[Review] Sony Xperia XZs กลับมาแบบจัดเต็ม พร้อมกล้องที่ถ่ายวิดีโอสโลว์ได้ถึง 960 fps

โดยปกติแล้ว Sony มีรอบการออกผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ที่เป็นเรือธงแบ่งเป็นรอบต้นปีและรอบปลายปี ซึ่งก็มักจะมีการเสริมเทคโนโลยีใหม่เข้ามาให้เป็นที่ตื่นตาตื่นใจแทบทุกรอบ อย่างในช่วงต้นปีที่ผ่านมาก็ได้มีการเปิดตัว Sony Xperia XZs และได้เริ่มวางจำหน่ายในไทยเมื่อไม่นานมานี้ โดยไฮไลท์เด็ดของ XZs ก็คือความสามารถในการถ่ายวิดีโอสโลว์โมชันที่มีเฟรมเรตสูงถึง 960fps ที่นับเป็นมือถือรุ่นแรกของโลกที่สามารถทำได้ด้วยตัวของระบบเอง นอกจากนี้ยังมีการปรับสเปคภายในให้น่าสนใจยิ่งขึ้น ซึ่ง SpecPhone เราก็ได้รับเจ้า Sony Xperia XZs มารีวิวด้วยเช่นกันครับ และจะมาเจาะลึกกันเลยว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง

สเปค Sony Xperia XZs

  • ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon 820 แบบ quad-core (2x 2.15 GHz และ 2x 1.6 GHz) มาพร้อมชิปกราฟิก Adreno 530
  • แรม 4 GB
  • รอม 64 GB แบบ eMMC รองรับ MicroSD เพิ่มได้สูงสุด 256 GB
  • หน้าจอขนาด 5.2 นิ้ว Full HD พร้อมเทคโนโลยี TRILUMINOS, X-Reality for Mobile สามารถแสดงสีได้ถึง 138% ของมาตรฐาน sRGB กระจกหน้าจอ Gorill Glass
  • กล้องหลัง Motion Eye ความละเอียด 19 ล้านพิกเซล f/2.0 ทางยาวโฟกัส 25mm เซ็นเซอร์รับภาพขนาด 1/2.3″ ที่มีขนาดพิกเซลอยู่ที่ 1.22 ไมครอน จับโฟกัสด้วยเทคโนโลยี Predictive PDAF และเลเซอร์ออโต้โฟกัส รองรับการถ่ายวิดีโอสโลว์โมชันเฟรมเรตสูงสุด 960 fps (720p) กันสั่น SteadyShot 5 แกน
  • กล้องหน้าความละเอียด 13 ล้านพิกเซล f/2.0 ทางยาวโฟกัส 22mm เซ็นเซอร์รับภาพขนาด 1/3.06″ มีขนาดพิกเซลอยู่ที่ 1.12 ไมครอน
  • ฝาหลังใช้การเคลือบผิวแบบ ALKALEIDO
  • กันน้ำกันฝุ่นได้ตามมาตรฐาน IP65/68
  • รองรับการเล่นเพลงระดับ Hi-Res
  • ใช้งานได้ 2 ซิมแบบนาโนซิม รองรับ Full Netcom 3.0 บนถาดแบบไฮบริด
  • Android 7.1.1 Nougat
  • มีสแกนลายนิ้วมือที่ปุ่มโฮม พร้อมมีปุ่มถ่ายภาพที่ด้านข้างตัวเครื่อง
  • มี NFC, Bluetooth 4.2 พร้อม aptX
  • แบตเตอรี่ความจุ 2900 mAh รองรับการชาร์จเร็วตามมาตรฐาน Quick Charge 3.0 และถนอมแบตเตอรี่ด้วยเทคโนโลยี Qnovo Adaptive Charging
  • USB-C (1.0)
  • ราคา 21,990 บาท
  • สเปค Sony Xperia XZs

เมื่อดูจากสเปค คงต้องบอกว่าในที่สุด Sony ก็อัดสเปคมาได้ใกล้เคียงกับมือถือระดับท็อปจากแบรนด์อื่นบ้างแล้วเสียที แถมยังอัดด้านกล้องซึ่งเป็นทรัพยากรที่ Sony มีอยู่เต็มเปี่ยมมาอย่างเต็มที่ ทำให้น่าสนใจมากว่าจะทำได้ดีขนาดไหน ซึ่งจะได้เห็นกันในรีวิว Sony Xperia XZs จากเราในบทความนี้ครับ

Review-Sony-Xperia-XZs-SpecPhone-14

ข้อดี

– ขนาดตัวเครื่องกำลังดี พอดีมือ พกพาได้สะดวก
– ฝาหลังโลหะ ALKALEIDO ให้สัมผัสที่ดี โดยรวมสามารถกันน้ำกันฝุ่นได้
– ประสิทธิภาพของระบบจัดว่าอยู่ในระดับที่ดี ใช้งานได้ราบรื่นมาก
– สามารถถ่ายวิดีโอสโลว์โมชันได้ถึงระดับ 960fps
– โฟกัสภาพได้เร็ว
– กล้องหลังมีระบบ Predictive Capture ที่ทำให้ไม่พลาดเก็บช็อตสำคัญ
– ระบบเสียงมีให้ปรับแต่งหลากหลาย พร้อมลำโพงระบบสเตอริโอในตัว
– มาพร้อมเทคโนโลยี Qnovo ที่ช่วยยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่
– เวลาถ่ายรูป ไม่พบอาการเครื่องร้อนจนดับแล้ว

ข้อสังเกต

– เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมืออยู่ที่ปุ่ม Power ตรงฝั่งขวา อาจทำให้คนถนัดซ้ายใช้งานไม่ถนัดนัก
– ภาพที่ได้จากกล้องหลังมีรายละเอียดไม่คมชัดอย่างที่ควรจะเป็น
– โหมด Manual ยังไม่สามารถปรับค่าได้อย่างยืดหยุ่น และยังไม่สามารถเก็บไฟล์ RAW ได้
– การถ่ายวิดีโอ Super slow motion ต้องอาศัยการเรียนรู้ การจับจังหวะมากพอสมควร
– หลังดึงถาดซิมออกมา ระบบจะ restart เครื่องเองทุกครั้ง และใช้เวลาค่อนข้างนาน
– อะแดปเตอร์ที่แถม ไม่รองรับ Quick Charge

บทสรุป

Sony Xperia XZs นับเป็นสมาร์ทโฟนที่ Sony ทำออกมาเพื่อลบจุดอ่อนของตนเองในอดีตได้ในหลายๆ ข้อเลยทีเดียว ทั้งในด้านสเปคที่จัดเต็มได้สมกับเป็นมือถือระดับไฮเอนด์มากขึ้น การเลือกใช้วัสดุหลักเป็นโลหะที่สร้างความแปลกใหม่ให้กับไลน์ระดับบนของตนเอง เทคโนโลยีที่เป็นทั้งลูกเล่นและส่วนเสริมให้ระบบทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ช่วยยืดอายุการใช้งานให้ยาวนานกว่าเดิม โดยรอบนี้เน้นจัดหนักในด้านของเทคโนโลยีกล้องเป็นพิเศษ ด้วยการยกความสามารถที่อยู่ในผลิตภัณฑ์กล้องของตนเองมาไว้ในสมาร์ทโฟน เสริมด้วยการถ่ายวิดีโอสโลว์โมชันด้วยสมาร์ทโฟนที่ระดับ 960fps เป็นครั้งแรกของโลก ทำให้ Sony Xperia XZs เป็นมือถือระดับไฮเอนด์ที่สาวก Sony ตัวจริงไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง ส่วนสำหรับท่านอื่นๆ ที่กำลังมองหามือถือเครื่องใหม่อยู่ ก็ไปลองสัมผัสตัวจริงกันก่อนตัดสินใจครับ เพราะตามธรรมชาติแล้ว มือถือของ Sony จะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด และมันก็ยังคงอยู่ใน Sony Xperia XZs เครื่องนี้อย่างเต็มที่เลยทีเดียว
Editor : ZeroSystem
94
BEST SONY PHONE

Design

Review-Sony-Xperia-XZs-SpecPhone-3

Review-Sony-Xperia-XZs-SpecPhone-24

Review-Sony-Xperia-XZs-SpecPhone-4

การออกแบบของ Sony Xperia XZs ยังคงมีความเป็น Sony หลงเหลืออยู่ ที่เห็นได้ชัดเลยก็คือรูปทรงและเหลี่ยมมุมต่างๆ ของเครื่อง ที่ได้รับการผสมผสานเข้ากับความโค้งมนได้ลงตัวยิ่งขึ้น โดยส่วนหน้าของตัวเครื่องจะใช้เป็นกระจก Gorilla Glass ที่มีขอบโค้งมนแบบ 2.5D รับกับบอดี้ส่วนด้านข้างเครื่องได้แบบพอดิบพอดี ฝั่งด้านบนของจอก็จะเป็นที่ตั้งของไฟแจ้งเตือนแบบ LED ตรงมุมซ้ายบนสุด ซึ่งมีการตั้งค่าสีไฟให้แต่ละแอปมาตั้งแต่แรกเลย อย่างเช่น LINE ก็จะเป็นไฟสีเขียว การแจ้งเตือนจาก Facebook ก็เป็นสีน้ำเงิน เป็นต้น ไล่เข้ามาจะเป็นกล้องหน้า ลำโพงสนทนา และกลุ่มเซ็นเซอร์วัดแสงกับเซ็นเซอร์วัดระยะห่างที่อยู่รายล้อมโลโก้ Sony อันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์

ด้านล่างเครื่องก็จะมีเพียงช่องรับเสียงของไมค์สนทนาเท่านั้น ซึ่งภายในจะมีลำโพงซ่อนอยู่ด้วย ทำให้เวลาเปิดเพลง ภาพยนตร์ หรือเล่นเกม เสียงที่ได้จากเครื่องจะเป็นแบบสเตอริโอ คุณภาพของเสียงที่ได้ก็อยู่ในระดับกลางๆ ของสมาร์ทโฟนเท่านั้นครับ ส่วนความดังก็หายห่วงเลยครับ ใช้สำหรับเอ็นเตอร์เทนส่วนตัวได้สบายมาก

ปุ่มสั่งงาน 3 ปุ่มหลักเลือกใช้เป็นแบบ on-screen ที่ใช้ซอฟต์แวร์ในการทำงาน โดยให้มา 3 ปุ่มหลัก ได้แก่ปุ่มย้อนกลับซึ่งอยู่ฝั่งซ้าย ตรงกลางเป็นปุ่มโฮม และก็ปุ่มเรียกดูแอปใช้งานล่าสุดอยู่ทางฝั่งขวา เสียดายที่ไม่มีตัวเลือกให้เปลี่ยนตำแหน่งของทั้ง 3 ปุ่มนี้ได้เลยครับ อาจจะขัดใจคนที่ถนัดกับการใช้ปุ่มย้อนกลับให้อยู่ทางฝั่งขวากันซักเล็กน้อย

ขนาดเครื่องกำลังดี แต่แอบขัดใจที่ซอฟต์แวร์

ด้วยจอแสดงผลที่มีขนาด 5.2 นิ้ว ทำให้ไซส์ของ Sony Xperia XZs จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับสมาร์ทโฟนหน้าจอ 5.5 นิ้วที่เป็นพื้นฐานของความต้องการในยุคนี้ แต่ก็ยังเล็กกว่าระดับนึง เหมาะกับคนที่อยากได้มือถือสเปคแรงหน่อย ใช้งานมัลติมีเดียได้เยี่ยมยอด ภายในตัวเครื่องขนาดกะทัดรัด พกสะดวก พอลองเทียบกับสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นๆ ที่ออกมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ก็จะพบความแตกต่างของปรัชญาการออกแบบได้อย่างชัดเจนมากๆ นั่นคือรูปลักษณ์เครื่องที่คงความเป็นเหลี่ยมไว้ ในขณะที่รุ่นอื่นๆ เลือกใช้ความโค้งมนเป็นคีย์หลักของการออกแบบกันหมดแล้ว รับรองได้เลยว่าคุณโดดเด่นแน่นอนครับ เมื่อถือ Sony Xperia XZs ในมือ

Sony Xperia XZs มีด้วยกัน 3 โทนสี ได้แก่สีฟ้า สีดำ และสีเงินครับ ซึ่งสีฟ้าโทนอ่อนจะเป็นสีแบบกึ่งเมทัลลิก ช่วยเพิ่มความโดดเด่นให้กับตัวเครื่องได้ดีมากๆ โดยสีของด้านหน้าเครื่องก็จะเป็นสีเดียวกันกับฝาหลังด้วย ให้ความรู้สึกว่าทุกชิ้นส่วนของ XZs ดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

Review-Sony-Xperia-XZs-SpecPhone-25

เทคโนโลยีจอแสดงผลก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ Sony ให้ความใส่ใจพัฒนามาโดยตลอด สำหรับ Xperia XZs ก็เลือกใช้พาเนลแบบ IPS มุมมองกว้าง แม้จะมองจากด้านข้างก็ยังคงได้สีที่แทบไม่แตกต่างจากการมองจอแบบตรงๆ ความสว่างอยู่ในระดับที่ใช้งานกลางแดดจัดได้โดยไม่ต้องป้องมือเพื่อดูจอ นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีของ Sony เสริมเข้ามาอีก ไม่ว่าจะเป็น

จอแสดงผล TRILUMINOS

เป็นเทคโนโลยีการแสดงผลที่มีต้นกำเนิดมาจากทีวีในตระกูล BRAVIA ของ Sony เอง และถูกย่อส่วนลงมาอยู่ในสมาร์ทโฟนของ Sony มาหลายต่อหลายรุ่นแล้ว ซึ่งมันก็ช่วยให้ภาพมีสีสันสดใสเสมือนจริงมากยิ่งขึ้น เมื่อประกอบการใช้พาเนลจอแบบ IPS ก็ช่วยแก้ปัญหาการแสดงผลบนจอมือถือ Sony รุ่นเก่าๆ ที่มักมีเสียงบ่นว่าจอซีดเกินไปได้เป็นอย่างดี

X-Reality for Mobile

สำหรับ X-Reality จะเป็นความสามารถในการบูสท์สีสัน ไดนามิกเรนจ์ของสี ความสว่าง ไฮไลท์ แสงเงาเมื่อดูภาพถ่ายและวิดีโอ เพื่อให้ภาพที่ออกจากจอดมีมิติ มีความคมชัด และดูเป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น

สำหรับความรู้สึกที่ได้ทดสอบเพื่อรีวิว Sony Xperia XZs ของผมนั้น รู้สึกได้เลยว่าจอของ XZs มีการแสดงผลที่ไม่แตกต่างจากสมาร์ทโฟนระดับเรือธงของรุ่นอื่นมากนัก ซึ่งต้องนับว่า Sony ทำออกมาได้ถูกทางแล้วครับ ลบข้อจำกัดของตนเองที่มีในรุ่นเก่าๆ ได้อย่างหมดจด เวลาใช้งานแล้วก็รู้สึกสบายตา ระบบปรับความสว่างหน้าจออัตโนมัติก็ทำงานได้ดี

Review-Sony-Xperia-XZs-SpecPhone-19

ฝาหลังของ Sony Xperia XZs จะใช้พื้นผิวเป็นโลหะ ALKALEIDO คุณภาพสูง อันเป็นเทคโนโลยีที่ Sony ยกมาใช้ต่อจาก Xperia XZ โดยสำหรับเครื่องรุ่นสีดก ผิวจะเป็นไม่ได้เป็นแบบมันวาวเหมือนกับสีฟ้าและสีเงินนะครับ ตัวผิวจะเป็นสีแบบด้านๆ มี ของความเป็นโลหะชัดเจนกว่า ให้ความรู้สึกถึงความเข้มแข็ง หนักแน่น สัมผัสแล้วรู้สึกลื่นมือเล็กน้อย ช่วยระบายความร้อนจากภายในออกมาได้ดี แต่ผิวแบบนี้จะมีข้อสังเกตคือมันเปื้อนรอยนิ้วมือง่าย และเห็นได้ชัดกว่าปกติ

คอนเซ็ปต์แห่งอารยธรรม

Review-Sony-Xperia-XZs-SpecPhone-13

Review-Sony-Xperia-XZs-SpecPhone-8

Review-Sony-Xperia-XZs-SpecPhone-21

กล้องหลัง Motion Eye ถูกวางในตำแหน่งมุมซ้ายบนสุดของฝาหลัง โดยจะนูนขึ้นมาจากผิวฝาหลังเล็กน้อย ดังนั้นหากจะใช้งานแบบไม่ใส่เคสก็อาจจะต้องระมัดระวังกันซักเล็กน้อยเวลาวางเครื่องราบไปกับพื้นผิว

ถัดลงมาจากกล้องหลังก็จะมีสิ่งที่น่าสนใจด้วยกัน 3 จุดครับ ไล่ลงมาก็เป็นเซ็นเซอร์เลเซอร์ช่วยโฟกัส ที่ทำให้การโฟกัสภาพทำได้อย่างแม่นยำ รวดเร็ว แม้จะเป็นในที่มีแสงน้อย ตรงกลางที่เป็นสีขาวคือเซ็นเซอร์ RGBC-IR ที่ใช้ตรวจจับสภาพแวดล้อมของบริเวณที่จะถ่ายภาพ แล้วระบบจะนำค่าที่เซ็นเซอร์อ่านได้ไปคำนวณ เพื่อนำไปใช้ในการชดเชย ปรับ white balance ของภาพให้ออกมาเป็นธรรมชาติ และตรงตามสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการ ช่วยลดปัญหาภาพสีเพี้ยนจากการปล่อยให้ระบบประมวลผลภาพเอง ซึ่งบางครั้งอาจผิดพลาดได้เมื่อเจอวัตถุดิบและฉากหลังที่มีความแตกต่างของโทนสีมากๆ ส่วนจุดที่สามก็คือแฟลช LED ตามปกติ

กรอบข้างของ Sony Xperia XZs เป็นพลาสติกเนื้อดี ให้ความรู้สึกแน่นหนา โดยแต่ละด้านก็จะมีพอร์ตและปุ่มกดต่างๆ ดังนี้

ด้านบน: ช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5mm และช่องรับเสียงของไมค์ตัดเสียงรบกวน

ด้านซ้าย: ถาดใส่ซิมการ์ดแบบไฮบริด ซึ่งสามารถใช้ปลายเล็บแงะแล้วดึงถาดออกมาได้เลย ตัวถาดเป็นพลาสติก (เมื่อดึงออกมา เครื่องจะรีสตาร์ททุกครั้ง)

ด้านขวา: มีปุ่ม Power ที่เป็นเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือด้วยในตัว, ปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง และปุ่มถ่ายรูป/กดค้างไว้เพื่อเปิดแอปกล้อง

ด้านล่าง: ช่อง USB-C สำหรับชาร์จไฟ

สำหรับการใช้ปุ่ม Power ฝั่งขวาของเครื่องเป็นเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือด้วยนั้น ก็ช่วยให้การใช้งานมีความสะดวกได้ดีเลยครับ เพราะสามารถกดเปิดหน้าจอที่ปุ่ม แล้วระบบก็จะอ่านลายนิ้วมือ และปลดล็อกหน้าจอให้ทันที แต่สำหรับการใช้ด้วยมือซ้าย ก็อาจจะไม่ถนัดกันซักหน่อย ต่างจากสมาร์ทโฟนทั่วไปที่มักวางเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือไว้ตรงกลางของเครื่อง (ไม่ว่าจะด้านหน้าหรือด้านหลัง) ซึ่งจะเหมาะกับการใช้งานด้วยทั้งมือซ้ายและมือขวามากกว่าการวางไว้ทางขวาแต่เพียงฝั่งเดียวของ XZs

ด้านของปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง ส่วนตัวผมรู้สึกว่ามันควรจะวางในตำแหน่งเหนือปุ่ม Power ขึ้นไปมากกว่า เพราะบางทีเวลาฟังเพลงอยู่ แล้วต้องการปรับระดับเสียงเพลงด้วยมือข้างเดียว เท่ากับว่าต้องขยับนิ้วหัวแม่มือ (หรือทั้งมือ) ลงมาจากตำแหน่งที่วางอยู่ อันทำให้เสียบาลานซ์ของการถือเครื่องไป ซึ่งอาจทำให้เครื่องหลุดมือได้ง่ายกว่าเดิม

ภาพมุมอื่นๆ ของตัวเครื่อง รับชมได้จากแกลเลอรี่ด้านล่างนี้ครับ

Software

1

Sony Xperia XZs เลือกใช้ระบบปฏิบัติการ Android เวอร์ชัน 7.1.1 พร้อมแพทช์ความปลอดภัยของเดือนพฤษภาคมติดมากับเครื่องเลย นับว่าเป็นเวอร์ชันที่ใหม่มากๆ ของตลาดมือถือ Android ในขณะนี้เลยทีเดียว ตัวอินเตอร์เฟส เมนูต่างๆ จะใช้โครงเป็นของ Pure Android แต่มีการปรับแต่งไอคอน และบางเมนูให้เป็นไปในแบบของ Sony เอง ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้ไม่ยาก เพราะมีการจัดหมวดหมู่ไว้ได้ดี รวมถึงมีการซ่อนเมนูช่วยอำนวยความสะดวกบางอย่างเอาไว้ด้วย เช่น Smart Cleaner ที่จะช่วยปรับแต่งการใช้งานแรมและรอมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งซ่อนอยู่ในหัวข้อการตั้งค่า Storage & memory

พื้นที่เก็บข้อมูลในตัวเครื่องให้มาทั้งหมด 64 GB เหลือให้ใช้จริงตอนเปิดเครื่องราวๆ 49 GB ซึ่งจัดว่ากำลังดีสำหรับคนที่ชอบโหลดแอป โหลดเกม โหลดเพลงมาฟังในเครื่อง ก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องใส่ MicroSD เพิ่มเลยก็ยังไหว แต่ถ้าหากชอบถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอเยอะๆ ด้วยล่ะก็ แนะนำว่าหา MicroSD class 10 ที่เร็วๆ หน่อยมาใช้งานร่วมกับ XZs ได้ก็จะดีครับ แล้วตั้งค่าในแอปกล้องให้เก็บภาพ/วิดีโอไว้ที่ MicroSD ไปเลย จะได้ไม่เปลืองพื้นที่ในเครื่อง ด้านของแรมที่ให้มา 4 GB จากการใช้งานแบบปกติ เปิดแอปพื้นฐานทั่วไปอย่าง LINE, Facebook, ถ่ายรูป พบว่ามีแรมเหลือประมาณเกือบๆ 1 GB ด้วยกัน การสลับแอปพลิเคชันต่างๆ ก็ทำงานได้เร็วตามมาตรฐาน ไม่พบปัญหาแรมขาดแต่อย่างใด

ส่วนการเชื่อมต่อ 4G นั้น Sony Xperia XZs รองรับการใช้งาน 2 นาโนซิม โดยมีโหมดการเชื่อมต่อที่รองรับตามมาตรฐาน Full Netcom 3.0 คือซิมหลักเป็น 4G และซิมรองเป็น 3G ได้ ดังนั้นก็หมดห่วงได้เลยครับ ไม่ว่าจะใช้ซิมเครือข่ายไหน ก็มีสัญญาณแน่นอน ผิดกับมือถือสองซิมหลายๆ รุ่นในตลาดที่ซิมรองจะเชื่อมต่อ 2G ได้เท่านั้น ซึ่งอาจจะลำบาก เพราะในบางพื้นที่ก็แทบจะไม่มีสัญญาณ 2G เหลืออยู่แล้ว ดังนั้นก็ถือว่าเป็นข้อได้เปรียนของ XZs ครับ อีกทั้งยังรองรับ VoLTE และ VoWIFI ในตัวอีกด้วย

Feature

Review-Sony-Xperia-XZs-SpecPhone-16

กันน้ำ กันฝุ่นตามมาตรฐาน IP65/68

คุณสมบัติในการกันน้ำกันฝุ่นนับเป็นปัจจัยพื้นฐานของมือถือรุ่นไฮเอนด์ของ Sony ไปแล้ว และก็มีการพัฒนาให้ดีขึ้นอีกด้วย อย่างในรุ่นหลังๆ ก็สามารถกันน้ำได้โดยไม่ต้องมีจุกยางปิดกันน้ำแต่อย่างใด เช่นเดียวกับใน Sony Xperia XZs ที่ไม่มีจุกปิดพอร์ต USB-C และช่องเสียบหูฟัง แต่ก็สามารถกันน้ำได้อย่างเยี่ยมยอดตามมาตรฐาน IP65/68 คือสามารถกันน้ำที่ฉีดด้วยแรงดันต่ำอย่างน้อย 3 นาที และสามารถป้องกันน้ำที่จะโดนตัวเครื่องจากการแช่น้ำลึกกว่า 1-1.5 เมตรแบบต่อเนื่อง ประมาณ 30 นาที ทั้งนี้ Sony ไม่แนะนำให้เอาเครื่องไปแช่น้ำทิ้งไว้นะครับ แต่ถ้าเป็นการตากฝน หรือล้างเครื่องจากน้ำก๊อก อันนี้สบายๆ เลย

ในการใช้งานจริง ผมลองเอาเครื่องไปแช่น้ำประมาณ 3 นาที จากนั้นเอามาล้างสบู่กับน้ำก๊อก แล้วสะบัดๆ เครื่องให้แห้ง พบว่าน้ำที่เกาะหน้าจอหายไปแทบจะหมด 100% ซึ่งก็น่าจะมาจากสารเคลือบหน้าจอที่ป้องกันน้ำจับตัวกับกระจกของ XZs ทำออกมาได้ดีมาก หลังจากจอแห้งแล้วก็เช็ดเครื่องอีกนิดหน่อย ก็สามารถใช้งานต่อได้ทันทีเลย

ส่วนช่อง USB-C และช่องเสียบหูฟังนั้น แนะนำว่าก่อนจะเสียบสายชาร์จหรือหูฟัง ต้องมั่นใจก่อนนะครับว่าในช่องนั้นแห้งสนิทแล้ว ไม่อย่างนั้นอาจจะเกิดปัญหาไฟฟ้าลัดวงจรได้

Screenshot_20170521-135309

ถ่ายวิดีโอสโลว์โมชัน 960fps

ตามปกติของโหมดการถ่ายวิดีโอแบบสโลว์โมชันจากกล้องสมาร์ทโฟนนั้น มักจะถ่ายได้ที่เฟรมเรตราวๆ 120fps ไปจนถึงช้าสุดที่ 240fps เนื่องด้วยขีดจำกัดของทั้งเซ็นเซอร์รับภาพ ระบบประมวลผล และอัลกอริธึมการทำงานของซอฟต์แวร์ แต่ Sony Xperia XZs นับเป็นสมาร์ทโฟนเครื่องแรกของโลกที่ Sony เปิดตัวมาพร้อมกับกล้องหลัง Motion Eye ที่สามารถถ่ายวิดีโอที่เฟรมเรตสูงถึง 960fps ได้ หมายความว่าใน 1 วินาที จะมีเฟรมภาพอยู่ถึง 960 เฟรม ทำให้ผู้ใช้มองเห็นภาพสโลว์โมชันแบบช้ามากๆ ช้ากว่าวิดีโอแบบสโลว์โมชันจากกล้องสมาร์ทโฟนทั่วไปถึง 8 เท่าตัวเลยทีเดียว

ส่วนในการใช้งานจริง โหมดสโลว์โมชันจะถูกซ่อนอยู่ในโหมดถ่ายวิดีโอของกล้องหลังครับ โดยจะมีไอคอนสำหรับเปิดใช้งานอยู่ใกล้ๆ กับปุ่มกดถ่ายเลย ซึ่งยังจะมีโหมดย่อยอีก 3 แบบด้วยกัน ดังนี้

  • สโลว์ 960fps แบบถ่ายยาวๆ แล้วเลือกจุดที่ต้องการสโลว์: อันนี้เป็นโหมดพื้นฐานครับ โดยวิดีโอหลักจะเป็นการถ่ายแบบปกติ จากนั้นหากเราต้องการให้ช่วงไหนสโลว์ ก็ให้กดปุ่มสโลว์ 1 ครั้ง แล้วกล้องจะบันทึกแบบ 960fps ให้เป็นช่วงสั้นๆ แล้วก็กลับไปถ่ายแบบปกติต่อ หากต้องการได้ช็อตสโลว์อีก ก็กดได้เรื่อยๆ
  • สโลว์ 960fps แบบตัดคลิปจบ: วิธีใช้งานก็คือ กดปุ่มอัดสโลว์ กล้องก็จะบันทึกให้เป็นช่วงสั้นๆ พอจบแล้วก็ตัดจบคลิปเลย หากอยากถ่ายใหม่ก็จะเป็นการเริ่มคลิปใหม่
  • สโลว์ 120fps: จะเป็นการถ่ายวิดีโอแบบยาวๆ แล้วมาเลือกหลังตัดจบคลิปว่าจะให้สโลว์ที่เฟรมเรต 120fps ตรงช่วงใดบ้าง

สำหรับตัววิดีโอ รายละเอียดการใช้งานและข้อจำกัด จะขอยกไปกล่าวถึงในส่วนรีวิวกล้องนะครับ

2

ระบบ Entertainment แบบฉบับ Sony

อีกหนึ่งสิ่งที่อยู่คู่กับมือถือ Sony มานาน ก็คือการเป็นศูนย์รวมความบันเทิงที่หลากหลายให้กับผู้ใช้ อย่างในด้านการฟังเพลงก็นับว่าเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงมานานว่าให้เสียงเพลงที่ถ่ายทอดอารมณ์ได้อย่างเต็มอิ่ม แถมยังมีตัวเลือกให้ปรับแต่งได้หลากหลาย สำหรับใน Sony Xperia XZs ตัวแอปเล่นเพลงก็มาพร้อมความสามารถในการปรับแต่งเสียงได้พอตัว โดยจะซ่อนอยู่ในเมนูการตั้งค่าเสียงของตัวเครื่องครับ ซึ่งสามารถเลือกใช้งานได้เพียงแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น จาก 3 รูปแบบดังต่อไปนี้

  • DSEE HX: ใช้สำหรับปรับจูน เพิ่มรายละเอียดเสียงให้กับไฟล์เพลงที่ผ่านการบีบอัดมา เช่นไฟล์ MP3 ให้มีรายละเอียดขึ้นมาใกล้เคียงกับไฟล์ระดับ Hi-Res โดยจากที่ลองใช้งานดู พบว่าเสียงมีดีเทลเพิ่มขึ้นจริงๆ
  • ClearAudio+: ใช้สำหรับปรับแต่งเสียงให้มีความใส คมชัดมากยิ่งขึ้น
  • Sound effects: ใช้สำหรับปรับแต่งเสียง ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ เช่น การปรับ equalizer และการปรับระดับเสียงรอบทิศทาง

จากที่ทดสอบฟังเพลงในระหว่างรีวิว Sony Xperia XZs นั้น พบว่าเสียงก็จัดอยู่ในระดับที่ดีสำหรับสมาร์ทโฟน สามารถฟังได้เรื่อยๆ ไม่บาดหู เสียงไม่จัดจนเกินไป

ส่วนคนที่ชอบเล่นเกม และถ้ามีเครื่องเกม PlayStation 4 อยู่แล้วคงจะชอบ เนื่องจาก XZs มีการใส่แอป PlayStation มาให้ในตัวแล้ว สำหรับในมือถือรุ่นอื่นๆ ตัวแอปนี้จะทำหน้าที่เป็นแค่ตัวกลางในการนำเสนอข่าว แสดงระบบโซเชียลที่ผูกกับ PSN รวมถึงการจำลองใช้เป็นจอย (controller) สำหรับเล่นแบบขำๆ ได้ แต่ถ้าเป็นบนมือถือ Sony รุ่นท็อปๆ หรือบางรุ่นที่รองรับ มันจะสามารถใช้งานฟีเจอร์ PS4 Remote Play ได้ด้วย

โดย PS4 Remote Play จะเป็นการสตรีมภาพจาก PS4 ของเราที่กำลังเปิดเครื่องอยู่ ให้มาแสดงบนหน้าจอมือถือ และสามารถเล่นผ่านมือถือได้เลย ไม่ว่าจะผ่านการกดปุ่มจำลองบนหน้าจอ หรือจะเล่นผ่านจอย PS4 ที่เชื่อมต่อกับมือถือเอาไว้แล้วก็ได้ เท่ากับผู้ใช้สามารถเล่นเกม PS4 จากมุมใดก็ได้ในบ้าน โดยสามารถตั้งค่าได้ครับ ว่าจะให้ภาพที่แสดงมีความละเอียดเท่าไหร่ เฟรมเรตระดับใด ถ้าหากยิ่งปรับละเอียดมากๆ ก็ยิ่งใช้ความเร็วของ WLAN มากขึ้นเท่านั้นด้วย

18575067_1533049446713415_1169719137_o

ซึ่งผมเองก็ลองเล่นเกม FIFA 17 ผ่านฟีเจอร์ PS4 Remote Play ดู ตั้งค่าภาพเป็นความละเอียด 720p และให้เฟรมเรตอยู่ในระดับที่ไหลลื่น โดยทั้งมือถือและ PS4 เชื่อมต่อเข้ากับ WLAN แบบ 802.11n วงเดียวกันทั้งคู่ พบว่าโดยรวมแล้วอยู่ในระดับที่สามารถเล่นได้ มีการ delay หลังกดปุ่มเล็กน้อย แต่ที่เป็นอุปสรรคหน่อยก็เนื่องมาจากจอของ Xperia XZs ที่มีขนาดเพียง 5.2 นิ้วเท่านั้น เลยต้องเพ่งจอกันซักหน่อย ดังนั้นผมว่าฟีเจอร์นี้น่าจะเหมาะกับการไว้เล่นเกมที่ไม่ต้องเน้นการตอบสนองที่ฉับไวหลังกดปุ่มสั่งงาน รวมถึงเป็นเกมที่ไม่ต้องอ่านข้อความ หรือต้องมองวัตถุขนาดเล็กๆ บนจอมากนักซะมากกว่าครับ

3

โหมดประหยัดพลังงาน STAMINA และ Ultra STAMINA

แม้แบตเตอรี่ของ Sony Xperia XZs จะมีความจุเพียง 2900 mAh เท่านั้น แต่ก็สามารถใช้งานได้ตลอดวัน แถมยังมีโหมดประหยัดพลังงานอย่าง STAMINA และโหมดสุดยอดแห่งการประหยัดพลังงานอย่าง Ultra STAMINA มาให้ใช้งานอีกด้วย ซึ่งตัวของโหมด STAMINA ปกตินั้น ระบบจะปรับการทำงานของฮาร์ดแวร์บางส่วนลง เช่น พลังในการประมวลผล การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต การซิงค์ข้อมูล เพื่อยืดระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ให้ยาวนานขึ้นเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับระดับของการลดการใช้พลังงานที่ผู้ใช้เลือก

ส่วนโหมด Ultra STAMINA นั้นจะเป็นการลดการใช้พลังงานแบบขีดสุด ตัดอินเตอร์เน็ตทั้งหมด แต่ยังคงรับสัญญาณ cellular ที่ใช้ในการโทรออก รับสาย และใช้งาน SMS ได้เหมือนเดิม รวมถึงมีการจำกัดแอปที่สามารถใช้งานได้ให้เหลือแค่แอปจำเป็นในการใช้งานทั่วไป ซึ่งไม่ต้องเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตก็สามารถใช้งานได้ อย่างในภาพขวาสุดด้านบนที่พบว่าระยะเวลาการใช้งานแบตที่เหลืออยู่โดยประมาณจะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับภาพแรกสุดที่ยังไม่ได้เปิดโหมดประหยัดพลังงานใดๆ

Camera

Review-Sony-Xperia-XZs-SpecPhone-20

ตัวกล้องหลัง Motion Eye ของ Sony Xperia XZs นี้นอกเหนือจากความละเอียดระดับ 19 ล้านพิกเซลแล้ว ก็ยังมาพร้อมกับฟีเจอร์ ลูกเล่นหลายอย่างเลยทีเดียว ที่น่าสนใจก็คือฟังก์ชัน Predictive Capture ที่กล้องจะคาดเดาและเก็บภาพไว้ให้ก่อนผู้ใช้กดถ่ายเล็กน้อย แล้วเก็บภาพไว้ให้รวมกันสูงสุด 4 ช็อต เพื่อให้ผู้ใช้สามารถมาเลือกภาพที่ดีที่สุดได้ในภายหลัง เพื่อป้องกันการพลาดช็อตเด็ด โดยรวมแล้วก็จัดว่าเป็นฟีเจอร์ที่ดีครับ แต่ในขณะเดียวกัน มันก็จะกินพื้นที่เก็บข้อมูลเพิ่มด้วย หากไม่ต้องการใช้งานฟีเจอร์นี้ ก็สามารถปิดได้จากเมนูการตั้งค่าภายในแอปกล้องครับ

เซ็นเซอร์รับภาพ Exmor RS ของกล้องหลังความละเอียด 19 ล้านพิกเซลนั้น มีขนาดเซ็นเซอร์ที่ใหญ่ถึง 1/2.3″ ซึ่งถือว่าใหญ่กว่าในมือถือทั่วๆ ไปแทบทั้งหมด ทำให้มีข้อได้เปรียบในเรื่องการเก็บภาพในที่มีแสงน้อย รวมถึงการเก็บรายละเอียดต่างๆ ในภาพ ทำให้ฮาร์ดแวร์โดยรวมของ Sony Xperia XZs นั้นดีมาก ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับซอฟต์แวร์ประมวลผลภาพแล้วล่ะครับว่าจะทำได้ดีขนาดไหน

แอปกล้องติดเครื่องของ XZs มีฟีเจอร์ที่ให้มาแต่พอจำเป็นพื้นฐานเท่านั้น มีโหมดหลักมาให้ 4 โหมด ได้แก่ Superior Auto+, โหมด Manual, โหมดถ่ายวิดีโอ ที่รวม Super Slow motion ไว้ข้างในด้วย และก็โหมดแอปพิเศษ เช่น ถ่ายวิดีโอ 4K, ถ่ายพาโนรามา และโหมดเบลอพื้นหลัง เป็นต้น การใช้งานทั่วไปก็จะเน้นที่โหมดออโต้ที่ผู้ใช้แทบไม่ต้องทำอะไร หยิบขึ้นมา เลือกโฟกัสแล้วกดถ่ายได้เลย โดยระบบจะประมวลผลให้ว่าวัตถุที่จะถ่ายคืออะไร แล้วเลือก scene mode ที่เหมาะสมให้โดยอัตโนมัติ ซึ่งการคำนวณของมันก็จัดว่าแม่นยำทีเดียว

ส่วนโหมด Manual นั้น มีความยืดหยุ่นในการปรับค่าน้อยไปหน่อย ที่เห็นชัดเลยคือความเร็วชัตเตอร์ที่สามารถลากได้นานสุดเพียง 1 วินาที และที่สำคัญคือ ยังไม่สามารถเก็บเป็นไฟล์ RAW ได้ ซึ่งมันแทบจะเป็นพื้นฐานของมือถือที่มีโหมด Manual มาให้ใช้กันแล้ว ตรงนี้ก็เป็นจุดที่ Sony ได้รับเสียงบ่นไปไม่น้อยมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังคงไม่ทำให้โหมด Manual มันยืดหยุ่นขึ้นกว่านี้ได้ซักทีเหมือนกัน

5

ด้านบนนี้ก็เป็นตัวอย่างการใช้งานโหมด Backgroud defocus (โหลดเพิ่มฟรีจากใน Play Store) ที่ระบบจะให้ถ่ายภาพเดียวกันมา 2 ระยะ แล้วมาทำการเบลอพื้นหลังได้หลังถ่าย ซึ่งสามารถเลือกได้เลยครับว่าจะให้เบลอลักษณะไหน และเบลอหนักขนาดไหน สำหรับโหมดนี้ แนะนำว่าควรถ่ายกับวัตถุที่ห่างจากกล้องเล็กน้อย และทิ้งฉากหลังให้ไกลๆ หน่อย เพื่อความเนียน

สำหรับประสบการณ์ในการถ่ายภาพด้วย XZs จริงๆ จากที่รีวิวมานั้น ส่วนตัวผมพบจุดขัดใจหลักๆ เลยก็คือเรื่องการโฟกัสภาพ บางทีผมแตะเลือกจุดโฟกัสไปแล้ว พอกดถ่าย ปรากฏว่าระบบไปหาจุดโฟกัสใหม่แล้วเก็บภาพให้ซะอย่างนั้น แทนที่จะถ่ายทันทีโดยใช้ระยะโฟกัสที่ผมต้องการจากจุดที่เลือกไว้เองตอนแรก กลายเป็นว่าไม่ได้ภาพอย่างที่ต้องการซะอย่างนั้น

อีกเรื่องก็คือการภาพถ่ายที่ได้ เมื่อมาซูมดูรายละเอียดในภาพ พบว่าเนื้อไฟล์ดูเป็นวุ้น ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากการที่ซอฟต์แวร์ประมวลผลภาพพยายามลด noise ที่มีในภาพจนมากเกินไป และภาพเละจนกลายเป็นวุ้นในที่สุด ซึ่งถ้าเกิดกับภาพที่ถ่ายในที่มีแสงน้อยก็ยังพอเข้าใจได้ แต่อันนี้ดันเกิดกับภาพที่ถ่ายกลางแจ้งในบางจังหวะด้วย อย่างเช่นภาพด้านล่างนี้ครับ

Screen Shot 2017-05-28 at 4.05.59 PM copy

ภาพข้างบนนี้เป็นการ crop 100% จากภาพเต็มที่ถ่ายด้วยโหมด auto เพื่อดูรายละเอียดภายในภาพ สังเกตว่าทางฝั่งซ้ายจะมีอาการภาพเละเป็นวุ้นเยอะไปนิด โดยค่าที่อ่านได้จาก Exif ของภาพเป็นดังนี้: ISO40 | f/2.0 | 1/500s ซึ่งจากค่าดังกล่าวเมื่อถ่ายในเวลากลางวัน แสงยังมีมาก ภาพที่ได้ควรจะชัดแบบคมกริบมากกว่าครับ

Screen Shot 2017-05-28 at 4.23.28 PM copy

ส่วนภาพนี้เป็นการทำแบบเดียวกัน แต่เป็นภาพที่ได้จาก iPhone 7 Plus จะเห็นได้เลยว่าดีเทลในภาพดูชัดกว่ามาก สำหรับค่าที่อ่านได้จาก Exif ก็เป็น ISO20 | f/1.8 | 1/1700s

แกลเลอรี่ด้านล่างนี้ก็เป็นภาพถ่ายจากกล้องหลังของ Sony Xperia XZs นะครับ คลิกชมกันได้เลย

Sony Xperia XZs: Camera Rollส่วนคลิปวิดีโอด้านล่างนี้เป็นคลิปรวมวิดีโอสโลว์โมชัน 960fps ที่ผมถ่ายไว้หลายๆ ช็อต แล้วเอามาตัดต่อยำรวมกันจากแอป Movie Creator ในเครื่อง XZs เอง

จากวิดีโอ super slow motion บางช็อตในคลิปนั้น จะสังเกตได้ว่ามีอาการภาพไหวเป็นคลื่น ซึ่งเป็นเรื่องปกติครับ เนื่องจากตัววิดีโอถูกถ่ายที่เฟรมเรตสูงถึง 960fps เมื่อมาเจอกับแสงที่มาจากหลอดไฟซึ่งมีรีเฟรชเรต (เทียบเท่ากับเฟรมเรต) เพียง 50 หรือ 60 Hz ทำให้เราสามารถเห็นการกระพริบของแสงไฟได้อย่างชัดเจนมากๆ ซึ่งมันก็คือสถานการณ์แบบเดียวกับเวลาเราใช้กล้องที่ตั้งความเร็วชัตเตอร์สูงๆ มาถ่ายหน้าจอ หรือถ่ายหลอดไฟแบบตรงๆ ก็จะเห็นการกระพริบของภาพได้นั่นเอง รวมถึงความสามารถในการรับแสงก็ลดลงด้วย จึงได้เห็น noise ปรากฏขึ้นเป็นจำนวนมากเมื่อถ่ายในที่มีแสงน้อย เพราะฉะนั้น โหมด Super slow motion นี้จะเหมาะกับการถ่ายกลางแจ้งที่มีแสงสว่างมากพอที่สุดนะครับ

อีกเรื่องที่เป็นข้อจำกัดของโหมด Super slow motion ก็คือ เมื่อกดเปิดโหมดนี้แล้ว sensor รับภาพจะถูก crop ลงมาเหลือนิดเดียวเท่านั้น ยกตัวอย่างสมมติง่ายๆ ให้เห็นภาพ เช่น เวลาถ่ายวิดีโอปกติ กรอบของภาพในวิดีโอเป็นขนาด 4×6 นิ้ว พอใช้โหมด Super slow motion ตัวกรอบจะถูกลดขนาดลงเหลือเพียง 1×3 นิ้ว เป็นต้น ทำให้วิดีโอที่ถ่ายจากโหมดนี้มีความแคบลงกว่าขนาดของเซ็นเซอร์รับภาพเยอะมาก ทำให้ต้องกะระยะถ่ายให้ดีกว่าปกติ นอกจากนี้แล้ว เมื่อเปิดใช้โหมด Super slow motion แล้ว ผู้ใช้จะไม่สามารถแตะเลือกจุดโฟกัสได้ หากต้องการเลือกจุดโฟกัส ต้องสลับกลับไปที่โหมดถ่ายวิดีโอปกติก่อน แล้วแตะเลือกจุดที่ต้องการโฟกัส จากนั้นจึงสลับกลับมาที่โหมด Super slow motion แทน

Screen Shot 2017-05-28 at 4.45.00 PM

ทีนี้พอลองเอาตัวอย่างไฟล์วิดีโอ super slow motion มาเปิดดูค่าต่างๆ จากในโปรแกรม MediaInfo พบว่าเนื้อไฟล์มีความละเอียดระดับ HD 1280 x 720 เฟรมเรตอยู่ที่ 30fps แบบค่อนข้างคงที่ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าซอฟต์แวร์น่าจะประมวลผลวิดีโอ 960fps ให้มาแสดงในระดับ 30fps และเรนเดอร์วิดีโอมาให้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้ผู้ใช้ไม่สามารถมาเลือกส่วนที่ต้องการสโลว์ทีหลังได้นั่นเอง ซึ่งวิธีนี้ก็มีผลดีอย่างหนึ่งครับ นั่นคือผู้ใช้สามารถส่งต่อวิดีโอ super slow motion นี้ให้คนอื่นดู หรืออัพโหลดขึ้น YouTube หรือ Facebook ได้ทันทีโดยไม่ต้องกังวลว่าภาพจะออกมาสโลว์หรือไม่ ต่างจากมือถือทั่วไปที่ถ่ายสโลว์โมชันได้ มักจะติดปัญหาเวลาส่งไฟล์ให้คนอื่นดู จะพบว่าวิดีโอมันก็เร็วตามระดับปกติ ไม่ได้มีการสโลว์แต่อย่างใด

Performance

4

ด้วยการเลือกใช้ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon 820 ร่วมกับแรม 4 GB ประกอบกับฝีมือการพัฒนารอมให้มีการจัดการทรัพยากรภายในได้ดี ซึ่งเป็นจุดเด่นของ Sony มาหลายต่อหลายรุ่น ทำให้ประสบการณ์การใช้งาน Sony Xperia XZs เป็นไปได้อย่างราบรื่น ไม่พบปัญหากวนใจมากนัก ส่วนด้านของคะแนนการทดสอบประสิทธิภาพก็เป็นไปตามภาพด้านบนครับ

เรื่องความร้อนที่เคยมีปัญหาในรุ่นก่อนๆ ก็ได้รับการแก้ไขแล้ว อย่างใน XZs ที่ผมทดสอบด้วยการเล่นเกม ถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ super slow motion หลายๆ คลิปติดต่อกันกลางแจ้ง ก็ไม่พบปัญหาว่าเครื่องร้อนจนแอปกล้องต้องปิดลงไปเหมือนกับในรุ่นเก่าๆ แล้ว ส่วนหนึ่งก็อาจจะเนื่องด้วยการเปลี่ยนมาใช้ฝาหลังเป็นโลหะ ซึ่งมีคุณสมบัติในการระบายความร้อนได้ดีขึ้นกว่ากระจก

ส่วนในภาพสุดท้ายด้านบนนั้น เป็นป๊อปอัพที่เด้งขึ้นมาทุกครั้ง เมื่อเชื่อมต่อ XZs เข้ากับคอมพิวเตอร์ โดยค่าเริ่มต้นจะเป็นแค่การชาร์จไฟเข้าเครื่องเฉยๆ (ข้อแรกสุด) หากต้องการซิงค์ข้อมูล ก็ให้เปลี่ยนไปเลือกหัวข้อ Transfer files แทน นอกจากนี้หากเชื่อมต่อเข้ากับมือถือเครื่องอื่นผ่านสาย OTG ก็สามารถเลือกที่หัวข้อ Supply power เพื่อจำลองเอา XZs เป็นแบตสำรองไปชาร์จให้กับมือถืออีกเครื่องที่ต่ออยู่ด้วยกันก็ได้

6

การใช้งานแบตเตอรี่ความจุ 2900 mAh ของ XZs ก็ทำออกมาได้พอดีๆ วันแบบมีเหลือกลับบ้านเล็กน้อยครับ ด้วยรูปแบบการใช้งานทั่วไป มีหยิบมาเล่นระหว่างทำงานบ้างเล็กน้อยระหว่างทำงาน

ส่วนในภาพด้านบนเป็นการทดสอบใช้งานแบตเตอรี่แบบหนักขึ้นมากว่าปกติเล็กน้อย ด้วยรูปแบบการใช้งานแบบหยิบเครื่องมาเล่นบ่อยๆ เชื่อมต่อ 4G+ ของ AIS ตลอดเวลา เน้นถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอสโลว์โมชัน 960fps เปิด Facebook แชท LINE และใช้งานกลางแจ้ง โดยถอดสายชาร์จตอนประมาณเที่ยงวัน ก็สามารถอยู่มาได้ถึงตอนทุ่มครึ่ง แบบมีแบตเตอรี่เหลืออยู่ 19% ซึ่งระบบก็ประเมินว่าน่าจะยังใช้งานได้อีกราวๆ 2 ชั่วโมงด้วยกัน

 

Screen Shot 2017-05-28 at 2.38.34 PM

เทคโนโลยี Qnovo Adaptive Charging และ Battery Care

Qnovo คือเทคโนโลยีที่จะมาช่วยถนอมและยืดอายุการใช้งานแบตเตอรี่ให้ยาวขึ้นเป็น 2 เท่า โดยจะมีระบบช่วยตรวจสอบแบตเตอรี่แล้วทำการปรับระดับกระแสกับแรงดันไฟฟ้าของการชาร์จให้เหมาะสม ซึ่งจะทำงานร่วมกับเทคโนโลยี Battery Care ที่จะเรียนรู้เวลาตื่นนอนของผู้ใช้ จากนั้นเมื่อเราเสียบสายชาร์จทิ้งไว้ตอนก่อนนอน ระบบจะทำการชาร์จแบตเตอรี่มาจนถึง 90% แล้วหยุดการชาร์จไว้ และมาชาร์จต่ออีกครั้งจนเต็ม 100% ตอนช่วงที่ผู้ใช้ใกล้ตื่น เพื่อเป็นการทำให้ cycle ของการชาร์จแบตเต็มช้าลง (ปกติเมื่อชาร์จไฟเต็มแล้ว ระบบก็จะมีการคายประจุและชาร์จเข้าอยู่ทีละนิดๆ ซึ่งก็เป็นการทำให้ครบรอบ cycle เร็วขึ้นกว่าการทำงานของ Qnovo/Battey Care)

อย่างไรก็ตาม ยังมีจุดที่น่าขัดใจอยู่เหมือนกันครับ นั่นคืออะแดปเตอร์ชาร์จไฟที่แถมมาในกล่องของ Sony Xperia XZs จะเป็นรุ่น UCH20 ที่สามารถจ่ายไฟได้แค่ 5V 1.5A และไม่รองรับ Quick Charge ซะอย่างนั้น ทั้งๆ ที่ XZs รองรับการชาร์จเร็วได้ถึงระดับ Quick Charge 3.0 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของทาง Qualcomm เลยทีเดียว

แต่ถ้าหากคุณอยากจะชาร์จแบตได้เร็วๆ ทางแก้ปัญหาก็คือการซื้ออะแดปเตอร์เพิ่มเติมจากทาง Sony รุ่น UCH12W (จ่ายไฟได้ที่ 5V 2.7A และ 9V 1.8A) สนนราคาศูนย์อยู่ที่ 1,290 บาท ซึ่งอะแดปเตอร์ตัวนี้รองรับมาตรฐานการชาร์จเร็วทั้ง Qualcomm Quick Charge 3.0 และ MediaTek Pump Express อีกด้วย เท่ากับว่าสามารถนำไปใช้กับมือถือรุ่นอื่นๆ ได้อีก เช่น Xperia XA1, XA, XA Ultra เป็นต้น โดยในกล่องจะมีแถมสาย USB-C และ Micro USB ให้อีกอย่างละเส้น นับรวมๆ กันแล้วก็คุ้มราคา 1,290 บาทอยู่เหมือนกัน แต่เอาจริงๆ คือควรแถมให้มาแต่แรกเลยซะมากกว่า

 

ข้อมูลการชาร์จแบตเตอรี่จริง

ส่วนการชาร์จแบตเตอรี่ที่ผมเก็บข้อมูลไว้ จากการชาร์จด้วยอะแดปเตอร์แถมในกล่อง ก็ได้ข้อมูลประมาณนี้ครับ

  • แบตเตอรี่ 8% เริ่มชาร์จเมื่อเวลา 23:00 น. กระแสไฟเข้าที่ 5.1V 1.5A
  • แบตเตอรี่เพิ่มเป็น 24% เมื่อเวลา 23:23 น. (23 นาที ชาร์จไฟเข้าได้ 16%)
  • แบตเตอรี่เพิ่มเป็น 50% เมื่อเวลา 23:55 น. (55 นาที ชาร์จไฟเข้าได้ 42%)
  • แบตเตอรี่เพิ่มเป็น  89% เมื่อเวลา 00:49 น.(1 ชั่วโมง 49 นาที ชาร์จไฟเข้าได้ 81%)
  • แบตเตอรี่เพิ่มเป็น 92% เมื่อเวลา 01:01 น. (2 ชั่วโมง 1 นาที กระแสไฟเข้าเหลือแค่ 5V 0.5A)
  • แบตเตอรี่เพิ่มเป็น 98% เมื่อเวลา 01:20 น. (รวมเวลาชาร์จทั้งหมด 2 ชั่วโมง 20 นาที)

นอกจากนี้ พอผมลองชาร์จไฟด้วยอะแดปเตอร์ Quick Charge 2.0 ตอนช่วงแบตใกล้เต็ม พบว่ากระแสไฟเข้าอยู่ที่ประมาณ 8.8V 0.6A ครับ #FYI

Tags:

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก