[Review] OPPO R9s Plus จอใหญ่ แบตอึด กล้องหลังเซ็นเซอร์ตัวท็อป f/1.7 ในราคา 16,990 บาท

ชื่อเสียงและภาพจำแง่ตัวผลิตภัณฑ์ของมือถือ OPPO ในบ้านเรา ก็คือเป็นแบรนด์ที่มีจุดเด่นในเรื่องของกล้องและนวัตกรรมมาโดยตลอด แม้ว่าในระยะหลังมานี้จะเน้นหนักไปทางเรื่องกล้องหน้า และการออกผลิตภัณฑ์ที่เป็นไปตามความนิยมของตลาด แต่ก็ต้องยอมรับว่า OPPO ยังครองใจผู้ใช้ในไทยอยู่ได้ไม่น้อย ด้วยทั้งจากกล้องที่ให้ภาพออกมามีความฟรุ้งฟริ้งตรงใจผู้ใช้งาน รวมถึงการโปรโมตในเชิงการตลาดที่จับได้ถูกจุดมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะตามเมืองใหญ่ หรือตามต่างจังหวัดก็ตาม โดยเฉพาะในซีรีส์ของ OPPO R9s ที่นับเป็นมือถือเรือธงช่วงต้นปี ด้วยการชูจุดเด่นทั้งกล้องหน้าและกล้องหลัง ซึ่ง OPPO ก็ไม่ปล่อยให้กระแสซาลงไป ด้วยการส่งรุ่นใหญ่อย่าง OPPO R9s Plus มาทำตลาดต่อ โดยเราก็ได้รับเครื่องมาสำหรับรีวิวด้วยเช่นกัน จะเป็นอย่างไร มาดูที่สเปคก่อนเลย

สเปค OPPO R9s Plus

  • ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon 653 (MSM8976 Pr0) 8 คอร์ พร้อมชิปกราฟิก Adreno 510
  • แรม 6 GB
  • รอม 64 GB รองรับ MicroSD ได้สูงสุด 256 GB
  • หน้าจอ IPS ขนาด 6 นิ้ว ความละเอียดระดับ Full HD 1080p กระจกหน้าจอ Gorilla Glass 5 ขอบโค้ง 2.5D
  • กล้องหลัง 16 ล้านพิกเซล เซ็นเซอร์รับภาพ Sony IMX398 รูรับแสง f/1.7 มาพร้อมกันสั่น OIS+ และระบบโฟกัส Dual PDAF รองรับการถ่ายวิดีโอ 4K
  • กล้องหน้า 16 ล้านพิกเซล รูรับแสง f/2.0 พร้อมความสามารถปรับแต่งภาพ Beautify 4.0
  • เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือที่ปุ่มโฮม
  • ใช้งานได้ 2 นาโนซิม รองรับ 4G LTE ทุกเครือข่ายในไทยแบบ 2CA รองรับ Full Netcom 3.0 (ซิม 1 ต่อ 4G อีกซิมต่อ 3G ได้)
  • มีการออกแบบเสารับสัญญาณใหม่ให้รับสัญญาณได้ดีขึ้น
  • รองรับ NFC
  • แบตเตอรี่ 4,000 mAh รองรับการชาร์จเร็วด้วยฟีเจอร์ VOOC Flash Charge
  • Android 6.0 ครอบทับด้วย Color OS 3.0
  • น้ำหนัก 185 กรัม
  • ราคา 16,990 บาท
  • สเปค OPPO R9s Plus

แง่ของสเปค OPPO R9s Plus จัดว่าให้มาเหลือกินเหลือใช้เลยครับ ด้วยแรมที่สูงถึง 6 GB ส่วนรอม 64 GB ก็จัดว่าโอเค แทบไม่จำเป็นต้องใช้ MicroSD ก็ยังใช้ได้ (อาจต้องอัพรูปเก่าๆ ไปเก็บบน cloud บ้าง) แม้ชิปประมวลผลจะดูเหมือนเป็นซีรีส์กลาง แต่ที่จริงแล้วชิป Snapdragon 653 มาพร้อมกับการปรับปรุงภายในหลายๆ จุด ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพที่ดีขึ้นกว่า Snapdragon 652 ความสามารถในการรองรับแรมได้มากกว่า 4 GB ไปจนถึงสูงสุด 8 GB รวมถึงยังมาพร้อมชิปโมเด็มรุ่นใหม่อย่าง X9 LTE ที่ทำให้รับส่งข้อมูลได้ความเร็วสูงสุดได้มากขึ้น เป็นต้น นับว่า OPPO R9s Plus คือสมาร์ทโฟนรุ่นแรกที่มาพร้อมชิป Snapdragon 653 ที่วางขายในไทยเลยทีเดียว

ส่วนของกล้องก็น่าสนใจด้วยการเลือกใช้เซ็นเซอร์รับภาพรุ่นท็อปสุดของ Sony ในปัจจุบัน พ่วงมาด้วยระบบโฟกัสแบบ Dual PDAF ที่จับโฟกัสได้เร็วขึ้นกว่าเดิม 40% เลนส์รูรับแสงกว้าง f/1.7 ซึ่งเดี๋ยวจะมาลงรายละเอียดกันต่อในส่วนของการรีวิวกล้องนะครับ

อีกหนึ่งจุดที่เป็นจุดขายของ OPPO มาโดยตลอดนั่นก็คือฟังก์ชันการชาร์จเร็ว VOOC Technology ที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วหลายปี ว่าชาร์จได้เร็วสุดๆ และก็ปลอดภัยมากด้วยเช่นกัน เมื่อบวกกับแบตเตอรี่ภายในที่อัดมาถึง 4,000 mAh ก็ทำให้น่าสนใจมากว่า OPPO R9s Plus จะตอบโจทย์ผู้ใช้ในปัจจุบันได้ดีขนาดไหน

เมื่อเทียบสเปคระหว่าง OPPO R9s Plus กับ R9s แล้ว พบว่าจุดแตกต่างที่หลักๆ เลยก็คือหน้าจอที่ R9s Plus ใหญ่กว่า (6″ กับ 5.5″), แบตความจุสูงกว่า (4000 กับ 3010 mAh), ชิปประมวลผลรุ่นใหม่กว่า และก็แรมที่มากกว่าครับ (6 กับ 4 GB) ด้วยราคาที่บวกขึ้นมา 2,000 บาท ถ้าท่านไหนอยากได้มือถือจอใหญ่ และได้ลองจับแล้วพบว่าก็ใช้มือถือจอ 6 นิ้วได้ การจ่ายเพิ่มอีก 2,000 บาทก็นับเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ เมื่อมองจากสเปคหลายๆ อย่างที่เพิ่มเข้ามา

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ข้อดี

– สเปคโดยรวมอัดมาแน่นมาก ทั้งชิปใหม่ แรม 6GB รอม 64GB รองรับ Full Netcom 3.0
– จอใหญ่เต็มตา สีสันสดใส
– แบตจุถึง 4,000 mAh รองรับ VOOC Fast charge ที่ชาร์จไฟเข้าเร็วมากๆๆ
– กล้องจับโฟกัสภาพได้เร็ว และแม่นยำ มีลูกเล่นให้ใช้พอประมาณ
– ตัวเครื่องงานประกอบดี วัสดุดี และไม่หนาจนเกินไป

ข้อสังเกต

– ส่วนของซอฟต์แวร์ ต้องใช้ความเคยชินซักเล็กน้อย สำหรับคนที่ใช้ Android มาเป็นระยะเวลานาน
– คุณภาพของภาพถ่ายในที่มีแสงน้อย ยังไม่ได้ถึงระดับที่ควรจะเป็น

บทสรุป

OPPO R9s Plus คือสมาร์ทโฟนที่น่าจะลงตัวกับความต้องการของหลายๆ ท่านได้เป็นอย่างดี ด้วยความเด่นของหน้าจอที่มีขนาดใหญ่ถึง 6 นิ้ว Full HD สีสันสดใสมากๆ กล้องหน้ากล้องหลังที่อัดแน่นมาด้วยฮาร์ดแวร์ชั้นยอด รวมถึงแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ยาวนานเกิน 1 วัน พ่วงกับฟีเจอร์การชาร์จเร็วแบบ VOOC อันเป็นเอกสิทธิ์ของ OPPO เอง ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นระบบชาร์จไฟสำหรับสมาร์ทโฟนที่เร็วและปลอดภัยที่สุดระบบหนึ่งในปัจจุบัน เมื่อประกอบกับการโปรโมตของ OPPO ในประเทศไทย ก็ยิ่งทำให้ผู้ใช้สามารถสัมผัสถึงตัวตนความเป็น OPPO ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ตามสโลแกนที่ใช้โปรโมตสมาร์ทโฟนในซีรีส์ R9s ว่า “Now, It’s Clear” ซึ่งก็ชัดเจนเลยทีเดียวครับ ว่า OPPO R9s Plus นี้ เหมาะกับผู้ใช้งานในกลุ่มใด นั่นก็คือ คนรุ่นใหม่ที่ต้องมีสมาร์ทโฟนเป็นเสมือนของจำเป็นข้างกาย และพร้อมที่จะใช้งานได้ทุกรูปแบบ ทุกเวลา
Editor : ZeroSystem
95
BEST OVERALL SPEC

Design

Review-OPPO-R9s-Plus-SpecPhone-00018

Review-OPPO-R9s-Plus-SpecPhone-201704093

Review-OPPO-R9s-Plus-SpecPhone-2017040912

OPPO R9s Plus ก็คือ OPPO R9s ที่ขยายร่างขึ้นมาเป็นจอขนาด 6 นิ้วครับ ส่วนของหน้าจอนี่ใหญ่สะใจมากๆ กระจกหน้าจอ Gorilla Glass 5 ส่วนความละเอียดก็ให้มาที่ Full HD 1920 x 1080 ซึ่งเป็นระดับที่ส่วนตัวผมว่ากำลังพอเหมาะ เพราะเป็นช่วงที่ภาพกำลังออกมาสวย การกินพลังงานก็อยู่ในระดับที่ใช้งานในหนึ่งวันได้สบาย ซึ่งจอของ OPPO R9s Plus ก็สามารถแสดงสีสันออกมาได้สวยงามตามมาตรฐานของพาเนล IPS มุมมองกว้าง ความสว่างก็อยู่ในระดับที่สามารถใช้งานกลางแจ้งได้แบบไร้ปัญหา สามารถปรับขนาดตัวอักษรได้ 4 ระดับ มีโหมดถนอมสายตา ที่จะปรับโทนสีของหน้าจอให้เป็นโทนเหลือง เพื่อลดแสงสีฟ้าลงได้อีกด้วย ขอบจอเป็นแบบโค้ง 2.5D ไปรับกับขอบอลูมิเนียมด้านข้างที่ผ่านการตัดขอบแบบไดมอนด์คัตได้พอดี

ด้านบนของหน้าจอ จะเป็นตำแหน่งของกล้องหน้า ลำโพงสนทนา และแผงเซ็นเซอร์วัดแสง/วัดระยะห่าง ไม่มีแฟลชกล้องหน้ามาให้นะครับ ทำให้เวลาเปิดแฟลชในแอปกล้องเพื่อถ่ายเซลฟี่ จะเป็นการใช้แสงขาวจากหน้าจอสว่างขึ้นมา

จอใหญ่ รูปทรงมาตรฐาน สองซิม

ด้านล่างของจอก็จะเป็นตำแหน่งของปุ่มโฮม ซึ่งเป็นปุ่มที่ไม่สามารถกดได้ แต่จะใช้เป็นการแตะที่ปุ่มเพื่อทำหน้าที่ของปุ่มโฮม และแตะค้างไว้เพื่อเปิดใช้งาน Google Now/Google Assistance แทน ไม่สามารถตรวจจับระดับแรงกดได้เหมือนของใน iPhone รุ่นใหม่ๆ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือไปด้วยในตัว รองรับการสแกนได้รอบทิศทาง สามารถเก็บข้อมูลลายนิ้วมือได้สูงสุด 5 รูปแบบ โดยสามารถใช้ทั้งปลดล็อกหน้าจอขณะที่ปิดหน้าจออยู่ ปลดล็อกการใช้งานแอปพลิเคชัน รวมถึงใช้รักษาความปลอดภัยให้กับไฟล์ในเครื่องได้ด้วย

สำหรับตัวเซ็นเซอร์ก็จะมีความพิเศษกว่าในเครื่องอื่นๆ เล็กน้อย ก็คือมันสามารถปลดล็อกได้ แม้ว่านิ้วของผู้ใช้จะเปียกน้ำก็ตาม ซึ่งผมก็ทดลองแล้ว สามารถใช้งานได้จริง แม้จะมีบางครั้งที่ปลดล็อกไม่ได้บ้าง แต่ก็น้อยครับ ส่วนใหญ่จะใช้ได้แบบไม่มีปัญหา ที่แปลกหน่อยก็คือ ผู้ใช้สามารถใช้ลายนิ้วมือปลดล็อกหน้าจอครั้งแรกหลังจากเครื่องรีสตาร์ทมาได้เลย จากที่ปกติแทบทุกเครื่องในท้องตลาด ระบบจะบังคับให้พิมพ์รหัสก่อน ครั้งต่อไปจึงจะสามารถใช้ลายนิ้วมือปลดล็อกได้

ถาดใส่ซิม จะซ่อนอยู่ฝั่งขวาของเครื่อง เหนือปุ่ม Power ขึ้นไปเล็กน้อย โดยเป็นถาดแบบไฮบริด รองรับการใช้ซิมแบบนาโนซิมเท่านั้น สามารถตั้งค่าในเมนูได้ว่าจะให้ซิมใดเป็นซิมหลักที่เชื่อมต่อ 4G ส่วนอีกซิมจะรองรับการเชื่อมต่อได้สูงสุดเป็น 3G ครับ อีกจุดที่จัดว่าไม่ค่อยพบในสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ แล้วก็คือ หลังจากถอด/ใส่ซิมใหม่ใน OPPO R9s Plus แล้ว ระบบจะบังคับให้รีสตาร์ทเครื่องก่อน 1 รอบ จึงจะสามารถใช้งานได้

Review-OPPO-R9s-Plus-SpecPhone-201704095

แบตความจุสูง แต่บางเฉียบ

Review-OPPO-R9s-Plus-SpecPhone-2017040911

Review-OPPO-R9s-Plus-SpecPhone-2017040917

ฝาหลัง OPPO R9s Plus เป็นอลูมิเนียมผิวเนียนลื่นมือ ขึ้นรูปเป็นชิ้นเดียวกันทั้งหมด สำหรับเครื่องที่ทางเราได้รีวิวจะเป็นสีทองนะครับ ดูหรูหราใช้ได้เลย จุดที่ดูสะดุดตาหน่อยก็คือเส้นรับสัญญาณที่ OPPO ตั้งชื่อว่าเป็น Ultra-Fine อันได้รับแรงบันดาลใจจากบรรทัด 5 เส้นของโน้ตดนตรี แต่ละเส้นจะหนาเพียง 0.3 mm เท่านั้น มีความนูนขึ้นมาจากผิวฝาหลังเล็กน้อย โดยนอกเหนือจากความสวยงามแล้ว มันยังรับสัญญาณได้ดีขึ้นด้วย เพราะระบบจะเลือกสายสัญญาณเส้นที่เหมาะที่สุดในการรับสัญญาณทั้ง cellular และ Wi-Fi ทำให้สามารถรับส่งข้อมูลได้ประสิทธิภาพสูงสุด

ตัวเครื่องมีความบางสุดเพียง 7.35 mm จัดว่าบางมากๆ เมื่อเทียบกับสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นที่ความจุแบตเตอรี่ใกล้เคียงกัน โดยส่วนของกล้องหลังจะนูนขึ้นมาจากฝาหลังเล็กน้อย ถ้าใส่เคสก็จะช่วยป้องกันขอบเลนส์ขูดกับพื้นได้แล้ว

สำหรับพอร์ตเชื่อมต่อและปุ่มต่างๆ ก็ตามนี้ครับ

ด้านบน: ช่องไมค์ตัดเสียงรบกวน

ด้านซ้าย: ปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง

ด้านขวา: ถาดใส่ซิม และปุ่ม Power

ด้านล่าง: ช่องลำโพง ลองทดสอบแล้ว เสียงก็อยู่ในระดับปกติ ไม่ดังมากนัก, ช่อง Micro USB, ช่องรับเสียงของไมค์สนทนา และช่องแจ็คหูฟัง 3.5 mm

ส่วนภาพล่างสุด เป็นภาพเทียบความบางเครื่องเมื่อเทียบกับ Huawei P9 (เครื่องบน) ครับ ใกล้เคียงกันมากๆ

ส่วนภาพตัวเครื่อง OPPO R9s Plus เพิ่มเติม สามารถเลื่อนชมจากในแกลเลอรี่ด้านล่างนี้ได้เลยครับ

Software

1

OPPO R9s Plus มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Android 6.0.1 Marshmallow ที่ครอบทับมาด้วย Color OS 3.0 อันเป็นอินเตอร์เฟสของ OPPO เอง การออกแบบไอคอนและเมนูต่างๆ จัดว่าทำออกมาได้ดูคลีน เรียบ โล่งดีครับ เลือกใช้การวางไอคอนแอปพลิเคชันทั้งหมดบนหน้าโฮมที่สามารถเลื่อนซ้าย-ขวาได้ ไม่มีหน้า App drawer ที่รวมไอคอนแอป ซึ่งอันนี้หากใครใช้งานไม่ถนัด ก็สามารถลงลันเชอร์อื่นๆ เพิ่มเติมจาก Google Play Store ได้เช่นกัน ส่วนถ้าให้พูดถึง Color OS 3.0 ตัวที่ใส่มาใน OPPO R9s Plus นี้ ก็คงต้องบอกว่ามันให้ความรู้สึกใกล้เคียงกับ iOS อยู่พอสมควรทีเดียว มองในอีกแง่หนึ่งก็คือ ทำให้ผู้ใช้ที่เคยใช้งาน iPhone มาก่อน สามารถปรับตัวเปลี่ยนมาใช้ OPPO R9s Plus ได้ง่ายและรวดเร็วก็ว่าได้

รอมในตัว ตามสเปคจะเป็น 64 GB เหลือให้ใช้งานจริงราวๆ 49 GB นะครับ เหลือเฟือสำหรับการลงเกม ลงเพลง ถ่ายรูปเลยทีเดียว แต่ถ้าหากคุณเป็นคนที่ถ่ายรูปเยอะ ถ่ายวิดีโอบ่อยๆ โดยเฉพาะวิดีโอระดับ 4K แนะนำว่าอาจจะหา MicroSD ความจุสูงๆ ซักใบ หรือจะโอนไฟล์ขึ้นไปยังพื้นที่บน cloud storage อย่างเช่น Google Photos ที่เปิดให้ใช้ฟรีแบบไม่จำกัด สำหรับภาพความละเอียดไม่เกิน 16 ล้านพิกเซลก็จะเป็นการดี

แอปติดเครื่องก็มีมานิดหน่อยครับ ได้แก่ WPS Office, แอปช่วยจัดการระบบ และแอปจาก Google นอกจากนี้ยังมีแถมระบบคลาวด์ของ OPPO เองมาให้ด้วย นั่นคือ O-Cloud ซึ่งผู้ใช้ต้องไปเปิดใช้งานจากในเมนูการตั้งค่าของเครื่อง โดยสามารถสำรองข้อมูลได้แค่รายชื่อผู้ติดต่อ และ SMS เท่านั้น

จุดที่อาจจะขัดใจบางท่านซักเล็กน้อยก็คือเรื่องวิธีเรียกดูการแจ้งเตือนต่างๆ ในหน้าจอรวม Notifications เพราะเมื่อปาดนิ้วลากแถบบนสุดของจอลงมา หน้าแรกที่จะพบก็คือหน้ารวมไอคอนการตั้งค่าแบบลัด (Quick settings) เช่น การเปิด/ปิด WiFi, Cellular การปรับความสว่างแทน ถ้าหากอยากดูแถบ Notifications จริงๆ จะต้องปาดไปดูหน้าจอทางซ้าย ด้วยการปาดนิ้วจากฝั่งซ้ายของจอไปยังฝั่งขวา ซึ่งอาจจะมีความแตกต่างไปจากมือถือ Android ทั่วไป เลยอาจจะต้องใช้เวลาในการทำความเคยชินกันซักนิดนึง

Feature

2

ฟีเจอร์ ลูกเล่นของซอฟต์แวร์ที่ใส่มาใน OPPO R9s Plus ก็มีทั้งให้ความบันเทิง และเพิ่มตัวเลือกในการใช้งานให้สะดวกยิ่งขึ้น ที่น่าสนใจก็เช่น gesture เพื่อสั่งงานในขณะที่ปิดหน้าจออยู่ ซึ่งผู้ใช้สามารถตั้งค่าได้เองว่าจะให้การลากนิ้วบนหน้าจอแบบใด เป็นการเปิดแอปพลิเคชันใดขึ้นมา รวมถึงยังสามารถตั้งค่าให้แตะหน้าจอ 2 ครั้ง เพื่อเปิดจอขึ้นมาได้ด้วย (ค่าเริ่มต้น ฟีเจอร์นี้จะปิดอยู่)

ต่อมาคือฟีเจอร์ระบบเสียง Real soundtrack technology ซึ่งเป็นฟีเจอร์ช่วยเพิ่มคุณภาพเสียงให้ดีขึ้น เหมาะกับแนวเพลงแต่ละรูปแบบมากขึ้น จะเปิดใช้งานได้ก็ต่อเมื่อเสียบแจ็คหูฟัง/ลำโพงเข้าทางช่อง 3.5 mm เท่านั้น แนะนำให้เปิดใช้งานครับ เสียงดีขึ้นเยอะ

ฟีเจอร์ที่ 3 ก็คือ Simple Mode ที่ระบบจะปรับอินเตอร์เฟสให้ใช้งานง่ายขึ้น เหมาะสำหรับให้ผู้สูงอายุใช้งาน เพราะมันจะมีแต่เมนูพื้นฐานจำเป็นของการใช้งานโทรศัพท์เท่านั้น เช่น การโทรออก การดูรายชื่อผู้ติดต่อ การส่งข้อความ รวมถึงยังสามารถตั้งไอคอนสำหรับโทรออก เฉพาะบุคคลที่ต้องการได้ด้วย

Camera

Review-OPPO-R9s-Plus-SpecPhone-00017

กล้องหน้ากล้องหลังของ OPPO R9s Plus จัดว่าทำออกมาได้ดี เอาใจกลุ่มผู้ใช้งานในไทยได้อย่างตรงจุดจริงๆ ครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสวยงามของภาพ และความง่ายในการที่ถ่ายออกมาแล้วได้ภาพดูสว่าง ภาพเนียนสวยงาม แถมยังมีการเสริมความสามารถเข้ามาอีกด้วยฮาร์ดแวร์ที่เรียกว่าแทบจะเป็นตัวท็อปของวงการกล้องมือถือเลยทีเดียว

ส่วนของกล้องหลังก็เลือกใช้เซ็นเซอร์รับภาพ Sony IMX398 ขนาด 1/2.8″ ที่เป็นรุ่นเกือบจะใหม่สุด เกือบท็อปสุดในปัจจุบัน (ใหม่สุดคือ IMX400 ที่มีใช้แต่ในมือถือรุ่นใหม่ของ Sony เองเท่านั้น) โดยในตัวของเซ็นเซอร์รับภาพเองก็มาพร้อมเทคโนโลยี Dual PDAF ที่เพิ่มพื้นที่ในการจับโฟกัสบนเซ็นเซอร์รับภาพให้มากขึ้น ช่วยให้สามารถจับโฟกัสภาพได้เร็วขึ้นกว่าเดิมถึง 40% ไม่ว่าจะในที่แสงปกติ หรือในที่แสงน้อยก็ตาม ตรงเรื่องของการโฟกัส จุดนี้จากที่ผมทดสอบ พบว่ามันเร็วดีจริงๆ ครับ จิ้มเปลี่ยนจุดโฟกัสรัวๆ ระบบก็ยังโฟกัสตามได้เร็วมาก การโฟกัสอัตโนมัติก็ทำได้แม่นยำดี

รูรับแสงของชุดเลนส์กล้องหลังก็ใส่มาถึง f/1.7 ช่วยให้สามารถรับแสงเข้ามาในภาพได้มากขึ้นกว่าชุดเลนส์ในกล้องมือถือทั่วไปที่มักใส่ชุดเลนส์มาในช่วง f/1.8-f/2.2 จะมี f/1.7 ก็แค่ไม่กี่รุ่น และเป็นรุ่นท็อปๆ แทบทั้งสิ้น ซึ่งการที่ชุดเลนส์มีรูรับแสงกว้างนี้ ทำให้ภาพที่ออกมามีความสว่างมากขึ้น เมื่อถ่ายในที่มีแสงน้อย ถ่ายหน้าชัดหลังเบลอได้ง่ายขึ้น ทั้งยังลดโอกาสที่ภาพจะเบลอจากการสั่นได้ด้วย เพราะระบบจะเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ได้เร็วมากขึ้นกว่าเดิม โอกาสสั่นของภาพก็ลดลง ตัวอย่างเช่น ภาพจากมือถือ f/2.0 อาจจะต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/30 วินาที แต่ภาพจากมือถือ f/1.7 อาจจะใช้ความเร็วชัตเตอร์ได้เร็วสุดถึง 1/80 วินาที ซึ่งช่วยลดโอกาสภาพสั่นเบลอลงไปได้มากทีเดียว

นอกจากนี้ OPPO R9s Plus ยังใส่เทคโนโลยีกันสั่น OIS+ มาให้อีก เพื่อลดอาการสั่นเบลอลงได้อีก 40% ซึ่งจากที่ผมลองกับการถ่ายภาพนิ่ง ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยเห็นผลของ OIS+ มากนัก (ส่วนหนึ่งก็คงเพราะรูรับแสงกว้างอยู่แล้ว ความเร็วชัตเตอร์ก็เลยปรับให้สูงได้สบาย) แต่พอลองถ่ายวิดีโอ จะเห็นผลของ OIS+ ได้ชัดเจนขึ้นมาก โดยเฉพาะกับการถ่ายวิดีโอ 4K

Review-OPPO-R9s-Plus-SpecPhone-00016

ส่วนกล้องหน้า ก็จัดความละเอียดมาให้ถึง 16 ล้านพิกเซล ถ่ายทอดภาพออกมาด้วยเซ็นเซอร์รับภาพขนาด 1/3″ ชุดเลนส์รูรับแสง f/2.0 ทำให้สามารถเก็บภาพเซลฟี่ในที่มีแสงน้อยได้ดีขึ้นกว่ารุ่นก่อนๆ แถมยังมีโหมด HDR มาให้กับกล้องหน้าด้วย ช่วยให้ภาพที่ออกมามีความสว่างที่พอดิบพอดีมากขึ้น ซึ่งจะเห็นผลได้เป็นอย่างดีเวลาที่ต้องถ่ายเซลฟี่ย้อนแสงจ้ากว่าปกติ ซึ่งถ้าเป็นกล้องหน้าธรรมดาๆ ไม่มีโหมด HDR ภาพที่ออกมาส่วนใหญ่จะเป็นหน้าคนสว่างปกติ แต่ฉากหลังจะเป็นขาวแบบโอเวอร์ไปเลย หรือไม่ก็เห็นวิวด้านหลัง แต่หน้าคนมืดจนแทบมองไม่เห็นไปเลย แต่สำหรับ OPPO R9s Plus จะเปิดโหมด HDR ให้อัตโนมัติ และแถมยังมีโหมด Beautify เวอร์ชัน 4.0 มาให้ใช้อีก ทำให้สามารถปรับแต่งหน้าได้ตั้งแต่ก่อนถ่าย จะใส่ฟิลเตอร์ เบลอฉากหลังก็ทำได้สบายๆ ติดที่ไม่สามารถแตะเลือกจุดเบลอเหมือนกับมือถือที่เน้นเซลฟี่หลายๆ รุ่นได้เท่านั้นเอง

5

หน้าตาอินเตอร์เฟสของแอปกล้องในเครื่องก็จะดูคุ้นๆ ตากันซักหน่อยครับ โดยสามารถปรับการตั้งค่าของภาพได้จากไอคอนเมนูด้านบน แต่จะมีให้ปรับได้ไม่มากนัก เช่น การนับเวลาถอยหลัง การปรับสัดส่วนภาพ ซึ่งตัวไอคอนอาจจะทำให้คนที่ใช้งานกล้อง หรือเคยเล่นโหมดกล้องในมือถือเครื่องอื่นๆ สับสนเล็กน้อย เพราะมันใช้รูปไอคอนเหมือนกับสัญลักษณ์แทนรูรับแสงเลย จึงอาจจะทำให้เข้าใจว่าเป็นโหมดสำหรับปรับรูรับแสงจำลองไปซะอย่างนั้น

ส่วนของโหมดกล้องหลังที่มีให้ใช้งาน ที่น่าสนใจก็เช่น Ultra HD ที่ระบบจะถ่ายมาหลายๆ ภาพ แล้วมารวมเป็นภาพความละเอียดสูงมากเพียงภาพเดียว เหมาะสำหรับคนที่ต้องการถ่ายภาพ แล้วมาซูมดูรายละเอียดปลีกย่อยในภาพภายหลัง ซึ่งก็จะมีตัวเลือกย่อยให้อีกว่าจะใช้ภาพที่มีขนาดเท่าใด ระหว่าง 3200w กับ 6400p หลังจากที่ผมลองถ่ายทั้งสองแบบแล้ว ได้ข้อมูลออกมาดังนี้ครับ

  • 3200w ได้ภาพความละเอียดที่ 6912 x 5184 เท่ากับประมาณ 35.8 ล้านพิกเซล ขนาดไฟล์ 15-18 MB
  • 6400w ได้ภาพความละเอียดที่ 9216 x 6912 เท่ากับประมาณ 63.7 ล้านพิกเซล ขนาดไฟล์ 17-20 MB

โหมด double exposure ก็มีมาให้ใช้กัน เผื่อใครอยากถ่ายแนวภาพซ้อนภาพ ส่วนของโหมด expert ก็ใส่ให้มาใช้งานกันเล่นๆ ด้วยครับ สาเหตุที่ผมบอกว่าใช้งานเล่นๆ ก็เพราะว่า เรื่องการปรับตั้งค่าไม่ค่อยยืดหยุ่นเท่าไหร่ ที่เห็นได้ชัดเลยก็คือเรื่องความเร็วชัตเตอร์ที่มีให้ปรับแต่ไปทางที่เปิดชัตเตอร์ให้นานขึ้น เริ่มตั้งแต่ auto ขึ้นไปที่ 1 วินาที 2 วินาที ไล่ไปเรื่อยๆ จนถึง 16 วินาที หากใครต้องการถ่ายภาพที่เน้นใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่เร็วกว่าปกติ อาจจะต้องลองวัดดวงกับความเร็วอัตโนมัติ หรือไม่ก็หาแอปอื่นมาใช้แทนแอปกล้องที่ติดเครื่องมาครับ

ส่วนฟิลเตอร์แต่งภาพที่มีให้กดได้ตั้งแต่ก่อนถ่ายนั้น ให้มามากมาย เหลือเฟือมากๆ เรียกว่าอยากได้ภาพอารมณ์ไหนก็มีให้ใช้ทั้งหมด

ด้านล่างนี้ก็เป็นตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหลังและกล้องหน้าของ OPPO R9s Plus นะครับ









Performance

3

ด้านประสิทธิภาพ ตัวแอป CPU-Z ยังแสดงชื่อชิปผิดอยู่นะครับ เนื่องจาก Snapdragon 653 เป็นชิปที่ใหม่มากๆ คงต้องรอผู้ผลิตแอปอัพเดตกันอีกทีหนึ่ง แต่เรื่องของตัวเลขความเร็วจัดว่าถูกอยู่ เพราะตัวชุดชิป 4 คอร์ความเร็วสูง (Cortex-A72) ในแอปแสดงว่าทำความเร็วได้สูงสุดที่ 1.96 GHz เป็นไปตามมาตรฐานของ Snapdragon 653 ส่วนถ้าเป็นชิป Snapdragon 652 จะมีความเร็วสูงสุดแค่ 1.8 GHz เท่านั้น

เมื่อทดสอบด้วยแอปทดสอบประสิทธิภาพยอดนิยมอย่าง AnTuTu คะแนนก็ออกมาที่ 89,979 คะแนน สูงกว่าค่าเฉลี่ยของมือถือที่ใช้ชิป Snapdragon 652 อยู่ประมาณหมื่นกว่าคะแนน ด้านกราฟิกก็สูงพอสมควร สามารถเล่นเกมได้ไหลลื่น ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะหน้าจอความละเอียดระดับ Full HD ซึ่งพลังขับของชิปรุ่นใหม่ๆ สามารถรับมือได้สบายมาก

เรื่องของแรม จากที่ในตัวเครื่องให้มา 6 GB เมื่อเปิดเครื่องมาใหม่ๆ พบว่าเหลือแรมว่างพร้อมใช้ราว 4 GB ด้วยกันครับ เรียกว่าใช้ยังไงก็คงไม่หมดแน่นอน

4

สำหรับแบตเตอรี่ที่อัดมาถึง 4,000 mAh ของ OPPO R9s Plus นี้ จัดมาเพื่อเอาใจคนติดมือถือได้เป็นอย่างดีเลยครับ เพราะสเปคจุดอื่นๆ ในเครื่องก็ถือว่าไม่ได้กินไฟมากไปนัก แม้จอจะใหญ่ถึง 6 นิ้ว แต่ก็มีความละเอียดในระดับ Full HD ที่ไม่ทำให้ส่วนของการประมวลผลต้องทำงานหนัก จึงไม่สูบแบตเกินไป จากที่ผมใช้งานและทดสอบมา ก็สามารถใช้งาน OPPO R9S Plus เครื่องนี้ตั้งแต่ช่วงสายๆ ไปจนถึงค่ำ โดยแบตยังเหลือประมาณ 30% จากรูปแบบการใช้งานทั่วไป เน้นเล่น Facebook กับถ่ายรูป มีแชทไลน์บ้าง มีเล่นเกมประปราย เชื่อมต่อ 4G ตลอดเวลา ส่วนอีกซิมเชื่อมต่อ 3G ตลอดเวลาเช่นกัน

ส่วนเรื่องการชาร์ตแบตเตอรี่ ถือเป็นจุดที่น่าสนใจครับ เพราะ OPPO R9s Plus มาพร้อมกับระบบ, อะแดปเตอร์ และสายชาร์จที่รองรับการชาร์จเร็วแบบ VOOC โดยที่ฝั่งหัว USB ของอะแดปเตอร์และปลายสายชาร์จแต่ละฝั่ง จะมีพินทองเหลืองพิเศษเพิ่มเข้ามามากกว่าสาย Micro USB ทั่วไป ช่วยทำให้สามารถจ่ายไฟได้มากขึ้น ในขณะเดียวกัน ชิปควบคุมการจ่ายไฟ ที่มีอยู่ในแต่ละฝั่ง ก็จะควบคุมให้การชาร์จไฟมีความปลอดภัย และมีอุณหภูมิไม่สูงเกินไปด้วย ทำให้เวลาชาร์จจริง พบว่าตัวเครื่องแค่อุ่นขึ้นมานิดหน่อย เผลอๆ จะเย็นกว่าเวลาชาร์จมือถือแบบปกติทั่วไปในบางรุ่นด้วยซ้ำ

อะแดปเตอร์ VOOC ที่แถมมากับ R9s Plus จะเป็นแบบทางซ้ายที่มีขนาดเล็กลงกว่าแบบเก่า

อะแดปเตอร์ VOOC ที่แถมมากับ R9s Plus จะเป็นแบบทางซ้ายที่มีขนาดเล็กลงกว่าแบบเก่า

ด้านความแรงการจ่ายไฟเพื่อชาร์จแบตเตอรี่ เสียดายที่ไม่สามารถใช้ตัววัดกระแสไฟไปเสียบที่อะแดปเตอร์ได้ เลยต้องใช้การวัดจากแอปพลิเคชัน AccuBattery Pro แทน ซึ่งผมเริ่มเสียบชาร์จครั้งแรกเมื่อแบตเตอรี่เหลือประมาณ 8% แบบที่มีตัววัดกระแสไฟเสียบคั่นอยู่ ทำให้ระบบยังจ่ายไฟได้ไม่เต็ม ในช่วงนั้นพบว่าอะแดปเตอร์จ่ายไฟได้ประมาณ 5V 1.9A ใช้เวลาชาร์จไปประมาณ 5 นาที ได้แบตเตอรี่เพิ่มมา 3%

แต่พอปล่อยให้ระบบ VOOC ทำงานเต็มที่ คือเริ่มชาร์จจาก 11% ปิดหน้าจอเกือบตลอดเวลาเพื่อชาร์จไปจนถึง 14% ตัวแอปคำนวณว่าน่าจะใช้เวลาชาร์จจนเต็ม 100% ในเวลาเพียงแค่ประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น คิดแบบง่ายๆ ก็คือ น่าจะชาร์จได้ 1.3% ต่อนาทีเลยทีเดียว จนปล่อยให้ชาร์จไปเรื่อยๆ ก็ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ที่ทำให้แบตเตอรี่เพิ่มจนกลายเป็น 99% ทั้งนี้ต้องบอกก่อนนะครับ ว่าในที่ช่วงแบตเตอรี่ใกล้เต็มแล้ว ระบบจะปรับลดการจ่ายไฟให้น้อยลง จึงทำให้พอแบตใกล้เต็ม ระบบก็ยิ่งชาร์จไฟเข้าช้าลง เพื่อถนอมสุขภาพของแบตเตอรี่ อันนี้เป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องกังวลครับ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก