ปัจจุบัน หากจะมองหามือถือประสิทธิภาพสูงด้วยสเปคระดับท็อปนั้น แทบทั้งหมดจะมาพร้อมกับหน้าจอขนาดไม่ต่ำกว่า 5 นิ้วแทบทั้งนั้น ซึ่งก็เป็นไปตามแนวโน้มความต้องการของผู้ใช้งาน ที่นิยมใช้มือถือในช่วงหน้าจอ 5 ถึง 5.5 นิ้วมากที่สุด จึงไม่แปลกใจที่กลุ่มมือถือระดับท็อปจะเลือกใช้ขนาดหน้าจอในช่วงนี้ แต่ก็เชื่อว่ามีผู้ใช้งานจำนวนไม่น้อยทีเดียว ที่อยากได้มือถือสเปคระดับท็อป แต่ตัวเครื่องขนาดเล็ก พกพาสะดวก ซึ่งในจุดนี้แทบจะเหลือผู้ผลิตอยู่ไม่กี่รายแล้วที่ยังคงทำตลาดนี้อยู่ หนึ่งในนั้นก็คือ Sony กับมือถือเรือธงไซส์มินิรุ่นล่าสุดอย่าง Sony Xperia XZ1 Compact ครับ เพราะภายในเรือนร่างขนาดกะทัดรัดนี้ กลับอัดสเปคมาสูงมากๆ พร้อมทั้งฟังก์ชัน ฟีเจอร์ต่างๆ ก็แทบไม่แพ้รุ่นใหญ่อย่าง Sony Xperia XZ1 อีกด้วย ก่อนอื่น มาชมสเปคก่อนเลยแล้วกัน ว่าจะแรงขนาดไหน
สเปค Sony Xperia XZ1 Compact
- ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon 835 มี 8 คอร์ประมวลผล (ชุด 2.45 GHz จำนวน 4 คอร์ และชุด 1.9 GHz อีก 4 คอร์) มาพร้อมชิปกราฟิก Adreno 540
- แรม 4 GB
- รอม 32 GB แบบ UFS พร้อมรองรับ MicroSD ได้สูงสุด 256 GB
- หน้าจอ IPS ขนาด 4.6 นิ้ว ความละเอียด 1280 x 720 มาพร้อมเทคโนโลยี TRILUMINOS, X-Reality for mobile สามารถให้ความกว้างของช่วงสี sRGB ได้ถึง 138%
- กระจกหน้าจอ Gorilla Glass 5
- Android 8.0 Oreo มาตั้งแต่แกะกล่อง
- กล้องหลัง Motion Eye ความละเอียด 19 ล้านพิกเซล เลนส์ Sony G f/2.0 ถ่ายวิดีโอได้ความละเอียดสูงสุดระดับ 4K และถ่ายวิดีโอ Super slow motion ได้สูงสุดที่ 960 fps กันสั่น 5 แกน
- กล้องหน้าความละเอียด 8 ล้านพิกเซล มุมกว้างพิเศษ กันสั่น 5 แกน
- ใช้งานได้ซิมเดียวแบบนาโนซิม รองรับทุกเครือข่ายในไทย รองรับการรวมคลื่นแบบ 2CA
- Bluetooth 5.0 รองรับ aptX HD และมี NFC
- ลำโพงแบบสเตอริโอด้านหน้าเครื่อง
- เซ็นเซอร์ลายนิ้วมือที่ปุ่ม power ด้านข้างเครื่อง
- USB-C
- กันน้ำกันฝุ่นที่มาตรฐาน IP68
- แบตเตอรี่ 2700 mAh รองรับ Quick Charge 3.0 มาพร้อมเทคโนโลยี Qnovo สำหรับถนอมอายุการใช้งานแบตเตอรี่
- ราคา 18,990 บาท
ด้านของสเปคนั้นแทบจะไม่แตกต่างจาก Sony Xperia XZ1 ที่เป็นรุ่นใหญ่กว่าเลยทีเดียวครับ ที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเลยก็จะมีเพียงส่วนของหน้าจอที่เล็กลง ปรับความละเอียดเหลือเพียง HD 720p กับแบตเตอรี่ที่ลดความจุลงมาตามขนาดเครื่องที่กะทัดรัดมากขึ้น แต่ด้วยความที่หน้าจอเล็กลง ก็ทำให้การกินไฟลดลงไปด้วย จึงมั่นใจได้เลยว่า Sony Xperia XZ1 Compact เครื่องนี้น่าจะยังคงคอนเซ็ปท์การใช้งานแบตเตอรี่ที่ยาวนานได้เช่นเคย
ส่วนในด้านราคา ก็จัดว่าเกาะกลุ่มไปกับรุ่นอื่นในตลาดที่ใช้ชิป Snapdragon 835 ได้อยู่เหมือนกัน คืออยู่ตรงกลางระหว่างแบรนด์หลัก กับแบรนด์จากจีน แต่จุดเด่นที่รุ่นนี้ต่างจากคู่แข่งเลยก็คือขนาดเล็กกะทัดรัดนี่แหละครับ คือถ้าต้องการมือถือเครื่องเล็กสเปคแรง ก็คงหนีไม่พ้นว่าต้องลงเอยกับ Sony Xperia XZ1 Compact แน่ๆ
ข้อดี
ข้อสังเกต
บทสรุป
BEST COMPACT
Design
ดีไซน์ของ Sony Xperia XZ1 Compact ก็ถอดแบบมาจากรุ่นพี่อย่าง Xperia XZ1 แทบจะ 100% เลยก็ว่าได้ ด้วยการเลือกใช้บอดี้แบบยูนิบอดี้ วัสดุเป็นพลาสติกที่ใช้เนื้อแบบ glass fiber ที่มีคุณสมบัติในด้านความแข็งแกร่ง ความทนทานที่ดี ควบคู่กับน้ำหนักเบา ส่วนด้านหน้าก็จะเป็นกระจก Gorilla Glass 5 สัมผัสโดยรวมของตัวเครื่องนั้นเป็นไปได้อย่างไหลลื่น เหลี่ยมมุมต่างๆ ไม่จัดว่าคมมากนัก ที่โดดเด่นเลยก็คือความกะทัดรัด ทำให้สามารถพกพาได้ง่ายมาก จะใส่กระเป๋าเสื้อ กระเป๋ากางเกงก็ไม่รู้สึกเทอะทะ ถือใช้งานมือเดียวได้สะดวกมากๆ
หน้าจอ Sony Xperia XZ1 Compact ที่มีขนาดเพียง 4.6 นิ้ว ให้เทียบเลยก็คือเล็กกว่า iPhone 8 เล็กน้อย อาจจะไม่ค่อยจุใจคนที่ชอบอ่านข้อความจำนวนมากๆ รวมถึงคนที่ชอบดูหนัง เล่นเกมบนจอมือถือซักเท่าไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิมพ์ข้อความ เพราะถ้าหากคุณชินกับคีย์บอร์ดบนมือถือจอใหญ่กว่า 5 นิ้วขึ้นไปแล้ว จะพบว่าคีย์บอร์ดภาษาไทยบนจอ XZ1 Compact นั้นเล็กมากๆ (อ้างอิงจากคีย์บอร์ด SwiftKey ที่ติดเครื่องมา) แต่ในด้านของความแม่นยำในการกดก็จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ดี จะติดก็ที่เวลาใช้งาน แผงคีย์บอร์ดแทบจะบังหมดไปเกือบครึ่งจอแล้ว ซึ่งจุดนี้สามารถปรับตั้งค่าความสูงได้จากเมนูการตั้งค่าของคีย์บอร์ด SwiftKey ครับ หรือถ้าใครถนัดใช้คีย์บอร์ดตัวไหนก็สามารถติดตั้งและปรับแต่งได้เองเลย
ส่วนการแสดงผล สีสันบนจอ XZ1 Compact ก็ทำได้ดี แม้ว่าจะมีความละเอียดเพียงแค่ 720p ก็ตาม รายละเอียด ความคมชัดของภาพอยู่ในระดับที่ใช้งานทั่วไปได้อย่างไม่ติดขัด จะมีจุดที่ส่วนตัวผมว่าน่าขัดใจนิดหน่อยก็คือระบบปรับความสว่างหน้าจออัตโนมัติที่ sensitive มาก แถมยังปรับความสว่างแบบกระโดดจากต่ำไปสูงค่อนข้างเร็วไป หากใช้งานในบริเวณที่สภาพแสงเปลี่ยนแปลงบ่อย ซักพักอาจจะปวดตาได้ จนต้องปิดระบบปรับแสงอัตโนมัติไปเลยก็มี
ด้านหลังก็จะมีโลโก้ XPERIA อยู่ตรงกลาง ใกล้ๆ กันก็เป็นตำแหน่งของ NFC ส่วนด้านบนสุดก็จะมีกล้องหลังอยู่ที่มุมซ้าย ถัดมาเป็นแผงเซ็นเซอร์ที่ไล่มาตั้งแต่ ระบบเลเซอร์ออโต้โฟกัสที่ช่วยวัดระยะให้การปรับโฟกัสเป็นไปได้เร็วขึ้น ตรงกลางเป็นเซ็นเซอร์ช่วยวัดอุณหภูมิแสง เพื่อช่วยให้ภาพที่ออกมามีสีสันที่ตรงอย่างเป็นธรรมชาติ ริมสุดก็เป็นแฟลชแบบ LED ตามปกติ โดยส่วนของกล้องหลังและแผงเซ็นเซอร์จะเรียบสนิทไปกับฝาหลังเลย ไม่มีจุดนูนขึ้นมา
แต่ด้วยการที่กล้องหลังอยู่มุมสุดขนาดนี้ ทำให้เวลาถ่ายรูปก็ต้องระวังนิ้วมือไปบังกล้องด้วยเช่นกันครับ เพราะองศาการรับภาพของเลนส์กล้องหลังตัวนี้ค่อนข้างกว้างพอสมควรเลย
ส่วนด้านข้างของ Sony Xperia XZ1 Compact ก็มีดังนี้ (อิงทิศทางจากด้านหน้าจอเป็นหลัก)
- ด้านขวา: แถบปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง ตรงกลางคือปุ่ม Power ที่เป็นเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือด้วย และริมสุดเป็นปุ่มกล้อง
- ด้านบน: ช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร และช่องรับเสียงของไมค์ตัดเสียงรบกวน
- ด้านซ้าย: ถาดใส่ MicroSD ที่สามารถใช้เล็บแงะออกมาได้เลย ส่วนถาดใส่นาโนซิมจะซ่อนอยู่ข้างในอีกชั้น (ถ้าดึงถาดซิมออกมา ระบบจะบังคับให้รีสตาร์ทเครื่องทันที)
- ด้านล่าง: ช่อง USB-C
Software
Sony Xperia XZ1 Compact มาพร้อมกับ Android 8.0 Oreo ตั้งแต่แรกเลย ครอบมาด้วยอินเตอร์เฟสที่เป็นเอกลักษณ์ของ Sony เอง โดยที่การจัดเรียงเมนู ฟังก์ชัน การทำงานต่างๆ ก็จะใกล้เคียงกับ Android 8.0 เลย เช่น ความสามารถในการกดไอคอนค้างไว้เพื่อเรียกดู shortcut เฉพาะของแอปนั้นๆ ซึ่งคล้ายคลึงกับ 3D Touch ใน iOS แต่จะมีจุดที่หลายท่านอาจจะไม่สะดวกเท่าไหร่ ก็คือ badge แจ้งเตือนที่แต่ละไอคอนที่ส่วนใหญ่จะลดรูปเหลือเพียงแค่วงกลมสีฟ้าเท่านั้น ไม่มีตัวเลขอยู่ภายใน แต่จากที่ผมรีวิว Sony Xperia XZ1 Compact เครื่องนี้มา พบว่ามันเป็นแค่บางแอปเท่านั้นครับ แต่แอปที่หลายคนกังวลกันอย่าง Line ยังมีตัวเลขแสดงข้อความที่ไม่ได้อ่านให้เห็นอยู่ สบายใจกันได้เลย
ตามหน้าสเปค Xperia XZ1 Compact ให้พื้นที่รอมมา 32 GB เมื่อเปิดใช้งานจริงครั้งแรก พบว่าระบบใช้ไปแล้วประมาณ 9.6 GB โดยในหน้าเว็บไซต์ของ Sony ระบุเอาไว้ว่าพื้นที่ใช้ได้จริงจะอยู่ที่ราวๆ 22.7 GB นะครับ แนะนำว่าควรหา MicroSD มาใส่เพลง หนัง รูปเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคนที่ใช้งานแอปจำพวกสตรีมมิ่งเพลงอย่าง Spotify หรือ Joox ก็ให้หา MicroSD มาใส่ แล้วตั้งค่าให้ดาวน์โหลดเพลงลง MicroSD ซะ เพราะตัว Android ไม่อนุญาตให้ย้ายแอปไปลง MicroSD แล้ว ทำให้ต้องใช้พื้นที่เครื่องในการติดตั้งแอปเท่านั้น ส่วนฟังก์ชันย้ายข้อมูลจากเครื่องไป SD ที่มีมานั้น ก็ย้ายได้แค่ไฟล์รูป เพลง วิดีโอเท่านั้นด้วย
ความสามารถในการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆ ในด้านความบันเทิง นับว่าเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของมือถือ Sony อยู่แล้ว โดยใน XZ1 Compact ก็สามารถเชื่อมต่อได้ทั้ง Google Cast, Screen mirroring กับทีวีบางรุ่น, DLNA รวมถึงเชื่อมต่อกับเครื่องเกมและจอย PS4 เพื่อใช้งานฟีเจอร์ Remote Play ที่ทำให้สามารถเล่นเกม PS4 บนหน้าจอมือถือได้อย่างง่ายดายอีกด้วย (ผ่านการสตรีมมิ่งจากอินเตอร์เน็ต)
Feature
ฟีเจอร์ของ Sony Xperia XZ1 Compact นั้นแทบจะยกจาก XZ1 มาได้เลยทีเดียว โดยตัวที่เด่นสุดก็คือ 3D Creator ที่สามารถใช้กล้องหลัง ถ่ายเพื่อสแกนวัตถุจริงเพื่อขึ้นเป็นโมเดล 3 มิติได้จากในเครื่องเลย
ซึ่งผู้ใช้สามารถนำโมเดลนี้ไปใช้ได้ค่อนข้างหลากหลาย เอาเป็นว่าเข้าไปชมลักษณะการใช้งานได้จาก รีวิว Sony Xperia XZ1 เลยครับ
Camera
ตามปกติแล้ว กล้องของมือถือ Sony มักจะมาพร้อมกับฮาร์ดแวร์ที่ยอดเยี่ยมของ Sony เองในช่วงนั้นๆ อยู่แล้ว จะมีก็แต่เรื่องซอฟต์แวร์ประมวลผลภาพที่ดูจะสู้กับแบรนด์อื่นๆ ลำบากมาโดยตลอด แต่พอมาเป็นในยุคนี้ บอกเลยว่า Sony แก้เกมในส่วนของซอฟต์แวร์ขึ้นมาได้ดีกว่าแต่ก่อนอย่างเห็นได้ชัด เมื่อมาประกอบกับฮาร์ดแวร์ที่ดีแล้ว ก็ทำให้ภาพที่ออกมาถูกใจผู้ใช้มากขึ้นกว่าแต่ก่อนด้วย สำหรับ Sony Xperia XZ1 Compact ที่ยกเครื่องมาจาก XZ1 นั้น ก็บอกว่าสเปคกล้องจัดเต็มมากๆ ทั้งในแง่ฮาร์ดแวร์และฟีเจอร์เลยทีเดียว ลองชมภาพตัวอย่างจากกล้องหลังกันครับ
ด้านความคมชัด สีสัน ถือว่าทำออกมาได้ดี ดูมีมิติ สังเกตได้ชัดว่ามีการประมวลผลภาพให้มีความคมชัดมากขึ้น เหมือนกับคู่แข่งอื่นๆ ซึ่งก็เป็นแนวยอดนิยมของภาพที่ผู้ใช้มือถือในยุคปัจจุบัน ที่ต้องการให้ภาพดูคมชัด (ยกเว้นภาพเซลฟี่)
แต่ทั้งนี้ก็ยังมีจุดบกพร่องที่ผมใช้งานจริงแล้วพบอยู่ครับ ข้อแรกเลยคือการชดเชย white balance ในบางสถานการณ์ที่ค่อนข้างยาก ยังทำได้ไม่ดี เช่น การถ่ายวัตถุหรือพื้นหลังที่มีสีเหลือง ระบบจะพยายามชดเชยให้ภาพออกเป็นโทนอมฟ้ามากเกินไป อีกข้อก็คือ DOF มันบางเกินไปเมื่อถ่ายในระยะใกล้ที่ยังไม่ถึงระดับมาโคร ทำให้บางทีวัตถุในภาพที่อยู่คนละระนาบกัน จะมีชิ้นหนึ่งหรือส่วนหนึ่งชัด ส่วนอื่นก็เบลอไปเลย ซึ่งตรงนี้ก็ต้องอาศัยการใช้งานบ่อยๆ จนจับจุดได้เองครับ ว่าระยะไหนจึงจะให้ภาพที่ตรงใจที่สุด ส่วนเรื่องการชดเชย white balance นั้น คงต้องอาศัยปรับกล้องเป็นโหมด manual เพื่อปรับ white balance ด้วยตนเอง
อีกจุดที่เป็นข้อบกพร่องของกล้องหลัง XZ1 Compact ก็คือความบิดเบี้ยว (distortion) ในบางส่วนของภาพ ซึ่งจะเห็นได้ชัดเวลาที่ต้องถ่ายวัตถุเหลี่ยมๆ หรือถ่ายเส้นตรง ซึ่งอันที่จริง distortion จัดว่าเป็นเรื่องธรรมชาติของเลนส์มุมกว้างอยู่แล้วที่จะเกิดขึ้นกับบริเวณขอบภาพ จะเห็นได้จากภาพมีลักษณะป่องออก แต่กับใน XZ1 Compact มันเบี้ยวในแบบคดโค้งกว่ามือถือรุ่นอื่นๆ เล็กน้อย
อย่างในภาพด้านบน ผมลากเส้นสีแดงในแนวระนาบให้เห็นถึงความโค้งของเส้นจากภาพถ่ายครับ จะเห็นจากภาพของ J7+ เองก็มี distortion เป็นแบบป่องออกจากตรงกลาง แต่ของ XZ1 Compact จะป่องออกบ้าง ยุบเข้ามาบ้างในเส้นเดียวกันเลยก็มี รวมถึงยังมีขอบดำที่มุมภาพมากกว่าด้วย
แต่สำหรับในการใช้งานทั่วไป ถ่ายวิว ถ่ายคน ถ้าไม่ได้ถ่ายใกล้มาก ก็ไม่น่าจะมีปัญหาครับ จะมาชัดก็ตอนถ่ายวัตถุที่เป็นเส้นตรงในแนวระนาบนี่ล่ะ ที่เห็นผลชัดสุด
ถ่ายภาพด้วยเทคนิค Long Exposure
สำหรับเทคนิค Long Exposure ถ้าให้เรียกแบบเข้าใจง่ายๆ ก็คือการถ่ายรูปค้างไว้ โดยการใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่นานกว่าปกตินั่นเอง อย่างที่เราเห็นบ่อยๆ ในยุคนี้ก็คือพวกการถ่ายเส้นไฟจากรถที่วิ่งอยู่บนถนน ไปจนถึงการถ่ายดาวเลยทีเดียว ซึ่ง Sony Xperia XZ1 Compact เองก็ทำได้จากโหมด manual ของแอปกล้องเลย แต่จะมีข้อจำกัดอยู่ที่มันสามารถลากความเร็วชัตเตอร์ไว้ได้นานสุด (เปิดหน้ากล้องค้างไว้) แค่ 1 วินาทีเท่านั้น ภาพที่ออกมาจึงอาจจะไม่ถึงใจคนที่อยากลากนานๆ ซักเท่าไหร่ ซึ่งคงต้องหาแอปกล้องตัวอื่นๆ มาใช้งานแทนนะครับ หากอยากลากนานๆ หลายวินาที
โดยตัวอย่างภาพจากในแกลเลอรี่ด้านบนก็เป็นการถ่ายโดยมีขาตั้งกล้อง การตั้งค่าส่วนใหญ่เป็นประมาณนี้
- ISO ล็อกไว้ที่ 50
- รูรับแสง f/2.0 ของเลนส์ ไม่สามารถปรับได้
- ความเร็วชัตเตอร์ 1 วินาที บางภาพก็ 1/2 วินาที
- ตั้งค่าชดเชยแสง -2.0
- นับถอยหลังก่อนถ่าย 3 วินาที
- 2 ภาพแรก เปิดโหมด HDR เอาไว้ด้วย
ภาพเซลฟี่จากกล้องหน้า
ฟังก์ชัน Predictive Capture
นับเป็นอีกหนึ่งฟังก์ชันที่มีประโยชน์ครับ การทำงานคือระบบจะเก็บภาพล่วงหน้าไว้ 2 ช็อตก่อนผู้ใช้กดถ่ายรูป แล้วประเมินว่ามีโอกาสที่ผู้ใช้จะพลาดการเก็บภาพช็อตที่ดีที่สุดไว้หรือไม่ หากใช่ ระบบก็จะแสดงว่ามีการเก็บภาพไว้ล่วงหน้า แล้วให้ผู้ใช้เลือกว่าจะเก็บภาพไหนไว้ หรือจะเก็บไว้ทั้งหมดก็ได้ ตัวอย่างก็ตามด้านบนเลยครับ Predicted 1 กับ 2 คือภาพที่ระบบเก็บไว้ให้ล่วงหน้า ส่วน Shutter timing คือช็อตที่ผมกดถ่ายจริงๆ
สำหรับฟังก์ชันนี้จัดว่ามีประโยชน์ทีเดียว แต่ถ้าหากใช้งาน แน่นอนว่าระบบก็ต้องใช้พื้นที่เก็บข้อมูลเพิ่มขึ้นด้วย เพราะระบบจะเก็บภาพเต็มจริงๆ ดังนั้นหากเปิดใช้งาน ก็ต้องหมั่นเข้าไปเช็คและเคลียร์รูปที่ไม่ได้ใช้ด้วย หรือถ้าไม่ต้องการใช้งานฟังก์ชันนี้ ก็สามารถปิดได้จากเมนูตั้งค่าของแอปกล้องได้เช่นกัน
โหมดกล้อง Background Defocus
ให้เข้าใจง่ายๆ มันก็คือโหมดถ่ายหน้าชัดหลังเบลอ แบบที่สามารถมาเลือกความเบลอหลังจากถ่ายได้นั่นเองครับ การใช้งานก็เหมือนกับในแบรนด์อื่นๆ เลย แต่จะมีที่อินดี้กว่าแบรนด์อื่นหน่อยก็คือมันเป็นโหมดกล้องที่ไม่ได้มาพร้อมกับเครื่องตั้งแต่แรก หากคุณจะใช้งาน ต้องไปโหลดแอปชื่อว่า Background defocus จากใน Play Store มาก่อน จึงจะสามารถใช้งานได้
ในแกลเลอรี่ด้านบน ภาพแรกคือภาพที่ได้จากโหมด Background defocus ครับ ส่วนภาพอื่นๆ คือตัวอย่างการปรับความเบลอของพื้นหลัง เอาจริงๆ จัดว่าเนียนใช้ได้เลยทีเดียว
ระบบกันสั่น และการปรับโฟกัสของวิดีโอ
มือถือ Sony รุ่นสูงๆ นับว่าขึ้นชื่ออยู่แล้วในด้านการถ่ายวิดีโอ โดยเฉพาะความสามารถในการชดเชยการสั่นไหวจากการถือเครื่อง ด้วยฟังก์ชัน SteadyShot แบบ active ที่ชดเชยการสั่นไหวได้ถึง 5 แกน รวมถึงการปรับโฟกัสที่ไหลลื่น ดูเป็นธรรมชาติ ตัวอย่างก็จากวิดีโอด้านบนเลยครับ
วิดีโอ Super Slow Motion 960fps
หนึ่งในฟีเจอร์ที่เป็นตัวชูโรงของซีรีส์นี้ก็คือ ความสามารถในการถ่ายวิดีโอแบบสโลว์โมชันที่มีเฟรมเรตสูงสุดถึง 960fps ที่ความละเอียดระดับ HD 720p ซึ่งสามารถคลิกชมวิดีโอได้เลย ว่ามันสโลว์ขนาดไหน แต่ทั้งนี้ แนะนำว่ามันเหมาะกับการถ่ายในที่มีแสงดีๆ เช่น กลางแจ้งนะครับ
Performance
ด้านประสิทธิภาพ ความแรงของ Sony Xperia XZ1 Compact นั้นคงไม่ต้องกังวล ด้วยชิปประมวลผลตัวท็อปในปัจจุบันของ Qualcomm อย่าง Snapdragon 835 ทำงานร่วมกับแรม 4 GB บนหน้าจอ 720p ทำให้ทุกการใช้งาน การเล่นเกมไหลลื่นมากๆ สามารถเล่นเกมมือถือทุกเกมในปัจจุบันได้สบาย หน่วยความจำรอมของเครื่องก็เป็นแบบ UFS ความเร็วสูง ส่วนการเชื่อมต่อสัญญาณต่างๆ ก็ทำได้ดี ติดที่เหมือนว่าจะรองรับได้สูงสุดแค่ 2CA ซึ่งในจุดนี้ผมไม่ได้ทดสอบอย่างละเอียดนะครับ เพราะถ้าหากต้องการทดสอบแบบละเอียด คงต้องรูทเครื่องด้วย
ROV ปรับสูงๆ ก็ยังได้เฟรมเรต 60fps แบบนิ่งๆ เลย ส่วนความบันเทิงด้านอื่นก็ทำได้ดี อย่างผมเองใช้หูฟัง Bluetooth ที่รองรับ aptX ด้วย ทำให้เสียงที่ได้จากหูฟัง มีคุณภาพที่ดีกว่าหูฟัง Bluetooth ที่ไม่มี aptX อย่างเห็นได้ชัด
แบตเตอรี่ของ Sony Xperia XZ1 Compact แม้จะให้มาแค่ 2700 mAh ก็ตาม แต่ด้วยฮาร์ดแวร์ที่มักจะกินไฟสูงสุดอย่างจอแสดงผลมีขนาดเล็ก แถมยังความละเอียดแค่ 720p เท่านั้น ทำให้อัตราการใช้พลังงานโดยรวมของเครื่องไม่สูงมาก แบต 2700 mAh สามารถรับมือได้สบาย จากที่ผมใช้งานจริง ก็สามารถอยู่จนหมดวันได้แบบไม่ต้องชาร์จเพิ่มระหว่างวันเลย
ส่วนการชาร์จแบต อันนี้ผมไม่ได้ทดสอบอย่างละเอียดนะครับว่าชาร์จได้เร็วขนาดไหน เนื่องจากในชุดที่ได้รับมารีวิว ไม่มีอะแดปเตอร์มาให้ แต่สำหรับในชุดจำหน่ายจริง อะแดปเตอร์ที่แถมให้จะเป็นแบบชาร์จธรรมดา หากต้องการอะแดปเตอร์ Quick Charge 3.0 รุ่น UCH12W ของ Sony เอง ก็ต้องซื้อเพิ่มนะ