อย่างที่หลายๆ ท่านคงได้อ่านข้อมูลไปก็เยอะแล้ว สำหรับ iPhone 6 และ iPhone 6 Plus ซึ่งก็น่าจะมีทั้งคนที่สมหวังและผิดหวังกันไปกับการอัพเกรดของ Apple ในปีนี้ รวมถึงยังมีการปรามาส Apple ไปด้วยว่ายอมกลืนน้ำลายตัวเอง เดินตามวิถีของ Android หมู่มากเข้าให้ซะอีก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขนาดหน้าจอที่ยอมเพิ่มขนาดมาเท่าชาวบ้านบ้างซะที NFC ที่ยอมใส่มาเป็นครั้งแรก รวมไปถึง iOS 8 ที่เปิดกว้างมากขึ้น จะเห็นว่าในจุดต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นการเดินตามแนวทางที่ Android เริ่มเดินเอาไว้แทบทั้งสิ้น ในบทความนี้เราจะมาดูกันครับ ว่าอันที่จริงแล้ว iPhone 6 และ iPhone 6 Plus เดินตามหลังมือถือ Android จริงหรือ??
ก่อนอื่นเลย เรามาดูจากภาพที่มีการแชร์ในโซเชียลเน็ตเวิร์คกันบ่อยๆ ในช่วงวันสองวันหลังเปิดตัว iPhone 6 กันก่อนครับ จากภาพที่มีคนทำขึ้นมา จะเห็นได้ว่าเป็นการเปรียบเทียบระหว่าง iPhone 6 กับ Nexus 4 ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2012 เพื่อให้เห็นได้ว่าฟีเจอร์และสเปคของ iPhone 6 นั้น ฝั่ง Android มีมาตั้งแต่เมื่อสองปีก่อนแล้ว ทั้งยังมีประโยคเยาะเย้ยอีกด้วนว่า Enjoy your “new” device! (ขอให้มีความสุขกับอุปกรณ์รุ่น “ใหม่” ของคุณนะ) และเกทับล่วงหน้าด้วยว่า ขอให้ในปี 2016 ผู้ใช้ iPhone (ป่านนั้นคง iPhone 7 แล้ว) สนุกกับฟีเจอร์การชาร์จไร้สาย, การกันน้ำ, รีโมทอินฟราเรด, การใช้งานหลายๆ ผู้ใช้งานในเครื่องเดียว เป็นต้นอีกด้วย
ซึ่งถ้าดูจากภาพด้านบน ก็เห็นได้ชัดเลยว่า?iPhone ตามหลังมือถือ Android จริงๆ?ในแง่ของฟีเจอร์ และสเปค ไม่ว่าจะเป็นจอที่เพิ่งขยับมาเป็น 4.7 นิ้ว 750p ที่ก็ยังด้อยกว่า Nexus 4 อยู่ดี ส่วน iPhone 6 Plus นั้นก็ใช้จอ 5 นิ้ว 1080p ซึ่งก็ยังถือว่าด้อยกว่ามือถือรุ่นท็อปของ Android ในขณะนี้ที่จอก้าวไปถึงระดับ 2K กันแล้ว ทีนี้เรามาเทียบกันทีละจุดบ้างครับ แต่ก่อนอื่น ขอให้วางอคติลงก่อนนะ
หน้าจอ
มาในปีนี้ Apple จัดการเพิ่มขนาดจอและความละเอียดจอขึ้นมา (1334 x 750 ใน iPhone 6 และ 1920 x 1080 ใน iPhone 6 Plus) ซึ่งก็สัมพันธ์กับขนาดหน้าจอที่เพิ่มขึ้น โดยยังคง PPI ต่ำสุดไว้ที่ 326 PPI ใน iPhone 6 ให้เท่ากับ iPhone 5s ดังนั้นเรื่องความคมชัดก็ไม่ใช่ปัญหาเหมือนๆ เดิม แต่ก็ยังดูด้อยกว่า Android ที่รุ่นท็อปที่ความละเอียดไม่ต่ำกว่า Full HD 1080p ขึ้นไปกันทั้งนั้นแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะโดนปรามาสเรื่องหน้าจอ ประมาณว่า “ยอมขยายจอให้ใหญ่ขึ้นละเหรออออออ แต่ความละเอียดก็แค่เนี้ย กระจอกจัง”
แต่ถ้ามาพิจารณามือถือ Android จริงๆ การที่ความละเอียดจอสูงๆ มันก็ดีอยู่หรอกครับ แต่มันดีแค่ในการโฆษณาเท่านั้นเอง จากประสบการณ์ตรงของผมที่ใช้มือถือ Android จอ 2K อยู่ในตอนนี้ คือมันก็ละเอียดและภาพสวยจริง แต่พอใช้งานจริง อะไรๆ มันก็ไม่ได้ดีตามไปทั้งหมด เพราะเวลาใช้งานหน้าจอ เราๆ ส่วนใหญ่ก็จะไม่ได้มานั่งจ้องเม็ดพิกเซลกันเท่าไหร่ ระยะการใช้งานจริงก็ห่างจากสายตาเกือบ 1 ฟุต ซึ่งระยะนี้ เผลอๆ จะแยกความแตกต่างระหว่าง 2K กับ Full HD กันไม่ออกด้วยซ้ำไป เรื่องการใช้งานจริงก็มีกระตุกๆ บ้าง เพราะ GPU ประมวลผลบางจุดไม่ทัน แอพก็ยังรองรับไม่เต็มที่ (บางส่วนใช้งานไม่ได้เลย บางส่วนใช้งานได้แต่กระตุก) และที่สำคัญคือระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ เพราะหน้าจอเป็นส่วนที่กินพลังงานสูงมาก ทำให้จากที่น่าจะใช้งานได้เกินวันสองวัน กลับกลายเป็นว่าวันเดียวก็ต้องชาร์จแล้ว ยิ่งถ้าเล่นเกมและใช้งานบ่อยๆ ทั้งวันด้วย มันแทบไม่ได้แตกต่างไปจาก iPhone เท่าไรเลยด้วยซ้ำไป แถมหลายๆ ท่านยังน่าจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า “เอาจอ 2K มาทำไม สู้ลดเหลือจอ 1080p ดีกว่า จะได้ใช้งานแบตเตอรี่ได้นานๆ” …นั่นไงครับ ข้อเสียของจอความละเอียดสูงเกินไปสำหรับมือถือ ข้อนี้ผมใช้งานเครื่องอยู่ด้วยตัวเอง ก็แอบคิดอยู่ทุกวันเหมือนกัน ว่ามันละเอียดเกินไปที่จะใช้จริงๆ ขนาด iPhone 5s ที่ความละเอียดจอแค่ 1136 x 640 ยังกินแบตซะขนาดนั้นเลย
ส่วนตัวผมมองว่า จอมือถือความละเอียดแค่ 1080p มันก็เกินพอแล้ว จอระดับ 2K ค่อยเอาไปใช้ในแท็บเล็ตน่าจะเหมาะสมกว่า ถ้าในมือถือ ขอความละเอียดในระดับ 1080p แต่คุณภาพการแสดงผลดีๆ ภาพสวย สีสันสด ไม่ซีดหรือไม่แสบตาเกินไป มุมมองจอดีๆ แค่นี้ก็เกินพอแล้ว ซึ่งในจุดนี้ iPhone สามารถทำมาได้ดีตั้งหลายปี (เมื่อเทียบกับมือถือรุ่นอื่นในปีเดียวกัน) และในปีนี้ก็น่าจะยังทำได้ดีอยู่เหมือนเคย
ส่วนการที่ Apple ยอมกลืนน้ำลาย อัพขนาดหน้าจอขึ้นมาเนี่ย เอาจริงๆ แล้วผลดีมันก็ตกกับผู้ใช้งานนี่ล่ะครับ จะเถียงกันไปทำไม ด้วยเหตุผลทางด้านการตลาด มันก็ต้องออกมาแบบนี้ล่ะ การแข่งขันมันถึงจะเข้มข้นกว่าเดิม ซึ่งถ้ามองในภาพรวมระดับองค์กรแล้ว ยังไงๆ มันก็ต้องทำเข้าซักวันอยู่ดี และเขาคงไม่ได้มานั่งคิดอยู่หรอกครับ ว่าจะเป็นการกลืนน้ำลายตัวเองหรือเปล่า ก็มันทำแล้วได้เงินนี่นา ทำไมจะไม่ทำ แถมตัวเองก็กำลังเสียส่วนแบ่งไปมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้ง Apple ในยุคของ Tim Cook เองก็ไม่ได้มีพลังเหมือนกับยุคของ Jobs (ต้องยอมรับกันตรงๆ ว่าเป็นเรื่องจริง) แล้วด้วย ทำอะไรได้ก็ต้องทำล่ะนะ
สำหรับจอที่ใหญ่ขึ้น ข้อนี้ผมมีความเห็นอย่างเดียวครับ >>> ทำได้ซักที น่าจะทำมาตั้งนานแล้ว
ส่วนประโยชน์ของมันน่ะเหรอ ก็ตามภาพด้านบนเลย อิอิ
NFC
เป็นอีกจุดที่ Apple โดนผู้ใช้ Android หลายคนเยาะเย้ยกันไป ว่าเพิ่งจะใส่มาเหรอ ใน Android มีให้ใช้กันมาเป็นปีๆ แล้ว แถม Apple เองก็เคยเหน็บถึง NFC ว่าไม่เห็นจะจำเป็นเลยเมื่อในอดีต แต่เมื่อลองพิจารณาดีๆ ถามว่าทุกวันนี้เราได้ใช้ NFC ทำอะไรจริงจังกันบ้าง อุปกรณ์ที่ใช้กับ NFC ในบ้านเราก็ยังไม่ค่อยแพร่หลายนัก จะมีที่ใช้งานกันเยอะหน่อยก็ที่รถไฟฟ้า BTS ซึ่งก็ใช้งานได้กับมือถือ NFC บางรุ่นเท่านั้นอีก ส่วนตัวผมก็ใช้แค่เวลาโอนถ่ายรูปจากมือถือ NFC เครื่องอื่นเข้ามาในเครื่องผมเท่านั้นเอง แถมเท่าที่ลองใช้งานมา มือถือบางยี่ห้อมี NFC มาก็จริง แต่กลับจับคู่กับเครื่องยี่ห้ออื่นไม่ได้เลยก็มี เลยยังสงสัยอยู่จนถึงทุกวันนี้ว่ามันเป็น NFC มาตรฐานพิเศษหรือเปล่า ถึงใช้กับใครๆ ไม่ได้เลย ต้องใช้กับยี่ห้อตัวเองเท่านั้น เลยกลายเป็นเทคโนโลยีที่เราๆ ไม่ได้ใช้งานจริงกันซักเท่าไร การจ่ายเงินด้วยระบบ NFC ในต่างประเทศก็ยังไม่ค่อยบูมกันนัก ด้วยเหตุผลทั้งด้านความปลอดภัยของข้อมูลที่หลายๆ คนยังไม่เชื่อใจกันมากนัก
แต่พอมาเป็น Apple สร้างระบบ Apple Pay ที่เป็นการจ่ายเงินซื้อสินค้าด้วยมือถือ ผ่าน NFC กลับกลายเป็นว่ามีร้านค้า ผู้ให้บริการหลายรายในสหรัฐฯ ให้ความร่วมมือกัน ดังจะเห็นได้จากรายชื่อในงานเปิดตัว iPhone 6 และ iPhone 6 Plus แถมยังโชว์ตัวอย่างการจ่ายเงินแบบง่ายๆ เพียงแค่ยื่น iPhone เข้าไปใกล้ๆ เซ็นเซอร์ แล้วใช้นิ้วแตะที่ปุ่ม Touch ID เท่านั้นเอง ประกอบกับความเชื่อมั่นในด้านการรักษาความปลอดภัยของ Apple ที่ทำได้ค่อนข้างดีมาตลอด (มาเสียก็ตอนรูปหลุดจาก iCloud นี่ล่ะ) เลยทำให้กระแสการใช้ NFC ช่วยจ่ายเงินกลับมาอีกครั้ง และด้วยพลังของความเป็น Apple นี่ล่ะครับ ที่น่าจะทำให้การจ่ายเงินด้วยวิธีนี้กลายเป็นกระแส และประยุกต์เข้าสู่การใช้งานจริงอย่างได้ผลที่สุด ต่างกับฝั่ง Android ที่ทั้งผลักทั้งดันกันมาเป็นปีๆ แล้ว แต่เราก็ไม่ได้เห็นความจริงจังซักเท่าไร
ซึ่งเชื่อได้เลยครับว่า คราวนี้ล่ะ ที่เราน่าจะได้เห็นบรรดาร้านขายสินค้า โดยเฉพาะในสหรัฐฯ กระตือรือร้นมาใช้งาน NFC ในระบบ Apple Pay กันแน่ๆ เพราะความนิยม iPhone ในอเมริกายังสูงอยู่ แต่ละร้านก็คงอยากหาวิธีกระตุ้นให้คนจ่ายเงินกันง่ายๆ แน่นอน ก็ต้องคอยดูว่าฝั่ง Android จะแก้เกมอย่างไร แต่ดูแล้วน่าจะยาก เพราะความหลากหลายเกินไปของ Android ที่จะเป็นอุปสรรคของการพัฒนา Android ไปต่อแน่ๆ พลังของ Google เองก็ไม่ได้แข็งแกร่งอย่างเมื่อก่อนที่จะถึงขั้นเข้าไปบงการผู้ผลิตแต่ละรายได้ แม้ว่าในภาพรวมแล้ว Android จะมีฐานผู้ใช้มากก็ตามที จะหวังให้มือถือตระกูล Nexus เป็นตัวสร้างมาตรฐานก็คงลำบาก เพราะผู้ผลิตแต่ละรายก็คงมีการปรับแต่งนู่นนี่นั่นอยู่ดี สุดท้ายแล้ว แนวทางที่จะทำให้ Android กลับมาในด้านนี้ได้ Google คงต้องหาทางหักดิบเข้าซักทีล่ะนะ เช่น บังคับให้มือถือ Android สเปคระดับกลางขึ้นไป (ตีราคาเครื่องเปล่าในไทยก็ซัก 13,000 บาทขึ้นไป) มี NFC ที่สามารถใช้งานทุกอย่างได้เหมือนกันหมดในทุกเครื่อง สร้างระบบการจ่ายเงินที่ง่ายๆ แบบ Apple Pay ขึ้นมา แต่ดูแล้วก็คงยากอยู่ดีครับ โดยเฉพาะระบบรักษาความปลอดภัย เพราะใช่ว่าทุกเครื่องจะมีเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือเหมือนกันหมด นอกจากจะมีระบบอื่นที่ใช้งานได้ง่ายเหมือนๆ กัน คงต้องรอดูกันต่อไป
iOS
จุดนี้ เรียกว่าโดนถล่มมาตั้งแต่ช่วงกลางปีที่เปิดตัว iOS 8 เลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะประเด็นของหน้าตาบางจุดที่ดูเหมือน Android ไปหน่อย การทำงานภายในที่เปิดกว้างมากขึ้น เปิดให้แชร์ได้มากขึ้น ข้อนี้ก็โดนแซะไปไม่น้อยว่าทำไมเพิ่งจะมาทำ Android ทำได้มาตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว ซึ่งข้อหลังนี้ดูจะเป็นความจริงที่ไม่มีใครเถียงได้เลยทีเดียว จากที่ผ่านมา Apple ในยุคของ Jobs และ iOS ในยุคของ Scott Forstall ได้ยึดมั่นในการเป็นระบบปิดอย่างสมบูรณ์มาตลอด ทำให้การแชร์ข้อมูลไปมาระหว่างแอพในเครื่องทำได้ยาก ขนาดแค่จะคัดลอกข้อความ ยังต้องรอกันเป็นปีถึงจะทำได้ (ตั้งแต่ iOS ยุคแรกๆ) และฟีเจอร์ต่างๆ ที่เปิดตัวออกมาใน iOS 8 ก็ต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่ Android มีอยู่แล้วแทบทั้งนั้น แต่ด้วยรูปแบบการนำเสนอที่ทำให้ดูดี น่าใช้งาน อะไรๆ ก็ดูง่ายไปหมด ผู้ใช้งานฝั่ง iPhone จึงอดไม่ได้ที่จะตื่นเต้น ส่วนผู้ใช้ฝั่ง Android ก็กลายเป็นรำคาญ เพราะต่างก็เป็นฟีเจอร์ที่ Android มีอยู่แล้วทั้งนั้น
สำหรับในเรื่องนี้ แม้ว่าจะทำใจยอมรับได้ยากสำหรับสาวกฝั่ง Apple แต่ก็ต้องขอบอกตรงๆ ว่าฟีเจอร์หลายอย่าง Apple ก็ทำตาม Android จริงๆ โดยเฉพาะเรื่องการเปิดระบบให้มีการแชร์ข้อมูลระหว่างแอพภายในเครื่องได้มากขึ้น และการเปิดให้มีคีย์บอร์ดจากผู้ผลิตรายอื่นๆ มาใช้งานบน iOS ได้ แต่ทั้งหมดนี้ ถ้ามองในแง่ของผู้ใช้งานทั่วไปและนักพัฒนาแอพ ก็นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีมากๆ เพราะจะทำให้การใช้งานง่ายและสะดวกขึ้นกว่าเดิม ส่วนหน้าตาก็นะ …ดูคล้ายจริงๆ
หน่วยความจำ iPhone
เป็นเรื่องที่ Apple ยังคงยึดมั่นในจุดยืนเดิม คือใช้งานหน่วยความจำในเครื่องอย่างเดียว ไม่มีให้เพิ่ม MicroSD แต่ปรับขนาดความจุเป็น 16, 64 และ 128 GB ไปเลย เชื่อว่าน่าจะมีหลายคนอยากให้ Apple ไปลอกจุดนี้จากมือถือ Android มาบ้าง นั่นคือให้มีช่อง MicroSD บ้างซะที
สำหรับประเด็นนี้ บอกได้เลยว่ายากและไม่มีทางครับ หนึ่งคือมันจะเสียความเป็นหนึ่งเดียวกันของตัวเครื่องและระบบไป เพราะถ้าหากอนุญาตให้ใส่ MicroSD ในเครื่องได้ รับรองว่าระบบปิดที่ Apple ตั้งไว้ แตกกระเจิงแน่ๆ การถ่ายโอนไฟล์จะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าเดิม และอาจก่อให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น รับรองว่า Apple ไม่ยอมให้เกิดได้ง่ายแน่ๆ ขนาดแค่ Bluetooth หรือ AirDrop ที่ใส่มา ยังโอนไฟล์ไม่ได้ทุกชนิดเลย
สองคือ ถ้าใส่ช่อง MicroSD มาจริง แล้ว Apple จะหารายได้เสริมจาก iCloud ได้อย่างไรล่ะ ยิ่งล่าสุด เพิ่งจะประกาศปรับราคาพื้นที่ iCloud ไปด้วย อย่าง 20 GB ก็จ่ายแค่ประมาณ 30 บาทต่อเดือน 200 GB ก็จ่ายแค่ราวๆ 130 บาทต่อเดือนเท่านั้น (ส่วนพื้นที่ฟรีก็ยัง 5 GB เหมือนเดิม) จุใจสำหรับคนชอบถ่ายรูปแน่ๆ ทั้งระบบการทำงานต่างๆ ของ iOS ก็เอื้อให้เหมาะสมกับการใช้งานร่วมกับ iCloud ขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการซิงค์ข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ iOS และเครื่องแมค OS X ที่ทำได้สนิทแนบชิดกว่าเดิมมากๆ จนถึงขั้นทำงานต่อกันได้แทบจะเรียลไทม์ สาเหตุก็เพราะ Apple ต้องการจะขายพื้นที่ iCloud แบบรายเดือนนี่ล่ะครับ ดังนั้นยิ่งไม่มีความจำเป็นเลยที่จะต้องใส่ช่อง MicroSD เข้ามา จะเรียกว่าตามหลังมั้ย? ก็ไม่เชิงนะ แต่เหมือนเป็นการเลือกเดินคนละทางมากกว่า
ทำไม Apple ถึงตามหลัง Android ?
จากที่แต่ก่อน Apple เรียกว่าเป็นผู้นำเทรนด์ในหลายๆ ด้านมาตลอด พอมาช่วงหลังนี้ จะเห็นว่าส่วนใหญ่ Apple จะเป็นผู้ตามเทรนด์ และนำสิ่งที่คนอื่นมีอยู่แล้วมานำเสนอจนเหมือนเป็นของใหม่อยู่เรื่อยๆ ให้เราได้กระแนะกระแหนกันทุกปี ซึ่งถ้าให้พูดแบบในฝั่งของสาวก Apple ก็จะประมาณว่า
“เขาคิดแล้วว่าที่ผ่านมามันยังไม่จำเป็น เลยยังไม่ใส่มา แต่ตอนนี้ Apple พร้อมแล้ว เลยใส่มา นี่ไง เห็นมั้ย ใช้งานง่ายกว่าใน Android ตั้งเยอะ”
ซึ่งมันก็มีส่วนจริงอยู่เหมือนกันครับ ด้วยความที่การทำงานของ Apple จะเน้นสร้างสภาพแวดล้อมการใช้งานให้สมบูรณ์ก่อน ถึงค่อยปล่อยฟีเจอร์ออกมาให้คนใช้ ส่วนสภาพแวดล้อมของด้าน Android เอง จะพร้อมสรรพแบบใช้งานโดยรวมได้ดีก็แค่ในบางประเทศเท่านั้น แถมระบบเองก็ยังดูตามหลัง Apple ซะด้วยซ้ำไป ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะ Android ก้าวเข้ามาในตลาดนี้หลัง Apple หลายปีอยู่เหมือนกัน แต่ก็สามารถพัฒนาขึ้นมาได้เร็ว คงต้องดูกันต่อไปในอนาคตล่ะนะ แต่ถ้าเทียบตอนนี้ Apple ยังนำอยู่
และพอคนเริ่มใช้งานสภาพแวดล้อมของ Apple จนอยู่ตัวแล้ว ก็เสมือนว่าติดหลุมกับดักไปเรียบร้อย จะย้ายออกก็เสียดาย นับเป็นหนึ่งในกลยุทธ์รั้งผู้ใช้ไว้ แล้วยิ่งปีนี้ iPhone 6 กับ iPhone 6 Plus ต่างก็มาพร้อมหน้าจอใหญ่พอๆ กับมือถือ Android แล้ว นับเป็นการปิดจุดอ่อนที่ดี ต่อไปเราน่าจะได้เห็นการย้ายค่ายจาก Android มา Apple พอสมควร ส่วนการย้ายค่ายจาก Apple ไป Android อาจจะน้อยลงก็เป็นได้ และถ้าดูดีๆ จะเห็นว่าปีนี้ Apple มาพร้อมจริงๆ ด้านฮาร์ดแวร์ก็ปรับตัวตามทันตลาด ด้านซอฟต์แวร์ก็ลงตัวในแนวกว้างขึ้นกว่าเดิม ระบบออนไลน์ของตนเองก็มีรากฐานที่แข็งแรงอยู่แล้ว ดังนั้น พวกฟีเจอร์ต่างๆ ถึงจะมาช้า แต่ดูแล้วยังชัวร์และรากฐานแน่นกว่าฝั่ง Android จริงๆ ส่วน Android จะเน้นพัฒนาเร็ว ปล่อยเร็ว ผู้ผลิตก็เน้นอัดสเปคมาให้เป็นจุดขายของตนเอง เราจึงได้เห็นมือถือ Android สเปคนำหน้า iPhone ไปเป็นปีๆ จะมีจุดที่ Apple ดูล้ำหน่อยก็ตรงชิปประมวลผลที่รองรับ 64 บิทตั้งแต่ใน iPhone 5s เท่านั้นเอง แต่ก็ยังไม่สามารถแสดงพลังได้เต็มที่อยู่ดี
ส่วนอีกข้อหนึ่งที่คงเป็นเหตุผลที่ภายใน Apple คิดเอาไว้เหมือนกัน คือ “ถ้าปล่อยของหมดปีนี้ แล้วปีหน้าจะขายอะไรล่ะ?”?และอีกข้อหนึ่งคือ “จะปล่อยหมดทำไม แค่นี้ก็ขายกันแทบจะไม่ทันอยู่แล้ว” (ฮา)
สรุป
เมื่อดูโดยรวมแล้ว ต้องบอกว่า Apple iPhone 6 และ iPhone 6 Plus ก็ตามหลัง Android อยู่จริง ทั้งในด้านของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ แต่ไม่ได้ห่างชั้นอะไรมากมายนักเหมือนปีที่ผ่านมา ดูเหมือนจะตามมาทันๆ กันแล้วด้วยซ้ำไป เมื่อมองจากสิ่งที่จะได้จากประสบการณ์ใช้งานจริง ซึ่งการยอมกลืนน้ำลายที่สุดท้ายแล้วผลดีจะเกิดขึ้นกับทั้งสองฝั่ง ไม่ว่าจะเป็นฝั่ง Apple เองที่แน่นอนว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นจากเดิม ทั้งยังได้ใจสาวกกันไปเต็มๆ รวมถึงฝั่งผู้ใช้งานที่จะได้ใช้ iPhone ที่สเปคมาทันชาวบ้านเขาเสียที
แต่ฝั่งที่จะกระทบเต็มๆ ส่วนตัวผมว่าไม่ใช่ฝั่ง Android หรอกครับ แต่เป็นขั้วที่สามอย่าง Windows Phone นี่ล่ะ จากเดิมที่มีศึกรุมล้อมอยู่แล้ว มาปีนี้ก๊ก Apple มีฐานที่แข็งแรงกว่าเดิมอีก ก๊ก Android ก็เน้นปริมาณเข้าสู้ แต่ก๊ก Microsoft เองกลับแทบจะยังไม่สามารถสร้างแพลตฟอร์มได้เป็นชิ้นเป็นอันเหมือนอีกสองฝั่งที่สร้างสุมกำลังกันไว้พอตัวแล้ว จากที่แต่ก่อนเคยหยอกเหย้า iPhone ว่าจอเล็ก ใช้ไม่สะดวก มาปีนี้ iPhone 6 ก็จอใหญ่พอๆ กับตัวเอง ส่วนเรื่องแอพนั้นแทบไม่ต้องพูดกันเลย จะเหลือก็แต่เรื่องกล้องเท่านั้นที่ยังคุยได้อยู่ แต่ดูแล้วคงลำบากอยู่นะ เพราะคนส่วนใหญ่ก็ชอบกล้องที่ถ่ายง่ายๆ สวยสำเร็จรูปแบบ iPhone ซะมากกว่า คงต้องรอดูกันต่อไปครับ ศึกนี้ยังอีกยาว