หลังจาก Jawbone ส่ง UP2 ลงขายในไทยไม่นาน ตอนนี้ก็มีรุ่นใหม่ที่เสริมฟีเจอร์เพิ่มเข้ามาในไทยอีกรุ่นแล้ว นั่นก็คือ Jawbone UP3 และทางเราก็มีรีวิวมาให้ทุกท่านได้ชมกันอีกเช่นเคย สำหรับจุดเด่นของ UP3 ที่เพิ่มขึ้นมาจากรุ่นอื่นๆ ก็คือ มันมีเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจด้วย นับว่าเป็นผลิตภัณฑ์รุ่นแรกของ Jawbone ที่มีมาให้เลยก็ว่าได้ เรามาดูกันเลยดีกว่าครับว่ามันเป็นอย่างไร ใช้งานยังไงได้บ้าง
ตัวกล่องก็มาในลักษณะเดียวกับ UP รุ่นอื่นๆ คือมีพลาสติกใสอยู่ด้านหน้า เผยให้เห็นถึงตัวสายที่อยู่ภายในว่าเป็นสีอะไร โดยจะมีให้เลือก 2 สีคือสีดำกับสีเงินครับ ส่วนเรื่องขนาดสายนั้น จะมีแค่ขนาดเดียว แต่สามารถใส่ได้กับข้อมือของแทบทุกคน ก็ถือว่าช่วยลดความยุ่งยากในการเลือกซื้อ เพราะไม่ต้องมาวัดขนาดรอบข้อมืออีกแล้ว เลือกสีที่ชอบ หยิบมาจ่ายเงินได้เลย
เปิดกล่องมาภายในก็จะพบกับสายชาร์จแบบขั้วแม่เหล็ก ซึ่งปลายด้านหนึ่งใช้เสียบชาร์จกับช่อง USB โดยจะเสียบชาร์จกับคอมพิวเตอร์ เสียบชาร์จกับอะแดปเตอร์มือถือ หรือจะเสียบชาร์จกับ powerbank ก็ยังได้
หน้าตาของ Jawbone UP3 ก็คล้ายๆ กับ UP2 ครับ ข้อมูลสเปคคร่าวๆ ก็มีดังนี้
- ตัวเรือนขนาด 220 x 12.2 x 3 – 9.3 มิลลิเมตร ทำมาจากอลูมิเนียม อะโนไดซ์ มีนิกเกิลผสมไม่เกิน 0.5%
- ใช้ได้กับรอบข้อมือ 140 – 190 มิลลิเมตร
- หนัก 29 กรัม
- ตัวสายทำมาจากยาง TPU เกรดเดียวกับที่ใช้ในทางการแพทย์
- ตัวเซ็นเซอร์วัดคลื่นไฟฟ้าอัตราการเต้นหัวใจ ทำมาจากดีบุกเคลือบด้วยสแตนเลสสตีล
- กันละอองน้ำได้ ใส่อาบน้ำได้ แต่แนะนำว่าอย่าใส่ขณะว่ายน้ำ
- แบตเตอรี่ความจุ 38 mAh ใช้งานได้ 7 วัน ใช้เวลาชาร์จจนเต็มราวๆ 1 ชั่วโมง
- เชื่อมต่อกับมือถือผ่านทาง Bluetooth 4.0 BLE
สำหรับตัวเรือนนั้น ทั้งสองสีจะมีลวดลายแตกต่างกันนิดหน่อย ถ้าเป็นสีดำ ลายก็จะเป็นเส้นเป็นลายทางเฉียงๆ ไปตลอดตัวเรือน ส่วนสีเงินก็จะเป็นลายเส้นตัดกันเป็นรูปกากบาทเหมือนกับภาพในรีวิวนี้แหละครับ
สายจะแบนขึ้น ขนาดกะทัดรัด และน้ำหนักเบายิ่งขึ้น เพราะต้องการให้ผู้ใช้ใส่ได้ตลอดเวลาไม่รู้สึกรำคาญ ยิ่งใส่มาก App UP ยิ่งเรียนรู้พฤติกรรมของผู้ใช้และให้คำแนะนำได้ดียิ่งขึ้น
คราวนี้ก็มาถึงจุดที่เพิ่มเข้าใน Jawbone UP3 แล้วครับ นั่นคือเซ็นเซอร์วัดคลื่นไฟฟ้าอัตราการเต้นหัวใจ ซึ่งจะเป็นตัวที่เป็นปุ่มๆ สี่เหลี่ยมสีทองทั้ง 5 จุดในภาพข้างบนครับ สำหรับใครที่เคยใช้งานอุปกรณ์พวกสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์สวมใส่ที่มีเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นหัวใจก็อาจจะรู้สึกว่ามันแปลกๆ ซักหน่อย เพราะปกติแล้วจะเป็นตัวยิงแสงไฟออกมา แล้ววัดอัตราการเต้นหัวใจไปเลย แต่สำหรับใน Jawbone UP3 จะใช้หลักการที่แตกต่างออกไปครับ โดยมันจะใช้การตรวจจับคลื่นกระแสไฟฟ้าจากผิวหนัง ซึ่งสัมพันธ์กับอัตราการเต้นหัวใจ (เพราะการเต้นของหัวใจมันทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าด้วย)
นอกจากนี้ เซ็นเซอร์ชุดดังกล่าวยังสามารถวัดข้อมูลได้อีกหลายอย่างเลยครับ เช่น อัตราการหายใจ การตอบสนองต่อประจุไฟฟ้าของผิวหนัง อุณหภูมิผิวหนัง อุณหภูมิของสภาพแวดล้อมโดยรอบ ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะนำไปใช้ประกอบการวัดข้อมูลต่างๆ พวกการเคลื่อนไหว การออกกำลังกาย การนอนหลับ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำยิ่งขึ้น
ส่วนที่เป็นแถบยาวๆ แล้วมีจุดเหลืองๆ 4 จุดนั้น เป็นจุดชาร์จไฟนะครับ ไว้ใช้เชื่อมต่อกับสายชาร์จที่มีขั้วแม่เหล็กในตัว
ขั้วแม่เหล็กของสายชาร์จ จัดว่าแข็งแรงระดับหนึ่งเลย แต่ต้องชาร์จให้ถูกด้านนะ ถ้าแปะเข้าไปผิดด้าน มันจะไม่ตรงขั้ว แล้วก็ชาร์จไฟไม่ได้ด้วย
สำหรับการแสดงและการเปลี่ยนโหมด จากโหมด Active (ใช้งานทั่วไป) กับโหมด Sleep (ใช้ตอนนอนหลับ) ก็ยังใช้การแตะที่ตัวเรือนเพื่อเปลี่ยนเหมือนเดิมครับ เริ่มต้นก็ให้แตะลงไป 2 ครั้งติดๆ กันเหมือนดับเบิลคลิกก่อน ก็จะมีไฟแสดงขึ้นมาว่าใช้โหมดอะไรอยู่ จากนั้นก็กดค้างไว้เพื่อเปลี่ยนโหมด โดยจะมีไฟกระพริบบอกให้ครับว่าเปลี่ยนมาเป็นโหมดอะไรแล้ว ถ้าเป็นโหมด Active ก็จะเป็นรูปคนวิ่งสีส้ม ส่วนถ้าเป็นโหมด Sleep ก็จะเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยวสีน้ำเงิน
ไฟสีขาวจะแสดง notification ของ App UP เช่น เวลาที่มีเพื่อนมาเม้นต์, ตั้งนาฬิกาปลุก, หรือตั้งตาม Reminder ต่างๆ (เช่นให้ทานยา เข้านอน ออกกำลังกาย) จะไม่ใช่ Notification ของโทรศัพท์ จึงจะไม่ขึ้นแจ้งเวลาที่มีสายเข้า หรือ แมสเซสโทรสับเข้านะครับ
แอพพลิเคชันที่ใช้งานร่วมกันก็มีชื่อว่า UP ที่เป็นไอคอนสีม่วงตัวเดิมเลยครับ สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีจากทั้ง App Store และ Play Store เลย
เมื่อดาวน์โหลดมาแล้ว ก็จัดการจับคู่มือถือเข้ากับ UP3 ซะให้เรียบร้อย ทีนี้ถ้าดูจากหน้าตาแอพในภาพข้างบน ก็จะเห็นเลยว่ามีตัวแสดงอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ข้างบนเหนือกราฟสรุปการนอนและก้าวเดินในแต่ละวันด้วย ซึ่งเราก็สามารถกดเข้าไปดูรายละเอียดของอัตราการเต้นห้วใจได้อย่างในรูปที่สองครับ
พอเข้ามาดู จะเห็นมันเขียนว่า “Resting Heart Rate” อยู่ อันนี้ผมเห็นครั้งแรกก็รู้สึกแปลกๆ ละ ว่ามันจะไม่ใช่การวัดอัตราการเต้นหัวใจอย่างที่เราคุ้นเคยกัน (Active Heart Rate) พอลองหาปุ่มกดวัดก็ไม่เจอ เลยเข้าไปอ่านในเว็บไซต์ของ Jawbone ก็ถึงได้รู้ความจริงครับ ความจริงที่ว่า Jawbone UP3 นั้น จะวัดอัตราการเต้นหัวใจในขณะที่เราพักผ่อนอยู่ ไม่ใช่วัดตลอดเวลา หรือวัดตอนที่เรากดสั่งงาน ซึ่งการวัดอัตราการเต้นหัวใจแบบนี้ ทาง Jawbone ก็อธิบายถึงข้อดีของมันเอาไว้ว่า มันเป็นการวัดที่แม่นยำ และทำให้เห็นถึงความแข็งแรงหัวใจจริงๆ ของเราได้ดีที่สุด เนื่องจากมันเป็นอัตราการเต้นหัวใจในขณะที่ร่างกายยังไม่มีสิ่งใดมากระตุ้นเลย ไม่ว่าจะเป็น กาแฟ ความเครียด รวมถึงการเคลื่อนไหวร่างกาย ทำให้ได้ผลออกมาที่เป็นข้อมูลจริงๆ ต่างจาก Active Heart Rate ที่วัดได้ตลอดเวลา ซึ่งบางทีก็ได้ค่าไม่ตรงกับที่สัมพันธ์กับสุขภาพเราจริงๆ เพราะอาจจะผ่านการกระตุ้นมาจากกาแฟที่ดื่มตอนเช้า หรือมีความเครียดจากการทำงาน ก็ส่งผลต่ออัตราการเต้นหัวใจเหมือนกัน
ซึ่งเจ้า Resting Heart Rate นี้ Jawbone UP3 จะทำการวัดอัตโนมัติให้ในช่วงระหว่างที่เรากำลังนอนหลับ และช่วงหลังตื่นนอน แล้วทำการเก็บข้อมูลไว้ให้ดูย้อนหลังได้ด้วย สำหรับอัตราการเต้นหัวใจแบบ Resting HR นี้ ค่าที่เหมาะสมตามการแนะนำของสถาบันการแพทย์ Mayo Clinic ในสหรัฐฯ จะอยู่ในช่วง 60 – 100 bpm ครับ ยิ่งค่าน้อย ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าหัวใจเรายังทำงานได้ดีอยู่ รวมถึงสุขภาพโดยรวมก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่ก็ขึ้นอยู่กับร่างกาย การใช้ชีวิต แล้วก็กิจกรรมของแต่ละท่านด้วยครับ บางท่านอาจจะมีอัตรา Resting HR สูงหน่อย แต่ก็สุขภาพดี หัวใจแข็งแรงก็เป็นได้
และแน่นอนว่าหนึ่งในระบบที่ยังคงอยู่ ก็คือ Smart Coach ที่เปรียบเสมือนโค้ชผู้ช่วยดูแล และให้คำแนะนำเรื่องสุขภาพกับผู้ใช้ โดยระบบจะพิจารณาจากข้อมูลผู้ใช้ แล้วให้คำแนะนำเพื่อการรักษาสุขภาพที่ดี เช่น แนะนำเรื่องอาหารการกิน แนะนำเรื่องการออกกำลังกาย การเดิน เป็นต้น ถ้าลองอ่านดู ก็น่าจะได้ประโยชน์เยอะเลยทีเดียว
หน้าตาของแอพ UP ก็จะเหมือนๆ เดิมครับ แต่มีเพิ่มในส่วนของ Resting HR อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ในหน้าแรกก็จะเป็นกราฟสรุปยอดของในแต่ละวัน ว่าเรานอนไปเท่าไหร่ เดินไปกี่ก้าว ทำได้กี่เปอร์เซ็นต์ของที่ตั้งเป้าไว้ รวมถึงมีกราฟแสดงคะแนนประเมินถึงอาหารที่เรารับประทานด้วยว่าดีต่อสุขภาพขนาดไหน เมื่อกดที่กราฟแต่ละแท่ง ก็จะเป็นการแสดงข้อมูลรายละเอียดของแต่ละอย่างครับ ก็ถือว่าละเอียดและแม่นยำในระดับหนึ่งเลย
แต่ถ้ามาดูในหน้าของการนอนหลับ จะสังเกตว่า Jawbone UP3 มีการเก็บข้อมูลเพิ่มอีกอย่างนึง นั่นคือมีเก็บ REM Sleep ด้วย โดยเจ้า REM นี้จะเป็นการนอนหลับที่อยู่กึ่งกลางระหว่างหลับลึก กับหลับตื้นๆ (หลับแบบยังรู้สึกตัวได้ง่าย) ซึ่งจะเป็นช่วงที่ร่างกายมักจะหลับนิ่งๆ ใกล้หลับสนิทไปแล้ว ถ้าให้เทียบระดับการนอนหลับตามข้อมูลของเว็บไซต์ Jawbone ก็จะได้เป็นประมาณนี้ครับ
- Light Sleep: หลับตื้นๆ เพิ่งเริ่มหลับได้ไม่นาน รู้สึกตัวได้ง่าย
- REM: หลับกลางๆ ร่างกายมักจะไม่ขยับ อัตราการเต้นหัวใจไม่ค่อยคงที่ ช่วยพัฒนาเรื่องสมาธิ ด้านจิตใจ
- Deep Sleep: หลับลึก ร่างกายมีขยับบ้าง (เรียกง่ายๆ ว่าช่วงนอนดิ้น) ส่วนอัตราการเต้นหัวใจจะคงที่ที่สุด ช่วยฟื้นฟูร่างกาย กล้ามเนื้อ รักษาสภาพร่างกาย
ซึ่งการที่จะวัดระดับการนอนหลับได้ละเอียดขนาดนี้ ก็จำเป็นจะต้องมีตัวช่วยตรวจจับสภาพร่างกายในหลายๆ ค่า ทั้งอัตราการเต้นหัวใจ การหายใจ อุณหภูมิร่างกาย การเคลื่อนไหว แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์ร่วมกันครับ เราจึงได้เห็นการวัดที่ละเอียดมากยิ่งขึ้นใน Jawbone UP3 ที่มีเซ็นเซอร์เหล่านี้มาให้ ก็ถือว่าเป็นประโยชน์ดีนะ สำหรับคนที่อยากได้ข้อมูลสุขภาพร่างกายตนเองแบบค่อนข้างละเอียด
ส่วนของฟีเจอร์พื้นฐานอื่นๆ รวมถึงการปรับตั้งค่าในแอพพลิเคชันก็สามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้จากในรีวิว Jawbone UP2 ของเรานะครับ ในนั้นมีอธิบายไว้ละเอียดเลย
เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับ Jawbone UP3 สายรัดข้อมือเพื่อสุขภาพรุ่นใหม่ล่าสุด ซึ่งอันที่จริงแล้วด้านของฟีเจอร์ การทำงานต่างๆ มันก็คือ UP2 ที่อัพเกรดขึ้นมานี่แหละครับ อัพเกรดด้วยการเพิ่มเซ็นเซอร์รับข้อมูลจากร่างกายผู้ใช้ ทำให้สามารถเก็บข้อมูลได้หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อัตราการเต้นของหัวใจ (Resting Heart Rate) รวมถึงวัดคุณภาพการนอนหลับได้ดีขึ้น ละเอียดยิ่งขึ้น ซึ่งข้อมูลต่างๆ ที่เก็บได้เพิ่มนี้ ก็ใช้ช่วยให้การวัด การวิเคราะห์สุขภาพผู้ใช้ได้แม่นยำ เที่ยงตรงมากขึ้น อีกทั้งระบบโค้ชผู้ช่วย Smart Coach ก็ให้ข้อมูลในการช่วยรักษาดูแลสุขภาพได้เป็นอย่างดี เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการรักษาสุขภาพ ทั้งในด้านการออกกำลังกาย การนอน รวมถึงการรับประทานอาหารอีกด้วย
สำหรับใครที่สนใจ Jawbone UP3 ก็สามารถหาซื้อกันได้เลยครับ ที่ iStudio, .Life, Jaymart, Power Buy, Power Mall, Gizman และ Health Choice ในราคา 7,990 บาท