สำหรับใครที่ติดตามแวดวงการสมาร์ทโฟนยุคใหม่มาเป็นเวลาหลายปี จะพบได้ว่าการแข่งขันของแต่ละแบรนด์ ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา นับแต่เริ่มแรกที่แข่งกันเน้นสเปค เน้นความแรง เครื่องไหนทดสอบได้กี่คะแนน ต่อมาก็เริ่มมีการใส่ฟีเจอร์ต่าง ๆ เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาพ 3 มิติ เป็นต้น เพื่อเพิ่มจุดขายให้กับผลิตภัณฑ์ของตนเอง จนมาถึงยุคปัจจุบัน ก็ยังมีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่กลายเป็นว่าผู้ใช้สมาร์ทโฟนกลุ่มใหญ่ของตลาด ได้เปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อสมาร์ทโฟนไปแล้ว กลายเป็นต้องการสมาร์ทโฟนที่ไม่ได้มีราคาสูงมากนัก แต่สามารถตอบโจทย์ของตนเองได้อย่างครบถ้วน ใช้งานเป็น “โทรศัพท์” พื้นฐานได้อย่างไม่บกพร่อง ซึ่งตรงจุดนี้ เราเลยได้เห็นผู้ผลิตหลาย ๆ แบรนด์หันมาโฟกัสกับตลาดนี้เพิ่มขึ้นจากแต่ก่อน
เช่นเดียวกับ Acer หนึ่งในแบรนด์ผลิตภัณฑ์ไอที ซึ่งจับตลาดสมาร์ทโฟนมาอย่างยาวนาน ที่ในขณะนี้เลือกที่จะเน้นทำตลาดในกลุ่มของสมาร์ทโฟนราคาไม่สูงนัก ด้วยจุดเด่นของตนเองคือศูนย์บริการที่มีครอบคลุมทั่วประเทศ และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ยังคงได้รับความไว้วางใจเหนือเครื่องแบรนด์จีนราคาถูกอยู่ ก็ได้ส่งสมาร์ทโฟนอีกรุ่นหนึ่งออกมา นั่นคือ Acer Liquid Zest 4G ที่ถูกออกแบบมาให้มีความครบครัน ในราคาสบายกระเป๋าเพียงแค่ 5,990 บาทเท่านั้น แต่บอกเลยว่าสิ่งที่จะได้รับเมื่อใช้งาน จัดว่าเกินคาดไม่ใช่น้อย จะมีอะไรบ้าง มาชมกันในรีวิวเลยครับ
ก่อนอื่น ผมขอพูดถึงสเปค Acer Liquid Zest 4G แบบคร่าว ๆ ก่อนแล้วกัน
- จอ IPS ขนาด 5″ ความละเอียดระดับ HD (1280 x 720) พร้อมเทคโนโลยี Zero Air Gap
- ชิปประมวลผล MediaTek MT6735P แบบ 4 คอร์ ความเร็ว 1.0 GHz
- แรม 2 GB
- รอม 16 GB เพิ่ม MicroSD ได้
- กล้องหลัง 8 ล้านพิกเซล กล้องหน้า 5 ล้านพิกเซล
- ใช้งานได้ 2 ซิม (ไมโครซิมทั้งคู่) รองรับ 4G LTE ทุกเครือข่าย
- Android 6.0
- ระบบเสียง Dolby DTS HD
- แบตเตอรี่ 2,000 mAh
- ราคา 5,990 บาท
- สเปค Acer Liquid Zest 4G เต็ม ๆ
ด้วยสเปคนี้ บอกเลยครับว่าเหลือเฟือสำหรับการใช้งานทั่ว ๆ ไปแล้วแหละ เป็นโทรศัพท์ แชทไลน์ อัพรูปลง Facebook ฟังเพลงก็สบาย ๆ เหมาะสำหรับคนที่ไม่ได้ต้องการมือถือสเปคแรง ๆ จะใช้เป็นเครื่องหลักหรือเครื่องรองก็ไม่มีปัญหา ใช้งานอินเตอร์เน็ตได้ถึงใจด้วยความเร็วระดับ 4G LTE ที่ใช้ได้ทุกเครือข่ายในไทยแน่นอน กับราคาแค่กลางหมื่นเท่านั้นเอง
ข้อดี
ข้อสังเกต
บทสรุป
BEST FEATURES
Design
รูปร่างหน้าตาของ Acer Liquid Zest 4G ก็ออกมาค่อนข้างใกล้เคียงกับสมาร์ทโฟนรุ่นอื่น ๆ ของ Acer เองครับ ซึ่งก็หมายถึงว่ามันยังคงได้รับข้อดีของรุ่นก่อน ๆ หน้านี้มาด้วย เช่นเรื่องความบางของตัวเครื่องที่เพรียวบางเฉียบเลยทีเดียว ทำให้การพกพา การใช้งานทำได้คล่องตัวมาก ๆ วัสดุของเครื่องใช้เป็นพลาสติก โดยฝาหลังเป็นสีดำผิวสีขุ่น ๆ หน่อยเรียบเนียน แต่ตรงส่วนล่างที่อยู่ใกล้ ๆ ลำโพงจะมีจุดพลาสติกเล็ก ๆ นูนขึ้นมา เพื่อทำให้เวลาเราวางหลังเครื่องแนบพื้น ช่องลำโพงจะได้ไม่ถูกปิดทับ 100% ครับ ก็นับเป็นการใส่ใจรายละเอียดที่ดีนะ ในขณะที่หลาย ๆ รุ่นจากหลายแบรนด์มักตัดจุดนี้ออกไป ทั้งที่วางลำโพงอยู่ในฝาหลัง ทำให้บางครั้งเราไม่ค่อยได้ยินเสียงเรียกเข้าซะอย่างนั้น จุดนี้ผมว่าโอเคเลยครับที่ Acer ใส่ใจรายละเอียด
ฝาหลังสามารถแกะออกได้ แต่ต้องใช้แรงนิดนึง เพราะตัวล็อกค่อนข้างแน่น เมื่อแกะออกก็จะพบกับช่องใส่ไมโครซิม 2 ช่อง และช่องใส่ MicroSD แยกออกจากกันทั้งหมด มีสัญลักษณ์กำกับชัดเจน ไม่ต้องกลัวว่าจะใส่ผิดช่อง
ส่วนด้านข้างเครื่องก็ยังคงใช้พลาสติกเช่นกัน แต่ใช้การเคลือบสีเงินให้ดูคล้ายกับเป็นอลูมิเนียม ช่วยเพิ่มความสวยงาม และทำให้เครื่องดูบางลงไปอีกนิดนึง (ซึ่งก็บางจริง ๆ) ปุ่มกดต่าง ๆ จะอยู่ที่ด้านขวาทั้งหมด ไล่จากปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงที่เป็นปุ่มพลาสติกแยกชิ้นกัน ผิดจากหลาย ๆ แบรนด์ที่มักใช้เป็นพลาสติกชิ้นเดียวกันยาว ๆ ไปเลย เว้นลงมาหน่อยก็จะเป็นปุ่ม Power ตามปกติ อยู่ในตำแหน่งที่ใช้งานได้ถนัด ไม่ว่าจะใช้งานด้วยมือซ้ายหรือมือขวาก็ตาม
สำหรับด้านหน้าจอ ก็มาแนวเรียบ ๆ ครับ มีช่องลำโพงสนทนาเป็นแบบกลม ๆ อยู่ด้านบน ซ่อนกล้องหน้าและเซ็นเซอร์วัดแสง วัดระยะเอาไว้ ด้านล่างก็ไม่มีปุ่มกด เพราะ Acer Liquid Zest 4G เลือกใช้ปุ่มของซอฟต์แวร์ Android แทน ดังจะเห็นจากในภาพถัดไป
Feature
หนึ่งในฟีเจอร์ที่ Acer เลือกใส่มาในสมาร์ทโฟนของตนหลาย ๆ รุ่น รวมถึงตัว Zest 4G นี้ด้วยก็คือเทคโนโลยี Zero Air Gap ที่เป็นการลดระยะห่างของกระจกหน้าจอกับส่วนพาเนลแสดงผลลงจนเป็นศูนย์ ทำให้ภาพที่ออกมามีความสวยงาม คมชัด สีสันถูกต้องที่สุดอย่างที่ควรจะเป็น ต่างจากหน้าจอของสมาร์ทโฟนทั่วไปหลาย ๆ รุ่นที่ประสิทธิภาพในการแสดงผลถูกลดทอนไปจากความสามารถที่พาเนลจอทำได้ สาเหตุก็เนื่องมาจากช่องว่าง และชั้นเลเยอร์ต่าง ๆ ภายในโครงสร้างจอนี่แหละครับ ทำให้ผมว่า Acer Liquid Zest 4G เป็นมือถือที่จอดีมาก ๆ รุ่นหนึ่งในช่วงราคานี้เลยนะ แถมยังพ่วงเทคโนโลยีอื่น ๆ เข้ามาอีก เช่น การลดแสงสีฟ้า (Acer Bluelight Shield) ที่อาจส่งผลต่อประสาทตาในระยะยาวอีกด้วย
อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้ Acer Liquid Zest 4G น่าสนใจก็คือ ระบบเสียง Dolby DTS HD Premium Sound ครับ ที่มายกระดับประสบการณ์การฟังเพลงบนมือถือได้ไม่น้อยเลยล่ะ ทำให้ซาวด์สเตจโดยรวมดีขึ้น สามารถปรับโทนเสียงหลักอย่างเสียงเบส และเสียงโทนสูง (treble) ได้ตามใจชอบ เช่น อาจจะปรับทดกับเสียงของหูฟังที่ใช้อยู่ให้ออกมากลมกล่อมพอดี หรืออยากจะเน้นเบสเป็นหลัก ก็จัดเบสไปเต็ม ๆ ได้อย่างสบาย แต่ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า ถ้าจะใช้งานระบบเสียง Dolby DTS HD Premium จะต้องเสียบหูฟัง/ลำโพงด้วยนะครับ ส่วนถ้าเป็นเสียงจากลำโพงในตัวเครื่อง ก็จัดอยู่ในระดับปกติของสมาร์ทโฟนลำโพงเดี่ยว
Software
ระบบปฏิบัติการของ Acer Liquid Zest 4G ก็คือ Android 6.0 (Marshmallow) ตัวพื้นฐานเลยครับ มีการปรับแต่งบ้างเล็กน้อย แต่ยังให้สัมผัสการใช้งานที่ใกล้เคียงกับ Pure Android จาก Google อยู่ เปิดเครื่องมาครั้งแรก กดเช็คอะไรนิดหน่อย พบว่าเหลือแรมให้ใช้ประมาณ 1.3 GB จากแรมทั้งหมด 2 GB ก็จัดว่าโอเคดี ไม่มากไม่น้อย เหลือให้ใช้งานขั้นพื้นฐานได้อย่างสบาย ๆ เลย
ส่วนเรื่องรอมนั้น ตามสเปคคือให้มา 16 GB เหลือให้เราใช้งานได้จริง ๆ ก็ราว 11 GB เพียงพอสำหรับการลงแอพต่าง ๆ ที่ใช้งานในชีวิตประจำวันได้เหลือเฟือ ลงเกมเล่นก็ยังไหว แต่ถ้าเป็นพวกไฟล์เพลง ไฟล์วิดีโอ ไฟล์เอกสาร ผมแนะนำว่าตั้งค่าให้มันไปบันทึกลงใน MicroSD จะดีกว่าครับ ได้ไม่อึดอัดพื้นที่ของรอมในตัวเครื่อง และอีกข้อหนึ่งที่ต้องบอกคือ ตั้งแต่ Android 6.0 เป็นต้นมา Google ได้ปิดฟังก์ชันการย้ายแอพพลิเคชันจากในเครื่องมาลง MicroSD แล้วนะครับ บางทีถ้าเห็นว่ามันย้ายได้ ที่จริงแล้วมันคือย้ายข้อมูลบางส่วนของแอพเท่านั้น ไม่ได้ย้ายตามมาทั้งหมด (ยังมีตัวข้อมูลสำคัญจริง ๆ ค้างอยู่ในรอมเครื่องอยู่)
ดังนั้นผมเลยแนะนำว่าให้แอพลงอยู่ในเครื่องนั้นแหละครับดีแล้ว ไฟล์อื่น ๆ ก็เอามาลงในการ์ดซะ
หน้าตาการใช้งานโดยทั่วไป ก็เป็นสไตล์ Acer ครับ คือไม่ได้ปรับจากหน้าของ Android พื้นฐานมากนัก ซึ่งถ้าใครชอบหน้าแบบเรียบ ๆ ลื่น ๆ ก็สบายไป แต่ถ้าหากอยากเปลี่ยน ก็สามารถเลือกดาวน์โหลดลันเชอร์อื่น ๆ จากใน Play Store มาใช้งานได้เช่นกัน รวมถึงคีย์บอร์ดด้วย
ส่วนในภาพที่สามนั้น เป็นหนึ่งในฟีเจอร์ของ Acer Liquid Zest 4G ครับ นั่นคือการเรียกใช้งานแอพพลิเคชันพื้นฐานขณะที่ล็อกหน้าจออยู่ โดยแต่แรกนั้นจะถูกปิดอยู่ วิธีใช้งานก็ไม่ยากครับ ขณะที่จอปิดอยู่ ก็ให้ลากนิ้ววาดเป็นรูปตัวอักษรที่แทนแอพที่มีให้เลือก เช่น ลากเป็นรูปตัว C ก็เปิดกล้องขึ้นมา ลากเป็นรูป L (แอลเล็ก) ก็ปลดล็อกหน้าจอ ซึ่งอันที่จริงมันก็เป็นฟีเจอร์พื้นฐานที่สมาร์ทโฟน Android หลาย ๆ รุ่นทำได้นี่ล่ะ แต่ที่ผมว่าแปลกหน่อยก็คือ ที่จริงแล้ว Zest 4G มันไม่ได้ใส่ฟีเจอร์เคาะหน้าจอ 2 ครั้งเพื่อเปิด/ปิดจอเข้ามาด้วยนี่ซิครับ ก็เลยงง ๆ กันนิดหน่อย ว่าเคาะเปิดจอไม่ได้ แต่กลับลากนิ้วเปิดแอพได้
ด้านการเชื่อมต่อก็ไม่มีปัญหาเลย เพราะ Acer Liquid Zest 4G รองรับ 4G LTE ทุกเครือข่ายได้ทั้งสองช่องซิม แต่เวลาจะใช้งาน 4G LTE ต้องเลือกเพียงซิมใดซิมหนึ่ง ส่วนอีกซิมก็จะเป็นสแตนด์บาย 2G ตามปกติ
ยังมีอีกหนึ่งแอพใน Acer Liquid Zest 4G ที่ผมว่าน่าสนใจครับ อันนี้จะเหมาะสำหรับคอเกมบนมือถือหน่อย นั่นคือ GameZone ที่มาในรูปแบบโฟลเดอร์เกมบนหน้าจอโฮมสกรีน พอเปิดขึ้นมาจะเห็นว่าหน้าตามันเป็นแนวเกมเหมือนกับผลิตภัณฑ์กลุ่ม Predator ของ Acer เองเลยทีเดียว โดยเจ้า GameZone นี้จะเป็นทูลที่รวบรวมการทำงาน การปรับแต่งต่าง ๆ ที่อำนวยความสะดวกในด้านการเล่นเกมเอาไว้ เช่น
DND Mode
เมื่อเปิดใช้งานโหมดนี้ ระบบจะตัดการแจ้งเตือนต่าง ๆ ที่อาจขึ้นมารบกวนเวลาเล่นเกมลงไปชั่วคราว เช่น สายเรียกเข้า แจ้งเตือนข้อความแชท ทำให้เราสามารถสนุกกับเกมได้อย่างเต็มที่ ใช้งานหน่วยความจำและการประมวลผลได้เต็มพลัง
Record
ก็ตามชื่อครับ โหมดบันทึก เป็นตัวช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถบันทึกภาพหรือวิดีโอระหว่างการเล่นเกมได้อย่างง่ายดาย จะเปิดหรือปิดไมค์ก็ได้ น่าจะเหมาะกับคนที่ต้องการแคสเกมบนมือถือน่าดู
ส่วนภาพขวาสุด ก็เป็นหน้าหลักของแอพ GameZone ครับ คือจะเป็นหน้ารวมเกมที่เราติดตั้งไว้ในเครื่องซึ่งจะอยู่ในเมนู Library ส่วนเกมที่เราเล่นล่าสุดก็จะเรียงตามลำดับ 1-4 ด้านบน นอกจากนี้ยังมีเมนูแนะนำเกมน่าสนใจที่ดาวน์โหลดเพิ่มได้อีกด้วย เรียกว่าเป็นฮับรวมเกมก็ว่าได้ สมกับที่ Acer หันมาเอาจริงเอาจริงด้านเกม ไล่ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์สายคอมพิวเตอร์พีซี มาจนถึงอุปกรณ์พกพาอย่างสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเลยทีเดียว
Camera
เรื่องกล้อง Acer Liquid Zest 4G ก็ทำได้ตามมาตรฐานสมาร์ทโฟนราคาไม่แพงครับ ทั้งในด้านความละเอียด และฟีเจอร์ของกล้อง ที่ให้มาในระดับที่ใช้งานทั่ว ๆ ไปได้ประมาณนึง ถ้าแสงสว่างดี ๆ แบบกลางแจ้งก็ไร้ปัญหา แต่ถ้าอยู่ในภาวะแสงน้อยเมื่อไหร่ก็จัดว่าอยู่ในระดับที่เก็บภาพได้เท่านั้น ถ้าเจอสถานที่ที่แสงออกโทนอุ่น ๆ หรือมีวัตถุสีส้ม ๆ ประกอบในภาพเยอะหน่อย ระบบการชดเชย white balance จะทำงานได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ครับ ภาพจะอมฟ้าไปเลย
ส่วนในแง่การใช้งานนั้น ผมว่ามีหนึ่งจุดที่ทำเอาแปลกใจได้เหมือนกัน คือกล้องหลังของรุ่นนี้เป็นแบบออโต้โฟกัสที่สามารถแตะเลือกจุดโฟกัส แยกกับจุดวัดแสงได้อย่างอิสระ เช่นอย่างในภาพด้านบน ผมอยากถ่ายให้วัตถุสีขาวชัด แต่ถ้าไปแตะโฟกัสเลือกที่ชิ้นสีขาว กล้องโดนทั่วไปก็จะชดเชยแสงเฉลี่ยทั้งภาพ ให้ภาพโดยรวมมีความมืดลง เพื่อให้วัตถุสีขาวมีแสงสีออกมาที่พอดี ๆ แต่ก็จะส่งผลให้วัตถุสีดำข้างหลังมืดเกินไปด้วย
แต่กับ Zest 4G ผมสามารถแตะเลือกที่ชิ้นขาวเพื่อโฟกัสก่อน จากนั้นกดลงไปอีกครั้งจิ้มนิ้วค้างไว้เพื่อเลื่อนกรอบวงกลมเล็ก ๆ ไปยังตำแหน่งอื่นในภาพ เพื่อทำการวัดแสงตรงจุดนั้นแทนได้ ทีนี้ก็สามารถถ่ายภาพในแบบที่ต้องการได้อย่างง่ายดายแล้วครับ เหมาะกับคนที่ต้องการถ่ายภาพที่ต้องใช้เทคนิคแสงแปลก ๆ หน่อย ซึ่งสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักไม่ค่อยมีฟีเจอร์นี้มาในแอพกล้องพื้นฐานของเครื่องกันซักเท่าไหร่แล้ว
ด้านของตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหลัง/หน้าของ Acer Liquid Zest 4G ก็ตามในนี้เลยครับ
Performance
ด้านของประสิทธิภาพ ก็จัดว่าอยู่ในระดับทั่ว ๆ ไปครับกับชิปประมวลผล MediaTek 4 คอร์ สามารถใช้งานทั่วไป เล่น Facebook, Line, IG ได้สบาย ๆ เหลือเฟือ คะแนน AnTuTu ได้ประมาณ 23,300 คะแนน เล่นเกมได้ประมาณนึง ผมลองเล่น FIFA Mobile Football ที่เพิ่งออกมาไม่กี่วันก่อน ก็อยู่ในระดับเล่นได้ มีดีเลย์ในการรับคำสั่งนิดหน่อย ส่วน Pokemon GO อันนี้มีจุดที่ต้องพูดถึงนิดหน่อยครับ
เนื่องจาก Acer Liquid Zest 4G นี้ภายในตัวไม่มีเซ็นเซอร์ Gyro มาให้ ทำให้ไม่สามารถเล่น Pokemon GO ได้เต็มที่ คือกับตัวเกมหลักสามารถทำได้ จับโปเกม่อนได้ ฟักไข่ได้ สู้ยิมได้ตามปกติ แต่…
- ไม่สามารถจับโปเกม่อนด้วยโหมด AR ได้
- ไม่สามารถใช้งานโหมด Battery saver เพื่อปิดหน้าจอระหว่างเราเดินถือเครื่องที่กำลังเปิดแอพอยู่ สำหรับการฟักไข่ได้ (เดินฟักไข่ได้ แต่จอก็จะเปิดตลอดเวลา)
ทั้งนี้ก็เพราะการที่ไม่มี Gyro นี่ล่ะครับ เครื่องเลยไม่สามารถรับรู้ได้ว่าเราพลิกเครื่องไปในทิศทางใด ถ้าเป็นคนที่ไม่ได้ซีเรียสกับข้อนี้ หรือไม่ได้เล่นเกม Pokemon GO ก็ไม่ต้องกังวล
ภาพที่สามก็เป็นความเร็วที่ผมทดสอบการเชื่อมต่อ 4G LTE ครับ ว่าจะได้เร็วสุดซักเท่าไหร่ ผลออกมาก็ใช้ได้เลยนะ (เครือข่าย DTAC ย่านสาทร)
ส่วนภาพที่สี่ก็เป็นการใช้งานแบตเตอรี่ของ Acer Liquid Zest 4G ครับ เริ่มถอดสายชาร์จตอน 8 โมงกว่า ๆ รูปแบบการใช้งานก็เช่น
- ใช้งาน 2 ซิม โดยซิมนึงเชื่อมต่อ 4G LTE/3G ตลอดเวลา
- เล่น Facebook เรื่อย ๆ มีแจ้งเตือนเรื่อย ๆ
- เล่น Pokemon GO เป็นระยะ ช่วงไหนที่เดิน ก็เปิดเพื่อเดินฟักไข่ด้วย (แน่นอนว่าไม่ได้ปิดจอเลย)
- มีกระจายเป็น WiFi hotspot ให้มือถือเครื่องอื่นด้วย
พบว่าแบตเตอรี่ก็อยู่ในระดับที่น่าพอใจครับ กับเวลาเกือบ 3 ทุ่มครึ่ง แต่ยังมีแบตให้ใช้ได้อีกเกือบ 30% ถ้าคนที่ไม่ได้เล่นเกม รับรองว่าอยู่ได้เป็นวัน