นับจากปีที่ผ่านมา สมาร์ทโฟนที่จัดว่ามาพร้อมกระแสถล่มทลายที่สุด จนกลายเป็นการเปิดตลาดมือถือราคาไม่ถึงหมื่นได้มาแรงสุดๆ ก็คงจะเป็นบรรดา Zenfone จาก ASUS นี่ล่ะครับ เรียกว่าจุดกระแสติดเลยก็ว่าได้ นับเป็นการเริ่มเดินเข้าสู่ตลาดสมาร์ทโฟนแบบเต็มตัวที่น่าพอใจเลยทีเดียว และเมื่อเปิดตัว Zenfone 2 ไปในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ก็มาพร้อมกับเรื่องที่ทำให้ว้าวไปทั้งวงการมือถืออีกครั้ง เมื่อ ASUS Zenfone 2 เป็นสมาร์ทโฟนรุ่นแรกที่มาพร้อมกับแรมถึง 4 GB สเปคอื่นๆ ก็ไม่น้อยหน้ากัน จัดเต็มกันสุดๆ ภายในราคาที่ไม่สูงมากนัก จึงไม่น่าแปลกใจที่มันจะสร้างกระแสได้อีกครั้ง
สำหรับในครั้งนี้ ทางทีมงานเรานอกเหนือจากจะได้ไปร่วมงานเปิดตัว ASUS Zenfone 2 ที่อินโดนีเซียมาแล้ว ทางเรายังได้รับ Zenfone 2 เครื่องที่จะขายในไทยมารีวิวจากทาง ASUS ประเทศไทยด้วยครับ โดยตัวที่เรารีวิวในบทความนี้ก็จะเป็นตัวของ ASUS Zenfone 2 (ZE551ML) แรม 4 GB ที่จัดเป็นตัวท็อปสุดในปัจจุบัน สำหรับโมเดลที่จะมีขายผ่านทาง ASUS ไทยเองช่วงแรก แบ่งเป็น 3 ตัวตามนี้ครับ
1. ZE551ML Ram 4 GB, Rom 64 GB, CPU Z3580(2.3GHz) ราคา 11,990 บาท
2. ZE551ML Ram 4 GB, Rom 32 GB, CPU Z3580(2.3GHz) ราคา 9,999 บาท (เครื่องดีแทค)
3. ZE550ML Ram 2 GB, Rom 16 GB, CPU Z3560(1.8GHz), จอ HD ราคา 6,990 บาท
4. ZE500CL Ram 2 GB, Rom 16 GB, CPU Z2560(1.6GHz), จอ HD ราคา 5,990 บาท (รุ่นล่าสุด)
นอกจากนี้ ยังอาจจะมีรุ่นสเปคย่อยอื่นตามมาในภายหลัง เอาเป็นว่ามาเจาะที่เรื่องสเปคกันก่อนเลยแล้วกันนะ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง สำหรับเครื่องที่เรารีวิวในครั้งนี้
สเปค ASUS Zenfone 2 แรม 4 GB (ZE551ML)
- ชิปประมวลผล Intel Atom Z3580 (4 คอร์) ความเร็ว 2.3 GHz พร้อมชิปกราฟิก PowerVR G6430
- แรม 4 GB
- รอม 64 GB ใส่ MicroSD เพิ่มได้อีก 64 GB
- หน้าจอ IPS ขนาด 5.5 นิ้ว ความละเอียดระดับ Full HD (1920 x 1080) กระจก Gorilla Glass 3 พร้อมเคลือบสารป้องกันรอยนิ้วมือ
- กล้องหลัง 13 ล้านพิกเซล f/2.0 PixelMaster 2.0
- กล้องหน้า 5 ล้านพิกเซล f/2.0 PixelMaster 2.0
- ใช้งานได้สองซิม (ไมโครซิมทั้งคู่) รองรับ 4G LTE ส่วนซิมสองใช้ได้แค่ 2G เท่านั้น
- Android 5.0 พร้อม ZenUI 2.0
- รองรับดาวเทียมระบุตำแหน่งได้ 5 ระบบ (GPS, GLONASS, QZSS, SBAS, Beidou)
- แบตเตอรี่ 3,000 mAh รองรับการชาร์จเร็ว (BoostMaster)
- ราคา 11,990 บาท
- สเปค ASUS Zenfone 2 แรม 4 GB (ZE551ML)
นี่ก็เป็นสเปครุ่นท็อปสุดของ Zenfone 2 ที่เปิดขายล็อตแรกนี้ครับ ซึ่งถ้าจะมีสูงกว่านี้ก็คงจะเป็นเรื่องการเพิ่มขนาดรอมเป็น 128 GB ซะมากกว่า (มีขายในอินเดีย) ด้านของชิปประมวลผล ปีนี้ ASUS ก็ยังเลือกใช้ชิปจาก Intel อยู่เช่นเดิม ซึ่งในเรื่องของประสิทธิภาพ ความแรงนี่หายห่วงอยู่แล้ว ขึ้นไปเทียบกับ Snapdragon ตัวท็อปๆ ได้สบาย จะน่าห่วงหน่อยก็เรื่องความเข้ากันได้กับแอพพลิเคชันต่างๆ รวมถึงเรื่องการใช้งานแบตเตอรี่เท่านั้นเอง (ซึ่งเราก็มีทดสอบให้ชมกันด้วยครับ) เรื่องแรมก็เรียกว่าเหลือเฟือ ถ้าใครยังใช้งานจนหมดได้นี่ก็ถือว่าสุดยอดจริงๆ ส่วนของพื้นที่รอม บอกเลยว่าจุใจมากครับ ให้มาจัดเต็มถึง 64 GB ในรุ่นท็อป แถมยังใส่ MicroSD เพิ่มได้อีก
อีกหนึ่งจุดที่ได้รับการพัฒนาขึ้นจาก Zenfone รุ่นแรกก็คือเรื่องของกล้องถ่ายรูป ที่นอกจากจะเพิ่มความละเอียดแล้ว ยังมีการปรับเปลี่ยนชิ้นส่วนภายใน ปรับปรุงเซ็นเซอร์รับภาพ แถมยังใส่เทคโนโลยี PixelMaster 2.0 มาให้ทั้งกล้องหน้าและกล้องหลังเลยด้วย ทำให้ผู้ใช้งานสามารถถ่ายภาพในที่มีแสงน้อยได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะถ่ายวิว หรือจะถ่ายเซลฟี่ก็ตาม โดยทั้งหมดนี้ รวมอยู่ใน ASUS Zenfone 2 ราคา 11,990 บาทเครื่องเดียว ก็ไม่น่าแปลกใจที่หลายๆ ท่านจะมองว่ามันเป็นมือถือสุดคุ้มอีกรุ่นหนึ่งในเวลานี้ได้แบบสบายๆ
ข้อดี
ข้อสังเกต
บทสรุป
BEST PRICE
Design
ด้านหน้าของ ASUS Zenfone 2 ต้องบอกเลยว่าเอาจริงๆ มันก็แทบจะใช้โครงเดียวกับ Zenfone รุ่นแรกเลยครับ ยิ่งเมื่อเทียบกับเครื่องที่ขนาดใกล้เคียงกัน อย่าง Zenfone 5 แล้ว เผลอๆ แทบจะแยกไม่ออกเลยด้วยซ้ำ เพราะการวางตำแหน่งโลโก้ กล้องหน้า รวมถึงปุ่มกดด้านล่างก็แทบจะไม่ต่างกัน ถ้ามองเครื่องผ่านๆ แบบไม่ได้จ้องสังเกตรายละเอียดจริงจังก็คงแยกความแตกต่างได้ยากจริงๆ ซึ่งหากอยากจะแยกความแตกต่างระหว่าง Zenfone 2 กับ Zenfone รุ่นแรกให้ชัวร์ๆ ผมแนะนำว่าพลิกหลังเครื่องดูจะง่ายสุดนะ
ส่วนของหน้าจอ ASUS Zenfone 2 มาพร้อมกับหน้าจอ IPS ขนาด 5.5 นิ้ว ที่ให้สีสันสวยงาม ภาพคมชัดในระดับ Full HD มุมมองภาพก็กว้างตามคุณสมบัติของพาเนลแบบ IPS ตามปกติครับ สู้แสงสว่างภายนอกได้พอสมควร และถึงแม้ว่าจอจะใหญ่ระดับ 5.5 นิ้ว แต่ก็ได้รับการออกแบบให้ตัวเครื่องมีขนาดไม่ใหญ่เทอะทะเกินไปนัก โดยมีอัตราส่วนของจอต่อตัวเครื่องที่สูงถึง 72% เลย
ส่วนในการใช้งานจอ ก็อาจจะมีปัญหาบ้างตอนลากแถบ notifications ลงมาครับ แต่อันนี้ ASUS ก็แก้ปัญหาไว้เรียบร้อยแล้ว เพราะเราสามารถลากนิ้วลงมาจากบริเวณพื้นที่ว่างของหน้าจอ เผื่อดึงแถบ notifications ข้างบนลงมาได้เหมือนกัน นอกจากนี้ยังมีโหมดสำหรับใช้งานเครื่องด้วยมือเดียว (Quick Trigger) อีก ซึ่งจะมีให้อ่านกันอีกทีในส่วนของการรีวิวฟีเจอร์นะครับ
เลื่อนลงมาด้านล่างก็จะพบกับปุ่มสั่งงานทั้งสาม ได้แก่ปุ่มย้อนกลับ ปุ่มโฮม (กดค้างเพื่อเรียก Google Now) แล้วก็ปุ่ม recent apps (กดค้างเพื่อเรียกเมนู) ซึ่งน่าเสียดายที่ทั้งสามปุ่มนี้ก็ยังคงไม่มีไฟ LED ที่ใต้ปุ่มอีกเช่นเคย แต่อย่างน้อยก็มีการปรับเปลี่ยนไปจาก Zenfone รุ่นแรกอยู่เหมือนกันนะ เพราะระยะห่างระหว่างแต่ละปุ่มน้อยลง ทำให้สามารถเอื้อมนิ้วไปกดได้ง่ายขึ้น ต่างจากใน Zenfone รุ่นแรกที่แต่ละปุ่มอยู่ห่างกันมาก พอมาลองใช้งานรีวิว Zenfone 2 แล้วรู้สึกเลยว่ามันกดง่ายขึ้นจริงๆ แม้ว่าตัวเครื่องจะใหญ่ขึ้นก็ตาม
ความรู้สึกในการใช้งาน ASUS Zenfone 2 จริงๆ ส่วนตัวผมคิดว่าตัวเครื่องมันหนักมือไปนิดนะ อาจจะเป็นเพราะผมชินกับการใช้มือถือจอไม่เกิน 5 นิ้วซะมากกว่า พอมาใช้พวกเครื่องจอ 5.5 นิ้วทีไรจะรู้สึกว่ามันไม่ค่อยถนัดมือ จะมีก็แต่ G3 ที่ขอบจอบางมากนี่แหละครับ ที่ทำเรื่องนี้ออกมาได้ดีจริงๆ เลยทำให้เกิดความรู้สึกขึ้นมาบางที ในระหว่างใช้ Zenfone 2 เหมือนกัน คืออยากได้เครื่องแบบนี้ สเปคแบบนี้แหละ แต่ขอลดขนาดจอและตัวเครื่องลงมาเหลือแค่ 5 นิ้วได้มั้ย ถ้าทำออกมานะ ผมว่าขายดีแน่ๆ เพราะตลาดยังมีคนที่ต้องการมือถือสเปคแรงๆ แต่ไม่ได้อยากได้จอใหญ่ถึง 5.5 นิ้วอยู่เหมือนกัน ซึ่งเท่าที่ผมลองให้เพื่อนหลายๆ คนลองเล่นเครื่องจริงดู ต่างก็พูดไปเป็นเสียงเดียวกันนะ ว่ามันน่าจะเบากว่านี้ เล็กลงกว่านี้นิดนึงได้ยิ่งดีเลย
มาดูฝาหลังกันบ้าง อันนี้จะเป็นหนึ่งในปัจจัยช่วยแยกความแตกต่างระหว่าง Zenfone 2 ในโมเดล ZE551ML กับ ZE550ML ได้เป็นอย่างดีเลย นั่นคือ
- ZE551ML ฝาหลังจะเป็นพลาสติกขัดผิว บรัชลายแบบโลหะ
- ZE550ML ฝาหลังจะเป็นพลาสติกเคลือบผิวแบบเซรามิก (เหมือน Zenfone รุ่นแรก)
ซึ่งเครื่องที่เรารีวิวนี้เป็น ASUS Zenfone 2 โมเดล ZE551ML ครับ ฝาหลังมันจึงเป็นผิวแบบโลหะ ซึ่งก็ให้สัมผัสและหน้าตาที่ออกมาใกล้เคียงโลหะใช้ได้เลยนะ ถ้าแค่มองผ่านอาจจะนึกว่ามันเป็นโลหะจริงๆ ก็ได้ ทั้งที่จริงแล้วมันก็คือพลาสติกนี่ล่ะ การเก็บงานต่างๆ ก็ทำได้เรียบร้อยพอสมควรครับ งานประกอบโดยรวมแน่นหนักดี
ด้านบนสุดของฝาหลังเราก็จะพบกับแฟลชแบบ Real Tone ที่ใช้หลอดไฟ LED สองสีผสมแสงกันออกมา เพื่อให้ภาพที่ออกมาดูเป็นธรรมชาติ โดยเฉพาะการถ่ายภาพบุคคลที่ต้องเปิดแฟลชช่วยให้แสงสว่าง ถัดลงมาก็เป็นกล้องหลังความละเอียด 13 ล้านพิกเซลที่ราบไปกับผิวฝาหลัง จะมีส่วนของกระจกปิดเลนส์ที่นูนขึ้นมาเล็กน้อยเท่านั้น ลงมาอีกนิดก็จะพบกับแผงปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงครับ สำหรับการที่ต้องย้ายมาอยู่ด้านหลังก็เป็นเพราะว่าขอบข้างเครื่องของ ASUS Zenfone 2 มีขอบเครื่องที่บางเพียงแค่ 3.9 มิลลิเมตรเท่านั้น จะเอาปุ่มไปติดไว้อีกคงลำบากทั้งการดีไซน์และการใช้งาน จึงเอามาไว้ข้างหลังแทน
ซึ่งก็ไม่ได้มีประโยชน์แค่ในส่วนของการออกแบบเท่านั้น แต่มันยังอำนวยความสะดวกในการถ่ายภาพเซลฟี่อีกด้วย อันนี้ถ้าใครเคยใช้งานมือถือที่วางปุ่มไว้ด้านหลังในลักษณะดังกล่าวมาบ้าง ก็คงทราบดีว่ามันสะดวกกับการใช้งานจริงๆ นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดเล็กน้อยของตัวปุ่มอีกด้วย เพราะตัวปุ่มมันจะมีลายเป็นวงๆ แบบเดียวกับแผงบริเวณใต้ปุ่มกดด้านหน้า ซึ่งให้ทั้งความหรูหรา และช่วยให้เราสามารถคลำสัมผัส แล้วพอทราบได้ทันทีว่าตรงนี้คือตำแหน่งของปุ่มกดด้วย แต่ก็นะ ไหนๆ แล้วก็น่าจะเอาปุ่ม Power มาไว้ด้านหลังด้วยเลย เพราะผมรู้สึกว่าเอาไปไว้ตรงกลางด้านบนมันใช้งานไม่ค่อยถนัดจริงๆ
“โค้งมน สวยงาม และน่าใช้งานกว่ารุ่นแรก”
ตัวฝาหลังของ ASUS Zenfone 2 ได้รับการออกแบบให้มีความโค้งมนกว่า Zenfone รุ่นแรกอย่างเห็นได้ชัด ทำให้สามารถจับเครื่องได้ถนัดมือขึ้นจริงๆ แม้ว่าตัวเครื่องจะใหญ่ แต่ก็รู้สึกว่ามันกระชับ และไม่ลื่นหลุดจากมือง่ายๆ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะการผสมผสานกันที่ลงตัวของทั้งรูปทรงและผิวฝาหลังที่ทำออกมาได้ลงตัวกว่าเดิมมากๆ ส่วนถ้าจะแกะฝาหลังออกมา ก็ต้องออกแรงกันหน่อยครับ โดยต้องแงะจากช่องทางฝั่งขวาล่างของจอ (หันหน้าจอเข้าหาตัว) เมื่อแกะออกมาได้แล้ว ก็จะพบเพียงแค่ช่องใส่ MicroSD และช่องใส่ไมโครซิมสองช่องเท่านั้นเอง ส่วนแบตเตอรี่จะถูกฝังอยู่ภายในเครื่อง จึงไม่สามารถแกะได้ ซึ่งก็เป็นดีไซน์ในแบบเดียวกับ Zenfone 5 และ Zenfone 6 นั่นเอง
แล้วถ้าสังเกตจากในภาพด้านซ้ายดีๆ จะเห็นว่าที่ฝาหลังมีแถบทองเหลืองเล็กๆ อยู่ อันนั้นคือขั้วของแผง NFC ที่ฝาหลังนั่นเองครับ โดยมันจะมาเชื่อมกับขั้วทองเหลืองของตัวเครื่อง ตรงบริเวณใกล้ๆ ปุ่มลดเสียง ซึ่งจะมีเฉพาะในโมเดล ZE551ML เท่านั้นที่มี NFC ถ้าไปแกะของโมเดล ZE550ML ก็จะไม่เจออันนี้นะ ยังไงเรื่องการเทียบความแตกต่างระหว่างโมเดล ZE551ML กับ ZE550ML ก็ตามไปอ่านต่อจากบทความนี้ได้เลยจ้า
มาดูด้านข้างกันบ้างครับ เริ่มจากด้านบนก็จะพบกับช่องรับเสียงของไมค์ช่วยตัดเสียงรบกวน, ปุ่ม Power และช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตรปกติ ซึ่งการวางปุ่ม Power ไว้ตรงกลางด้านบนแบบนี้ ผมว่ามันใช้งานค่อนข้างลำบากไปหน่อย เพราะตัวเครื่องก็ใหญ่พอสมควร แต่ก็พอเดาแนวคิดได้ว่าน่าจะเป็นเพราะทีมออกแบบต้องการดีไซน์ให้ทุกอย่างดูกลางในแบบเซน (ละมั้ง) เลยทำให้ปุ่มอยู่ตรงกลาง สามารถใช้งานได้ทั้งมือซ้ายและมือขวา ยังดีที่ตัวเครื่องสามารถตั้งค่าให้เคาะหน้าจอสองครั้งเพื่อเปิดและปิดหน้าจอได้ จึงไม่จำเป็นต้องใช้ปุ่ม Power ซักเท่าไหร่ ส่วนด้านล่างก็จะมีช่องรับเสียงของไมค์สนทนา กับช่อง Micro USB
สำหรับด้านข้าง ก็จะเห็นเลยว่ามันบางมาก ขอบเครื่องบางสุดเพียง 3.9 มิลลิเมตร แล้วก็ค่อยๆ หนาขึ้นตามลำดับไปจนถึงจุดหนาสุดตรงกลางที่ 10.9 มิลลิเมตร ซึ่งด้วยความบางขนาดนั้น จึงทำให้ไม่มีปุ่มหรือพอร์ตเชื่อมต่อใดๆ อยู่ด้านข้างตัวเครื่องเลย จะมีก็แต่ช่องสำหรับแงะฝาหลังออกเท่านั้นเอง ส่วนลำโพงก็ธรรมดาครับ ไม่โดดเด่นมากนัก
มาชมภาพตัวเครื่อง ASUS Zenfone 2 แรม 4 GB (ZE551ML) เพิ่มเติมกันครับ
Software
ASUS Zenfone 2 แรม 4 GB (ZE551ML) ตัวนี้ มาพร้อมกับ Android 5.0 Lollipop เรียบร้อยแล้วครับ ซึ่งถ้าเปิดใช้งานครั้งแรกพร้อมเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ก็จะมีอัพเดตย่อยให้ได้กดอัพกันตั้งแต่แรกเลย โดยเป็นการแก้บั๊กบางส่วน และเพิ่มไอคอน Auto-start Manager เข้ามา ให้เราสามารถตั้งค่าแอพที่จะให้ทำงานตั้งแต่เปิดเครื่องได้เลย (ไว้ต่อในส่วนของการรีวิวฟีเจอร์นะ) สำหรับใครที่สงสัยจากข้อมูลที่มีออกมาก่อนหน้านี้ว่าตัว Android ของ Zenfone 2 เป็นแค่แบบ 32 บิทหรือเปล่า อันนี้จากที่ผมลองใช้หลายๆ แอพเช็คดู ก็พบว่าเป็นเรื่องจริงครับ 32 บิทจริงๆ แหละ ซึ่งในแง่ของการใช้งานทั่วไป ก็คงจะไม่มีผลเท่าไหร่ แต่ดูจะเหมือนใช้งานชิปประมวลผลไม่เต็มกำลังซะมากกว่า อันนี้คงต้องดูกันต่อไปครับว่า ASUS จะมีอัพเดตปรับตัวระบบปฏิบัติการในอนาคตหรือเปล่า
สำหรับความจุรอม เครื่องที่เราได้รับมาทดสอบนี้เป็นตัวรอม 32 GB นะครับ (ซึ่งจากที่ลือกันมา ตัวนี้น่าจะเป็นรุ่นที่วางขายกับผู้ให้บริการเครือข่ายในไทยเรานี่ล่ะ) โดยจากรอม 32 GB จะเหลือพื้นที่ให้เราได้ใช้งาน ลงแอพ ลงเกมอีกราวๆ 24 GB ด้วยกัน เพียงเท่านี้ก็จัดว่าเหลือเฟือแล้ว เผลอๆ บางท่านไม่ต้องใส่ MicroSD เพิ่มก็ยังไหวเลย
ปิดท้ายด้วยเรื่องแรม จากที่ผมเปิดใช้งานครั้งแรก จากแรม 4 GB จะเหลือว่างให้ใช้งานเต็มๆ 2.5 GB !! เหลือเยอะกว่าแรม iPhone สองเครื่องเต็มๆ รวมกันซะอีก ส่วนหลังจากลงแอพประจำ แล้วใช้งานแบบไม่ได้รีสตาร์ทเลยเป็นวันๆ ก็จะเหลือว่างให้ใช้ประมาณ 1.3 GB เรียกว่ามีพื้นที่เหลือเฟือสุดๆ ย้อนไปใช้งานแอพที่ใช้ก่อนหน้านี้จากใน Recent Apps ก็สามารถกดเรียกแล้วใช้งานต่อได้แทบจะทันที ทีนี้ก็หมดปัญหาเรื่องแรมเต็มไปได้เลย แอพเคลียร์แรมก็ไม่ต้องใช้เลยครับ ปล่อยทิ้งไว้ได้สบายๆ
เอ้อ!! เรื่องพื้นที่เก็บข้อมูล อยากจะบอกว่า นอกจาก ASUS จะมีพื้นที่เก็บข้อมูล WebStorage ให้ 5 GB ฟรีๆ ตลอดชีพแล้ว ASUS Zenfone 2 ยังแจกพื้นที่เก็บข้อมูลบน Google Drive ให้ฟรีอีก 100 GB เป็นเวลา 2 ปีด้วยนะ วิธีรับก็ง่ายๆ ครับ แค่เปิดเข้าแอพ Google Drive ที่มีมาในเครื่อง แล้วก็กด Redeem ได้เลย
Feature
ทีนี้มาพูดถึงฟีเจอร์น่าสนใจ ที่เพิ่มเข้ามาใน ASUS Zenfone 2 กันบ้างครับ ซึ่งเอาจริงๆ แล้วต้องเรียกว่ามันเพิ่มเข้ามาใน ZenUI 2.0 ก็ว่าได้ ดังนั้นมันจึงมีให้ใช้กันทุกเครื่องแน่นอน
Quick Trigger และ ZenMotion
ขอรวบมาสองเรื่องที่ใกล้เคียงกันไว้ด้วยกันเลยนะครับ อันแรก Quick Trigger นี่คือการสลับโหมดไปใช้เครื่องในแบบที่เหมาะสำหรับการใช้ด้วยมือข้างเดียว ซึ่งจะย่อหน้าจอให้ดูเล็กลงอย่างในภาพแรกซ้ายสุด สามารถเลื่อนหน้าต่างไปได้ตามถนัดเลย โดยเราสามารถตั้งค่าให้สลับจากการแสดงผลปกติมาเป็นโหมดนี้แบบง่ายๆ ได้ด้วย เพียงเข้าไปที่ Settings > ASUS customized settings แล้วติ๊กถูกที่หัวข้อ Quick trigger ส่วนการใช้งานก็ง่ายมาก แค่ระหว่างใช้อยู่ ก็กดปุ่มโฮมติดๆ กันสองครั้ง เพียงเท่านี้หน้าต่างก็จะสลับไปมาระหว่างการแสดงผลปกติ กับการแสดงผลแบบสำหรับใช้งานมือเดียวแล้ว
ส่วนเรื่อง ZenMotion นั้น จะเกี่ยวข้องกับการใช้นิ้วสั่งงานเครื่องรูปแบบต่างๆ ครับ เอาง่ายๆ เลยมันก็คือ gesture ทั้งหลายนี่ล่ะ โดยมีให้ใช้งานหลากหลายมาก เช่น
- แตะหน้าจอสองครั้งเพื่อเปิด/ปิดหน้าจอ
- ลากนิ้วเป็นรูปตัว C ขณะจอปิดอยู่ เพื่อเปิดแอพกล้อง
- ลากนิ้วเป็นรูปตัว V ขณะจอปิดอยู่ เพื่อเปิดแอพโทรศัพท์
- ลากนิ้วเป็นรูปตัว e ขณะจอปิดอยู่ เพื่อเปิดแอพอีเมล
- เขย่าเครื่องสองครั้งระหว่างใช้งานแอพอยู่ เพื่อแคปหน้าจอ แล้วสร้างตัวช่วยจำในแอพ Do It Later
โดยส่วนของการลากนิ้วระหว่างปิดจออยู่ เพื่อเปิดแอพขึ้นมานั้น เราสามารถเปลี่ยนการตั้งค่าได้ด้วยนะครับ เช่น ผมอยากเปลี่ยนจากการลากนิ้วเป็นตัว Z ที่ปกติจะเป็นการเรียก ASUS Boost เพื่อช่วยเคลียร์แรมขึ้นมา เพราะเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเคลียร์แรมก็ใช้ได้ ผมก็จัดการเปลี่ยนไปให้มันเปิดแอพเครื่องคิดเลขขึ้นมาก็ได้เหมือนกัน ทีนี้ก็เปิดเครื่องคิดเลขได้สะดวกกว่าเดิมเยอะเลย ซึ่งเราจะตั้งค่าเป็นแอพใดก็ได้ที่ติดตั้งในเครื่องด้วยนะ ติดตรงที่ไม่สามารถเพิ่มรูปแบบการวาดนิ้วเข้าไปได้ มีให้ใช้แค่ 6 แบบเท่านั้นเอง
การปรับแต่งหน้าตา เปลี่ยนธีม เปลี่ยน font
เรามักจะได้เห็นการปรับแต่งพวกนี้มากับมือถือหลายแบรนด์จากจีนซะเป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว คราวนี้มันมาอยู่ใน ZenUI 2.0 บน Zenfone 2 ด้วยครับ ทำใหเราสามารถเปลี่ยนธีม เปลี่ยนไอคอน ได้ค่อนข้างหลากหลายและง่ายกว่าเดิมมาก ซึ่งเท่าที่ผมลองเล่นๆ ดู มันก็เป็นการดึงมาจากธีมและไอคอนที่มีคนลงไว้บน Play Store แล้วมันใช้งานร่วมกับลันเชอร์ ZenUI ได้นั่นเองครับ ตัวธีมอาจจะยังน้อยหน่อย แต่ไอคอนนี่มีให้เลือกใช้มากมายเลย ทั้งแบบฟรีและแบบเสียเงิน
อีกส่วนที่จัดว่าช่วยปรับแต่งหน้าตาของ ZenUI ได้แบบลึกๆ หน่อยก็คือการปรับเปลี่ยน font ครับ โดยเฉพาะ font ที่ประกอบไอคอนแอพ ซึ่งสามารถปรับได้ทั้งขนาด สี และรูปแบบเลย และ font ที่มีติดตั้งมาในตัวก็เยอะมากๆ เผลอๆ แค่นั่งเปลี่ยนธีม เปลี่ยนไอคอน เปลี่ยน font กว่าจะตรงใจ ก็ใช้เวลาร่วมครึ่งวันได้สบายๆ เลยนะเนี่ย
นอกจากน้ี ZenUI ยังรองรับการปรับแต่งหน้าตาส่วนอื่นๆ อีกครับ เช่น แอนิเมชันการเลื่อนหน้าแอพ ความโปร่งแสงของแถบด้านบน ความโปร่งแสงของภาพแบคกราวด์ ขนาดของไอคอน (ปรับกริดของหน้าจอ) รวมถึงยังล็อคบางแอพไม่ให้โชว์บนหน้าจอได้ด้วย
Auto-start Manager
สำหรับเมนูนี้ จะมาหลังจากอัพเดตเครื่องครั้งแรกไปแล้วนะครับ หน้าที่ของมันก็คือเป็นตัวช่วยให้เราสามารถเลือกว่าจะอนุญาตให้แต่ละแอพ เริ่มทำงานตั้งแต่ตอนเปิดเครื่องเลยหรือเปล่า เพื่อช่วยบูทเครื่องเสร็จเร็วขึ้น (นิดหน่อย) และไม่กินแรมโดยเปล่าประโยชน์ ถ้าเห็นว่าแอพไหนไม่ค่อยได้ใช้ ก็จัดการปิด (deny) ซะ
Kids Mode
เป็นโหมดที่ออกแบบมาให้พ่อแม่ผู้ปกครองตั้งค่าเอาไว้ เผื่อเวลาที่ลูกเอามือถือเราไปเล่นเกมครับ โดยตัวมันสามารถตั้งค่าได้หลายอย่างอยู่เหมือนกัน เช่น ตั้งค่าตัวกรองของเว็บเบราเซอร์ได้ ตั้งค่าความปลอดภัยของข้อมูลเราด้วยการใส่รหัสผ่านก็ได้ ตั้งค่าให้บล็อกสายโทรเข้าก็ได้ (กันลูกเรารับสาย แล้วพูดอ้อแอ้ๆ ใส่คนโทรมา) รวมถึงสามารถเลือกได้ด้วยว่าจะอนุญาตให้ใช้แอพไหนได้บ้าง ในระหว่างเปิดใช้งานโหมดนี้อยู่ และที่เด็ดหน่อยก็คือมันสามารถตั้งเวลาได้ด้วย ว่าจะให้ลูกเล่นมือถือได้นานขนาดไหน เช่นอาจจะอนุญาตให้ลูกเล่นเกมแค่ 15 นาทีก็ตั้งค่าไว้ได้เลย พอครบเวลาก็จะตัดทันที แล้วให้ลูกมาขอต่อเวลากับเราเอาเอง
Camera
เรื่องกล้องก็เป็นอีกจุดที่ Zenfone 2 พัฒนาขึ้นจากเดิม ที่เห็นได้ง่ายสุดก็คงเป็นเรื่องความละเอียดภาพครับ เพิ่มมาเป็นกล้องหลัง 13 ล้านพิกเซล กล้องหน้า 5 ล้านพิกเซล ซึ่งทั้งคู่ก็จัดว่าอยู่ในระดับที่ใช้งานทั่วไปได้ดีเกินพอเลยล่ะ ส่วนของเทคโนโลยีการประมวลผลก็ได้รับการอัพเกรดขึ้นเป็น PixelMaster 2.0 ซึ่งใช้งานได้ทั้งกล้องหน้าและกล้องหลังเลยในคราวนี้ จุดที่พัฒนาขึ้นจากเดิมก็เช่น การถ่ายภาพในที่มีแสงน้อยได้ดีขึ้น โดยเฉพาะในโหมด low light
เรื่องของโหมด low light นี้ต้องเล่าย้อนไปที่ตัว Zenfone รุ่นแรกก่อนครับ ตามปกติแล้วเทคโนโลยี PixelMaster ของโหมด low light มันคือการใช้เม็ดพิกเซลของเซ็นเซอร์รับภาพ 4 เม็ด รวมเป็นพิกเซลใหญ่สำหรับเก็บภาพ เพื่อเพิ่มความสว่างต่อพิกเซลให้มากขึ้น ดังนั้นภาพที่ถ่ายด้วยโหมด low light จึงมีความละเอียดสูงสุดแค่ 2 ล้านพิกเซลเท่านั้น (เซ็นเซอร์ 8 ล้าน หาร 4 ลงมาเหลือ 2 ล้านพิกเซล) แต่พอมาใน Zenfone 2 ตัวเซ็นเซอร์กล้องได้เพิ่มจำนวนพิกเซลเป็น 13 ล้านพิกเซล จึงทำให้สามารถถ่ายภาพในโหมด low light ได้ภาพที่ความละเอียดสูงขึ้นเป็น 3 ล้านพิกเซลนั่นเอง (13/4 ได้ 3 กว่าๆ) ก็เท่ากับว่าภาพที่ถ่ายด้วยโหมด low light ของ Zenfone 2 จะมีรายละเอียดภาพที่ดีขึ้นนั่นเอง อันนี้คือเป็นประโยชน์ที่เห็นได้ชัดของการอัพเกรดครับ
อีกโหมดที่มีเพิ่มเข้ามาของกล้องหลังก็คือโหมด Manual ที่ให้ผู้ใช้ปรับตั้งค่าต่างๆ ได้เอง เช่น ค่า white balance ปรับได้ทีละ 50K ค่าความไวแสง (ISO) ที่ปรับได้ต่ำสุด 50 สูงสุด 800 ค่าความเร็วชัตเตอร์ที่ปรับได้นานสุด 1/2 วินาที ค่าการชดเชยแสง (EV) ก็ปรับได้สต็อปละ 0.3 รวมทั้งยังปรับระยะโฟกัสได้ค่อนข้างละเอียดด้วย น่าจะถูกใจคนที่ชอบปรับค่ากล้องเองแน่นอนครับ ให้ความรู้สึกที่ใกล้เคียงกล้อง DSLR อยู่เหมือนกันนะ ระหว่างถ่ายก็มีฮิสโตแกรมและแกนวัดระดับความเอียงให้ดูด้วย จัดว่าทำออกมาได้ค่อนข้างดีเลย หรือถ้าไม่อยากจะปรับให้ยุ่งยาก ก็ใช้งานโหมด auto ตามปกติก็ได้ครับ การทำงานมันค่อนข้างฉลาดอยู่เหมือนกัน
ปิดท้ายด้วยอีกโหมดที่น่าสนใจครับ นั่นคือโหมด Super Resolution ที่เป็นการเก็บภาพความละเอียดถึง 52 ล้านพิกเซล เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดที่สุด หลักการมันก็คือระบบจะถ่ายภาพไว้ 4 ช็อต (13 x 4 = 52) แล้วนำมาประมวลผลรวมกันเพื่อสร้างรายละเอียดของภาพเข้าไป ซึ่งจากในแกลเลอรี่ด้านบน แต่ละภาพจากแกลเลอรี่ด้านบนก็ตามนี้ครับ
- ภาพที่ 1: ภาพถ่ายที่ความละเอียด 13 ล้านพิกเซลปกติ
- ภาพที่ 2: ภาพจากโหมด Super Resolution แบบ crop 100%
- ภาพที่ 3: ภาพจากโหมดปกติ แบบ crop 100%
- ภาพที่ 4: ภาพจากโหมด Super Resolution แบบ crop 50%
จากตัวอย่างภาพก็จะเห็นเลยว่าภาพจากโหมด Super Resolution สามารถ crop หรือซูมภาพได้เยอะกว่าโหมดปกติมากๆ เหมาะสำหรับคนที่ต้องการนำภาพมาซูมเพื่อดูรายละเอียดปลีกย่อยในภาพภายหลัง ส่วนถ้ามาเทียบกันระหว่างภาพที่ 3 กับ 4 จะเห็นเลยว่าภาพจากโหมด Super Resolution ยังคงเก็บรายละเอียดไว้ได้ดีกว่า ภาพแตกน้อยกว่าจากโหมดปกติพอสมควร ตรงนี้ก็ถือว่าเป็นข้อดีของมันเลยครับ แต่ถ้าใช้บ่อยๆ คงไม่ไหวเหมือนกัน เพราะขนาดไฟล์มันภาพละประมาณ 20 MB คิดเป็น 4 เท่าของภาพถ่ายปกติเลยทีเดียว แถมต้องใช้ระยะเวลาประมวลผลหลังถ่ายนานกว่าปกติด้วย
ส่วนเรื่องความเร็วในการถ่าย การประมวลผลและการจัดเก็บภาพ ก็จัดว่าอยู่ในระดับที่สมาร์ทโฟนควรจะเป็น ถือว่าพัฒนาขึ้นจาก Zenfone รุ่นแรกที่ใช้ชิป Intel ซึ่งผมรู้สึกว่ามันช้าไปหน่อย ไม่ค่อยทันใจ แต่พอมาใน Zenfone 2 ทุกอย่างไหลลื่นดีเลย (ถ้าเก็บภาพลงเมมเครื่องนะ ส่วนถ้าเก็บภาพลง MicroSD ก็อาจมีช้าลงนิดหน่อย)
กล้องหน้าก็เป็นอีกจุดที่ได้รับการพัฒนาเหมือนกัน โดยมันมาพร้อมตัวเลือกปรับแต่งโหมดบิวตี้ได้หลากหลายดี ไม่ว่าจะเป็นสีริมฝีปาก ความเนียนของใบหน้า การลบริ้วรอย การทำตาโต รวมถึงยังปรับรูปหน้าได้เลยในตัว เอาใจคนชอบถ่าเซลฟี่กันเต็มที่เลยก็ว่างั้น นอกจากการปรับแต่งใบหน้าแล้ว ยังมีโหมดให้ใช้งานอีกหลายอย่างเหมือนกันครับ เช่นโหมดการถ่ายเซลฟี่แบบพาโนรามา ที่ช่วยให้สามารถเก็บภาพได้มุมกว้างขึ้น โหมดถ่ายในที่มีแสงน้อย (ภาพเหลือความละเอียด 1 ล้านพิกเซล) รวมถึงยังมีโหมด HDR และถ่าย time lapse ได้อีกด้วย จัดว่าเป็นกล้องหน้าที่มีฟีเจอร์เยอะเหมือนกันนะ
ด้านล่างนี้ก็เป็นตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้อง ASUS Zenfone 2 แรม 4 GB (ZE551ML) ครับ ซึ่งเอาจริงๆ แล้ว Zenfone 2 โมเดลอื่นก็น่าจะได้คุณภาพของภาพออกมาพอๆ กันนะ เพราะฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์มันเหมือนกันทุกรุ่น ส่วนในแกลเลอรี่ ถ้าสองภาพติดกันคู่ไหนเป็นภาพมุมเดียวกัน ภาพแรกคือการถ่ายด้วยโหมดออโต้ ส่วนอีกภาพคือการถ่ายด้วยโหมด low light นะครับ
จากบางภาพ จะเห็นว่าสีสันและความสว่างมันจัดไปหน่อย อันนี้เป็นเพราะค่าเริ่มต้นของแอพกล้อง มันจะเปิดการทำงานของระบบปรับแต่งภาพ (optimization) ให้อัตโนมัติครับ ทำให้มันปรับภาพออกมาสีค่อนข้างจัด และสว่างไปบ้างในบางภาพ อันนี้ดีที่สามารถปิดหรือตั้งค่าด้วยตนเองก็ได้เช่นกัน ซึ่งเราจะมีบทความเทียบความแตกต่างให้ชมกันภายหลังด้วยนะ
Performance
แง่ของการทดสอบประสิทธิภาพ ASUS Zenfone 2 แรม 4 GB (ZE551ML) ก็ไม่ทำให้ผิดหวังครับ พลังของชิป Intel Atom Z3580 มันแรงดีจริงๆ คะแนนจากหลายๆ การทดสอบนี่ออกมาเทียบกับ Snapdragon 801 ได้สบาย เผลอๆ จะแรงกว่าด้วยซ้ำไป ส่วนฝั่งของชิปกราฟิก PowerVR G6430 ก็แรงพอตัวเลย สามารถใช้เล่นเกมกราฟิกหนักๆ ในปัจจุบันได้สบาย เท่าที่ผมลองเล่น Asphalt 8 ดู ก็สามารถปรับกราฟิกระดับสูงสุดแล้วเล่นได้ อาจจะมีบางช่วงเฟรมเรตตกบ้าง เช่นช่วงที่มีวัตถุเยอะๆ หรือมีควันในเกมขึ้นมา แต่ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่เล่นเกมได้ดี ส่วนเกม MARVEL Future Fight นี่ก็สามารถเล่นด้วยกราฟิกระดับปานกลางได้ลื่นดี แต่ถ้าปรับไประดับสูงสุด จะเห็นเลยว่ามีกระตุกๆ บ้าง
สำหรับประสิทธิภาพการใช้งานจริง ASUS Zenfone 2 แรม 4 GB (ZE551ML) ทำออกมาได้ดีตามมาตรฐานที่มือถือ Android ควรจะเป็นครับ ไหลลื่นดีทั้งการเคลื่อนไหว แอนิเมชัน การเปิดใช้งานแอพพลิเคชัน ทุกอย่างจัดว่าอยู่ในเกณฑ์ดี และลื่นกว่าตอน Zenfone 5 กับ Zenfone 6 อีก อย่างนี้ซิค่อยน่าใช้งานหน่อย ส่วนเรื่องปัญหาการจับสัญญาณ WiFi ที่จากในรุ่นแรก บางเครื่องจะมีปัญหา WiFi หลุดบ่อยๆ (ผมก็เคยเจอกับเครื่องทดสอบเหมือนกัน) แต่พอใน Zenfone 2 ทั้งสองเครื่องที่เราได้รับมารีวิว ปรากฏว่าไม่พบปัญหา WiFi ดังกล่าวแล้ว การเชื่อมต่อ WiFi ทำได้ดี โหลดเกมใหญ่ๆ ต่อเนื่องได้แบบไม่หลุดเลย
แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหานะครับ อย่างหนึ่งที่เจอเลยคือผมโหลดเกม Fish Pond Park เกมใหม่ล่าสุดของค่าย Kairosoft จาก Play Store มา ผลคือค้างอยู่ตรงหน้าโหลดตอนเริ่มเกม และไม่สามารถเล่นได้เลย แต่พอไปลองโหลดในเครื่องอื่นที่สเปคต่ำกว่า กลับสามารถเล่นได้ปกติ อันนี้น่าจะเกิดจากปัญหาความเข้ากันได้ระหว่างชิปประมวลผล Intel กับตัวแอพแหละครับ ซึ่งปัจจุบันนี้ปัญหามันก็น้อยลงแล้วนะ แต่ต้องยอมรับว่ามันก็ยังมีเหลืออยู่บ้างเหมือนกัน ส่วนแอพอื่นๆ ผมสามารถใช้งานได้ตามปกติดีครับ
ต่อกันด้วยเรื่องแบตเตอรี่ครับ ASUS Zenfone 2 แรม 4 GB (ZE551ML) ให้แบตเตอรี่มา 3,000 mAh ซึ่งก็จัดว่าเยอะเลยสำหรับสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน เผลอๆ จะเยอะกว่าพวกรุ่นท็อปราคาสูงๆ กว่านี้ซะอีก ซึ่งจากในรุ่นแรกที่ให้แบตมาไม่เยอะมาก ประกอบกับการกินไฟที่เอาเรื่องอยู่ของชิป Intel Atom ก็ทำให้หลายๆ ท่านรู้สึกว่าแบตหมดเร็วจัง พอมาใน Zenfone 2 ทาง ASUS และ Intel ก็ได้อุดจุดอ่อนดังกล่าวละครับ และก็ทำได้ดีพอสมควร โดยผมลองใช้งานตามรูปแบบการใช้งานประมาณนี้
- เริ่มถอดสายชาร์จประมาณ 11 โมงกว่าๆ ปิด WiFi แล้วไปใช้ 3G แทน ปิด Bluetooth ความสว่างจอ ปล่อยให้ระบบปรับอัตโนมัติ เปิด GPS
- เล่นแอพเรื่อยๆ พวก Facebook, Twitter, IG อ่านหน้าเว็บด้วย Chrome มีแชทบ้าง แล้วก็โหลดแอพเพิ่มนิดหน่อยระหว่างทาง
- ฟังเพลงเกือบตลอดเวลา
- ถ่ายรูปเรื่อยๆ
- โหมดประหยัดพลังงานเป็นแบบ Optimized คือให้ระบบจัดการให้สมดุลกันระหว่างประสิทธิภาพกับการใช้งานแบต
ผลคือสามารถใช้งานได้ราวๆ 6 ชั่วโมง แบตเตอรี่จึงเหลือ 20% ซึ่งถ้าปล่อยสแตนด์บายเฉยๆ ไป ก็จะยังอยู่ได้อีกราวๆ ชั่วโมงกว่าครับ ถ้าอยากใช้ได้นานกว่านี้ก็คงต้องพก powerbank หรือไม่ก็อะแดปเตอร์กับสายชาร์จติดตัวแล้วล่ะ
ซึ่งเรื่องการชาร์จไฟก็เป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ Zenfone 2 ทำได้ดีครับ เพราะตัวโมเดล ZE551ML จะรองรับการชาร์จไฟเร็ว (BoostMaster) ด้วย ทำให้สามารถชาร์จแบตได้ 60% ในระยะเวลา 39 นาที โดยจากที่ลองใช้งานดู ผมก็สามารถชาร์จแบตจากเหลือสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ขึ้นมาเป็น 99% ได้ภายในเวลาเกือบ 2 ชั่วโมงเท่านั้นเอง และถ้าดูจากภาพที่สาม ก็จะเห็นว่ามันใช้เวลาประมาณเกือบครึ่งชั่วโมง ก็ชาร์จขึ้นมาได้เป็น 48% แล้ว จัดว่าเร็วอยู่นะ แต่ถ้าไปใช้อะแดปเตอร์ของเครื่องอื่นที่จ่ายไฟ 5V 1A ตามปกติ ก็คงจะใช้เวลาชาร์จกันนานหน่อย เพราะอะแดปเตอร์ที่แถมมากับ Zenfone 2 (ZE551ML) สามารถจ่ายไฟได้ 5V 2A กับ 9V 2A เลย