Close Menu
    Facebook X (Twitter) YouTube TikTok
    SpecPhone
    • ข่าวล่าสุด
    • รีวิว
    • ค้นหามือถือ
    • วิดีโอ
    • บทความ
    • ติดต่อเรา
    Facebook YouTube TikTok X (Twitter)
    SpecPhone
    Home»Gadgets»รีวิว HUAWEI Band 7 สมาร์ตแบนด์น้ำหนักเบา จอใหญ่ วัด SpO2 ได้ แบตสุดอึดในราคา 1,899 บาทเท่านั้น
    Gadgets

    รีวิว HUAWEI Band 7 สมาร์ตแบนด์น้ำหนักเบา จอใหญ่ วัด SpO2 ได้ แบตสุดอึดในราคา 1,899 บาทเท่านั้น

    ZeroSystemBy ZeroSystem15 สิงหาคม 2022Updated:16 สิงหาคม 2022
    Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Tumblr Email
    Share
    Facebook Twitter LinkedIn Pinterest Email

    สมาร์ตแบนด์เพื่อสุขภาพ เป็นอีกหนึ่งแก็ดเจ็ตที่ได้รับความนิยมมาเป็นเวลานานหลายปีแล้ว ด้วยความสามารถที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในด้านการเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการดูแลสุขภาพได้หลากหลายจุด และมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น ทั้งยังมีการปรับปรุงดีไซน์ให้สามารถใช้เป็นนาฬิกาข้อมือได้แบบสบาย ๆ อย่างเช่นในฝั่งของ HUAWEI เองที่ก็มีออกมาหลายรุ่น มาจนถึงในรุ่นปัจจุบันอย่าง HUAWEI Band 7 ที่เรานำมารีวิวในครั้งนี้

    รีวิว HUAWEI Band 7

    ตัวของ HUAWEI Band 7 มาพร้อมกับจุดเด่นในด้านของดีไซน์ที่บาง น้ำหนักเบา แบตอึดใช้ได้นาน รวมถึงยังสามารถวัดค่า SpO2 ที่บ่งบอกถึงความอิ่มตัวของปริมาณออกซิเจนในเลือดได้ด้วย ซึ่งเป็นค่าที่สำคัญมาก ๆ ในยุคนี้ ที่ยังคงมีโรคระบาดทางด้านระบบการหายใจอย่าง COVID-19 อยู่ เพื่อช่วยในการตรวจสอบสุขภาพของผู้ใช้ในเบื้องต้นได้ โดยที่มีดีไซน์มาในรูปแบบที่สามารถใช้เป็นนาฬิกาข้อมือได้ทันที เพิ่มความสะดวกให้กับการใช้งาน และการพกพามาก ๆ สำหรับผู้ใช้งานในยุคปัจจุบัน


    สเปคและคุณสมบัติคร่าว ๆ

    • หน้าจอ AMOLED ขนาด 1.47″ FullView แบบโค้งนูนเล็กน้อย ความละเอียด 194 x 368 รองรับ Always-on display
    • ปรับเปลี่ยนหน้าปัด (watchface) ได้มากกว่า 4,000 แบบ
    • น้ำหนัก 16 กรัม (ไม่รวมสาย) มีความหนาเพียง 9.99 มม.
    • แบตเตอรี่ใช้งานต่อเนื่องได้นานสุด 14 วัน
    • รองรับการชาร์จไว สามารถชาร์จแบตจนเต็มได้ใน 65 นาที หรือถ้าชาร์จเพียง 5 นาที ก็สามารถใช้งานต่อได้นานสุดอีก 2 วัน
    • ใช้งานได้ทั้งกับ EMUI, Android 6.0 ขึ้นไป และ iOS 9 ขึ้นไป
    • เชื่อมต่อผ่าน Bluetooth 5.0 BLE
    • กันน้ำได้ตามมาตรฐานระดับ 5ATM สามารถใส่ว่ายน้ำได้
    • วัด SpO2 และอัตราการเต้นของหัวใจแบบอัตโนมัติได้ตลอดเวลาที่ใช้งาน โดยใช้เทคโนโลยี HUAWEI TruSeenTM 4.0 รุ่นใหม่ล่าสุด
    • ตรวจวัดคุณภาพการนอนได้ด้วยเทคโนโลยี HUAWEI TruSleep™
    • ตรวจวัดระดับความเครียดของผู้ใช้ได้ด้วยเทคโนโลยี HUAWEI TruRelax™
    • รองรับการออกกำลังกายได้กว่า 96 โหมด
    • มีระบบผู้ช่วย Health Living Shamrock ที่จะช่วยเตือนเรื่องการออกกำลังกาย การลุกยืน เตือนให้ดื่มน้ำ เป็นต้น
    • มีให้เลือก 4 สีคือสีแดง ดำ ชมพูและเขียว สามารถถอดเปลี่ยนสายได้
    • ราคา 1,899 บาท

    สำหรับฟังก์ชันในการตรวจจับด้านสุขภาพ อันนี้จะมีหมายเหตุนะครับ ว่าไม่ได้ออกแบบมาให้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้ในทางการแพทย์ ดังนั้นจึงเหมาะสำหรับการใช้วัดค่าเพื่อประเมินสุขภาพเบื้องต้นแบบคร่าว ๆ เท่านั้น


    แกะกล่อง และดีไซน์ของ HUAWEI Band 7

    เปิดมาที่กล่องของ HUAWEI Band 7 ก็จะเป็นดีไซน์ที่บ่งบอกรุ่นได้ชัดเจน พร้อมกับมี 3 คุณสมบัติเด่นมาให้ นั่นคือดีไซน์ที่เน้นความบางเป็นพิเศษ รองรับการวัด SpO2 แบบอัตโนมัติ และก็แบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ยาวนาน ส่วนมุมด้านขวาล่างก็ระบุไว้ด้วยว่าทำงานโดยระบบปฏิบัติการ HarmonyOS ของ Huawei เอง ดังนั้นถ้าจะให้สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพที่สุด ก็ควรจะนำไปใช้งานร่วมกับมือถือ Huawei ที่ใช้ EMUI หรือ HarmonyOS เป็นหลัก ส่วนถ้าจะใช้กับ iPhone ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน แต่ความสามารถอาจจะลดหลั่นลงมาเล็กน้อย รวมถึงการซิงค์ข้อมูลก็อาจจะไม่สะดวกเท่า

    อุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องก็จะมีตัว Band 7 เอง สายชาร์จแบบขั้วแม่เหล็กที่อีกฝั่งเป็นหัว USB type A แบบเต็ม แล้วก็มีเอกสารการรับประกัน และคู่มือการใช้งานเบื้องต้น

    หน้าจอ AMOLED ของ HUAWEI Band 7 มีความคมชัดที่ดี มองจากด้านข้างก็ให้สีที่ไม่เพี้ยนมากนัก หน้าจอเป็นกระจก ทำให้สามารถทัชและปาดนิ้วทำได้สะดวก ไม่ติดขัด แต่ทั้งนี้จะมีขอบจอด้านล่างที่หนากว่าด้านบนพอสมควร ไม่ได้ถึงกับสมมาตรซะทีเดียว แต่ถ้าตั้งภาพ watchface เป็นพื้นหลังสีดำก็จะแทบมองไม่เห็นขอบจอเลย ด้วยความสามารถของพาเนล AMOLED ที่ให้สีดำได้ดำสนิทดี

    ส่วนความสว่างจอ ต้องบอกว่าตัว Band 7 จะไม่มีระบบปรับความสว่างหน้าจออัตโนมัติ ทำให้อาจต้องอาศัยการกดปรับด้วยตัวเอง ในกรณีที่ต้องใช้งานทั้งในที่ร่มและกลางแจ้งสลับกันไปมา โดยตัวระบบก็มีฟีเจอร์ช่วยลดแสงสว่างลงเมื่อใช้งานในเวลากลางคืนด้วย เผื่อในกรณีที่ต้องการใส่ขณะที่นอน ซึ่งเท่าที่ผมลองในตอนที่รีวิว ส่วนตัวผมว่ามันยังช่วยลดไม่ได้เยอะเท่าไหร่ แม้จะเป็นการแสดงหน้าจอในโหมด Always-on display ที่มีการปรับลดรายละเอียดการแสดงผลลงมาก็ตาม

    ที่หน้าจอแสดงเวลา ผู้ใช้สามารถปาดนิ้วจากขอบจอทั้ง 4 ด้านเข้ามาตรงกลาง เพื่อใช้เป็นทางลัดในการเปิดใช้งานฟังก์ชันต่าง ๆ ได้ด้วย ดังนี้

    • จากบนลงล่าง – เรียกหน้าจอ control center เพื่อปรับแต่งการทำงานต่าง ๆ เช่น เปิด/ปิดโหมด do not disturb หรือดูปริมาณแบตเตอรี่ เป็นต้น
    • จากล่างขึ้นบน – เรียกดูข้อความแจ้งเตือนที่ส่งมาจากมือถือ

    ส่วนถ้าเป็นการปาดด้านข้าง (ซ้ายไปขวาและขวาไปซ้าย) จะเป็นการแสดงข้อมูลแบบวนครับ มีทั้ง อัตราการเต้นหัวใจ, อัตรา SpO2, ข้อมูลสภาพอากาศ, ข้อมูล activity ring, ข้อมูลคุณภาพการนอนหลับ

    กระจกหน้าจอของ HUAWEI Band 7 จะมีความโค้งนูนเล็กน้อย ทำให้ดูรับกับข้อมือและดีไซน์ตัวเรือนได้ดี ส่วนทางฝั่งขวาจะมีปุ่ม Home/Menu อยู่เพียงปุ่มเดียว ใช้สำหรับเปิดเข้าเมนูเพื่อเลือกใช้งานฟังก์ชันต่าง ๆ หรือกดเพื่อกลับมาที่หน้าปัดแสดงเวลา ส่วนถ้าจะย้อนกลับไปหน้าจอก่อนหน้า ก็สามารถทำได้โดยปาดหน้าจอจากขอบจอฝั่งซ้ายมาทางขวา

    ด้านหลังก็จะเป็นพลาสติกสีดำผิวด้าน มีความโค้งมน ทำให้สามารถใส่ได้แบบไม่บาดผิวหนัง ตรงกลางมีเซ็นเซอร์ ร่วมกับไฟ LED ที่ใช้สำหรับการวัดอัตราการเต้นของหัวใจและ SpO2 ส่วนด้านบนจะมีจุดแม่เหล็กสำหรับใช้ชาร์จแบตเตอรี่กับสายชาร์จที่ให้มาในกล่อง

    สำหรับหัวสายชาร์จก็จะเป็นขั้วแม่เหล็ก 2 จุดดังภาพครับ สามารถประกบติดได้ด้านเดียว ทำให้เวลาชาร์จก็อาจจะต้องจัดระเบียบสายกันซักนิดนึง

    ส่วนระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ เท่าที่ผมทดสอบโดยเปิดให้วัดค่าอัตโนมัติทั้งหมด เช่น ค่าอัตราการเต้นของหัวใจ ค่า SpO2 วัดระยะเวลาที่นั่งนิ่ง ๆ รวมถึงเปิดใช้ Always-on display พบว่าในช่วงประมาณ 8 ชั่วโมง ตัว Band 7 ใช้แบตไป 15% ดังนั้นถ้าคำนวณแบบคร่าว ๆ ด้วยการตั้งค่าและใช้งานในรูปแบบเดียวกัน ผมน่าจะสามารถใช้ได้เกือบ 7 วัน แบตถึงจะหมดพอดี ซึ่งถ้าสำหรับการใช้งานจริง บางท่านอาจจะปิดฟังก์ชันบางอย่างไปก็ได้ เช่นการวัด SpO2 อัตโนมัติ เพื่อระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ที่ยาวนานยิ่งขึ้น

    ในขณะที่ใช้งานก็จะมีไฟสีเขียวออกมาเป็นระยะ ๆ ในกรณีที่ตั้งค่าให้ HUAWEI Band 7 วัดอัตราการเต้นของหัวใจและ SpO2 แบบอัตโนมัติ ที่สามารถปรับค่าได้จากในแอป HUAWEI Health

    สายของ HUAWEI Band 7 ทำออกมาเป็นแบบสายนาฬิกา ใช้วัสดุเป็นซิลิโคนที่มีความเหนียวและน้ำหนักเบา สามารถรองรับขนาดข้อมือได้หลากหลายมาก ๆ 

    การถอดเปลี่ยนสายก็ทำได้ง่ายครับ เพียงแค่ดันก้านล็อกไปตามร่องจนสุด ก็สามารถดึงสายออกมาจากขั้วได้แล้ว

    เมื่อลองใส่เพื่อใช้งาน ก็พบว่าสามารถใช้เป็นนาฬิกาข้อมือได้สบาย ๆ ต่างจากอุปกรณ์จำพวกสมาร์ตแบนด์ที่มีออกมาก่อนหน้านี้ ที่จะเน้นออกแบบให้ตัวเรือนมีหน้าแคบ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวเป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตาม ตัวของ Band 7 เองก็ยังอยู่ในระดับที่กำลังดี ไม่ได้หนาหรือเทอะทะแต่อย่างใด สามารถใส่ทำงาน ใส่ออกกำลังกายได้สบายมาก


    การจับคู่มือถือกับ HUAWEI Band 7

    ถ้าหากจะนำ HUAWEI Band 7 มาใช้ร่วมกับมือถือ Huawei รุ่นใหม่ ๆ อย่างในภาพนี้เป็น Huawei P50 ที่มาพร้อม EMUI 12.0.1 เมื่อเปิด Band 7 ขึ้นมาให้พร้อมจับคู่ ก็จะมีป๊อปอัพเด้งขึ้นมาที่จอของมือถือ ให้สามารถจับคู่กับเครื่องได้ทันที

    โดยในระหว่างการจับคู่ ก็จะมีตัวเลือกการตั้งค่าต่าง ๆ มาให้ปรับเบื้องต้นได้ตั้งแต่แรกเลย เช่น การแสดงการแจ้งเตือนจากแอปต่าง ๆ ในเครื่อง ว่าต้องการรับมาจากแอปไหนบ้าง ซึ่งมีให้เลือกได้แบบละเอียดรายแอปเลย แต่ถ้าเป็นการใช้งานร่วมกับ iPhone ตัวเลือกก็จะไม่ละเอียดเท่ากับฝั่ง EMUI/Android ครับ โดยจะปัดหลาย ๆ แอปไปอยู่ในกลุ่ม Other หมดเลย

    เมื่อตั้งค่าการจับคู่เสร็จแล้ว ก็จะสามารถเข้ามาจัดการต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำงานของ HUAWEI Band 7 ในแอป HUAWEI Health ได้ทันที


    เมนูการตั้งค่าต่าง ๆ ในแอป

    ในรีวิวส่วนนี้จะเป็นการพูดถึงการใช้งาน Band 7 ร่วมกับ Huawei P50 เป็นหลักนะครับ เริ่มจากภาพซ้ายสุดที่จะเป็นหน้าหลักสำหรับการตั้งค่าของ Band 7 ที่มีการแสดงสถานะการเชื่อมต่อ ปริมาณแบตเตอรี่ที่เหลืออยู่ รวมถึงข้อมูล activity แบบคร่าว ๆ ด้วย ได้แก่ จำนวนก้าวเดิน แคลอรี่ที่ใช้ไป และระยะการเดินในวันนั้น ๆ

    ส่วนตัวมาคือตัวจัดการหน้าจอ watchface ที่สามารถเข้าไปเลือกซื้อ เพื่อเปลี่ยนหน้า watchface เป็นแบบที่ต้องการได้ ส่วนของตัว Band 7 เองก็จะมีติดมาให้ใช้งานได้ 9 แบบ ซึ่งจะมีแบบที่ผู้ใช้สามารถนำภาพในมือถือมาใช้เป็นหน้าจอ watchface ได้ด้วย

    หัวข้อถัดมาที่น่าสนใจก็คือเกี่ยวกับด้านสุขภาพ ที่จะใช้ในการตั้งค่าการทำงานของฟังก์ชันต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการตรวจจับทางด้านสุขภาพของผู้ใช้งาน ดังภาพด้านล่างนี้ครับ

    HUAWEI TruSleep

    เป็นหน้าจอเปิด/ปิดฟังก์ชันตรวจวัดคุณภาพการนอนหลับ ที่ระบบจะทำงานอัตโนมัติโดยอาศัยการตรวจจับจากกิจกรรมของผู้ใช้งาน เพื่อนำมาประมวลผลข้อมูลการนอน อาทิ รูปแบบของการนอน การหายใจ อัตราการเต้นของหัวใจ เป็นต้น และจะมีการประเมินคะแนนเพื่อวัดคุณภาพการนอนหลับของผู้ใช้งานได้อีกด้วย

    การวัดอัตราการเต้นของหัวใจ

    หลัก ๆ เลยคือใช้สำหรับตั้งค่าระบบการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ว่าจะให้ทำงานอัตโนมัติตลอดเวลาหรือไม่ รวมถึงยังสามารถตั้งค่าให้เตือนเมื่ออัตราการเต้นของหัวใจสูงหรือต่ำกว่าค่าที่กำหนดไว้

    การทดสอบความเครียด

    สามารถตั้งค่าให้ Band 7 ช่วยวัดระดับความเครียดให้แบบอัตโนมัติตลอดวันได้ โดยก่อนที่จะใช้งานครั้งแรก ผู้ใช้ต้องตอบคำถามเพื่อวัดระดับความเครียดแบบคร่าว ๆ ก่อนด้วย ซึ่งก็ไม่ยากครับ เป็นคำถามประเมินทางจิตวิทยาแบบสั้น ๆ โดยเลือกตอบจากตัวเลือกประมาณว่า ใช่มากๆ / ใช่ / ไม่ใช่ / ไม่ใช่มาก ๆ

    การวัด SpO2 แบบอัตโนมัติ

    ก็ตามชื่อครับ คือใช้สำหรับตั้งค่าให้ HUAWEI Band 7 สามารถวัดระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดแบบอัตโนมัติเป็นระยะ ๆ ระหว่างที่กำลังสวมใส่อยู่ได้ รวมถึงสามารถตั้งให้เตือนได้ด้วยเมื่อตรวจวัดค่า SpO2 ได้ต่ำ

    การแจ้งเตือน

    เป็นเมนูที่ผู้ใช้สามารถเข้าไปเลือกได้ว่าจะให้แสดงข้อความแจ้งเตือนจากแอปใดบ้างบน Band 7 ซึ่งก็เหมือนกับตอนตั้งค่าครั้งแรกเลย

    นาฬิกาปลุก

    สามารถตั้งปลุกได้ โดยจะมีการสั่นเมื่อถึงเวลาปลุกที่ตั้งค่าไว้ ส่วนการสั่น ผู้ใช้สามารถตั้งค่าจากในเมนูการตั้งค่าหลักได้ ว่าจะให้สั่นแรงหรือสั่นเบา

    รายงานสภาพอากาศ

    สามารถดึงข้อมูลสภาพอากาศของบริเวณที่อยู่มาแสดงใน HUAWEI Band 7 ได้

    การตอบกลับด่วน

    เป็นตัวเลือกของข้อความที่ให้ผู้ใช้สามารถกดเลือกในการตอบแชทแบบง่าย ๆ ได้ เพิ่มความสะดวกในการตอบข้อความ ในกรณีที่ไม่สะดวกในการใช้มือถือ

    ถัดลงมาด้านล่าง ก็จะเจอเมนูที่น่าสนใจเช่น การตั้งค่าอุปกรณ์ ที่จะมีให้ปรับอยู่ 3 หัวข้อ เช่น การใช้ควบคุมการเล่นเพลงของมือถือ รวมถึงสามารถปรับให้ Band 7 เปิดหน้าจอขึ้นมาอัตโนมัติ เมื่อยกข้อมือขึ้นมาในลักษณะการดูเวลา

    ส่วนการอัปเดตเฟิร์มแวร์ก็สามารถทำได้จากเมนูเหมือนปกติครับ ซึ่งตอนที่ผมได้รับมารีวิว ก็จะมีอัปเดตให้กดด้วยกัน 4 รอบ


    ฟังก์ชันต่าง ๆ ของ HUAWEI Band 7

    เริ่มที่หน้าจอหลักก่อนเลย โดยผู้ใช้สามารถเลือกเปลี่ยน watchface จากรูปแบบที่อยู่ในเครื่องได้ทันที เพียงแค่แตะหน้าจอค้างไว้ นอกจากนี้ยังมีบางแบบที่สามารถปรับเปลี่ยนข้อมูลที่แสดงบนหน้าจอได้ด้วย เช่น อาจจะต้องการให้นำปริมาณแบตเตอรี่มาแสดงแทนอัตราการเต้นของหัวใจตรงมุมซ้ายบนก็ได้ เป็นต้น

    ส่วนถ้าเลือกใช้แบบที่นำภาพในมือถือมาเป็นภาพ watchface ก็จะสามารถทำได้จากในแอป HUAWEI Health บนมือถือ โดยนอกเหนือจากที่ผู้ใช้สามารถเลือกภาพหน้าจอได้แล้ว ยังสามารถเลือกได้ว่าจะให้แสดงเวลาที่ฝั่งบนหรือล่างของหน้าจอ

    ปิดท้ายด้วยภาพขวาสุด ที่จะเป็นภาพแสดงบนหน้าจอในโหมด Always-on display ที่จะทำให้หน้าจอติดเพื่อแสดงเวลาอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับเป็นนาฬิกาข้อมือ ซึ่งเพิ่มความสะดวกในการใช้งาน แต่ก็จะกินแบตเตอรี่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยด้วยเช่นกัน แต่ก็อยู่ในระดับที่โอเคครับ สามารถใช้ได้เกิน 1 สัปดาห์แน่ ๆ ขึ้นอยู่กับการตั้งค่าการตรวจจับสุขภาพแบบอัตโนมัติ และการใช้ออกกำลังกายด้วย

    ทั้งนี้ ผู้ใช้สามารถเลือกภาพหน้าจอในโหมด Always-on display คนละแบบกับภาพ watchface หลักได้ด้วย ไม่จำเป็นว่าต้องใช้เป็นชุดเดียวกันเสมอไป

    ต่อกันที่ฟังก์ชันด้านการตรวจจับข้อมูลระหว่างการออกกำลัง ซึ่งจะอยู่ในฟังก์ชัน Workout ที่เมื่อเข้าไปแล้ว ก็จะมีรูปแบบการออกกำลังกายที่เป็นที่นิยมมาให้กดเลือกได้ทันที เช่น การวิ่งในร่ม/กลางแจ้ง การเดิน การปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ การกระโดดเชือก นอกจากนี้ยังสามารถเรียกรูปแบบการออกกำลังในแบบอื่น ๆ ขึ้นมาให้เรียกใช้งานง่าย ๆ ได้ด้วย เช่น การเต้น การชกมวย พิลาทีส เตะฟุตบอล เป็นต้น

    ซึ่งระหว่างที่กำลังออกกำลังกายอยู่ หน้าจอก็จะแสดงข้อมูลที่ตรวจจับได้ในขณะนั้นมาให้แบบครบถ้วน ขึ้นอยู่กับประเภทของการออกกำลัง อาทิ อัตราการเต้นของหัวใจ ระยะทาง เวลาที่ใช้ ค่า heart rate zone รวมถึงความหนักของการออกกำลัง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถปรับรูปแบบการออกกำลังให้เป็นตามแบบที่ต้องการได้อย่างง่ายดาย

    การวัดอัตราการเต้นของหัวใจ

    จะเป็นการวัดแบบเรียลไทม์ โดยเก็บข้อมูลเป็นระยะ ๆ แบบอัตโนมัติ ถ้าหากเปิดโหมดใน HUAWEI Health ไว้ โดยจะมีการแสดงทั้งค่าล่าสุด ค่าสูงสุด/ต่ำสุด รวมถึงอัตราการเต้นของหัวใจในขณะพัก (resting) ด้วย นอกจากนี้ก็จะมีการแสดงโซนการเต้นของหัวใจด้วย ว่าในวันนั้นมีการเต้นของหัวใจที่จัดอยู่ในโซนไหน เป็นระยะเวลานานเท่าไหร่บ้าง

    การวัด SpO2

    รูปแบบการทำงานก็จะคล้าย ๆ กับการวัดอัตราการเต้นของหัวใจครับ แต่จะมีปุ่มให้กดวัดด้วยตนเองได้ด้วย สำหรับในนี้จะใช้เกณฑ์ว่าถ้าวัดได้มากกว่า 90% ขึ้น จะถือว่าอยู่ในระดับปกติ 70%-89% อยู่ในระดับเฝ้าระวัง ส่วนเรื่องความแม่นยำในการวัดก็มีระบุไว้ว่าอยู่ที่ 70%-100% จึงพอใช้งานได้คร่าว ๆ และไม่ควรใช้ในทางการแพทย์เป็นหลัก

    Activity records

    ถ้าให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือเป็นหน้าจอแสดงภาพรวมของกิจกรรมในแต่ละวัน ว่ามีการลุกขึ้นยืนกี่ครั้ง เดินไปกี่ก้าว เผาผลาญไปกี่แคลอรี เป็นต้น โดยจะมีวงแหวน activity ให้ดูด้วย

    ข้อมูลการนอนหลับ

    จะเป็นการแสดงข้อมูลการนอนแบบคร่าว ๆ เช่น ระยะเวลาที่ใช้ในการนอน ซึ่งถ้าหากต้องการดูข้อมูลทั้งหมดจริง ๆ ก็สามารถเข้าไปดูได้ในแอป HUAWEI Health ได้เลย

    ข้อมูลระดับความเครียด

    จะอาศัยการประมวลผลจากอัตราการเต้นของหัวใจ การหายใจเป็นหลัก แล้วประเมินออกมาเป็นคะแนนว่าผู้ใช้มีความเครียดอยู่ในระดับใด สำหรับระดับต่ำจะอยู่ที่ช่วง 1-29 คะแนน ระดับปกติอยู่ที่ 30-59 คะแนน

    การแจ้งเตือน

    เป็นศูนย์รวมข้อความแจ้งเตือนจากแอปต่าง ๆ ที่ส่งมายัง HUAWEI Band 7 ซึ่งผู้ใช้สามารถเข้ามากดดูย้อนหลังได้ โดยสามารถแสดงภาษาไทยได้ดี อาจจะมีจุดด้อยเรื่องการตัดคำนิดนึง แต่เรื่องสระ วรรณยุกต์ ถือว่าทำได้ดีพอตัว

    ข้อมูลสภาพอากาศ

    ระบบจะดึงข้อมูลสภาพอากาศมาจากตำแหน่ง GPS ในตัว เชื่อมโยงกับแอป HUAWEI Health ในมือถือ ที่ผู้ใช้อาจจะต้องปรับ permission ให้เข้าถึงตำแหน่งสถานที่ได้ตลอดเวลาด้วย เพื่อความแม่นยำ และการอัปเดตข้อมูลสภาพอากาศได้ตรงที่สุด ข้อมูลที่สามารถแสดงบนหน้าจอได้ก็เช่น สภาพอากาศ​ ณ เวลาปัจจุบัน ค่า UV index ข้อมูลพยากรณ์อากาศรายชั่วโมง รายวัน ช่วงเวลาดวงอาทิตย์/ดวงจันทร์ขึ้นและตก น้ำขึ้นน้ำลง

    ระบบจับเวลา และการนับถอยหลัง

    สามารถใช้งานได้ง่ายและสะดวก ด้วยปุ่มที่ใหญ่มาก สำหรับการจับเวลา จะทำได้แค่การกดหยุดจับเวลาชั่วคราว ไม่สามารถจับเป็นรอบแบบ lap ได้ ด้านของการจับเวลานับถอยหลังก็จะมีตัวเลือกที่น่าจะใช้งานบ่อยมาให้ และก็สามารถตั้งค่าเองได้ด้วย สูงสุดคือ 23 ชั่วโมง 59 นาที 59 วินาที

    การตั้งปลุก

    สามารถตั้งเวลาปลุกได้สูงสุด 5 แบบ รวมถึงสามารถปรับให้ปลุกซ้ำกันในแต่ละวันได้ด้วย

    Find Phone

    ใช้สำหรับกดให้มือถือที่จับคู่กับ HUAWEI Band 7 ไว้ ส่งเสียงขึ้นมา เพื่อให้ทราบว่ามือถือวางอยู่ที่ไหน

    ส่วนฟังก์ชันอื่นที่น่าสนใจอีกก็เช่น การใช้หน้าจอ Band 7 เป็นไฟฉายได้ แต่จะใช้เป็นสีขาวได้เท่านั้น ไม่สามารถตั้งค่าให้กระพริบได้นะครับ

    ทีนี้ลงมาที่ส่วนของการตั้งค่าการทำงานบ้าง หลัก ๆ แล้วจุดที่น่าสนใจก็เช่น

    การตั้งค่าหน้าจอ

    จะมีตั้งแต่การปรับเปลี่ยน watchface การตั้งค่าฟังก์ชัน Always-on display ที่ตอนแรกจะถูกปิดเอาไว้อยู่ โดยสามารถเข้ามาเปิด/ปิด และเลือกรูปแบบหน้าจอได้จากในเมนูนี้

    ต่อมาก็เป็นการปรับระดับความสว่างหน้าจอโดยรวม ซึ่งจะมีด้วยกัน 5 ระดับ ถ้าเป็นการใช้งานในบ้าน ในที่ร่ม ใช้แค่ระดับ 1 ก็เพียงพอแล้ว ส่วนถ้าออกไปกลางแจ้ง แนะนำว่าควรปรับไปที่ระดับ 5 เลย เพราะส่วนตัวผมรู้สึกว่าจอสู้แสงได้ไม่ค่อยเต็มที่เท่าไหร่ ถ้าเจอแดดแรง ๆ ก็ต้องอาศัยมือป้องไว้อยู่เหมือนกัน เนื่องจากแสงสะท้อนที่กระจกหน้าจอนั้นค่อนข้างสูงกว่าจอมือถือพอสมควร

    การตั้งค่าจอที่น่าสนใจอีกก็จะมีพวก การปรับให้จอติดขึ้นมาเมื่อแตะนิ้วบนจอ อันนี้บางทีก็จะไม่ค่อยสะดวกบ้าง เวลาที่จอไปสัมผัสกับเสื้อผ้า เพราะบางทีจอก็ติดขึ้นมาด้วยเช่นกัน ต่อมาก็เป็นการตั้งค่าการปิดหน้าจออัตโนมัติ และระยะเวลาที่จอจะติดค้างไว้ ก่อนที่หน้าจอจะดับลงไปเอง เป็นต้น

    เมนูการตั้งค่าอื่นที่น่าสนใจอีกก็เช่น การเปิด/ปิดโหมดลดการรบกวน ที่จะปิดการแจ้งเตือนทั้งหมดไปเลย โหมดการตั้งรหัสพินเพื่อเข้าใช้งาน รวมถึงยังมีตัวเลือกเปิดปิดฟังก์ชันที่ให้ระบบตรวจจับการออกกำลังได้เอง ซึ่งถ้าระบบตรวจพบว่าผู้ใช้น่าจะกำลังออกกำลังอยู่ โดยที่ไม่ได้ใช้โหมด workout ระบบก็จะแจ้งเตือนผู้ใช้ให้ทราบ เพื่อให้สามารถกดบันทึกค่าได้

    สำหรับฟังก์ชันเสริมที่น่าสนใจของ HUAWEI Band 7 เมื่อใช้งานร่วมกับ HUAWEI P50 ก็คือ ความสามารถในการใช้ควบคุมการเล่นเพลงของแอปฟังเพลงในเครื่องได้สะดวกมาก ๆ และก็สามารถใช้เป็นรีโมทกดถ่ายรูปให้กับแอปกล้องในมือถือ ที่สามารถตั้งค่าการนับถอยหลังก่อนถ่ายได้ด้วย เสียดายนิดนึงที่ไม่สามารถสตรีมภาพจากหน้าจอพรีวิวของแอปกล้องในมือถือมาที่ Band 7 ได้


    สรุปท้ายรีวิว HUAWEI Band 7

    HUAWEI Band 7 เป็นสมาร์ตแบนด์ที่ออกแบบมาได้ตรงใจผู้ใช้งานในยุคนี้ ที่อาจจะต้องการนาฬิกาข้อมือซักเรือน ที่สามารถใช้ตรวจจับข้อมูลด้านสุขภาพของตนเองแบบคร่าว ๆ ได้ ด้วยฟังก์ชันที่ครบครันรอบด้านแทบจะไม่แพ้กลุ่มสมาร์ตวอทช์เลย ผสมกับดีไซน์ที่เน้นความบางเบา สามารถใส่ระหว่างทำงาน ระหว่างทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายได้สะดวกมาก ๆ ที่สำคัญเลยคือสามารถวัดอัตราการเต้นของหัวใจและวัดค่า SpO2 แบบอัตโนมัติตลอดทั้งวันได้ โดยแทบไม่ต้องกังวลเรื่องแบตเตอรี่เลย ด้วยแบตที่ใช้ได้นานไม่ต่ำกว่า 1 สัปดาห์แน่ ๆ แม้จะเปิดใช้งานฟังก์ชันแบบจัดเต็มสุด ๆ ก็ตาม

    ทั้งยังรองรับการออกกำลังกายได้เกือบร้อยแบบ ทำให้ค่อนข้างมั่นใจได้ว่าระบบจะสามารถวัดค่าต่าง ๆ ออกมาได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง แต่ทั้งนี้ก็ต้องชี้แจงอีกครั้งนะครับว่า HUAWEI Band 7 ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อใช้งานในทางการแพทย์แบบจริงจัง สามารถใช้งานในการประเมินสุขภาพแบบเบื้องต้นได้เพียงคร่าว ๆ เท่านั้น ซึ่งก็เป็นปกติอยู่แล้ว สำหรับกลุ่มสมาร์ตแบนด์ สมาร์ตวอทช์ในระดับสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป

    HUAWEI Band 7 รองรับการใช้งานกับมือถือได้หลากหลาย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้าต้องการใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพที่สุด ก็ควรจะจับคู่ใช้กับมือถือรุ่นใหม่ ๆ ของ HUAWEI เอง ส่วนข้อสังเกตอีกจุดก็คือ หน้าจอจะไม่มีระบบปรับแสงสว่างให้อัตโนมัติ และส่วนตัวผมรู้สึกว่าหน้าจอมันค่อนข้างสว่างมากไปนิด สำหรับการใช้งานในเวลากลางคืน แม้ว่าจะตั้งค่าความสว่างอยู่ที่ระดับ 1 (ต่ำสุด) และเปิดฟังก์ชันลดแสงสว่างลงเมื่อใช้งานตอนกลางคืนแล้วก็ตาม ซึ่งดูเหมือนจะยังไม่ค่อยมีผลเท่าไหร่ แต่จุดนี้ก็น่าจะสามารถอัปเดตเฟิร์มแวร์ในอนาคต เพื่อแก้ไขได้โดยไม่ยาก

    อย่างไรก็ตาม HUAWEI Band 7 ก็เป็นสมาร์ตแบนด์ที่น่าสนใจครับ สำหรับคนที่กำลังมองหานาฬิกาข้อมือซักเรือน ไว้สำหรับใช้ระหว่างออกกำลังกาย หรือใส่เพื่อเก็บข้อมูลสำหรับการประเมินสุขภาพเบื้องต้นในระหว่างวัน ด้วยราคาเปิดมาที่ 1,899 บาท แถมในช่วงพรีออเดอร์ระหว่างวันที่ 18 ส.ค. 65 – 1 ก.ย. 65 นี้ ยังมาพร้อมราคาพิเศษเพียง 1,299 บาทเท่านั้นด้วย ใครที่เล็ง ๆ อยู่ก็จัดได้เลย รับรองว่าถูกใจครับ โดยจะมีจำหน่ายเฉพาะทางออนไลน์ที่ HUAWEI Online Store และร้านออนไลน์อย่างเป็นทางการบน Shopee, Lazada, JD Central และ Thisshop

    accessories Huawei HUAWEI Band 7 Review
    Share. Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Tumblr Email
    ZeroSystem

    Related Posts

    รีวิว Alldocube iPlay 50 mini และ iPlay 60 Pad Pro แท็บเล็ตตัวคุ้มที่มาขายไทยอย่างเป็นทางการ

    7 พฤษภาคม 2025

    รีวิว Redmi A5 สมาร์ทโฟนจอใหญ่ 6.88 นิ้ว 120Hz แบตอึด 5,200 mAh ในราคาเริ่มต้นเพียง 2,499 บาท

    27 เมษายน 2025

    20 อันดับความแรงการ์ดจอ 2025 ทั้ง NVIDIA และ AMD ที่แรงที่สุดช่วงกลางปีนี้มีรุ่นไหนบ้าง

    26 เมษายน 2025

    Comments are closed.

    หัวข้อทั้งหมด

    เปรียบเทียบ Samsung Galaxy S25 Edge vs iPhone 17 Air มือถือตัวบางทั้งคู่ ต่างกันแค่ไหนเท่าที่รู้ตอนนี้

    10 พฤษภาคม 2025

    สรุปสเปค Samsung Galaxy S25 Edge มือถือรุ่นบาง พร้อมกล้อง 200MP ก่อนเปิดตัว 13 พ.ค. 2025 นี้

    10 พฤษภาคม 2025

    ราคาไอโฟนล่าสุด 2025 ทุกรุ่นทั้งเครื่องเปล่าและติดโปรที่วางขายในตอนนี้ มีรุ่นไหนราคาเท่าไหร่บ้าง อัพเดท พฤษภาคม 2025

    9 พฤษภาคม 2025

    แนะนำ 20 ซีรี่ย์เกาหลีพากย์ไทย Netflix ล่าสุดปี 2025 สนุกๆ ครบทุกแนว มีเรื่องไหนน่าดูบ้าง

    9 พฤษภาคม 2025

    มือถือรุ่นยอดนิยม

    Honor X7

    Honor X7

    6,299 บาท
    Honor X8

    Honor X8

    7,999 บาท
    Honor X9

    Honor X9

    9,299 บาท
    HTC Desire 22 Pro

    HTC Desire 22 Pro

    0 บาท
    Huawei Nova 10 Pro

    Huawei Nova 10 Pro

    24,990 บาท
    ดูมือถือทั้งหมด
    Facebook YouTube TikTok X (Twitter)

    Type above and press Enter to search. Press Esc to cancel.

    เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

    ยอมรับ
    X