หลังจากที่ SpecPhone เรามีรีวิว Sony Xperia Z3 ไปแล้ว ทีนี้ก็มาถึงการรีวิวอีกรุ่นที่เปิดตัวมาพร้อมๆ กันอย่าง?Sony Xperia Z3 Compact?ที่จัดเป็นมือถือเรือธงไซส์เล็กของ Sony ประจำช่วงปลายปี จะถือว่าเป็นลูกพี่ลูกน้องกับ Xperia Z3 ก็พอได้ เนื่องจากหน้าตาและสเปคที่ไม่แตกต่างกันมากนัก แถมกระแสรีวิวจากต่างประเทศที่ผ่านมาก็จัดว่าค่อนข้างดีเลยทีเดียว โดยเฉพาะเรื่องของความไหลลื่นและการใช้งานแบตเตอรี่ที่ทำได้ยาวนาน ซึ่งในรีวิว Sony Xperia Z3 Compact ของเราครั้งนี้จะมาทดสอบให้ชมกันครับ แถมมีทดสอบการเล่นเกมแบบ Remote Play กับ PlayStation 4 ให้ได้ชมกันอีกด้วย มาชมกันเลยครับ
สเปค Sony Xperia Z3 Compact
- ชิปประมวลผล Snapdragon 801 (MSM8964-AC) quad-core ความเร็ว 2.5 GHz พร้อมชิปกราฟิก Adreno 330
- แรม 2 GB
- หน้าจอ IPS ขนาด 4.6 นิ้ว ความละเอียด HD (1280 x 720) มาพร้อมเทคโนโลยี TRILUMINOS Display ช่วยให้ภาพสีสดใสยิ่งขึ้น
- รอม 16 GB รองรับ MicroSD ความจุสูงสุด 128 GB
- ใช้งานไมโครซิม รองรับ 4G LTE
- กล้องหลังความละเอียด 20.7 ล้านพิกเซล เซ็นเซอร์ Exmor RS ขนาด 1/2.3″ เลนส์ G รูรับแสงกว้างสุด f/2.0 ถ่ายวิดีโอ 4K ได้
- กล้องหน้าความละเอียด 2.2 ล้านพิกเซล เลนส์มุมกว้าง
- แบตเตอรี่ความจุ 2600 mAh
- น้ำหนัก 129 กรัม
- กันน้ำกันฝุ่นตามมาตรฐาน IP65/68 (ดำน้ำลึก 1.5 เมตรได้นาน 30 นาที)
- ระบบเสียง DSEE HX ช่วยเพิ่มความละเอียดให้กับเนื้อเสียงของไฟล์เพลงแบบบีบอัด (เช่น MP3, AAC) และรองรับการเล่นไฟล์เพลง Hi-Res
- มี NFC
- ราคา 19,900 บาท
- สเปค Sony Xperia Z3 Compact
ในด้านของสเปคนั้น Sony Xperia Z3 Compact แทบจะไม่แตกต่างจาก Xperia Z3 มากนัก จะมีที่เห็นได้ชัดก็คือเรื่องของหน้าจอแสดงผล ที่หดลงมาเหลือ 4.6 นิ้ว 720p ให้สมกับชื่อรุ่นว่า compact ทำให้ประสบการณ์การใช้งานนั้นมีความแตกต่างไปจาก Sony Xperia Z3 รุ่นใหญ่อยู่ระดับหนึ่ง แต่ก็น่าจะถูกใจผู้ที่ต้องการมือถือเครื่องไม่ใหญ่มาก เน้นการพกง่าย หยิบใช้สะดวก รวมถึงยังเหมาะกับสาวๆ อีกด้วย เนื่องจากความโดดเด่นทั้งเรื่องดีไซน์ที่ดูสวยงาม ขนาดเครื่องที่ไม่ใหญ่ไม่เล็กเกินไป ทำให้เรื่องนี้ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งจุดขายของ Sony Xperia Z3 Compact ได้เลยทีเดียว แถมยังไม่ลืมจุดเด่นของ Sony เอง นั่นก็คือความสามารถในการกันน้ำ กันฝุ่นไปอีกด้วย นับเป็นเรือธงไซส์เล็กที่คุ้มค่ามากๆ เลยล่ะ
Design
สำหรับ Sony Xperia Z3 Compact ก็ยังคงยืดคอนเซ็ปท์การออกแบบอย่าง Omnibalance ที่เน้นความสมดุลในด้านดีไซน์เอาไว้อย่างเหนียวแน่น ทำให้หน้าตาโดยรวมนั้นออกมาแบบแทบจะแกะแบบจาก Sony Xperia Z3 มาเลยทีเดียว โดยการออกแบบตัวเครื่องในลักษณะของแซนด์วิช ประกบหน้าหลังด้วยแผ่นกระจก (กระจกหน้าจอ กับกระจก tempered glass ที่ฝาหลัง) สำหรับเครื่องที่เราได้มารีวิวในครั้งนี้ก็จะเป็นเครื่องรุ่นสีส้มสะท้อนแสงครับ ดูโดดเด่น สดใสมากๆ วัสดุโดยรวมแล้วก็จะมีทั้งกระจกอย่างที่บอกไปข้างต้น ผสมกับส่วนที่เป็นพลาสติกที่ขอบเครื่อง ซึ่งจุดนี้เองที่แตกต่างจาก Xperia Z3 อย่างเห็นได้ชัด เพราะขอบเครื่อง Z3 จะเป็นโลหะ ทำให้ดูพรีเมียมและคงทนแข็งแรงกว่า ในขณะที่ Xperia Z3 Compact จะเป็นพลาสติก ที่ถึงแม้อาจจะดูไม่พรีเมียมเท่า แต่ก็ได้ในเรื่องของความสดใส ดูเป็นวัยรุ่น น่าใช้งานกว่านิดนึง แถมยังมีจุดเด่นในเรื่องของความเบาอีกด้วย ทำให้ Sony Xperia Z3 Compact มีน้ำหนักแค่ 129 กรัมเท่านั้น ถือว่าเป็นสมาร์ทโฟนที่เบามากๆ ในปัจจุบัน
สำหรับด้านหน้าตัวเครื่องนั้น ก็แทบจะไม่ต่างจากสมาร์ทโฟนทั่วไปครับ คือมีลำโพงสนทนาที่ให้เสียงดังชัดเจนดีตามปกติ ส่วนด้านล่างก็จะมีช่องรับเสียงของไมค์สนทนา ซึ่งทั้งสองตำแหน่งนี้ จะใช้เป็นลำโพงของตัวเครื่องในเวลาริงโทนดัง หรือเวลาเปิดเสียงออกลำโพงด้วยเลยในตัว ทำให้ได้เสียงในแบบสเตอริโอ เรื่องของระดับความดังเสียงก็พอสมควรครับ ไม่ดังเกินไป น่าจะเพราะตัวเครื่องที่เล็ก ทำให้ลำโพงมีขนาดเล็กตามลงไปด้วยหน่อยนึง
มาเรื่องของหน้าจอกันบ้าง อย่างที่บอกไปแล้วในสเปคว่า Sony Xperia Z3 Compact ปรับลงมาใช้จอขนาด 4.6 นิ้ว HD 720p ทำให้ประสบการณ์การใช้งานอาจจะแตกต่างไปจาก Xperia Z3 อยู่บ้าง เห็นได้ชัดคงจะเป็นเรื่องขนาดที่หดเล็กลงมา ทำให้การดูภาพ อ่านเนื้อหาทำได้ไม่เต็มตาเท่ากับรุ่นใหญ่ แต่ก็มีข้อดีคือเราสามารถวาดนิ้วทั่วจอได้ง่ายกว่ามาก จะลากแถบ notification ลงมาก็ง่าย จะกดปุ่มคีย์บอร์ดด้วยมือเดียวก็ทำได้สะดวก เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการมือถือแบบใช้งานง่ายในทุกอิริยาบท ส่วนเรื่องการแสดงผลนั้น แม้จะเป็นจอความละเอียดแค่ 720p ก็ตาม แต่ด้วยความที่จอมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ทำให้ยังคงความหนาแน่นของเม็ดพิกเซลได้เกิน 300 ppi อยู่ (319 ppi) ทำให้ภาพที่แสดงผลยังคงความละเอียดเนียนตาเอาไว้ได้อยู่ ไม่ว่าจะในส่วนของตัวอักษรหรือการดูภาพถ่ายจากหน้าจอ รวมๆ แล้วก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่โอเค สวยงามใช้ได้เลย
อ๊ะๆ ระวังโดนจอและ X-Reality หลอกตานะ
นอกจากจอภาพจะละเอียดกำลังพอดีๆ แล้ว อีกสองส่วนที่ทำให้ภาพออกมาดูสวยงามก็ได้แก่
เทคโนโลยี TRILUMINOS Display?ที่จะใช้หลอด LED สีแดงและสีเขียวที่ให้สีสันสว่างสดใสกว่าหลอดไฟ LED ปกติที่ใช้กับจอมือถือทั่วไป ทำให้สามารถแสดงสีสันของภาพได้สวยสมจริง ดูมีมิติมากขึ้น และดูสีไม่สดจนเกินไป ยิ่งประกอบกับการใช้พาเนล IPS เข้าไปอีก ทำให้สีสันภาพดูสวยสดในทุกมุมมองอีกต่างหาก
เทคโนโลยี X-Reality?ที่ช่วยให้ภาพดูสวย คมชัด โดยจะใช้กระบวนการด้านซอฟต์แวร์ประมวลผลภาพ ทั้งในส่วนของสีสัน, ความคมชัดและคอนทราสต์ของสี รวมถึงยังช่วยลด noise ที่เกิดขึ้นในภาพอีกด้วย ทำให้ภาพดูออกมาคมชัด เนียนตา แม้จะเป็นภาพในที่มีแสงน้อยก็สามารถแสดงผลได้อย่างสวยงาม แต่เทคโนโลยี X-Reality จะใช้แค่เฉพาะตอนดูภาพเท่านั้น เช่นใน Gallery
จากที่กล่าวไปข้างต้นเกี่ยวกับเทคโนโลยี X-Reality อันนี้ต้องจำไว้หน่อยนะครับว่ามันช่วยทำให้ภาพถ่ายของเราที่เปิดบน Sony Xperia Z3 Compact ดูสวยงามขึ้นกว่าภาพจริงขึ้นมาเล็กน้อยด้วย ดังนั้นถ้าจะแชร์ภาพไปลงบนโซเชียลเน็ตเวิร์ค หรือจะส่งภาพต่อให้คนอื่น อาจจะต้องคำนึงถึงจุดนี้ด้วย ถ้าอยากได้ความชัวร์ ก็สามารถปิดโหมด X-Reality ได้นะ
ส่วนของฝาหลัง ก็จะมีกระจก Tempered glass ปิดทับอยู่ แต่ถ้าดูผ่านๆ อาจจะนึกว่าเป็นแผ่นพลาสติกก็ได้ครับ เพราะดูมันจะไม่สะท้อนแสงมากนัก แถมยิ่งเป็นสีส้มที่สว่างในตัวอยู่แล้วอีก เลยอาจจะดูยากหน่อยว่าเป็นกระจกหรือพลาสติกทั้งแผ่น ที่ขอบของกระจกทุกด้าน จะมีขอบพลาสติกที่นูนขึ้นมาจากระนาบผิวกระจกเล็กน้อยทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ช่วยป้องกันกระจกขูดกับพื้นผิวโดยตรง ส่วนที่ผิวกระจกนั้น ก็จะมีการเคลือบสารที่ทำให้น้ำไม่เกาะตัวบนกระจกอีกด้วย เวลาถูกน้ำ มีน้ำหยดใส่ ลักษณะก็จะคล้ายๆ กับหยดน้ำที่กลิ้งบนใบบัวเลย ทำให้สามารถเช็ดทำความสะอาดได้ง่าย จุดนี้ก็นับเป็นการใส่ใจรายละเอียดที่ดีของ Sony ซึ่งเราก็เห็นมาตั้งหลายรุ่นแล้ว อย่างนี้ซิ ถึงจะเหมาะกับการเป็นมือถือกันน้ำ
ขอบข้างแม้ไม่ใช่อะลูมิเนียม แต่ก็ยังดูดี
เมื่อมามองที่ขอบข้างของ Z3 Compact ดีๆ จะเห็นว่าวัสดุที่ใช้จะต่างจาก Z3 รุ่นปกติ คือเปลี่ยนจากอะลูมิเนียมเป็นพลาสติกที่ส่วนหน้าสุดจะเป็นสีโปร่งแสงแทน ก็อาจจะทำให้ความพรีเมียมดูลดลงไปเล็กน้อย แต่ยังดีที่มีการออกแบบมาได้ดี มีความโค้งมนรับกับการสัมผัสได้อย่างลงตัว การแกะฝาปิดต่างๆ ก็ทำได้ง่ายดีครับ เพียงแค่ใช้เล็บแงะตรงส่วนขอบๆ ขึ้นมาเท่านั้นเอง โดยจะมีจุดที่มีฝาปิดอยู่สองตำแหน่งทางฝั่งขอบซ้ายของเครื่อง ด้านบนจะเป็นช่อง Micro USB และช่องเสียบการ์ด MicroSD ส่วนด้านล่างจะเป็นช่องใส่ซิมการ์ด โดยจะใช้เป็นนาโนซิมแล้วนะครับ ต่างจากมือถือ Android ทั่วไปที่มักจะใช้เป็นไมโครซิมซะมากกว่า ส่วนช่องเสียบแจ็คหูฟังนั้นจะไม่มีฝาปิดแต่อย่างใด แต่ก็ยังสามารถกันน้ำได้เหมือนกันครับ ผมทดสอบมาเรียบร้อยแล้ว ตัวฝาเองก็สามารถกันน้ำได้ดีในระดับหนึ่ง หลังจากจุ่มน้ำทิ้งไว้ซักพัก เมื่อหยิบเครื่องขึ้นมาแล้วเปิดฝาดู ก็พบว่ามีน้ำซึมเข้าไปตรงขอบรอยต่อแค่นิดเดียวเท่านั้น ไม่ซึมเข้าไปถึงส่วนของพอร์ตหรือช่องเสียบการ์ดแต่อย่างใด โดยรวมแล้วจัดว่าโอเคเลยครับ กันน้ำตามมาตรฐานได้หายห่วง
สำหรับตำแหน่งของปุ่มต่างๆ ก็จะไม่แตกต่างไปจาก Z3 มากนัก คือปุ่มกดจะอยู่ฝั่งขวาของเครื่องทั้งหมด ไล่ตั้งแต่ปุ่ม Power ที่เป็นหมุดสีเงิน ขยับลงมาเล็กน้อยก็จะเป็นแผงปุ่มเพิ่ม-ลดเสียง (อันนี้ผมว่าปุ่มค่อนข้างเล็กไปหน่อย กดลำบากอยู่) ปิดท้ายด้วยริมสุดเป็นปุ่มชัตเตอร์สำหรับถ่ายรูป ซึ่งจะเป็นปุ่มชัตเตอร์แบบสองจังหวะ สามารถกดครึ่งเดียวเพื่อโฟกัสก่อนได้ จะถ่ายรูปก็กดย้ำลงไปให้สุด แต่ถ้ากดปุ่มค้างไว้ระหว่างใช้งานแอพอื่น หรือปิดหน้าจออยู่ ก็จะเป็นการเปิดแอพกล้องมาใช้งานในทันที น่าจะเป็นที่ถูกใจสำหรับคนชอบถ่ายรูปทีเดียวครับ ผมลองใช้ปุ่มนี้เวลาถ่ายรูป พบว่ามันสะดวกดีทีเดียวนะ สงสัยจะเป็นเพราะว่าผมใช้การแตะปุ่มบนหน้าจอเพื่อถ่ายรูปบนมือถือมานานแล้วก็ได้ พอมาเจอปุ่มแบบนี้ เลยรู้สึกดีกับการใช้งานไปซะ
สำหรับภาพถ่ายมุมต่างๆ ของ Sony Xperia Z3 Compact ก็สามารถรับชมได้จากแกลเลอรี่ด้านล่างนี้นะครับ
Software
Sony Xperia Z3 Compact ก็ติดตั้งมาพร้อมกับ Android 4.4.4 KitKat ที่จัดเป็นเวอร์ชันล่าสุดในขณะนี้ ทั้งยังแน่นอนแล้วว่าจะได้รับการอัพเดตเป็น Android 5.0 Lollipop ในอนาคตด้วย ก็คงต้องรอทาง Sony ปล่อยอัพเดตมาให้อีกทีนะครับ แต่เท่าที่ใช้งาน Z3 Compact ในตอนนี้ ต้องบอกว่าโดยรวมแล้วทำงานได้ไหลลื่นดีมากๆ ซึ่งก็มาจากการผสมผสานได้อย่างลงตัวของทั้งฮาร์ดแวร์ที่อัดสเปคมาแรง หน้าจอก็ความละเอียดไม่สูงมาก ทำให้ไม่เปลืองพลังในการประมวลผลภาพ (ส่งผลให้กินแบตน้อยลงด้วย) รวมถึงส่วนของซอฟต์แวร์ก็ทำการปรับแต่งมาได้ดี ซึ่งก็เป็นจุดที่ Sony ทำมาได้ค่อนข้างดีมาโดยตลอดอยู่แล้ว ทำให้ความสนุกในการใช้งานแทบไม่แตกต่างจากมือถือเครื่องราคา 20,000 บาทขึ้นไปเลยก็ว่าได้
ตัวรอมเองก็จะมีการใส่แอพและฟีเจอร์ในเครือของ Sony เองมาพอสมควร เช่นแอพฟังเพลง Walkman ที่ฟังเพลงได้สนุกตามสไตล์ แถมยังมีเอฟเฟ็คท์ให้ปรับแต่งเสียงได้อย่างน่าสนใจ (ภาพที่ 4) เช่นตัวของ DESS HX ที่ช่วยเพิ่มคุณภาพเสียงให้กับไฟล์เพลงที่ผ่านการบีบอัด (เช่น MP3 และ AAC) ให้มีคุณภาพเสียงขึ้นมาใกล้เคียงกับไฟล์เพลงแบบไม่บีบอัด จากเท่าที่ลองฟังเสียงดู ก็รู้สึกได้ถึงความโปร่ง ความกว้างของซาวด์สเตจ มิติของเสียงออกมาดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งยังมีตัวเลือกให้ปรับการทำงานของระบบเสียงรอบทิศทาง และมีให้ปรับ equalizer อีกด้วย โดยรวมแล้วใครที่ชอบฟังเพลงจากมือถือ ก็ยังคงไม่ผิดหวังแน่นอนกับแอพ Walkman บนมือถือตระกูล Sony Xperia
ส่วนแอพอื่นๆ ที่มีติดมาในเครื่องอีกก็เช่น PlayStation สำหรับเชื่อมต่อกับบัญชี PlayStation Network (PSN) ที่ใครมีเครื่องเกมของ Sony อย่างเช่น PS4, PS3, PS Vita อยู่แล้วน่าจะได้ใช้ประโยชน์แน่ๆ เพราะมันสามารถเชื่อมต่อเข้ากับเครื่องเกมของเรา (โดยเฉพาะ PS4) และใช้งานได้หลายอย่างมากๆ นอกจากนี้ยังมีแอพ Lifelog สำหรับเก็บบันทึกกิจกรรมชีวิตประจำวัน เป็นต้น
ด้านของพื้นที่เก็บข้อมูลของรอมที่มีให้มา 16 GB เมื่อเปิดเครื่องครั้งแรกก็จะเหลือให้ใช้งานราวๆ 10.5 GB ถ้าคิดว่าไม่พอก็ไม่ต้องห่วงครับ เพราะสามารถเพิ่ม MicroSD เข้าไปได้ ส่วนเรื่องแรมนั้น ระหว่างใช้งานทั่วไปก็จะเหลือว่างประมาณ 700 กว่า MB ครับ เพียงพอสำหรับการใช้งานทั่วไป เล่นเกมต่างๆ แล้วล่ะ ถ้าอยากได้แรมเพิ่ม ก็สามารถเคลียร์ปิดแอพได้ง่ายๆ จากการกดปุ่ม Recent apps แล้วกดเคลียร์ทั้งหมดในทีเดียว สะดวกดีมากๆ นอกจากนี้เมื่อกดปุ่ม Recent apps ก็จะมีเหล่า mini app ที่เป็นแอพขนาดจิ๋วซึ่งเราสามารถเปิดให้ขึ้นมาทำงานลอยๆ ทับแอพที่ใช้งานอยู่บนหน้าจอได้ด้วย ตัวอย่างก็เช่น เครื่องคิดเลข หน้าจอกล้องถ่ายรูปที่ทำให้เราสามารถถ่ายรูปได้ง่ายยิ่งขึ้นโดยไม่ต้องเปิดแอพกล้อง เป็นต้น
Feature
ถ้าจะให้ยกฟีเจอร์เด่นของ Sony Xperia Z3 Compact มาพูดถึงในรีวิวครั้งนี้ ก็คงจะต้องเป็นฟีเจอร์การเชื่อมต่อและเล่นเกมของเครื่อง PlayStation 4 (PS4) จากบนมือถือนี่ล่ะครับ แถมยังเป็นฟีเจอร์ที่เพิ่งเปิดให้ใช้งานในช่วงนี้พอดีเลยด้วย เราเลยขอยกมาบรรยายในรีวิว Sony Xperia Z3 Compact ครั้งนี้เลยแล้วกัน
สำหรับฟีเจอร์นี้จะมีชื่อว่า Remote Play โดยจะต้องติดตั้งแอพ Remote Play ก่อนด้วย (มีให้โหลดบน Play Store) และจะต้องทำงานร่วมกับแอพ PlayStation ที่มีอยู่ในเครื่อง เพราะจะต้องใช้การเชื่อมต่อเข้ากับเครื่อง PS4 ที่ล็อกอินไอดี PSN เดียวกันอยู่ตลอดเวลา โดยในช่วงแรกนี้ มือถือที่สามารถใช้งาน Remote Play ได้ก็จะมีแค่ Sony Xperia Z3 และ Z3 Compact เท่านั้น แต่ก็จะมีการขยายไปยังรุ่นอื่นในภายหลังครับ
นอกจากจะจำเป็นต้องมี PS4 พร้อมเกม, มือถือ Sony ที่รองรับฟีเจอร์นี้แล้ว อีกสิ่งที่จำเป็นมากๆ ก็คือการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตของทั้งฝั่ง PS4 และฝั่งมือถือเลย เพราะระบบดังกล่าวจะเป็นการสตรีมภาพจาก PS4 ผ่านอินเตอร์เน็ตเข้ามายังมือถือ ส่วนมือถือเราก็ต้องส่งข้อมูลการควบคุมกลับไปที่เครื่องเกมด้วย (ตัวเกมไม่ได้มารันบนมือถือโดยตรง) ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้อินเตอร์เน็ตที่เร็วและเสถียรมากพอสมควรนะครับ ซึ่งในไทยก็อาจจะลำบากซักหน่อย แต่ถ้าเน็ตเราดีจริงๆ จะเป็นอะไรที่เหมาะมาก เพราะเราจะสามารถเล่นเกม PS4 จากมือถือได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เพียงแค่เปิด PS4 ไว้ที่บ้าน แม้จะนั่งทำงานอยู่ที่ออฟฟิศก็ยังสามารถแอบอู้นั่งเล่นเกมได้เลย หรืออาจจะใช้กับสถานการณ์ที่เราโดนยึดทีวีอยู่ก็ได้ครับ ปล่อยคนอื่นในบ้านดูทีวีไป แล้วเราสตรีมเกมมาเล่นบนมือถือแทน เลี่ยงปัญหาการทะเลาะแย่งทีวีได้ด้วยนะ ^^
สำหรับขั้นตอนการเริ่มใช้งาน Remote Play ก็สามารถชมตามลำดับภาพในแกลเลอรี่ด้านบนได้เลยครับ?อันดับแรกเราต้องติดตั้งแอพ Remote Play ในมือถือก่อน (แน่นอนว่าต้องมีแอพ PlayStation และล็อกอิน PSN อยู่ก่อนแล้วด้วย) จากนั้นก็เปิดแอพ Remote Play ขึ้นมา
ภาพที่สอง?จัดการแพร์จอย PS4 เข้ากับมือถือ ซึ่งก็ไม่ยากเลยครับ แค่เปิด Bluetooth แล้วกดปุ่ม Share กับปุ่ม PlayStayion บนจอยค้างไว้จนไฟที่จอยเป็นสีขาวกระพริบ
ภาพที่สามและสี่?ตัวจอยได้รับการเชื่อมต่อกับมือถือเรียบน้อยแล้ว สามารถใช้เป็นจอยควบคุมการทำงานทั่วไปบนเครื่อง รวมถึงใช้เล่นเกมอื่นๆ ได้ด้วย
ภาพที่ห้า?ตัวอย่างหน้าจอมือถือที่กำลังเชื่อมต่อกับเครื่อง PS4 ผ่านอินเตอร์เน็ต
ภาพที่หก?ที่แถบ notifications จะแจ้งเตือนด้วยว่าเรากำลังเชื่อมต่อจอย PS4 เข้ากับมือถืออยู่
ด้านบนนี้ก็เป็นตัวอย่างภาพในขณะที่มีการเชื่อมต่อเสร็จสมบูรณ์ และกำลังเล่นเกมอยู่ครับ ถ้าไม่มีจอย PS4 เราก็สามารถเล่นเกมโดยใช้ปุ่มสัมผัสบนจอได้ด้วยนะ จากตัวอย่าง เป็นการเล่นเดโมเกม PES 2015
ส่วนถ้าจะใช้จอย PS4 เล่นเกมก็ทำได้ไม่ยากเลยครับ ขอแค่มีแท่นวางเครื่องให้เหมาะๆ ก็หยิบจอยมาเล่นได้ทันที (ถ้าจับคู่จอยเข้ากับมือถือแล้ว) แต่ถ้าจะให้ดี แนะนำให้หาชุดแท่นต่อเพื่อให้สามารถวางตัวเครื่องมือถือเอาไว้เหนือจอยได้เลยจะดีกว่ามากๆ เลย เพราะอยู่ในมุมที่สามารถมองได้ถนัดตาจริงๆ เสียดายที่เครื่องรีวิวที่เราได้มาในครั้งนี้ไม่มีเซ็ตดังกล่าวให้มาด้วยครับ
สำหรับความรู้สึกในการเล่นเกม PS4 ผ่านฟีเจอร์ Remote Play นั้น ต้องบอกว่ายังไม่ค่อยโอเคเท่าไรครับ ส่วนที่เป็นปัญหาหลักๆ ก็คงจะเป็นเรื่องการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ทำให้การเชื่อมต่อระหว่างมือถือกับ PS4 ทำได้ยากและหลุดค่อนข้างบ่อย ตรงจุดนี้ถ้าใครใช้งานอินเตอร์เน็ตแรงและเสถียรจริงๆ อาจจะไม่มีปัญหาก็ได้ครับ (แต่ในไทยอาจยากหน่อยนะ ถ้าพูดถึงเน็ตบ้านทั่วๆ ไป)
Camera
ด้านของกล้องถ่ายรูป Sony Xperia Z3 Compact ก็ยังคงยกเครื่องมาจาก Xperia Z3 แบบเต็มๆ ทำให้ส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ประมวลผลไม่แตกต่างกันมากนัก การถ่ายรูปก็ทำได้อย่างง่ายดายด้วยโหมด Superior Auto ที่ปรับตั้งค่าต่างๆ อย่างอัตโนมัติได้ค่อนข้างดี ภาพออกมาสามารถนำไปใช้งานได้เลย
หรือถ้าชอบการถ่ายเล่นด้วยโหมดต่างๆ Sony ก็จัดเต็มในเรื่องนี้เลยครับ เช่นโหมด AR Fun ที่ทำให้เราสามารถใส่เอฟเฟ็คท์เพิ่มเข้าไปในภาพได้ เช่นเปลี่ยนภาพตรงหน้าเป็นยุคดึกดำบรรพ์ มีไดโนเสาร์ตัวจริงมาเดินอยู่ หรือจะเปลี่ยนหน้าเราเป็น Spider-man ก็ทำได้อย่างง่ายดาย แถมยังสามารถดาวน์โหลดเอฟเฟ็คท์ AR แบบอื่นๆ มาเล่นเพิ่มได้อีกด้วย น่าจะถูกใจคนที่ชอบเล่นกล้อง ถ่ายภาพแปลกๆ อย่างแน่นอน ทั้งยังมีโหมด Sticker Creator ที่ให้เราสามารถนำภาพถ่ายมาตัดทำเป็นสติ๊กเกอร์ เอาไว้แต่งภาพแบบเก๋ๆ ได้อีกต่างหาก (สติ๊กเกอร์นี้ ไม่เกี่ยวกับสติ๊กเกอร์ LINE นะครับ เอาไปใช้ตรงนั้นไม่ได้) ส่วนกล้องหน้าก็อยู่ในระดับพอใช้ได้ครับ ถ้าถ่ายในที่มีแสงสว่างโอเคๆ ก็หายห่วงเลย แต่ในเรื่องของชัตเตอร์กดถ่ายรูป อันนี้รู้สึกได้ว่ามีการดีเลย์ หน่วงๆ เล็กน้อย คือกดถ่ายรูปลงไปแล้ว จะมีเวลาหน่วงเล็กน้อย กล้องถึงทำการเก็บภาพ ดังนั้นตอนกดถ่ายไปแล้ว ก็แนะนำว่าให้ถือเครื่องค้างในตำแหน่งเดิมซักนิดหนึ่ง รอจนกล้องถ่ายเสร็จ (บอกตัวแบบให้อยู่นิ่งๆ ซักนิดนึงด้วยนะ)
รับชมตัวอย่างภาพถ่ายจากด้านล่างนี้ได้เลยครับ
Performance
จากผลการทดสอบประสิทธิภาพด้วยแอพทดสอบทั้งหลาย ต้องบอกว่า Sony Xperia Z3 Compact สามารถทำคะแนนได้ตามมาตรฐานของสเปคระดับนี้ คือจัดอยู่ในกลุ่มบนๆ ของสมาร์ทโฟนที่สเปคใกล้เคียงกัน ทั้งในด้านการประมวลผลทั่วไปและด้านกราฟิก ดังนั้น ใครอยากได้มาเล่นเกมก็ไม่ต้องห่วงเลย รองรับเกมในปัจจุบันได้สบายๆ แรงเหลือเฟือที่จะใช้งานทั่วไป ส่วนเรื่องความร้อน เท่าที่ใช้งานมา รู้สึกว่าไม่ค่อยร้อนเหมือนกับใน Xperia Z3 นะครับ บางทีเล่นเกมหรือดาวน์โหลดข้อมูลเยอะๆ ก็มีอุ่นขึ้นมาบ้าง แต่ไม่ถึงกับร้อนจนเกินไป เปิดแอพกล้องทิ้งไว้ก็ไม่พบปัญหาการแจ้งเตือนว่าตัวเครื่องร้อนเกินไปจนต้องปิดกล้อง โดยรวมแล้วค่อนข้างน่าพอใจเลยสำหรับเรื่องประสิทธิภาพและความร้อน
สำหรับการใช้งานแบตเตอรี่ ต้องยกให้เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของ Sony Xperia Z3 Compact เลย แม้ว่าในตัวจะใส่แบตเตอรี่มา 2600 mAh ที่จัดว่าไม่มากนักสำหรับมือถือ Android สเปคระดับนี้ แต่พอใช้งานจริง ต้องบอกว่ามันเหลือเฟือมากๆ สามารถใช้งานข้ามวันได้สบายๆ กับรูปแบบการใช้งานทั่วไป คือมีทั้งต่อเน็ต 3G/WiFi สลับกันเป็นบางช่วง คุย/แชท คุยโทรศัพท์ เปิดเล่นเกมบ้าง เปิดหน้าจอบ่อยๆ ก็ยังสามารถใช้งานจากเช้ามาถึงเกือบสองทุ่ม โดยเหลือแบตประมาณ 30% (ไม่ได้เปิดโหมดช่วยถนอมแบตเลย) จากตัวอย่างในภาพที่ 1 และ 2 ครับ ส่วนภาพที่ 3 กับ 4 นี่เป็นของคนละวันกันนะ ไม่เกี่ยวกับสองภาพแรก
หรือถ้าใครอยากจะใช้งานแบตเตอรี่ให้ยาวนานขึ้นอีก ก็สามารถเปิดใช้งาน STAMINA mode เพื่อช่วยให้ใช้งานแบตเตอรี่น้อยลงได้อีก โดยระบบจะตัดการเชื่อมต่อ การรับส่งข้อมูลที่ไม่จำเป็นออก ทำให้มีการใช้งานแบตเตอรี่ลดลง ใช้งานได้นานขึ้น หรือถ้าต้องการประหยัดลงไปอีก ก็เปิดโหมด Ultra STAMINA กันไปเลย รับรองว่าอยู่ได้หลายวันแน่ๆ เพราะระบบจะตัดการเชื่อมต่อ WiFi และ 3G/4G LTE ออก ใช้งานเครื่องเป็นได้แค่โทรศัพท์โทรออก-รับสาย รับส่งข้อความผ่าน SMS เท่านั้น
Overall
เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับรีวิว Sony Xperia Z3 Compact เรือธงไซส์เล็กของเราในครั้งนี้ ต้องบอกว่าเป็นมือถืออีกหนึ่งรุ่นที่ทำออกมาได้ลงตัวเลยทีเดียว โดยเฉพาะในเรื่องของสเปคและตัวรอมที่ทำออกมาได้อย่างสอดคล้องกันเป็นอย่างดี ขนาดตัวเครื่องก็กะทัดรัดลงมากว่า Xperia Z3 หรือมือถือหลายๆ รุ่นในตลาดพอสมควร ดูแล้วน่าจะเหมาะกับผู้ที่ต้องการมือถือสเปคแรงๆ แต่ไม่อยากได้จอและตัวเครื่องใหญ่มากนัก อยากเน้นการใช้งานที่ถนัดมือ การพกพาที่สะดวกซะมากกว่า ซึ่งจุดนี้ Xperia Z3 Compact ก็สามารถตอบสนองความต้องการได้ดีมากๆ จะจับถือก็ง่าย เอาใส่กระเป๋ากางเกงก็ไม่ต้องกลัวว่าเครื่องจะล้น หรือจะงอแต่อย่างใด เหมาะมากกับสาวๆ ที่อยากได้มือถือแรงๆ แต่ตัวเครื่องไม่ใหญ่เกินไปครับ
จะติดก็แต่เรื่องราคาที่เปิดมาเกือบ 20,000 บาทนี่ล่ะ ที่อาจทำให้หลายท่านลังเล เพราะถ้ายอมเพิ่มเงินอีกนิดหน่อย (หรือบางรุ่นก็ราคาลดลงมาต่ำกว่าด้วยซ้ำไป) ก็ได้เครื่องรุ่นที่จอใหญ่กว่า เผลอๆ สเปคบางอย่างจะดีกว่า Z3 Compact อีกด้วย อันนี้คงต้องแล้วแต่ความชอบส่วนบุคคลแล้วล่ะครับ ถ้าอยากได้มือถือที่มีความเป็น Sony เต็มเปี่ยม จัดเต็มเรื่องความบันเทิงรอบด้านในตัว Sony Xperia Z3 Compact ก็เป็นตัวเลือกที่ดีเลยทีเดียว
ข้อดี
- ตัวเครื่องเล็กกะทัดรัด พกง่าย ใช้สะดวก งานประกอบอยู่ในระดับที่ดี น้ำหนักเบาเพราะเปลี่ยนวัสดุมาใช้พลาสติกแทน
- สเปคแรง จัดเต็มไม่แพ้รุ่นใหญ่
- การใช้งานโดยรวมทั่วไปไหลลื่นดีมาก ไม่ค่อยพบปัญหากับตัวรอม
- กันน้ำ กันฝุ่นได้ดีตามมาตรฐาน
- ใช้เป็นเครื่องเล่นเกม PS4 แบบสตรีมมิ่งมาได้ ผ่านแอพ Remote Play
- แบตเตอรี่ใช้งานได้ยาวนาน อยู่ข้ามวันได้สบายๆ
ข้อสังเกต
- จออาจจะเล็กไปหน่อย เมื่อเทียบกับเครื่องราคาใกล้เคียงกัน (ราคาสูงไปนิด)
- ตัวเครื่องดูไม่พรีเมียมมากนัก
- ตอนกดถ่ายรูป มีการดีเลย์เล็กน้อย
เปรียบเทียบกับรุ่นอื่น
มาดูกันไปทีละรุ่นเลยแล้วกันครับ
Samsung Galaxy Alpha
ถ้าเทียบในเรื่องของวัสดุ ความพรีเมียม ต้องยอมรับว่า Samsung ทำออกมาได้ดูดี น่าดึงดูดกว่า Z3 Compact พอสมควร ด้วยการใช้ขอบเป็นโลหะดูสวยงาม แวววาวสะดุดตาดีทีเดียว ส่วนหน้าจอก็มาในขนาดที่ใหญ่กว่า Z3 Compact เล็กน้อย สเปคอื่นก็มีจุดแตกต่างกันไปบ้าง เช่นกล้องถ่ายรูป (อันนี้ Z3 ทำได้ดีกว่าทั้งเรื่องความละเอียดและคุณภาพไฟล์)
LG G3
LG G3 นับเป็นมือถือสเปคท็อปที่ราคาค่อนข้างจับต้องง่ายกว่ารุ่นอื่นๆ ในตลาดพอตัวเลย จึงไม่แปลกที่จะถูกจับนำมาเปรียบเทียบกับ Z3 Compact (ส่วนหนึ่งต้องบอกว่าราคา Z3 Compact ค่อนข้างสูงไปหน่อย) ส่วนถ้าให้เทียบเรื่องสเปค คงต้องยอมรับว่า Z3 Compact เป็นรองในแทบจะทุกด้านอย่างแน่นอนครับ ยังดีที่ได้ CPU และ GPU ตัวเดียวกัน ประกอบกับหน้าจอที่ละเอียดน้อยกว่า ที่อาจจะดูเป็นจุดด้อย แต่พอมาดูเรื่องการใช้งานจริง กลับกลายเป็นว่า LG G3 กลับใช้งานได้ไม่ไหลลื่นเท่า Z3 Compact ส่วนหนึ่งก็คงเนื่องมาจากหน้าจอที่ความละเอียดสูงเกินไปด้วยนั่นเอง (จอละเอียดเกินก็ไม่ได้มีแต่ผลดีนะ) ส่วนเรื่องการใช้งานแบตเตอรี่ อันนี้ Z3 Compact ก็ทำได้ดีกว่า ทั้งๆ ที่แบตเตอรี่ให้มาน้อยกว่านะครับ
ส่วน G3 นั้น แม้จะมีหน้าจอที่ใหญ่ถึง 5.5 นิ้ว แต่ดีไซน์ตัวเครื่องต้องยอมรับว่าดีมากๆ ทำให้ตัวเครื่องไม่ใหญ่มากนัก ใช้งานได้สะดวก ยังไงก็ไปลองจับๆ เครื่องจริงดูก่อนแล้วกัน
HTC One M8
สำหรับ M8 นี้ก็อยู่ในตลาดมาค่อนข้างนานแล้ว แต่ด้วยความลงตัวของดีไซน์ วัสดุ และซอฟต์แวร์ ทำให้ยังเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจอยู่ แถมยังมีจัดโปรโมชันลดราคากันอยู่บ่อยๆ ด้วย สเปคโดยรวมทั่วไปก็ใกล้เคียงกันมาก เว้นแต่เรื่องหน้าจอ (M8 ดีกว่า) และกล้องหลังที่ Z3 Compact ดีกว่า แม้ว่า HTC One M8 จะมีเทคโนโลยี UltraPixel ก็ตาม แต่ในการใช้งานจริง ภาพที่ได้กลับออกมาอยู่ในระดับกลางๆ เท่านั้น ไม่ได้ดีถึงกับที่โฆษณาไว้ซักเท่าไร แต่ถ้าใครอยากได้มือถืองานประกอบชั้นเยี่ยม HTC One M8 ก็ยังเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอยู่เหมือนกันนะ
OPPO Find 7
นับเป็นอีกหนึ่งรุ่นเรือธงไฮเอนด์ที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะเรื่องสเปคที่อัดมาเต็มๆ ที่เด่นเลยก็คือแรมที่ให้มา 3 GB รอม 32 GB แบตเตอรี่ 3000 mAh กล้องก็มีลูกเล่นเยอะ จอใหญ่ 5.5 นิ้ว ความละเอียด 2K เข้าไปอีก เรียกว่าถ้าใครต้องการมือถือสเปคคุ้มๆ OPPO Find 7 น่าจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสุดในงบนี้เลย แต่ถ้าอยากได้เครื่องที่ใช้งานถนัดมือ ความไหลลื่นในการใช้งานแทบไม่ต่างกันมาก Sony Xperia Z3 Compact ก็โอเคอยู่นะ
Samsung Galaxy S5
สำหรับ Galaxy S5 ที่ดูแล้วราคาแซงหน้ารุ่นอื่นไปอยู่ที่สองหมื่นกว่าบาท ก็อาจจะมีสงสัยได้ว่าทำไมถึงนำมาเทียบ อันที่จริงแล้ว ถ้าดูในตลาดจริงๆ จะเห็นว่าโปรลดราคา Galaxy S5 มีเยอะและจัดบ่อยมากๆ ครับ บางช่วงนี่ราคาเครื่องมือหนึ่งลงมาเหลือช่วงหมื่นกลางๆ เท่านั้นเอง ส่วนใหญ่ก็อยู่ในช่วงเกือบสองหมื่นบาทกันซะเยอะ เลยพอจับนำมาเทียบได้อยู่
จุดเด่นของ Galaxy S5 ที่พอจะเทียบกับ Sony Xperia Z3 Compact ได้ ก็คงเป็นฟีเจอร์กันนำ้กันฝุ่นนี่ล่ะครับ เท่าที่ลองทดสอบมา ก็สามารถใช้งานได้ดีพอสมควรอยู่นะ ส่วนสเปคอื่นๆ ก็ไล่เลี่ยกันเลย แต่เรื่องจอ อันนี้ Galaxy S5 จะให้สีสดใสกว่ามากๆ ส่วนจอ Z3 Compact จะซีดกว่าเล็กน้อย แต่ก็ดูเป็นธรรมชาติดี ก็แล้วแต่เลยว่าชอบแบบไหนครับ