เทรนด์ของอุปกรณ์เสริมสำหรับการออกกำลังกายเริ่มจะเป็นที่นิยมมาได้ระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะพวกสายรัดข้อมือที่สามารถสวมใส่ได้ง่าย ทั้งยังช่วยจับข้อมูลการเคลื่อนไหวของผู้ใช้ได้เป็นอย่างดี ทำให้สามารถเก็บข้อมูลการเดิน การวิ่ง การทำกิจกรรมในแต่ละวันได้อย่างง่ายดาย ลดความยุ่งยากในการกรอกข้อมูลลงไปได้เยอะมากทีเดียว ซึ่งทางเราเองก็ได้รีวิวมาหลายต่อหลายชิ้นแล้ว มาในคราวนี้จะเป็นการรีวิวตัวของ?Sony SmartBand (SWR10)?กันบ้างครับ มาดูกันว่าจะเป็นอย่างไรกับ Sony SmartBand ตัวนี้
สำหรับ Sony SmartBand ก็จัดอยู่ในกลุ่มของสายรัดข้อมืออัจฉริยะเช่นเดียวกับพวก Jawbone UP, UP24, Fitbit Flex, Nike FuelBand อะไรประมาณนี้ ซึ่งจะทำงานได้สมบูรณ์ก็ต่อเมื่อเชื่อมต่อเข้ากับแอพพลิเคชันในสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ซึ่งก็แทบจะเป็นอุปกรณ์ติดตัวหลายๆ คนในยุคนี้ไปแล้ว สำหรับ Sony SmartBand มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
- รองรับการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนผ่านทาง Bluetooth ส่วนการแพร์เข้าคู่กันจะใช้ NFC
- ใช้งานคู่กับแอพ Smart Connect และ Lifelog
- ใช้งานได้กับ Android 4.4 ขึ้นไปเท่านั้น !!
- กันน้ำตามมาตรฐาน IP58
- ชาร์จไฟผ่านพอร์ต Micro USB สามารถใช้สายชาร์จมือถือได้ตามปกติ
- สามารถเปลี่ยนสายได้
- ราคา 3,490 บาท
จากข้อมูลด้านบน พบว่าสิ่งที่เป็นข้อจำกัดมากที่สุดก็คือมันบังคับว่าต้องใช้งานร่วมกับมือถือหรือแท็บเล็ตที่ใช้ Android 4.4 KitKat ขึ้นไปเท่านั้น เวอร์ชันต่ำกว่าลงมาก็ใช้ไม่ได้ ส่วน iOS กับ Windows Phone นั้นหมดสิทธิ์โดยสิ้นเชิงครับ ยังดีที่ใช้งานร่วมกับมือถือยี่ห้อไหนก็ได้ ขอแค่เป็น Android 4.4 ขึ้นไปก็พอ ไม่จำเป็นต้องเป็นมือถือ Sony แต่เพียงอย่างเดียว ส่วนราคาก็จัดว่าโอเคเลย 3,490 บาท ฟีเจอร์ต่างๆ ก็ใกล้เคียงกับพวก Jawbone หรือ FitBit แต่ทั้งสองตัวที่กล่าวมามีข้อดีเหนือกว่า Sony หน่อยก็คือมันสามารถใช้งานได้ทั้งบน Android และ iOS ก็นับว่าเป็นจุด trade-off ไปละกันนะ
กล่องของ Sony SmartBand มาในขนาดเล็กกะทัดรัด ปิดหน้ากล่องด้วยพลาสติกใส หนา แข็งแรงดีมาก ส่วนรอบๆ กล่องก็จะมีคำแนะนำนิดหน่อย พร้อมกับมีบอกด้วยว่าอุปกรณ์ที่แถมมาในกล่องมีอะไรบ้าง ก็ได้แก่ตัวเซ็นเซอร์ SmartBand, สายรัดสองเส้น ไซส์ S กับ L และสาย Micro USB สำหรับชาร์จไฟ
อันนี้เทียบขนาดสาย Sony SmartBand ที่แถมมาในกล่องครับ ไซส์ L นี่ใหญ่กว่าพอตัวเลย ส่วนตัวผมเองใช้แค่ไซส์ S เอง ไซส์ L นี่คงต้องข้อมือใหญ่พอตัวเลยล่ะถึงจะใส่ได้สบายๆ
อันนี้คือหน้าตาจริงๆ ของตัวเซ็นเซอร์ SmartBand ครับ เล็กแค่นี้เอง โดยตัวมันจะมีลักษณะโค้งเว้าเข้าไปเล็กน้อย เพื่อให้แนบชิดกับข้อมือเราได้พอดีเวลาใช้งาน วัสดุทำมาจากพลาสติกผิวด้านๆ นิดหน่อย ปลายด้านหนึ่งมีพอร์ต Micro USB สำหรับชาร์จแบตเตอรี่ในตัว?ซึ่งเท่าที่ใช้งานมา ชาร์จแบตเต็ม 1 ครั้งจะใช้ได้ราวๆ 5-6 วัน?ก็นับว่าอยู่ในระดับที่พอดีๆ ไม่น้อยเกินไป แต่ก็ไม่ถึงขั้นใช้นานจนลืม
ส่วนบริเวณที่เป็นปุ่มด้านข้างนั้น คือปุ่มสำหรับสลับโหมดการทำงานระหว่างโหมด day ที่ใช้ในเวลาปกติกับโหมด night ที่ใช้สำหรับเวลานอนหลับ นอกจากนี้ตัวปุ่มยังใช้สำหรับเปิดใช้งานฟีเจอร์ที่ตั้งค่าไว้กับแอพ Smart Connect อีกด้วย สำหรับจุดสามจุดด้านข้างนั่นคือไฟ LED นะครับ หน้าที่หลักคือใช้สำหรับแสดงรูปแบบการทำงานที่ใช้งานอยู่ ไม่ได้บ่งบอกถึงปริมาณแบตเตอรี่ที่เหลืออยู่แต่อย่างใด โดยไฟจะติดก็เมื่อกดปุ่มด้านข้างเท่านั้น
นอกจาก Sony SmartBand จะใช้สำหรับจับการเคลื่อนไหวของผู้ใช้งานแล้ว ยังมีฟีเจอร์ที่น่าสนใจอื่นอีก เช่น
สั่นแจ้งเตือน
เวลามีการแจ้งเตือน notification ขึ้นมาที่มือถือ ตัวของ SmartBand ก็จะสั่นแจ้งเตือนเราด้วย ทำให้สามารถติดตามข่าวสารล่าสุดที่เด้งขึ้นมาในเครื่องเราได้ทันที (แต่หลายคนอาจจะรำคาญ) โดยการซิงค์ข้อมูลนั้นเร็วมาก สั่นแทบจะเป็นเวลาเดียวกับที่มือถือสั่นแจ้งเตือนเลย ทั้งนี้สามารถปิดการสั่นแจ้งเตือนของ Sony SmartBand ได้ด้วยจากในแอพ Smart Connect ครับ
ใช้ควบคุมการเล่นเพลง การใช้งานแอพเสริม
จุดนี้นับเป็นหนึ่งในฟีเจอร์ที่เหนือกว่าคู่แข่งในตลาด เพราะส่วนใหญ่จะขาดในจุดนี้ไปแทบทั้งนั้น โดยในเบื้องต้นตัวแอพจะตั้งค่าให้เราใช้งานคู่กับแอพฟังเพลงก่อน ซึ่งจะมีอธิบายในส่วนของซอฟต์แวร์ในลำดับถัดไป
เวลาใช้งานจริง จะต้องใส่หมุดอะลูมิเนียมที่ปลายสายด้วยนะครับ ซึ่งที่จะมีหมุดล็อกอยู่สองตัวให้ล็อกกับตัวสายสำหรับใส่ใช้งาน สามารถปรับระดับให้เข้ากับข้อมือของเราได้ง่าย ส่วนเวลาใส่จริง พบว่าตอนใส่จะลำบากนิดหน่อยครับ เพราะต้องพลิกข้อมือขึ้นมา แล้วกดหมุดที่อยู่บนปลายสายลงไปบนสายอีกด้านหนึ่ง ถ้าเล็งช่องไม่ดีก็เสียเวลากันหน่อย ความยากของการใส่ก็พอๆ กับ FitBit Flex เลย กลายเป็นว่าในสามตัวนี้ Jawbone UP/UP24 สามารถใส่ใช้งานได้ง่ายสุดแล้ว สำหรับระหว่างใช้งาน กลับเป็นว่า Sony SmartBand สามารถทำคะแนนความพึงพอใจได้ดีสุดครับ เพราะมันใส่สบายดีมากๆ ไม่คัน ไม่เคืองเลย น้ำหนักก็เบา ไม่บีบข้อมือมากเกินไป เนื่องด้วยการใส่ที่เป็นรูปแบบเดียวกับนาฬิกาข้อมือ ทำให้สามารถปรับระดับได้ยืดหยุ่นกว่า Jawbone ที่ถึงแม้ตัวสายจะยืดหยุ่นออกได้ก็จริง แต่ถ้าข้อมือไม่พอดีกับสาย จะกลายเป็นว่ามันรัดข้อมือมากเกินไป ซึ่งผมไม่เจอปัญหานี้ใน Sony Smartband นะ นับว่าเป็นสายรัดข้อมือที่ใส่สบายมากเส้นนึงเลย
เวลาใส่ตัวเซ็นเซอร์เข้ามาที่สาย แล้วกดปุ่มด้านข้าง ไฟก็ยังแสดงได้ปกติดีอยู่
ที่ตัวสายจะมีร่องไปตามเส้น ดูดีไปอีกแบบ แต่ก็ต้องระวังฝุ่น คราบเหงื่อต่างๆ มาเกาะบนสายด้วย ยังดีที่สามารถทำความสะอาดได้ง่าย เพราะวัสดุที่ใช้ก็เป็นยางตามปกติ สามารถจุ่มน้ำ ล้างด้วยน้ำยาล้างจานอ่อนๆ ได้สบาย
จุ่มน้ำก็ได้นะ เพราะในการใช้งานจริง ส่วนของพอร์ต Micro USB จะถูกยางปิดเอาไว้ค่อนข้างแน่นหนาดี แต่ทางที่ดีก็อย่าจุ่มน้ำทิ้งไว้นานๆ เพราะยังไงก็ยังมีโอกาสที่น้ำจะซีมเข้าไปได้อยู่บ้างเหมือนกัน แม้ว่าจะมีเขียนไว้ว่ากันน้ำในระดับ IP58 ก็ตาม ปลอดภัยไว้ก่อนจะดีกว่าครับ
ทีนี้มาดูส่วนของซอฟต์แวร์ประกอบการใช้งานกันบ้าง สำหรับการใช้งานครั้งแรก เราสามารถแท็กตัว Sony SmartBand เข้ากับ NFC เพื่อให้เปิด Play Store มายังแอพที่จำเป็นต้องใช้งานได้เลย นั่นคือแอพ Smart Connect โดยแอพนี้จะใช้สำหรับเชื่อมต่อและตั้งค่าการใช้งานตัวสายรัดข้อมือเป็นหลัก ซึ่งตัวแอพ Smart Connect ยังมีส่วนเสริมอื่นๆ เพื่อใช้งานร่วมกันได้อีก ดังตัวอย่างในภาพที่สองเลยครับ เช่นสามารถใช้ช่วยสั่งงานแอพกล้อง สั่งงานแอพ OfficeSuite เป็นต้น โดยแอพตัวที่จำเป็นต้องลงอีกตัวก็คือ SmartBand SWR10?ที่เป็นส่วนเสริมของ Smart Connect อีกเช่นกัน ซึ่งมีหน้าที่สำหรับเชื่อมต่อและตั้งค่าการใช้งานร่วมกับ SmartBand โดยเฉพาะ (ถ้าไม่ลง แอพ Smart Connect จะมองไม่เห็นสายรัด)
ส่วนของการแพร์เพื่อรับส่งข้อมูลระหว่างมือถือกับตัว SmartBand จะใช้ผ่านทาง Bluetooth 4.0 LE ขึ้นไป ซึ่งนี่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้จำเป็นต้องใช้ Android 4.4 KitKat ขึ้นไปในการใช้งานนั่นเอง เมื่อจัดการแพร์เรียบร้อยแล้ว ก็จะมีตัวของ SmartBand เข้ามาในรายชื่ออุปกรณ์ และเมื่อทำการเชื่อมต่อเรียบร้อยแล้วก็จะมี noti ขึ้นค้างไว้ที่แถบ notification เลย ว่ากำลังทำการเชื่อมต่ออยู่ สำหรับการเชื่อมต่อ Sony SmartBand เข้ากับมือถือก็ทำได้โอเคดีครับ มีหลุดบ้างบางครั้ง แต่ก็แล้วแต่เครื่องมือถือด้วยว่าจะเชื่อมต่อ Bluetooth ได้ดี เสถียรขนาดไหน เท่าที่ลองใช้งานร่วมกับ LG G3 ก็สามารถต่อได้นิ่งดี แต่กับ OnePlus One อันนี้หลุดค่อนข้างบ่อยไปหน่อยนะ เมื่อเชื่อมต่อเรียบร้อยแล้ว ก็จัดการปิด NFC ไปได้เลย แต่ถ้าไม่ได้ใช้งาน SmartBand ร่วมกับมือถือเครื่องประจำนานๆ ก็อาจจะต้องใช้การแพร์เข้าคู่กันผ่านทาง NFC บ้างก็มี
ด้านบนนี้ก็เป็นตัวอย่างรูปแบบการใช้งาน Sony SmartBand ตัวอย่างก็เช่น
- กดปุ่มข้างๆ 1 ครั้งเพื่อเช็คว่าอยู่ในโหมดไหนระหว่าง day กับ night mode
- กดปุ่มค้างไว้เพื่อสลับโหมด
- กดปุ่ม 2 ครั้งเพื่อสร้าง bookmark ช่วยจดจำ ซึ่งสามารถบันทึกได้ว่า ณ เวลานั้นเราทำอะไร ที่ไหน อากาศเป็นอย่างไร
ภาพต่อมาเป็นวิธีการสั่งงานแอพฟังเพลงด้วย Sony SmartBand ซึ่งสามารถตั้งค่าได้ว่าจะให้ใช้ควบคุมแอพไหน เท่าที่ผมลองก็เป็นการใช้คู่กับแอพ Google Play Music ที่เป็นแอพฟังเพลงมาตรฐานของเครื่อง สำหรับวิธีสั่งงาน ขั้นแรกให้กดที่ปุ่มด้านข้างตัวสายก่อน 1 ครั้งให้มีไฟขึ้นมา จากนั้นก็สั่งงานตามใจชอบด้วยการเคาะนิ้วบนตัวเซ็นเซอร์ของสายรัดด้านบน (ด้านที่ยางเป็นแถบเฉียง) โดยเคาะ 1 ครั้งจะเป็นการหยุดเพลง/เล่นเพลง เคาะ 2 ครั้งเป็นการเปลี่ยนไปเพลงถัดไป เคาะ 3 ครั้งเป็นการย้อนไปเพลงก่อนหน้า ซึ่งฟีเจอร์นี้ทำให้ Sony SmartBand ดูเหนือกว่าหลายๆ ตัวที่ทดสอบมาไปเลยทีเดียว ช่วยให้การควบคุมแอพฟังเพลงเป็นอะไรที่ง่ายขึ้นมาก ส่วนการใช้งานจริง พบว่าจังหวะการเคาะมีผลกับการสั่งงานมากๆ บางทีต้องเคาะหลายครั้งมากๆ กว่ามันจะเปลี่ยนเพลงให้ เป็นเพราะจังหวะการเคาะไม่พอดี เท่าที่ลองคือหลังจากเคาะครั้งแรก จะต้องเว้นนิดหนึ่ง แล้วค่อยเคาะครั้งที่สอง จะว่าสะดวกมันก็สะดวก ติดแค่ว่าต้องเป๊ะหน่อยเท่านั้นเอง
นอกจากนี้ ในแอพ Smart Connect ยังมีให้เราปรับตั้งค่า SmartBand ได้อีกหลายอย่างเลยทีเดียว ตัวอย่างเช่นการปรับให้สายรัดเข้าสู่โหมด Sleep เองในช่วงเวลานอนของเราโดยอัตโนมัติ, เปิด/ปิดการสั่นเมื่อมี notifications เข้ามา, การสั่นปลุก, การสั่นเตือนเมื่อสายรัดอยู่ห่างจากมือถือมากเกินไป เป็นต้น
อันนี้ก็เป็นหน้าตาของแอพ Lifelog ครับ สีสันสดใสมากๆ โดยบนหน้าจอจะมีการแสดงผลแบบสรุปรวมกิจกรรมทุกสิ่งอย่างที่เราทำเลย ครึ่งบนจะแสดงไล่ตามช่วงเวลาของแต่ละวัน สามารถเลื่อนซ้ายขวาเพื่อดูตามช่วงเวลาได้ มีสภาพอากาศ การเคลื่อนไหวของตัวเราว่ากำลังอยู่กับที่หรือกำลังเดินอยู่ รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ที่ทำ เช่นเล่นแอพโซเชียล, เล่นเกม, เปิดหน้าเว็บ, การถ่ายรูป, การดูหนัง ซึ่งแอพ Lifelog จะแทร็คกิจกรรมเล่านี้จากการเปิดแอพใช้งานในตัวเครื่องนั่นเอง นับว่าเป็นฟีเจอร์ที่มีประโยชน์มากทีเดียว สำหรับใช้ในการวัดว่าแต่ละวันเราใช้แอพแต่ละกลุ่มเยอะขนาดไหน ซึ่งถือเป็นตัวแรกๆ เลยที่เก็บข้อมูลระยะเวลาการใช้งานแอพของเรา จะได้เอามาวิเคราะห์ในภายหลังได้ว่า เอ๊ะ ช่วงนี้เราติดโซเชียลมากไปหรือเปล่า? อะไรประมาณนี้ ส่วนครึ่งล่างของจอก็จะเป็นการแสดงปริมาณการใช้งานรูปแบบต่างๆ เช่น ปริมาณแคลอรี่ที่เผาผลาญได้แบบคร่าวๆ, จำนวนก้าวที่เดิน, ระยะเวลาที่เดิน/วิ่ง ตามกลุ่มรูปแบบการใช้งาน
ส่วนอีกสามภาพถัดมา จะเป็นการแสดงข้อมูลแบบละเอียดของกิจกรรมแต่ละอย่างเลยว่าเราทำได้เป็นอย่างไรบ้าง เช่นการนับระยะก้าวเดิน, กาวัดรูปแบบการนอนว่าเราหลับสนิทขนาดไหน รวมถึงยังสามารถนับเวลาได้ด้วยว่าเราใช้เวลากับแต่ละแอพมากขนาดไหน ซึ่งเราสามารถตั้งค่าเป้าหมายเปลี่ยนไปจากที่แอพตั้งค่ามาให้ก็ได้ โดยการกดที่แถบรูปเหรียญรางวัลทางขวาบนของกราฟนั่นเอง
โดยรวมๆ แล้ว?Sony SmartBand ทำออกมาได้ดีทีเดียวครับ สำหรับหน้าที่การตรวจจับการเคลื่อนไหว และกิจกรรมที่เราทำในแต่ละวัน ซึ่งแอพ Lifelog นี้ก็ทำงานได้สมชื่อจริงๆ ทำให้มันไม่ได้เป็นสายรัดข้อมือเพื่อเน้นการออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว แต่ยังใช้เก็บข้อมูลการใช้ชีวิตในแต่ละวันได้ด้วย ช่วยให้เราสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์รูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันได้ เรื่องของฮาร์ดแวร์ก็ทำออกมาได้ดี ปิดท้ายด้วยราคาที่ 3,490 บาท ซึ่งถือว่าไม่สูงมากนักสำหรับสินค้ากลุ่มนี้ ทำให้ตัวของ Sony SmartBand เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่น่าใช้งานมากเลยล่ะครับ เสียที่ใช้งานได้แต่เครื่องที่ใช้ Android 4.4 ขึ้นไปเท่านั้นเอง