เมื่อปีที่ผ่านมา Sony ได้เปิดตัวอุปกรณ์เสริมสมาร์ทโฟนในลักษณะของกล้องถ่ายรูปที่มีแต่ตัวเลนส์อย่างเดียว อาศัยมือถือในการควบคุม พรีวิวภาพในการถ่าย นั่นคือ Sony Cyber-Shot QX10 และ QX100 ที่ทั้งสองรุ่นจะมีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกันไป อย่างตัว QX10 ก็จะได้เรื่องของการพกพาที่สะดวก ใช้งานง่าย แต่ตัว QX100 ก็จะโปรขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง เพราะมันสามารถซูมแบบ optical ได้ แต่ก็แลกมาด้วยค่าตัวที่สูงขึ้น ตัวเลนส์ก็ใหญ่ขึ้นด้วย
มาในปีนี้ Sony เลยจัดการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ในไลน์นี้รุ่นใหม่ออกมา และก็น่าจะถูกใจหลายๆ คนมากเลยทีเดียว นั่นคือ?Sony ILCE-QX1?(ในที่นี้ขอเรียกแค่ว่า Sony QX1 แล้วกันนะ) ที่มีจุดเด่นคือสามารถสลับสับเปลี่ยนเลนส์อื่นมาใช้งานได้ด้วย เรียกว่าถ้าอยากได้เลนส์ช่วงไหนมาใช้งาน ก็สามารถหามาใส่ได้เลย นับเป็นการลบข้อจำกัดเก่าของ QX10 และ QX100 ลงได้เป็นอย่างดี ซึ่งในคราวนี้เราก็ได้รับตัว Sony QX1 จากทาง Sony ประเทศไทยมารีวิวให้ทุกท่านได้ชมกันด้วย เรามาดูกันเลยดีกว่าครับว่ามันจะเป็นอย่างไร ทำอะไรได้บ้าง
ข้อมูลที่น่าสนใจของ Sony QX1
- เซ็นเซอร์แบบ APS-C CMOS ใช้เทคโนโลยี Exmor ความละเอียด 20.1 ล้านพิกเซล
- ชิปประมวลผลภาพ BIONZ X
- เม้าท์เลนส์แบบ Sony E-mount (สามารถนำเลนส์ของกล้อง mirrorless ตระกูล NEX ของ Sony มาใช้งานได้เลย)
- ISO 100 – 16,000
- มีช่องใส่ MicroSD/Memory Stick M2 ในตัว
- แบตเตอรี่ความจุ 1020 mAh ถ่ายได้ประมาณ 440 ภาพ
- มี NFC สำหรับช่วยในการจับคู่กับสมาร์ทโฟน ส่วนการรับส่งข้อมูลจะผ่านทาง WiFi
- จับโฟกัสได้ 25 จุด
- มีแฟลชในตัว
- ราคา Sony QX1 เฉพาะตัวชุดเม้าท์ (ไม่มีเลนส์) 12,990 บาท
- ราคา Sony QX1L มีเลนส์ 16-50 f3.5-5.6 มาให้ด้วย 16,990 บาท
สำหรับราคาของ Sony QX1 นั้น อาจจะเปิดมาค่อนข้างแรงซักนิดนึง โดยเฉพาะตัวที่มาพร้อมเลนส์ 16-50 แต่ถ้าหากใครที่ใช้งานกล้อง NEX หรือมีเลนส์ E-mount อยู่แล้ว ก็นับว่าน่าสนทีเดียว สำหรับตัวที่มาพร้อมเม้าท์อย่างเดียว เพราะสามารถใช้เลนส์ที่มีอยู่แล้วได้ทันที แต่ถ้าจะซื้อเลนส์แยกเฉพาะ 16-50 PZ f3.5-5.6 OSS ตัวเดียวกับที่ขายเป็นเซ็ตพร้อม QX1 นั้น ราคาศูนย์มือหนึ่งก็อยู่ที่ 11,490 บาทเลยทีเดียว (ราคาเลนส์เกือบจะเท่าราคาตัวเม้าท์เดี่ยวๆ ละ) ดูแล้วน่าจะเหมาะกับการเป็นอุปกรณ์เสริมเอาไว้เล่นสนุกๆ ?หรือไม่ก็ใช้เป็นกล้องถ่ายรูปสำหรับคนที่มีสมาร์ทโฟนอยู่แล้ว และไม่ต้องการซื้อกล้อง Mirrorless มาเพิ่มภาระ แต่ก็แน่นอนครับว่ามันย่อมมีข้อจำกัดในตัวเหมือนกัน จะเป็นอย่างไร เรามาไล่ดูตั้งแต่ดีไซน์ หน้าตากันเลย
Design
ถ้าใครที่ยังจำหน้าตาของ Sony QX10 และ QX100 ได้ ก็ต้องบอกว่า Sony QX1 มาในหน้าตาที่ใกล้เคียงกันเลยทีเดียวล่ะครับ คือมาในรูปแบบที่คล้ายๆ จะเป็นลำกล้องเลนส์ยื่นออกมา ผิดก็ตรงที่ว่า Sony QX1 นั้น ตัวมันเองจะเป็นแค่แท่น mount ให้นำเลนส์อื่นมาต่อเข้าไปเพื่อใช้งานแทน ทำให้หน้าตาที่แท้จริงของ QX1 จะดูสั้นกว่าปกติ (ภาพหน้าตาเต็มๆ อยู่ที่ภาพใหญ่ด้านล่าง ชิ้นขวา) ภายในก็จะบรรจุเซ็นเซอร์รับภาพแบบ APS-C อยู่ ซึ่งเจ้าเซ็นเซอร์แบบ APS-C นี้ ก็จะเป็นแบบเดียวกับที่กล้อง DSLR แบบตัวคูณส่วนใหญ่ในตลาดใช้กัน เช่นใน Canon EOS 7D, 70D, 60D, 700D หรือทางฝั่ง Nikon ก็เช่นตระกูล D7100, D600 เป็นต้น เรียกว่ากล้องตัวคูณในตลาดปัจจุบันก็เลือกใช้งานเซ็นเซอร์แบบ APS-C กันแทบทั้งนั้น ก็น่าจะทำให้เชื่อใจคุณภาพของรูปถ่ายได้ในระดับหนึ่งเลยล่ะ ทั้งยังมีเทคโนโลยี Exmor ของ Sony เองเข้าไปอีก ทำให้การถ่ายภาพในที่มีแสงน้อย หรือสถานการณ์ที่ต้องใช้ค่าความไวแสง (ISO) สูงๆ ออกมาได้ดีกว่าเซ็นเซอร์ปกติ ปิดท้ายด้วยอีกหนึ่งองค์ประกอบที่อยู่ภายในก็คือส่วนการประมวลผลด้วยชิป BIONZ X ของ Sony เองอีกเช่นกัน รวมๆ แล้ว เชื่อได้เลยว่ามันย่อมดีกว่ากล้องมือถือทั่วไปแน่ๆ
สำหรับตัวของ Sony QX1 เองนั้น (เมื่อประกอบเลนส์เข้าไปแล้ว) อันที่จริงจะมองว่ามันเป็นกล้องตัวนึงเลยก็ได้ครับ เพราะภายในมีการบรรจุส่วนประกอบต่างๆ ลงไปเสร็จเลย ไม่ว่าจะเป็น
- ปุ่มเปิด/ปิดการทำงาน
- ปุ่มชัตเตอร์ สามารถกดครึ่งจังหวะเพื่อให้กล้องจับโฟกัสได้
- แบตเตอรี่ความจุ 1020 mAh
- หน้าจอ LED แสดงปริมาณแบตเตอรี่และการเชื่อมต่อ WiFi กับมือถือ
- แฟลชซีนอน (กดปุ่มเพื่อให้แฟลชเด้งขึ้นมา การเก็บก็ให้กดลงไป)
- ช่องใส่เมม MicroSD (หรือจะใส่การ์ด Memory Stick M2 ก็ได้)
- ช่อง Micro USB สำหรับต่อซิงค์กับคอมพิวเตอร์หรือชาร์จไฟ
- ช่องรับเสียงของไมโครโฟนเวลาถ่ายวิดีโอ
- ช่องเกลียวสำหรับติดกับขาตั้งกล้อง
จากทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนั้น จะเห็นเลยว่ามันก็แทบจะครบเกือบทุกองค์ประกอบของกล้องถ่ายรูปเข้าไปแล้ว ขาดก็แต่ส่วนที่ใช้ในการปรับตั้งค่า และช่อง viewfinder หรือหน้าจอสำหรับพรีวิวภาพก่อนถ่ายนั่นเอง ทำให้เราสามารถใช้ Sony QX1 พร้อมเลนส์ในการถ่ายภาพด้วยตัวมันเอง แบบไม่ต้องใช้มือถือร่วมด้วยก็ยังได้ แต่แน่นอนว่ามันก็ไม่สามารถใช้งานได้เต็ม 100% อยู่ดี
ส่วนของเลนส์นั้น Sony QX1 จะเลือกใช้เป็นเลนส์ประเภท E-mount ซึ่งเป็นเลนส์รูปแบบที่ใช้งานอยู่กับกล้อง mirrorless ของ Sony อย่างตระกูล NEX อยู่แล้ว เรียกว่าใครที่มีหรือสามารถหยิบยืมเลนส์จากคนใกล้ตัวมาได้ก็สบายเลย เพราะสามารถใส่เข้ากันได้ทันที แต่ถ้าหากอยากจะใส่เลนส์ประเภทอื่นๆ ก็ต้องหาซื้อชุด mount adapter ของกล้องตระกูล NEX มาใช้งานเพิ่มเติมล่ะนะครับ
สำหรับเลนส์ที่จะมีติดมาให้ ถ้าเราซื้อทั้งเซ็ต ก็จะเป็นเลนส์ซูมในช่วง normal คือ Sony?16-50 PZ F3.5-5.6 OSS ที่จัดเป็นเลนส์ช่วงมาตรฐาน ถ่ายไวด์ก็พอได้ ถ่ายซูมก็พอไหว เรียกว่าเป็นเลนส์ครอบจักรวาลในช่วงต้นๆ เลยล่ะ (รุ่นสูงกว่านี้ก็มีอีกนะ) จะใช้ถ่ายวิวก็สบายๆ ใช้ถ่ายคน ถ่ายของก็พอได้อยู่ครับ จัดเป็นเลนส์อเนกประสงค์ วิธีติดตั้งเลนส์เข้ากับ Sony QX1 ก็ไม่ยาก เพียงแค่หันให้จุดสีขาวของเลนส์ตรงกับส่วนของเม้าท์ จากนั้นก็ติดตั้งเลนส์เข้าไปแล้วบิดเลนส์เข้าที่ เพียงเท่านี้ก็ใช้งานได้แล้ว
นอกเหนือจากจะต้องติดตั้งเลนส์เพื่อใช้ถ่ายรูปแล้ว อีกสองชิ้นที่ต้องใช้งานด้วยก็คือแบตเตอรี่และเมมโมรี่การ์ดครับ โดยตัวเมมโมรี่การ์ดจะใช้ในการเก็บภาพถ่ายเป็นไฟล์ความละเอียดเต็ม พร้อมกับไฟล์ดิบ (ไฟล RAW) ซึ่งเป็นไฟล์ภาพที่ไม่ผ่านการบืบอัดใดๆ เป็นภาพที่เก็บตรงมาจากการรับภาพของเซ็นเซอร์เลย ซึ่งถ้าเราต้องการภาพไปแต่งต่อ ก็แนะนำให้เลือกถ่ายแบบเก็บไฟล์ RAW เอาไว้ด้วยนะครับ แต่ก็จะมีข้อเสียคือไฟล์ภาพจะมีขนาดไฟล์ใหญ่มาก (ราวๆ 20 MB) ซึ่งก็จะทำให้เมมเต็มได้อย่างรวดเร็วเหมือนกัน แต่ถ้าถ่ายแบบไม่แต่งอะไรมากมาย แนะนำว่าถ่ายไฟล์ JPEG คุณภาพระดับ Fine ก็เพียงพอแล้ว?ส่วนในการพรีวิวรูปถ่ายหลังถ่ายเสร็จ ตัวกล้อง QX1 จะส่งภาพความละเอียด 2 ล้านพิกเซลเข้ามาที่มือถือที่เชื่อมต่ออยู่ ซึ่งเราก็สามารถนำภาพนี้ไปแชร์ลงยัง Facebook, Instagram หรือโซเชียลเน็ตเวิร์คอื่นได้สบายๆ
มาถึงเรื่องการติดตั้งเพื่อใช้งานกับสมาร์ทโฟนกันบ้าง ตัวของ Sony QX1 นั้นสามารถใช้งานได้ทั้งกับมือถือ Android ทั่วๆ ไป ไม่จำกัดว่าต้องเป็นมือถือ Sony เท่านั้น รวมถึง iPhone และ iPad ก็สามารถใช้งานได้เช่นกัน โดยเครื่องที่จะใช้ต้องติดตั้งแอพ?PlayMemories Mobile?ลงในเครื่องด้วย (มีทั้ง Android และ iOS) เมื่อติดตั้งแล้วก็สามารถทำการจับคู่ QX1 เข้ากับมือถือที่ต้องการใช้ได้เลย โดยการจับคู่นั้น ถ้ามือถือที่นำมาใช้งานด้วยมี NFC อยู่แล้ว ก็แค่เปิด NFC แล้วนำฝาหลังส่วนที่มีเสา NFC อยู่ของมือถือ (ต้องลองแตะๆ หาดูนะ) มาแตะเข้ากับส่วนบนของกล้อง บริเวณที่มีโลโก้ NFC อยู่ ซึ่งจะอยู่ใกล้ๆ กับปุ่มเปิด/ปิดของตัว QX1 เมื่อมันหากันเจอแล้ว ก็จะทำการจับคู่ และเปิดแอพ PlayMemories ให้อัตโนมัติเลย
แต่ถ้ามือถือเครื่องนั้นไม่มี NFC ล่ะ? ก็ไม่ยากครับ เพราะการเชื่อมต่อรับส่งข้อมูลโดยหลักของ QX1 จะมีพื้นฐานมาจาก WiFi-Direct อยู่แล้ว NFC เป็นแค่ตัวช่วยให้หาเจอเร็วขึ้นเท่านั้นเอง สำหรับมือถือที่ไม่มี NFC นั้น ก็จะทำการจับคู่โดยให้เลือกเชื่อมต่อเข้ากับ WiFi ของตัว QX1 ที่ตัวมันเองจะปล่อยออกมา ซึ่งเราก็สามารถเปิดฝาปิดแบตของกล้องเพื่อดูชื่อ WiFi และรหัสที่ใช้สำหรับการเชื่อมต่อได้ (มีตัวอย่างอยู่ในภาพชุดบน) จากเท่าที่ใช้งานในระหว่างรีวิวมา การเชื่อมต่อก็ค่อนข้างเสถียรใช้ได้ครับ แต่ตอนส่งไฟล์ภาพพรีวิวจากกล้องไปยังมือถือจะมีต้องรอซักเล็กน้อย ประมาณเกือบๆ 5 วินาทีได้
ส่วนเรื่องการยึด Sony QX1 ติดเข้ากับมือถือนั้น จะมีส่วนฝาที่แยกจากตัว QX1 ได้อยู่ ที่ปลายข้างหนึ่งก็จะเป็นตัวเกลียวล็อกกับชิ้นกล้องตามปกติ ส่วนอีกฝั่งหนึ่งจะมีขายึดสองขาด้วยกัน มีขาหนึ่งยืดออกมาได้ ก็ให้เรายืดขาที่ว่านั้นขึ้นมายึดกับขอบเครื่องมือถือที่จะใช้งาน จากนั้นก็ค่อยเอาตัว QX1 เข้ามาติดตั้ง บิดเกลียวให้แน่น เพียงเท่านี้ก็เสมือนว่าเราได้กล้อง mirrorless มาใช้งานหนึ่งตัวแล้วครับ ครบองค์ประกอบทั้งเลนส์ เซ็นเซอร์รับภาพ จอแสดงผลและใช้สำหรับปรับค่า ปรับโหมดต่างๆ แค่นี้ก็พร้อมใช้งานแล้ว โดยตัวขายืดนี้สามารถรองรับสมาร์ทโฟนได้หลายขนาดอยู่ เท่าที่ผมลองก็สามารถใช้งานได้สบายๆ กับเครื่องหลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็น Sony Xperia Z3 /?Sony Xperia Z3 Compact /?iPhone 5s / ASUS Padfone S / ASUS Zenfone 5 รวมถึง Lenovo Vibe Z ก็ยังได้เช่นเดียวกัน แต่ก็แทบจะสุดเอื้อมเลยทีเดียว ดังนั้นใครที่ใช้มือถือจอใหญ่เกิน 5.5 นิ้วขึ้นไป อาจจะลำบากหน่อย แนะนำว่าไปทดลองตามศูนย์ตัวแทนจำหน่ายของ Sony ดูก่อนจะดีที่สุดนะ
แต่เอาจริงๆ การจะใช้งาน QX1 ร่วมกับมือถือ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเอาตัวเลนส์มาติดกับมือถือตลอดเวลาก็ได้นะครับ จะถือแยกมือกันก็ได้ สามารถย้ายเลนส์ไปได้ตามใจชอบเลย เหมาะมากเวลาที่ต้องการถ่ายภาพจากมุมสูง แต่ตัวเราจะยกมือถือขึ้นไปถ่ายก็ไม่ถนัด เจอสถานการณ์แบบนี้ก็เพียงแค่ยก QX1 ขึ้นไปเท่านั้น แล้วเราก็มองภาพจากจอตามปกติ ไม่ต้องชะเง้อ ไม่ต้องเขย่งมอง เห็นมั้ย ง่ายสุดๆ ส่วนถ้าจำเป็นต้องใช้ขาตั้งกล้อง ก็เพียงแค่หาขาตั้งที่มีเกลียวหมุนมาเท่านั้นเองครับ ไม่ยากเท่าไร ถ้าใครมีอุปกรณ์ของกล้อง NEX อยู่ก็สบายเลย เพราะส่วนใหญ่จะใช้งานร่วมกันได้อยู่แล้ว
ในระหว่างการใช้งาน Sony QX1 ร่วมกับมือถือนั้น แอพ PlayMemories จะบังคับให้เปิดหน้าจอแอพค้างไว้ตลอดเวลา ไม่สามารถปิดหน้าจอหรือสลับไปใช้งานแอพอื่นได้เลย เพราะจะทำให้การเชื่อมต่อระหว่างมือถือกับ QX1 หลุดจากการทันที ถ้าจะต้องใช้งานก็ต้องทำการจับคู่ใหม่ทุกครั้ง อันนี้ก็อาจจะทำให้เปลืองแบตของมือถืออยู่บ้างไม่ใช่น้อยทีเดียว ซึ่งจุดนี้นี่ล่ะครับที่มันทำให้การใช้งาน Sony QX1 ทำได้ไม่สะดวกนัก เพราะจะหยิบขึ้นมาใช้งานแต่ละทีก็ต้องมาจับคู่เชื่อมต่อกับมือถือซะก่อนทุกครั้ง กระบวนการเชื่อมต่อก็ใช้เวลาหลายวินาทีอยู่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย เช่นรูปแบบวิธีการจับคู่ ที่ถึงแม้ NFC จะเร็วกว่า แต่ก็ยังต้องใช้เวลาในการจับมาแตะกัน แล้วหมุนเลนส์เข้าไปยังแท่นอีกอยู่ดี ตรงจุดนี้อาจจะทำให้การถ่ายรูปในช่วงรีบด่วนไม่สะดวกมากนัก เผลอๆ กว่ากล้องจะพร้อมถ่าย ก็กลายเป็นว่าไม่ทันเวลาไปซะแล้ว ถ้าเทียบในเรื่องความง่ายของการใช้งาน ต้องยอมรับว่ากล้อง mirrorless ไปเลยซักตัวจะสะดวกกว่ามากทีเดียว หยิบ เปิด แชะ จบ!
การใช้งานแบตเตอรี่
สำหรับแบตเตอรี่ความจุ 1020 mAh ที่ให้มาพร้อมกับ Sony QX1 ก็ถือว่าค่อนข้างพอดีๆ ครับ สามารถถ่ายเล่นเรื่อยๆ ใน 1 วันได้สบายๆ ส่วนตัวผมถ่ายเล่นหนักสุด แบตเตอรี่วันนั้นเหลือกลับมา 1/4 ของเกจที่แสดงอยู่ข้างตัว QX1 รวมแล้วน่าจะเป็นกล้องที่ใช้ออกทริป ถ่ายแบบสนุกๆ ได้สบายเลย เหลือกลับมาแต่ละวันก็ชาร์จไฟ ง่ายดี กลัวก็แต่แบตมือถือที่ใช้จับคู่จะหมดเอาซะก่อนน่ะซิ ยังไงก็ควรพก powerbank ติดเอาไว้ด้วยแล้วกันนะครับ
Software
หลังจากชมส่วนของฮาร์ดแวร์ไปแล้ว ทีนี้มาเป็นฝั่งซอฟต์แวร์กันบ้างครับ อย่างที่เกริ่นไปแล้วข้างต้นว่าการจะใช้งาน Sony QX1 ร่วมกับมือถือจะต้องใช้แอพ PlayMemories ด้วย สำหรับหน้าตาของแอพในระหว่างการใช้เป็นจอพรีวิวเวลาถ่ายรูป ก็จะมีลักษณะคล้ายๆ กับแอพกล้องถ่ายรูปบนสมาร์ทโฟนทั่วๆ ไปเลยครับ สามารถเรียนรู้การใช้งานได้ไม่ยากนัก ถ้าไม่คิดอะไรมากก็กดปุ่มถ่ายรูปไปได้เลย ทั้งยังมีปุ่มซูมเข้า-ซูมออกให้จิ้มบนจอได้เลยด้วย (หรือจะใช้ที่ตัวเลนส์ก็ได้)
ที่น่าสนใจก็คือมันมีโหมดการทำงานมาให้เลือกด้วยกัน 5 โหมด ได้แก่ Intelligent Auto, Superior Auto, Program Auto (พอปรับค่าได้บ้าง), Aperture Priority Shooting (เน้นปรับค่าความกว้างรูรับแสงเป็นหลัก) และโหมด Shutter Speed Priority Shooting (เน้นปรับความเร็วชัตเตอร์เป็นหลัก) ซึ่งจากทั้ง 5 โหมดที่ให้มา ก็ช่วยอำนวยความสะดวกในการถ่ายภาพได้หลากหลายพอสมควรแล้ว สำหรับค่าที่สามารถปรับแต่งได้ก็แทบจะไม่แตกต่างจากกล้อง DSLR มากนักนั่นคือ ค่าความกว้างรูรับแสง, ความเร็วชัตเตอร์, ค่าความไวแสง (ISO), ค่าการชดเชยแสง (Exposure)
ส่วนตัวผมในการรีวิว Sony QX1 ครั้งนี้ จะเลือกใช้โหมด Superior Auto เป็นหลักนะครับ
อย่างในภาพด้านบนนี้ก็เป็นตัวอย่างในการใช้งานโหมดเน้นความเร็วชัตเตอร์ ที่สามารถเลือกปรับความเร็วชัตเตอร์ได้ตามใจชอบ วิธีการปรับก็ไม่ยากครับ แค่เลื่อนหมุดวงกลมที่อยู่ตรงเส้นโค้งฝั่งขวาเท่านั้นเอง ปรับให้เร็วสุดได้ถึง 1/4000 วินาที นานสุดคือ 30 วินาที เมื่อปรับได้ค่าความเร็วชัตเตอร์ที่ต้องการแล้ว ค่าความกว้างรูรับแสงก็จะปรับอัตโนมัติให้ตามที่ควรจะเป็น เพื่อทำให้ภาพออกมาดีที่สุดตามการประมวลผลของตัวกล้อง ส่วนค่า ISO นั้นสามารถปรับได้อิสระอยู่แล้วนะครับ
ในโหมดการปรับแบบเน้นความกว้างรูรับแสงก็เช่นกัน เราสามารถปรับค่ารูรับแสงได้ตามที่เลนส์สามารถทำได้เลย อย่างในเลนส์แถมมากับ QX1 ก็คือ 16-50 F3.5-5.6 ก็จะสามารถปรับค่ารูรับแสงได้กว้างสุดที่ F3.5 สูงสุดที่ F22 สำหรับรูรับแสง
สำหรับทั้งสามภาพในแกลเลอรี่นี้ จะเป็นตัวอย่างการปรับตั้งค่าอื่นๆ ของตัว Sony QX1 อย่างในภาพแรกก็จะเป็นมีตัวเลือกให้ปรับแต่งโหมดของการโฟกัส ว่าจะให้โฟกัสอัตโนมัติหรือไม่ ให้โฟกัสตามวัตถุ แม้จะมีการเคลื่อนตำแหน่งก็ตาม
ภาพที่สองก็เป็นการเลือกความละเอียดภาพถ่ายที่จะเก็บเป็นไฟล์ JPEG โดยสามารถเลือกเก็บได้สูงสุด 20 ล้านพิกเซล ที่อัตราส่วนภาพ 3:2 เหมือนกล้อง DSLR ทั่วไป
ส่วนภาพสุดท้ายก็จะเป็นคุณภาพของภาพถ่ายที่จะเก็บ ถ้าต้องการเก็บไฟล์ RAW ด้วย ก็ต้องเลือกอันบนสุดคือ RAW & JPEG เท่านั้น ส่วนถ้าต้องการเก็บแค่ไฟล์ JPEG ก็จะเลือก Fine เพื่อคงคุณภาพสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ไว้ แต่ถ้าต้องการประหยัดพื้นที่จัดเก็บ หรือเมมเหลือน้อย ก็สามารถเลือกแบบ Standard ก็ได้ครับ คุณภาพไฟล์อาจจะลดลงไปหน่อย แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่โอเคอยู่
Camera
ทีนี้เรามาดูตัวอย่างรูปถ่ายจาก Sony QX1 + เลนส์ 16-50 PZ F3.5-5.6 OSS กันบ้าง ทุกภาพถ่ายด้วยโหมด Superior Auto ทั้งหมด ไม่มีการปรับแต่งใดๆ อาจจะมีบางภาพที่เลือกใช้โหมด Aperture Priority Shooting เพื่อกำหนดค่าความกว้างรูรับแสงที่ต้องการอยู่บ้าง เช่นภาพกระจกข้างรถยนต์ที่จงใจเลือกถ่ายโดยใช้ค่ารูรับแสงต่างกัน (F3.5 กับ F22) และมีภาพอีกคู่คือภาพหน้ามอเตอร์ไซค์ ที่ภาพแรกเป็นการถ่ายปกติ ส่วนภาพที่สองเป็นการถ่ายพร้อมกับเปิดแฟลชด้วยครับ
Overall
เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับรีวิว Sony QX1 ชุดเม้าท์เลนส์กล้องแบบ E-mount ตัวนี้ จากเท่าที่รีวิวมา ดูแล้วมันน่าจะเหมาะกับผู้ที่มีสมาร์ทโฟนที่ค่อนข้างโอเคอยู่แล้ว แต่อยากได้กล้องถ่ายรูประดับคุณภาพเพิ่มมาอีกชิ้นในราคาที่ไม่ถึงกับกล้อง mirrorless จริงๆ เนื่องด้วยลักษณะการใช้งาน ประสบการณ์ ความอิสระในการเลือกเปลี่ยนเลนส์และอุปกรณ์เสริมอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับกล้อง mirrorless มากๆ จะขาดก็แต่หน้าจอพรีวิวและปรับตั้งค่าการทำงาน จุดนี้จึงต้องการสมาร์ทโฟนในการใช้งานด้วย
ซึ่งก็เป็นเพราะว่ามันต้องมีสมาร์ทโฟนด้วยนี่ล่ะครับ ทำให้มันกลายเป็นหนึ่งในอุปสรรคของการใช้งาน Sony QX1 อยู่บ้างเหมือนกัน เพราะกว่าจะใช้งานได้เต็มที่ 100% แต่ละครั้ง ก็ต้องมาจับคู่ QX1 เข้ากับมือถืออีก ถ้าใช้ NFC ก็สะดวกหน่อย แต่ถ้าไม่มี NFC ก็ต้องมาต่อเข้ากับ WiFi ของกล้อง ทำให้กว่าจะเริ่มใช้งานได้ก็เสียเวลา เผลอๆ อาจเสียโอกาสถ่ายภาพไปเลยก็ได้ อีกทั้งระหว่างการใช้งาน ก็ไม่สามารถสลับไปใช้แอพอื่น หรือปิดหน้าจอลงไปได้เลย ทำให้เป็นการใช้งานแบตเตอรี่ของตัวมือถือค่อนข้างมากพอตัวเลยทีเดียว ก็ถือว่าเป็นข้อจำกัดของตัว Sony QX1 ชดเชยกับความสะดวกในการพกพา และราคาเริ่มต้นที่สบายกระเป๋ากว่าซื้อกล้อง mirrorless ซักตัว แต่ยังได้ภาพในระดับที่ใกล้เคียงกัน แถมยังเหนือกว่าสมาร์ทโฟนอีกต่างหาก (ขึ้นอยู่กับฝีมือการถ่ายภาพของผู้ใช้ด้วยนะ)
ข้อดี
- พกพาสะดวก สามารถใช้งานกับสมาร์ทโฟนได้แทบทุกเครื่อง
- เปลี่ยนเลนส์ และใช้อุปกรณ์เสริมประเภท E-mount เหมือนในกล้องตระกูล NEX ของ Sony เองได้
- มีแฟลชในตัว
- ระบบการประมวลผลภาพ การถ่ายภาพค่อนข้างฉลาด ทำหน้าที่ได้ดี
- ไฟล์ภาพออกมาดี สามารถนำมาแต่งรูปต่อได้ ใช้งานจริงได้
ข้อสังเกต
- มือถือเครื่องใหญ่เกินไปและแท็บเล็ต จะไม่สามารถติดตั้งเข้ากับ Sony QX1 ได้
- ต้องเสียเวลาในการจับคู่ก่อนใช้งานทุกครั้ง อาจเสียโอกาสถ่ายภาพไปได้
- ระหว่างใช้งาน ต้องเปิดหน้าจอและเปิดแอพ PlayMemories ไว้ตลอด ทั้งหลังถ่ายแต่ละภาพ จะมีการถ่ายโอนไฟล์ตัวอย่างมายังมือถือ อาจเสียเวลาถ่ายต่อได้