นับตั้งแต่ Huawei จับมือกับ Leica เพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนากล้องสมาร์ทโฟนจนกำเนิดออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ในซีรีส์ P9, P9 Plus, Mate 9 และ Mate 9 Pro อันนับเป็นการสร้างคำนิยามและจุดเด่นให้กับมือถือ Huawei เองว่าให้ภาพออกมาในสไตล์ Leica อันมีเอกลักษณ์เฉพาะทาง จนมีคำเรียกติดปากกันไปแล้วว่าเป็นมือถือกล้อง Leica ซึ่งก็นับเป็นการประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทั้งในแง่ของผลิตภัณฑ์ การตลาด อันเป็นส่วนช่วยในการสร้างแบรนด์ให้มีความแข็งแกร่งขึ้นมาได้ จวบจนมาจนถึงรุ่นปัจจุบันอย่าง Huawei P10 และ P10 Plus ที่ยังคงร่วมมือกับ Leica ในส่วนของกล้อง แถมยังร่วมกับ Pantone ซึ่งเป็นองค์กรที่เป็นหนึ่งในผู้กำหนดมาตรฐานเฉดสีของโลกในปัจจุบัน เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีความโดดเด่นยิ่งขึ้นไปอีก จนกำเนิดมาเป็น 2 เฉดสีที่แตกต่างจากมือถือรุ่นอื่นๆ ในตลาด นั่นคือสีน้ำเงิน Dazzling Blue และสีเขียว Greenery อันเป็นโทนสีแห่งปี 2017 นั่นเอง
โดยในบทความนี้ก็จะเป็นการรีวิว Huawei P10 Plus สีเขียว Greenery ที่เพิ่งมีวางจำหน่ายในประเทศไทยเป็นครั้งแรกในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาครับ ก่อนจะพูดถึงดีไซน์และการใช้งาน มาดูสเปคกันก่อนว่าเป็นอย่างไรบ้าง
สเปค Huawei P10 Plus เครื่องศูนย์ไทย
- ชิปประมวลผล HiSilicon Kirin 960 (8 คอร์ ความเร็ว 4x 2.4 GHz และ 4x 1.8 GHz) พร้อมชิปกราฟิก Mali-G71 MP8
- แรม 4 GB
- รอม 64 GB รองรับ MicroSD สูงสุด 256 GB
- หน้าจอ IPS ขนาด 5.5 นิ้ว ความละเอียดระดับ 2K (2560 x 1440)
- กระจกหน้าจอ Gorilla Glass 5
- กล้องหลังคู่ 20MP (ขาว-ดำ) และ 12MP (สี) เลนส์ LEICA Summilux-H รูรับแสง f/1.8 พร้อมระบบโฟกัสแบบ PDAF, เลเซอร์ออโต้โฟกัส มีกันสั่น OIS และแฟลชแบบ dual tone
- กล้องหน้า LEICA ความละเอียด 8MP รูรับแสง f/1.8
- ถาดซิมเป็นแบบไฮบริด รองรับนาโนซิมได้สูงสุด 2 ซิม
- ใช้งาน 4G LTE ได้ทุกเครือข่าย รวมถึงที่ความถี่ 2300 MHz ที่ dtac-TOT จะเปิดให้ใช้งานด้วย
- ตัวเครื่องสามารถป้องกันละอองน้ำได้
- Android 7.0 พร้อมอินเตอร์เฟส Emotion UI 5.1
- ลำโพงในตัวระบบเสียงสเตอริโอ
- มี NFC, Bluetooth 4.2, USB-C
- เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือที่ปุ่มโฮมแบบสัมผัส
- แบตเตอรี่ความจุ 3,750 mAh รองรับการชาร์จเร็วแบบ Super Charge
- ราคากลางเครื่องเปล่า 23,900 บาท
- สเปค Huawei P10 Plus
แง่ของสเปค Huawei P10 Plus จัดว่าอยู่ในกลุ่มสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์ได้อย่างแน่นอน แต่ที่โดดเด่นและเรียกเสียงฮือฮาได้ตั้งแต่ตอนเปิดตัวก็คือ การเผยว่า P10 Plus เลือกใช้เลนส์ที่ Huawei ร่วมกันพัฒนากับ LEICA ทั้งกล้องหน้าและกล้องหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้องหลังที่เปลี่ยนไปใช้เลนส์ Summilux-H ที่มีรูรับแสงกว้างขึ้นจากเดิมเป็น f/1.8 แถมยังใส่ฟีเจอร์ด้านกล้องเข้ามาอีกมากมาย จึงไม่แปลกใจที่กระแสหลังเปิดตัวจะดีมาก มาจนถึงปัจจุบัน
ข้อดี
ข้อสังเกต
บทสรุป
BEST CAMERA PHONE
Design
รูปลักษณ์ของ Huawei P10 Plus มีการปรับเปลี่ยนจากรุ่นที่ประสบความสำเร็จอย่างดีจากปีที่แล้วอย่าง P9 Plus ให้มีความโค้งมนมากขึ้น หน้าตาจัดว่าอยู่ในระดับมาตรฐานของสมาร์ทโฟนในยุคปัจจุบัน ด้านหน้าไม่มีโลโก้ Huawei ส่วนตัวเครื่องก็มีขนาดกำลังพอเหมาะแม้จะมีหน้าจอขนาด 5.5 นิ้วก็ตาม เนื่องด้วยขอบจอด้านข้างที่ค่อนข้างบาง ทำให้การจับถือเครื่องทำได้สะดวกมือ พกพาง่าย โดยด้านบนของจอก็จะเป็นตำแหน่งของเซ็นเซอร์ต่างๆ กล้องหน้า ไฟ LED สำหรับแจ้งเตือน และลำโพงสนทนาตามมาตรฐาน ซึ่งส่วนของลำโพงนี้จะมีฟีเจอร์พิเศษนิดหน่อยครับ คือถ้าเปิดเพลง หรือวิดีโออยู่ แล้วพลิกเครื่องมาเป็นแนวนอน เสียงเพลง/วิดีโอนั้นจะออกมาจากทั้งลำโพงสนทนาและลำโพงหลักตรงท้ายเครื่องด้วย ทำให้ได้เสียงเป็นแบบสเตอริโอ ให้มิติเสียงที่ดีขึ้น แต่ก็แลกมาด้วยความดังของเสียงที่ลดลงจากปกติเล็กน้อย โดยฟีเจอร์นี้ต้องไปเปิดจากเมนูการตั้งค่าเสียงของตัวเครื่องก่อนด้วยครับ
จอแสดงผล Huawei P10 Plus เลือกใช้เป็นพาเนลแบบ IPS LCD แบบสมาร์ทโฟนตามปกติ ซึ่งเปลี่ยนจากใน P9 Plus ที่ใช้เป็นจอแบบ AMOLED โดยภาพที่ได้จากจอ P10 Plus ก็จัดว่าคมชัดด้วยความละเอียดจอที่สูงถึงระดับ 2K มุมมองกว้าง ความสว่างดี สีสันสดใสในทุกสภาพแวดล้อมแสง ทำให้การใช้งานกลางแจ้งเป็นไปได้อย่างราบรื่น เหมาะเป็นอย่างยิ่งกับการอยู่ในมือถือที่เน้นกล้องอย่างตระกูล P ของ Huawei เอง ทำให้เวลาดูรูปก็ได้ภาพที่สีสวย คมชัด หรือจะใช้เล่นเน็ต เปิดอ่านข้อมูลบนเว็บก็จอใหญ่เต็มตา
ด้านล่างของจอก็เป็นตำแหน่งของเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือซึ่งทำหน้าที่เป็นปุ่มโฮมแบบสัมผัสด้วยในตัว (ไม่สามารถกดลงไปได้) ซึ่งตัวปุ่มโฮมนี้ก็มีการยกฟีเจอร์จากใน Mate 9 มาด้วย นั่นคือสามารถแตะลงไป 1 ครั้งเพื่อแทนปุ่มย้อนกลับ, แตะค้างไว้เพื่อแทนการกดโฮม และปาดนิ้วจากฝั่งซ้ายไปทางขวาของปุ่ม หรือขวาไปซ้ายเพื่อเรียกดูแอปที่ใช้งานล่าสุด ซึ่งตรงส่วนนี้ก็เป็นการทำงานแทนแผงปุ่ม navigation keys ตรงส่วนล่างสุดของจอได้แบบ 100% โดยในเมนูการตั้งค่าของเครื่องก็สามารถสั่งปิดแผงปุ่มได้ด้วย จากที่ผมทดลองใช้งาน gesture บนปุ่มโฮมนี้ดู ก็พบว่ามันสะดวกกับการใช้งานดีไม่น้อยเลยทีเดียวครับ แค่ช่วงแรกอาจจะมีสับสนระหว่างการแตะครั้งเดียว กับการแตะค้างนิดหน่อยเท่านั้นเอง
ส่วนการสแกนลายนิ้วมือเพื่อปลดล็อกก็ทำได้ดี สามารถสแกนได้แม้นิ้วเปียกน้ำอีกด้วย โดยระบบอนุญาตให้เก็บลายนิ้วมือได้สูงสุด 5 รูปแบบ ซึ่งในกระบวนการสแกนจะมีให้ผู้ใช้ทาบส่วนต่างๆ ของนิ้วให้ครบถ้วน ทำให้เวลาปลดล็อกจริงๆ สามารถปลดล็อกจากมุมใดก็ได้ ส่วนการปรับจาก P9 Plus ที่เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมืออยู่ด้านหลังมาอยู่ด้านหน้า ก็ช่วยเพิ่มความสะดวกสำหรับคนที่วางมือถือไว้บนโต๊ะ แล้วต้องการเช็คข้อมูลแบบไม่อยากยกเครื่องขึ้นมา
ฝาหลังของ Huawei P10 Plus จะมีพื้นผิวแบ่งออกเป็น 3 แบบใหญ่ๆ คือเป็นแบบผิวเรียบ sandblast, ผิวมันวาว glossy และก็ผิวแบบมีลวดลาย hyper diamond-cut ซึ่งแบบหลังสุดนี้จะพบในรุ่นสีน้ำเงิน dazzling blue สำหรับเครื่องที่ทางเราได้รีวิวในครั้งนี้เป็นรุ่นสีเขียว greenery ซึ่งถึงแม้จะเป็นสีใหม่ล่าสุด แต่ผิวหลังก็จะเป็นแบบเรียบ sandblast ครับ ให้สัมผัสที่เรียบลื่น งานประกอบโดยรวมสมราคาเลย ถ้าใครที่มีเครื่องรุ่นก่อนหน้าอย่าง P9 หรือ P9 Plus อยู่ ก็จะพบว่ามีการออกแบบที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนมากๆ เช่น ความโค้งมนของมุมเครื่อง การตัดขอบที่โค้งมนกันไปหมด (P9 Plus จะมีขอบตัดแบบไดมอนด์คัต) รวมถึงมีการเพิ่มโลโก้ Huawei เข้ามาที่ฝาหลังด้วย
ด้านบนสุดของฝาหลังก็ยังคงใช้แถบกระจก อันเป็นตำแหน่งของกล้องหลังแบบคู่อยู่เช่นเดิม โดยมีความแตกต่างจาก P9 Plus ตรงที่ระยะห่างระหว่างเลนส์ทั้งสองมีความกว้างมากขึ้น ใกล้ๆ กันนั้นก็มีไฟแฟลชแบบ dual-tone ที่ช่วยให้สีผิวของตัวแบบมีความเป็นธรรมชาติมากขึ้นเวลาถ่ายรูปโดยใช้แฟลช ถัดลงมาเล็กน้อยก็เป็นเลเซอร์ช่วยโฟกัสภาพ ทำให้สามารถจับตำแหน่งโฟกัสก่อนถ่ายภาพได้เร็วและแม่นยำ ฝั่งขวาสุดก็มีข้อความบ่งบอกถึงความเป็น LEICA อยู่เหมือนเดิม ที่เปลี่ยนไปก็คือข้อความที่บ่งบอกว่าเลือกใช้เลนส์ SUMMILUX-H รูรับแสง f/1.8 ทางยาวโฟกัส 27mm จากที่ใน P9, P9 Plus รวมถึง P10 เลือกใช้เลนส์ SUMMARIT-H รูรับแสง f/2.2 ทางยาวโฟกัส 27mm
พอร์ตเชื่อมต่อและปุ่มต่างๆ ด้านข้างตัวเครื่องก็มีดังนี้
ด้านบน: ไมค์ตัดเสียงรบกวน และเซ็นเซอร์อินฟราเรดสำหรับใช้เป็นรีโมทควบคุมอุปกรณ์ภายในบ้าน
ด้านซ้าย: ถาดใส่ซิมและการ์ด MicroSD ที่เป็นแบบไฮบริด
ด้านขวา: ปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง และปุ่ม Power ที่มีผิวสัมผัสขรุขระเล็กน้อยให้ผู้ใช้สามารถทราบตำแหน่งของปุ่มได้เวลาลูบปลายนิ้วผ่าน ที่ตัวปุ่มมีขลิบสีแดงสดเพิ่มความสวยงาม
ด้านล่าง: มีช่องลำโพงหลัก ไมค์สนทนา ช่อง USB-C และช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5mm
ถ้าสังเกตตรงขอบดีๆ จะเห็นว่าทั้งฝั่งบนและล่างมีเส้นสำหรับเป็นเสารับคลื่นสัญญาณซ่อนอยู่ตามขอบสันโค้งของเครื่อง ต่างจากสมาร์ทโฟนที่ออกมาระหว่างช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมักจะใช้เส้นพาดผ่านบนฝาหลังไปเลย แต่พอมาในปีนี้ก็เริ่มเปลี่ยนมาเป็นแบบนี้มากขึ้น ทำให้ดีไซน์โดยรวมของฝาหลังดูกลมกลืนกันดี ไม่มีเส้นพาดให้ขัดสายตา
ตัวกล่องมีการออกแบบที่ค่อนข้างมีความโดดเด่นกว่าแบรนด์อื่นๆ ด้วยการออกแบบให้การเปิดกล่องมีลักษณะเหมือนกับการเปิดประตูบานคู่ออกมา ต่างจากกล่องมือถือทั่วไปที่มักจะเป็นฝาครอบปิดด้านหน้าอย่างเดียว ส่วนอุปกรณ์ที่ให้มาในกล่อง ก็เป็นไปตามมาตรฐานของสมาร์ทโฟนครับ ได้แก่อะแดปเตอร์ชาร์จไฟที่รองรับ SuperCharge, สาย USB-C 3.1 ที่รองรับ SuperCharge เช่นเดียวกัน, หูฟังสมอลล์ทอล์คแบบอินเอียร์, เคสพลาสติกใส, ฟิล์มกันรอยหน้าจอ, เข็มจิ้มถาดใส่ซิม และก็เอกสารคู่มือ การรับประกันตามปกติ
สำหรับรูปกล่อง Huawei P10 Plus และอุปกรณ์ต่างๆ ก็ตามในแกลเลอรี่ด้านล่างนี้เลยครับ
ส่วนภาพต่างๆ ของตัวเครื่องก็ตามแกลเลอรี่ด้านล่างนี้เลย
Software
Huawei P10 Plus มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Android 7.0 Nougat ที่ครอบมาด้วย Emotion UI (EMUI) เวอร์ชัน 5.1 ซึ่งเป็นรุ่นล่าสุด ตัวลันเชอร์เองก็มีความไหลลื่นดี เลือกใช้การวางไอคอนแอปทั้งหมดบนแต่ละหน้าของหน้าโฮมเลย ซึ่งก็ช่วยให้การหาแอปที่ต้องการทำได้ง่าย แต่หากใครชินกับการใช้หน้ารวมแอป (App drawer) ตัวระบบก็มีตัวเลือกให้สลับไปเป็นแบบมีหน้ารวมแอปได้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ก็มีลูกเล่นในการปรับเปลี่ยนธีม เปลี่ยนไอคอนได้พอสมควร แอปติดเครื่องมาก็มีอยู่เล็กน้อย สามารถลบออกได้ รวมถึงมีแอปที่เป็นระบบของ Huawei เองมาอีกเช่นเคย ตัวอย่างก็พวก Health, HiCare และ HiCloud เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้การซิงค์ข้อมูลร่วมกับบัญชี Huawei ID ที่สามารถสร้างขึ้นได้จากในเครื่องเลย
เรื่องพื้นที่เก็บข้อมูลในตัวเครื่อง สำหรับรุ่นความจุ 64 GB เมื่อเปิดเครื่องครั้งแรก ก็จะมีพื้นที่เหลือให้ใช้งานประมาณ 49.5 GB ถ้าเป็นคนที่ชอบถ่ายภาพ โดยเฉพาะถ่ายด้วยโหมด Pro แล้วตั้งค่าให้เก็บไฟล์ RAW ด้วย แนะนำว่าหา MicroSD ที่มีความเร็วในการอ่านเขียนสูงๆ หน่อยมาใช้งาน แล้วตั้งค่าให้เก็บภาพลงในการ์ดด้วยก็จะดีครับ เพื่อป้องกันปัญหาไฟล์ภาพกินพื้นที่ในเครื่องมากไป จนทำให้ประสิทธิภาพลดลง
Feature
ฟีเจอร์ของปุ่มโฮมที่รองรับ gesture การสั่งงานจากปลายนิ้วด้วย อันเป็นฟีเจอร์ที่ได้รับตกทอดมาจากในซีรีส์ Mate 9 และ Mate 9 Pro นับว่าเป็นสิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการใช้งานได้ดีมากๆ ทีเดียวครับ โดยวิธีใช้ก็อย่างที่เกริ่นไว้แล้วในส่วนของการออกแบบเครื่องด้านหน้า ทำให้เวลาใช้งานจริง ผู้ใช้เพียงแค่สัมผัสกับปุ่มโฮมเท่านั้น นอกจากนี้ยังทำให้จอสามารถแสดงผลภาพได้เต็มๆ ไม่ต้องกังวลว่าเวลาเปิดแอปเต็มจอในแนวนอนแล้วจะมีแถบปุ่มขึ้นมาสร้างความรำคาญ
แต่ทั้งนี้ ค่าเริ่มต้นของระบบจะปิดการทำงานของฟีเจอร์นี้เอาไว้อยู่นะครับ ต้องเข้าไปเปิดจากในหน้าการตั้งค่าของระบบซะก่อน เมื่อเปิดเรียบร้อยแล้วก็จะมีป๊อปอัพเด้งขึ้นมาเพื่อชี้แจงรูปแบบของ gesture ว่าทำอย่างไรได้บ้าง เสียดายที่ไม่สามารถปรับแต่งได้ ต้องใช้ไปตามรูปแบบที่ระบบกำหนดมาเท่านั้น
อีกฟีเจอร์ที่น่าสนใจก็คือการใช้ Huawei P10 Plus เป็นรีโมทควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านผ่านการส่งสัญญาณอินฟราเรดที่ขอบบนของเครื่อง โดยตัวแอปในเครื่องจะใช้ชื่อว่า Smart Remote เมื่อเปิดเข้ามาก็จะให้ผู้ใช้ตั้งค่าก่อนเลยว่าจะใช้เป็นรีโมทควบคุมอุปกรณ์ใด ขั้นแรกก็เป็นการเลือกประเภท เลือกแบรนด์แบบคร่าวๆ จากนั้นก็จะเป็นการทดสอบการกดปุ่มบนหน้าจอไปยังเครื่องใช้ไฟฟ้าว่าสามารถใช้งานได้หรือไม่ ถ้าได้ก็เรียบร้อยครับ ใช้งานได้เลย หรือถ้าใช้ไม่ได้เลย ตัว P10 Plus ก็สามารถเรียนรู้ชุดคำสั่งจากรีโมทของอุปกรณ์นั้นๆ โดยตรงได้ด้วย
จากที่ผมลองใช้งานดู ก็พบว่าสามารถใช้กับอุปกรณ์ของผมได้แบบราบรื่นมาก ทั้งทีวีแบรนด์เกาหลี, กล่องเคเบิ้ลทีวี รวมถึงเครื่องปรับอากาศก็สามารถอ่านค่าและใช้งานได้ในแทบจะทันที ไม่ต้องมาแพร์แบบ manual แต่อย่างใด
Camera
มาถึงส่วนที่เป็นไฮไลท์สุดของ Huawei P10 Plus แล้วครับ นั่นคือกล้องหลังที่ได้รับการปรับปรุงจากรุ่นเดิมอย่างเห็นได้ชัดคือ การปรับมาใช้เลนส์ตัวใหม่อย่าง LEICA Summilux-H ASPH รูรับแสง f/1.8 ซึ่งเกิดจากการพัฒนาของศูนย์วิจัยที่เป็นการร่วมมือกันระหว่าง Huawei และ Leica ซึ่งนอกเหนือด้านฮาร์ดแวร์แล้ว ยังมีการพัฒนาในส่วนของซอฟต์แวร์ประมวลผลภาพอีก อย่างเช่นด้านการประมวลผลและจดจำใบหน้าแบบ 3 มิติ ที่ทำให้การถ่ายภาพบุคคลมีความเป็นธรรมชาติในแบบฉบับของ Leica มากขึ้น จนกำเนิดมาเป็นโหมด Portrait ใน P10 และ P10 Plus นั่นเอง ซึ่งในส่วนของระบบกล้องโดยรวม Huawei จะใช้ชื่อเรียกว่า Leica Dual Camera 2.0 ครับ
ส่วนกล้องหน้าก็เปลี่ยนมาใช้เลนส์ Leica ความละเอียด 8 ล้านพิกเซล ทำให้ภาพที่ออกมามีความสวยงาม คมชัด และให้โทนในแบบของ Leica ด้วยเช่นกัน และยังมีลูกเล่นเพิ่มเติมอย่างการปรับเฟรมภาพให้กว้างขึ้นโดยอัตโนมัติ เมื่อระบบตรวจพบว่ามีคนมากกว่า 3 คนขึ้นไป เหมาะกับการถ่ายเซลฟี่แบบกลุ่มมากๆ
เจาะที่กล้องหลัง รอบนี้ Huawei ยังคงใช้กล้องคู่ที่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง 2 เซ็นเซอร์เช่นเดิม แต่เปลี่ยนตัวของเซ็นเซอร์ขาวดำ (Monochrome) ให้มีความละเอียดเพิ่มเป็น 20 ล้านพิกเซล ส่วนเซ็นเซอร์สี (RGB) ยังคงใช้ความละเอียด 12 ล้านพิกเซลเท่าเดิมอยู่ ซึ่งแต่เดิมแล้ว เซ็นเซอร์ขาวดำจะใช้เป็นตัวเก็บรายละเอียดต่างๆ ในภาพ เพื่อนำมาประกอบกับภาพจากเซ็นเซอร์สี เพื่อทำให้ภาพถ่ายดูมีรายละเอียด มีมิติและ dynamic range มากขึ้น คราวนี้พอเพิ่มความละเอียดของเซ็นเซอร์ขาวดำขึ้นไป ประกอบกับการทำงานของฟีเจอร์กันสั่น ก็ยิ่งทำให้ภาพที่ออกมามีความคมชัด อัดแน่นด้วยรายละเอียดต่างๆ เพิ่มขึ้นไปอีก
นอกจากนี้ยังแก้จุดอ่อนในรุ่นก่อนหน้าที่มีเสียงจากผู้ใช้งานจริงว่าภาพดูมืดไปหน่อยได้อีกด้วย จากการเปลี่ยนมาใช้เลนส์ที่รูรับแสงกว้างขึ้น ทำให้สามารถรับแสงได้มากกว่าเดิม ในขณะเดียวกันก็ทำให้การถ่ายภาพแบบหน้าชัดหลังเบลอ ถ่ายโบเก้แบบธรรมชาติจากหลักการทำงานของเลนส์ได้สวยงามมากขึ้นไปด้วย
Portrait Mode
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นครับว่า Huawei P10 Plus มีโหมด Portrait สำหรับถ่ายภาพบุคคลเพิ่มเข้ามา ซึ่งโหมดนี้เปรียบได้กับการจับโหมดรูรับแสงกว้าง (Wide Aperture) มาทำงานร่วมโหมดบิวตี้, การปรับให้ภาพมีสีสันสดใสขึ้น พร้อมระบบการตรวจจับใบหน้าแบบ 3 มิติ บวกกับการใส่สไตล์แบบ Leica เข้าไป เพื่อให้ภาพถ่ายบุคคลดูสวยงาม มีมิติและดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น
ซึ่งจากการทดสอบดู พบว่าถ้าใช้โหมด Portrait ถ่ายบุคคล ตัวระบบจะมีการใส่เอฟเฟ็กต์แสงเพิ่มเข้ามาเสมือนว่ากำลังถ่ายในสตูดิโอแบบมีการจัดไฟเลยทีเดียว ซึ่งจะเห็นผลของความแตกต่างกับการถ่ายด้วยโหมด auto ตามปกติที่สุดก็ตอนที่ถ่ายในห้องที่มีแสงเข้ามาหาตัวแบบในบางทิศทางเท่านั้น แต่ถ้าเอาไปถ่ายกลางแจ้ง จะเห็นแต่ความเบลอของฉากหลังที่ดูเป็นธรรมชาติขึ้นซะมากกว่า เนื่องจากเวลาถ่ายกลางแจ้ง แสงมันแทบจะฉายไปที่ตัวแบบซะเกือบทุกทิศทางอยู่แล้ว
โดยโหมด Portrait นี้ สามารถใช้ได้ทั้งการถ่ายภาพสีและถ่ายในโหมดขาวดำ (Monochrome) เลยครับ จากที่ผมลองแล้ว พอถ่ายในโหมดขาวดำนี่มันให้สไตล์แบบ Leica ออกมาชัดเจนดีมากๆ เลย
Hybrid Zoom
อีกลูกเล่นที่มีการเพิ่มเข้ามาใน Huawei P10 Plus ก็คือ Hybrid Zoom ของกล้องหลัง ซึ่งจะเกิดจากการทำงานของทั้ง 2 เซ็นเซอร์ร่วมกัน ทำให้สามารถซูมภาพแบบดิจิตอลได้ 2 เท่าแบบที่ภาพไม่แตก (ที่จริงซูมได้มากกว่านี้ แต่ระยะที่จะเป็นไฮบริดซูมจะอยู่ที่ 2x เท่านั้น)
แต่ตัวไฮบริดซูมก็มีข้อจำกัดเล็กน้อยครับ เพราะมันสามารถใช้ได้กับการตั้งค่าความละเอียดภาพที่ 12 ล้านพิกเซลเท่านั้น หากตั้งไว้ที่ 20 ล้านพิกเซลอยู่ เวลาซูมภาพก่อนถ่าย จะไม่สามารถใช้งานไฮบริดซูมได้เลย ต้องปรับลงมาเหลือ 12 ล้านก่อน ตัวไฮบริดซูมถึงจะทำงาน
ทีนี้มาดูภาพถ่ายบุคคลที่ได้จากโหมดต่างๆ ของ Huawei P10 Plus กันครับ
ภาพสี
พอลองจับภาพสีที่ถ่ายจากทั้ง 4 โหมดก็จะเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนเลยทีเดียว โดยแต่ละโหมดก็จะมีลักษณะภาพดังนี้
- Auto: ภาพมีความชัดทั้งภาพ เหมาะกับการถ่ายแบบอยากให้เห็นทั้งคนและวิว
- Portrait: ภาพดูมีมิติมากขึ้นด้วยการเพิ่มความเบลอที่พื้นหลัง ช่วยขับให้ตัวแบบเด่นขึ้นมา รวมถึงมีการเกลี่ยผิวให้เนียนแบบโหมดบิวตี้ มีการใส่แสงเพิ่มเข้าไปที่หน้า และเพิ่มสีสันให้มีความสดใสมากยิ่งขึ้นด้วย
- Wide Aperture: ในการทดสอบนี้ผมเลือกตั้งค่าที่ F/2.0 ซึ่งน่าจะเหมาะกับการถ่ายคนมากที่สุด เพราะเป็นช่วงที่ทำให้ตัวแบบมีความคมเท่ากัน ไม่ชัดลึกจนเกินไป และค่อนข้างใกล้เคียงกับการถ่ายปกติที่โหมดอื่นๆ ผลคือภาพมีความใกล้เคียงกับโหมด Portrait เลย เพียงแต่ไม่มีการเพิ่มแสงเข้าไปที่ใบหน้า ทำให้ภาพดูมืดกว่าเล็กน้อย การเบลอฉากหลังก็ไม่เนียนเท่าโหมด Portrait ด้วย
- Hybrid Zoom: พอลองซูมเข้ามาจากตำแหน่งยืนจุดเดิม พบว่าภาพดูมีมิติ มีการเบลอหลังได้เนียนพอสมควร ให้องศาภาพที่ดูแคบขึ้นเสมือนกับการเปลี่ยนเลนส์ในกล้อง DSLR จากเลนส์มุมกว้าง มาเป็นเลนส์เทเลที่มุมแคบลงเลย
ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ยังดีที่ระบบค่อนข้างฉลาด เบลอเสาไฟตรงศีรษะไปด้วย เพราะมันอยู่ในตำแหน่งที่อาจหลอกระบบให้เข้าใจผิดว่าอยู่ระนาบเดียวกับตัวแบบได้ง่ายมากครับ จุดนี้จัดว่าทีมปรับจูนซอฟต์แวร์ประมวลผลภาพทำงานได้ดีมากจริงๆ
ภาพขาวดำ
ส่วนของโหมดขาวดำ (Monochrome) ก็มีลักษณะภาพออกมาใกล้เคียงกันครับ ที่เห็นได้ชัดคือภาพที่ได้จากโหมด Portrait และ Wide Aperture จะมี contrast จัดกว่าอีกสองโหมดที่เหลือเล็กน้อย ทำให้ภาพดูมีมิติในสไตล์ Leica มากขึ้น แต่ด้วยความที่เป็นการถ่ายกลางแจ้ง จึงอาจจะสังเกตความแตกต่างของทั้งสองโหมดนี้ได้ยากกว่าปกติเล็กน้อย
คุณภาพของไฟล์ RAW จากกล้องหลังของ Huawei P10 Plus ก็ยังคงเชื่อใจได้เบอร์ต้นๆ ในระดับของสมาร์ทโฟนด้วยกันเลยทีเดียว อย่างภาพด้านบน เกิดจากกระบวนการถ่ายและตกแต่งภาพดังนี้
- ตั้งขาตั้งกล้อง ถ่ายภาพมุมเดียวกันมา 5 ช็อต โดยแต่ละช็อตผมเลือกความเร็วชัตเตอร์ให้มีความแตกต่างกัน เพื่อให้ได้ภาพที่มีความสว่างแตกต่างกัน 5 ระดับ
- นำไฟล์ RAW ของแต่ละภาพมารวมกันแบบ HDR จากในโปรแกรม Lightroom บนคอมพิวเตอร์
- ตกแต่งภาพเพิ่มเติมนิดหน่อย และ crop ภาพออกนิดนึง
ส่วนด้านล่างนี้ก็เป็นแกลเลอรี่รวมภาพถ่ายจากกล้องหลังของ Huawei P10 Plus ครับ
Performance
ฮาร์ดแวร์ภายในของ Huawei P10 Plus ก็จะเหมือนกับใน P10 แบบเกือบทั้งหมด ไล่จากชิปประมวลผลที่ใช้ชิป HiSilicon Kirin 960 แบบ 8 คอร์ ทำงานร่วมกับแรม DDR4 ที่ใส่ให้มา 4 GB ซึ่งตรงนี้ก็มั่นใจได้เลยว่าเป็นชิปแรมแบบ DDR4 แน่นอน เนื่องจากตัว CPU Kirin 960 นั้นไม่สามารถทำงานร่วมกับแรม DDR3 ได้ โดยคะแนนทดสอบประสิทธิภาพก็เป็นไปตามแอปตัวอย่างในภาพด้านบนเลยครับ จัดว่าอยู่ในระดับกลางๆ เหลือเฟือสำหรับใช้งานทั่วไป ส่วนถ้าจะเล่นเกม ก็พบว่าสามารถเล่นเกมพื้นๆ ยอดนิยมส่วนใหญ่ในตลาดได้แทบทั้งหมด ถ้าพบว่าแอปหรือเกมใดที่ยังไม่รองรับ ก็จะเกิดจากการที่ผู้เขียนแอปยังไม่ได้ปรับแอปให้สามารถทำงานได้กับชิป Kirin นั่นเอง ซึ่งยังคงเป็นหนึ่งในข้อจำกัดของทางฝั่ง Huawei อยู่เหมือนกัน
ส่วนภาพริมขวาสุดก็เป็นการทดลองใช้แอป AndroBench สำหรับทดสอบชิปรอมในเครื่องดูครับ สำหรับ Huawei P10 Plus เครื่องที่ผมได้รับมาทดสอบนี้ก็สามารถทำความเร็วในการอ่านข้อมูลแบบตามลำดับแอดเดรส (Sequential Read) ได้สูงถึงราว 740 MB/s ถ้าดูที่ระดับความเร็วแล้ว ก็ยืนยันได้เลยครับว่าเป็นชิปแบบ UFS แน่นอน ส่วนเรื่องของเวอร์ชัน ก็คาดว่าน่าจะเป็น UFS 2.1 นะครับ เนื่องจากการระบุว่าจะเป็น UFS 2.0 หรือ 2.1 นั้น ไม่ได้มีแต่เพียงดูที่ความเร็วอย่างเดียว เพราะความแตกต่างหลักๆ ของทั้งสองเวอร์ชันนี้จะเป็นฟีเจอร์อื่นเพิ่มเติมเข้ามา เช่น ฟีเจอร์ด้านความปลอดภัยซะมากกว่า แถมดูเหมือนว่าตัวระบบ Android เองจะยังไม่สามารถเรียกใช้งานฟีเจอร์ที่มีเพิ่มเข้ามาใน UFS 2.1 ได้อีกด้วย
อันที่จริงแล้ว ขอแค่ชิปรอมในเครื่องเป็น UFS นี่ก็ยอดเยี่ยมมากแล้วครับ เนื่องจากมือถือเกินกว่า 90% ในตลาดตอนนี้ยังคงใช้ชิปแบบ eMMC กันอยู่เลย (รุ่นระดับท็อปบางตัวก็ยังใช้ eMMC เลยด้วยซ้ำ)
เรื่องแบตเตอรี่ของ Huawei P10 Plus จัดว่าอยู่ในกลุ่มใช้งานทั่วไปได้แบบไม่ต้องกังวล ด้วยความจุแบตเตอรี่ที่ให้มาในตัวถึง 3750 mAh ที่นับว่าสูงมาก สำหรับสมาร์ทโฟนจอ 5.5 นิ้ว แม้ว่าจะใส่จอความละเอียดสูงระดับ 2K มาก็ตาม แต่จากที่ผมใช้งานจริงด้วยรูปแบบการใช้งานทั่วๆ ไปเช่น ต่อเน็ต 4G ตลอดเวลา เล่น Facebook, แชท Line แบบเรื่อยๆ ไม่ถึงขั้นตลอดเวลา, อ่านข้อมูลบนหน้าเว็บไซต์, ถ่ายรูป, ปรับความสว่างหน้าจออัตโนมัติ ก็พบว่าสามารถใช้งานจนจบวันได้แบบไม่ลำบากจนเกินไป
สำหรับจุดที่เป็นไฮไลท์จริงๆ ก็คือการชาร์จไฟแบบ Super Charge ของ Huawei เอง ซึ่งเหนือกว่า Quick Charge ขึ้นไปอีก โดยต้องใช้อะแดปเตอร์และสายที่รองรับ Super Charge เท่านั้น จึงจะอัดไฟเข้าได้แบบมีประสิทธิภาพสูงสุด สำหรับอะแดปเตอร์ที่รองรับก็จะเป็นของ Huawei เองที่มีเขียน SuperCharge เท่านั้น เนื่องจากภายในจะมีชิปควบคุมที่จะคุยกับชิปในมือถือ เพื่อควบคุมการปล่อยและรับกระแสไฟฟ้าอันเป็นระบบโดยเฉพาะของ Huawei เอง
นอกจากนี้ส่วนของสายชาร์จก็ต้องรองรับ Super Charge ด้วยเช่นกัน โดยมีข้อสังเกตง่ายๆ คือขั้วภายในของปลายสายทั้งฝั่ง USB-A และ USB-C จะต้องเป็นสีม่วงอย่างภาพในแกลเลอรี่ด้านบนๆ เท่านั้น ซึ่งตรงจุดนี้ Huawei ทำได้ดีครับ เพราะในกล่องจะมีแถมทั้งอะแดปเตอร์และสายชาร์จที่รองรับ Super Charge มาให้เลย ไม่ต้องไปหาซื้อเพิ่มเติมอีกแล้ว หรือถ้าอยากหาสายสำรองมาใช้งาน ก็พอมีสายที่รองรับ Super Charge อยู่บ้างเหมือนกัน แต่ทางที่ดี เข้าไปซื้อสายแท้จากที่ศูนย์ฯ จะปลอดภัยที่สุดครับ อย่างน้อยเนื้องาน วัสดุภายนอกของสายแท้ก็ดีกว่าสายเทียบอย่างเห็นได้ชัดเลย
สำหรับประสิทธิภาพการชาร์จไฟของ Super Charge นั้นดีมากๆ ถ้าเป็นช่วงที่แบตใกล้หมดแล้วมาเสียบสายชาร์จ ไฟแทบจะเข้านาทีละ 1-2% เลยทีเดียว โดยวัดกระแสไฟเข้าได้ราวๆ 4.6V 3.4A จากนั้นก็จะเริ่มปรับให้ไฟเข้าน้อยลงตอนช่วงที่แบตในเครื่องชาร์จเข้าไปถึงระดับ 80% แล้ว เพื่อเป็นการถนอมสุขภาพตัวแบตเตอรี่เอง