วิธีตรวจสอบเช็คเบอร์กับโมบายแบงก์กิ้งว่าตรงกันหรือไม่ เพื่อป้องกันบัญชีม้า ถ้าไม่ตรงต้องทำยังไงบ้าง
ตั้งแต่ที่มีเหล่าบัญชีม้าและซิมม้า ก็ทำให้ผู้ใช้งานทั่วไปได้รับความเดือดร้อนอย่างโดนโกงเงิน โอนแล้วหาย โดนพี่มิจฯโทรมาได้ไม่เว้นแต่ละวัน ทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เลยได้ผุดไอเดียการตรวจสอบเพื่อคัดกรองเบอร์ และโมบายแบงก์กิ้งที่ผูกกับบัญชีธนาคาร จะต้องมีชื่อที่ตรงกัน โดยให้เช็คได้แบบฟรีๆ จากการกดเบอร์ลัด โดยจะมีผลในในวันที่ 27 พฤษภาคม 2024 ถ้าหากชื่อไม่ตรงกัน ก็อาจมีสิทธิโดนระงับการโอนเงินหรือทำธุรกรรมได้เลย วันนี้ทาง Specphone เลยจะมาบอกวิธีเช็คเบอร์มือถือกับโมบายแบงก์กิ้งว่าตรงกันไหมแบบง่ายๆ ทำยังไงได้บ้างไปดูกัน
- วิธีตรวจสอบชื่อเบอร์มือถือกับโมบายแบงก์กิ้งและเจ้าของบัญชีว่าตรงกันหรือไม่
- ถ้าชื่อไม่ตรงยังใช้โมบายแบงก์กิ้งได้หรือไม่ และถ้าลงทะเบียนให้ลูก-พ่อแม่ตัวเองต้องทำยังไง
- ชื่อไม่ตรงโมบายแบงก์กิ้งต้องทำยังไงทั้ง AIS, true และ dtac
วิธีตรวจสอบชื่อเบอร์มือถือกับโมบายแบงก์กิ้งและเจ้าของบัญชีว่าตรงกันหรือไม่
จากการที่ กสทช. จะเริ่มมาตรการสกัดพวกซิมผีและบัญชีม้าทั้งหลายตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2024 เป็นต้นไป ก็ได้มีการแนะนำคนใช้งานทั่วไปหรือประชาชนที่ใช้เบอร์มือถือกับโมบายแบงก์กิ้งอยู่ได้ตรวจสอบกันแบบง่ายๆ สามารถเช็คได้ฟรีด้วยการกดเบอร์ลัด มีวิธีทำดังนี้
- กด *179*เลขบัตรประจำตัวบัตรประชาชน 13 หลัก# และกดโทรออก
เมื่อกดโทรออกแล้วจะได้รับข้อความส่งกลับมาว่าเบอร์ และหมายเลขบัตรประชาชนตรงกันหรือไม่ ถ้าตรงกันก็จะบอกว่าหมายเลขนี้ตรงกัน ไม่ต้องทำอะไรต่อ แต่ถ้าหากขึ้นว่าหมายเลขไม่ตรงกัน จะมีข้อความส่งกลับมาจากเครือข่ายที่ใช้งานอีกครั้ง เพื่อเป็นการยืนยันข้อมูลว่าเลขบัตรประชาชนและเบอร์ไม่ตรงกัน พร้อมกับวิธีการแก้ไขอีกด้วย
นอกจากนี้ทาง กสทช. ก็ยังมีแอพเอาไว้เช็คเลขบัตรประชาชนของเราเพิ่มเติม ว่ามีการนำไปลงทะเบียนไว้ใช้เบอร์อื่นๆ อีกกี่เลขหมาย สามารถแจ้งเลขหรือเบอร์ปลอมที่เราไม่ได้ใช้ และยังล็อคหรือปลดล็อคเลขบัตรประชาชนไม่ให้เปิดซิมได้ด้วย เพื่อป้องกันการแอบอ้างหรือถูดสวมสิทธินำไปลงเบียนได้จากแอพ 3 ชั้น (โหลดแอพสำหรับ Google Play หรือ App Store)
ถ้าชื่อไม่ตรงยังใช้โมบายแบงก์กิ้งได้หรือไม่ และถ้าลงทะเบียนให้ลูก-พ่อแม่ตัวเองต้องทำยังไง
สำหรับในกรณีที่กดเช็คเบอร์และหมายเลขบัตรประชาชนจากการกด *179*เลขบัตรประจำตัวบัตรประชาชน 13 หลัก# กดโทรออก เพื่อตรวจสอบเช็คเบอร์กับโมบายแบงก์กิ้ง และมีข้อความขึ้นมาว่าหมายเลขไม่ตรงกัน ทาง กสทช. ก็ได้ประชาสัมพันธ์ออกมาแล้วว่ายังคงใช้งานต่อได้ปกติ
ซึ่งนโยบายนี้ก็ได้ทำร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และทางธนาคาร โดยจะมีขั้นตอนการตรวจสอบคือธนาคารเป็นผู้รวบรวมบัญชีและหมายเลขมือถือที่ผูกกับโมบายแบงก์กิ้ง จากนั้นจะส่งเรื่องต่อให้กับ ปปง. และทาง ปปง. ก็จะส่งต่อให้กับ กสทช. เพื่อให้แยกออกมาตามเครือข่าย และส่งต่อให้ผู้บริการตามค่ายต่างๆ เพื่อยืนยันและส่งกลับไปอีกครั้ง
ซึ่งตรงจุดนี้เองที่ทาง ปปง. ก็ได้ยืนยันออกมาแล้วว่าสามารถอธิบายความจำเป็นในการใช้งานได้ จากดุลยพินิจของธนาคารอย่างเช่น การเปิดโมบายแบงก์กิ้งให้กับลูก-หลาน ที่เป็นเด็ก หรือว่าผู้สูงวัยอย่างพ่อแม่ และญาติต่างๆ เบอร์องค์กรที่ยืนยันตัวตนได้ด้วยเหตุผลที่เพียงพอ ดังนั้นถ้าเปิดให้กับลูกหลานหรือพ่อแม่ก็สามารถอธิบายให้ทราบได้นั่นเอง โดยทาง กสทช. จะมีการประชุมหารือกับค่ายมือถือ เพื่อความสะดวกในการเปลี่ยนชื่อผู้ถือครองให้ตรงกับโมบายแบงก์กิ้งต่อไป
ชื่อไม่ตรงโมบายแบงก์กิ้งต้องทำยังไงทั้ง AIS, true และ dtac
อีกกรณีนึงนอกจากการเปิดโมบายแบงก์กิ้งให้กับลูก-หลาน หรือว่าพ่อแม่ ซึ่งจากการตรวจสอบแล้วเบอร์เราไม่ตรงกับโมบายแบงก์กิ้ง แนะนำว่าให้รีบไปเปลี่ยนเบอร์ซิมการ์ดที่ตัวเองใช้อยู่ ให้เป็นชื่อของตัวเอง เพราะถ้าหากไม่เปลี่ยนแปลง อาจถูกระงับบัญชีโมบายแบงก์กิ้งได้เลยทีเดียว โดยการเปิดใช้โมบายแบงก์กิ้งรายใหม่ ทางธนาคารจะมีการเช็คเจ้าของเบอร์ว่าตรงกับชื่อหรือไม่แล้วด้วย โดยการเปลี่ยนชื่อเพื่อจดทะเบียนซิมมาเป็นของตัวเองแต่ละค่ายสามารถทำได้ดังนี้
AIS
- ระบบเติมเงิน – ในกรณีที่ใช้เองให้นำซิม และบัตรประชาชนเข้าไปติดต่อที่ AIS Shop/ Telewiz ทุกสาขาเพื่อเปลี่ยนชื่อผู้จดทะเบียนได้เลย
- ระบบรายเดือน – มีข้อแม้ว่าจะต้องไม่ติดสัญญากับโครงการที่ไม่สามารถเปลี่ยนชื่อผู้จดทะเบียนได้ ส่วนใครที่ไม่ได้ติดสัญญา สามารถนำบัตรประชาชนไปดำเนินการได้ทั้งผู้โอนและผู้รับโอนที่ AIS Shop/ Telewiz ทุกสาขา ในกรณีที่ต้องมอบอำนาจจะต้องเป็นผู้โอนมอบอำนาจมาเท่านั้น ผู้รับโอนต้องไปด้วยตัวเองทุกกรณี โดยทั้งคู่จะต้องมี
- 1) บัตรประชาชนตัวจริง พร้อมสำเนามาแสดง 2) หนังสือมอบอำนาจตัวจริง (ไม่ต้องติดแสตมป์) และระบุเบอร์โทรของผู้มอบอำนาจที่ติดต่อได้ (หนังสือมอบอำนาจติดต่อได้จาก AIS Shop)
true
สำหรับการเปลี่ยนเจ้าของเบอร์สามารถติดต่อได้ที่ True Shop ทุกสาขา มีขั้นตอนการทำที่แบ่งได้ 2 กรณีคือ
- ไปด้วยกันผู้โอนและผู้รับโอน – นำบัตรประชาชนตัวจริง พร้อมสำเนาไปทั้งคู่
- ผู้โอนมอบอำนาจ – ผู้รับโอนต้องไปนำเดินการเองเท่านั้น โดยใช้เอกสารคือบัตรประชาชนตัวจริง พร้อมสำเนาไปทั้งคู่เช่นกัน
dtac
สำหรับผู้ใช้งาน dtac ที่ต้องการเปลี่ยนเจ้าของเบอร์ที่ใช้งานอยู่ให้เป็นชื่อของตัวเอง จะต้องชำระค่าบริการที่ค้างชำระ และยอดระหว่างเดือนของเจ้าของซิมเดิมในวันที่ไปติดต่อขอเปลี่ยนชื่อ รวมไปถึงจะต้องไม่ติดสัญญาห้ามโอนสิทธิจากโครงการต่างๆ และโปรโมชั่นหรือสิทธิพิเศษต่างๆ จะเริ่มต้นใหม่หมดอีกด้วย สามารถทำได้จาก 2 กรณีคือ
- กรณีติดต่อด้วยตัวเองทั้งผู้โอนและผู้รับโอน – ใช้เอกสารบัตรประชาชนตัวจริงของทั้งคู่
- กรณีผู้โอนมอบอำนาจ – ผู้รับมอบอำนาจจะต้องไปทำเองเท่านั้น โดยใช้บัตรประชาชนตัวจริงของทั้งคู่ สำเนาบัตรประชาชนของเจ้าของซิมเดิมพร้อมเซ็นสำเนาถูกต้อง หนังสือมอบอำนาจของผู้โอนพร้อมติดแสตมป์ 10 บาท
- หรือถ้าไม่มีใบมอบอำนาจให้เขียนลงไปในสำเนาบัตรประชาชนได้เลยด้วยข้อความ “ข้าพเจ้ายินยอมให้เปลี่ยนแปลงผู้ใช้บริการเลขหมาย 0xx-xxx-xxxx ในนามของข้าพเจ้าเป็นจดทะเบียนในนาม …ชื่อคนที่จะจดทะเบียนใหม่….. ตั้งแต่วันที่ DD/MM/YYYY เป็นต้นไป”
ทั้งมหดนี้ก็เป็นข้อมูลการตรวจสอบเช็คเบอร์กับโมบายแบงก์กิ้งว่าตรงกันหรือไม่ ที่ทาง กสทช. ได้ประกาศออกมาเพื่อป้องกันบัญชีม้าและซิมม้า จากการตรวจสอบเบอร์กว่า 100 ล้านเบอร์ที่มีการจดทะเบียน โดยการตรวจสอบเช็คเบอร์กับโมบายแบงก์กิ้งตรงกันหรือไม่สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการกด *179*เลขบัตรประจำตัวบัตรประชาชน 13 หลัก# จากนั้นกดโทรออก และจะได้รับข้อความตอบกลับมาว่าตรงกันหรือไม่ ถ้าตรงกันก็ใช้งานได้ปกติ แต่ถ้าไม่ตรงก็ให้รีบไปเปลี่ยนเป็นชื่อของตัวเองจะดีที่สุด หรือถ้าเป็นกรณีที่เปิดไว้ให้ลูกหลาน พ่อแม่ ก็สามารถอธิบายให้ทราบได้เช่นกัน