ในช่วงนี้ผู้ผลิตมือถือเริ่มหันมาพัฒนามือถือสำหรับเล่นเกมโดยเฉพาะหรือที่เรียกว่ามือถือเกมมิ่งกันบ้างแล้ว ซึ่ง Nubia ก็เป็นอีกรายที่เข้ามาเล่นซีรี่ส์เกมมิ่ง โดยได้ส่ง Nubia Red Magic 3 ลงมาสู้กับเขาบ้างแล้ว ซึ่งนี่ถือเป็นสมาร์ทโฟนเกมมิ่งรุ่นที่ 3 ของ Nubia แล้วเพียงแต่เป็นรุ่นแรกที่นำเข้ามาขายในไทยอย่างเป็นทางการ
สเปคของ Nubia Red Magic 3
- หน้าจอ AMOLED ความละเอียด FHD+ (1080 x 2340) ขนาด 6.65 นิ้ว, DCI-P3 100%, รีเฟรชเรท 90Hz, รองรับการแสดงผล HDR, Touch Response 240 Hz
- CPU : Snapdragon 855
- RAM : 8GB / 12GB
- ROM : 128GB / 256GB (UFS 3.0)
- กล้องหลัง : Sony IMX586 48MP f/1.7 รองรับการถ่ายวีดีโอ 8K ที่ 15fps
- กล้องหน้า : 16MP f/2.0
- ระบบเสียง : DTS XU1tra
- สแกนลายนิ้วมือหลังตัวเครื่อง
- แบตเตอรี่ : 5000 mAh รองรับชาร์จไว 27W
- ระบบ Android 9 ครอบทับด้วย Redmagic 2.0
- ราคาเครื่องศูนย์ไทย ขายเฉพาะใน Lazada(Lazmall Redmagic Official Store)
- 8/128GB 16,990 บาท
- 12/256GB 19,990 บาท
โดยในกล่องจะมีเพียงตัวเครื่อง, สายชาร์จและ Adaptor เท่านั้น นอกจากนี้ต้องซื้อเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นเคสหรืออุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ซึ่งราคาแต่ละชิ้นก็ไม่ได้แพงมากนัก
จากการที่ได้ลองใช้มา 1 สัปดาห์รวมถึงการเอาไปเล่นเกมแบบจริงจังแล้วต้องบอกเลยว่าดีจริง แต่ถ้าจะใช้ให้คล่องต้องใช้เวลาในการปรับตัวระยะหนึ่ง และหากมี Dock เสริมจะช่วยให้จับได้สะดวกขึ้นมาก
Design Nubia Red Magic 3
รูปร่างหน้าตาของ Nubia Red Magic 3 โดยส่วนตัวผมว่าดีไซน์ออกมาได้ดีทีเดียว ที่ด้านหลังเครื่องดีไซน์ออกมาสมกับที่เป็นสมาร์ทโฟนเกมมิ่ง เริ่มจากด้านหน้า Red Magic 3 นั้นจะมีหน้าขอ AMOLED ขนาด 6.65 นิ้ว ความละเอียด FHD+ ที่มีรีเฟรชเรท 90Hz รองรับ HDR แถมยังมี DCI-P3 100% หมายความว่า Red Magic 3 นี้มีจอที่สีตรงตามต้นฉบับ 100% แน่นอน
รายละเอียดอื่น ๆ ก็จะมีลำโพงคู่อยู่ที่ขอบบน-ล่างของจอ อีกทั้งยังมีขอบจอด้านบนและล่างค่อนข้างหนา โดยส่วนด้านบนจะเป็นที่อยู่ของกล้องหน้าความละเอียด 16MP
ที่ด้านบนของตัวเครื่องจะมีเพียงช่องหูฟัง 3.5 mm อยู่
ที่ด้านซ้ายของตัวเครื่องจะมีปุ่มสีแดงสำหรับเข้า Game Mode(Red Magic Game Space 2.0) ถัดมาจะเป็นถาดใส่ซิมแบบ Dual SIM ที่ไม่รองรับ MicroSD, ไมค์โครโฟนตัดเสียงรบกวน, Gaming Port สำหรับต่อ Gaming Dock
ที่ด้านขวาของตัวเครื่องบริเวณขอบบนและล่างจะเป็นปุ่มที่เรียกว่า shoulder triggers สำหรับใช้ใน Game Mode ถัดมาก็จะเป็นช่องระบายอากาศ ปุ่มปรับเพิ่ม-ลดเสียง และปุ่ม Power
ที่ด้านล่างของตัวเครื่องจะมีไมค์โครโฟนสำหรับสนทนา ช่อง USB-C และช่องระบายอากาศขนาดเล็ก
ที่ด้านหลังของตัวเครื่องจะมีกล้องขนาดใหญ่เพียงตัวเดียวเป็นเซ็นเซอร์ Sony IMX586 ความละเอียด 48MP พร้อมด้วยแฟรช LED ถัดจากกล้องลงมาจะเป็นช่องระบายอากาศ(เยอะจริง) ที่สแกนลายนิ้วมือ แถบไฟ RGB ที่สามารถปรับแต่งได้ แล้วก็โลโก้ Red Magic
กล้องของ Nubia Red Magic 3
กล้องหลังของ Nubia Red Magic 3 นั้นมีเพียงตัวเดียวเป็นเซ็นเซอร์ Sony IMX586 ความละเอียด 48MP f/1.7 เป็นตัวเดียวกับที่เรือธงค่ายต่าง ๆ ใช้กัน แถมยังสามารถถ่ายวีดีโอความละเอียด 8K ที่ 15fps ได้อีกด้วย
หน้าตาโหมดกล้องก็เรียบง่าย สลับโหมดกล้องด้วยการปัดซ้าย-ขวา เพียงแต่หากปัดไปที่ CAMERA-FAMILY แล้วจะมีโหมดให้เลือกอีกหลายโหมดเลย เมื่อพูดถึงการปรับแต่งด้วยมือแล้ว ตัวกล้องมีโหมดปรับแต่งแทบไม่ต่างไปจากกล้อง DSLR เลยทีเดียว
ตัวอย่างภาพจากกล้องหลัง
กล้องหน้าเซลฟี่ความละเอียด 16MP f/2.0 มีโหมด Pretty ที่สามารถปรับความเนียนของใบหน้าได้ ด้วยความที่เป็นสมาร์ทโฟนเกมมิ่งทำให้ทาง Nubia ไม่ได้เน้นไปที่กล้องหน้ามากนัก คุณภาพรูปที่ได้มาก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ดี
ตัวอย่างภาพจากกล้องหน้า
ภาพตอนกลางวันที่มีแสงเยอะ
ภาพในสภาพที่แสงไม่เยอะมาก
ระบบปฏิบัติการ
Nubia Red Magic 3 มาพร้อม Android 9 ครอบทับด้วย Redmagic 2.0 ในด้านหน้าตาเมนูต่าง ๆ แล้วแทบจะเหมือน Pure Android เลย แต่ก็ทำให้ไม่หนักเครื่องและยังมีความลื่นไหลดีอีกด้วย
หากเปิด Game Mode จะเป็นการเข้าสู่หน้าคลังเกมทันที โดนตัวระบบจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเครื่องเวลาเล่นเกม อีกทั้งยังมีคำสั่งต่าง ๆ สำหรับตั้งค่าอีกด้วย ไม่ว่าจะการปรับแต่งจอยควบคุม การตั้งค่าปุ่มพิเศษ หรือการตั้งค่าพัดลม ก็สามารถทำได้ง่าย ๆ
ประสิทธิภาพและการจัดการพลังงาน
Nubia Red Magic 3 มาพร้อม Snapdragon 855 ที่มีพลังในการประมวลผลที่มากมาย แต่ก็แลกมาด้วยความร้อนที่สูงขึ้นจนทำให้แบตเตอรี่ลดค่อนข้างเร็ว ทาง Nubia จึงได้ทำการดัดแปลงระบบให้กินพลังน้อยลงโดยไม่สูญเสียประสิทธิภาพ และได้เพิ่มระบบระบายความร้อนแบบ Liquid-cooling กับใส่พัดลมช่วยระบายความร้อนเสริมเข้าไปอีก เพื่อลดความร้อนลงให้ได้มากที่สุด
RAM ตัวเครื่อง(ที่ได้มารีวิว) มีขนาด 12GB ความจุตัวเครื่องให้มา 256GB ไม่รองรับ MicroSD แต่ด้วยความจุเท่านี้ก็มากเกินพอแล้ว
ด้านแบตเตอรี่ Red Magic 3 ให้มาถึง 5,000 mAh แถมยังรองรับการชาร์จเร็วแบบ PD ที่ 27W อีกด้วย เมื่อรวมกับระบบที่ Nubia ปรับแต่งแล้วทำให้แบตเตอรี่ขนาด 5,000 mAh นั้นสามารถใช้งานนได้ยาวนานขึ้น
การเล่นเกม Nubia Red Magic 3
มาถึงจุดเด่นที่สุดของ Nubia Red Magic 3 กันแล้วนะครับกับการเล่นเกม โดยตัวเครื่องจะมี Game Mode หรือที่ใช้ชื่อว่า Red Magic Game Space 2.0 ซึ่งหากเปิดโหมดนี้แล้วระบบจะพามายังหน้าคลังเกมทันที
หากปัดจากขอบขวาจะเป็นการเปิดหน้าแสดงค่าต่าง ๆ รวมถึงฟีเจอร์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งค่าปุ่ม การบันทึกหน้าจอ หรือการแสดงการทำงานของ CPU รวมถึงอุณหภูมิ
นอกจากนี้ยังสามารถปรับอัตรารีเฟรชหน้าจอรวมถึงตั้งค่าการทำงานของพัดลมได้ด้วย
ส่วนเกมที่ใช้ในการทดสอบนั้นจะมี PUBG Mobile, RoV และเกมใหม่ล่าสุดอย่าง Call of Duty Mobile โดยได้ทำการปรับตั้งค่าให้สูงสุดเท่าที่จะสามารถตั้งได้ และใช้โปรแกรมGameBench ช่วยในการวัดค่า FPS ระหว่างเล่นเกม
ซึ่งผลที่ได้นั้นทุกเกมทำ FPS ได้เฉลี่ย 60 FPS ตลอด เวลาเล่นต่อเนื่องเครื่องไม่ร้อนจนเกินไป
PUBG Mobile
RoV
Call of Duty Mobile
ในการทดสอบเกมนั้นผมได้ใช้ฟีเจอร์ปุ่ม Shoulder Triggers ระหว่างเล่นด้วย ซึ่งปุ่มนี้ทำให้เล่นเกมได้ง่ายขึ้นมากเลย โดยปุ่ม Shoulder Triggers นั้นเปรียบเสมอนปุ่ม L และ R บนจอยที่สามารถตั้งได้ว่าจะให้ปุ่ม L และ R ทำอะไรได้ โดยสามารถตั้งค่าได้โดยการปัดจากขอบจอขวาลากมาทางซ้าย แล้วกดที่ไอคอนที่ชื่อ Touch Button (ต้องอยู่ในเกมก่อนถึงจะกดขึ้น)
ในระหว่างการทดสอบเกม PUBG และ Call of Duty นั้นผมได้ตั้งปุ่ม L เป็นปุ่มยิง ส่วนปุ่ม R เป็นปุ่มเล็ง ทำให้สามารถเล็ง ยิง และเคลื่อนไหวไปพร้อม ๆ กันได้ นอกจาก 2 ปุ่มนี้แล้วยังสามารถตั้งค่าที่สแกนลายนิ้วมือให้เปรียบเสมือนปุ่ม ๆ หนึ่งได้อีกด้วย
ในส่วนของอุปกรณ์เสริมนั้นจะมี Dock ที่จะมีช่อง USB-C, ช่องหูฟัง 3.5mm และช่อง LAN สำหรับต่ออินเทอร์เน็ต
นอกจากนี้จะมีจอย Bluetooth สำหรับควบคุมเกม ซึ่งสามารถใช้แยกก็ได้หรือจะต่อกับเคสเฉพาะที่จะขายมาพร้อมกันก็ได้
Overall
ภาพรวมของสมาร์ทโฟนเกมมิ่ง Nubia Red Magic 3 กับราคาเริ่มต้น 16,990 บาท นั้นผมว่าเป็นรุ่นที่น่าสนใจไม่น้อยกับวัยรุ่นสมัยนี้ที่เน้นเล่นเกมเป็นหลักแล้วมีงบไม่เยอะมากนัก ด้วยความแรงของ Snapdragon 855 ในราคาหมื่นกลาง ๆ อีกทั้งอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ก็มีราคาไม่แพงจนเกินไปด้วย แถมด้วยแบตเตอรี่ขนาด 5,000 mAh ทำให้ใช้งานได้ยาวนานมากขึ้น รวมถึงใช้เวลาชาร์จเพียงไม่นาน อีกทั้งถึงแม้จะมีกล้องเพียงตัวเดียวแต่คุณภาพที่ได้ก็อยู่ในจุดที่พอใจมาก
หากจะมีข้อสังเกตก็จะเป็นตรงที่การที่ต้องซื้อผ่าน Lazada เท่านั้น ไม่มีเครื่องให้ทดลองจริงก่อนซื้อ กับการที่ UI ปกติดูเรียบไม่เข้ากับดีไซน์ตัวเครื่อง ส่วนเรื่องที่ไม่แถมเคสมานั้นดูไม่ค่อยจะเป็นปัญหาเท่าไรเนื่องด้วยราคาของเคสที่ไม่แพง แต่หากคิดว่าสเปคขนาดนี้กับราคาไม่เกิน 20,000 บาทนั้นถือเป็นเครื่องเน้นเล่นเกมที่ไม่ควรพลาดเลยครับ