ในปัจจุบัน”เน็ตมือถือ” ที่เราเรียกกันติดปากก็ได้พัฒนาไปถึง Generation ที่ 4 หรือ 4G LTE แล้ว ทำให้ความเร็วและความเสถียรเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย แต่ด้วยความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นทำให้จำเป็นต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เพิ่มขึ้นมาเช่น LTE-A, LTE-U และอีกมากมายที่เราจะพูดถึงกันในวันนี้ครับ โดยวันนี้ผมจะพยายามนำเสนอให้เข้าใจง่ายที่สุดเหมือนเดิมนะครับ
LTE-A
LTE-A เป็นเทคโนโลยีที่เราเคยเห็น และเคยใช้งานกันมาบ้างแล้ว โดย LTE-A เกิดขึ้นมาจากความต้องการความเร็ว LTE ที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่สามารถทำได้ง่ายในคลื่นความถี่เดียว จึงต้องมีการนำคลื่นความถี่มารวมกันหรือการทำ CA (Carrier Aggregation) เปรียบเสมือนว่า เวลาเราจะขับรถเข้ากรุงเทพฯ ถ้าเราใช้ถนนเส้นเดียว รถอาจติดไปหลาย 100 กิโลเมตร จึงต้องมีการสร้างถนนเพิ่ม ทำให้ระบายรถได้เร็วมากยิ่งขึ้นครับ
ก่อนเราจะพูดถึงหัวข้อ LTE-U ก่อนอื่นเราจะต้องมาทำความเข้าใจเรื่องคลื่นความถี่แต่ละประเภทกันก่อนครับ
ในปัจจุบันคลื่นความถี่แบ่งเป็นสองประเภทคือ Licensed Band แบบที่เป็นย่านความถี่ที่หน่วยงานรัฐเป็นเจ้าของ (สัมปทาน) กับ Unlicensed Band แบบที่ใครก็ใช้ได้แค่ทำตามมาตรฐาน เช่น WiFi, Bluetooth
LTE-U
LTE-U หรือ Unlicensed LTE จะเป็น LTE ที่ใช้คลื่นความถี่แบบ Unlicensed โดยใช้คลื่นความถี่เดียวกับ WiFi 5 GHz โดยตัวปล่อยสัญญาณจะเป็นตัว Small Cell ที่ติดตั้งอยู่ในพื้นที่ เช่น ในอาคาร หรือห้างสรรพสินค้า ส่งผลให้ใช้งาน LTE ได้ดีขึ้น + เพิ่มความเร็วการดาวน์โหลด ในพื้นที่ไม่กว้างมาก และในพื้นที่ ที่มีการใช้งานหนาแน่นครับ
LTE-U ใช้เทคนิคการทำ CA (Carrier Aggregation) หรือการรวมคลื่นระหว่าง LTE กับ LTE-U ทำให้ Throughput(Speed) เพิ่มขึ้น และ Latency(Ping) ลดลง เนื่องจาก LTE-U นั้นใช้คลื่นความถี่ 5 GHz เช่นเดียวกับ WiFi ทำให้มีความกว้างของสัญญาณมากถึงประมาณ 500 MHz แต่เมื่อเทียบกับ WiFi จะสามารถส่งสัญญาณได้ไกลกว่า WiFi ในคลื่นความถี่เดียวกันกว่า 2 เท่าครับ
อย่าลืมว่าตัวปล่อยสัญญาณ LTE-U เป็นเพียงแค่ Small Cell หรือยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ทุกตารางนิ้วอยู่ดี แต่ก็ทำให้การใช้งานในพื้นที่อย่างห้างสรรพสินค้า, ศูนย์ประชุม หรือสภานที่ ที่มีการใช้งานหนาแน่น และไม่กว้างมาก มีประสบการณ์การใช้งานที่ดีขึ้นครับ
อย่างไรก็ดี LTE-U ก็ยังมีประเด็นต่าง ๆ ที่ทำให้มันยังไม่ถูกยอมรับอย่างแพร่หลายมากนัก อย่างในปัจจุบันยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า LTE-U จะไปรบกวนสัญญาณ WiFi 5 GHz หรือไม่ เพราะถ้าใช้งานคลื่นความถี่เดียวกัน และยิ่งถ้าใช้ Chanel เดียวกันก็มีโอกาสที่จะรบกวนกันได้ครับ ลองนึกถึงพื้นที่อย่างห้างสรรพสินค้าโซนในเมืองของกรุงเทพฯ ดูก็ได้ครับ คลื่น WiFi 5 GHz มีการใช้ Chanel กันอย่างดุเดือดมาก หรือจำนวน Access Point มีปริมาณมากนั่นเองครับ (แล้วจะมีที่ว่างให้ LTE-U หรือเปล่า)
LAA
LAA เป็นเทคโนโลยีภาคต่อจาก LTE-U โดยจะใช้เทคนิคส่วนใหญ่คล้าย ๆ LTE-U แต่จะเพิ่มฟีเจอร์ Listen before talk (LBT) เข้าไปทำงานร่วมกันด้วยครับ โดย LAA จะทำงานอยู่บนมาตรฐาน 3GPP R13
สิ่งที่ทำให้ LAA กับ LTE-U ต่างกันจะเป็นเรื่องของฟีเจอร์ Listen before talk หรือเทคนิคที่จะตรวจสอบ Channel ที่จะทำการส่งข้อมูลก่อนว่าว่างหรือไม่ ถ้าว่างก็ทำการส่งข้อมูล แต่ถ้าไม่ว่างก็จะทำการหยุดรอให้ Channel ว่าง หรือย้ายไป Channel อื่นเพื่อส่งข้อมูลครับ
จะเห็นได้ว่า LAA ดูดีกว่า LTE-U มาก แต่การจะใช้งานฟีเจอร์ LBT ยังเป็นมาตรฐานใหม่ และยังอนุญาตให้ใช้ได้เพียงบางประเทศเท่านั้น ในขณะที่ LTE-U ไม่มีฟีเจอร์นี้สามารถนำไปติดตั้งใช้งานได้เลยครับ ทำให้กว่าเราจะได้เห็น LAA ในชีวิตจริงก็คงอีกนานเลยละครับ
LWA
LWA เป็นชื่อเรียกวิธีการรวม LTE + WiFi เข้าด้วยกัน โดยใช้เทคนิด CA (Carrier Aggregation) ระหว่าง LTE และ WiFi
จากภาพจะเห็นว่าตัว LTE ที่เป็นสัญญาณปกติจะทำการติดต่อกับฝั่งของ WiFi ก่อนแล้วตัว LTE จะเป็นตัวควบคุมการทำงานของฝั่ง WiFi (คิดว่าน่าจะเป็นขั้นตอนการยืนยันตัวตน Authentication) เสร็จแล้วนำสัญญาณทั้ง LTE และ WiFi มารวมกัน
ข้อดี
- ช่วยให้ประสบการณ์การใช้งานที่ดีขึ้น
- เพิ่ม Throughput(Speed) และลด Latency(Ping)
- ลดภาระของฝั่งใดฝั่งหนึ่งได้
- มี Link สำรองป้องกันระบบล่ม หรือจะมีอีก Link พร้อมที่จะทำงานแทนอยู่เสมอ
- เพิ่มความเร็วการดาวน์โหลด
จะเห็นได้ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีด้านเครือข่ายไร้สายนั้นพัฒนาไปไกลมาก เพื่อตอบสนองความต้องการที่มากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ได้อยู่ในโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ ๆ หลายคนอาจจะสงสัยว่าที่เขาโฆษณากัน อย่างความเร็ว 1 Gbps มันจะได้ใช้จริงสักแค่ไหนกันเชียว
สิ่งที่ทำให้เห็นได้ชัดในชีวิตจริงจะเป็นเรื่องของประสบการณ์การใช้งานที่ดีขึ้น เพราะถ้าอุปกรณ์สามารถไปได้ถึงความเร็วระดับนั้นแล้ว แสดงว่าภายในของมันต้องไม่ธรรมดา ส่วนเมืองไทยจะได้ใช้ความเร็วสูงขนาดนั้นในวงกว้างเมื่อไหร่คงต้องรอให้ผู้บริการพร้อมที่จะให้บริการก่อนละกันนะครับ
ที่มา qualcomm