๆ ดับ ๆ โดยเฉพาะถ้าใช้งานกับเสาแบบภายนอกที่ไม่ได้มีการใส่วงจรขยายสัญญาณมาให้ในเสา ก็อาจจะต้องหาซื้อตัวบูสเตอร์ไปติดตั้งคั่นกลางระหว่างเสากับ splitter อีกที เพื่อให้ช่วยขยายสัญญาณ gain และอาจมีความสามารถในการตัดสัญญาณ 4G/5G ไม่ให้มารบกวนสัญญาณทีวีภายในสายด้วย โดยจะต้องมีการต่อสายเพื่อจ่ายไฟ DC 5V เข้าตัวบูสเตอร์ ลักษณะก็จะคล้ายกับพวก power insert ของเสาแบบภายในนั่นเอง
เมื่อติดตั้งเข้าไปแล้วก็จะช่วยให้สัญญาณทีวีส่งไปหาทีวีแต่ละเครื่องที่ใช้เสาร่วมกันได้ดีขึ้น ราคาของบูสเตอร์ก็จะเริ่มตั้งแต่หลักร้อยต้น ๆ ขึ้นไป
วิธีการดูว่าบ้านอยู่ไกลจากเสาขนาดไหน และควรหันเสาไปทิศไหนถึงจะดีสุด
ตั้งแต่ก่อนซื้อเสาอากาศ เราควรทราบก่อนว่าบ้านหรือตำแหน่งที่จะติดตั้งเสานั้นอยู่ห่างจากเสาส่งเท่าไหร่ เพื่อให้สามารถเลือกซื้อเสาได้ถูกประเภท รวมถึงหลังจากซื้อมาแล้ว ก็จะได้หันหน้าเสาไปให้ตรงกับเสาส่ง เพื่อให้สามารถรับสัญญาณมาได้เต็มที่ ถ้าสำหรับใน กทม. จะค่อนข้างง่ายหน่อยครับ เพราะเสาส่งทีวีดิจิทัลที่ใหญ่สุดจะอยู่ที่ตึกใบหยก 2 ซึ่งอยู่ใจกลาง กทม. เลย
ทำให้สามารถเช็คระยะคร่าว ๆ ได้ง่ายว่าอยู่ห่างจากตึกใบหยก 2 อยู่กี่กิโลเมตร และการหันทิศเสาก็ทำได้สะดวกมาก แค่เปิดแอปแผนที่ในมือถือขึ้นมา แล้วหันหน้าไปทางใบหยก 2 ก็เสร็จแล้ว แต่ถ้าเป็นในต่างจังหวัด ตำแหน่งของเสาส่งจะมีกระจายไปในแต่ละภูมิภาค ทำให้เช็คข้อมูลได้ยากกว่า แต่ก็ไม่ต้องเป็นห่วงครับ เพราะทาง กสทช. ก็มีแอป DTT Service Area ให้โหลดไปใช้ตรวจสอบกันได้ มีให้โหลดทั้งใน App Store และ Play Store
เมื่อโหลดแล้วก็เปิดใช้งาน โดยเปิดให้ยินยอมการเข้าถึงตำแหน่ง (location) ของมือถือด้วย จากนั้นแอปก็จะแสดงข้อมูลในรูปแบบแผนที่ว่าตอนนี้เราอยู่ตรงไหน หันหน้าไปทางไหน และเสาส่งทีวีใกล้สุดอยู่ทางทิศใด คิดเป็นมุมเทียบกับทิศเหนือที่กี่องศา ระยะห่างจากเสาส่งประมาณกี่กิโลเมตร ซึ่งข้อมูลนั้นครบถ้วนดีมาก ช่วยให้สามารถตัดสินใจเลือกประเภทเสาที่ต้องการได้ทันที
โดย กสทช. เองก็มีเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการรับสัญญาณทีวีดิจิทัลแบบฟรีทีวีเอาไว้ตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน แต่ก็ยังใช้เป็นแนวทางได้อยู่ ว่าถ้าระยะห่างจากเสาส่งเท่าไหร่ ควรใช้เสาทีวีประเภทไหนบ้างดี เช่นถ้าอยู่ไม่เกิน 20 กิโลเมตร จะใช้เสาภายใน เสาหนวดกุ้งก็ทำได้สบาย ถ้าพื้นที่โล่งก็แบบ passive ยังไหว ถ้าเอาชัวร์ก็แบบ active ไป ถ้าอยู่ห่างออกมาหน่อย แต่ไม่เกิน 30 กิโลเมตร ก็ควรเลือกใช้เสาแบบติดตั้งภายนอก เป็นแบบเสาสั้นก็น่าจะเอาอยู่ ส่วนถ้าไกลกว่านั้นออกไปอีกก็ควรเลือกเป็นเสาก้างปลาที่มีขนาดใหญ่ซักนิดนึง
สรุปการเลือกซื้อเสาดูบอลยูโร 2024 แบบฟรีทีวี
หากคุณต้องการดูบอลยูโร 2024 แบบฟรี ๆ ผ่านช่องทีวีดิจิทัลอย่างถูกลิขสิทธิ์ เบื้องต้นเลยคือทีวีจะต้องรับสัญญาณจากเสาภาคพื้น ที่การันตีแน่ ๆ ว่าไม่มีจอดำ ในกรณีที่บ้านไม่มีเสาติดตั้งไว้ หรือหอพัก คอนโดมีเสารวมที่สัญญาณไม่ค่อยดี หรือไม่ได้เป็นเสาอากาศ ก็สามารถเลือกซื้อเสาทีวีดิจิทัลในท้องตลาด หรือผ่านแพลตฟอร์มขายของออนไลน์ไปใช้ได้เลย
โดยเสาจะมีเป็นแบบที่หน้าตาดูดีหน่อย ดูวางในบ้านได้แบบไม่เคอะเขิน เสาประเภทนี้มักจะเป็นเสาแบบติดตั้งในบ้าน (เสา indoor) ข้อดีคือหน้าตาดูโอเค แต่ก็จะมีความจุกจิกนิดนึงคืออาจจะต้องต่อสายเพื่อจ่ายไฟเพิ่มด้วย หรือบางรุ่นก็ต่อตรงเข้าทีวีไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งเสาหนวดกุ้งก็จะจัดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย
เสาอีกประเภทคือเสาแบบติดตั้งภายนอก (เสา outdoor) ส่วนใหญ่จะมีหน้าตาแบบก้างปลา เลยมีชื่อเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นเสาก้างปลา แบบนี้จะติดตั้งยากกว่า แต่ก็จะมีประสิทธิภาพในการรับสัญญาณที่สูงกว่าเสา indoor ประมาณนึง รวมถึงราคาก็จะย่อมเยากว่า
แต่ปัจจุบันก็จะมีเสา outdoor ที่ทำหน้าตาออกมาแบบเสา indoor เลยก็มี ซึ่งผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายก็จะระบุว่าเป็นเสาแบบไฮบริด คือจะติดตั้งที่ไหนก็ได้ตามต้องการ โดยบางรุ่นก็จะถูกออกแบบมาให้มีประสิทธิภาพในการรับสัญญาณที่สูง รองรับการต่อทีวีพ่วงได้มากกว่า 1 เครื่องแบบสัญญาณไม่ตกมาก จึงไม่จำเป็นต้องต่อสายไฟเพื่อจ่ายไฟให้วงจรขยายสัญญาณเลย เสากลุ่มนี้ก็จะมีราคาที่สูงขึ้นไปอีกนิดนึง แต่ได้เรื่องความง่ายในการติดตั้งและใช้งานนั่นเอง
ส่วนปัจจัยหลักที่ต้องพิจารณาในการเลือกประเภทเสาก็คือเรื่องทิศทางกับระยะห่างจากเสาส่ง และความยากง่ายในการติดตั้งเสารับ ณ จุดที่ใช้งาน
- ใกล้ ที่โล่ง เน้นติดง่าย = เสา indoor
- ใกล้ ที่โล่ง ติดหลังคาหรือระเบียงได้ = เสาแบบไหนก็ได้
- ใกล้ ตึกบังเยอะ = เสา outdoor โดยพยายามติดให้ยื่นออกไปที่โล่งให้ได้มากที่สุด
- ไกล ที่โล่ง เน้นติดง่าย = เสา indoor กำลังสูง ๆ หรือเสาไฮบริด
- ไกล ที่โล่ง ติดหลังคาหรือระเบียงได้ = เสา outdoor
- ไกล ตึกบังเยอะ = เสา outdoor หรืออาจจะรับสัญญาณยากมาก ถ้าไม่ได้ติดในที่สูง