นับตั้งแต่ได้รับการเปิดตัวมา Xiaomi Mi Mix 3 ก็ถือเป็นสมาร์ทโฟนจาก Xiaomi ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ด้วยการคงคอนเซ็ปท์มือถือจอเกือบเต็มเครื่องตามสไตล์ซีรีส์ Mix ซึ่งคราวนี้มาพร้อมการพัฒนายิ่งกว่าเดิมด้วยการซ่อนกล้องหน้าแบบ 100% แล้วเปลี่ยนมาใช้กลไกที่สามารถสไลด์หน้าจอเพื่อให้สามารถซ่อนกล้องหน้าเอาไว้ภายในได้นั่นเอง และนอกเหนือจากการสไลด์หน้าจอแล้ว สเปคภายในยังมาในระดับที่เรียกว่าจัดเต็มอีกด้วย ซึ่งในรีวิวนี้จะมาดูกันในทีละจุดเลยครับ ก่อนอื่นก็มาดูสเปคก่อนเลย
สเปค Xiaomi Mi Mix 3
- ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon 845 ความเร็วสูงสุด 2.8 GHz มี 8 คอร์ประมวลผล พร้อมชิปกราฟิก Adreno 630
- แรม 6 GB
- พื้นที่เก็บข้อมูล 128 GB แบบ UFS 2.1 ไม่รองรับการเพิ่ม MicroSD
- หน้าจอแบบ Full Screen พาเนล AMOLED ขนาด 6.39″ อัตราส่วน 19.5:9 ความละเอียดระดับ FHD+ (2340 x 1080)
- กลไกสไลด์หน้าจอด้วยระบบแม่เหล็ก
- กล้องหลังคู่ พร้อมแฟลช LED ถ่ายวิดีโอสโลว์โมชันได้ถึงระดับ 960 fps
- เลนส์ระยะปกติ 12 ล้านพิกเซล f/1.9 เซ็นเซอร์ Sony IMX363
- เลนส์เทเล 12 ล้านพิกเซล เซ็นเซอร์ Samsung S5K3M3
- กล้องหน้าคู่ พร้อมแฟลช LED
- เลนส์ปกติ 24 ล้านพิกเซล เซ็นเซอร์ Sony IMX576
- เลนส์สำหรับช่วยวัดระยะ 2 ล้านพิกเซล
- รองรับ 4G LTE และ VoLTE พร้อมกันทั้ง 2 ซิม และรองรับการทำ 3CA ที่ซิมหลัก
- เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือที่ด้านหลังเครื่อง
- แบตเตอรี่ความจุ 3200 mAh
- รองรับการเชื่อมต่อทาง USB-C และสามารถชาร์จเร็วได้ถึงตามมาตรฐาน Quick Charge 4.0+
- รองรับการชาร์จไร้สาย 10W (แถมแท่นชาร์จในกล่อง)
- ราคาศูนย์ไทย 18,999 บาท
สเปคโดยรวมของ Xiaomi Mi Mix 3 ก็ยังคงอัดแน่นไปด้วยฮาร์ดแวร์ระดับท็อป ฟีเจอร์ในระดับเรือธง แถมยังนำเทรนด์ด้วยการใช้หน้าจอแบบสไลด์ที่ทำให้จอไม่มีติ่ง ไม่มีหยดน้ำ ไม่มีเจาะรูอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้รวมอยู่ในเครื่องราคาไม่ถึง 20,000 บาท นับว่าเป็นมือถือรุ่นท็อปที่น่าสนใจอีกรุ่นหนึ่งในช่วงนี้เลยก็ว่าได้
ดีไซน์ หน้าตาของ Xiaomi Mi Mix 3
สิ่งที่เป็นจุดเด่นก็คงหนีไม่พ้นหน้าจอที่รอบนี้มาในแบบเกือบเต็มเครื่อง ไม่มีติ่ง หยดน้ำ หรือรูกล้องหน้าใด ๆ ทั้งสิ้น ส่วนกรอบด้านล่างจอหรือที่เรียกว่าคางนั้น ก็บางลงกว่า Mi Mix 2S ด้วย แต่อย่างไรก็ยังหนากว่าขอบจอด้านบนอยู่เล็กน้อย ซึ่งเป็นเรื่องของเทคโนโลยีในการผลิตครับ
หน้าจอเลือกใช้พาเนล AMOLED ที่สามารถแสดงผลได้ดีในแทบทุกสภาพแสง ลองเอียงจอดูแล้วก็ไม่พบอาการจอเหลือบสีน้ำเงิน (blue tint) มุมมองภาพกว้าง ส่วนสีสันก็ไม่จัดจ้านมากนักครับ ถ้าไปเทียบกับมือถือรุ่นอื่นที่ใช้พาเนล AMOLED เหมือนกัน ก็อาจจะทำให้รู้สึกว่าภาพของ Mi Mix 3 ดูสีซีดไปหน่อย แต่โดยรวม ๆ แล้วผมรู้สึกว่ามันสบายตากว่า ใช้งานได้นานแบบไม่ค่อยล้าสายตาเท่าไหร่
ส่วนปุ่มสั่งงาน 3 ปุ่มด้านล่างนั้น ที่จริงยังมีให้ใชอยู่ครับ แต่ในเมนูก็มีหัวข้อให้ซ่อนทั้ง 3 ปุ่มไป แล้วใช้การสั่งงานด้วยการปัดหน้าจอแทนได้ ตัวอย่างของรูปแบบการปัดหน้าจอก็เช่น ปัดที่ขอบจอเข้ามาเพื่อแทนปุ่ม back ปัดจากขอบล่างขึ้นบนเพื่อแทนปุ่มโฮม ปัดจากขอบล่างขึ้นมาแล้วจิ้มนิ้วค้างไว้ เพื่อแทนปุ่ม recent app เป็นต้น
ส่วนการสไลด์หน้าจอเพื่อใช้งานกล้องหน้า ก็ให้กดจอแล้วเลื่อนลงมา ซึ่งกลไกการสไลด์หน้าจอแบบแม่เหล็กนั้นถือว่าทำออกมาได้ดี เพราะทำให้การล็อกตำแหน่งจอและการเลื่อนดูมีความแข็งแรงดีมาก แม้ในตอนที่ใช้แรก ๆ อาจจะดูฝืดไปเล็กน้อย แต่พอใช้งานไปซักพักก็จะจับจุดได้ครับว่าควรเลื่อนอย่างไร แนะนำว่าให้กดนิ้วหัวแม่มือลงไปที่กลางจอ จากนั้นดันนิ้วกดลงไปเล็กน้อย แล้วเลื่อนจอลงมาเลย
เมื่อสไลด์ลงมาแล้ว ก็จะพบกับแผงกระจกที่บรรจุกล้องหน้าที่วางคู่กันทางฝั่งซ้าย ลำโพง และไฟแฟลช LED ทางฝั่งขวา โดยมีขอบเครื่องนูนอยู่โดยรอบเพื่อเป็นการปกป้องแผงกระจกด้านในไปด้วยในตัว
ส่วนเซ็นเซอร์วัดแสงสว่าง เซ็นเซอร์วัดระยะห่างนั้นจะถูกวางไว้ที่ขอบจอด้านบนเลยครับ ถ้าอิงตามตำแหน่งในภาพด้านบนก็คืออยู่แถว ๆ ไอคอนรูปกระดิ่งกับไอคอนรูปแบตเตอรี่
ขอบจอด้านล่างจะมีความหนากว่าขอบด้านอื่นเล็กน้อย แต่ถ้าเทียบแล้วก็ถือว่าบางกว่า Mi Mix 2S อย่างเห็นได้ชัดเหมือนกัน
พลิกมาด้านหลังก็จะเป็นฝาหลังแบบเซรามิกที่มีความแวววาว และสวยงามแบบดูมีคลาสมาก ตัดด้วยโลโก้ MIX BY XIAOMI สีทองที่ยอมรับเลยว่าทำออกมาได้ดูดีจริง ๆ ขอบของฝาหลังแต่ละด้านจะโค้งตัดเข้าไปหาขอบเครื่องอลูมิเนียมได้แบบพอดี ทำให้เวลาจับแล้วไม่บาดมือ จะติดก็ที่น้ำหนักตัวเครื่องที่เริ่มต้นก็ 218 กรัมเข้าไปแล้ว
ส่วนเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือก็อยู่ในตำแหน่งที่พอดีกับปลายนิ้ว ถัดขึ้นไปก็เป็นแถบกล้องหลังคู่ที่นูนขึ้นมาจากฝาหลัง พร้อมกับไฟแฟลช LED ที่อยู่ตรงกลาง
ส่วนด้านข้างเครื่องก็มีพอร์ตและปุ่มต่าง ๆ ดังนี้
- ด้านบน: ช่องรับเสียงของไมค์ตัดเสียงรบกวน
- ด้านล่าง: ช่องรับเสียงของไมค์สนทนา ลำโพงและ USB-C
- ด้านซ้าย: ถาดใส่ซิมคู่ และปุ่มสำหรับเรียกใช้งาน Google Assistant
- ด้านขวา: ปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง และปุ่ม Power
ซอฟต์แวร์ของ Xiaomi Mi Mix 3
Xiaomi Mi Mix 3 มาพร้อมระบบปฏิบัติการ Android 9.0 (Pie) ที่ครอบมาด้วย MIUI 10.0 Global ที่พร้อมใช้งานได้ตั้งแต่แกะกล่อง รวมถึงยังมีแอปจาก Google มาอย่างครบถ้วน และสามารถใช้งานภาษาไทยได้อย่างสมบูรณ์ด้วย
พื้นที่เก็บข้อมูลตามสเปคคือ 128 GB เมื่อเปิดมาครั้งแรกก็จะเหลือให้ใช้อีกประมาณ 117 GB ส่วนแรมนั้นหายห่วงเลยครับ เปิดแอปเยอะขนาดไหนก็รับมือได้สบาย เพราะ Mi Mix 3 มาพร้อมแรมถึง 6 GB เลยทีเดียว
ด้านของการเชื่อมต่อเครือข่าย Mi Mix 3 ก็รองรับการสแตนด์บาย 4G และรองรับ VoLTE พร้อมกันทั้งสองซิม โดยจะมีเฉพาะซิมหลักเท่านั้นที่รองรับการเชื่อมต่อได้สูงสุดที่ระดับ 3CA
ฟีเจอร์ที่น่าสนใจของ Xiaomi Mi Mix 3
ฟีเจอร์เด่นหลัก ๆ เลยก็คือการสไลด์หน้าจอเพื่อเปิดใช้งานกล้องหน้า รวมถึงยังใช้ในการปลดล็อกหน้าจอด้วยการสแกนใบหน้า และยังสามารถสไลด์หน้าจอลงมาเพื่อรับสายโทรศัพท์ได้อีกด้วย เท่ห์ฝุด ๆ
ซึ่งในเมนูการตั้งค่าจะมีให้ผู้ใช้เลือกได้ว่า จะให้การสไลด์หน้าจอเป็นตัวแทนของช็อตคัตใด โดยค่าเริ่มต้นก็คือจะให้เป็นการเปิดแอปกล้องเพื่อเตรียมสำหรับถ่ายเซลฟี่ ทำให้ผู้ใช้สามารถเลื่อนหน้าจอลงมาเพื่อถ่ายเซลฟี่ได้ทันที จะเลือกให้เปิดแอปอื่นแทนก็ได้ เช่นอาจจะให้เลื่อนหน้าจอลงเพื่อเปิด Line หรือจะปิดช็อตคัตนี้ไปเลยก็ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ด้วยการที่ไม่มีช่องเสียบแจ็คหูฟังแบบ 3.5 มม. ทำให้ถ้าหากต้องการใช้หูฟังแบบมีสาย ก็แทบหนีไม่พ้นว่าจะต้องใช้สายแปลงจาก USB-C เป็น 3.5 มม. ซึ่งอาจกระทบกับการสไลด์หน้าจอได้เหมือนกัน หากตัวสายแปลงหรือหัวของสายชาร์จหนาจนเกินไป ก็อาจจะทำให้ไม่สามารถสไลด์จอลงมาเพื่อใช้กล้องหน้า หรือสแกนใบหน้าเพื่อปลดล็อกจอได้เลย ส่วนถ้าใช้สายที่แถมมาในกล่องก็ไม่มีปัญหาอะไรครับ
ส่วนการชาร์จแบบไร้สายรองรับการชาร์จตามมาตรฐาน Qi โดยสามารถใช้แท่นชาร์จที่แถมมาในกล่องได้เลย ตัวแท่นก็จะเป็นแผ่นกลม ๆ แบน ๆ ครอบผิวด้านนอกด้วยวัสดุแบบซอฟต์ทัช ส่วนช่องเสียบสายชาร์จก็จะเป็นหัวแบบ USB-C
ด้านของอะแดปเตอร์ชาร์จไฟก็สามารถจ่ายไฟได้สูงสุดได้ 3 ค่าคือ 5V 2.5A / 9V 2A และ 12V 1.5A
ประสิทธิภาพและการเล่นเกมบน Xiaomi Mi Mix 3
ในแง่ของประสิทธิภาพ ความแรง และผลการทดสอบด้วยแอปต่าง ๆ นั้น คงไม่ต้องเป็นห่วงเลยครับ เพราะมาพร้อมสเปคระดับท็อปทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นชิปประมวลผล Snapdragon 845 แรม 6 GB พื้นที่เก็บข้อมูลแบบ UFS 2.1 ความเร็วสูง ทำให้คะแนนผลการทดสอบที่ออกมานั้นเกาะกับกลุ่มมือถือระดับท็อปได้แบบไม่มีปัญหา ส่วนการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต 4G ในไทย เท่าที่ผมทดสอบด้วยเครือข่ายสีแดงก็ได้ความเร็วทะลุเกิน 100 Mbps ได้สบาย (ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่ใช้งานด้วย)
ในการใช้งานทั่วไป ผมไม่พบปัญหาอะไรครับ ทั้งไหลลื่น รวดเร็ว และสามารถเปิดแอปทิ้งไว้ได้แบบแทบไม่ต้องเคลียร์แอปทิ้งเลย
ผมลองทดสอบด้วยการเล่นเกม PUBG Mobile เมื่อเปิดเครื่องมาครั้งแรก ตัวเกมก็ปรับกราฟิกให้เป็นระดับ High มาตั้งแต่แรกเลย ส่วนในเมนู Graphics ผมก็ลองปรับภาพขึ้นไปเป็นระดับ HDR และเลือกเฟรมเรตในระดับ Ultra ก็สามารถเล่นได้อย่างไหลลื่นแบบไม่มีอาการกระตุกแต่อย่างใด ดังนั้น เกมอื่น ๆ ก็เล่นได้สบายเลย
ส่วนการใช้งานแบตเตอรี่นั้น ถ้าเป็นรูปแบบการใช้งานทั่วไปในระหว่างวัน ไม่ได้เล่นเกมติดต่อกันนาน ๆ ก็สามารถใช้จนหมดวันได้ครับ นอกจากนี้ผมลองปล่อยบอทในเกม Ragnarok Mobile จากแบตเต็มจนเหลือแบต 5% ก็สามารถปล่อยได้ราว ๆ 5 ชั่วโมง 45 นาที
สำหรับการชาร์จแบตผมลองทดสอบทั้งการชาร์จผ่านสายด้วยอะแดปเตอร์ที่ให้มาในกล่อง และก็ชาร์จแบบไร้สายด้วยชุดชาร์จจากในกล่องด้วยเช่นกัน ได้ข้อสรุปคร่าว ๆ คือ
- ชาร์จด้วยสาย: เริ่มชาร์จจาก 6% ไปจนถึง 98% ใช้เวลา 80 นาที
- ชาร์จไร้สาย: เริ่มชาร์จจาก 9% ไปจนถึง 89% ใช้เวลา 118 นาที
ดังนั้น ถ้าหากต้องการรีบชาร์จด่วน ๆ แนะนำว่าเสียบชาร์จด้วยสายโดยใช้อะแดปเตอร์และสายที่รองรับ Quick Charge 3.0 ขึ้นไปจะดีที่สุดครับ
กล้องถ่ายรูปของ Xiaomi Mi Mix 3
ในช่วงปีที่ผ่านมา Xiaomi เองได้พัฒนาเรื่องกล้องในสมาร์ทโฟนของตนเองขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ขึ้นมาแข่งกับมือถือจากแบรนด์อื่นได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งกล้องใน Mi Mix 3 ก็ถือว่าทำออกมาได้สมเป็นมือถือระดับเรือธงอีกรุ่นของ Xiaomi เลยทีเดียว
อย่างในแง่ของฟีเจอร์ทั้งกล้องหน้าและกล้องหลัง ที่น่าสนใจก็เช่น ความสามารถในการเบลอฉากหลังแบบเรียลไทม์ได้ตั้งแต่ตอนพรีวิวก่อนถ่าย พลังประมวลผลภาพจาก AI โหมดการถ่ายภาพที่มีให้เลือกทั้งโหมดออโต้ โหมด portrait โหมดกลางคืน รวมถึงยังสามารถถ่ายด้วยโหมด manual ซึ่งผู้ใช้สามารถตั้งค่าได้เองตามต้องการ รวมถึงยังสามารถสั่งให้ถ่ายภาพจากเลนส์เทเลในตัวโดยตรงได้อีกต่างหาก (กดซูมภาพที่ 2x ก็ทำได้เหมือนกัน)
นอกจากนี้ยังสามารถถ่ายวิดีโอสโลว๋โมชันได้ถึงระดับ 960 fps ซึ่งเท่าที่ผมทดสอบดูก็สามารถใช้งานได้ไม่ยากนัก ส่วนไฟล์ที่ออกมาจะถูก export เป็นวิดีโอ 30 fps ที่มีการทำภาพสโลว์มาให้เรียบร้อยแล้วครับ ต่างจากการถ่ายที่เฟรมเรต 120 และ 240 fps ที่ได้เฟรมเรตของวิดีโอออกมาเป็น 120 หรือ 240 fps ตามที่ถ่ายจริง
ภาพคู่ด้านบนนี้ก็เป็นตัวอย่างภาพที่ได้จากกล้องหลังทั้งสองตัว โดยภาพซ้ายคือภาพที่ได้จากเลนส์ปกติ ส่วนภาพขวาคือภาพที่ได้จากเลนส์เทเลครับ ซึ่งจากที่ผมลองทดสอบจากหลาย ๆ สถานการณ์มา พบว่าภาพจากเลนส์เทเลจะมีคุณภาพที่น้อยกว่าภาพจากเลนส์หลักเล็กน้อย เช่น การโฟกัสที่ไม่คมเท่า รวมถึงมี noise มากกว่ากันนิดนึง ซึ่งก็ไม่แปลกนัก เพราะตัวเลนส์เทเลถูกออกแบบมาเพื่อเสริมการทำงานให้กับการถ่ายหน้าชัดหลังเบลอ การถ่าย portrait ซะมากกว่า
ส่วนชุดภาพด้านบนนี้ ภาพทางฝั่งซ้ายคือภาพที่ได้จากโหมด auto ส่วนภาพทางขวานั้นเป็นภาพจากโหมดกลางคืนครับ จะเห็นว่าสีสัน ความสว่างและความคมชัดมีความแตกต่างกันแบบสังเกตได้ ซึ่งเท่าที่ผมเทียบค่าของความเร็วชัตเตอร์และ ISO ที่ทั้งสองโหมดเลือกใช้ พบว่าภาพจากโหมดถ่ายกลางคืน มักจะมีค่าความเร็วชัตเตอร์ที่ช้ากว่าเล็กน้อย เช่น 1/25 จากที่ภาพในโหมด auto เลือกใช้ที่ 1/33 วินาที รวมถึงค่า ISO ที่มักจะเลือกใช้ค่าที่สูงกว่า เพื่อการเก็บแสงที่ดีขึ้นด้วย
แต่ในการใช้งานจริง เมื่อเลือกถ่ายด้วยโหมดถ่ายกลางคืน ตัวกล้องจะใช้ระยะเวลาในการเก็บภาพที่นานกว่า เรียกว่านานเป็นหลักวินาทีเลยก็ได้ ดังนั้นจึงเดาได้ว่าตัวกล้องน่าจะใช้หลักการแบบ HDR ในการประมวลผลภาพ นั่นคืออาศัยถ่ายหลายภาพที่มีการตั้งค่าเพื่อรับแสงที่แตกต่างกัน แล้วประมวลผลรวมเป็นภาพเดียว
ส่วนตัวอย่างภาพถ่ายอื่น ๆ จากกล้อง สามารถรับชมได้จากแกลเลอรี่ด้านล่างนี้ครับ