เมื่อช่วงที่ผ่านมา เราได้เห็นมือถือที่มาพร้อมดีไซน์กล้องที่ถือว่าค่อนข้างแปลกในวงการสมาร์ทโฟน อย่าง OPPO N1 และ OPPO N1 mini ที่กล้องสามารถหมุนได้ เป็นทั้งกล้องหลังและกล้องหน้าในตัว ทำให้หลายๆ คนชอบใจ เพราะจะถ่ายวิวก็ชัด ถ่ายเซลฟี่ก็ชัด มีแฟลช แถมง่ายกว่าเดิมด้วย ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีครับ โดยเฉพาะตัว N1 mini นี่ หันไปทางไหน อย่างน้อยก็เห็นคนใช้กันอยู่เรื่อยๆ มาในปีนี้ OPPO ก็ต่อยอดความสำเร็จด้วยการเปิดตัว (ที่จริงเปิดตัวตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว) และเริ่มวางขายมือถือรุ่นใหม่ที่สานต่อแนวทางเดิม นั่นคือ?OPPO N3 แต่มารอบนี้ก็แน่นอนว่าต้องมีจุดที่ได้รับการพัฒนา ปรับปรุงแก้ไขไปจากเดิม จะมีอะไรบ้าง มาชมจากในรีวิว OPPO N3 ตัวนี้กันดีกว่าครับ รับรองว่าครบถ้วนแน่นอน
ขอเริ่มด้วยการพูดถึงสเปคก่อนแล้วกัน
- ชิปประมวลผล Snapdragon 801 (MSM8974-AA) 4 คอร์ ความเร็ว 2.0 GHz ชิปกราฟิก Adreno 330
- แรม 2 GB
- รอม 32 GB รองรับ MicroSD เพิ่มเติมได้
- หน้าจอ IPS ขนาด 5.5 นิ้ว ความละเอียดระดับ Full HD
- กล้องถ่ายรูปความละเอียด 16 ล้านพิกเซล เป็นทั้งกล้องหน้าและกล้องหลัง มาพร้อมแฟลช LED 2 ดวง
- แบตเตอรี่ 3000 mAh รองรับการชาร์จไฟเร็ว (VOOC mini)
- มีเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ
- ใช้งานได้ 2 ซิม รองรับ 3G และ 4G LTE ทุกเครือข่ายในไทย
- Android 4.4 ครอบทับด้วย ColorOS
- ราคา 19,990 บาท
- สเปค OPPO N3 เต็มๆ
สเปคของ OPPO N3 ก็ถือว่ายังอยู่ในระดับตัวท็อปได้สบายๆ เลยครับ กับชิป Snapdragon 801 ที่เป็นตัวท็อปของปีที่แล้ว แรมให้มา 2 GB กำลังพอดี จอก็ 5.5 นิ้ว ซึ่งเป็นขนาดหน้าจอที่ยังสามารถใช้ถือถ่ายเซลฟี่พอไหวอยู่ ส่วนอื่นๆ ก็จัดว่าครบถ้วนมากๆ ไม่ว่าจะการเชื่อมต่อที่ใช้งานได้แทบทุกรูปแบบที่มีใช้งานกันในขณะนี้ แถมมีการเพิ่มเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือเข้ามาอีก ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับข้อมูลในเครื่องได้อีก ถือว่าเป็นตัวท็อปของ OPPO ตอนนี้เลยทีเดียว
ข้อดี
ข้อสังเกต
บทสรุป
BEST CAMERA
Design
หน้าตาโดยรวมของ OPPO N3 นั้นก็จะออกมาคล้ายๆ กับ OPPO N1 และ N1 mini อยู่พอสมควร คือเน้นจอใหญ่ด้านหน้า ส่วนบนของหน้าจอก็เว้นพื้นที่ไว้เยอะ เพื่อเป็นบริเวณให้กับโมดูลกล้องที่ต้องพลิกไปมาได้ แต่มีการปรับรายละเอียดเล็กน้อยตรงด้านล่างของจอ ที่จากเดิมเป็นเนื้อเดียวกันกับตัวเครื่องทั้งหมด มาเป็นแบบมีขอบอลูมิเนียมอัลลอยเพิ่มขึ้นมา ซึ่งภายในจะมีไฟ LED สำหรับแสดงสถานะอยู่ เจ้าไฟนี้ OPPO ให้ชื่อว่า Skyline Notification 2.0 ที่รูปแบบการแสดงผลนี้ออกมาดูสวยมากๆ ลักษณะการกระพริบจะคล้ายๆ กับจังหวะการหายใจ ตัวอย่างของไฟขณะที่ติดอยู่ก็เป็นเหมือนในภาพขวาล่างเลยครับ ถ้าอยู่ในที่มีแสงน้อยจะเห็นได้ชัดมาก แต่ถ้ากลางแจ้งนี่แทบจะมองไม่เห็นเลยเหมือนกัน ด้านของจอก็สวยงาม ภาพเนียน สีไม่สดจนเกินไป ใช้งานกลางแจ้งได้สบาย จะมีที่เป็นจุดด้อยหน่อยก็เรื่องปุ่มสั่งงานแบบสัมผัสทั้งสามปุ่มด้านล่างของจอ ที่ไฟไม่ค่อยจะสว่างเท่าไร ซึ่งก็เป็นปัญหาที่อยู่กับ OPPO มานานมากละ ถ้าคนที่เพิ่งมาใช้เครื่องใหม่ๆ คงลำบากพอสมควร แต่ใครที่ใช้งานมาซักระยะหนึ่งแล้ว คงจะชินกันไปเองล่ะนะ
จุดเด่นสุดของ OPPO N3 ก็คือกล้องที่อยู่ด้านบนของเครื่องครับ บริเวณรอบๆ โมดูลกล้องจะหุ้มด้วยวัสดุที่ออกมาคล้ายหนังบุเอาไว้ ลักษณะจะคล้ายๆ กับฝาหลังของมือถือ Samsung บางรุ่น ส่วนของตัวกล้องเอง รอบนี้ OPPO จัดเต็มมากๆ ด้วยการเลือกใช้ชุดเลนส์ของ Schneider ที่มีชื่อเสียงมานานแล้วในเรื่องของเลนส์ เชื่อได้เลยว่าจะต้องได้ภาพที่สีสันสวยงาม คมชัดแน่นอน ข้างๆ กันนั้นก็เป็นแฟลชแบบ LED ที่ให้มาสองดวงเลย
สิ่งที่มีเพิ่มขึ้นมาในส่วนของกล้อง ก็คือมีการเพิ่มมอเตอร์ไฟฟ้าสำหรับช่วยในการหมุน จากแต่เดิมที่ผู้ใช้งานจะต้องจับกล้องหมุนเอง จะถ่ายภาพวิวก็หมุนไปข้างหลัง จะถ่ายเซลฟี่ก็บิดหมุนมาด้านหน้า แต่ใน OPPO N3 นี้ ผู้ใช้สามารถใช้นิ้วสั่งเลื่อนกล้องได้เลยครับ ซึ่งก็สามารถสั่งได้จาก 3 ตำแหน่งด้วยกัน ได้แก่
หน้าจอ?
- ใช้นิ้วเลื่อนช้าๆ จากล่างขึ้นบนเพื่อหมุนกล้องจากด้านหน้าไปหลังแบบช้าๆ
- ใช้นิ้วเลื่อนช้าๆ จากบนลงล่างเพื่อหมุนกล้องจากด้านหลังไปหน้าแบบช้าๆ
- ปาดนิ้วจากล่างขึ้นบนเร็วๆ เพื่อสลับตำแหน่งกล้องจากหน้าไปหลังแบบเร็วๆ
- ปาดนิ้วจากบนลงล่างเร็วๆ เพื่อสลับตำแหน่งกล้องจากหลังไปหน้าแบบเร็วๆ
เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ
- ลักษณะการสั่งงานแบบเดียวกับหน้าจอ
รีโมท O-Click
- กดด้านบนหรือล่างของปุ่มค้างไว้ เพื่อค่อยๆ หมุนตำแหน่งกล้องช้าๆ
- กดด้านซ้ายหรือขวาของปุ่ม เพื่อสลับตำแหน่งกล้องแบบเร็วๆ
- กดปุ่มเพื่อสั่งถ่ายรูป
เป็นยังไงล่ะครับ สามารถปรับตำแหน่งกล้องได้หลายวิธีดี โดยกล้องสามารถหมุนได้ 206? และแน่นอนครับว่าการออกแบบให้มีมอเตอร์ติดตั้งมาแบบนี้ ย่อมมีประโยชน์ ลองชมคลิปด้านล่างนี้กันได้ครับ จะได้เห็นชัดๆ เลยว่าการหมุนกล้องแบบเนียนๆ ของ OPPO N3 เป็นอย่างไร
มาดูเรื่องฝาหลัง ตัวเครื่อง และงานประกอบของ OPPO N3 กันบ้างครับ สำหรับวัสดุหลักภายในและขอบตัวเครื่องก็จะเป็นอลูมิเนียมอัลลอย ทำให้โครงสร้างแข็งแรง รองรับแรงกระแทกจากการใช้งานทั่วไปได้เป็นอย่างดี ทั้งยังมีน้ำหนักที่ไม่มากนัก ส่วนบริเวณฝาหลังนั้น จะใช้เป็นพลาสติกที่เคลือบผิวให้มีลักษณะด้านๆ มือเล็กน้อย ทำให้ไม่ลื่นมือระหว่างใช้งาน ผิวสัมผัสก็ทำได้เนียนดี งานโดยรวมสมกับเป็นมือถือราคาเกือบสองหมื่นเลย ตัวเครื่องก็ค่อนข้างใหญ่พอสมควรตามขนาดจอ 5.5 นิ้ว แต่ก็ไม่ได้ถือว่าใหญ่เกะกะเกินไป จับใช้งานค่อนข้างพอดีมืออยู่ อาจจะมีหนักๆ มืออยู่บ้าง ซึ่งผมคิดว่ามันน่าจะเป็นเพราะการใส่มอเตอร์เข้ามาเพิ่มนี่ล่ะ
จุดที่น่าสนใจบนแผ่นฝาหลังก็คือเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ ที่ทาง OPPO ตั้งชื่อให้ว่า O-Touch ซึ่งการทำงานหลักๆ ก็คือใช้เป็นเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ ที่สามารถใช้ปลดล็อคหน้าจอ ทำให้สามารถเปิดใช้งานเครื่องได้ง่ายขึ้นมาก เพียงแค่กดปุ่มเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือลงไป แล้วแช่นิ้วทิ้งไว้นิดนึง ถ้าสแกนนิ้วผ่าน ก็จะสามารถเข้าใช้งานเครื่องได้ทันที ซึ่งจากเท่าที่ลอง ส่วนใหญ่ก็สามารถใช้งานได้ปกติดี จะมีบางครั้งเท่านั้นครับที่สแกนไม่ผ่าน อาจจะเป็นเพราะองศาการวางนิ้วไม่เป๊ะก็เป็นได้
นอกจากจะใช้เป็นเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือได้แล้ว ยังใช้เป็นรีโมทควบคุมกล้องได้อีก อย่างที่กล่าวไปแล้วในข้างต้นครับ ซึ่งตำแหน่งการวางนิ้วนี่พอดีกับตอนถ่ายเซลฟี่เลย ถือว่าทำออกมาได้โอเคเลยล่ะ สำหรับเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือของ OPPO N3
เกือบ perfect แล้ว อีกนิดเดียวเอง
ส่วนตำแหน่งของปุ่มกดและช่องเชื่อมต่อต่างๆ ก็จะอยู่ที่ด้านข้างของเครื่องทั้งหมด เนื่องจากฝาหลังเปิดออกมาไม่ได้ โดยมีดังนี้ ช่อง Micro USB อยู่ที่ด้านล่างซ้าย ถาดใส่ซิมอยู่ด้านบนซ้าย ซึ่งตัวถาดจะออกแบบมาให้เลือกใส่ได้อย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างใส่ 2 ซิม กับใส่ 1 ซิม + 1 MicroSD ใกล้ๆ กันนั้นก็เป็นปุ่ม Power ช่องลำโพงอยู่ด้านล่าง ส่วนฝั่งขวาก็จะมีปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง กับช่องเสียบแจ็คหูฟัง ซึ่งตัวช่องเสียบแจ็คหูฟังนี่ผมว่าออกแบบมาไม่ค่อยดีเท่าไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งใครที่ใช้หัวฟังแบบแจ็คตรง ไม่ได้เป็นแบบตัวแอล (L) เพราะเวลาเสียบหูฟังแล้วเอาเครื่องเก็บใส่กระเป๋า จะกลายเป็นว่าแจ็คหูฟังลอยออกมาจากตัวเครื่องเยอะมาก เผลอๆ จะยัดลงใส่กระเป๋ากางเกงไม่เข้าด้วยซ้ำไป ถ้าวางเอาไว้ด้านล่างของตัวเครื่องน่าจะดีกว่า
ในด้านของการใช้งานจริง เท่าที่ผมใช้งานระหว่างรีวิว OPPO N3 ตัวนี้ก็สามารถตอบสนองการใช้งานของผมได้ดีในทุกด้านเลยครับ จะเปิดแอพ เล่นเกมก็ดี ฟังเพลงก็สนุก (เพราะระบบเสียงของ OPPO ทำมาได้ค่อนข้างดีอยู่แล้ว) ถ่ายรูปก็เพลิน ติดก็แต่เรื่องการเก็บเครื่องใส่กระเป๋านี่ล่ะ เพราะนอกจากปัญหาเรื่องแจ็คหูฟังที่เล่าให้ฟังเมื่อสักครู่แล้ว ตัวของกล้องเองก็ทำให้ไม่ค่อยสะดวกเวลาจะเก็บเครื่องใส่กระเป๋ากางเกงในบางครั้งเหมือนกัน เพราะส่วนตัวผมเป็นคนชอบเอาด้านหัวของมือถือเก็บลงในกระเป๋าก่อน แล้วค่อยใส่ทั้งตัวลงไป เพื่อที่เวลาหยิบขึ้นมา หน้าจอจะได้อยู่ในทิศทางที่สามารถใช้งานได้ทันที ไม่ต้องมากลับเครื่องอยู่ คราวนี้เวลาจะเก็บเครื่อง ผ้ากางเกงก็ไปดันโมดูลกล้องให้หมุนขึ้นมาซะอย่างนั้น ทำให้ต้องมาหมุนกล้องกลับ แลัวจับยึดไว้ระหว่างใส่กระเป๋ากางเกง สำหรับข้อนี้ วิธีแก้ก็คงต้องใช้เป็นการเปลี่ยนทิศทางการเก็บเครื่อง ให้เป็นเอาส่วนท้ายลงไปก่อนแทน
ส่วนอื่นๆ ของตัวเครื่อง ก็สามารถชมกันต่อได้จากในแกลเลอรี่ด้านล่างนี้นะครับ
Software
ใน OPPO N3 ก็ยังคงใช้การครอบทับ UI ของ Android ด้วย ColorOS เช่นเดิม โดยมาในเวอร์ชัน 2.0.1i เรียบร้อยแล้ว แต่ตัวของระบบปฏิบัติการก็จะเป็น Android 4.4.4 ซึ่งค่อนข้างจะล่าสุดแล้วล่ะครับ ตัวรอมเองทำมาได้ลื่นไหลดี เท่าที่ผมใช้มาก็ไม่เจอบั๊กอะไรนะ ไม่มีปัญหาแอพเด้งให้กวนใจ หน้าตาของเมนูต่างๆ ก็มีการปรับเปลี่ยนให้ใช้งานได้สะดวกดี รวมๆ แล้วถือว่าทำ UI ออกมาได้ดีเลยล่ะ
ส่วนพื้นที่เก็บข้อมูลที่เหลือให้ใช้งาน จาก 32 GB จะเหลือให้ใช้ได้จริงประมาณ 26 GB ซึ่งก็เพียงพอกับการใช้งานทั่วไป แต่ถ้าใครกลัวไม่พอ ก็จะใส่แค่ซิมเดียว อีกช่องใส่เป็น MicroSD ก็ได้เช่นกัน ด้านของแรม เมื่อเปิดเครื่องมาใหม่ พร้อมใช้งาน จาก 2 GB จะเหลือราวๆ 1.1 GB เหลือเฟือสำหรับการใช้งานแอพ เล่นเกม ดูหนังฟังเพลงได้แบบแทบไม่ต้องกดเคลียร์แรมด้วยตัวเองเลย
Feature
ฟีเจอร์ที่น่าสนใจของ OPPO N3 ก็คือการสแกนลายนิ้วมือ ซึ่งก่อนจะใช้งาน ก็ต้องเพิ่มลายนิ้วมือของเราเข้าไปในระบบซะก่อน การเพิ่มก็ไม่ยากครับ ทำตามที่แอพบอกเลย วางนิ้ว-ยกนิ้วตามลำดับ ในการสแกนนิ้ว แนะนำว่าให้ปรับองศาการวางนิ้วเล็กน้อยในแต่ละครั้งที่วางนิ้วสแกน เพื่อให้สามารถสแกนผ่านระบบได้ง่ายขึ้นในตอนใช้งานจริง สำหรับกระบวนการเพิ่มลายนิ้วมือนั้นใช้เวลาไม่มากนัก ดูเหมือนจะเร็วกว่าของ iPhone ด้วยซ้ำไป
ส่วนในการใช้งานจริง ก็สามารถใช้งานได้ดีครับ แม่นยำพอสมควร จะมีบ้างบางครั้งที่สแกนแล้วไม่ตรงกับฐานข้อมูลที่เก็บไว้ ก็ต้องสแกนใหม่ หรือไม่ก็ใส่รหัสผ่านที่ตั้งไว้ตอนเริ่มเปิดใช้งานระบบล็อคหน้าจอด้วยลายนิ้วมือก็ได้ครับ เป็นรหัส 4 ตัวเท่านั้นเอง ส่วนจำนวนลายนิ้วมือที่สามารถเก็บข้อมูลได้นั้นก็สูงสุดถึง 5 ลายนิ้วมือ จะสแกนเฉพาะนิ้วของตัวเอง หรือจะสแกนนิ้วแฟน นิ้วลูกหลานเอาไว้ก็ได้ครับ เวลาจะใช้งาน N3 แต่ละทีจะได้ไม่ต้องมาคอยให้เรานั่งสแกนให้ทุกครั้ง
อีกหนึ่งสิ่งที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยก็คือรีโมท O-Click 2.0 ที่แถมให้มาในกล่อง OPPO N3 ด้วย เพราะมันช่วยอำนวยความสะดวกได้เยอะมาก ไม่ว่าจะใช้สั่งหมุนกล้อง ใช้เป็นปุ่มชัตเตอร์ถ่ายรูป ใช้ควบคุมการเล่นเพลง รวมถึงใช้กดเพื่อแจ้งตำแหน่งโทรศัพท์ได้ด้วย โดยเมื่อกดแล้ว มือถือก็จะส่งเสียงดังขึ้น เพื่อให้สามารถตามหาเครื่องได้อย่างง่ายดาย สำหรับการเชื่อมต่อ O-Click เข้ากับมือถือก็จะใช้ผ่านทาง Bluetooth และแอพที่มีเฉพาะของ OPPO เท่านั้นครับ
Camera
มาถึงจุดที่เด่นสุดของ OPPO N3 แล้วครับ นั่นคือกล้องที่สามารถหมุนได้ ที่ในคราวนี้ได้รับการปรับปรุงทั้งชุดเลนส์ กลไกการทำงานให้ดีขึ้นกว่ารุ่นก่อนอย่างที่กล่าวไปแล้วในส่วนของดีไซน์ครับ ซึ่งเจ้ามอเตอร์ที่เพิ่มเข้ามานี้ ช่วยทำให้สามารถหมุนกล้องด้วยการสั่งงานได้ ไม่จำเป็นต้องใช้มือจับหมุนเหมือนใน N1 และ N1 mini โดยการหมุนด้วยมอเตอร์ทำได้นิ่มนวลดี ไม่พบอาการกระตุกระหว่างหมุนแต่อย่างใด ทำให้มีโหมดการถ่ายภาพแบบใหม่เพิ่มเข้ามา ก็คือโหมด Auto panorama นั่นเอง ซึ่งจะขอกล่าวถึงในภายหลังนะครับ
อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่น่าสนใจก็คือการ Tracking focus ที่ให้กล้องช่วยจับโฟกัสตามวัตถุที่เราต้องการ เหมาะกับการถ่ายคน สัตว์ หรือวัตถุที่เคลื่อนไหวไปมา ซึ่งถ้ามือถือรุ่นไหนไม่มีฟีเจอร์นี้ เวลาจะถ่ายรูปทีก็ลำบาก เพราะต้องมาคอยแตะเลือกจุดโฟกัสตลอด แต่ถ้าเปิดใช้ฟีเจอร์นี้ (แตะ 2 นิ้วค้างบนวัตถุที่ต้องการโฟกัส) รับรองว่าการถ่ายภาพจะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นมากๆ อย่างแน่นอน
สำหรับโหมดกล้องที่มีให้เล่นบน OPPO N3 นี่จัดว่าเยอะมากๆ แต่จะซ่อนเอาไว้ ต้องมากดเพิ่มจากในเมนู Camera apps ซึ่งมีให้เลือกใช้งานเยอะมาก เช่น
- Ultra HD: ถ่ายหลายๆ ภาพ แล้วมาเก็บข้อมูลรวมในภาพเดียว 50 ล้านพิกเซล (ทำให้สามารถ crop ภาพได้ดีกว่าภาพถ่ายปกติ รายละเอียดไม่เสียมาก)
- Colorful night: ถ่ายภาพกลางคืน แบบเน้นสีสัน
- Auto panorama: ถ่ายภาพพาโนรามาอัตโนมัติ แบบให้กล้องหมุนเก็บภาพเอง ไม่ต้องเลื่อนตัวเครื่อง
- Expert mode: สามารถตั้งค่ากล้องได้หลากหลายกว่าโหมดปกติ
- Beautify: เรียกง่ายๆ ว่าโหมดบิวตี้นี่ล่ะครับ มาพร้อมออปชั่นแต่งหน้าเพียบเลย ฟิลเตอร์ก็มีให้เล่นเยอะแยะ
- HDR: โหมด HDR ช่วยให้ถ่ายภาพในบริเวณที่สภาพแสงหลากหลายในช็อตเดียวกันได้ง่ายขึ้น เก็บรายละเอียดในภาพได้ดีกว่าปกติ
- Refocus: ถ่ายก่อน มาเลือกโฟกัสทีหลังได้
- Double Exposure: สามารถถ่ายภาพแบบภาพเดียว แต่มี 2 ช็อตได้ (มีตัวอย่างภาพด้านล่าง)
ส่วนในภาพด้านข้างทั้งบนและล่าง เป็นตัวอย่างของการเลือกจุดโฟกัสของภาพที่ถ่ายจากโหมด Refocus ซึ่งสามารถเลือกตำแหน่งโฟกัสได้ค่อนข้างอิสระ อย่างในภาพบนผมเลือกจุดโฟกัสที่ตัวเลนส์ ส่วนภาพล่างผมเลือกจุดโฟกัสที่ฉากหลังครับ รวมๆ แล้วก็ใช้งานได้ดีนะ
ด้านล่างนี้ เป็นตัวอย่างภาพที่ถ่ายจากโหมด Double exposure ครับ วิธีถ่ายก็ไม่ยากเลย หลังจากกดถ่ายช็อตแรกแล้ว แอพกล้องก็จะบอกให้เราถ่ายช็อตสองต่อเลย ระหว่างนี้ เราก็ให้ตัวแบบขยับตำแหน่ง อย่างในภาพนี้ผมก็บอกให้เพื่อนเปลี่ยนไปนั่งทางฝั่งขวาแทน จากนั้นก็กดถ่ายช็อตสอง จึงได้ภาพออกมาอย่างที่เห็น ถ้าถ่ายตอนกลางวันน่าจะสวยและดูแปลกตากว่านี้เยอะเลย
สามภาพด้านล่างนี้ เป็นตัวอย่างของการถ่ายภาพด้วยโหมด Auto panorama ที่ปล่อยให้กล้องหมุนเองบ้าง ซึ่งถ้าจะถ่ายในแนวนอน ก็ต้องถือเครื่องในแนวนอนด้วย เท่าที่ทดสอบมา ผมว่ามันก็ใช้งานง่ายดีนะ กดถ่าย แล้วก็ถือเครื่องไว้นิ่งๆ ยืนรอซักพักจนพอใจก็กดหยุดถ่าย (ถ้าปล่อยให้กล้องหมุนจนสุด จะติดหน้าเรามาด้วย) แต่ที่จะมีปัญหาหน่อยก็คือภาพที่ออกมามันจะดูไม่ค่อยตรงเท่าไหร่ อันนี้คงต้องอาศัยความชำนาญจากการลองถ่ายบ่อยๆ ดูครับ ถึงจะปรับมุมกล้องให้ถ่ายออกมาแล้วดูตรงพอดีๆ
ทีนี้มาดูตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้อง OPPO N3 ทั้งหมดกันบ้าง
Performance
ด้านผลการทดสอบประสิทธิภาพก็หายห่วงครับ ด้วยสเปคที่มาแบบจัดเต็มระดับเดียวกับรุ่นท็อปของปีที่แล้ว คะแนนจึงออกมาสูงอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งคะแนนการประมวลผลทั่วไป และการประมวลผลกราฟิก ถามว่าเล่นเกม xxx ได้มั้ย อันนี้ขอบอกเลยว่า ไม่ว่าเกมไหนที่มีบน Play Store ก็เล่นได้หมดแน่นอนครับ สเปคแรงซะขนาดนี้
แล้วระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ล่ะ? อันนี้จากที่ผมใช้งานจริงระหว่างรีวิว OPPO N3 ด้วยการใช้งานทั่วๆ ไป กับการเชื่อมต่อ 4G LTE/3G แทบทั้งวัน เปิด GPS ตามปกติ เล่น Facebook, LINE, Twitter, Instagram, ฟังเพลง, ถ่ายรูป เปิดใช้งานอยู่เรื่อยๆ ทั้งวัน เริ่มใช้งานจริงก็ช่วงประมาณ 11 โมงกว่าๆ ผลคือเมื่อถึงเวลาประมาณ 6 โมงครึ่ง แบตเหลืออยู่ 20% (ลบระยะเวลาแล้วก็ประมาณ 7 ชั่วโมงกว่าๆ) อันนี้ก็น่าเป็นห่วงอยู่เหมือนกันว่าถ้าใช้งานหนักๆ ตลอดตั้งแต่เช้ายันค่ำ อาจจะอยู่ได้ไม่หมดวัน แต่ถ้าใช้ในระหว่างวันทำงาน ที่ไม่ค่อยได้เปิดใช้งานซักเท่าไหร่ ผมว่าน่าจะอยู่จนถึงกลับบ้านได้นะ
ส่วนฟีเจอร์การชาร์จไฟเร็ว VOOC mini นั้น ก็สามารถทำงานได้ดีมาก (แต่ต้องใช้ร่วมกับอะแดปเตอร์และสาย Micro USB ที่แถมในกล่องนะ) ใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมงก็ชาร์จแบตจนเต็มได้แล้ว ส่วนที่เคลมในโฆษณาว่าชาร์จครึ่งชั่วโมง แบตเพิ่มขึ้นถึง 75% อันนี้ก็ทำได้จริงๆ ช่วยให้สามารถใช้งานได้สะดวกมาก แบตใกล้หมด เสียบสายชาร์จทิ้งไว้ไม่นาน ก็สามารถนำเครื่องมาใช้งานต่อได้ละ ไม่ต้องเสียเวลาชาร์จนานๆ