ก่อนหน้านี้ ชื่อของ Xiaomi จัดเป็นแบรนด์ที่มาพร้อมกับมือถือสเปคคุ้ม ๆ มาตลอด แต่มาในระยะหลัง เราเริ่มได้เห็นการแตกแบรนด์ย่อยออกมา อย่างแบรนด์ย่อยล่าสุดในฝั่งมือถือเองก็จะเป็นตัวของ Redmi ที่ออกมาจับตลาดมือถือราคาไม่แพง แต่ยังได้สเปคที่ค่อนข้างลงตัว และงานประกอบในระดับของ Xiaomi ที่ได้รับความเชื่อถืออยู่ โดยล่าสุดได้ส่งสมาร์ทโฟนรุ่นเล็กอย่าง Redmi Go ออกมา
ซึ่งเจ้า Redmi Go ก็มาพร้อมกับสเปคที่น่าสนใจตามนี้เลยครับ
- ชิปประมวลผล Snapdragon 425 ที่มี 4 คอร์ ความเร็ว 1.4 GHz พร้อมชิปกราฟิก Adreno 308
- แรม 1 GB
- พื้นที่เก็บข้อมูล 8 GB รองรับ MicroSD เพิ่มได้สูงสุด 128 GB
- หน้าจอ IPS ขนาด 5 นิ้ว ความละเอียดระดับ HD (1280 x 720)
- ระบบปฏิบัติการ Android 8.1 Oreo (Go edition)
- กล้องหลัง 8 ล้านพิกเซล f/2.0
- กล้องหน้า 5 ล้านพิกเซล f/2.2
- รองรับการเชื่อมต่อ 4G LTE
- ถาดซิม 2 นาโนซิม + 1 MicroSD
- แบตเตอรี่ 3000 mAh ชาร์จผ่าน Micro USB
- ราคา 2,699 บาท
หากพูดถึงในแง่ของสเปคอย่างเดียว ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสเปคค่อนข้างเบาไปหน่อยสำหรับการใช้งานในปัจจุบัน โดยเฉพาะแรม 1 GB และพื้นที่เก็บข้อมูลของเครื่องที่ให้มาเพียง 8 GB เท่านั้น แต่ด้วยการเลือกใช้ระบบปฏิบัติการ Android ที่เป็นรุ่น Go edition ซึ่งได้รับการออกแบบมาให้กินทรัพยากรเครื่องน้อยกว่า Android รุ่นปกติ จึงทำให้สามารถใช้งานในยุคปัจจุบันได้อยู่นั่นเอง
ดีไซน์ หน้าตาของ Redmi Go
รูปทรงก็จะมาในแบบของมือถือทรง bar ตามปกติ มีขอบจอบน-ล่างหนาเท่า ๆ กัน ซึ่งค่อนข้างหาได้ยากในยุคนี้ ยุคที่มือถือนิยมใช้จอแบบเกือบเต็มเครื่อง ขอบบาง ๆ กันซะมากกว่า
ส่วนหน้าจอก็ต้องบอกว่าทำได้ดีตามราคาเครื่องครับ แม้ว่าตามสเปคจะระบุว่าเป็นพาเนล IPS ก็จริง แต่พอลองใช้งาน ก็พบว่าจอจะให้สีสันที่ดีที่สุดเมื่อมองจอแบบตรง ๆ ถ้าหากเปลี่ยนมุมไปมองด้านข้าง จะพบว่าสีสันของภาพบนจอจะไม่สดใสเท่ากับเมื่อมองตรงกลาง ซึ่งเป็นไปได้ว่าสาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากกระจกหน้าจอด้วย แต่ถ้าให้เทียบแล้ว ก็นับว่ายังให้ภาพที่ดีกว่ามือถือในยุคที่นิยมใช้จอ TN อยู่ดีครับ
ระดับความสว่างของหน้าจอ ก็อยู่ในระดับที่ใช้งานในที่ร่มได้สบาย ส่วนถ้าใช้งานกลางแจ้งก็อาจจะต้องป้องมือเพื่อมองจอซักหน่อย
อีกเรื่องก็คือขนาดของจอที่ให้มาขนาด 5 นิ้ว จัดว่าอยู่ในระดับที่กำลังใช้งานได้อย่างคล่องตัว และยิ่งเหมาะมาก ๆ หากซื้อให้ลูกหลานใช้งานครับ เพราะทำให้ตัวเครื่องมีขนาดกะทัด พกพาง่าย และเครื่องก็ไม่หนักจนเกินไปด้วย
ปุ่มสั่งงานทั้งสามเป็นปุ่มแบบสัมผัส ไม่มีไฟที่ปุ่ม เรียงจากซ้ายไปขวาคือ ปุ่มเรียกดูแอปที่ใช้งานล่าสุด ปุ่มโฮม ปุ่มย้อนกลับ ไม่สามารถปรับเปลี่ยนตำแหน่งของปุ่มได้นะครับ
พลิกมาด้านหลังก็จะพบกับฝาหลังสีน้ำเงินสดใส วัสดุเป็นพลาสติกขอบมน ทำให้สามารถจับถือได้ถนัดมือ ส่วนกล้องหลังและแฟลช LED จะอยู่ตรงมุมซ้ายบนสุดของเครื่องเลย โดยวางราบไปกับฝาหลัง
ส่วนด้านบนของเครื่องก็จะเป็นตำแหน่งของช่องรับเสียงของไมค์ช่วยตัดเสียงรบกวน และช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มม. ไว้สำหรับฟังเพลง ดูหนัง ฟังวิทยุ
ด้านล่างก็จะมีช่องรับเสียงของไมค์สนทนา ช่อง Micro USB และช่องลำโพง
ฝั่งซ้ายของเครื่องก็จะเป็นถาดใส่ซิมและ MicroSD โดยแบ่งเป็นถาดบนเป็นถาดสำหรับใส่ซิม 1 ส่วนถาดสองจะมีช่องใส่ซิม 2 และการ์ด MicroSD ดังนั้นจึงสามารถใส่สองซิม พร้อมกับ MicroSD ได้สบาย
ฝั่งขวาก็จะมีปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง และก็ปุ่ม Power
ทีนี้มาดูอุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องกันบ้างครับ ก่อนจะไปดูข้างใน ก็จะพบว่าด้านหลังกล่องมีระบุสเปคคร่าว ๆ มาให้เรียบร้อย โดยเฉพาะแรมและรอมของเครื่อง ส่วนเมื่อแกะดูข้างใน ก็จะพบกับอะแดปเตอร์ชาร์จไฟ 5V 1A พร้อมสาย Micro USB เข็มจิ้มถาดซิม และก็เอกสารคู่มือเล็กน้อย ไม่ได้แถมหูฟังกับเคสมาให้นะครับ
ซอฟต์แวร์ของ Redmi Go
Redmi Go มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Android 8.1 Oreo ที่เป็นรุ่น Go edition ครอบทับมาด้วย Mint launcher นะครับ ไม่ได้ใช้ launcher ของทาง Xiaomi เอง ความรู้สึกในการใช้งานก็จะใกล้เคียงกับ Pure Android อยู่เหมือนกัน
พื้นที่เก็บข้อมูลที่ให้มาตามสเปค 8 GB นั้น จะเหลือให้ใช้งานได้จริงอีกเกือบ ๆ 5 GB ซึ่งแนะนำว่าไม่ควรติดตั้งแอปที่ไม่จำเป็นมากนัก เพราะตามปกติแล้ว แต่ละแอปที่อยู่ในเครื่องรวมถึงระบบปฏิบัติการเองก็จะมีการเขียนไฟล์สะสมเก็บไว้เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงาน ลำพังเพียงแค่แอปยอดนิยมอย่าง Facebook กับ Line ก็คงกินพื้นที่ในเครื่องไปพอสมควรแล้ว
ฟีเจอร์ที่น่าสนใจของ Redmi Go
หากพูดถึงฟีเจอร์ที่โดดเด่นก็อาจจะไม่ใช่จุดขายของตัวเครื่องเท่าไหร่นัก ด้วยคอนเซ็ปท์ของเครื่องคือเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นเล็กราคาเบา ๆ ดังนั้นเราเลยมองว่า แม้สเปคมันจะไม่ได้แรง แต่การเลือกใช้ระบบปฏิบัติการ Android Go edition พร้อมกับแอปติดเครื่องที่เป็นแอปรุ่น Go edition ด้วยเช่นกัน คือสิ่งที่ Xiaomi จับใส่มาได้อย่างพอดิบพอดี อย่างในภาพด้านบนก็จะเป็นแอปทั้งหมดที่ติดตั้งมาให้ในเครื่องตั้งแต่แกะกล่องครับ สังเกตได้ว่าแอปจาก Google แทบทั้งหมดจะแอปเวอร์ชัน Go ที่ใช้พื้นที่เก็บข้อมูลน้อยกว่าเวอร์ชันปกติ ส่วนการทำงานหลักต่าง ๆ จะยังคงทำได้ใกล้เคียงกันอยู่
นอกจากนี้ยังมีแถมแอปของ Xiaomi เองมาเล็กน้อย เช่น File Manager, Mi Drop สำหรับรับส่งไฟล์ข้ามเครื่อง และก็ Mi Video
กล้องถ่ายรูปของ Redmi Go
กล้องถ่ายรูปก็คงต้องบอกว่าทำได้ดีตามค่าตัวครับ ฟังก์ชันการทำงานก็อยู่ในระดับมาตรฐานของกล้องสมาร์ทโฟน ดีที่มีแฟลชกล้องหลังให้มาด้วย ส่วนการทำหน้าชัดหลังเบลอ อาจจะถ่ายได้ยากซักนิดนึง เนื่องด้วยข้อจำกัดทางด้านฮาร์ดแวร์และการประมวลผลภาพที่อาจจะไม่ได้ใส่ฟีเจอร์มาเทียบเท่ากับรุ่นที่ราคาสูงกว่านี้
สำหรับแอปกล้องเอง เมื่อดูจากอินเตอร์เฟสแล้วก็น่าจะเป็น Google Camera นี่แหละครับ ที่น่าสนใจคือสามารถถ่ายภาพแบบ HDR ที่ช่วยให้การเก็บรายละเอียดในส่วนที่สว่าง และส่วนที่มืดเกินไปทำได้ดีขึ้น รวมถึงยังมีโหมด Manual ให้ใช้ได้อีกต่างหาก
ส่วนคุณภาพของภาพถ่ายนั้น ก็ทำได้สมกับค่าตัวครับ เหมาะกับการถ่ายรูปกลางแจ้ง ในลักษณะของการถ่ายภาพแบบรวม ๆ เช่น ถ่ายวิว ถ่ายภาพที่ระยะโฟกัสอินฟินิตี้ ส่วนจุดที่อาจทำให้ขัดใจอยู่บ้างก็เช่น การถ่ายรูปในที่มีแสงน้อย รวมถึงการถ่ายรูปในบริเวณที่สีสันของวัตถุสามารถหลอกการประมวลผล white balance ได้ เช่น การถ่ายรูปใบไม้ พื้นหญ้าที่อยู่กลางแดดจัด ๆ รวมถึงการถ่ายวัตถุสีน้ำเงินบนพื้นหลังสีเหลือง เป็นต้น โดยสามารถชมตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้อง ได้จากในแกลเลอรี่ด้านล่างนี้ครับ
ประสิทธิภาพของ Redmi Go
แม้ประสิทธิภาพและความแรงอาจจะไม่ใช่จุดขาย แต่ก็ต้องบอกว่ามันทำออกมาได้ลงตัวทั้งในฝั่งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ครับ ชิป Snapdragon 425 + แรม 1 GB + Android 8.1 Go + แอปเวอร์ชัน Go/Lite ก็สามารถตอบโจทย์การใช้งานแบบเบา ๆ ได้ระดับหนึ่ง แต่ก็อาจจะมีหน่วงบ้างเล็กน้อย ส่วนคะแนนจากแอปทดสอบประสิทธิภาพนั้น เท่าที่ผมลองใช้แอปหลัก ๆ ดู ส่วนใหญ่จะทดสอบได้ไม่จบครับ มีแต่เพียง Geekbench ในส่วนของการทดสอบ CPU เท่านั้นที่ได้ผลออกมา
ส่วนการเล่นเกม อาจจะต้องบอกตรง ๆ ว่าอาจจะไม่เหมาะซักเท่าไหร่ ด้วยทั้งประสิทธิภาพของเครื่องที่ไม่สูงมากนัก รวมถึงพื้นที่เก็บข้อมูลในเครื่องก็อาจจะไม่ค่อยเหมาะกับการติดตั้งเกมขนาดใหญ่ โดยเท่าที่ผมลองกับเกมกระแสหลักในปัจจุบัน อันนี้บอกเลยว่าไม่ไหวนะ จะได้ก็พวกเกมเบา ๆ กราฟิก 2D ที่ไม่หนักมาก พวกเกมแนว puzzle ก็พอไหวอยู่
แบตเตอรี่ 3000 mAh ของ Redmi Go ให้ผลลัพธ์ในแง่ของระยะเวลาการใช้งานที่น่าพึงพอใจ สามารถใช้งานข้ามวันได้สบาย และยิ่งถ้านำมาใช้เป็นเครื่องสำรอง สแตนด์บายรอรับสายเป็นหลัก อันนี้จะเหมาะมากครับ ใช้งานกันได้หลายวันเลยทเดียว แถมยังไม่ต้องกังวลเรื่องการเชื่อมต่อเครือข่ายด้วย เพราะตัวเครื่องรองรับ 4G/3G/2G เรียกว่าไปที่ไหนก็ใช้ได้แน่นอน (แต่ไม่รองรับ VoLTE และ CA นะ)
Overall
Redmi Go เป็นสมาร์ทโฟนรุ่นเล็กสุดของ Xiaomi ที่ออกมาทำตลาดสมาร์ทโฟนระดับเริ่มต้นในไทยได้น่าสนใจ แม้ว่าสเปคของเครื่องอาจจะไม่สูงมากนัก แต่ก็มาพร้อมกับซอฟต์แวร์ที่เหมาะสมกับฮาร์ดแวร์ เพื่อรักษาประสบการณ์การใช้งานสมาร์ทโฟนได้ดีในระดับหนึ่ง รวมถึงยังได้มาตรฐานของความเป็นอินเตอร์แบรนด์อยู่
กลุ่มของผู้ใช้ที่น่าจะเหมาะกับ Redmi Go เครื่องนี้ ผมมองว่าน่าจะเป็นผู้ปกครองที่อยากซื้อสมาร์ทโฟนให้ลูกหลานใช้พกติดตัวเพื่อใช้ติดต่อสื่อสาร รวมถึงเพื่อใช้แทนอุปกรณ์ GPS สำหรับระบุตำแหน่งของตัวเด็ก แต่ก็ไม่อยากให้ลูกเล่นเกมบนมือถือมากนัก ถ้าเด็กอยากจะเล่นเกม ก็ให้เล่นกับแท็บเล็ตที่บ้านแทนซะมากกว่า เนื่องด้วยความครบเครื่องในแง่ของการเป็นสมาร์ทโฟนระดับเริ่มต้น ราคาที่ไม่แรงมาก และงานประกอบที่ทำได้ดีเมื่อเทียบกับมือถืออื่น ๆ ในช่วงราคาใกล้เคียงกัน