เทียบหูฟัง HUAWEI FreeBuds 3 กับ Apple AirPods 2 ทั้งหน้าตา การใช้งาน และเสียงที่ได้

กระแสการใช้งานหูฟังไร้สายแบบ true wireless (TWS) กลายเป็นที่นิยมขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ด้วยทั้งด้านประสิทธิภาพที่ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นมา สวนทางกับราคาที่มีแนวโน้มถูกลง แม้กระทั่งฝั่งของ AirPods จาก Apple เองก็ยังมีราคาปลีกที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้นพอสมควร แต่ก็จะมีหูฟัง TWS อีกรุ่นที่มาแรงมาก ๆ ในช่วงที่ผ่านมา นั่นคือ HUAWEI FreeBuds 3 ที่จัดเต็มด้านฟีเจอร์มาก ๆ โดยจุดเด่นก็คือมีระบบตัดเสียงรบกวนภายนอกมาให้ มีชิปช่วยจัดการด้านการเชื่อมต่อโดยเฉพาะ เป็นต้น

Compare Huawei FreeBuds 3 w Airpods 2 2

ซึ่งจากที่ทางเราได้รับหูฟัง HUAWEI FreeBuds 3 มาทดสอบ ก็เลยลองหยิบมาใช้งานเทียบกับ Apple AirPods 2 ที่ผมมีใช้งานส่วนตัวดูซักหน่อยครับ โดยตอนนี้แม้ว่าราคาของ AirPods 2 จากทาง Apple จะอยู่ที่ 5,990 บาท ซึ่งสูงกว่า HUAWEI FreeBuds 3 อยู่พอสมควร (4,990 บาท) แต่ในช่วงนี้เราก็เริ่มเห็นร้านค้าปลีกหลาย ๆ ราย จับ AirPods 2 มาลดราคาเหลือจนมาชนกับ FreeBuds 3 อยู่บ้างเหมือนกัน ดังนั้นก็น่าจะทำให้ทั้งสองรุ่นนี้เป็นคู่เปรียบเทียบที่น่าสนใจสำหรับคนที่กำลังมองหาหูฟัง TWS ในช่วงราคาประมาณครึ่งหมื่นได้อยู่เหมือนกัน

เริ่มเทียบกันตั้งแต่เคสเลยแล้วกันครับ รูปทรงของทั้งสองรุ่นจะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ฝั่งของ FreeBuds 3 จะค่อนข้างคล้ายตลับแป้งมาก ๆ รูปทรงกลมมนไปแทบทุกจุด ส่วนฝั่งของ AirPods 2 จะเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน ถ้าให้เทียบขนาดโดยรวม เคสของ AirPods 2 จะเล็กกว่าอยู่นิดนึง

Compare Huawei FreeBuds 3 w Airpods 2 4

ปุ่มสำหรับใช้ในการเชื่อมต่อหูฟังกับมือถือจะวางในตำแหน่งที่ต่างกันครับ โดยของ FreeBuds 3 จะวางอยู่ตรงสันด้านข้าง ถ้าเป็นรุ่นสีดำจะสังเกตยากนิดนึง ส่วนของ AirPods 2 จะอยู่ด้านหลัง บริเวณใต้ข้อพับของฝาปิด

Compare Huawei FreeBuds 3 w Airpods 2 5

ลักษณะการเปิด/ปิดฝาของทั้งสองรุ่นจะเป็นแบบเดียวกันครับ คือใช้ข้อพับเป็นตัวเชื่อม สามารถเปิด/ปิดโดยใช้มือเดียวได้สะดวก โดยจะมีแรงแม่เหล็กอ่อน ๆ คอยดูดฝาเอาไว้ เพื่อไม่ให้ฝาเปิดเองโดยไม่ได้ตั้งใจ

Compare Huawei FreeBuds 3 w Airpods 2 6

พอร์ตสำหรับชาร์จไฟให้กับทั้งสองรุ่นก็จะมีความแตกต่างกันอยู่ โดยของ HUAWEI FreeBuds 3 จะใช้เป็นพอร์ต USB-C ในขณะที่ของ AirPods 2 จะเป็น Lightning ซึ่งทั้งสองก็เป็นพอร์ตชาร์จหลักสำหรับสมาร์ทโฟนของทั้งสองค่ายเองอยู่แล้ว ดังนั้นจึงสามารถใช้สายชาร์จมือถือในการชาร์จได้เลย

แต่ FreeBuds 3 จะได้เปรียบอยู่นิดนึง เพราะตัวเคสรองรับการชาร์จไร้สายได้เลย ต่างจากฝั่ง AirPods 2 ที่ในไทยต้องเลือกซื้อรุ่นที่มาพร้อมเคสชาร์จไร้สายด้วย ซึ่งราคาก็บวกจากรุ่นปกติถึง 1,500 บาทเลยทีเดียว ดังนั้น HUAWEI FreeBuds 3 จึงมีข้อได้เปรียบในการชาร์จไฟที่ยืดหยุ่นมากกว่าอยู่เล็กน้อย

ส่วนเรื่องระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ ถ้าตามสเปคที่ผู้ผลิตระบุก็ได้แก่

Apple AirPods 2

  • ใช้ฟังเพลงได้นานสุด 5 ชั่วโมง
  • ใช้ฟังเพลงได้นานกว่า 24 ชั่วโมง (เมื่อมีเคสชาร์จ)

HUAWEI FreeBuds 3

  • ใช้งานได้นานสุด 4 ชั่วโมง
  • ใช้งานได้นานกว่า 20 ชั่วโมง (เมื่อมีเคสชาร์จ)

เมื่อนำมาใช้งานจริง เท่าที่พบคือทั้งสองรุ่นสามารถใช้งานได้พอ ๆ กันครับ แต่ของ AirPods 2 จะมีระยะเวลาใช้งานรวมที่ยาวนานกว่า ซึ่งก็เป็นจุดที่เข้าใจได้ เพราะฝั่งของ FreeBuds 3 นั้นมีฟังก์ชันตัดเสียงรบกวนด้วย

Compare Huawei FreeBuds 3 w Airpods 2 3

เมื่อเปิดฝาเคสขึ้นมา ก็จะพบหูฟังวางอยู่ในลักษณะคล้าย ๆ กันเลย มีไฟแสดงสถานะแบตเตอรี่เป็นจุดอยู่ตรงกลาง ส่วนการหยิบหูฟังขึ้นมา ส่วนตัวผมรู้สึกว่า AirPods 2 จะหยิบขึ้นมาได้ง่ายกว่า ในขณะที่ FreeBuds 3 จะต้องใช้ปลายนิ้วคีบที่บริเวณก้านหูฟัง ซึ่งผิวพลาสติกนั้นค่อนข้างลื่น เลยทำให้หยิบขึ้นมาได้ยากกว่านิดหน่อย

Compare Huawei FreeBuds 3 w Airpods 2 7

ขนาดของหูฟังทั้งสองรุ่นจะค่อนข้างใกล้เคียงกันมาก ต่างกันที่ก้านของ FreeBuds 3 จะยาวและอวบกว่าเล็กน้อย ส่วนช่องตะแกรงที่ให้เสียงออกมา และตำแหน่งของเซ็นเซอร์จะคล้ายกันพอสมควร

หูฟังทั้งสองรุ่น รองรับการสั่งงานด้วยการแตะเบา ๆ สองครั้งที่หูฟังได้ทั้งสองข้างเหมือนกันเลยครับ แต่รายละเอียดสำหรับการตั้งค่าจะแตกต่างกัน ซึ่งจะมีการพูดถึงในส่วนของการรีวิวซอฟต์แวร์ตรงท้ายบทความ

Compare Huawei FreeBuds 3 w Airpods 2 9

ปลายก้านหูฟังของทั้งสองจะมีการออกแบบที่แตกต่างกันอยู่ครับ โดย FreeBuds 3 จะเป็นปลายปิด แบบมีช่องรับเสียงขนาดเล็กทางด้านหน้า เพื่อให้สามารถรับเสียงพูดได้สะดวก ส่วนของ AirPods 2 จะออกแบบมาเป็นตะแกรงที่ด้านล่างสุดเลย ทำให้ทิศทางในการรับเสียงจะกว้างกว่า FreeBuds 3 เล็กน้อย

ด้านของประสิทธิภาพการรับเสียงจากไมโครโฟนของหูฟังทั้งสองรุ่น เท่าที่ทดสอบก็ถือว่าทำได้อยู่ในระดับที่ดีทั้งคู่ครับ แต่เสียงจาก AirPods 2 จะค่อนข้างคมชัดกว่าเล็กน้อย แต่ไม่ได้ถึงขั้นต่างกันมากมาย

Compare Huawei FreeBuds 3 w Airpods 2 12

ความรู้สึกตอนที่ใช้งาน

AirPods 2: ใส่แล้วสบาย ส่วนโค้งมนเข้ากับช่องหูพอดี ไม่หลุดง่าย

FreeBuds 3: ตอนใส่ครั้งแรก ตรงบริเวณขอบพลาสติกของช่องเสียงจะบาดใบหูเล็กน้อย แต่พอใส่ไปซักพัก อาการก็หายไปเอง ส่วนเมื่อใช้ไปซักพัก ด้วยความที่ผิวพลาสติกค่อนข้างลื่น เลยทำให้หูฟังอาจลื่นหลุดได้เหมือนกัน

เสียงที่ได้ (จากความเห็นส่วนตัว)

AirPods 2: เสียงโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง เบสบวมไปหน่อย

FreeBuds 3: เสียงครบ อิมแพคแน่นกว่า เบสไม่บวม สเตจเสียงและเนื้อเสียงดีกว่า AirPods 2

ทั้งสองรุ่น ใช้ดูหนังฟังเพลง เล่นเกมได้สบาย มีดีเลย์บ้างเล็กน้อยตามแบบหูฟังไร้สาย

ระบบช่วยตัดเสียงรบกวน ANC

AirPods 2: ไม่มี (ถ้าอยากได้ต้องซื้อ AirPods Pro)

FreeBuds 3: ใช้งานจริงได้ดีเกินคาด สามารถตัดเสียงรบกวนขณะอยู่บนเครื่องบิน รถบัส หรือเดินริมถนนได้สบาย

freebuds

ด้านของซอฟต์แวร์ ฝั่ง HUAWEI FreeBuds 3 เองก็สามารถนำไปใช้งานกับมือถือรุ่นอื่น ๆ ได้ โดยการติดตั้งแอป AI Life (เฉพาะ Android) แล้วก็สามารถจัดการด้านการเชื่อมต่อ การปรับแต่งต่าง ๆ ได้ทันที เช่น

  • ตรวจสอบปริมาณแบตเตอรี่ของหูฟังแต่ละข้างและเคสชาร์จ
  • ปรับเปลี่ยนคำสั่งเมื่อผู้ใช้แตะสองครั้งที่หูฟังแต่ละข้าง โดยคำสั่งที่มีให้ใช้ก็ได้แก่
    • เล่น/ข้ามไปเพลงถัดไป
    • เล่น/หยุดเพลง
    • เรียกใช้งานผู้ช่วย (Google Assistant)
    • เปิด/ปิดระบบตัดเสียงรบกวน
    • ไม่ตั้งค่าคำสั่งใด ๆ

ที่น่าเสียดายก็คือไม่มีหูฟังข้างไหนเลยที่รองรับการแตะสองครั้งเพื่อย้อนกลับไปเล่นเพลงก่อนหน้านี้เลยครับ มีแต่ข้ามไปเพลงถัดไปทั้งนั้น

ส่วนในภาพสุดท้ายก็คือตัวปรับระดับของฟังก์ชันช่วยตัดเสียงรบกวน โดยผู้ใช้สามารถเลื่อนจุดวงกลมเพื่อปรับระดับได้ตามต้องการ

แต่อันที่จริงแล้วหูฟัง FreeBuds 3 ยังมีลูกเล่นเสริมอื่นอีก เช่น หยุดเล่นเพลงอัตโนมัติเมื่อดึงหูฟังออกจากหู รวมถึงหน้าจอป๊อปอัพเมื่อเปิดฝาตลับหูฟังขึ้นมา เพื่อแสดงปริมาณแบตเตอรี่ ซึ่งฟังก์ชันเหล่านี้จะทำงานเมื่อใช้ FreeBuds 3 ร่วมกับมือถือ HUAWEI ที่ใช้ EMUI 10 ขึ้นไปเท่านั้น (แถมยังไม่จำเป็นต้องติดตั้งแอป AI Life ด้วย เพราะระบบจะฝังมาใน EMUI 10 เลย)

สำหรับใครที่ต้องการนำ FreeBuds 3 ไปใช้กับอุปกรณ์ฝั่ง iOS ก็ทำได้เช่นกันครับ แต่จะไม่สามารถปรับตั้งค่าอะไรได้เลย เนื่องจากแอป AI Life ไม่มีเวอร์ชันสำหรับ iOS ดังนั้นหากต้องการตั้งค่าการสั่งงาน ตั้งค่าระบบตัดเสียงรบกวน ก็ต้องจับคู่ FreeBuds 3 เข้ากับมือถือ Android ซักเครื่องก่อน ปรับแต่งให้เรียบร้อย แล้วค่อย unpair เพื่อไปจับคู่กับอุปกรณ์ iOS อีกที

airpods1

ส่วนฝั่งของ AirPods 2 เมื่อจับคู่กับอุปกรณ์ iOS ก็เสมือนเป็นคู่ตรงข้ามกันกับ FreeBuds 3 ที่จับคู่กับมือถือ HUAWEI (EMUI 10) เลยครับ การเชื่อมต่อรวดเร็วพอกัน มีป๊อปอัพแสดงปริมาณแบตเตอรี่ให้ รวมถึงมีเมนูปรับตั้งค่าจากในการตั้งค่าของระบบได้เลย

โดยของ AirPods 2 จะมีจุดที่สามารถตั้งค่าได้ก็เช่น รูปแบบการสั่งงานเมื่อแตะสองครั้งที่หูฟังแต่ละข้าง (สามารถย้อนไปเพลงก่อนหน้าได้) มีตัวเปิด/ปิดระบบตรวจจับการใช้งาน และก็มีตัวตั้งค่าได้ว่าจะให้ใช้ไมโครโฟนที่อยู่ในหูฟังข้างใดบ้าง

รวม ๆ แล้ว HUAWEI FreeBuds 3 เอง ถ้าให้มาเทียบกับ Apple AirPods 2 ส่วนตัวผมมองว่า FreeBuds 3 มีภาษีหลาย ๆ ด้านที่เหนือกว่าอยู่ เช่น

  • เสียงดีกว่า แน่นกว่า
  • มีระบบตัดเสียงรบกวน ANC ที่ใช้งานได้จริง ๆ
  • รองรับการชาร์จไร้สาย

ซึ่งจุดเด่นในบางข้อ ก็เป็นจุดที่น่าจะถูกใจผู้ที่กำลังมองหาหูฟัง TWS เสียงดีเพื่อใช้ในการดูหนังฟังเพลงอยู่พอดี

ส่วนฝั่งของ AirPods 2 แม้ว่าจะด้อยในด้านคุณภาพเสียงกว่าเล็กน้อยก็ตาม แต่หนึ่งในจุดที่ทำได้ดีเสมอก็คือความเร็ว ความคล่องตัวในการเชื่อมต่อ เมื่อใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ iOS ซึ่งเป็นจุดแข็งของ environment จาก Apple มาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว

Tags:

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก