หนึ่งในปัญหาที่ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่พบเจออยู่ก็คือเรื่องของแบตเตอรี่ที่เริ่มไม่เพียงพอต่อการใช้งาน โดยมากแล้วแทบจะต้องชาร์จกันวันต่อวัน เพราะองค์ประกอบหลายๆ ส่วนของเครื่องที่กินไฟมากขึ้น ไล่มาตั้งแต่จอที่ขนาดใหญ่ขึ้น ความละเอียดสูงขึ้น มาจนถึงชิ้นส่วนอุปกรณ์ภายในที่กินไฟมากขึ้นตามความสามารถและประสิทธิภาพที่สูงขึ้นกว่าในอดีต รวมไปถึงส่วนที่สำคัญก็คือพฤติกรรมการใช้งานที่นิยมใช้งานมือถือของตนบ่อยขึ้น ดังนั้นเราจึงได้เห็นตลาดแหล่งจ่ายไฟสำรอง หรือที่รู้จักกันในชื่อเรียกว่า Power bank มีการเติบโตสูงขึ้น เพื่อเพิ่มตัวเลือกให้กับผู้ใช้งานสมาร์ทโฟน สามารถใช้งานเครื่องได้ทั้งวัน
แต่ก็มีสมาร์ทโฟนบางรุ่นในตลาดที่ออกแบบมาให้มีแบตเตอรี่ความจุสูงในตัว อย่างรุ่นล่าสุดของ Lenovo คือ Lenovo P780 ที่มาในไลน์ของกลุ่ม Professional เน้นใช้ในการทำงานเป็นหลัก แน่นอนว่าทางเราก็ไม่พลาดที่จะหยิบมาให้ทุกท่านได้ชมกัน เอาเป็นว่าเรามาดูรีวิว Lenovo P780 กันเลยดีกว่าครับ
สเปค Lenovo P780
- ชิปประมวลผล MediaTek MTK6589 Quad-core ความเร็ว 1.2 GHz มาพร้อม GPU PowerVR SGX544
- แรม 1 GB
- หน้าจอ IPS ขนาด 5 นิ้ว ความละเอียด 1280 x 720
- รอมในตัว 4 GB รองรับ MicroSD สูงสุด 32 GB
- กล้องหลัง 8 ล้านพิกเซลพร้อมแฟลช LED กล้องหน้า 0.3 ล้านพิกเซล
- แบตเตอรี่ Li-polymer ความจุ 4000 mAh
- น้ำหนัก 176 กรัม ตัวเครื่องหนา 9.95 มิลลิเมตร
- ใช้งานได้ 2 ซิม รองรับ 3G ความถี่ 900 (AIS) และ 2100 MHz (ทุกเครือข่ายในอนาคต)
- รองรับ USB-OTG (ไม่มีสาย OTG แถมมาให้)
- ราคา 10,900 บาท
- สเปค Lenovo P780 เต็มๆ
ถ้าในแง่ของสเปคนั้น Lenovo P780 จัดว่ามาพร้อมกับสเปคระดับกลางๆ ในกลุ่มสมาร์ทโฟนด้วยกัน แต่มีจุดเด่นที่ต่างจากรุ่นอื่นก็คงแบตเตอรี่ที่ให้มาถึง 4000 mAh เหนือกว่า Motorola RAZR Maxx ที่จัดเป็นสมาร์ทโฟนแบตอึดในอดีต (3300 mAh) ซึ่งในส่วนของแบตเตอรี่จะมีกล่าวถึงในส่วนต่อๆ ไปของรีวิว Lenovo P780 ตัวนี้ครับ
ด้านของหน้าตาตัวเครื่อง Lenovo P780 นั้น ก็จะดูคล้ายๆ กับสมาร์ทโฟนทั่วไปในตลาด เริ่มจากด้านหน้าที่ติดตั้งกระจกชิ้นเดียว ส่วนเหนือจอก็จะมีลำโพงสนทนา กล้องหน้า ช่องเซ็นเซอร์รับแสง รวมถึงโลโก้ Lenovo ติดอยู่ ด้านล่างจอก็จะเป็นตำแหน่งของปุ่มสั่งงานทั้งสามปุ่ม ได้แก่ ปุ่มเมนู ปุ่มโฮม และปุ่ม back ตามปกติ ส่วนถ้าใครต้องการเรียกใช้งาน Recent Apps ก็สามารถทำได้โดยกดปุ่มเมนูค้างไว้ และถ้าหากจะเรียก Google Now ขึ้นมา ก็ให้กดปุ่มโฮมค้างไว้เหมือนกับสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ในตลาดที่สามารถใช้งาน Google Now ได้ โดยใต้ปุ่มจะมีไฟ LED ให้แสงสว่างของแต่ละปุ่มอยู่ ซึ่งผู้ใช้งานสามารถตั้งค่าได้ว่าจะให้ไฟติดนานเท่าไร หรือจะให้ติดตลอดเวลาที่ใช้งานจอก็ได้
จากการรีวิว Lenovo P780 มา พบว่าหน้าจอเป็นส่วนที่ทำได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียวครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสีสันที่ดูไม่สดเกินจริง ความสว่างของจอที่ใช้สู้แสงได้สบาย ความคมชัดของภาพบนจอ ที่ถึงแม้ว่าจะมีความละเอียดเพียง 720p บนหน้าจอขนาด 5 นิ้ว แต่ก็ยังให้ภาพที่สวยงาม ต่างจากพวกจอ 1080p ไม่มากนัก จะแตกต่างกันก็ตรงพวกขอบมุมโค้งที่เห็นเม็ดพิกเซลง่ายกว่าจอ 1080p ส่วนเรื่องมุมมองภาพนั้น ก็ทำได้กว้างตามคุณภาพของพาเนลจอแบบ IPS ซึ่งกลายเป็นมาตรฐานของสมาร์ทโฟนในปัจจุบันไปแล้ว
หันมาดูด้านหลังของ Lenovo P780 กันบ้าง วัสดุที่ใช้จะมีสองประเภท แบ่งเป็นสองส่วนคือส่วนที่เป็นฝาหลังตรงกลาง (สามารถถอดออกได้) เป็นโลหะบรัชลายที่เนื้อโลหะ ผิวเรียบ มีความหนืดมือเล็กน้อย และส่วนบน-ล่างที่เป็นแถบสีเข้มกว่า ใช้เป็นโพลีคาร์บอเนต ฟีลลิ่งการสัมผัสโดยรวม จากที่รีวิว Lenovo P780 มา ก็พบว่าสามารถถือได้ถนัดมือดีครับ ด้วยความกว้างของเครื่องที่พอดีอุ้งมือ ฝาหลังที่ไม่ลื่นเกินไป ทำให้สามารถใช้งานด้วยมือเดียวได้ไม่ลำบากนัก ประกอบกับขอบข้างของเครื่องที่ออกแบบมาให้เว้าตรงกลางเข้าไปเล็กน้อย ยิ่งช่วยทำให้สามารถจับถือได้ดีขึ้นอีกเล็กน้อย โดยรวมแล้ว Lenovo P780 ถูกออกแบบมาให้ถือใช้งานได้สบายมากเครื่องหนึ่งเลย แต่อาจจะมีลำบากบ้างก็เรื่องของน้ำหนักเครื่องที่หลายคนอาจจะไม่ชิน ถ้าหากใช้เครื่องที่มีน้ำหน้กเบากว่านี้มาก่อน
ส่วนบนของฝาหลัง จะมีกล้องถ่ายรูปความละเอียด 8 ล้านพิกเซลติดตั้งอยู่ มีขอบโลหะล้อมรอบเพื่อช่วยในด้านความแข็งแรง ถัดลงมาเป็นแฟลช LED และช่องรับเสียงของไมค์ตัดเสียงรบกวน ส่วนด้านล่างจะเป็นลำโพง ซึ่งตรงกลางมีจุดนูนสูงขึ้นมาจากฝาหลังโดยรวมเล็กน้อย ช่วยให้ลำโพงไม่ถูกปิดทับ ในกรณีที่วางด้านหลังเครื่องลงกับพื้น ส่วนเสียงที่ได้จากลำโพงนั้น เท่าที่รีวิว Lenovo P780 มา ก็พบว่าอยู่ในระดับเดียวกับสมาร์ทโฟนในตลาดที่มีลำโพงตัวเดียวครับ คือพอสามารถใช้งานได้ ไม่มีจุดเด่นอะไร
มาเปิดฝาหลังดูกันดีกว่า แน่นอนว่าในรีวิว Lenovo P780 ครั้งนี้ เราต้องแกะให้ดูแบตเตอรี่กันด้วยครับ แต่น่าเสียดายที่ Lenovo P780 ออกแบบมาให้แกะฝาหลังได้ก็จริง แต่ไม่สามารถแกะแบตเตอรี่ออกมาได้ จะมีก็แต่ศูนย์ซ่อมเท่านั้นจึงจะสามารถแกะและประกอบเข้าไปเหมือนเดิมได้ครับ ถ้าใครซื้อมาก็อย่ามาแกะเองล่ะ
ภายในตัวเครื่อง Lenovo P780 จะมีช่องใส่ซิมขนาดเต็มด้วยกัน 2 ช่อง ถ้าต้องการใช้ 3G ของซิมไหน ก็ให้นำซิมนั้นใส่ในช่อง SIM1 นะครับ ส่วนช่อง SIM2 นั้นจะใช้ได้แค่ 2G (EDGE/GPRS) เท่านั้น เหมาะสำหรับใส่ซิมที่ใช้โทรศัพท์อย่างเดียวมากกว่า ส่วนในภาพด้านบน ช่อง SIM1 ผมลองใส่เป็นไมโครซิมด้วย ก็สามารถใช้งานได้ครับ แต่ต้องเลือกตำแหน่งให้ขั้วอ่านซิมของตัวเครื่องตรงกับแถบทองเหลือง ก็สามารถใช้งานได้เช่นเดียวกับซิมขนาดปกติ (หรือจะใส่นาโนซิมก็ยังได้ แต่ต้องระวังการใส่หน่อย) ส่วนถ้าจะเอาไมโครซิมหรือนาโนซิมออกมา ส่วนตัวผมใช้เข็มเล็กๆ ค่อยๆ แยงและดันซิมผ่านทางรูวงกลมด้านบนของซิมครับ ค่อนข้างลำบากพอสมควรทีเดียว ใกล้ๆ กันนั้นก็มีช่องใส่ microSD อยู่ ซึ่งทั้งช่องใส่ซิมและช่องใส่ microSD ถูกออกแบบมาให้สอดซิม/microSD เข้าไปในช่องตรงๆ ไม่ได้ใช้การเปิดฝาขึ้นแล้ววางการ์ดลงไปตรงๆ
อีกส่วนที่น่าสนใจก็คือจุดวงกลมสีแดงที่อยู่ใต้ช่อง microSD ที่มีเขียนไว้ว่าเป็นปุ่ม reset ซึ่งในการใช้งานจริงมันคือปุ่มตัดวงจรของแบตเตอรี่ครับ เทียบง่ายๆ มันก็คือการถอดแบตเตอรี่ออกจากเครื่องก็ว่าได้ สำหรับใช้ในกรณีที่เครื่องค้างจนไม่สามารถกดปิดได้เลย ?
ด้านของพอร์ตเชื่อมต่อและปุ่มกดต่างๆ สำหรับ Lenovo P780 นั้น ก็ไม่ต่างจากสมาร์ทโฟนทั่วไปเท่าไรนัก นั่นคือด้านบนมีปุ่ม Power, ช่อง Micro USB ซึ่งมีฝาปิด (รองรับ USB-OTG โดยสาย USB-OTG ต้องหาซื้อเพิ่มต่างหาก) ด้านขวาสุดก็เป็นช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตรปกติ ซึ่งถึงแม้จะมีฝาปิด แต่ก็ไม่ได้กันน้ำนะครับ เป็นฝาปิดเพื่อความเรียบร้อยสวยงาม และป้องกันฝุ่นไปเกาะที่พอร์ตมากกว่า
โดยตัวพอร์ต Micro USB นอกเหนือจากจะใช้งาน USB-OTG ที่สามารถนำ USB Drive มาต่อเข้ากับ Lenovo P780 ได้โดยตรงแล้ว เรายังสามารถใช้ Lenovo P780 เป็น Power bank ให้กับสมาร์ทโฟนเครื่องอื่นได้อีกต่างหาก เรียกว่านอกจากจะใช้เป็นมือถือได้แล้ว ยังใช้เป็น Power bank ได้อีกด้วย วิธีนำมือถือเครื่องอื่นมาต่อชาร์จก็คือเราจำเป็นจะต้องมีสาย USB-OTG ซึ่งปลายข้างหนึ่งจะเป็น Micro USB ส่วนอีกข้างจะเป็น USB ตัวเมียขนาดเต็ม ส่วนมือถืออีกเครื่องก็ต้องมีสายชาร์จที่เป็นแบบ USB มาด้วย จากนั้นก็จัดการต่อสองสายเข้าด้วยกัน เพื่อเชื่อม P780 เข้ากับมือถืออีกเครื่องที่จะนำมาชาร์จได้เลย
ส่วนล่างของเครื่องมีแค่ช่องรับเสียงของไมค์สนทนา ฝั่งซ้ายของเครื่องไม่มีปุ่มและพอร์ตใดๆ ส่วนฝั่งขวามีปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง และช่องเล็กๆ สำหรับแงะฝาหลังออกจากตัวเครื่อง
เทียบความหนากับกล่อง DVD พบว่าหนากว่าครึ่งกล่อง DVD เล็กน้อย
ตัวอย่างอินเตอร์เฟสในรีวิว Lenovo P780
จุดที่น่าสนใจก็คือ ถ้าหากเราติดตั้งการ์ด microSD ลงไปใน Lenovo P780 ด้วย ก็จะมีตัวเลือกให้เราสามารถเปลี่ยนพื้นที่เก็บข้อมูลจากปกติที่จะเก็บในตัวเครื่องไปเก็บไว้ใน microSD ได้เลย (หลักๆ จะเป็นเก็บภาพ วิดีโอ เพลง) โดยสามารถเปลี่ยนการตั้งค่านี้ได้จาก Settings > All Settings > Storage แล้วก็เปลี่ยน Default write disk ให้เป็น External Storage
ส่วนเรื่องการใช้งาน 3G นั้น ถ้าใครใช้งาน 3G ที่คลื่นความถี่ 2100 MHz ได้แล้ว ก็สบายไปครับ อย่างตอนที่ผมรีวิว Lenovo P780 เครื่องนี้ ก็พอดีกับที่เบอร์หลักของผมได้เปลี่ยนไปใช้งาน TriNet พอดี ทำให้สามารถทดสอบการใช้งาน 3G 2100 MHz ของ dtac ได้ดังในภาพด้านซ้ายบนของแถวสุดท้าย จะเห็นว่าซิม 1 ที่เป็น dtac สามารถใช้งาน 3G ได้ (ที่ขีดสัญญาณโทรศัพท์ด้านบนมีตัว H อยู่) เหมือนๆ กับในภาพขวาที่ใช้ซิม AIS (สีเขียว) ซึ่งแสดงชื่อเครือข่ายเป็น 52003 ที่เป็นชื่อของ AIS 3G 2100 MHz เหมือนกัน ส่วนช่องซิม 2 ที่ใส่ซิมทรูมูฟ เอชอยู่ จะใช้งานเป็นแค่ EDGE/GPRS เท่านั้น เนื่องจากสเปค Lenovo P780 ที่รองรับการใช้งาน 3G ได้แค่ซิม 1 เท่านั้น
ด้านบนนี้ก็เป็นภาพตัวอย่างเมนูของกล้องถ่ายรูป Lenovo P780 ครับ เราสามารถปิดเสียงชัตเตอร์ได้ด้วย ทั้งยังมาพร้อมเอฟเฟคท์ภาพในตัวอีกมากมายทีเดียว
ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหลังในรีวิว Lenovo P780
ผลทดสอบประสิทธิภาพของ Lenovo P780
เริ่มจาก CPU-Z ก่อนครับ ก็สามารถมองเห็นข้อมูลส่วนใหญ่ได้ถูกต้องดี จะมีก็แต่ GPU Renderer ที่มองเห็นเป็น PowerVR SGX 544MP ซะอย่างน้ัน เพราะ GPU ของ Lenovo P780 นั้นที่จริงเป็นแค่ PowerVR SGX544 ที่มีคอร์ประมวลผลกราฟิกแค่คอร์เดียวเท่านั้น
ด้านการทดสอบด้วย Sunspider ผลออกมาก็คือ Lenovo P780 ใช้เวลาในการประมวลผลราวๆ 1,400 ms ซึ่งเร็วกว่าสมาร์ทโฟนจาก Lenovo ที่ใช้ชิปประมวลผลตัวเดียวกันคือ Lenovo S920 แต่ก็ยังแพ้ Lenovo K900 อยู่นิดหน่อยครับ (K900 ใช้เวลาประมาณ? 1,200 ms เท่านั้น)
ส่วนการทดสอบด้วย Browsermark ผลปรากฏว่า Lenovo P780 สามารถทำคะแนนได้เหนือกว่า K900 เล็กน้อย จนแทบจะไม่ต่างกันเลย เพราะคะแนนห่างกันแค่หลักสิบเท่านั้น
ส่วนการทดสอบพลังประมวลผลกราฟิกนั้น Lenovo P780 ทำออกมาได้ไม่ค่อยดีเท่าไรครับ เฟรมเรตที่ได้จากแอพ GFXBench นั้นค่อนข้างน้อยผิดปกติ รวมไปถึงการเล่นเกมก็ทำได้ไม่ดีนัก อย่างตอนที่รีวิว Lenovo P780 ผมก็ลองเล่นเกม Minion Rush ดู?ปรากฏว่าเกมกระตุกและหน่วงมาก ก็ไม่แน่ชัดว่าเป็นเพราะสาเหตุใด อาจจะเนื่องมาจากเครื่องที่ได้รับมายังไม่ใช่เครื่องขายจริง ดังนั้นเฟิร์มแวร์ยังอาจจะไม่สมบูรณ์นะครับ
สำหรับด้านของการใช้งานจริง Lenovo P780 สามารถใช้งานได้ลื่นไหลดี ไม่ว่าจะการใช้งานหน้าโฮม หน้ารวมแอพ รวมไปถึงการเปิดใช้งานแอพพลิเคชันในเครื่อง ก็ทำได้ทันใจดี
แอพพลิเคชันพิเศษใน Lenovo P780
ไหนๆ Lenovo P780 ก็ออกแบบมาให้เป็นสมาร์ทโฟนสำหรับงานธุรกิจแล้ว ก็ย่อมต้องมาพร้อมแอพพลิเคชันเสริมการทำงานที่เอื้อต่องานธุรกิจด้วยเช่นกัน โดยจะมีมาให้ 2 ตัวด้วยกัน ได้แก่
CamCard (สองรูปบน)
เป็นแอพสำหรับช่วยเก็บข้อมูลจากนามบัตร ที่เราไม่จำเป็นต้องมานั่งกรอกข้อมูลเองอีกต่อไป เพราะมันสามารถถ่ายรูปนามบัตรแล้วสแกนข้อมูลมาเก็บเป็น contact ให้เราได้เลย ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่จำเป็นต้องติดต่องานและได้รับนามบัตรมาบ่อยๆ มากทีเดียว แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่นะครับ คือแอพจะทำงานได้ดีกับภาษาอังกฤษและตัวเลข ไม่สามารถอ่านภาษาไทยได้ โดยถ้าเจอภาษาไทย มันก็จะประมวลผลภาพแล้วแมตช์ภาษาไทยโดยใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษ ตัวอย่างเช่น ถ้าผมสแกนคำว่า “สะสมครบ 5” ตัวแอพ CamCard ก็จะอ่านแล้วแปลงเป็น “a: auFLsu” ซึ่งถ้าลองจับแมตช์กันดู ก็จะเห็นว่ามันพยายามแปลงให้เป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษนั่นเอง
ดังนั้น CamCard จะใช้ได้ดีก็ต่อเมื่อนามบัตรเป็นภาษาอังกฤษและมีหน้าตาที่ค่อนข้างเป็นมาตรฐาน ซึ่งจากการทดลองใช้งานกับนามบัตรที่เป็นภาษาอังกฤษล้วน พบว่าแอพมันสามารถจำแนกประเภทของข้อมูลได้ถูกต้อง ไม่ว่าจะชื่อ ที่อยู่ อีเมล เบอร์ติดต่อก็สามารถกรอกข้อมูลได้ถูกต้องตามประเภทมากๆ
CamScanner (สี่รูปถัดมา)
ส่วนของ CamScanner เป็นแอพช่วยสแกนเอกสารหรือรูปภาพมาเก็บไว้ในเครื่องของเรา โดยนอกจากจะสแกนเก็บมาเป็นภาพได้แล้ว ยังสามารถใช้งานฟีเจอร์ OCR สำหรับอ่านข้อความบนเอกสารได้ด้วย ซึ่งหลังจากอ่านข้อความเสร็จ CamScanner ก็จะเก็บข้อมูลที่อ่านได้ไว้ ช่วยให้เราสามารถค้นหาเอกสารที่ต้องการ (ที่สแกนไว้แล้ว) จากการค้นหาด้วยคำได้ในภายหลัง เหมาะกับผู้ที่ต้องทำงานกับเอกสารบ่อยๆ และชอบลืมว่าเอกสารชิ้นใด มีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไรบ้าง รับรองว่า CamScanner ใน Lenovo P780 จะช่วยประหยัดเวลาหาเอกสารได้ทีเดียว แถมยังสามารถจดโน้ตลงไปบนเอกสารได้อีกด้วย
และก็อีกเช่นกันครับ คือ CamScanner ไม่รองรับภาษาไทย ดังนั้นคงจะเหมาะกับการใช้งานร่วมกับเอกสารภาษาอังกฤษเป็นหลัก ซึ่งจากที่ลองใช้งานระหว่างรีวิว Lenovo P780 ก็พบว่ามันสามารถทำงานได้ดี เร็วและถูกต้องในระดับหนึ่งเลย
แน่นอนว่า ทั้งสองแอพติดตั้งมาให้ฟรีบน Lenovo P780 แล้วครับ
ระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ของ Lenovo P780
ด้านของการใช้งานแบตเตอรี่ คงจะเป็นจุดน่าสนใจสุดเลยทีเดียว ซึ่งจากที่รีวิว Lenovo P780 มา ก็พบว่ามันสามารถใช้งานแบตได้มากกว่า 1 วัน ด้วยรูปแบบการใช้งานทั่วไป ไม่ได้เล่นอะไรหนักๆ เช่น
- เปิดใช้งาน 2 ซิม ซิมแรกเป็น 3G ส่วนช่วงกลางคืนต่อ WiFi ในบ้าน ?ตอนกลางวันก็ทำงาน เลยได้ใช้งานเป็นบางช่วง
- เล่น Facebook, Twitter, เปิดหน้าเว็บ อ่านกระทู้พันทิพ, ฟังเพลง, ถ่ายรูป
- มีโทรศัพท์บ้าง แต่ไม่เยอะ
- ปรับความสว่างแบบอัตโนมัติ แล้วแต่สถานที่ (ส่วนใหญ่ใช้งานนอกบ้าน)
ซึ่งผลโดยรวมก็คือสามารถใช้งาน 2 วันติดกันโดยไม่ต้องชาร์จได้สบายๆ หรือบางคนที่ไม่ค่อยได้เล่นมาก เผลอๆ อาจจะอยู่ได้ 3-4 วันเลยด้วยซ้ำไป จากที่สมาร์ทโฟนส่วนใหญ่มักจะใช้ได้อย่างเก่งเลยก็ 1 วัน?โดยในรูปที่เห็นแบตเหลือ 53% นั้น คือผ่านการใช้งานมาแล้วประมาณ 1 วันนะครับ
สรุปปิดท้ายรีวิว Lenovo P780
จะว่าไปแล้ว Lenovo P780 ก็จัดเป็นหนึ่งในสมาร์ทโฟนที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดรุ่นหนึ่งของ Lenovo ที่เปิดตัวจากทั้ง 6 รุ่นไม่แพ้รุ่นท็อปอย่าง K900 หรือรุ่นเบาๆ อย่าง A300 เลยทีเดียว ด้วยจุดเด่นที่แบตเตอรี่ความจุสูงถึง 4000 mAh สเปคที่จัดมาในระดับกลางๆ หน้าตาและวัสดุที่ทำออกมาได้ดี ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในราคาเครื่องแค่ 10,090 บาทเท่านั้น (อาจจะมีเปลี่ยนแปลงช่วงวางขายจริง) และถึงแม้ว่าตามคอนเซ็ปท์ของการออกแบบ Lenovo P780 จะเป็นสมาร์ทโฟนสำหรับงานธุรกิจก็ตาม แต่ก็สามารถนำมาใช้เป็นสมาร์ทโฟนทั่วๆ ไปได้อยู่นะครับ เพราะฟีเจอร์ทั่วไปก็ยังใช้งานได้ครบถ้วน ทั้งยังมีหน้าจอขนาด 5 นิ้ว ภาพคมชัดสวยงามอีก เอาเป็นว่าใครกำลังมองหาสมาร์ทโฟนจอใหญ่ แบตอึดๆ ราคาไม่แพง แนะนำลองดู Lenovo P780 กันได้ครับ โดยจะเริ่มจัดจำหน่ายในช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้ ตามร้านตัวแทนจำหน่ายสมาร์ทโฟนจาก Lenovo เช่น TGFone, Jaymart, ITCity, ร้านตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Lenovo รวมไปถึงตามร้านมือถือทั่วไป
ข้อดี
- แบตเตอรี่ใช้งานได้นาน
- บอดี้แข็งแรง ออกแบบตัวเครื่องให้สามารถถือได้ง่าย
- ใช้งานได้ 2 ซิม เพื่อให้แน่ใจว่าไม่พลาดทุกการติดต่อ
- รองรับ USB-OTG และยังสามารถชาร์จไฟให้สมารืทโฟนเครื่องอื่นได้ด้วย
- มาพร้อมแอพ CamCard และ CamScanner ช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับงานธุรกิจได้ดี (แต่ไม่รองรับภาษาไทย)
ข้อสังเกต
- แบตเตอรี่ไม่สามารถถอดออกได้เอง แต่ยังดีที่มีปุ่ม reset สำหรับตัดวงจรแบตได้
- ตัวเครื่องค่อนข้างหนัก อาจต้องใช้เวลาปรับตัวเล็กน้อย