สิ่งที่คนพูดถึงเกี่ยวกับ iPhone ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยมากแล้วมักจะเป็นไปในเชิงที่ว่าราคาแพง สเปคงั้น ๆ บางคนก็มองว่าน่าจะใส่เลนส์อัลตร้าไวด์มาได้แล้ว รวมถึงประเด็นเรื่องแบตเตอรี่ที่น่าจะอึดขึ้นกว่านี้หน่อย (มีแค่ iPhone XR ที่ทำได้ดีเกินคาด) ซึ่งทำให้หลาย ๆ คนยังคงตัด iPhone ออกจากตัวเลือกของมือถือในใจ แล้วหันไปหาสมาร์ตโฟน Android รุ่นท็อปแทน อย่างส่วนตัวผมเอง iPhone เครื่องล่าสุดที่ผมใช้งานเป็นเครื่องหลักก็คือ iPhone 6 ที่หลาย ๆ คนให้ความเห็นว่าเป็นรุ่นที่ทำออกมาได้ค่อนข้างดี และยังเป็นรุ่นที่เป็นต้นกำเนิดของดีไซน์ iPhone หลาย ๆ รุ่นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งหลังจากใช้มาเป็นเวลาราว 2 ปี ผมก็เปลี่ยนกลับมาใช้มือถือ Android อีกครั้ง โดยเลือกใช้เป็น Huawei P9 แล้วก็เปลี่ยนมาเป็น Google Pixel 2 XL มาจนถึงปัจจุบัน
แต่พอมาในปีนี้ที่ Apple เปิดตัว iPhone 11, iPhone 11 Pro และ iPhone 11 Pro Max ที่ได้รับการปรับปรุงจากรุ่นเดิมอย่าง iPhone XR, iPhone XS และ iPhone XS Max ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพ กล้องถ่ายรูป และที่สำคัญสุดคือราคาในไทยที่ปรับลดลงจากเดิมหลักพัน จึงทำให้ iPhone 11 ทั้งสามรุ่นย่อย เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนที่ต้องการเปลี่ยนมือถือใหม่ในช่วงนี้พอดี ซึ่งผมเองก็ซื้อมาใช้งานส่วนตัวด้วยเช่นกันครับ
โดยรุ่นที่เลือกก็เป็น iPhone 11 สีแดง Product Red ก็เลยจะหยิบมารีวิวซักหน่อย แต่เป็นการรีวิวความรู้สึกทั้งในจุดที่ชอบ และจุดที่ไม่ชอบของ iPhone 11 ครับ มาเริ่มกันจากประเด็นที่ผมชอบ และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผมตัดสินใจซื้อ มาเป็นหนึ่งในมือถือเครื่องประจำครับ
1. สเปค iPhone 11 และราคาที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น และช่วงเวลาที่เหมาะสม
อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นว่าปีนี้ราคา iPhone 11, iPhone 11 Pro และ iPhone 11 Pro Max ในไทยทำออกมาได้ดี อาจจะด้วยปัจจัยเรื่องของค่าเงินบาท หรืออาจจะมีปัจจัยภายในต่าง ๆ ที่ Apple ไม่ได้เปิดเผย ทำให้ปีนี้ราคา iPhone รุ่นใหม่ดูจะจับต้องได้ง่ายขึ้นมาก
อย่างในความจุ 64 GB ที่เป็นรุ่นเริ่มต้นสุด ก็เปิดราคากลางมาที่ 24,900 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาในระดับเดียวกันกับมือถือรุ่นท็อปฝั่ง Android หลาย ๆ รุ่น แถมยังถูกกว่าหลายรุ่นซะด้วยซ้ำ ทำให้คนเริ่มหันมาให้ความสนใจอยากเปลี่ยนไปใช้ iPhone 11 อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในช่วง 2-3 ปีหลัง และถ้าไหน ๆ ก็เล็งจะซื้อแล้ว ถ้ายอมบวกเพิ่มอีก 2,000 บาท (หรือคิดเป็นเดือนละ 200 บาท เมื่อผ่อนผ่านบัตรเครดิต 0% 10 เดือน) ก็ได้อัพความจุเป็น 128 GB แล้ว ต่างจากการอัพเป็น 256 GB ที่ช่วงราคาทิ้งห่างกันไปหน่อย ซึ่งนับเป็นการวางราคาที่ช่วยทำให้คนตัดสินใจยอมจ่ายเพิ่มได้ตามสไตล์ที่ Apple ทำมาโดยตลอด
ส่วนฝั่งของ iPhone 11 Pro และ iPhone 11 Pro Max ก็จะวางตลาดในอีกกลุ่มไปเลยครับ โดยเอาไปชนกับมือถือ Android รุ่นท็อปแบบเต็มตัว ซึ่งได้ผลกับกลุ่มคนที่ใช้ iPhone รุ่นท็อปอยู่แล้ว หรืออยากจะเปลี่ยนจาก Android รุ่นท็อปมาใช้ iPhone รวมถึงกลุ่มที่พร้อมจะจ่ายแบบจัดเต็มเพื่อใช้ iPhone ที่มาพร้อมสเปคสูงสุดในปีนั้น โดยเรื่องราคาอาจจะไม่ใช่ปัจจัยหลัก และอาจจะต้องการพกมือถือเพียงเครื่องเดียวที่สามารถใช้งานได้ครบทุกรูปแบบ
นอกจากนี้ เหล่าโปรโมชันราคาของตัวแทนจำหน่ายแต่ละฝ่ายก็ดึงดูดได้พอสมควรครับ อย่างเครื่องที่ผมได้มานี้ก็ได้ส่วนลดมาเลยดื้อ ๆ 4,000 บาท เมื่อซื้อสินค้าเกิน 30,000 บาท (จ่ายแบบชำระเต็มเท่านั้น) ทำให้ผมได้ความจุ 256 GB มาในราคาเท่ากับรุ่นความจุ 128 GB ที่ผมตั้งใจจะซื้ออยู่แล้ว (จาก 30,900 เหลือ 26,900 บาท) ซึ่งนับว่าคุ้มมาก ๆ เสมือนได้อัพความจุฟรีเลยทีเดียว
ส่วนโปรโมชันของรายอื่น ๆ ก็ไม่เบาเหมือนกันครับ ทั้งส่วนลดตรง ๆ ส่วนลดท็อปอัพ ของแถม แพ็คเกจจากเครือข่ายมือถือ เรียกว่าตอนคืนที่เปิดจอง นับเป็นหนึ่งคืนที่ตาม Facebook ค่อนข้างคึกคักเลยทีเดียว ทั้งการประชาสัมพันธ์ของตัวแทนจำหน่าย และการแชร์ การปรึกษาหารือกันเรื่องความคุ้มของโปรโมชันในแต่ละกลุ่มเอง
อีกสาเหตุที่มองข้ามไปไม่ได้เลยสำหรับกระแสอยากเปลี่ยนไปใช้ iPhone 11 ก็คือ กลุ่มผู้ใช้งาน iPhone รุ่นเก่าที่ถึงแก่เวลาในการเปลี่ยนมาเครื่องใหม่ เช่น กลุ่มผู้ใช้ iPhone 6s และ iPhone 7 เป็นต้น เพราะแน่นอนว่าสเปคก็ค่อนข้างเก่าสำหรับการใช้งานหลาย ๆ แอปในปัจจุบัน แถมปัญหาเรื่องแบตเตอรี่คงกวนใจไม่น้อย ประกอบกับราคาเริ่มต้นที่เป็นมิตรมากขึ้น สเปคที่ก็ไม่ได้ด้อยไปกว่ามือถือ Android ซักเท่าไหร่ เลยไม่แปลกใจที่จะมีคนเปลี่ยนมาใช้กันค่อนข้างหนาตา ทั้งในไทยและในประเทศอื่น ๆ ที่ก็ได้ข่าวว่ากระแสดีไม่แพ้กัน
และอีกปัจจัยที่ทำให้ iPhone 11 ได้รับความสนใจมาก ๆ เลยก็คือเรื่องสเปคครับ เพราะสเปคที่ใส่มานั้นเรียกได้ว่าเกือบเทียบเท่ารุ่นท็อปอย่าง iPhone 11 Pro และ iPhone 11 Pro Max เลยทีเดียว ที่เห็นชัดสุดคือชิปประมวลผลที่ใช้ Apple A13 รุ่นเดียวกัน แรมก็เท่ากัน จึงทำให้ประสิทธิภาพส่วนใหญ่แทบจะไม่แตกต่างกันมากนักในทั้ง 3 รุ่น แต่ได้ราคาที่ถูกกว่ากันเป็นพัน แต่ก็จะมีรายละเอียดในบางจุดที่ด้อยกว่ารุ่นท็อป เช่น ประเภทของหน้าจอ กล้องหลัง ซึ่งถ้าไม่ได้ซีเรียสในจุดนี้ ก็เป็นมือถือรุ่นที่น่าสนใจ และน่าจะใช้งานได้ยาว ๆ เลย
สเปค iPhone 11
- ชิปประมวลผล Apple A13 Bionic มี 6 คอร์ (2x 2.65 GHz และ 4x 1.8 GHz)
- แรม 4 GB
- พื้นที่เก็บข้อมูลมีทั้ง 64, 128 และ 256 GB
- หน้าจอ Liquid Retina HD (IPS LCD) ขนาด 6.1″ ความละเอียด 1792 x 828
- รองรับการแสดงผลแบบ True tone ขอบเขตสีระดับ P3
- กล้องหลัง 2 ตัว
- กล้องหลัก 12MP f/1.8 ซูมออปติคอล 2 เท่า ซูมดิจิตอลสูงสุด 5 เท่า ถ่ายวิดีโอสูงสุดระดับ 4K 60fps มี OIS
- กล้องอัลตร้าไวด์ 12MP f/2.4 มุมมองภาพกว้าง 120 องศา
- กล้องหน้า TrueDepth 12MP f/2.2 รองรับการถ่ายวิดีโอสูงสุดระดับ 4K 60fps สามารถถ่าย Slo-mo ได้ (Slofie)
- ระบบสแกนใบหน้า FaceID ด้วยกล้อง TrueDepth และเซ็นเซอร์ตรงติ่งจอ
- ใช้งานได้ 2 ซิม (ซิมจริง + eSIM)
- รองรับ LTE ระดับ Gigabit MIMO 2×2 รองรับ Wi-Fi 6 802.11ax
- กันน้ำกันฝุ่นที่ระดับ IP68
- ลำโพงคู่แบบสเตอริโอ รองรับระบบเสียง Dolby Atmos
- แบตเตอรี่ 3110 mAh รองรับการชาร์จเร็วแบบมีสายที่ 18W แบบ USB-PD
- รองรับการชาร์จไร้สายมาตรฐาน Qi
- มาพร้อม iOS 13
สเปคถือว่าทำออกมาได้ทันยุค แถมบางอย่างยังทำรองรับอนาคตด้วยครับ เช่น ระบบเสียง Dolby Atmos, การรองรับ Wi-Fi 6 ในตัว และที่สำคัญสุดก็คือการใส่เลนส์อัลตร้าไวด์มาเป็นครั้งแรก ตอบโจทย์คนที่ต้องการถ่ายภาพในมุมกว้าง ซึ่งนอกเหนือจากจะได้ภาพที่แตกต่างจากเลนส์ไวด์ปกติแล้ว ตัว iOS เองก็ยังใช้ประโยชน์จากการใส่เลนส์มุมกว้างมาได้ดีอีกด้วย ซึ่งจะไปดูกันต่อในการรีวิวกล้อง
2. กล้อง iPhone 11 ที่ได้รับการพัฒนาจากเดิม เพิ่มเติมด้วยเลนส์อัลตร้าไวด์
เรื่องกล้องถ่ายรูป นับเป็นจุดที่ iPhone ตามหลังฝั่ง Android มานานพอสมควร ทั้งในแง่ของฟีเจอร์ที่น้อยกว่า และคุณภาพของรูปถ่ายที่ฝั่ง Android พัฒนาแบบก้าวกระโดดมาก ๆ ทำให้ Apple มีการบ้านในด้านกล้อง และพวกพ้องไม่น้อยเลยทีเดียว และในงานเปิดตัวที่ผ่านมาเราก็ได้เห็นท่าทีของ Apple ที่ดูเป็นไปตามโลกมากขึ้น ทั้งส่วนของฮาร์ดแวร์ด้วยการเพิ่มเลนส์อัลตร้าไวด์เข้ามา จนทำให้ iPhone 11 Pro และ iPhone 11 Pro Max เองมีเลนส์ครบสามช่วงเทียบเท่ากับมือถือเรือธงฝั่ง Android หลาย ๆ รุ่น ส่วนในด้านของฟีเจอร์ก็มี Night Mode เพิ่มเข้ามา รองรับการถ่ายวิดีโอระดับ 4K 60fps รวมถึงยังมีการปรับปรุงโหมด Portrait ให้ถ่ายได้หลากหลายสถานการณ์มากยิ่งขึ้น
<span data-mce-type=”bookmark” style=”display: inline-block; width: 0px; overflow: hidden; line-height: 0;” class=”mce_SELRES_start”></span>ประเด็นแรกที่จะพูดถึงเลยก็คือเลนส์อัลตร้าไวด์ ซึ่งการเรียกใช้งานก็ไม่ยากเลย จะใช้การจีบนิ้วเข้า หรือกดที่ปุ่ม 1x เพื่อสลับไปมาระหว่างเลนส์ไวด์ (1x) กับเลนส์อัลตร้าไวด์ (0.5x) ก็ได้เช่นกัน ซึ่งการสลับก็ทำได้รวดเร็วและไหลลื่นมาก ๆ โดยเจ้าเลนส์อัลตร้าไวด์นี้ก็รองรับทั้งการถ่ายภาพนิ่งและถ่ายวิดีโอแทบทุกโหมด ยกเว้นโหมด Portrait เท่านั้น ส่วนอีกข้อจำกัดของเลนส์อัลตร้าไวด์ ก็คือ มันไม่สามารถใช้งาน Night mode ได้ครับ ที่จะใช้ได้ก็มีเพียงเลนส์ไวด์ปกติเท่านั้น
ส่วนกล้องหน้าก็มีการปรับปรุงรายละเอียดในบางจุดเหมือนกัน แต่โดยรวมแล้วก็ยังคล้ายของเดิม มีโหมด Portrait ให้เล่นกับแสงเงาได้ สามารถปรับเป็นภาพเซลฟี่มุมกว้างได้ เป็นต้น
โดยโหมดที่เพิ่มเข้ามาก็คือการถ่าย Slo-Mo ด้วยกล้องหน้าที่ทาง Apple ตั้งชื่อให้ว่าเป็นภาพ Slofie ซึ่งวิธีการใช้งาน ภาพที่ได้ก็เป็นแบบเดียวกับกล้องหลังเลย เรียกว่าเอาไว้ใช้งานเก๋ ๆ ได้อยู่ โดยไฟล์ที่ export ออกมาแล้วจะมีความละเอียดระดับ Full HD 30fps ครับ
อีกหนึ่งจุดที่ Apple ปรับใน iOS 13 เพื่อเพิ่มความสะดวกก็คือ หากผู้ใช้กดปุ่มถ่ายรูปค้างไว้ ระบบจะปรับเป็นการถ่ายวิดีโอให้อัตโนมัติ และถ้าต้องการถ่ายวิดีโอต่อแบบไม่ต้องกดปุ่มค้างไว้ ก็ให้เลื่อนนิ้วที่จิ้มจออยู่ไปทางขวาตรงที่มีรูปแม่กุญแจอยู่ ส่วนถ้าต้องการถ่ายภาพรัว ๆ แบบ burst mode ก็ทำคล้ายกัน แต่ระหว่างที่กดค้างไว้ก็ให้เลื่อนนิ้วไปทางฝั่งซ้ายแทน แล้วตรงกลางก็จะมีตัวเลขจำนวนภาพแสดงขึ้นมาว่าตอนนี้ถ่ายไปแล้วกี่รูป
<span data-mce-type=”bookmark” style=”display: inline-block; width: 0px; overflow: hidden; line-height: 0;” class=”mce_SELRES_start”></span>
ทีนี้มาดูตัวอย่างภาพถ่ายกันบ้างครับ คู่แรกด้านบนก็จะเป็นภาพที่ยืนถ่ายในมุมเดียวกัน ฝั่งซ้ายคือภาพจากเลนส์ไวด์ปกติ ส่วนฝั่งขวาคือภาพที่ถ่ายจากเลนส์อัลตร้าไวด์ที่ให้ภาพมุมกว้างกว่ากันอย่างเห็นได้ชัด คุณภาพโดยรวมของภาพจากเลนส์อัลตร้าไวด์นั้นถือว่าโอเคเลยครับ แต่ถ้าสังเกตดี ๆ ตรงขอบภาพจะไม่ค่อยชัดแล้ว ซึ่งก็เป็นปกติของเลนส์อัลตร้าไวด์ในมือถือยุคปัจจุบัน ที่อาจจะยังเก็บรายละเอียดที่ขอบภาพไม่ค่อยดีนัก แต่ถ้าให้เทียบแล้ว ส่วนตัวผมมองว่า ยังเก็บรายละเอียดขอบภาพได้ค่อนข้างดีเลย
ซึ่งจากที่ผมทดลองส่องดูในหลาย ๆ รูป ก็พอจะสรุปขอบเขตที่เลนส์อัลตร้าไวด์ ให้ภาพได้คมชัดที่สุด คือบริเวณภายในวงกลมของภาพด้านบนครับ พอเป็นบริเวณที่ลงสีแดงไว้ก็เริ่มจะมัว ๆ แล้ว ดังนั้นถ้าต้องการโฟกัสวัตถุ คนหรือวิวให้ชัด ก็ควรจะวางองค์ประกอบสำคัญไว้ในบริเวณดังกล่าว
<span data-mce-type=”bookmark” style=”display: inline-block; width: 0px; overflow: hidden; line-height: 0;” class=”mce_SELRES_start”></span>ส่วนของ Night mode ผมลองทดสอบด้วยการถ่ายรูปจากหน้าบ้านตนเองตอนช่วงหัวค่ำ โดยภาพทางซ้ายจะใช้เป็นภาพจากเลนส์ Ultra Wide ที่ไม่สามารถใช้งาน Night mode ได้ ซึ่งภาพที่ได้ออกมาก็ค่อนข้างตรงกับสภาพแสงจริง ๆ ส่วนภาพฝั่งขวาเป็นภาพจากเลนส์ไวด์ปกติ ซึ่งตัวกล้องจะเปิดใช้งาน Night mode โดยอัตโนมัติเมื่อพบว่าสภาพแสงน้อยกว่าปกติ และจะคำนวณระยะเวลาที่ต้องใช้ในการถ่ายรูปให้ด้วย ผลที่ออกมาก็ถือว่าทำได้น่าพอใจเลย พอฟัดพอเหวี่ยงกับมือถือ Android หลาย ๆ รุ่น อย่างของผมเองที่ลองเทียบกับ Google Pixel 2 XL ก็บอกเลยว่าต่างกันไม่เยอะแล้ว แถมดูเหมือน จะให้โทนสีที่ตรงกับความเป็นจริงกว่าอีกด้วย
พูดถึงหลักการทำงานของ Night mode ใน iPhone 11 อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าระบบจะทำงานอัตโนมัติเมื่อพบว่ามีแสงน้อยเกินไป ซึ่งตัวกล้องก็จะเก็บภาพหลาย ๆ ภาพที่มีการตั้งค่าแสงแตกต่างกัน จากนั้นจึงนำเอาภาพมาประมวลผลอีกทีให้ได้ภาพที่เหมาะสมที่สุด โดยผู้ใช้สามารถปรับเลื่อนแถบเวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพได้ครับ สูงสุดที่ 10 วินาที แต่จากที่ผมนำมาถ่ายจริง พบว่าถ้าตั้งไปที่ 10 วินาที ตัวเครื่องจะใช้เวลาในการนับถอยหลังตั้งแต่เริ่มถ่ายจนได้ภาพอยู่ที่ 30 วินาที ซึ่งเวลา 20 วินาทีที่เพิ่มขึ้นมา น่าจะเป็นเวลาที่เครื่องใช้ในการประมวลผลภาพทั้งหมด
ด้านของโหมด Portrait ที่ทาง Apple โฆษณาว่าได้รับการพัฒนาขึ้นจากเดิม สามารถถ่ายวัตถุได้ดีขึ้น จากที่ผมลองมาหลาย ๆ ช็อตพบว่ายังด้อยกว่าฝั่ง Android หลาย ๆ รุ่นอยู่พอสมควรเลย โดยเฉพาะการตัดขอบเพื่อทำพื้นหลังเบลอ
ตัวอย่างในภาพซ้ายบน จะเห็นว่าส่วนหูที่มีต้นไม้เป็นพื้นหลัง ยังมีการตัดขอบที่ไม่ถูกต้องอยู่ ส่วนภาพขวาบนที่เป็นรูปหลอดไฟ ส่วนของเชือกที่ห้อยหลอดไฟก็ยังถูกจับเบลอไปซะ ต่างจากอีกเครื่องที่ผมนำไปถ่ายพร้อมกันอย่าง Google Pixel 2 XL ที่แม้ว่าจะมีกล้องหลังเพียงตัวเดียว แต่กลับทำเบลอได้แม่นยำกว่ามาก ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการถ่ายรูปแก้วกาแฟเลยครับ ที่ผมลองถ่ายมา สมมติว่าถ่าย 5 ครั้ง จะมีช็อตที่ iPhone 11 เบลอหลอดได้แม่นเพียงแค่ 1 หรือ 2 ครั้งเท่านั้น ที่เหลือคือหลอดเบลอไปเลย ผิดกับ Pixel 2 XL ที่แม่นจริง หลอดมาเต็มแบบไม่ต้องใช้หลายเทค
ส่วนการถ่ายภาพ Portrait บุคคล เท่าที่ลองมาทำได้ค่อนข้างดีในเรื่องของรายละเอียดผิว รอยย่นต่าง ๆ สีผิวก็ค่อนข้างตรงกับสีจริง ดวงตาคมชัด จะติดก็แค่เรื่องการเบลอปลายเส้นผมตามเดิม
สำหรับในการถ่ายภาพทั่ว ๆ ไป iPhone 11 ตอบโจทย์การใช้งานได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายในสภาพแสงปกติ สภาพแสงที่ค่อนข้างยากต่อการประมวลผล ด้วยฟังก์ชัน Smart HDR ที่มาแทนที่ระบบ HDR แบบเดิม ประกอบกับเทคโนโลยี Deep Fusion ที่เพิ่มเข้ามาใน iOS 13.2 ทำให้สามารถเก็บรายละเอียดยิบย่อยในจุดที่ต้องการถ่ายได้ดีขึ้น ส่วนเรื่อง white balance ก็ทำได้ค่อนข้างแม่นยำทั้งเลนส์ไวด์และอัลตร้าไวด์ เรียกว่าภาพถ่ายโดยรวม ๆ ของ iPhone 11 อยู่ในระดับที่ไว้ใจได้เลย (ถ้าไม่ได้เน้นโหมด Portrait นะ) แต่ถ้าเทียบกับฝั่ง Android ก็จัดว่าขึ้นมาพอฟัดพอเหวี่ยงได้ใกล้เคียงกันในหลายข้อแล้ว ซึ่งฝั่ง Apple คงต้องพัฒนาเพื่อถมช่องว่างกันต่อไปครับ โดยเฉพาะส่วนของซอฟต์แวร์ และการช่วยประมวลผลจากเทคโนโลยี machine learning ที่ต้องยอมรับว่าฝั่ง Apple ยังตามหลัง Android อยู่
ด้านล่างนี้ก็เป็นแกลเลอรี่รวมตัวอย่างภาพถ่าย คลิกชมกันไปทีละภาพได้เลย
3. Ecosystem ที่สมบูรณ์ขึ้นเรื่อย ๆ และฟังก์ชันที่ช่วยอำนวยความสะดวกที่ทำมาแนบเนียน
หนึ่งในสิ่งที่เป็นจุดแข็งของ Apple มาโดยตลอดก็คือ Ecosystem ที่สร้างขึ้นมาโดยรอบผลิตภัณฑ์ ทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ที่ถ้าคุณใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการ Apple มากกว่า 1 ชิ้นร่วมกัน จะได้รับความสะดวก และสามารถทำงานด้วยกันได้อย่างลงตัว
อย่างในบริการ Apple TV+ ที่เพิ่งเปิดใหม่ไม่นาน โดยผู้ที่ซื้อผลิตภัณฑ์ Apple ใหม่ตั้งแต่หลัง 10 กันยายนที่ผ่านมา จะได้รับสิทธิ์ชมฟรีเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งเมื่อเปิดใช้งานบน iPhone แล้ว ก็สามารถดูจากอุปกรณ์ Apple เครื่องอื่น ๆ ได้อย่างสะดวก นอกจากนี้การซิงค์ข้อมูล การ copy ข้อความข้ามอุปกรณ์ เช่นคัดลอกข้อความจากใน iPhone แล้วมาใช้งานบน iPad ต่อ การเชื่อมต่อหูฟัง AirPods แยกในแต่ละเครื่อง รวมถึงการซิงค์รหัส WiFi ข้ามเครื่องที่ช่วยให้ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องกรอกรหัส WiFi อีกครั้ง ในกรณีที่นำอุปกรณ์เครื่องใหม่มาใช้งาน
ส่วนในด้านของฟังก์ชันการทำงานที่ผมมองว่าเป็นประโยชน์ และเป็นสิ่งที่ทำให้ผมใช้งานได้สะดวกก็เช่น
AirDrop
นับเป็นหนึ่งในฟังก์ชันที่หาคู่เปรียบเทียบได้ยากจริง ๆ ครับ สำหรับการรับส่งไฟล์ข้ามอุปกรณ์ในเครือ Apple ด้วยกันผ่านการเชื่อมต่อแบบไร้สายได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสามารถใช้ส่งได้ตั้งแต่รูปภาพ ไปจนถึงไฟล์ขนาดใหญ่หลัก GB โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องติดตั้งแอปอะไรเพิ่มเติมเลย ขอเพียงแค่เป็น iPhone, iPad, iPod Touch ไปจนถึงเครื่อง Mac เท่านั้น ก็สามารถแชร์ไฟล์ได้แล้ว
ซึ่งฟังก์ชันในลักษณะนี้บน Android เท่าที่มีในปัจจุบันจะต้องอาศัยการติดตั้งแอปพลิเคชันเสริมทั้งฝั่งเครื่องที่รับและส่ง ทำให้ไม่ค่อยสะดวกในการใช้งานมากนัก ยังดีที่มีข่าวว่าทั้งทาง Google และทาง Xiaomi กับพันธมิตรในจีน ต่างก็กำลังพัฒนาฟังก์ชันในลักษณะนี้อยู่ แต่ก็อาจจะต้องรอซักพัก และไม่แน่ชัดว่าจะเปิดให้ใช้งานได้ทุกเครื่องเมื่อไหร่ด้วย ผิดกับทาง Apple ที่มี AirDrop ให้ใช้งานมาหลายปีแล้ว ซึ่งก็น่าแปลกใจครับ ทั้งที่ Google น่าจะพัฒนาใส่มาในคอร์ของ Android ตั้งนานแล้ว เพราะฟังก์ชันนี้มันช่วยเพิ่มความสะดวกในการส่งไฟล์ข้ามเครื่องแบบไม่ต้องใช้อินเตอร์เน็ตได้ดีจริง ๆ
โดยตัว AirDrop ก็ตอบโจทย์ในการใช้งานของผมได้ดีมาก เพราะช่วยให้ผมสามารถส่งไฟล์รูปจาก iPhone ไฟล์ภาพที่ผมร่างไว้จากในแอปบน iPad ที่ต้องนำมาใช้ต่อใน MacBook ได้อย่างง่ายดาย (ผมไม่ได้ใช้ iCloud Photo Library) รวมถึงในสถานการณ์ที่หลาย ๆ คนอาจจะเคยเจอคือ ตอนถ่ายรูปรวมหลาย ๆ คน แล้วเพื่อนอยากได้ไฟล์รูปตอนนั้นเลย จะไปอัพขึ้น Facebook ก็ไม่สะดวก การใช้ AirDrop ก็ช่วยให้สามารถส่งรูปให้กับเพื่อนที่ใช้ iPhone ด้วยกันได้ทันที
ส่วนในการแชร์ไฟล์มายังเครื่อง Desktop PC เครื่องหลักของผมที่ใช้ Windows 10 อยู่ หลัก ๆ ก็ใช้วิธีพื้นฐานอื่น เช่น ส่งผ่านอีเมล ส่งมาทางช่องแชท หรือถ้าต้องการส่งรูปเยอะ ๆ ก็อาศัยการเลือกรูปที่ต้องการ จากนั้นใช้การแชร์เป็นลิงค์อัลบั้มบน iCloud มาดาวน์โหลดรูปในคอมอีกที
Wallet
สำหรับบริการ Wallet นี้อาจจะใช้งานในไทยได้ไม่ค่อยเต็มที่ซักเท่าไหร่ครับ ทั้งจากในส่วนของแอปพลิเคชันอื่น ๆ ที่ไม่ค่อยรองรับการส่งข้อมูลมา Wallet รวมถึงจากการที่ยังไม่เปิดใช้งาน Apple Pay ในไทยด้วย ซึ่งในส่วนนี้บริการอย่างพวก Samsung Pay ยังสามารถใช้งานได้มากกว่า แต่ก็พอมีช่องทางที่สามารถใช้ประโยชน์จากระบบ Wallet ของ Apple ได้อยู่บ้าง
อย่างในภาพด้านบน คือการเพิ่มบัตร Suica สำหรับใช้งานรถไฟได้ในบางพื้นที่ของประเทศญี่ปุ่น เช่น โตเกียว เข้าไปใน Wallet และสามารถใช้สแกน NFC เพื่อผ่านประตูแทนการพกบัตร Suica ได้เลย จะเสียดายก็ตรงที่ไม่สามารถเติมเงินในนี้ได้ เพราะระบบจะไปตัดเงินจากบัตรที่อยู่ในระบบ Apple Pay ซึ่งผมลองแล้วพบว่าไม่สามารถเพิ่มบัตรเครดิตไทยเข้าไปได้ครับ เลยทำให้ถ้าต้องการเติมเงินเข้าบัตร Suica ก็ต้องไปที่ตู้ตามสถานีรถไฟแทน
Shortcut
เป็นอีกหนึ่งผู้ช่วยในการสร้างชุดคำสั่งให้ทำงานเป็นลำดับ เช่น ย่อรูปทั้งหมดที่ต้องการลงมาในขนาดที่จะใช้งาน หรือเมื่อเชื่อมต่อกับ WiFi ที่บ้าน ให้เปิดแอป c ขึ้นมาอัตโนมัติ เป็นต้น โดยผู้ใช้งานสามารถเขียนชุดคำสั่งเอง หรือจะไปโหลด shortcut จากตามเว็บไซต์ต่าง ๆ มาใช้งานได้ นอกจากนี้ยังรองรับการสั่งงานด้วยเสียงผ่าน Siri ทำให้ผู้ใช้สามารถพูดกับ Siri แล้วให้เครื่องทำงานตาม shortcut ที่สร้างไว้เป็นชุดได้ในครั้งเดียว
แต่อันที่จริง ผมเองก็ยังใช้งานฟังก์ชัน Shortcut ไม่เท่าไหร่ครับ แต่มองว่าเป็นฟังก์ชันที่มีประโยชน์ดี ส่วนถ้าเป็นฝั่ง Android อาจจะต้องหาแอปเสริมมาใช้แทน เช่น IFTTT
Find My
สุดท้ายก็คือ Find My ที่ได้รับการพัฒนาจาก Find My iPhone และ Find My Friends อีกที ทำให้สามารถดูตำแหน่งสถานที่คร่าว ๆ ของอุปกรณ์ที่ล็อกอินด้วยบัญชี Apple ID ของตนเองได้ รวมถึงดูตำแหน่งของเพื่อน/สมาชิกในครอบครัวที่ได้รับการตั้งค่าให้แชร์ตำแหน่งสถานที่ได้ในแอปเดียว
4. แรง เล่นเกมลื่น และแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้เกิน 1 วันจริง ๆ
จุดเด่นที่อยู่คู่กับ iPhone มายาวนานก็คือเรื่องของการเล่นเกมที่ไหลลื่น ด้วยทั้งในแง่ของฮาร์ดแวร์ที่มีประสิทธิภาพสูงในระดับต้น ๆ ของแต่ละปีอยู่แล้ว ประกอบการที่ผู้ผลิตเกมสามารถปรับแต่งตัวเกมให้รีดประสิทธิภาพจาก iPhone ได้ง่ายกว่า จึงทำให้แทบไม่ต้องเป็นห่วงในแง่ของการเล่นเกมบน iPhone แต่อย่างใด โดยเท่าที่ผมทดสอบด้วยเกม Call of Duty: Mobile ผลที่ได้ก็คือเล่นได้ไหลลื่น ไร้อาการกระตุก อาการแล็กในทุกการเคลื่อนไหว ตัวเครื่องก็อุ่น ๆ ขึ้นมาพอสมควร แต่ถ้าใส่เคสหนาหน่อยก็ไม่รู้สึกแล้วครับ ดังนั้นถ้าอยากจะหามือถือมาเพื่อเน้นเล่นเกมโดยเฉพาะ การเลือกเจ้าเครื่องนี้ก็ยังเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ลงตัวอยู่เช่นเคย
ทีนี้สำหรับใครที่อยากดูด้านตัวเลข benchmark ผมก็ทดลองบน 2 แอป ได้แก่ GeekBench ที่อยู่คู่กับฝั่ง Apple มายาวนาน คะแนนที่ได้ก็จัดอยู่ในกลุ่มแทบจะสูงสุดตีคู่มากับ iPhone 11 Pro และ iPhone 11 Pro Max เลย ทั้งในแง่ของการทดสอบประสิทธิภาพของชิป Apple A13 แบบ single core และ multi core แต่ฝั่งของ multi core จะมีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าพอสมควรเลย อย่างไรก็ตาม คะแนนยังถือว่าสูงกว่ารุ่นท็อปของปีที่ผ่านมาอย่าง iPhone XS และ iPhone XS Max อย่างเห็นได้ชัด
ส่วนคะแนนทดสอบด้วย AnTuTu ก็ฟาดไป 430,000 กว่าคะแนน ซึ่งก็ตามปกติของการทดสอบ AnTuTu บนอุปกรณ์ iOS ที่ทำคะแนนได้สูงอยู่แล้ว
ฝั่งของแบตเตอรี่ที่ให้มา 3000 mAh นิด ๆ พร้อมการระบุว่าสามารถใช้งานได้นานกว่า iPhone XR อีก 1 ชั่วโมง ซึ่ง iPhone XR เองก็เคยได้รับการขนานนามว่าเป็น iPhone ที่แบตอึดมาก ๆ รุ่นหนึ่งเลย และก็ไม่ทำให้ผิดหวังครับ เพราะจากการใช้งานเป็นเครื่องหลัก ปรับหน้าจอแบบ auto เชื่อมต่อทั้ง 4G และ WiFi สลับเป็นช่วง ๆ มีเปิด Line Facebook Twitter IG เปิดเว็บ ถ่ายรูป ฟังเพลง บางวันมีการเล่นเกมระหว่างวันด้วย ก็สามารถใช้งานจนข้ามไปอีกวันได้สบาย ซึ่งถ้าเทียบกับสมัยที่ผมใช้ iPhone 6 ก็บอกได้ว่าคนละเรื่องเลยก็ว่าได้ ส่วนถ้าเทียบกับมือถือ Android ที่ผมเคยใช้ ที่เคยทดสอบมาหลาย ๆ เครื่อง ถือว่าทำได้ในระดับเดียวกันเลยนะ จัดว่าเรื่องแบตเตอรี่แทบจะไม่ได้เป็นจุดอ่อนของ iPhone อีกต่อไปแล้ว โดยเฉพาะกับ iPhone 11
ในแง่ของการชาร์จไฟกลับเข้าไป เจ้าตัวนี้ก็รองรับการชาร์จเร็วแบบ USB-PD ได้สูงสุดที่ระดับ 18W ซึ่งก็จัดว่าน่าจะเป็นระดับพื้นฐานของการชาร์จเร็วในปัจจุบัน โดยเท่าที่ผมลองชาร์จเร็วด้วยอุปกรณ์ที่มีอยู่ ก็สามารถประจุไฟเข้าไปได้เร็วจริง ตัวเครื่องไม่ร้อนมากนัก นอกจากนี้ยังรองรับการชาร์จแบบไร้สายเช่นเคย แต่ผมลองไปไม่มากนักครับ เพราะแท่นชาร์จที่ผมมีมันไม่ได้เป็นแบบชาร์จเร็ว
และในส่วนของ iOS เองก็จะมีฟังก์ชัน Optimized Battery Charging มาให้ใช้งาน เพื่อช่วยถนอมอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ ซึ่งฟังก์ชันนี้จะเรียนรู้รูปแบบการใช้งานของผู้ใช้ จากนั้นก็ปรับรูปแบบการชาร์จ ให้ชาร์จไว้ถึงราว ๆ 80% จากนั้นเมื่อใกล้ถึงเวลาที่จะใช้งานเครื่องอีกครั้งตามรูปแบบที่เรียนรู้ไว้ เช่น เวลาตื่นนอน ตัวเครื่องก็จะรับไฟเข้ามาให้เต็ม 100% พร้อมใช้งานในแต่ละวัน
หลังจากส่วนที่ผมชอบแล้ว คราวนี้เป็นส่วนที่ผมให้คะแนนแบบก้ำกึ่งกันบ้างครับ คือเป็นจุดที่มีทั้งรายละเอียดที่ผมชอบและไม่ชอบปนกันไป นั่นคือ…
1. ดีไซน์ที่ใช้งานได้ดีแล้ว แต่ยังดูไม่ลงตัวเท่าไหร่
ในความเห็นของผมเอง ถ้าพิจารณาจากดีไซน์ตัวเครื่อง อันที่จริงมันก็ยังคงเป็นทรงที่ใกล้เคียงกับ iPhone 6 ที่ผมเคยใช้มาแหละครับ แต่มีการปรับรายละเอียดในหลาย ๆ จุด จนมาเป็นแบบในปัจจุบัน ซึ่งถ้าให้เทียบแล้วมันก็ต่างจาก iPhone XR ไม่มากนัก หน้าจอยังเป็นแบบมีขอบรอบด้านเหมือนเดิม ต่างจาก iPhone 11 Pro ที่ขอบบางกว่า ส่วนพาเนลหน้าจอที่เป็นแบบ IPS LCD ก็มีคุณภาพดีทีเดียว แต่ถ้าเทียบกับพวก OLED ก็ต้องบอกว่ายังมีจุดที่ด้อยกว่าในเรื่องการให้สีดำที่ดำไม่สนิทเท่า รวมถึงแสงสว่างบนจอที่ยังไม่เป็นธรรมชาติเท่ากับพวกจอ OLED, AMOLED ซึ่งจากที่ผมใช้ Pixel 2 XL ที่เป็นจอ OLED มาเป็นปี ๆ ก็เลยแยกความแตกต่างได้ค่อนข้างชัดเจน ยังดีที่สีสันต่าง ๆ ยังค่อนข้างโอเค ไม่สดและก็ไม่ซีดจนเกินไป สมกับเป็นผลิตภัณฑ์ของ Apple อยู่ ส่วนระบบ TrueTone ที่ช่วยปรับโทนสีให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมโดยอัตโนมัติก็ช่วยได้ดีมาก ทำให้ภาพดูเป็นธรรมชาติในแทบทุกสภาพแสงเลย
และด้วยการใช้พาเนลจอแบบ IPS LCD ทำให้การตั้งธีมแบบ Dark Mode หรือใช้ภาพพื้นหลังเป็นโทนสีดำ อาจจะช่วยในการประหยัดพลังงานได้ไม่มากเท่าพวกจอ OLED นะครับ แต่ส่วนตัวผมว่าตั้งไว้ก็ดี ภาพมันดูสบายตากว่าธีมสีขาวปกติเยอะเลย
ด้านของติ่งหน้าจอด้านบน เอาจริงก็ไม่ได้เป็นจุดเกะกะสายตามากนัก เพราะในระหว่างการใช้งาน สายตาจะไปโฟกัสอยู่ที่เนื้อหาที่อยู่ตรงกลางจอซะมากกว่า ประกอบกับธีม Dark Mode ของ iOS เองก็มักจะวางให้ตรงส่วนหัวบนสุดของแต่ละแอป โดยเฉพาะแอปจาก Apple เป็นสีโทนเข้มอยู่แล้ว จึงทำให้บริเวณติ่งจอดูไม่เป็นที่สะดุดตามากนัก แต่ถ้าถามว่า หากติ่งมันเล็กลงกว่านี้จะดีมั้ย บอกเลยว่าดีกว่านี้มากครับ เพราะ…
เวลาดูหนังในแนวนอน ถ้าปรับภาพเป็นแบบเต็มจอ ต้องยอมรับเลยว่าติ่งจอมันค่อนข้างรบกวนสายตาไม่น้อยเลย
ส่วนเรื่องระบบเสียงที่ในคราวนี้ iPhone 11 รวมถึง iPhone 11 Pro และ iPhone 11 Pro Max มาพร้อมกับระบบเสียง Dolby Atmos ที่ให้เสียงจากลำโพงคู่บน-ล่างมีมิติมากขึ้น จากเท่าที่ผมทดสอบก็จัดว่าทำได้ดีอยู่เหมือนกัน ยิ่งถ้าเอามือป้องขอบเครื่องบน-ล่างเอาไว้ เสียงก็ยิ่งก้องสะท้อนได้ดีขึ้นไปอีก
อีกจุดที่ผมว่าช่วยอำนวยความสะดวกได้จริงก็คือระบบสแกนใบหน้า Face ID ที่แม่นยำ รวดเร็ว สามารถใช้งานได้กับหลาย ๆ แอป โดยเฉพาะพวกแอปเกี่ยวกับการเงินที่สามารถใช้ใบหน้าในการยืนยันตัวตนได้เลย เพราะทาง iOS เองได้เปิด API เกี่ยวกับ biometric ไว้ให้นักพัฒนาสามารถใช้งานได้ง่าย ส่วนความเร็วในการสแกนก็ทำได้ดีครับ สามารถสแกนเพื่อปลดล็อกขณะวิ่งอยู่ได้เลย (เปิดโหมด Require Attention อยู่) ต่างจากในมือถือ Android รุ่นสูง ๆ หลายรุ่นที่ผมเคยรีวิว บางรุ่นแค่เดินอยู่ก็สแกนไม่ได้แล้ว ต้องยืนนิ่ง ๆ เท่านั้นถึงจะสแกนได้
แต่จะมีจุดที่คงต้องรอดูในอนาคตต่อไปก็คือ Apple จะนำ Touch ID กลับมาใส่ใน iPhone หรือไม่ เพราะในบางสถานการณ์ การสแกนใบหน้าเองก็ไม่ค่อยสะดวกนัก บวกกับการขี้เกียจกดรหัส เช่น ตอนใส่หมวกกันน็อคอยู่ เป็นต้น ซึ่งถ้า Apple ใส่ให้มาทั้ง Face ID และ Touch ID น่าจะตอบโจทย์ผู้ใช้งานที่หลากหลายได้ดีขึ้นไปอีก
ดีไซน์ฝาหลัง นับเป็นจุดที่ถูกแซวมากที่สุดก็ว่าได้ครับ ด้วยการวางกล้องที่ทำให้เหมือนเม็ดไข่มุกในชานมไข่มุก อีกทั้งทำให้หน้าตาโดยรวมดูแปลกไปจากมือถือหลายกล้องในปัจจุบัน แถมยังฉีกแนวไปจาก iPhone รุ่นก่อนหน้าเองเสียด้วยซ้ำ แต่ทาง Apple ก็ออกมาให้ข้อมูลถึงสาเหตุในการวางกล้องหลังลักษณะนี้อยู่เหมือนกัน
โดยทาง Apple ระบุว่าการวางกล้องหลังแต่ละตัวในลักษณะที่ทำให้ชิดกันมากที่สุดแบบนี้ ทำให้เมื่อผู้ใช้สลับกล้องไปมา องค์ประกอบของภาพในเฟรมจะไม่ต่างกันมากนัก ช่วยให้ผู้ใช้สามารถใช้งานได้อย่างราบรื่นโดยแทบไม่ต้องขยับตำแหน่งที่ยืนเพื่อจัดองค์ประกอบภาพใหม่
ซึ่งส่วนตัวผมมองว่าเหตุผลนี้เป็นเหตุผลที่ยอมรับได้นะ เพราะจากที่ผมรีวิวและลองใช้งานมือถือที่มีกล้องหลายตัวมาก็หลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็นรุ่นระดับท็อปหรือในรุ่นราคาไม่แพงก็ตาม มักจะเกิดปัญหาตอนสลับกล้อง เพราะพอสลับแล้ว ปรากฏว่าวัตถุที่ผมเล็งเอาไว้ในตอนแรก มันปรับตำแหน่งไปตามเลนส์ที่รับภาพเข้ามา เช่น ตอนแรกผมใช้เลนส์ไวด์เล็งแก้วกาแฟไว้ตรงกลาง แต่เปลี่ยนใจจะถ่ายรูปด้วยเลนส์อัลตร้าไวด์แทน พอเปลี่ยนเลนส์ ปรากฏว่าแก้วกาแฟผมขยับไปอยู่ทางขวาของเฟรม ทำให้ผมต้องขยับตำแหน่งของมือถือใหม่ เป็นต้น แต่พอเป็นใน iPhone 11 ผลคือปัญหาวัตถุขยับตำแหน่งในเฟรมลักษณะดังกล่าวมีน้อยลง ช่วยให้ผมจัดองค์ประกอบภาพได้ง่ายขึ้นมาก แถมตัวระบบก็ออกแบบมาให้การสลับเลนส์เป็นไปได้อย่างไหลลื่น ไม่ต้องเสียเวลารอตอนสลับเลนส์ ช่วยเสริมประสบการณ์การถ่ายรูปบนให้ดีขึ้นไปอีก
แต่ในช่วงตั้งแต่เริ่มวางจำหน่าย iPhone 11 รวมถึง iPhone 11 Pro และ iPhone 11 Pro Max ที่ผ่านมา ปัญหาที่ลูกค้าหลายคนเจอก็คือฝุ่นที่ติดอยู่ใต้กระจกปิดหน้าเลนส์ รวมถึงบริเวณขอบโลหะที่มีรอยบิ่น ทำให้จำเป็นต้องตรวจสอบเครื่องกันเป็นขนานใหญ่ก่อนตัดสินใจจ่ายเงินเลยแหละครับ โดยจุดนี้ก็ต้องให้ทาง Apple กวดขันในภาคของการผลิตขึ้นกว่านี้สถานเดียวเลย
อีกจุดที่ควรระวังก็คือระดับความสูงของกระจกปิดหน้าเลนส์กับส่วนของขอบโลหะนั้นเท่ากันเป๊ะเลย ดังนั้น แนะนำว่าควรจะหาเคสมาใส่เพื่อป้องกันการขูดขีดเมื่อวางเครื่องลงบนพื้น รวมถึงฝาหลังเองที่เป็นกระจกก็ต้องระวังด้วยเช่นกันครับ เพราะถ้าแตกขึ้นมา ค่าเปลี่ยนนั้นไม่เบาอยู่เหมือนกัน
ขอบบนและล่าง ยังคงใช้เป็นแบบโค้งมนอยู่ ซึ่งเป็นแนวทางการออกแบบที่ลากยาวมาตั้งแต่สมัย iPhone 6 โดยด้านล่างก็จะมีช่องรับเสียงของไมค์ ช่องลำโพง และก็ช่อง Lightning ที่ยังคงอยู่เหมือนเดิม ซึ่งก็ได้แต่หวังว่ารุ่นหน้าจะเปลี่ยนเป็น USB-C เสียที
ด้านขวาจะมีถาดใส่ซิม ซึ่งรุ่นที่จำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการจะมีช่องใส่ซิมแค่ช่องเดียวครับ ถ้าอยากใช้งานสองซิมในเครื่องเดียว ก็ต้องใช้ซิมนึงเป็นแบบ eSIM เอา แล้วใส่ซิมการ์ดเข้าไปอีกใบ ซึ่งสามารถเข้าไปทำได้ที่ศูนย์บริการของแต่ละเครือข่ายเอง นอกจากนี้ก็จะมีปุ่ม Power ด้วย ซึ่งตัวปุ่มก็มีขนาดใหญ่พอให้สามารถใช้งานได้สะดวก
ด้านซ้ายจะมีสวิทช์เปิด/ปิดเสียง ถัดมาก็เป็นปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงตามลำดับ การจัดวางตำแหน่งต่าง ๆ ก็อยู่ในจุดที่สามารถใช้งานได้ง่าย
อีกหนึ่งคุณสมบัติ ก็คือความสามารถในการกันน้ำกันฝุ่นระดับ IP68 (ทนน้ำลึกสุด 2 เมตรได้นาน 30 นาที) ซึ่งสูงกว่า iPhone XR ที่ทำได้ในระดับ IP67 เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตัวเครื่องจะกันน้ำได้ แต่ก็ไม่ควรเอาไปแช่ในน้ำโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะในน้ำทะเล รวมถึงไม่ควรสาดน้ำใส่ตัวเครื่องแรง ๆ เพราะซีลก็อาจจะกันน้ำไว้ไม่อยู่เหมือนกันครับ ดังนั้นถ้าจะนำไปเล่นน้ำ เล่นสงกรานต์ ก็แนะนำว่าควรใส่เครื่องไว้ในซองกันน้ำที่คุณภาพดีหน่อย หรือไม่ก็ใช้เคสกันน้ำที่มีคุณภาพ จะช่วยในการปกป้องได้ดีกว่าถือเครื่องไปเพียว ๆ
ต่อไปก็เป็นจุดที่ผมไม่ค่อยชอบนะครับ
1. ต้องเสียเงินเพิ่ม ถ้าอยากใช้งานให้เต็มประสิทธิภาพ
ในมุมมองของผม โดยรวมถือว่าทำมาได้ค่อนข้างดีแล้ว แต่มาน่าโมโหตรงที่ Apple ดันไม่แถมอะแดปเตอร์ชาร์จเร็วมาให้ผู้ซื้อซะอย่างนั้น (ยังดีที่แถมในรุ่น Pro) ทำให้ถ้าใช้อะแดปเตอร์ในกล่อง กว่าจะชาร์จเต็มก็คงใช้เวลาไม่น้อยอยู่เหมือนกัน ส่วนถ้าอยากจะซื้อเอง ทาง Apple ก็มีจำหน่ายครับ โดยต้องซื้อทั้งอะแดปเตอร์และสายชาร์จใหม่เลย ส่วนราคาก็ตามนี้
- อะแดปเตอร์ 18W (USB-C) ราคา 1,190 บาท
- สายชาร์จ USB-C to Lightning ยาว 1 เมตร ราคา 690 บาท
รวมราคาแล้วก็เป็น 1,880 บาท แต่ส่วนตัวผมเอง ผมเลือกซื้ออะแดปเตอร์และสายจากแบรนด์อื่นแทนครับ ราคารวมถูกกว่ากันเป็นพันเลย สามารถใช้งานได้เหมือนกัน แต่ก็ต้องเลือกแบรนด์ที่มีคุณภาพซักหน่อยนะ
นอกจากนี้ในกล้องของ iPhone รุ่นใหม่ ดันไม่แถมอะแดปเตอร์แปลงจาก Lightning เป็นช่อง 3.5 มม. ให้ซะอีก จากที่แต่เดิมเคยแถมให้มาด้วย และก็แน่นอน ถ้าอยากซื้อ Apple ก็มีขายในราคา 390 บาทจ้า แต่ถ้าไม่ซีเรียส จะใช้หูฟัง EarPods ที่สายเป็นแบบ Lightning ที่แถมมาในกล่องก็ได้เหมือนกัน
2. สเปคก้ำกึ่งไปนิด เมื่อเทียบกับกลุ่มท็อป Android และ iPhone 11 Pro
เรื่องสุดท้ายที่ผมมองว่าเป็นจุดที่อาจทำให้ดูเป็นมวยรองลงไปได้เหมือนกันก็คือเรื่องของสเปคกับราคาที่มันดูก้ำกึ่งไปซักหน่อย เพราะในราคาสองหมื่นกลาง ๆ ไปจนถึงสามหมื่นต้น ๆ คุณสามารถซื้อมือถือสเปคระดับท็อปของ Android ที่สเปคดูดีกว่าได้ เช่น อาจจะมาพร้อมกล้อง 3-4 ตัว ได้แรมที่เยอะกว่า ได้พื้นที่เก็บข้อมูลที่เยอะกว่า พวกฟีเจอร์กล้องต่าง ๆ ที่มีใน iPhone 11 ส่วนใหญ่ก็เป็นฟีเจอร์ที่มีอยู่ในมือถือ Android รุ่นท็อป ๆ อยู่แล้ว แถมตอนนี้หลาย ๆ รุ่นก็มีโปรโมชัน ทั้งลดราคา ทั้งมีของแถมที่ช่วยเพิ่มความคุ้มค่าเข้าไปอีก เรียกว่าในช่วงราคาใกล้ ๆ กัน ถ้าซื้อมือถือ Android รุ่นท็อปอาจจะได้สเปคที่ดีกว่า ตอบโจทย์การใช้งานบางประเภทได้ดีกว่า โดยเฉพาะคนที่ต้องการมือถือที่ถ่ายรูปแบบซูมไกล ๆ ได้แบบไม่ค่อยเสียคุณภาพมากนัก เช่น สายคอนเสิร์ต เป็นต้น
และถ้าจะหยิบมาเทียบกับ iPhone 11 Pro สิ่งที่ต่างกันก็มีอยู่หลายจุดที่ iPhone 11 ไม่สามารถแทนที่ได้ เช่น เลนส์เทเลที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการซูมแบบออปติคอล หน้าจอแบบ AMOLED ที่ช่วยเสริมประสบการณ์การใช้งานได้ ซึ่งถ้าต้องการที่จะซื้อ iPhone รอบนี้แล้วใช้งานอีกยาว ๆ การลงทุนหนักรอบเดียวไปกับ iPhone 11 Pro อาจจะโอเคกว่า เรียกว่ายอมเจ็บทีเดียว แต่สเปคครอบคลุมกับการใช้งานในอนาคตได้มากกว่า
Overall
iPhone 11 นับเป็น iPhone ที่ทำออกมาได้ถูกเวลาพอดีครับ ด้วยสเปคที่ได้รับการปรับจากรุ่นก่อนหน้ามาให้ทัดเทียมกับฝั่ง Android มากขึ้น โดยเฉพาะในด้านของกล้องถ่ายรูปและระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ ที่สำคัญคือราคาในไทยที่เปิดมาได้ดึงดูดใจ กับค่าตัวที่อาจทำให้ผู้ที่กำลังมองหามือถือ Android รุ่นท็อป ๆ หวั่นไหวได้อยู่เหมือนกัน
ส่วนถ้าคุณเป็นคนที่ใช้งาน iPhone รุ่นเก่า เช่น iPhone 6s, iPhone 7 มาจนถึง iPhone 8 อยู่ การเปลี่ยนมาใช้งาน iPhone 11 ก็ดูจะเป็นทางเลือกที่ลงตัวกับช่วงเวลาอยู่เหมือนกัน เพราะคุณจะได้ iPhone ที่มีฟีเจอร์มากขึ้น แบตเตอรี่ใช้งานได้นานขึ้น รองรับการชาร์จเร็ว ได้การรับประกันจาก Apple อีกทั้งยังจะได้การสนับสนุนไปอีกยาว ๆ ทั้งในด้านการอัพเดตซอฟต์แวร์ การหาอุปกรณ์เสริมที่ทำได้ง่ายกว่า
แต่ถ้าคุณใช้งาน iPhone XR หรือกลุ่ม iPhone XS อยู่ การเปลี่ยนมาเป็น iPhone 11 อาจจะยังไม่ใช่ทางเลือกที่คุ้มซักเท่าไหร่ครับ เพราะประสิทธิภาพของทั้งสองรุ่นยังจัดว่าอยู่ในระดับที่ดีอยู่ น่าจะยังรองรับการใช้งานอีก 2-3 ปีได้สบาย เว้นเสียจากว่าคุณอยากได้ iPhone ที่ถ่ายภาพมุมกว้างกว่าปกติได้ แต่ส่วนตัวผมมองว่า ใช้ iPhone รุ่นเก่าต่อไป แล้วไปหามือถือ Android ที่มีเลนส์อัลตร้าไวด์อาจจะใช้งบน่้อยกว่า โดยที่คุณภาพไม่ต่างกันมากนักก็ได้ แล้วรอเปลี่ยนตอน iPhone 12 ที่อาจจะมีการปรับดีไซน์ไปเลยดีกว่า (นอกจากคุณต้องการพกมือถือแค่เครื่องเดียว)
ข้อดี
- สเปคแรง ฮาร์ดแวร์ขึ้นมาใกล้เคียงกับกลุ่มเครื่อง Android ระดับท็อปเสียที
- หน้าจอสวย แม้ว่าจะเป็นพาเนล IPS LCD ก็ตาม
- แบตเตอรี่อึด ใช้งานได้นานเกิน 1 วัน รองรับการชาร์จเร็ว
- เลนส์อัลตร้าไวด์ที่เพิ่มเข้ามา ให้ภาพที่มีคุณภาพดี
- การคำนวณ white balance ค่อนข้างแม่นยำ โฟกัสเร็ว แม่น
- มี Night Mode ซักที แล้วใช้งานได้ดีด้วย
- ราคาไทยเปิดมาน่าสนใจ
ข้อสังเกต
- ดีไซน์ยังคงเป็นทรงเดิมอยู่
- พอร์ตชาร์จยังไม่เป็น USB-C ซักที
- ไม่แถมอะแดปเตอร์ชาร์จเร็วมาในกล่อง
- ในราคาเท่า ๆ กัน ฝั่ง Android ได้กล้อง 3-4 ตัวไปแล้ว