เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่หลายคนเฝ้ารอคอยสมาร์ทโฟนเรือธงสำหรับระบบปฏิบัติการใหม่ของ Google นั่นก็คือกลุ่มเครื่องในตระกูล Nexus ที่มีจุดเด่นในเรื่องของระยะเวลาการ support ด้านซอฟต์แวร์ที่ยาวนานกว่าสมาร์ทโฟน Android หลายๆ รุ่นในตลาด แถมในรอบนี้เป็น LG ที่รับหน้าที่เป็นผู้ออกแบบและผลิตส่วนของฮาร์ดแวร์ให้ด้วย ทำให้กลายเป็น Nexus 4?ที่ออกมาเป็นสมาร์ทโฟนจาก Google โดยมีจุดที่น่าสนใจคือด้านของดีไซน์เป็นที่น่าจับตามองมาก แต่ถ้าใครติดตามข่าวเรื่อง Nexus มาซักระยะหนึ่งก็จะเห็นว่ามีภาพหลุดหน้าตาของ Nexus 4 ออกมานานแล้ว และสุดท้ายก็แทบไม่มีเซอร์ไพรส์แต่อย่างใด (เพราะมันมาตามข่าวลือเป๊ะ) แต่อย่างไรก็ตาม Nexus 4 ก็ยังคงเป็นสมาร์ทโฟน Android ที่น่าสนใจอยู่เช่นเดิมครับ จะน่าสนใจอย่างไร เราไปชมกันเลย
Google Nexus 4 จัดว่าเป็นสมาร์ทโฟนที่ส่วนตัวผมมองว่าเป็นเครื่องที่อยู่ในระดับไฮเอนด์ของ Android ได้สบายๆ ทั้งในเรื่องของสเปก ที่มีจุดน่าสนใจดังนี้
- ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon S4 Pro (APQ8064) Quad-core ความเร็ว 1.5 GHz มาพร้อม GPU เป็น Adreno 320
- RAM 2 GB
- พื้นที่เก็บข้อมูล 16 GB (รุ่นที่ขายโดย LG ประเทศไทย) ส่วนในต่างประเทศจะมีรุ่นความจุ 8 GB ด้วย
- ไม่สามารถใส่ microSD เพิ่มได้
- หน้าจอพาเนล True HD IPS+ ขนาด 4.7 นิ้ว ความละเอียด 1280 x 768 (320 ppi) กระจกหน้าจอเป็นกระจก Gorilla Glass 2
- แบตเตอรี่ Li-Polymer ความจุ 2100 mAh
- กล้องหลังความละเอียด 8 MP พร้อมแฟลช LED
- กล้องหน้าความละเอียด 1.3 MP
- น้ำหนัก 139 กรัม
- รองรับ 3G ในไทยทุกเครือข่าย ส่วน 4G LTE นั้นยังไม่รองรับในขณะนี้
- รองรับ NFC และการชาร์จไฟแบบไร้สายตามมาตรฐาน Qi
- เครื่องศูนย์ไทยมีระยะเวลาการรับประกัน 1 ปี 6 เดือน
- ไม่รองรับฟีเจอร์ USB OTG
- ราคา 17,900 บาท
- สเปกเต็มๆ ของ Nexus 4
กล่องของ Nexus 4 มาในแพ็คเกจหุ้มด้านนอกเป็นกระดาษแข็ง ส่วนด้านในก็เป็นกล่องกระดาษแข็ง(กว่า) สีดำดูหรูหราพอควร เปิดมาภายในกล่องก็จะพบกับตัวเครื่องวางอยู่ชั้นบนสุด ส่วนด้านล่างก็มีของแถมมาให้ดังนี้
- คู่มือและใบรับประกัน
- สาย USB สำหรับชาร์จไฟและซิงค์ข้อมูลกับคอมพิวเตอร์
- อะแดปเตอร์
- เข็มจิ้มดึงถาดซิมออก
หน้าจอของ Nexus 4 ก็สามารถทำได้ตามมาตรฐานของความเป็นจอ IPS นั่นคือมีมุมมองหน้าจอที่ค่อนข้างกว้าง สีสันและภาพคมชัดตามความละเอียดของจอในระดับ HD แต่มีจุดที่ด้อยกว่าก็คือเรื่องของความสว่างจอที่อยู่ในระดับพอสู้แสงจ้าได้เท่านั้น การใช้งานกลางแจ้งค่อนข้างลำบากเมื่อเทียบกับหลายๆ รุ่นที่ให้แสงสว่างมากกว่า อีกอย่างที่ดูจะด้อยกว่าสมาร์ทโฟนหลายๆ รุ่นก็คือความสดของสีจอค่อนข้างน้อยจนเข้าขั้นจืดเลย (ใครที่ชอบถ่ายรูป+แต่งรูปก่อนอัพอาจจะลำบากหน่อยครับ เพราะภาพที่ออกมาสุดท้ายสีอาจจะจัดเกินไปก็ได้)
ด้านรูปทรงของเครื่องนั้น ถ้าดูจากด้านหน้าจะพบว่ามีความใกล้เคียงกับ Galaxy Nexus มาก โดยเฉพาะตรงส่วนขอบมุมโค้งมนทั้งสี่มุมของเครื่อง แต่ถ้าในส่วนของรายละเอียดปลีกย่อยพบว่ามีการปรับเปลี่ยนไปพอสมควรทีเดียว
ด้านหน้าของตัวเครื่องไม่มีปุ่มกดใดๆ มีแต่เพียงแผ่นกระจก Gorilla Glass 2 ด้านหน้าเท่านั้น แต่ในส่วนของกระจกนั้นถูกออกแบบมาให้มีส่วนโค้งเล็กน้อยตรงขอบซ้าย/ขวาเพื่อช่วยให้ผู้ใช้สามารถ swipe หน้าจอจากด้านข้างได้อย่างไม่มีสะดุด โดยส่วนบนของหน้าจอนั้นมีการปรับให้ลำโพงสนทนาไปอยู่ตรงขอบบนสุดของเครื่อง กล้องหน้าอยู่เยื้องไปทางขวา ส่วนด้านซ้ายจะเป็นตำแหน่งของเซ็นเซอร์ตรวจจับความสว่างของแสงภายนอก เพื่อใช้งานร่วมกับระบบปรับแสงความสว่างจออัตโนมัติของตัวเครื่อง ส่วนด้านล่างของจอนั้นไม่มีปุ่มกดใดๆ เนื่องจากใช้เป็นปุ่มแบบ Soft key บนหน้าจอไปเลย โดยมีด้วยกัน 3 ปุ่มคือ Back, Home และ Recent App แต่ถ้าใครต้องการค้นหาที่แต่เดิมใช้ปุ่ม Search ในการเปิดใช้งานฟีเจอร์ค้นหานั้น ใน Nexus 4 ได้เปลี่ยนไปใช้งาน Google Now แทน ซึ่งสามารถเรียกขึ้นมาใช้งานได้โดยการกดปุ่ม Home ค้างไว้นิดหนึ่งแล้วปาดนิ้วขึ้นมา ก็จะเป็นการเรียกใช้งาน Google Now แล้ว (มีอธิบายเพิ่มเติมในช่วงหลัง)
และอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจของด้านล่างหน้าจอก็คือตรงที่เป็นวงกลม (เป็นวงเนื่องจากฟิล์มกันรอยเว้นที่ไว้ให้นะครับ) เนื่องจากด้านล่างนั้นเป็นตำแหน่งของไฟ LED Notifications ที่ใช้สำหรับแจ้งเตือนว่ามี Notification รอให้เปิดเข้าไปดูอยู่ โดยในเบื้องต้นจะมีด้วยกัน 3 สี ตามสถานการณ์ (เท่าที่ผมเจอ) ดังนี้
- สีขาว – ติดเมื่อมี missed call
- สีเขียว – เมื่อมีข้อความแชทเข้ามา
- สีน้ำเงิน – เมื่อมีอีเมลหรือ notification ของ Facebook
ด้านหลังของ Nexus 4 ใช้กระจกติดเป็นแผ่นหลังทั้งหมด ใต้ชั้นกระจกมีการออกแบบให้เป็นลาย glitter (จะให้เห็นภาพง่ายๆ ก็คือเป็นลายแบบจุดๆ วิ้งๆ นั่นล่ะครับ) ซึ่งจะสะท้อนแสงแตกต่างกันไปตามมุมมองและมุมตกกระทบของแสง ช่วยเพิ่มความหรูหราให้กับตัวเครื่องได้ในระดับหนึ่ง กล้องหลังถูกวางอยู่เหนือคำว่า Nexus ขึ้นไปเล็กน้อย ทุกส่วนบนฝาหลังเรียบเนียนไปทั้งหมด ด้านล่างมีโลโก้ LG ซึ่งเป็นผู้ผลิตติดอยู่ เยื้องไปทางขวาเล็กน้อยก็เป็นตำแหน่งของลำโพงครับ ซึ่งการวางลำโพงแบบนี้ทำให้เวลาวางฝาหลังราบไปกับพื้น เสียงจะถูกกลบไปพอสมควรเลย ซึ่งเราน่าจะได้เห็นธีมการออกแบบที่ใกล้เคียงกับ Nexus 4 บนสมาร์ทโฟนของ LG อีกหลายๆ รุ่นในปีนี้ (ตามที่ LG ประกาศออกมาก่อนหน้านี้)
มาดูด้านข้างของ Nexus 4 กันบ้าง ขอบข้างของตัวเครื่องใช้เป็นวัสดุพื้นผิวแบบซอฟท์ทัช ที่ช่วยให้จับเครื่องได้ถนัดมือ เท่าที่ใช้งานมาก็ยังไม่พบรอยขึดข่วนแต่อย่างใด จะมีก็แต่เพียงรอยนิ้วมือที่ติดเป็นคราบได้ง่าย แต่ก็สามารถเช็ดออกได้ง่ายเช่นเดียวกัน
ด้านบนของตัวเครื่องมีช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตรกับช่องรับเสียงของไมค์ตัดเสียงรบกวน ด้านล่างมีช่อง micro USB สำหรับเสียบสายชาร์จ ส่วนที่เป็นช่องอยู่ริมซ้าย/ขวานั้นเป็นรูน็อตยึดเครื่อง ฝั่งขวาของเครื่องนั้นมีปุ่มปิด/เปิดและปลดล็อกเครื่องอยู่ตรงบริเวณหัวแม่มือพอดี (ถ้าจับเครื่องด้วยมือขวา) ส่วนฝั่งซ้ายจะมีปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง ใกล้ๆ กันนั้นมีช่องใส่ถาดไมโครซิมติดตั้งอยู่
ลองจับมาเทียบกับ iPhone 5 ดูบ้างครับ เห็นได้ชัดว่า Nexus 4 มีขนาดที่ใหญ่กว่า รวมไปถึงหนากว่าด้วย (Nexus 4 หนา 9.1 มิลลิเมตร ส่วน iPhone 5 หนา 8.9 มิลลิเมตร)
Lockscreen
มาดูส่วนของการใช้งานซอฟต์แวร์กันบ้าง Nexus 4 มาพร้อมกับ Android 4.2.1 Jelly Bean (ซึ่งล่าสุดสามารถอัพเดตเป็น 4.2.2 ได้แล้ว) โดยใน Android 4.2 เป็นต้นมา Google ได้ทำการเพิ่มฟีเจอร์และ UI การแสดงผลขึ้นมาในหลายจุดทีเดียว ไล่ตั้งแต่หน้าล็อกสกรีนที่ผู้ใช้สามารถเพิ่มวิดเจ็ตบางส่วนลงไปได้ เช่นนาฬิกา ปฏิทิน หน้ารวมอีเมล ซึ่งผู้ใช้สามารถกดไปที่วิดเจ็ตเพื่อเปิดใช้งานแอพของวิดเจ็ตนั้นได้ทันที เช่นถ้าปาดหน้าล็อกสกรีนจากขวาไปซ้ายก็จะเป็นการเปิดใช้งานกล้องถ่ายรูปได้เลย
Notification & Quick Settings
ส่วนต่อไปที่เพิ่มขึ้นมาใน Android 4.2 ก็คือแถบ Quick Settings ที่ซ้อนอยู่ใน Notifications อีกที โดยสามารถเรียกขึ้นมาใช้งานได้โดยกดไปที่ปุ่มตรงมุมขวาบนของหน้าแสดง Notifications หรือจะใช้สองนิ้วลากจากขอบจอบนลงมาก็ได้ ซึ่งหน้า Quick Settings (รูปล่างขวา) จะเป็นที่รวมทางลัดเข้าไปปรับการตั้งค่าที่ผู้ใช้มักใช้งานบ่อยๆ เช่นหน้าการเชื่อมต่อ WiFi, ส่วนควบคุมแสงสว่างหน้าจอ, ?การเชื่อมต่อ Bluetooth เป็นต้น และถ้าอัพเดตเป็น Android 4.2.2 แล้ว พบว่าบางปุ่มจะกลายเป็นสวิตช์เปิด/ปิดการทำงานของส่วนนั้นๆ ด้วย ซึ่งสามารถเปิด/ปิดได้ด้วยการกดที่ปุ่มดังกล่าวค้างไว้ระยะหนึ่ง ตัวอย่างของปุ่มที่ทำหน้าที่เป็นสวิตช์ด้วยก็คือ WiFi และ Bluetooth
น่าเสียดายที่ยังไม่สามารถเพิ่มหรือลดปุ่ม toggle เหล่านี้ได้นะครับ นอกจากนี้ส่วนของแถบ Notifications ตามปกติก็มีการเปลี่ยนแปลงไปจาก Android เวอร์ชันก่อนหน้าด้วย คือมีการเพิ่มพรีิวิวให้กับ Notifications ของบางแอพด้วย เช่นอย่างใน Carbon (Twitter Client อีกตัวหนึ่ง) ถ้ามีคน reply มาหาเรา ก็จะมีปุ่มให้กด reply ได้จากแถบ Notification ทันที ช่วยทำให้ใช้งานได้สะดวกและสนุกยิ่งขึ้นมากทีเดียว
Google Now
Google Now เป็นชื่อบริการของ Google ที่สร้างมาเพื่อปฏิวัติการค้นหาข้อมูลบนสมาร์ทโฟน โดยสามารถสั่งงาน/ค้นหาได้ทั้งใช้เสียงและใช้การพิมพ์ตามปกติ (Siri ได้แค่ใช้เสียงเท่านั้น) แต่จุดที่ทำให้มันแตกต่างไปจากการค้นหาอื่นๆ ก็คือมันสามารถคาดการณ์ได้ว่าผู้ใช้งานจะต้องการอะไร โดยอิงทั้งจากรูปแบบการใช้งาน และข้อมูลเชิงกายภาพต่างๆ เช่น ตำแหน่งที่อยู่จาก GPS ในเครื่อง เสร็จแล้วจึงทำการแสดงผลในรูปแบบ Card เป็นใบๆ ที่ถูกจัดเรียงข้อมูลไว้ให้อ่านได้อย่างง่ายดาย โดยข้อมูลที่สามารถแสดงได้ก็เช่น ข้อมูลสภาพอากาศ (อิงตำแหน่งจาก GPS), ข้อมูลสภาพจราจรระหว่างที่ทำงาน – ที่พัก, ผลการแข่งขันกีฬาของทีมโปรด, วันเกิดของเพื่อน (อิงข้อมูลจาก Google+) ข้อมูลเที่ยวบิน โดยการ์ดที่ผมเจอแล้วประทับใจที่สุดก็คือ การ์ดแสดงข้อมูลรอบหนังของโรงภาพยนตร์ที่อยู่ใกล้ออฟฟิศ เวลาใกล้กับเวลาเลิกงาน โดยขึ้นมาเลยว่ามีเรื่องอะไรบ้าง มีรอบกี่โมง และที่สำคัญคือการ์ดนี้มันแสดงขึ้นมาในช่วงเย็นวันศุกร์ครับ เสมือนมันจะเดาว่าผู้ใช้คงอยากไปดูหนังหลังเลิกงานแน่ๆ ตรงนี้ผมว่ามันเจ๋งเลยทีเดียว
นอกจากนี้ตรงช่องค้นหาที่อยู่ด้านบนของ Google Now ก็สามารถใช้ค้นหาและแสดงผลการค้นหาได้ทันที โดยไม่ต้องเปิดหน้าเว็บเบราเซอร์เลย (แต่ถ้าจะดูข้อมูลในหน้าเว็บก็ต้องเข้าเว็บเบราเซอร์อยู่ดี) ซึ่งช่องนี้สามารถค้นหาได้แบบ universal search นั่นคือสามารถหาได้ทั้งจาก content ในเครื่องและค้นหาจากอินเตอร์เน็ตได้ในตัว ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ได้ดี จนทำให้กลายเป็นหนึ่งในนวัตกรรมยอดเยี่ยมแห่งปี 2012 เลย
การใช้งานทั่วไป
ถ้าพูดถึงการใช้งานทั่วไปนั้นเรียกได้ว่าหายห่วงเลย เนื่องด้วยสเปกของ Nexus 4 ที่แรงเหลือเฟือ ไม่ว่าจะทั้งชิปประมวลผลแบบ Quad-core รุ่นใหม่ รวมไปถึงแรมที่ให้มามากถึง 2 GB (เหลือให้ใช้งานทั่วไปประมาณ? 1 GB กว่าๆ) ทำให้สามารถสลับใช้งานแอพพลิเคชันได้อย่างไหลลื่น อนิเมชันการเปลี่ยนหน้าต่างๆ ก็ไม่มีกระตุกหรือสะดุดให้เห็นเลย นับว่าเป็นสมาร์ทโฟน Android รุ่นหนึ่งที่สร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับผู้ใช้ได้อย่างสบายๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เกิดมาจากทั้งส่วนของฮาร์ดแวร์ที่แรงเหลือเฟือในขณะนี้ และส่วนของตัว Android เองที่ได้รับการปรับปรุงให้ทำงานได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถ้าให้เทียบความลื่นของ Nexus 4 กับ iPhone 5 นั้น เรียกได้ว่าแทบจะไม่ต่างกันเลยก็ว่าได้ ด้านของความร้อนขณะใช้งานก็ไม่ต่างไปจากสมาร์ทโฟนทั่วไปตามท้องตลาดมากนัก
ด้านของคีย์บอร์ดนั้น คีย์บอร์ดเดิมๆ ที่ติดมากับเครื่องก็จัดว่าสามารถใช้งานได้เป็นอย่างดีทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย โดยเฉพาะคีย์บอร์ดภาษาอังกฤษที่รองรับการสั่งงานแบบ swipe (ลากนิ้วบนตัวอักษรแล้วให้ระบบเดาคำให้) ซึ่งเท่าที่ลองใช้งานดูพบว่าสามารถเดาคำได้ค่อนข้างแม่นยำทีเดียว ทั้งยังสามารถใช้งานได้ง่ายอีกด้วย
ด้านของ UI นั้นก็มาในแบบ Pure Google ที่เรียบง่าย มาในธีมแบบ Holo ที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ Android 4.0 Ice Cream Sandwich แต่ได้รับการขัดเกลาให้แสดงผลได้สวยงามและดูลุคเป็นความไฮเทคมากขึ้น หรือถ้าใครอยากเปลี่ยนหน้าตาไปใช้แบบอื่นๆ ก็สามารถดาวน์โหลด Launcher ที่ตนเองชอบจาก Play Store มาใช้งานได้เช่นเดิม รวมไปถึงใครที่อยากแฟลชรอม แฟลช kernel ก็ยังสามารถทำได้เช่นกันครับ มีคนพัฒนารอม โมรอมให้กับ Nexus 4 อยู่ในบอร์ด XDA หลายคนให้เลือกเลย แถมมั่นใจได้ว่าจะมีรอมให้เล่นไปอีกนานแน่ๆ จุดนี้ล่ะครับที่เป็นข้อดีของเครื่องในตระกูล Nexus
Photo Sphere
ด้านของฟีเจอร์การถ่ายภาพก็มีความเปลี่ยนแปลงไปจาก Android 4.1 เช่นเดียวกัน โดยมีฟีเจอร์การถ่ายภาพที่เพิ่มขึ้นมาก็คือ Photo Sphere ที่ผู้ใช้สามารถถ่ายรูปบรรยากาศได้แบบ 360 องศารอบตัว ตัวอย่างภาพก็ด้านล่างนี้เลยครับ (ส่วนการถ่ายพาโนรามาตามปกติก็ยังมีอยู่นะ)
UI ของแอพถ่ายภาพ
ด้านหน้าตาอินเตอร์เฟสของแอพถ่ายภาพก็มีการเปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกัน เน้นความเรียบง่ายและซ่อนปุ่มตั้งค่าต่างๆ ลงไป เมื่อเปิดมาจะเห็นแค่ปุ่มสลับโหมดกล้อง, ปุ่มชัตเตอร์และปุ่มรวมเมนูเท่านั้น โดยการเรียกเมนูตั้งค่าต่างๆ ขึ้นมาสามารถทำได้ทั้งกดที่ปุ่มเมนู และการจิ้มนิ้วค้างไว้บนจอจากนั้นก็ใช้การเลื่อนนิ้วไปตรงจุดที่ต้องการปรับค่าแบบไม่ต้องยกนิ้วขึ้น ส่วนการซูมก็ใช้เป็นแบบ pinch-to-zoom ไปยังที่ว่างบนจอได้เลย ซึ่งหากชินกับ Android รุ่นก่อนหน้า ช่วงแรกๆ อาจจะสับสนเล็กน้อย แต่พอเริ่มคล่องแล้วก็จะใช้งานได้อย่างสบายๆ ครับ
ส่วนการใช้งานกล้องจริงๆ นั้น พบว่า Nexus 4 มีปัญหาเรื่องการโฟกัส บางครั้งจับโฟกัสได้แล้ว พอกำลังจะกดถ่าย ปรากฏว่าหลุดโฟกัสไปหน้าตาเฉยก็มี ภาพที่ออกมาก็จัดว่าค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับ Nexus รุ่นก่อนหน้าที่ขึ้นชื่อว่ากล้องไม่ค่อยจะดีเท่าไร ถ้าเทียบกับกลุ่มสมาร์ทโฟน Android ในปัจจุบันนี้ด้วยกันก็จัดว่าอยู่ในระดับที่ดีและพอใช้พึ่งพาได้เลย จะมีอาการ White Balance เพี้ยนบ้างในบางครั้ง แต่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ และไม่ได้เกิดบ่อยๆ ครับ โดยรวมแล้วถือว่าน่าพอใจเลย
ตัวอย่างภาพจากกล้อง Nexus 4
ภาพด้านล่างนี้เป็นภาพที่ถ่ายโดยเปิดแฟลชนะครับ
?ภาพนี้ถ่ายในห้องมืดสนิทด้วยการใช้แฟลช Nexus 4 ช่วย
ภาพนี้ถ่ายตอนกลางคืนแบบไม่เปิดแฟลชครับ
ส่วนภาพอื่นๆ สามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมได้จากที่นี่?นอกจากนี้เรามีภาพที่ถ่ายในมุมและสถานการณ์เดียวกัน จากกล้องของ iPhone 5 มาให้เปรียบเทียบด้วยครับ สามารถเข้าไปชมภาพเต็มๆ ได้ที่อัลบั้มนี้ได้เลย
Performance
เบื้องต้นก็ดูสเปกคร่าวๆ จากเท่าที่ลองเช็คจากแอพพลิเคชัน
มาเริ่มดูคะแนนจาก Geekbench 2 กันก่อนแล้วกัน คะแนนสรุปสุดท้ายออกมาที่ 2,096 คะแนน ซึ่งมากกว่า iPhone 5 ก็จริง แต่คะแนนในส่วนของ Memory และ Stream ของ Nexus 4 ให้ผลออกมาน้อยกว่า iPhone 5 ซึ่งคะแนนทั้งสองจุดนี้เกี่ยวกับเรื่องการเชื่อมต่อกับหน่วยความจำภายในเครื่องครับ
Sunspider
Sunspider เป็นการทดสอบการคำนวณตาม javascript โดยรันอยู่บนเว็บเบราเซอร์ โดยให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นเวลาเฉลี่ยที่ CPU คำนวณชุดสคริปต์เสร็จสมบูรณ์ของแต่ละรอบ โดยยิ่งใช้เวลาน้อยก็ยิ่งแสดงให้เห็นประสิทธิภาพที่ดีของ CPU
ผลออกมาปรากฏว่า Nexus 4 ทำได้ไม่ค่อยดีเท่าไร (ซึ่งจากเท่าที่ลองทดสอบกับมือถือที่ใช้ชิป APQ8064 ผลที่ได้ก็ออกมาประมาณนี้เช่นกัน)
Browsermark
Browsermark เป็นการทดสอบพลังการประมวลผลสคริปต์การเรนเดอร์ต่างๆ บนเว็บเบราเซอร์ เช่นทดสอบการเรนเดอร์ 2D, 3D, CSS, กราฟิกต่างๆ รวมไปถึงทดสอบระยะเวลาการโหลดเพจด้วย ให้ผลออกมาเป็นคะแนน ซึ่งยิ่งคะแนนสูงก็ยิ่งดี
ปรากฏว่า Nexus 4 ทำคะแนนไปได้ 1,978 คะแนน เกาะกลุ่มอยู่ในระดับเดียวกับสมาร์ทโฟนระดับท็อปในตลาดหลายๆ รุ่น จะมีก็แต่ iPhone 5 ที่คะแนนกระโดดมากๆ
GLBenchmark 2.1 : High
เป็นการทดสอบพลังการประมวลผลกราฟิกของ GPU โดยในโหมด High จะเป็นการเรนเดอร์ที่ความละเอียดของจอภาพโดยตรง ซึ่งผลที่ได้จะออกมาเป็นเฟรมเรตที่แสดงผล ที่ใช้วัดว่าสามารถแสดงผลได้ไหลลื่นขนาดไหน (ไม่สามารถนำไปเทียบเครื่องต่อเครื่องได้โดยตรง)
Nexus 4 สามารถเรนเดอร์ได้ 59 fps ซึ่งจัดว่าดีมากทีเดียว
GLBenchmark 2.1 : Offscreen
ส่วนการทดสอบในโหมด offscreen จะเป็นการบังคับให้ GPU เรนเดอร์ที่ความละเอียดตายตัวเท่ากันทุกเครื่องคือ 720p ทำให้สามารถเทียบประสิทธิภาพได้ (เฟรมเรตยิ่งมากยิ่งดี)
ส่่วนคะแนนของ GLBenchmark 2.5 ได้ออกมาตามในภาพด้านล่างนี้ครับ
ต่อไปเป็นเรื่องการใช้งานแบตเตอรี่บ้าง เท่าที่ลองใช้งานทั่วๆ ไป เช่น Facebook, Twitter, Line เปิดเว็บบ้าง ระหว่างช่วงทำงานก็ต่อ WiFi ผลออกมาก็คือสามารถใช้งาน 1 วันได้สบายๆ เลยทีเดียว
ส่วนการชาร์จ ผมทดลองชาร์จขณะที่แบตเตอรี่เหลืออยู่ 10% ชารจ์ไปจนถึง 96% ปรากฏว่าใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงกว่าๆ ถ้าให้ประมาณคร่าวๆ คาดว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่งถึงจะชาร์จแบตเต็ม
สรุปปิดท้าย
Google Nexus 4 จัดว่าเป็นสมาร์ทโฟน Android ที่คุ้มที่สุดเครื่องหนึ่งในขณะนี้ได้อย่างไม่ยากเย็น ไม่ว่าจะฮาร์ดแวร์ที่ทำออกมาได้ดีทั้งรูปลักษณ์ภายนอกและสเปกภายในที่มาพร้อมกับชิป Quad-core และ RAM 2 GB ซึ่งช่วยให้ระบบทำงานได้อย่างไม่มีสะดุด รวมไปถึงซอฟต์แวร์ Android 4.2 ที่มากับเครื่อง ซึ่งได้รับการพัฒนาให้สามารถทำงานได้ดี และมีปัญหาในการใช้งานที่ลดลงจากเวอร์ชันก่อนๆ หน้าลงไปมาก ทำให้ Nexus 4 เป็นสมาร์ทโฟน Android ที่น่าใช้ที่สุดในช่วงนี้ไปอย่างไม่ยากเย็น อีกทั้งเครื่องที่ขายผ่านทาง LG ประเทศไทยยังได้รับระยะเวลาการรับประกันเพิ่มเป็น 1 ปีครึ่งอีกด้วย ประกอบกับการสนับสนุนด้านซอฟต์แวร์จาก Google ที่มั่นใจได้ว่าจะได้รับการอัพเดตรอมที่ยาวนานกว่าหลายๆ แบรนด์อย่างแน่นอน
จะมีก็แต่เรื่องการหาซื้อเครื่องที่ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากปริมาณสินค้ามีน้อยจนไม่ค่อยเพียงพอกับความต้องการของตลาด ซึ่งก็หวังว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นโดยเร็วครับ เพราะโดยรวมแล้วเป็นมือถือที่น่าใช้มากๆ
ข้อดี
- Android 4.2 เร็ว แรง ลื่น
- Google Now สามารถทำงานได้ดี
- งานประกอบดี ตัวเครื่องขนาดกำลังพอดีสำหรับการใช้งาน ไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป
- การออกแบบตัวเครื่องดีไม่ว่าจะทั้งจุดสัมผัสต่างๆ และดีไซน์ที่ดูเรียบหรูสวยงาม
- ราคาคุ้มค่ามาก แม้ราคาในไทยจะค่อนข้างสูง แต่ก็ยังคุ้มกับสเปกและประสบการณ์การใช้งานที่ได้รับ
- รับประกันนานถึง 1 ปีครึ่ง
ข้อสังเกต
- หน้าจอสู้แสงไม่ค่อยดี สีจืดไปหน่อย
- หาซื้อในไทยค่อนข้างยาก แม้จะเริ่มวางขายมานานแล้ว
- (อาจจะ) ไม่รองรับ LTE
- บางครั้งใช้เวลาในการชาร์จแบตเตอรี่นานเกินไป (เป็นแค่บางครั้ง)