ถ้าจะพูดถึงสมาร์ทโฟนราคาไม่แพง แต่คุ้ม ต้องบอกว่าช่วงนี้ Lenovo ส่งออกมาถี่จริงๆ ครับ โดยเฉพาะในช่วงราคา 5,000 – 10,000 บาท ที่แต่ละตัวทำออกมาได้น่าสนใจ และที่สำคัญคือให้สเปคมาคุ้มราคาจริงๆ อย่างรุ่นที่เรารีวิวในครั้งนี้อย่าง Lenovo A7000 ที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปไม่นาน ซึ่งนอกจากจะคุ้มแล้ว ยังมาพร้อมฟีเจอร์พิเศษเฉพาะตัวที่น่าสนใจอีก จะมีอะไรบ้าง มาชมกันเลยครับ
ทางไปซื้อ lenovo A7000: http://www.lazada.co.th/lenovo-a7000/
สเปค Lenovo A7000
- ชิปประมวลผล MediaTek MT6752 (8 คอร์) ความเร็ว 1.5 GHz ชิปกราฟิก Mali-T760
- แรม 2 GB
- รอม 8 GB มีช่องใส่ MicroSD
- หน้าจอ IPS ขนาด 5.5 นิ้ว ความละเอียด 1280 x 720 HD
- กล้องหลัง 8 ล้านพิกเซล
- กล้องหน้า 5 ล้านพิกเซล
- ใส่ได้สองซิม (ไมโครซิม) ซิมหนึ่งใช้งาน 4G LTE กับ 3G ได้ทุกเครือข่าย ส่วนช่องซิมสองใช้ได้แต่ 2G GSM
- แบตเตอรี่ 2900 mAh
- มาพร้อมระบบเสียง DOLBY ATMOS
- Android 5.0 ครอบมาด้วย Lenovo VIBE UI
- ราคา 5,290 บาท ขายผ่านทาง Lazada เท่านั้น
- สเปค Lenovo A7000
ถ้าใช้ราคาเป็นตัวตั้ง บอกเลยว่า Lenovo A7000 เป็นรุ่นที่หาตัวชนในตลาดได้ยากจริงๆ ครับ เพราะกับราคาแค่ 5,290 บาท แต่ได้สเปคจัดเต็มในช่วงราคานี้มากๆ ไม่ว่าจะเป็นชิป 8 คอร์ แรม 2 GB จอ IPS ขนาด 5.5 นิ้ว ความละเอียดระดับ HD กล้องหน้าและกล้องหลังความละเอียดสูง ใช้ 4G ได้ แบตเกือบ 3,000 mAh แถมยังได้ Android 5.0 Lollipop มาใช้งานเลยแบบไม่ต้องลุ้น พ่วงมาพร้อมฟีเจอร์พิเศษสุดอย่างระบบเสียง DOLBY ATMOS ที่เป็นสมาร์ทโฟนรุ่นแรกของโลกที่มีติดมาให้ซะอีกด้วย เลยทำให้ Lenovo A7000 มาวินและกระแสแรงมากๆ ในตอนนี้ จะหาตัวมาเปรียบเทียบด้วยก็ลำบากจริงๆ ครับ เพราะรุ่นอื่นแบรนด์อื่นที่สเปคไล่ๆ กันนี้ ส่วนใหญ่ราคาก็ไม่ต่ำกว่า 7,000 บาทกันแทบทั้งนั้น งานนี้บอกเลยว่า Lenovo และพาร์ทเนอร์อย่าง Lazada ทำการบ้านมาดีจริงๆ
พูดถึง Lazada รอบนี้จัดว่าเป็นดีลพิเศษจริงๆ ระหว่าง Lenovo กับ Lazada ครับ เพราะว่าตัวของ Lenovo A7000 จะเปิดขายผ่านทางหน้าเว็บไซต์ Lazada เป็นหลัก ไม่มีวางจำหน่ายตามร้านมือถือทั่วไป (อาจจะมีออกมาขายบ้าง แต่คาดว่าน่าจะไม่เยอะ) ซึ่งจากการที่ปรับเปลี่ยน ลดช่องทางการวางจำหน่ายลง น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สามารถทำราคาขายได้ถูกลงก็เป็นได้
ข้อดี
ข้อสังเกต
บทสรุป
BEST SPEC/PRICE
Design
ดีไซน์ของมือถือ Lenovo หลายๆ รุ่นที่ออกมาในปีนี้ จะออกไปในแนวเดียวกันซะเป็นส่วนมากครับ คือมาเป็นทรงเรียบๆ มีขอบมนทั้งสี่มุม ต่างจากปีก่อนๆ ที่ดีไซน์ของแต่ละซีรี่ส์ดูจะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งก็ทำให้ดูเรียบง่าย ใช้งานได้แบบไม่สะดุดตาเท่าไหร่ สำหรับตัวของ Lenovo A7000 ก็มาในขนาดตัวเครื่องที่ค่อนข้างใหญ่เหมือนกัน เพราะหน้าจอมีขนาดถึง 5.5 นิ้ว แต่เห็นเครื่องใหญ่ๆ แบบนี้ บอกเลยว่าน้ำหนักเบากว่าที่คิดมากๆ ถ้าวัดจากตัวเลขก็คือ 140 กรัม แต่ถ้าวัดจากความรู้สึก บอกเลยว่าเบาจริงๆ ทำให้สามารถใช้งานเครื่องในมือได้นานๆ แบบไม่เมื่อยเลย
หน้าจอของ Lenovo A7000 ใช้พาเนลแบบ IPS ซึ่งให้ภาพที่สวยงาม คมชัด สีสันสดใส แต่ไม่ฉูดฉาดเกินไป มุมมองของจอภาพก็กว้างได้มาตรฐานดี ประกอบกับความละเอียดจอที่อยู่ในระดับ HD อีก ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ ส่วนตัวผมว่ามันน่าจะเป็นหนึ่งในมาตรฐานหลักของสมาร์ทโฟนในปัจจุบันได้แล้วนะ คือถ้าจะเลือกซื้อมือถือซักเครื่อง แนะนำว่าถ้าจะซื้อ ก็เลือกเป็นพวกที่ใช้พาเนล IPS และความละเอียดซักระดับ HD เป็นอย่างต่ำเหมือน A7000 จะดีกว่าครับ เพราะเดี๋ยวนี้มือถือจอ IPS ความละเอียดดีๆ หน่อย ราคาก็เริ่มลงมาไม่แพงมากแล้ว และน่าจะกลายเป็นมาตรฐานขั้นต้นของสมาร์ทโฟนได้ซักที
สำหรับมาตรฐานขั้นต้นของสมาร์ทโฟนที่น่าซื้อในความคิดของผมก็ประมาณนี้ครับ
- จอ IPS ความละเอียดอย่างต่ำ HD ขึ้นไป
- แรม 2 GB
- รอม 16 GB ขึ้นไป มีช่อง MicroSD (หรือไม่มีช่องเพิ่มเมมก็ได้ แต่ขอรอมมาเยอะๆ เลย)
- ใช้ 4G LTE ได้ ใช้ 3G ได้ทุกเครือข่าย ทุกพื้นที่
- แบตเตอรี่อย่างต่ำซัก 2,000 mAh
- กล้องหลังซัก 8 ล้านพิกเซลขึ้นไป มี Auto-HDR กล้องหน้าซัก 2 ล้านพิกเซลขึ้นไป (5 ล้านได้ก็ดี)
- น้ำหนักค่อนข้างเบา ถือเครื่องได้สะดวก
- ระบบปฏิบัติการทำออกมาดี ไหลลื่น
ซึ่งที่กล่าวมา บอกเลยว่า Lenovo A7000 ผ่านเกณฑ์ส่วนตัวของผมได้สบายๆ เลย ติดที่รอมน้อยไปหน่อยเท่านั้นเอง แต่ยังดีตรงมีทีเด็ดเรื่องราคาที่เปิดมาแค่ 5,290 บาท กินขาดรุ่นอื่นที่สเปคใกล้กันแบบขาดลอย ก็ถือว่าชดเชยกันไปได้ล่ะนะ
ด้านหน้าของ Lenovo A7000 นอกจากนะมีหน้าจอแล้ว ก็มีพวกปุ่มกด ช่องลำโพง ไฟ LED แจ้งเตือนและกล้องหน้าเหมือนสมาร์ทโฟนปกติครับ สำหรับปุ่มกดก็จะมีด้วยกัน 3 ปุ่มสัมผัส ซ้ายสุดเป็นปุ่มเมนู ถ้ากดค้างไว้ก็จะเป็นการเรียกหน้าสลับโปรแแกรม (recent app) ขึ้นมา ซึ่งตรงนี้เราสามารถตั้งค่าในเมนูการแสดงผลได้ด้วย ว่าจะให้เปลี่ยนเป็นกดหนึ่งครั้งเพื่อเรียกหน้าสลับโปรแกรม กับเป็นกดค้างไว้เพื่อเรียกเมนูแทนหรือเปล่า อันนี้ก็แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละท่านเลยครับ ตั้งค่ากันเองได้เลย ส่วนปุ่มกลางก็เป็นปุ่มโฮม ริมขวาก็เป็นปุ่มย้อนกลับตามปกติ แต่อย่างไรก็น่าเสียดายที่ทั้งสามปุ่มนี้ไม่มีไฟ LED ให้แสงสว่างใต้ปุ่มนะ ถ้าใช้งานในที่มืดก็อาจมีลำบากนิดหน่อยเหมือนกัน
เห็นด้านหน้าเรียบยังไง ด้านหลังก็เรียบง่ายพอกันครับ ไล่จากมุมซ้ายบนก็เป็นกล้องหลังที่ไม่นูนขึ้นมาจากแผ่นฝาหลังเลย ลงมาก็เป็นแฟลช LED สองดวงแบบให้แสงสีเดียวกัน ในตอนใช้งานจริงก็จะช่วยเพิ่มความสว่างแฟลชให้ได้นิดนึง มุมขวาบนก็เป็นช่องรับเสียงของไมค์ช่วยตัดเสียงรบกวน ถัดลงมาเล็กน้อยก็เป็นช่องลำโพง ซึ่งใกล้ๆ กันนั้นพบว่าไม่มีจุดที่ช่วยยกช่องลำโพงไม่ให้นาบติดกับพื้น เวลาวางเครื่องโดยเอาฝาหลังลงเลย ตรงนี้ก็อาจทำให้เสียงจากลำโพงโดนกลบไปได้เหมือนกันนะ
การแกะฝาหลังก็ทำไม่ยากครับ เพราะที่ตรงมุมซ้ายล่าง (หันฝาหลังเข้าหาตัว) จะมีร่องเล็กๆ ตรงขอบเครื่องให้แงะฝาหลังออกมาได้อยู่ ตัวฝาหลังก็งอได้พอสมควร เพราะทำมาจากโพลีคาร์บอเนต ผิวเนียนไม่ลื่นมือมากนัก เมื่อแกะฝาหลังแล้ว ก็จะพบกับแบตเตอรี่ก้อนใหญ่อยู่ตรงกลาง มีช่องให้ใส่การ์ดได้ 3 ใบ ซ้ายสุดคือช่อง MicroSD ตรงกลางก็เป็นช่องไมโครซิมหนึ่ง (4G/3G/2G) ริมขวาสุดก็เป็นช่องไมโครซิมสอง (2G) สำหรับการจะถอดหรือใส่ซิมนั้น ต้องถอดแบตเตอรี่ออกก่อนทุกครั้ง แต่ช่อง MicroSD นี่พอจะสามารถใส่ได้แบบไม่ต้องแกะแบตเตอรี่ครับ แต่แนะนำว่าแกะออกจะดีกว่านะ
ด้านข้างตัวเครื่อง Lenovo A7000 ก็มีพอร์ตและปุ่มกดกระจายอยู่จุดต่างๆ ดังนี้ครับ ด้านบนจะมีช่อง Micro USB อยู่ตรงกลาง ริมสุดทางซ้าย (หันหน้าจอเข้าหาตัว) มีช่องเสียบแจ็คหูฟัง ด้านล่างมีเพียงช่องรับเสียงของไมค์สนทนา ส่วนพวกปุ่มกดต่างๆ ทั้งปุ่ม Power และปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงจะอยู่ทางฝั่งขวาของเครื่องทั้งหมด
ส่วนภาพต่างๆ ของ Lenovo A7000 ก็ตามในแกลเลอรี่ด้านล่างนี้เลย
Software
Lenovo A7000 มาพร้อมกับ Android 5.0 Lollipop ตั้งแต่แกะกล่องเลย โดยครอบทับมาด้วยอินเตอร์เฟสของ Lenovo เองอย่าง Lenovo VIBE UI ซึ่งได้รับการพัฒนาต่อๆ กันมา โดยคราวนี้ได้ผสมผสานการดีไซน์บางจุดจากตัวแกนหลักของ Android 5.0 เข้ามาด้วย หน้าตาหลายๆ อย่างเลยค่อนข้างเรียบง่าย และเข้าใจง่ายมากๆ สำหรับผู้ที่เคยใช้ Android 5.0 จากเครื่องรุ่นอื่นมาก่อน การจัดเรียงไอคอนแอพก็จะวางไปบนหน้าจอเลย ไม่มีหน้ารวมแอพให้ใช้งานเหมือนอินเตอร์เฟสของ Android หลายๆ รุ่น การปรับแต่งหน้าตาต่างๆ ก็ทำได้พอสมควรครับ เช่นเปลี่ยนธีม เปลี่ยนรูปแบบการเลื่อนหน้าจอ รวมถึงยังสามารถเก็บข้อมูลการจัดเรียงไอคอนเอาไว้ได้ด้วย เผื่อบางทีเราปรับเล่นๆ ไปจนลืมหน้าตาแบบเก่า ก็สามารถเรียกคืนข้อมูลการจัดเรียงหน้าจอที่สำรองเอาไว้มาใช้ได้เลย
การใช้งานโดยรวมก็ไหลลื่นดีครับ ไม่เจอบั๊กติดขัดอะไรนะ เท่าที่ลองใช้งานกับพวกแอพสามัญปกติและเกม ส่วนพวกแอพติดเครื่องมาก็เหมือนๆ เดิมครับ เช่นแอพ SHAREit สำหรับแชร์ข้อมูลข้ามเครื่องไปหาเครื่องอื่น, แอพ SYNCit สำหรับสำรองข้อมูลรายชื่อผู้ติดต่อ สำรองข้อความ SMS เป็นต้น
Feature
ฟีเจอร์เด่นสุดของ Lenovo A7000 ก็อยากที่ทราบกันไปบ้างแล้วครับ นั่นคือระบบเสียง DOLBY ATMOS นั่นเอง ก่อนอื่นขออธิบายให้ทราบคร่าวๆ ก่อนว่าระบบเสียง DOLBY ATMOS นี้ เป็นระบบเสียงล่าสุด แบบเดียวกับที่ใช้ในโรงภาพยนตร์หลายๆ แห่ง ซึ่งบางท่านที่ชมภาพยนตร์ในโรงก็น่าจะคุ้นหูคุ้นตา หรืออาจจะเคยสัมผัสกันบ้างแล้วก็เป็นได้ โดยตัวของ DOLBY ATMOS ก็ได้รับการพัฒนาขึ้นมาจากระบบเดิมๆ โดยเน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีการสร้าง การเก็บข้อมูล และการจำลองเสียงรอบทิศทางให้ดีขึ้น ถ้าเป็นในโรงภาพยนตร์จริงๆ จะรู้สึกได้เลยว่าเสียงอยู่รอบทิศทาง รอบตัวเราจริงๆ เสมือนว่าเราเข้าไปอยู่ในบรรยากาศเดียวกับในหนังเลย (น่าจะเพราะเหตุนี้ จึงได้ชื่อว่า ATMOS ที่ย่อมาจาก Atmosphere ที่แปลว่าบรรยากาศ)
ทีนี้ เมื่อมันถูกย่อส่วนลงมาอยู่ในสมาร์ทโฟน ก็แน่นอนแหละครับ ว่ามันให้พลัง ให้คุณภาพไม่ได้ระดับเดียวกับลำโพงในโรงแน่นอน ทั้งเรื่องของขนาดและจำนวนลำโพงที่ใช้จริง แต่เท่าที่ลองใช้งานดู ผมว่ามันก็ช่วยเพิ่มมิติ เพิ่มความกังวานรอบทิศทางได้ดีกว่าระบบเสียงปกติอยู่บ้างเหมือนกันนะ พลังเสียงก็หนักแน่นขึ้น ความแตกต่างระหว่างเปิดกับปิด DOLBY ATMOS นี่ค่อนข้างชัดเจน โดยสามารถใช้งานได้ทั้งกับลำโพงตัวเครื่อง และเสียบหูฟัง/เครื่องเสียบเลย แต่ถ้าใช้กับลำโพงตัวเครื่องเพียวๆ จะไม่สามารถเปิดใช้งานการจำลองเสียงรอบทิศทาง (Surround Virtualizer) ได้นะ
สำหรับการปรับแต่งการทำงานของ DOLBY ATMOS ก็ไม่ยากครับ มีแอพมาให้ใช้โดยเฉพาะเลย ภายในเราก็สามารถปรับรูปแบบเสียงได้ตามที่ต้องการ เช่น อาจจะให้จำลองเสียงสำหรับชมภาพยนตร์ก็ได้ จะแบบที่เหมาะสำหรับการฟังเพลง เล่นเกม หรือจะปรับเองจากกราฟ equalizer ตรงกลางก็ได้เหมือนกัน ส่วนสวิทช์ 3 ชิ้นด้านล่างก็เป็นสวิทช์สำหรับเปิด/ปิดฟีเจอร์เพิ่มเติม ซ้ายสุดก็เป็นฟีเจอร์การจำลองระบบเสียงรอบทิศทาง (ถ้าไม่เสียบหูฟังจะไม่มีให้เลือก) ตรงกลางเป็นระบบช่วยเร่งให้เสียงพูดเด่นขึ้น ส่วนขวาสุดก็เป็นตัวช่วยเกลี่ยระดับเสียงให้ความดังใกล้เคียงกัน ทำให้เราไม่ต้องคอยปรับระดับเสียงบ่อยๆ ครับ
ส่วนการเปิด/ปิดระบบ DOLBY ATMOS นั้น นอกจากจะทำได้จากแอพ DOLBY ATMOS และในเมนูการตั้งค่าแล้ว ยังสามารถเปิด/ปิดแบบง่ายๆ ที่แถบ quick settings ได้เหมือนกันนะ แต่ส่วนใหญ่แล้วก็เปิดทิ้งไว้ไปเลยก็ได้ครับ ไม่ต้องปิดหรอก มันไม่ได้กินไฟเพิ่มเท่าไหร่ด้วย
นอกเหนือจากระบบเสียง DOLBY ATMOS แล้ว ฟีเจอร์อื่นใน Lenovo A7000 ก็มีที่น่าสนใจอยู่เหมือนกันครับ อย่างในภาพซ้ายก็จะเป็นเมนู Permission Control (การควบคุมสิทธิ์) ซึ่งทำให้เราสามารถควบคุมการให้สิทธิ์แอพพลิเคชันต่างๆ เข้าถึงการทำงานของแต่ละระบบหลักๆ ในเครื่องอย่างไรได้บ้าง เช่น เราอาจจะไม่อนุญาตให้แอพ Skype สามารถใช้งานฟังก์ชันโทรศัพท์ก็ได้ ทั้งยังสามารถใช้ตรวจสอบได้ว่ามีแอพไหนได้รับสิทธิ์การใช้งานที่ดูแปลกๆ และไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการทำงานของแอพ เพื่อป้องกันการแอพบส่งข้อมูลในเครื่องออกไป (เน้นเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลและตัวเครื่องเป็นหลัก) ซึ่งอันที่จริงฟีเจอร์นี้ ทาง Google เองก็เคยมีออกมาให้ทดสอบ แล้วก็ปิดหายไป และคาดว่าน่าจะเปิดให้ใช้งานใน Android เวอร์ชันใหม่ที่น่าจะเปิดตัวในงาน Google I/O ช่วงกลางปีนี้ด้วยครับ ถือว่า Lenovo ล้ำหน้าไปก่อนก็พอได้นะ
ส่วนภาพขวาก็เป็นฟีเจอร์การใช้งานอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น
- Quick Snap: เมื่อปิดหน้าจออยู่ ถ้ากดปุ่มเพิ่มหรือลดเสียงติดกัน 2 ครั้ง ก็จะเป็นการถ่ายรูปทันที
- Tap to light: เคาะจอสองครั้ง เพื่อเปิดหน้าจอขึ้นมา
- Screen off gestures: ตั้งค่าการทำงานเมื่อลากนิ้วบนจอ ขณะที่จอปิดอยู่ เช่น ลากนิ้วเป็นตัว V เพื่อเปิดแอพกล้อง เป็นต้น
- Smart Sense: เป็นระบบสำหรับตั้งโปรไฟล์การทำงานเครื่องในสถานที่ และเวลาต่างๆ เช่นอาจตั้งให้ช่วงพักเที่ยง มือถือเปิดเสียง ปิด WiFi เปิด GPS พอพ้นช่วงเที่ยงไป ก็เปลี่ยนไปใช้โปรไฟล์อื่นอัตโนมัติ เป็นต้น
- Wide touch: เพิ่มปุ่มช่วยให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น (นึกภาพถึงปุ่มขาวๆ บนจอของ iPhone ก็ได้ครับ)
ดูแล้วก็มีฟีเจอร์ที่น่าสนใจพอตัวอยู่เหมือนกันนะครับ กับ Lenovo A7000 เพราะปกติมือถือช่วงราคานี้ มักจะมาในแบบพื้นฐาน ไม่ค่อยมีฟีเจอร์เรื่องซอฟท์แวร์ให้มาเท่าไหร่
Camera
สำหรับเรื่องกล้องก็จัดว่าอยู่ในระดับธรรมดาครับ ตัวเมนูก็มีให้ปรับตั้งค่าได้นิดหน่อย เช่น เลือกโหมดสำเร็จรูป (อัตโนมัติ, กลางคืน, บุคคล ฯลฯ) มีให้ปรับ white balance ให้เหมาะกับสภาพแสงที่ถ่าย มีใส่เอฟเฟ็คท์ในภาพ แต่แปลกนิดหน่อยที่ไม่มีเมนูให้เลือกความละเอียดภาพถ่าย มีแต่ให้เลือกอัตราส่วนภาพว่าจะถ่ายเป็นแบบ 16:9 หรือ 4:3 หรือ 1:1 เท่านั้นเอง แต่พอในโหมดถ่ายวิดีโอ กลับปรับได้ว่าจะเป็น 1080p หรือ 720p หรือ 480p ส่วนเรื่องเสียงชัตเตอร์ Lenovo A7000 ไม่สามารถปิดเสียงชัตเตอร์ตอนถ่ายภาพได้นะครับ ทำได้แค่กดเบาเสียงก่อนเปิดแอพกล้อง เพื่อให้เสียงชัตเตอร์เบาตามเท่านั้นเอง
การถ่ายภาพก็สามารถแตะเลือกจุดโฟกัสได้ การโฟกัสทำได้เร็วพอสมควร ถ้าไม่เจอสภาพแสงยากมากนัก โดยรวมถือว่าทำได้ในระดับใช้งานได้ครับ ส่วนหนึ่งก็เพราะเรื่องกล้องไม่ใช้จุดเด่นของ Lenovo A7000 อยู่แล้วด้วยแหละ
Performance
ฝั่งของเรื่องประสิทธิภาพและความแรง Lenovo A7000 ก็ทำได้ดีพอสมควรครับ ที่เน้นๆ หน่อยก็คงเป็นตัวชิปประมวลผล MediaTek MT6752 ที่มีคอร์ประมวลผลถึง 8 คอร์ ซึ่งทำคะแนนทดสอบจากหลายๆ แอพได้ดี ส่วนคะแนนฝั่งกราฟิกจาก GPU ก็ทำได้ปานกลางครับ ไม่เด่นมาก แต่ก็อยู่ในระดับใช้งาน ใช้เล่นเกมทั่วๆ ไปได้แบบไม่มีปัญหา แต่ถ้าไปเจอพวกเกมที่กราฟิกค่อนข้างหนัก ก็อาจต้องปรับลดความสวยของภาพลงมาหน่อย (ถ้าปรับได้)
สำหรับการใช้งานจริง บอกได้เลยว่าไหลลื่นครับ ไม่เจอปัญหาเรื่องการโหลด การใช้งานแล้วหน่วงๆ ให้เห็นเลย เปิดเครื่องมาครั้งแรก จะเหลือแรมว่างอยู่ประมาณ 1 GB เต็มๆ แต่ถ้าลงแอพใช้งานหลักๆ เพิ่มเติมลงไป ก็อาจจะเหลือว่างน้อยกว่า 1 GB อยู่นิดหน่อย ส่วนเรื่องพื้นที่เก็บข้อมูลของรอมนั้น เมื่อเปิดเครื่องใช้งานครั้งแรก จะเหลือพื้นที่อยู่แค่ 3.94 GB เท่านั้น ทางแก้ก็คงต้องเป็นการซื้อ MicroSD มาใส่เพิ่มแหละครับ แล้วจัดการปรับให้ระบบเลือกลงแอพใน MicroSD เป็นหลักซะ โดยเข้าไปที่การตั้งค่า > ที่เก็บข้อมูล แล้วเลือกดิสก์การเขียนเริ่มต้นให้เป็น MicroSD ครับ เวลาจะลงเพลงหรือไฟล์อื่นๆ เพิ่มเติมก็ให้ลงใส่ SD การ์ดซะ เท่านี้ก็พอแก้ปัญหาเรื่องพื้นที่รอมน้อยได้ระดับหนึ่งแล้ว
ปิดท้ายด้วยเรื่องการใช้งานแบตเตอรี่ อันนี้หายห่วงได้เลย เพราะตัว Lenovo A7000 เองให้แบตเตอรี่มาถึง 2,900 mAh และสเปคโดยรวมก็ไม่ได้จัดว่ากินไฟมากนัก ทำให้ผมสามารถใช้งาน Lenovo A7000 แบบต่อเน็ตตลอดเวลาได้เป็นวันๆ แบบแบตยังเหลือข้ามวันได้สบาย จุดนี้ ใครที่อยากได้มือถือราคาไม่แพง แต่แบตอึด รับรองว่า Lenovo A7000 เป็นหนึ่งในคำตอบที่ดีที่สุดได้แน่นอน