Close Menu
    Facebook X (Twitter) YouTube TikTok
    SpecPhone
    • ข่าวล่าสุด
    • รีวิว
    • ค้นหามือถือ
    • วิดีโอ
    • บทความ
    • ติดต่อเรา
    Facebook YouTube TikTok X (Twitter)
    SpecPhone
    Home»Phone Review»[Review] Honor Magic 2 มือถือจอสไลด์ ไร้ติ่ง สแกนนิ้วบนหน้าจอ พร้อมแรงขีดสุดด้วยชิป Kirin 980
    Phone Review

    [Review] Honor Magic 2 มือถือจอสไลด์ ไร้ติ่ง สแกนนิ้วบนหน้าจอ พร้อมแรงขีดสุดด้วยชิป Kirin 980

    ZeroSystemBy ZeroSystem19 ธันวาคม 2018Updated:24 สิงหาคม 2020
    Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Tumblr Email
    Share
    Facebook Twitter LinkedIn Pinterest Email

    ในช่วงปีที่ผ่านมา เทรนด์การออกแบบสมาร์ทโฟนที่ได้รับความนิยม ไปพร้อม ๆ กับเสียงบ่นจากผู้ใช้งานก็คือการออกแบบจอให้มีแถบดำ (notch) หรือที่เรียกกันส่วนใหญ่ว่าเป็นติ่งจอ เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับติดตั้งกล้องหน้า และเซ็นเซอร์ต่าง ๆ บนหน้าจอ โดยที่ยังคงเหลือพื้นที่แสดงผลไว้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็พยายามหาวิธีการลดขนาดของติ่งจอลง บางรุ่นก็เหลือแค่หยดน้ำเท่านั้น และอีกแนวทางที่กำลังได้รับความสนใจก็คือการซ่อนกล้องหน้าไปซะเลย แล้วใช้กลไกการขยับตัวเครื่อง เช่นการสไลด์หน้าจอเพื่อเปิดใช้งานกล้องหน้าแทน อย่างในมือถือที่เรารีวิวในครั้งนี้อย่าง Honor Magic 2

    โดย Honor Magic 2 เป็นสมาร์ทโฟนที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี และฟีเจอร์ที่น่าสนใจด้วยกันหลายอย่าง ที่เห็นชัดสุดก็คือหน้าจอที่ไร้ติ่ง แต่ใช้การซ่อนกล้องหน้าไว้ข้างในตัวเครื่อง ถ้าต้องการใช้งานก็ให้สไลด์จอลงมา ให้ความรู้สึกที่คล้ายคลึงกับสมัยยุคฟีเจอร์โฟนระดับไฮเอนด์กำลังบูมกันเลยทีเดียว

    ก่อนที่จะไปชมรีวิวเต็ม ๆ ว่า Honor Magic 2 มีดีอย่างไรบ้าง มาดูสเปคที่น่าสนใจกันก่อนครับ

    สเปค Honor Magic 2 (ในเครื่องทดสอบ)

    • ชิปประมวลผล HiSilicon Kirin 980 มี 8 คอร์ ความเร็วสูงสุด 2.6 GHz พร้อมชิปกราฟิก Mali-G76 MP10 และชิปประมวลผล AI
    • แรม 8 GB
    • หน้าจอ Magic FullView พาเนล AMOLED ขนาด 6.39″ แบบเกือบเต็มเครื่อง ความละเอียด 2340 x 1080 อัตราส่วนจอ 19.5:9 กระจกจอ 2.5D
    • หน้าจอเครื่องสามารถสไลด์ลงเพื่อใช้งานกล้องหน้า
    • พื้นที่เก็บข้อมูล 128 GB ไม่รองรับ MicroSD
    • กล้องหลัง 3 ตัว
      • กล้องหลัก (RGB) 16 MP f/1.8
      • กล้องขาวดำ 24 MP f/1.8
      • กล้องเลนส์ไวด์ 16 MP f/2.2
    • กล้องหน้า 3 ตัว โดยมีกล้องหลัก 16 MP ส่วนกล้องอีกสองตัวใช้สำหรับช่วยเก็บระยะ สำหรับประมวลผลด้าน 3D
    • เซ็นเซอร์สแกนนิ้วมืออยู่ภายในจอ พร้อมระบบสแกนใบหน้าที่ใช้งานได้ในที่มีแสงน้อย
    • แบตเตอรี่ 3500 mAh รองรับการชาร์จเร็วแบบ SuperCharge สูงสุด 40W
    • รองรับ 4G VoLTE ได้สองซิมพร้อมกัน
    • ยังไม่มีกำหนดการวางจำหน่ายในไทย
    • ราคาในประเทศจีน
      • รุ่นความจุ 6GB/128GB ราคาอยู่ที่ 3,799 RMB (ประมาณ 18,000 บาท)
      • รุ่นความจุ 8GB/128GB ราคาอยู่ที่ 4,299 RMB (ประมาณ 20,000 บาท)
      • รุ่นความจุ 6GB/128GB ราคาอยู่ที่ 4,799 RMB (ประมาณ 23,000 บาท)

    ดีไซน์ หน้าตา Honor Magic 2

    ครั้งแรกที่เปิดเครื่องขึ้นมาใช้งาน ความรู้สึกส่วนตัวของผมคือ Honor Magic 2 เป็นมือถือที่จอเด่นมาก ด้วยอัตราส่วนจอต่อตัวเครื่องที่สูงมาก สังเกตจากขอบจอทั้งฝั่งด้านบน ซ้ายและขวาที่บาง ถ้าให้เทียบ จะค่อนข้างใกล้เคียงกับของ iPhone Xr ส่วนขอบด้านล่างจะหนากว่าอีก 3 ด้านเล็กน้อย โดยลำโพงสนทนานั้นถูกนำไปแอบไว้ตรงขอบเครื่องด้านบนสุด เช่นเดียวกับเซ็นเซอร์วัดระยะห่าง ส่วนเซ็นเซอร์วัดแสงจะถูกซ่อนเอาไว้ที่ขอบล่าง ค่อนไปทางขวาของหน้าจอครับ (ตำแหน่งกึ่งกลางระหว่างไอคอน Chrome กับแอปกล้อง)

    ด้วยความที่หน้าจอของ Honor Magic 2 เลือกใช้จอแบบ AMOLED ทำให้สีสันบนหน้าจอมีความสดใส ใช้งานได้ทุกสถานการณ์ มุมมองกว้าง แม้ในด้านของสีสัน อาจจะไม่จัดจ้านเท่ากับมือถือรุ่นไฮเอนด์ แต่ก็ถือว่าทำได้ดีมาก ส่วนบริเวณขอบกระจกก็เป็นแบบ 2.5D ที่มีความโค้งมน ทำให้สัมผัสในการจับถือตัวเครื่องค่อนข้างลงตัว ไม่มีส่วนคมบาดมือแต่อย่างใด

    กลไกการสไลด์หน้าจอจะเป็นแบบที่ผู้ใช้สามารถใช้ปลายนิ้วดันหน้าจอลงมาได้แบบไม่ต้องออกแรงมากนัก ตัวเลื่อนไม่ฝืด และก็ไม่ลื่นจนเกินไป โดยจะมีสเต็ปล็อกอยู่สองตำแหน่งคือด้านบนสุด (ปิดกล้องหน้า) และด้านล่างสุด (เปิดกล้องหน้า) ซึ่งถ้าเป็นการปลดล็อกหน้าจอด้วยการสแกนใบหน้า เมื่อผู้ใช้สไลด์จอลงมา ระบบก็จะทำการสแกนใบหน้าทันทีโดยไม่ต้องกดปุ่มใด ๆ เลย

    เมื่อสไลด์หน้าจอลงมา ก็จะพบกับกล้องหน้าทั้ง 3 ตัว โดยตัวที่ใหญ่สุดคือกล้องหลัก ขอบบนสุดคือลำโพงสนทนาหลัก ซึ่งถ้าดูจากลักษณะแล้ว ตะแกรงลำโพงที่ขอบจอ น่าจะเป็นแค่ตะแกรงเปล่า ที่ปล่อยให้เสียงจากลำโพงด้านหลังทะลุออกมาได้ซะมากกว่าครับ

    อย่างไรก็ตาม ข้อควรระวังในการใช้จอสไลด์ก็คือ ก่อนจะสไลด์หน้าจอกลับไปปิดเหมือนเดิม แนะนำว่าควรเช็ดทำความสะอาดตรงแถบกล้องทั้งหมด เพื่อป้องกันฝุ่นเข้าไปติดค้างภายในด้วย ซึ่งจะช่วยยืดอายุการใช้งาน และป้องกันปัญหาที่อาจเกิดจากฝุ่นที่ติดค้างข้างในได้

    ด้านของเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือที่อยู่ใต้จอนั้น จะถูกซ่อนอยู่ตรงตำแหน่งกึ่งกลางค่อนไปทางด้านบนระหว่างไอคอน Phone Manager และ Settings ตามในภาพด้านบนครับ โดยในระหว่างการใช้งานทั่วไป ก็สามารถแตะเพื่อใช้งานหน้าจอได้ตามปกติ ส่วนฟังก์ชันการสแกนลายนิ้วมือจะเปิดขึ้นมาให้ใช้งานเฉพาะตอนที่จำเป็นเท่านั้น เช่น การปลดล็อกหน้าจอ การปลดล็อกรหัสผ่านต่าง ๆ ตามการตั้งค่าของระบบและแอปพลิเคชัน

    พลิกมาดูที่ฝาหลังกันบ้างครับ ซึ่งดีไซน์ก็จะใกล้เคียงกับรุ่นอื่นเช่น Honor 8X ที่ทางเราเคยรีวิวไปแล้ว โดยการโค้ตติ้งสีภายนอกจะใช้เป็นแบบนาโนสเกลที่ช่วยให้ผิวสัมผัสเรียบเนียน สีที่ทางเราได้รับมารีวิวคือสีเงินเข้มที่สามารถใช้เป็นกระจกได้เลยทีเดียว ส่วนดีไซน์โดยรวมต้องบอกเลยว่ามันดูลงตัวขึ้นกว่ารุ่นอื่น ๆ อยู่ไม่น้อย สาเหตุหนึ่งก็น่าจะมาจากการที่ไม่มีวงของเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมืออยู่ที่ฝาหลังแล้วนั่นเอง

    การวางตำแหน่งของกล้องหลังก็จะอยู่ในแนวตั้งไล่ลงมาได้เป็น แฟลช LED > กล้องหลัก (RGB) > กล้องขาว-ดำ > กล้องเลนส์ไวด์ 17mm ซึ่งทั้งหมดมีพลังของ AI ช่วยประมวลผลภาพตั้งแต่ก่อนถ่ายอีกเช่นเคย

    อย่างไรก็ตาม มีอยู่หนึ่งเรื่องที่ผมยังไม่ค่อยชินกับการใช้งานอยู่ก็คือน้ำหนักเฉพาะตัวเครื่องซึ่งอยู่ที่ 206 กรัม (ส่วนตัวผมใช้เครื่องหลักเป็น Pixel 2 XL บวกเคสบาง) แต่ก็มีข้อดีคือมันเป็น 206 กรัมบนตัวเครื่องที่งานประกอบแน่นหนา จับแล้วไม่มีส่วนที่กรอบแกรบเลย

    ด้านข้างตัวเครื่องก็จะมีพอร์ตและปุ่มสั่งงานต่าง ๆ ได้แก่

    • ด้านบน: ไมค์สำหรับตัดเสียงรบกวน และช่องรับส่งสัญญาณอินฟราเรด สำหรับใช้ร่วมกับแอปรีโมท (แอป Smart Home)
    • ด้านล่าง: ช่องลำโพง ช่อง USB-C และช่องรับเสียงของไมค์สนทนา
    • ด้านขวา: ถาดใส่ซิม (รองรับสูงสุด 2 นาโนซิม)
    • ด้านซ้าย: แถบปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง และปุ่ม Power

    ส่วนอุปกรณ์ในกล่องที่ให้มาก็ได้แก่

    • อะแดปเตอร์ SuperCharge รองรับการจ่ายไฟได้ทั้งแบบ 5V 2A / 9V 2A / 10V 4A (สูงสุด 40W)
    • สายชาร์จรองรับ SuperCharge
    • สายแปลง USB-C เป็นช่อง 3.5 mm. สำหรับเสียบหูฟัง
    • เข็มจิ้มถาดซิม
    • เอกสารคู่มือการใช้งานเบื้องต้น

    ฟีเจอร์เด่นของ Honor Magic 2

    การสไลด์หน้าจอ เพื่อใช้งานกล้องหน้า และระบบสแกนใบหน้า

    ด้วยการที่กล้องหน้าถูกซ่อนอยู่ใต้จอซึ่งต้องสไลด์จอลงมาก่อน ถึงจะสามารถใช้งานได้ ทำให้ทุก ๆ การใช้งานที่ต้องใช้กล้องหน้า ผู้ใช้เลยจำเป็นจะต้องสไลด์หน้าจอลงมาก่อนทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็น การถ่ายเซลฟี่ การปลดล็อกหน้าจอด้วยการสแกนใบหน้า ซึ่งอาจจะไม่สะดวกเท่าสมาร์ทโฟนปกติในปัจจุบัน แต่ก็ได้ความเท่ไปอีกแบบเหมือนกันครับ ส่วนตัวผมรู้สึกโอเคนะ นับเป็น gimmick ที่แปลกสำหรับมือถือในยุคนี้เหมือนกัน ให้ความรู้สึกเหมือนตอนกลับไปใช้ Nokia N95 เลย

    ส่วนการใช้กล้องหน้า หากผู้ใช้เปิดแอปกล้องอยู่ แล้วทำการสไลด์หน้าจอลงมา ระบบจะสลับไปใช้กล้องหน้าโดยอัตโนมัติ แต่ถ้าหากผู้ใช้เปิดแอปกล้องขึ้นมา แล้วกดปุ่มสลับกล้อง ระบบจะมีภาพพร้อมข้อความขึ้นมาแจ้งให้ผู้ใช้เลื่อนหน้าจอลงเพื่อเปิดกล้องหน้าครับ เท่าที่ลองใช้งานในที่มืดดู พบว่าก็สามารถสแกนได้อยู่เหมือนกัน ด้วยความสามารถของกล้องหน้าทั้ง 3 ตัวที่ช่วยในการสแกน ประกอบกับหน้าจอที่จะเร่งความสว่างขึ้นมา เพื่อช่วยให้ใบหน้าของผู้ใช้สว่างขึ้นจนกล้องสามารถจับภาพได้

    ระบบสแกนนิ้วมือบนหน้าจอ

    เทคโนโลยีการสแกนลายนิ้วมือบนหน้าจอขได้รับการพัฒนาขึ้นมาอยู่ในระดับที่ใช้งานได้แทบไม่แตกต่างจากแถบเซ็นเซอร์สแกนในมือถือทั่ว ๆ ไปแล้ว เท่าที่ผมรีวิวมา หากต้องการสแกนลายนิ้วมือก็เพียงแค่แตะปลายนิ้วลงไปบนตำแหน่งของเซ็นเซอร์เท่านั้นเอง ไม่ต้องใช้แรงกดใด ๆ เลย

    สำหรับใครที่กังวลว่าจะจำตำแหน่งของเซ็นเซอร์ไม่ได้ ตัวระบบเองก็ฉลาดเอาเรื่องอยู่เหมือนกันครับ อย่างตอนที่หน้าจอล็อกอยู่ หากผู้ใช้ขยับเครื่อง ตรงบริเวณเซ็นเซอร์ก็จะมีวงกลมพร้อมรูปลายนิ้วมือปรากฏขึ้นมาให้สามารถสังเกตและทาบปลายนิ้วลงไปได้ง่ายขึ้น

    ระบบชาร์จด่วน Super Charging

    อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่น่าสนใจก็คือการชาร์จเร็วในระดับ SuperCharge ที่สามารถชาร์จไฟเข้าได้สูงสุดถึง 40W ซึ่งถ้าเทียบแล้ว จัดว่าอัดไฟเข้าเครื่องได้แรงกว่าโน้ตบุ๊กบางรุ่นด้วยซ้ำไป แต่แม้ว่าจะชาร์จไฟเข้าเร็ว แต่ตัวเครื่องกลับไม่ร้อนเลยครับ สามารถใช้งาน หรือวางเครื่องทิ้งไว้ได้สบาย โดยความเร็วของการชาร์จ ผมเก็บข้อมูลไว้ตามตารางด้านล่างนี้ครับ

    จากตาราง จะเห็นว่าเพียงเวลาแค่ 12 นาที ระบบ SuperCharge สามารถชาร์จไฟให้กับ Honor Magic 2 จากแบตเตอรี่ 8% ขึ้นมาเป็น 44% ได้แล้ว เรียกว่าน่าจะช่วยให้เพียงพอสำหรับการใช้ระหว่างวันได้สบาย แม้จะเป็นการชาร์จแค่ช่วงสั้น ๆ ก็ตาม ส่วนถ้าต้องการชาร์จจนเต็ม ก็น่าจะใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมงด้วยซ้ำ อาจจะเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการชาร์จแบตมือถือทิ้งไว้ตอนหลับ เพราะอาศัยเสียบชาร์จแค่ช่วงเวลาตั้งแต่หลังตื่นนอน ไปจนถึงก่อนออกเดินทางไปทำงาน ซึ่งน่าจะใช้เวลาเฉลี่ยเร็วสุดไม่ต่ำกว่า 30 นาที ก็น่าจะเพียงพอสำหรับการชาร์จจนได้แบตไม่ต่ำกว่า 70% แล้วนั่นเอง

    ซอฟต์แวร์ของ Honor Magic 2

    Honor Magic 2 มาพร้อมระบบปฏิบัติการ Android 9.0 (Pie) ที่ครอบมาด้วย Magic UI 2.0 ที่รูปแบบของการจัดวางเมนูจะใกล้เคียงกับในมือถือ Honor หลาย ๆ รุ่น โดยค่าเริ่มต้นของไอคอนแอปจะเป็นแบบปรากฏขึ้นมาบนหน้าจอเลย ไม่มีปุ่มรวมไอคอนแอป แต่ผู้ใช้ก็สามารถปรับได้จากเมนูจัดการหน้าโฮมอยู่ดีครับ

    พื้นที่เก็บข้อมูลในเครื่องมีเหลือให้ใช้ได้เป็นหลักร้อย GB เลย อย่างในภาพด้านบนคือภาพแสดงปริมาณพื้นที่เก็บข้อมูลที่เหลืออยู่ หลังจากติดตั้งแอปและเกมไปบางส่วนแล้ว ส่วนภาพขวาสุดเป็นภาพของเมนูการตั้งค่าปุ่มสั่งงานในเครื่องครับ โดยจะมีให้เลือก 2 แบบระหว่าง การสั่งงานแบบ gesture ที่ไม่มีปุ่มให้กดเลย กับแบบที่มี 3 ปุ่มมาตรฐาน Android สำหรับหัวข้อล่างสุดจะเป็นปุ่ม navigation ช่วยอำนวยความสะดวก ซึ่งเหมาะกับการใช้งานร่วมกับ gesture เนื่องจากผู้ใช้สามารถกด หรือลากปุ่ม navigation เพื่อสั่งงานได้เหมือนกัน

    ปิดท้ายด้วยการทดสอบ DRM info ก็พบว่ารองรับ Widevine DRM ในระดับ L3 เท่านั้น จึงอาจจะทำให้ไม่สามารถสตรีมภาพยนตร์จากบางแพลตฟอร์มในระดับ HD ได้

    กล้องถ่ายรูปของ Honor Magic 2

    หน้าตาของแอปกล้องก็จะเป็นแนวเดียวกับมือถือ Honor รุ่นอื่น ๆ ครับ ทั้งการสไลด์ไปด้านข้างเพื่อเปลี่ยนโหมด รวมถึงการใส่ปุ่มเปิด/ปิดฟังก์ชันของ AI ที่แถบด้านบนซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ได้ดี สำหรับโหมดที่อยู่ด้านนอกก็จะเป็นโหมดหลัก ๆ ที่มีการใช้งานบ่อย เช่น โหมด auto ในชื่อว่า Photo โหมด Portrait สำหรับถ่ายภาพบุคคล รวมถึงโหมด AR lens ที่มีมาให้เล่นกันด้วย ส่วนโหมดอื่น ๆ เช่น โหมด Pro โหมดพาโนรามา โหมดถ่ายอาหาร โหมดภาพขาวดำ จะไปซ่อนอยู่ใน More ทางขวาสุดของแถบเลื่อนโหมดอีกทีนึง

    สำหรับการสลับไปใช้งานเลนส์ไวด์ของกล้องหลังก็สามารถกดได้ที่ปุ่มที่อยู่บนส่วนพรีวิวภาพ ซึ่งในหน้าจอปกติจะมีสัญลักษณ์ 1x อยู่ เมื่อกดไปหนึ่งครั้งก็จะเปลี่ยนเป็น 2x ที่หมายถึงการซูม 2 เท่า และถ้ากดไปอีกครั้ง ระบบก็จะสลับไปใช้เลนส์ไวด์แทน

    ส่วนกล้องหน้าก็ยังคงมีโหมดให้เลือกใช้งานเช่นกัน ได้แก่ โหมด auto โหมด Portrait รองรับการถ่ายวิดีโอได้ระดับ FHD+ (19.5:9) ติดที่กล้องหน้าไม่สามารถแตะเลือกจุดโฟกัสได้ครับ ได้แค่แตะเพื่อวัดและชดเชยแสงเท่านั้น

    ลูกเล่นทางด้าน AR ก็พอมีให้ใช้งานเหมือนกันครับ ทั้งแบบที่เป็นตัวละครมาปรากฏบนหน้าจอให้ผู้ใช้ถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอได้ และก็แบบที่มีการจับตามการเคลื่อนไหวของผู้ใช้ ซึ่งก็ช่วยเพิ่มสีสันให้กับการถ่ายภาพได้ดี

    อีกหนึ่งลูกเล่นที่น่าสนใจก็คือเลนส์ไวด์ที่ใส่แยกมาเดี่ยว ๆ ให้มาเลย ซึ่งจากการทดสอบ ผมมองว่าน่าจะเป็นเลนส์ที่ถูกใจสายถ่ายวิวกันแน่ ๆ ซึ่งมุมภาพเมื่อเทียบกับภาพปกติ และภาพซูม 2x ก็ตามด้านล่างนี้เลย

    ภาพถ่ายปกติ (1x)

    ภาพถ่ายแบบซูม (2x)

    ภาพถ่ายแบบไวด์

    ส่วนภาพถ่ายจากกล้องหลัง สามารถคลิกชมได้จากแกลเลอรี่ด้านล่างนี้เช่นเคยครับ

    Honor Magic 2: Camera roll

    ประสิทธิภาพและการเล่นเกมบน Honor Magic 2

    Honor Magic 2 มาพร้อมกับชิปประมวลผลรุ่นล่าสุดอย่าง HiSilicon Kirin 980 ที่แรงทั้งในแง่การประมวลผลทั่วไป พลังกราฟิก และการประมวลผลด้าน AI แต่ว่าแอป CPU-Z เองยังไม่สามารถแสดงข้อมูลได้ถูกต้อง 100% สังเกตได้ทั้งจากชื่อ SoC ที่ยังไม่ตรง รวมถึงตรงหัวข้อ Architecture ที่มีการแบ่งกลุ่มคอร์เป็น 2 กลุ่ม (4/4) แต่ที่จริงแล้ว Kirin 980 จะมีการแบ่งคอร์เป็น 3 กลุ่ม (4/2/2) นั่นเอง แต่ในแอป GeekBench นั้นให้ข้อมูลด้านการแบ่งกลุ่มคอร์ได้ถูกต้องครับ

    ผลการทดสอบคะแนนก็จัดว่าอยู่ในระดับสูงพอสมควร ส่วนการทดสอบด้านการเชื่อมต่อ 4G พบว่ารองรับฟังก์ชันการรวมคลื่น (Carrier aggregation หรือที่เรียกย่อว่า CA) โดยได้อย่างต่ำก็คือ 2CA แน่นอน และอาจจะไปได้ถึง 3CA แต่อันนี้ผมไม่คอนเฟิร์มนะครับ อย่างไรก็ตามที่แน่นอนก็คือ เครื่องทดสอบเครื่องนี้ ไม่รองรับ VoLTE ในไทย

    เมื่อทดสอบด้วยเกม PUBG mobile ด้านการตั้งค่ากราฟิก เริ่มต้นมาเกมก็จับให้อยู่ในระดับสูงสุดทันทีครับ เมื่อเล่นจริง เฟรมเรตก็ไหลลื่นมาก ๆ เล่นแล้วไม่เจออาการกระตุกแต่อย่างใด รวมถึงเครื่องยังไม่ร้อนอีกด้วย ก็ต้องยกความดีความชอบให้กับระบบการระบายความร้อนด้วยกราฟีนที่สามารถถ่ายเทความร้อนจากชิปประมวลผลออกมาได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับตัวเครื่องก็ทำออกมาได้ดี ไม่ทำให้ร้อนมือขณะเล่นอีกด้วย

    ส่วนการทดสอบเปิดบอท+เล่นเกม Ragnarok Mobile โดยเป็นการเชื่อมต่อผ่าน WiFi และเปิดจอไว้ตลอดเวลา ซึ่งผมเริ่มเปิดทิ้งไว้ตั้งแต่ 19:35 ไปจนถึงก่อนนอนที่เวลา 02:23 พบว่าแบตเหลืออยู่ 12% เท่ากับว่าคิดเป็นระยะเวลาประมาณ 6 ชั่วโมง 48 นาที และคาดว่าน่าจะเล่นได้เกิน 7 ชั่วโมงแบบสบาย ๆ

    Overall

    Honor Honor Magic 2 Review
    Share. Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Tumblr Email
    ZeroSystem

    Related Posts

    เปรียบเทียบ Samsung Galaxy S25 Edge vs iPhone 17 Air มือถือตัวบางทั้งคู่ ต่างกันแค่ไหนเท่าที่รู้ตอนนี้

    10 พฤษภาคม 2025

    สรุปสเปค Samsung Galaxy S25 Edge มือถือรุ่นบาง พร้อมกล้อง 200MP ก่อนเปิดตัว 13 พ.ค. 2025 นี้

    10 พฤษภาคม 2025

    แนะนำ 20 ซีรี่ย์เกาหลีพากย์ไทย Netflix ล่าสุดปี 2025 สนุกๆ ครบทุกแนว มีเรื่องไหนน่าดูบ้าง

    9 พฤษภาคม 2025

    Comments are closed.

    หัวข้อทั้งหมด

    เปรียบเทียบ Samsung Galaxy S25 Edge vs iPhone 17 Air มือถือตัวบางทั้งคู่ ต่างกันแค่ไหนเท่าที่รู้ตอนนี้

    10 พฤษภาคม 2025

    สรุปสเปค Samsung Galaxy S25 Edge มือถือรุ่นบาง พร้อมกล้อง 200MP ก่อนเปิดตัว 13 พ.ค. 2025 นี้

    10 พฤษภาคม 2025

    ราคาไอโฟนล่าสุด 2025 ทุกรุ่นทั้งเครื่องเปล่าและติดโปรที่วางขายในตอนนี้ มีรุ่นไหนราคาเท่าไหร่บ้าง อัพเดท พฤษภาคม 2025

    9 พฤษภาคม 2025

    แนะนำ 20 ซีรี่ย์เกาหลีพากย์ไทย Netflix ล่าสุดปี 2025 สนุกๆ ครบทุกแนว มีเรื่องไหนน่าดูบ้าง

    9 พฤษภาคม 2025

    มือถือรุ่นยอดนิยม

    Honor X7

    Honor X7

    6,299 บาท
    Honor X8

    Honor X8

    7,999 บาท
    Honor X9

    Honor X9

    9,299 บาท
    HTC Desire 22 Pro

    HTC Desire 22 Pro

    0 บาท
    Huawei Nova 10 Pro

    Huawei Nova 10 Pro

    24,990 บาท
    ดูมือถือทั้งหมด
    Facebook YouTube TikTok X (Twitter)

    Type above and press Enter to search. Press Esc to cancel.

    เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

    ยอมรับ
    X