และแล้วสมาร์ทโฟนที่หลายๆ คนรอคอยก็ได้กำหนดการรีวิวออกมาแล้วครับ นั่นคืิอ Nokia Lumia 920 สมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows Phone 8 โดยตัวของ Lumia 920 นี้เป็นเรือธงของทั้ง Nokia และ Microsoft ในปลายปีนี้ เนื่องด้วยความเป็นพาร์ทเนอร์กันของทั้งคู่ อีกทั้งยังมีจุดเด่นตรงที่กล้องถ่ายรูปยังได้รับการยกระบบ PureView มาใช้งานร่วมกับ Windows Phone เป็นครั้งแรกอีกด้วย ทำให้เกิดความหวังว่า Nokia Lumia 920 น่าจะเป็นสมาร์ทโฟนตัวแรงที่มาสู้กับ iPhone 5 หรือ Samsung Galaxy S III / Note II ได้สบายๆ เราไปชมกันดีกว่าครับว่า Nokia Lumia 920 เป็นอย่างไรบ้าง
Nokia Lumia 920 นี้ ด้านของคอนเซ็ปท์การดีไซน์จากทาง Nokia คือตั้งใจจะให้เครื่องมีสีสันในตัว แบบไม่จำเป็นต้องใส่เคสคลุมภายนอกอีกแล้ว เพื่อแสดงถึงความบริสุทธิ์ ดูเป็นธรรมชาติจากการออกแบบ และสื่อให้เห็นถึงความสมดุลทั้งจากฮาร์ดแวร์ภายนอก และซอฟต์แวร์ภายในให้ได้มากที่สุด จึงทำให้ตัวของ Nokia Lumia 920 ออกมาเป็นหน้าตาอย่างที่เราๆ น่าจะคุ้นเคยกันบ้างแล้ว
ด้านของสเปกและคุณสมบัติคร่าวๆ ของ Nokia Lumia 920 มีดังนี้เลยครับ
- ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon Plus MSM8960 Dual-core ความเร็ว 1.5 GHz ที่ความแรงเทียบเท่ากับหรือดีกว่าชิป Quad-core หลายๆ รุ่นในปัจจุบัน มาพร้อมชิปกราฟิก Adreno 225
- RAM 1 GB
- พื้นที่หน่วยความจำภายใน 32 GB (ไม่มีช่องใส่ microSD)
- จอ IPS ขนาด 4.5 นิ้ว ความละเอียด 1280 x 768 ความหนาแน่นเม็ดพิกเซล 332 ppi
- กระจกหน้าจอใช้เป็นกระจก Gorilla Glass 2 ที่แข็งแรง คงทนกว่าเดิม
- กล้องหลังความละเอียด 8.7 MP เทคโนโลยี PureView สามารถถ่ายวิดีโอได้ความละเอียดสูงสุด 1920 x 1080 ที่ 30fps
- กล้องหน้าความละเอียด 1.3 MP
- Windows Phone 8 (Apollo)
- รองรับ NFC
- แบตเตอรี่ความจุ 2,000 mAh
- น้ำหนัก 185 กรัม
- ราคาขาย 21,500 บาท
มาดูการแกะกล่องกันดีกว่าครับ กล่องกระดาษภายนอกนั้นเป็นกระดาษรีไซเคิลเนื้อหยาบเล็กน้อย สีสันสดใส เมื่อเลื่อนกล่องภายในออกมาก็จะพบกับตัวเครื่อง Nokia Lumia 920 วางอยู่ส่วนบนสุด (มีห่อพลาสติกคลุมอยู่อีกชั้น) ส่วนภาพล่างที่เห็นเป็นสติ๊กเกอร์นั้น เป็นสติ๊กเกอร์สำหรับใช้เป็นส่วนลด 10% ในการซื้ออุปกรณ์เสริมของ Nokia Lumia โดยตัวอุปกรณ์เสริมที่ร่วมรายการ ก็ตามภาพด้านล่างนี้ครับ
ลิ้งค์บทความที่เกี่ยวกับอุปกรณ์เสริม 😕https://specphone.com/phone/319-Nokia-Lumia-920.html
เมื่อหยิบตัวเครื่องออกมาก็จะพบกับถาดรองที่ใช้กระดาษรีไซเคิลเช่นเดียวกัน แต่มีอุปกรณ์สำคัญอยู่ นั่นคือเข็มสำหรับจิ้มถาดใส่ซิมการ์ดออกมา พอหยิบถาดรองออก ก็จะพบกับอุปกรณ์พื้นฐานที่ให้มากับทุกเครื่อง ได้แก่
- สายชาร์จที่เป็นหัว micro USB แต่ตัวสีดูเหมือนจะเคลือบมาไม่ดีเท่าไรนัก งานเก็บไม่ค่อยเรียบร้อยเท่ากับตัวเครื่องที่เนี๋ยบมาก
- อะแดปเตอร์สำหรับชาร์จไฟ จ่ายไฟ 5V 1A
- หูฟังแบบสอดในหู (อินเอียร์) มีไมค์ในตัว พร้อมจุกหูฟังขนาดต่างๆ ซึ่งสีของหูฟังและจุกยางจะเป็นไปตามสีของตัวเครื่อง
มาดูที่ตัวเครื่องกันดีกว่า ตรงส่วนหน้าของ Nokia Lumis 920 นั้น จุดที่เด่นที่สุดก็คือจอและขอบจอที่เป็นสีดำ ตัดกับสีฝาหลังที่เป็นสีเหลืองเป็นอย่างดี ขับให้ส่วนของจอดูเด่นขึ้นมา ส่วนด้านล่างของจอก็เป็นปุ่มสั่งงานแบบ capacitive ซึ่งมีด้วยกันสามปุ่มตามคอนเซ็ปท์ของ Windows Phone นั่นคือปุ่ม Back, ปุ่ม Home และปุ่มค้นหา ตามลำดับจากซ้ายไปขวา หน้าที่ของแต่ละปุ่มก็คือ
ปุ่ม Back ใช้สำหรับย้อนการใช้งานกลับไปหน้าจอก่อนหน้านี้ โดยถ้าเป็นหน้าแรกสุดของแอพนั้นๆ แล้ว หน้าจอก็จะกลับมาที่หน้าโฮมสกรีน และกลายเป็นว่าปิดแอพนั้นไปด้วย ส่วนถ้ากดปุ่ม back ค้างไว้ ก็จะเป็นการเปิดหน้า App Switching ที่ใช้สำหรับสลับไปใช้งานแอพก่อนหน้านี้ ที่ยังไม่ได้ปิดลงไป โดยใน Windows Phone 8 ได้ทำการเพิ่มแอพที่เปิดค้างไว้ได้สูงสุดเป็น 7 แอพ จากเดิมที่สามารถทำได้ 5 แอพเท่านั้น
มาเจาะที่ส่วนของหน้าจอกันต่อเลย จอของ Nokia Lumia 920 นั้นเป็นจอ IPS ที่มีเทคโนโลยี PurMotion HD+ ซึ่งให้ความสว่างและความคมชัดของภาพที่สูง โดยจากเท่าที่ใช้งาน พบว่าจอนั้นให้สีสันที่สดใสมาก ขับกับสีดำซึ่งเป็นพื้นหลังที่ดำสนิทได้ดี แต่ในด้านของความสามารถในการมองด้านข้างนั้น อาจจะไม่ถึงขั้นที่มองได้เกือบ 180 องศาอย่างที่จอ IPS ในสมาร์ทโฟนหลายๆ รุ่นทำได้ เพราะเวลามองจากด้านข้าง จะพบว่าจอดูมืดลงไปพอสมควร แต่ก็ไม่จัดว่าเป็นข้อเสียมากนัก
รายละเอียดที่เล็กๆ น้อยๆ แต่น่าสนใจก็คือไฟบนปุ่มทั้งสามครับ เพราะสีของไฟบนปุ่มนั้นจะเป็นสีไปตามโทนของเครื่อง เช่นเครื่องสีเหลืองที่ผมใช้นี้ ไฟก็จะเป็นแสงสว่างประกายเหลืองนิดๆ ถ้าดูกลางแจ้งอาจจะไม่ค่อยชัดนัก แต่ถ้ามองในที่ที่มีแสงน้อยก็จะเห็นได้ชัดเจนทีเดียว
ตัวกระจกจอภายนอกนั้น พบว่ามีลักษณะที่นูนขึ้นมาจากบอดี้เครื่อง ผิดกับสมาร์ทโฟนหลายๆ รุ่นที่มักออกแบบมาให้กระจกจออยู่ในระดับเดียวหรือต่ำกว่าขอบเครื่อง เพื่อลดการกระแทกของจอภาพกับพื้นผิวที่วาง เนื่องด้วยการออกแบบให้กระจกจอนูนขึ้นมาเช่นนี้ ทำให้ต้องใช้กระจกที่แข็งแรงกว่าปกติ โดยเลือกใช้เป็น Gorilla Glass 2 ที่ได้รับการปรับปรุงให้มีความแข็งแกร่ง ความทนทานต่อรอยขีดข่วนได้ดีขึ้นกว่า Gorilla Glass รุ่นแรก ?
ส่วนการใช้จริงนั้น ด้วยสภาพการใช้งานปกติ ไม่ติดฟิล์ม ใช้งานเสร็จก็เก็บใส่กระเป๋ากางเกงยีนส์ ไม่ได้ทำตกกระแทกใดๆ เลย วางตัวเครื่องแบบคว่ำหน้าบ้าง หงายหน้าจอขึ้นบ้าง ปรากฏว่าบนจอมีรอยขีดข่วนเกิดขึ้นมาเล็กน้อยครับ ต่างจาก iPhone 5 ที่ได้มาพร้อมๆ กัน การใช้งานแบบเดียวกัน พบว่าจอยังไม่มีรอยขีดข่วนแต่อย่างใด
จุดที่น่าหงุดหงิดใจเล็กน้อยของ Windows Phone (ย้ำนะครับว่าที่ตัว Windows Phone) ก็คือเรื่องของการแสดงสถานะการทำงานของเครื่อง ได้แก่ปริมาณแบตเตอรี่, ความแรงของสัญญาณ Cellular / WiFi ที่เชื่อมต่ออยู่ รวมไปถึงโหมดการใช้งานเสียงของเครื่อง ที่ในเวลาใช้งานปกติจะซ่อนเอาไว้ทั้งหมด แล้วแสดงแต่นาฬิกาตรงมุมขวาบนเท่านั้น ส่วนถ้าจะเรียกสถานะต่างๆ เหล่านี้ออกมาดู จะต้องทำการปาดนิ้วจากขอบจอด้านบนลงมาเล็กน้อย สถานะดังกล่าวจึงจะปรากฏขึ้นมาให้ดู ผ่านไปประมาณ 10 วินาทีก็จะซ่อนกลับเข้าไปอย่างเดิม
ซึ่งจุดนี้ ในด้านของคอนเซ็ปท์นั้นจัดว่าดีครับ เพราะผู้ใช้จะได้ไม่รำคาญสายตามากนัก แสดงให้เห็นแต่สิ่งที่ควรเห็น นั่นคือนาฬิกาอย่างเดียวพอ แต่ในความเป็นจริงนั้น เชื่อได้ว่าหลายๆ ท่านคงอยากให้แสดงปริมาณแบตเตอรี่ด้วย หรืออย่างผมก็อยากจะให้แสดงสถานะการเชื่อมต่อ WiFi เอาไว้ด้วย จะได้รู้ว่ามันต่ออยู่หรือเปล่า และขณะที่ใช้งานอยู่นั้น มันใช้เน็ตจาก 3G หรือ WiFi กันแน่ การที่จะใส่สถานะต่างๆ เหล่านี้ให้คงที่อยู่เสมอ เช่นเดียวกับนาฬิกา มันคงจะไม่ลำบากและไม่รำคาญตาผู้ใช้งานเท่าไรนะครับ ดีซะอีก เพราะผู้ใช้ส่วนใหญ่คงไม่อยากต้องมาปาดนิ้วทุกครั้งที่จะดูปริมาณแบตเตอรี่ แถมที่ข้างบนมีเหลือไม่ใช่น้อยๆ จะใส่ปริมาณแบตเตอรี่แบบเป็นเลขเปอร์เซ็นต์มาด้วยก็คงไม่มีปัญหา
ส่วนหน้า lockscreen นั้น ก็ยังคงเป็นแบบเดิมอยู่ นั่นคือใช้การปาดจอจากล่างขึ้นบนเพื่อใช้งาน ผู้ใช้สามารถปรับเปลี่ยน wallpaper ด้านหลังได้ตามสะดวก ส่วนตรงด้านล่าง ใต้นาฬิกาก็มีการแจ้งเตือนต่างๆ อยู่ เช่นวันสำคัญที่บันทึกไว้ในปฏิทิน จำนวน missed call, จำนวนอีเมลที่ยังไม่ได้อ่าน เป็นต้น ซึ่งในส่วนนี้ถือว่าทำสรุป notification ออกมาได้ดีครับ มองแล้วรู้ได้เลยว่ามีอะไรบ้าง ตรงตามคอนเซ็ปท์ของ Windows Phone ที่ออกแบบมาให้ผู้ใช้ทราบได้ทันทีในขณะที่กวาดสายตา ว่ามี notification อะไร เท่าไรบ้าง
ด้านของระบบ Notification ใน Windows Phone เป็นจุดที่มีทั้งข้อดีและข้อเสียอยู่ในตัว อย่างในข้อดีก็คือความสามารถในการแสดง notification ในรูปแบบของ live tile บนหน้า homescreen ได้เลย แต่ข้อเสียนั้นดูจะส่งผลกระทบการใช้งานได้มากกว่าครับ เพราะบางขณะจะพบว่ามันแจ้งเตือนค่อนข้างช้า บางครั้งการแจ้งเตือนใน Facebook นั้นช้าไปร่วมครึ่งชั่วโมงได้เลย เนื่องจากการ push ของทุกแอพในระบบจะต้องผ่านเซิฟเวอร์ตัวกลางของ Microsoft ทั้งหมด จึงอาจจะทำให้มีอาการ push ช้าไปบ้างบางครั้ง แต่ในจุดนี้ก็มีข้อดีคือเป็นการปิดไม่ให้แอพในเครื่องทำงานอยู่เป็นเบื้องหลังเพื่อคอยเปิดรับ push หรือซิงค์ข้อมูลกับเซิฟเวอร์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้เป็นการเปลืองดาต้าและเปลืองแบตเตอรี่เหมือนในระบบปฏิบัติการอื่นๆ
มาดูด้านหลังกันบ้าง ฝาหลังของเครื่องทำมาจากโพลีคาร์บอเนตที่มีคุณสมบัติเด่นในเรื่องความแข็งแรงทนทานที่สูงกว่ากระจก ทนความร้อนได้ดี รวมไปถึงน้ำหนักที่เบากว่าวัสดุหลายๆ ประเภท อีกทั้งยังทำให้ Nokia Lumia 920 ดูโดดเด่นกว่าสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นๆ ในตลาด ทั้งในเรื่องของดีไซน์และสีสันของตัวเครื่อง ที่มีความตั้งใจในการออกแบบให้ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องใส่เคสในการใช้งานอีก
โดยเครื่องที่ใช้ในการรีวิวนี้เป็นเครื่องสีเหลือง โดยโทนสีนั้นเป็นสีเหลืองที่มีอมสีเขียวอยู่นิดๆ ทำให้ไม่ดูเหลืองไปซะทีเดียว ให้ความสดใส สะดุดตามาก โดยเฉพาะเวลาถือกลางแจ้ง ตัดกับสีกระจกสีเทาเข้มตรงกลางของแผ่นหลัง ซึ่งเป็นที่ตั้งของกล้องและโลโก้ Nokia และคำว่า Carl Zeiss ซึ่งเป็นผู้ผลิตเลนส์ถ่ายรูปให้กับมือถือ Nokia มาหลายรุ่นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่น่าเสียดายที่คำว่า Nokia และ Carl Zeiss นั้นค่อนข้างจะกลืนกับสีของแผ่นกระจกไปซักหน่อย เพราะสีค่อนข้างออกจะเป็นโทนมืดพอสมควร ส่วนบริเวณเหนือกล้องขึ้นไปจะเป็นตำแหน่งของแฟลช LED 2 ดวง ที่ให้กำลังความสว่างของแฟลชออกมาได้ดีทีเดียว
เมื่อใช้งานจริง พบว่าเกิดร่องรอยขีดข่วนแบบรอยขนแมวได้ง่ายระดับหนึ่ง (แต่วัสดุที่มาข่วนจะต้องแข็งหน่อยนะ) จากการสอบถามผู้ใช้งาน Nokia Lumia 920 มาหลายๆ ท่าน พบว่าเครื่องเริ่มเกิดรอยขนแมวกันบ้างแล้ว แต่ยังดีที่สีแผ่นหลังของเครื่องเป็นสีสะท้อนแสง ทำให้เห็นรอยได้ยาก ต้องไปส่องกับแสงสว่างแบบเพ่งดูจริงๆ จึงจะมองเห็น แต่ในรายของเครื่องสีดำนั้นจะมองเห็นรอยได้ค่อนข้างชัดกว่าสีอื่นๆ
ด้านบนของตัวเครื่องเป็นตำแหน่งที่ตั้งของไมค์ตัดเสียงรบกวน, ช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร และช่องใส่ซิมการ์ดแบบไมโครซิม ซึ่งวิธีการใส่ซิมการ์ดก็คือต้องหาเข็มมาจิ้มในช่อง ถาดใส่ซิมถึงจะเด้งออกมา ตัวโครงสร้างของบริเวณถาดซิมนั้นค่อนข้างแข็งแรงดีครับ รับรองว่าถาดไม่เด้งออกมาระหว่างใช้งานธรรมดาแน่นอน ตัวถาดซิมเองก็มีการล็อกซิมไว้อย่างดี ไม่ได้เป็นถาดแค่ให้วางไมโครซิมลงไปเฉยๆ แต่เป็นแบบให้สอดไมโครซิมเข้าไปในช่องเดือยล็อก ทำให้ตัวซิมติดตั้งอยู่อย่างมั่นคงดี ไม่กระเด็นหล่นง่ายๆ เหมือนของ iPhone
แต่ที่ค่อนข้างน่าหงุดหงิดเวลาใช้งานเล็กน้อยก็คือระบบของ Windows Phone ในการเปิดใช้งานซิมการ์ด เนื่องด้วยในตอนแรกผมเปิดใช้งานเครื่องแบบไม่ใส่ซิมการ์ดแล้วจึงหาซิมมาใส่ภายหลัง ปรากฏว่าหลังใส่ซิมเข้าไปแล้ว ผมต้องรีบูทเครื่องหนึ่งรอบเพื่อให้ระบบหาสัญญาณโทรศัพท์เจอ และรีบูทเครื่องอีกหนึ่งรอบเพื่อให้สามารถใช้งาน 3G ได้ ทั้งที่ระบบในปัจจุบันนี้น่าจะสามารถตรวจจับและเปิดใช้งานซิมได้เลยแม้เครื่องทำงานอยู่ นับว่าจุดนี้เป็นสิ่งที่ Microsoft น่าจะนำไปปรับปรุงระบบการจัดการสัญญาณให้สมาร์ทกว่านี้ เหมือนกับที่ iPhone และ Android (บางรอม) ทำได้
ด้านล่างของเครื่องเป็นตำแหน่งของไมค์รับเสียงที่ซ่อนอยู่ภายในและลำโพงทั้งสองช่อง เสียงการสนทนาคมชัด สมกับที่เป็นสมาร์ทโฟนจาก Nokia ส่วนเสียงเวลาฟังเพลงจากลำโพงก็อยู่ในเกณฑ์ปกติ ถ้าจะให้ดี ใช้การฟังเพลงจากหูฟังหรือต่อลำโพงเอาจะดีกว่าครับ เพราะสามารถปรับการตั้งค่า Equalizer และเปิดใช้งานระบบ Dolby Headphone ได้ด้วย
ส่วนด้านข้างของตัวเครื่องนั้น ฝั่งขวาจะมีปุ่มสำคัญด้วยกัน 4 ปุ่ม ไล่จากซ้ายสุดก็คือปุ่มชัตเตอร์สำหรับเปิดแอพกล้องและถ่ายภาพ โดยสามารถกดปุ่มได้สองจังหวะ จังหวะแรกสำหรับโฟกัสตรงกลางภาพ กดลงไปอีกจังหวะสำหรับถ่าย ปุ่มถัดมาเป็นปุ่มเปิด/ปิดและล็อกจอของเครื่อง ที่วางอยู่ตรงตำแหน่งนิ้วหัวแม่มือขวาพอดี (ถ้าถือเครื่องด้วยมือขวา) ส่วนฝั่งซ้ายนั้นราบเรียบไม่มีปุ่มใดๆ เลย
ต่อมาเรามาดูภาพเทียบของสมาร์ทโฟนตัวท็อปๆ ในปีนี้กันครับ ได้แก่ iPhone 5, Nokia Lumia 920 และ Samsung Galaxy S III
จากการเทียบขนาด จะพบว่า Nokia Lumia 920 ดูหนากว่าอีกทั้งสองเครื่องอย่างเห็นได้ชัด ส่วนด้านของน้ำหนักก็อย่างที่ทราบๆ กันครับว่า Lumia 920 มีน้ำหนักที่มากกว่าอีกสองเครื่องที่เหลือ (iPhone 5 หนัก 112 กรัม ส่วน Samsung Galaxy S III หนัก 149 กรัม) แต่ถ้าถามว่าเครื่องไหนจับถนัดมือที่สุด คำตอบส่วนตัวของผมก็คือ Nokia Lumia 920 นี่ล่ะครับ เนื่องด้วยความที่ขอบข้างกลมมน ประกอบกับฝาหลังที่นูนขึ้นตรงกลาง ทำให้สามารถถือประคองในมือได้สบายๆ แต่อาจจะติดที่ว่าน้ำหนักค่อนข้างมากไปนิดนึง ซึ่งในจุดนี้อาจจะมีปัญหาเวลาถือเครื่องเพื่อถ่ายรูปได้ โดยเฉพาะการถือเครื่องด้วยมือเดียวขณะถ่ายรูป
ซอฟต์แวร์
ทีนี้เรามาพูดถึงซอฟต์แวร์ Windows Phone 8 พร้อมทั้งซอฟต์แวร์ที่มีอยู่ในเฉพาะเครื่องตระกูล Lumia ของ Nokia กันบ้าง
เมื่อเปิดเครื่องมาจะพบกับหน้าโฮมสกรีนที่เป็น Live Tile ให้ได้ใช้งานกันเลย โดยฟีเจอร์ในส่วนของ Live Tile ที่เพิ่มเข้ามาใน Windows Phone 8 ก็คือความสามารถในการปรับขนาดของ Tile ได้สามขนาดดังในภาพบนขวา โดยสามารถปรับเปลี่ยนและจัดตำแหน่ง tile ได้อิสระกว่าเดิม เอาใจคนชอบปรับแต่งได้ในระดับหนึ่ง (ส่วนไอคอนสัญญาณ cellular กับ wifi นี้เป็นช็อตคัตเข้าไปเมนูตั้งค่าของแต่ละอันครับ หามาใช้ได้จากแอพที่ชื่อ Quick Settings)
ตัวของ Windows Phone 8 ที่ติดตั้งมานี้เป็นเวอร์ชัน 8.0.9903.10 ที่เป็นเวอร์ชันล่าสุดในปัจจุบัน ความจุในตัวเครื่องสามารถใช้งานได้ 29.12 GB จากพื้นที่ที่ระบุไว้คือ 32 GB
ต่อมาเป็นฟีเจอร์ที่น่าสนใจใน Nokia Lumia 920 ครับ เช่น
Kid’s Corner เป็นส่วนในการจัดการความสามารถในการเข้าถึงแอพพลิเคชันและข้อมูลภายในเครื่อง ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่ได้รับการเปิดตัวพร้อม Windows Phone 8 เหมาะสำหรับพ่อแม่ที่อนุญาตให้ลูกนำมือถือของตนไปเล่นได้ โดยเจ้าของเครื่องสามารถตั้งค่าได้ว่า ถ้าเปิดใช้งานโหมด Kid’s Corner ผู้ใช้งานจะสามารถเปิดอะไรได้บ้าง เปิดแอพใดได้ โดยเมื่อเปิดใช้งาน Kid’s Corner แล้ว ก็สามารถสลับมาใช้งานโหมดนี้ง่ายๆ เพียงแค่ปาดหน้าจอจากขวาไปซ้ายในหน้าล็อกสกรีนเท่านั้นเอง
Tap+send?เป็นหน้าจอสำหรับเปิดใช้งาน NFC ซึ่งนอกจากจะสามารถใช้งาน NFC ร่วมกับอุปกรณ์ที่รองรับอย่างเช่นลำโพงและหูฟังได้แล้ว ยังสามารถใช้ในการส่งข้อมูลได้อีกด้วย หลักการการส่งไฟล์ข้อมูลนั้นจะใช้ NFC ในการช่วยให้มือถือสองเครื่องเชื่อมต่อกัน จากนั้นจึงใช้การส่งไฟล์ผ่านทาง Bluetooth ซึ่งจากเท่าที่ทดลองใช้งานมา พบว่าสามารถใช้งานได้ร่วมกับ Nokia Lumia ด้วยกันเท่านั้น ไม่สามารถใช้งานร่วมกับสมาร์ทโฟนเครื่องอื่นๆ ในตลาด เช่น Samsung Galaxy Note II ได้ โดยส่วนของ Tap+send นี้ ถ้าไม่ได้ใช้งาน แนะนำให้ปิดการทำงานไปจะดีกว่าครับ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่กินแบตเลย
Display+Touch จุดนี้ใช้สำหรับตั้งค่าความไวของเซ็นเซอร์รับสัมผัสของจอภาพ ถ้าเป็นโหมด Normal ก็จะใช้การรับสัมผัสแบบปกติ คือต้องใช้นิ้วในการสั่งงาน แต่ถ้าเป็นโหมด High จะเป็นการเร่งการรับสัมผัสของจอขึ้นไปอีก ทำให้สามารถใช้งานเครื่องทั้งๆ ที่ใส่ถุงมือได้ จากการทดสอบ พบว่าลองใช้ผ้าไมโครไฟเบอร์แบบหนาพับทบกันสี่ชั้น ก็ยังสามารถใช้งานได้
ฟีเจอร์ที่หลายท่านสอบถามมาอย่างการติดตามมือถือ ใน Windows Phone 8 ก็มีมาให้เช่นกันครับ โดยใช้ชื่อว่า Find My Phone โดยในเครื่องจะมีให้ตั้งค่าแค่ว่า ปิด/เปิด กับตั้งค่าว่าจะให้เก็บตำแหน่งสถานที่ไปเรื่อยๆ และเก็บตำแหน่งของเครื่องส่งมายังเซิฟเวอร์ก่อนแบตจะหมดหรือไม่ ส่วนถ้าจะติดตามตำแหน่งของเครื่อง ก็ต้องเข้าไปที่เว็บไซต์ WindowsPhone.com จากนั้นก็ล็อกอินด้วย Microsoft ID เดียวกับที่ล็อกอินใน Windows Phone จึงจะสามารถเข้าไปดูตำแหน่งของเครื่องเราได้ อีกทั้งยังสามารถสั่งให้ส่งเสียง สั่งล็อกเครื่อง รวมไปถึงสั่งล้างข้อมูลทั้งหมดในเครื่องได้จากในคอมพิวเตอร์ทันที
อีกสองจุดที่น่าสนใจใน Windows Phone 8 ก็คือส่วนของ Together ใน People Hub ครับ เพราะในนี้จะเป็นการแสดงกลุ่มรายชื่อเพื่อนของเรา โดยสามารถสร้างกลุ่มเพิ่มได้เอง จุดประสงค์ก็คือเพื่อให้เราสามารถสร้างกลุ่มสนทนา สร้างกลุ่มสำหรับแชร์ข้อมูลโดยเฉพาะได้ เช่นกลุ่มของเพื่อนในออฟฟิศ กลุ่มของสมาชิกภายในครอบครัว ทำให้ตัว Windows Phone 8 กลายเป็นแพลตฟอร์มที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานในครอบครัวมากขึ้นกว่าเดิม
นอกจากนี้ ความสามารถในการสลับแอพใช้งานในหน้า App Switching UI ยังดีขึ้นด้วย เพราะสามารถรองรับแอพได้สูงสุดถึง 7 แอพ จากเดิมที่ได้เพียง 5 แอพอย่างที่กล่าวไว้ในข้างต้น
และจุดที่สำคัญที่สุด ก็คือเรื่องของคีย์บอร์ด ที่ขณะนี้รองรับการใช้งานภาษาไทยอย่างเต็มตัวแล้ว โดยก่อนจะใช้งาน ผู้ใช้ต้องไปกดเพิ่มคีย์บอร์ดภาษาไทยใน Settings > Keyboard เสียก่อน แต่ในด้านของเลย์เอ้าท์นั้นอาจจะลำบากไปซักเล็กน้อย โดยเฉพาะตัว ล ที่ถูกดันตกลงมาอยู่ด้านล่าง ไม่ว่าจะทั้งคีย์บอร์ดในแนวตั้งหรือแนวนอน จึงอาจจะทำให้ลำบากสำหรับการใช้งานซักเล็กน้อย
ส่วนแป้นปุ่ม emoticon นั้นก็สามารถใช้งานได้เลยครับ ไม่ต้องไปเพิ่มคีย์บอร์ดใดๆ อีก
ทีนี้เรามาดูเรื่องกล้องกันบ้าง ตัว UI ของแอพกล้องนั้นเป็นงานของ Microsoft เป็นหลักเลย โดยจากเท่าที่ใช้งานมา พบว่า Microsoft พยายามที่จะทำให้ UI นั้นดูเรียบง่าย ใส่เฉพาะปุ่มที่จำเป็น ได้แก่ ปุ่มเลือกเลนส์ (จะกล่าวถึงในส่วนต่อไป), ปุ่มเปิด/ปิดแฟลช, ปุ่มสลับกล้องหน้า/หลัง และปุ่มสลับการถ่ายระหว่างภาพนิ่งและวิดีโอ?ส่วนถ้าใครจะปรับค่า option อื่นๆ ของกล้องนั้น จะต้องกดที่บริเวณปุ่มเครื่องหมายจุดสามจุดตรงมุมครับ
ด้านการปรับแต่งกล้องนั้น ก็มีให้เลือกเท่าที่พื้นฐานพึงมี เช่นการปรับค่าสมดุลแสงขาว (White Balance), ปรับอัตราส่วนภาพที่เดิมจะตั้งมาให้เป็น 16:9 แต่สามารถปรับเป็น 4:3 ได้, เปิด/ปิดการใช้งานแสงไฟช่วยโฟกัส ซึ่งไฟจะยิงออกมาก่อนถ่ายภาพ เพื่อให้ระบบสามารถปรับโฟกัสได้แม่นยำขึ้น ไม่ได้เป็นแฟลชที่ช่วยให้ภาพสว่างขึ้นแต่อย่างใด, ปรับค่า ISO, ปรับค่า EV เป็นต้น ส่วนในการถ่ายวิดีโอนั้นก็จะมีความละเอียดของวิดีโอให้เลือกด้วยว่าจะถ่ายที่ 720p หรือ 1080p
ในการใช้งานถ่ายรูปจริงๆ นั้น กลับไม่ได้ง่ายอย่างที่ UI แสดงให้ชมครับ เพราะระบบการถ่ายภาพของ Nokia Lumia 920 นั้นสามารถใช้ได้สองแบบ ดังนี้
- ถ่ายจากปุ่มถ่ายรูปตรงด้านขวาของเครื่อง ที่จะโฟกัสเฉพาะตรงกลางภาพเท่านั้น
- ถ่ายจากการจิ้มที่หน้าจอ ซึ่งสามารถเลือกจุดโฟกัสได้ แต่….?เมื่อจิ้มและระบบสามารถโฟกัสได้แล้ว กล้องก็จะถ่ายภาพทันที เรียกได้ว่าถ้าจิ้มผิดก็ต้องถ่ายใหม่ทันที
ทีนี้มาดูส่วนของเลนส์ที่มีให้เลือกกันบ้าง ในเบื้องต้นนี้มีให้เลือกด้วยกัน 4 เลนส์ เริ่มจากอันแรกคือ Bing Vision ก่อน
ตัว Bing Vision นั้นเป็นเสมือนแว่นตาสำหรับช่วยแปลภาษา รวมไปถึงหาข้อมูลจากฐานข้อมูลของ Bing ซึ่งผู้ใช้จะต้องเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตขณะใช้งานด้วย อย่างในภาพตัวอย่างด้านบนนี้เป็นการทดสอบแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยครับ ซึ่งก็แน่นอนว่าคงอาจจะยังไม่สมบูรณ์เท่าไรนัก เนื่องด้วยภาษาไทยเป็นภาษาที่ค่อนข้างยากในการตัดคำและการแปลงความหมาย
ต่อมาที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ Cinemagraph ที่สร้างความฮือฮาในการถ่ายภาพด้วยสมาร์ทโฟนไม่น้อย เพราะความสามารถของ Cinemagraph ก็คือสามารถถ่ายภาพนิ่ง ที่บางส่วนของภาพเป็นภาพเคลื่อนไหวได้ โดยนามสกุลของภาพที่ออกมาคือ .gif ซึ่งก็คือภาพอนิเมชันเคลื่อนไหวนั่นเองครับ ตัวอย่างก็เช่นสองภาพด้านล่างนี้เลย (ไฟล์ภาพขนาดไฟล์ประมาณ 9 MB)
ในภาพตัวอย่างภาพล่างที่เป็นภาพพัดลม จะเห็นว่ามีกรอบพัดลมบางส่วนไม่หมุนตามไปด้วยครับ ส่วนในภาพบนนั้น ถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่าแผงคีย์บอร์ดมีการโยกๆ เล็กน้อย ซึ่งในจุดนี้ก็ไม่จัดเป็นข้อเสียซักเท่าไร เพราะทำได้ถึงขนาดนี้ก็จัดว่าล้ำหน้ากล้องมือถือไปหลายๆ ตัวแล้ว เพราะระบบไม่ได้จับการเคลื่อนไหวในเฟรมแค่จุดเดียว แต่มันจับมาหลายจุดเท่าที่จะมีการเคลื่อนไหว เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะให้จุดไหนกลายเป็นภาพเคลื่อนไหวบ้าง
โดยภาพเต็มๆ รวมถึงการเปรียบเทียบภาพที่ได้จาก Nokia Lumia 920 กับ iPhone 5 สามารถเข้าไปติดตามต่อได้ที่บทความนี้ครับ
>>> ??เปรียบเทียบภาพถ่ายจาก Nokia Lumia 920 กับ iPhone 5? ? <<<
ส่วนของระบบแผนที่ Nokia Lumia 920 ก็ใช้งานระบบ Nokia Maps ของตนเอง ตั้งแต่ในส่วนของแอพ Nokia Drive (Beta) ที่ใช้สำหรับนำทาง โดยจากการทดลองใช้งาน พบว่าสามารถใช้งานได้ดี รายงานเส้นทางได้ถูกต้อง สมกับที่ขึ้นชื่อมานาน
ตัวแอพ Nokia Maps เองนั้นก็ตอบสนองการใช้งานได้ดี โหลดเร็วในระดับหนึ่ง แต่จุดเด่นที่สู้กับแผนที่รายอื่นๆ ได้สบายก็คือจุด POI ที่มีอยู่บนแผนที่ โดยเฉพาะเรื่องตรอกซอกซอยที่มีข้อมูลค่อนข้างละเอียด สามารถใช้งานได้แบบไม่หลงทางแน่ๆ ความแม่นยำในการหาพิกัด การค้นหาสถานที่ก็เยี่ยม นอกจากนี้ในการแสดงแผนที่ในโหมดของ map ปกติ (ไม่ใช่ภาพถ่ายดาวเทียม) พบว่ามีบางตึกในไทยที่แสดงเป็นโมเดล 3D ใสๆ ขึ้นมาบ้างแล้ว เช่นตึกชาญอิสระ เป็นต้น แต่ถ้าใครจะปักหมุดแผนที่ ต้องทำการล็อกอิน Nokia ID ก่อน
ต่อมาก็มาดูส่วนของแอพ Microsoft Office ที่มีติดตั้งมาใน Windows Phone 8 กันบ้าง เท่าที่ลองใช้งานดู ก็สามารถใช้งานได้ดี ทั้ง Word, Excel และ Powerpoint แต่ในรายของ Powerpoint ถ้าตัวสไลด์ใส่เอฟเฟ็คท์ และภาพมากๆ ก็จะทำให้เครื่องหน่วงๆ ไปพอสมควร
ด้านบนนี้ก็เป็นตัวอย่างแอพของไทยครับ ลองค้นหาได้ด้วยการพิมพ์คำว่า Thai ลงในช่องค้นหา พบว่าแอพที่มีให้เลือกใช้งานก็ไม่น้อยทีเดียว
ส่วนเรื่องของแอพใช้งานทั่วไปนั้น แอพพื้นฐานอย่าง Facebook, Twitter, Line, Whatsapp ก็มีให้เลือกใช้งานกัน แต่คุณสมบัติจะยังไม่เทียบเท่ากับ iOS และ Android ทั้งในเรื่องของฟีเจอร์และความเร็วในการใช้งาน เนื่องจากบางทีถ้ากดออกจากแอพด้วยปุ่ม Back ก็จะกลายเป็นการปิดแอพ ทำให้เวลาเปิดแอพใหม่ ระบบจะต้องโหลดข้อมูลฟีดมาใหม่เสมอๆ จึงทำให้เปิดใช้งานแอพได้ค่อนข้างช้า อีกทั้งยังกินดาต้าอีกด้วย ซึ่งในส่วนนี้ก็คงจะเป็นการบ้านร่วมกันของทั้งทาง Microsoft และผู้พัฒนาแอพล่ะครับ โดยถ้าให้พูดถึงแอพหลักๆ ที่มีอยู่บน Windows Phone ว่าเป็นอย่างไร ผมขอยกพวกแอพใหญ่ๆ ดังๆ มานะครับ
Facebook หน้าตาออกแบบมาให้เข้ากับ Windows Phone แบบจริงจัง แต่ฟีเจอร์ยังห่างไกลจากอีกสองแพลตฟอร์มมาก ระบบ notification ช้าและรวนในบางครั้ง ดูท่าแล้ว ใช้ People Hub อาจจะดีกว่า
Twitter ดูจะเป็นแอพที่ใช้งานจริงได้ดีที่สุดแล้วครับ ตัวอักษรขนาดกำลังดี อ่านง่าย
Line ยังขาดฟีเจอร์อีกหลายตัว เช่นระบบการซื้อสติ๊กเกอร์ เป็นต้น
Whatsapp เรียบง่ายดีครับ ใช้งานทั่วไปได้ดีในระดับหนึ่งเลย
ัส่วนการใช้งานร่วมกับ Windows 8 นั้น ต้องบอกว่าง่ายและสมบูรณ์ดีทีเดียวครับ เมื่อเสียบสายต่อกับคอม ก็โชว์รายชื่ออุปกรณ์ทันทีเลยว่าเป็น Nokia Lumia 920 สามารถโอนถ่ายไฟล์ผ่าน Windows Explorer ได้เลย แต่ถ้าเป็นใน OS X จะต้องเชื่อมต่อผ่านทางโปรแกรมที่มีชื่อว่า Windows Phone ของทาง Microsoft เอง ซึ่งมีให้ดาวน์โหลดใน Mac App Store แล้วครับ
ด้านล่างนี้เป็นภาพตัวอย่างการเปิดเว็บใน Internet Explorer 10 โดยจากเท่าที่ทดลองใช้งานดู พบว่าสามารถแสดงเนื้อหาได้ค่อนข้างครบถ้วนดี จะมีก็แค่ flash ที่ไม่สามารถแสดงผลได้ เช่นบนเว็บ YouTube ที่ในกรณีนี้ต้องเปลี่ยนไปใช้งานแอพ YouTube แทน
ส่วนภาพล่างสุดทางขวา เป็นหน้าที่ Google พยายามจะปรับการแสดงผลให้เข้ากับหน้าจอมากที่สุด โดยแสดงแต่ตัวอักษร ถ้าใครเจอหน้าจอแบบนี้ก็ไม่ต้องกังวลครับ แค่เลื่อนลงมาส่วนล่างสุดของจอ แล้วกดเลือกให้แสดงหน้าเว็บจริงๆ แค่นั้นเอง
ในด้านการใช้งานจริงนั้น Internet Explorer 10 สามารถตอบสนองการใช้งานได้ดีพอสมควร แสดงภาษาไทยได้ดี แต่เรื่องของระบบการซิงค์แท็บระหว่างคอมพิวเตอร์กับมือถือยังเป็นสิ่งที่ขาดไป และเป็นสิ่งที่ควรจะมี เพราะในแพลตฟอร์มของคู่แข่งอย่าง Safari และ Google Chrome ต่างก็มีกันหมดแล้ว เนื่องด้วยไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบันที่นิยมสลับการใช้งานระหว่างอุปกรณ์หลายๆ เครื่องมากขึ้น โดยเฉพาะการเอาหน้าเว็บที่เปิดจากในมือถือไปดูต่อในคอมพิวเตอร์ที่จอใหญ่กว่า สบายตากว่า
ด้านการทดสอบประสิทธิภาพ
SunSpider
เป็นการทดสอบประสิทธิภาพในการประมวลผลของ CPU ว่าสามารถประมวลผลชุดคำสั่ง JavaScript บนเว็บเบราเซอร์ได้เร็วขนาดไหน
จากการทดสอบพบว่า Nokia Lumia 920 สามารถประมวลผลได้เร็ว ใช้เวลาเพียง 916.5 ms เท่านั้น เร็วกว่า iPhone 5 เสียอีก
BrowserMark
เป็นการทดสอบการประมวลผลชุดคำสั่งมัลติมีเดียต่างๆ บนเว็บเบราเซอร์เช่นเดียวกัน โดยเนื่องจากระบบมีการคิดฐานคะแนนแบบใหม่ เราจึงขอยกตัวอย่างเฉพาะเครื่องรุ่นที่ได้มีการทดสอบแล้วมานะครับ
พบว่าคะแนนที่ได้จาก BrowserMark ตัว Nokia Lumia 920 จะทำได้ไม่ดีนัก
ส่วนภาพต่อไปเป็นการทดสอบจากแอพ AnTuTu Benchmark ครับ ทดสอบมาให้ดูกันเล่นๆ แต่ในส่วนของ GPU นั้นไม่สามารถทดสอบได้ ขณะทดสอบ แอพก็ปิดไปเลย ได้ผลคะแนนออกมาดังภาพด้านล่างนี้ครับ
ส่วนการใช้งานแบตเตอรี่นั้น เท่าที่ลองใช้งานถ่ายภาพ ต่อ 3G เล่น Facebook Twiter ก็พบว่าแบตหมดเร็วจริงครับ แม้ว่าจะปิด NFC และ Backgroud task หมดแล้วก็ตาม ส่วนเวลาลองเล่นเว็บผ่าน WiFi พบว่าเมื่อผ่านไป 15 นาที แบตเตอรี่ลดลงประมาณ 6% ด้วยกัน (ความสว่างจอแบบปรับอัตโนมัติ) ส่วนการชาร์จไฟเข้าเครื่องนั้น พบว่าค่อนข้างช้าพอสมควรทีเดียว เสียดายที่ไม่ได้ซื้อแท่นชาร์จแบบไร้สายมา จึงไม่ทราบว่าจะชาร์จได้เร็วขนาดไหน
สรุป
มาถึงส่วนสรุปการรีวิวของ Nokia Lumia 920 แล้วครับ ถ้าให้พูดถึงว่า Nokia Lumia 920 เป็นอย่างไร คงจะตอบได้ในทันทีว่ามันเป็นสมาร์ทโฟนที่ดีในตลาดตัวหนึ่งเลยทีเดียว ทั้งส่วนของตัวเครื่องที่ออกแบบมาได้ดี ส่วนโค้งส่วนมนเข้ามือแบบกำลังพอเหมาะ สามารถจับถือได้สะดวก แม้อาจจะไม่สบายมากนักเพราะความหนักของตัวเครื่อง อีกทั้งสีสันที่ออกมาให้เลือกหลายเฉดสี ตามแต่ความชอบส่วนบุคคล หน้าจอที่ใหญ่กำลังดี อ่านเนื้อหาได้สบายตาในระดับหนึ่ง และที่สำคัญคือเรื่องกล้องถ่ายภาพที่ฮาร์ดแวร์ภายในจัดว่ายอดเยี่ยมอยู่แล้ว ด้วยเทคโนโลยี PureView ของ Nokia ที่ใส่มา Lumia 920 เครื่องนี้ด้วย
แต่จุดที่ทำให้ Nokia Lumia 920 กลายเป็นเพียงสมาร์ทโฟนที่เกือบสมบูรณ์แบบก็คือตัวของระบบปฏิบัติการ Windows Phone 8 ที่ติดตั้งมาในเครื่อง เนื่องด้วยหลายๆ ฟีเจอร์ยังดูไม่สมบูรณ์ ที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือส่วนการทำงานของกล้องที่ไม่เอื้ออำนวยกับการขับประสิทธิภาพของฮาร์ดแวร์ออกมาเท่าไร (ส่วนของสรุปประสิทธิภาพการถ่ายรูป จะอยู่ในบทความเปรียบเทียบภาพถ่าย) ยังไม่นับถึงแอพต่างๆ ที่ดูเหมือนว่าจะมีตามๆ แพลตฟอร์มอื่นมาก็จริง แต่ในการใช้งาน พบว่าเรื่องของฟีเจอร์ยังตามอยู่เพียงแค่ห่างๆ ดังนั้นทางที่ดี ก็ฝึกใช้แอพ People Hubs ให้ชินน่าจะดีกว่าครับ เนื่องด้วยในตัวก็เป็นการรวมโซเชียลเน็ตเวิร์คหลายๆ ตัวเอาไว้อยู่แล้ว
ถ้าถามว่า Nokia Lumia 920 เหมาะกับผู้ใช้งานกลุ่มใด เบื้องต้นนี้สามารถตอบได้ว่าเหมาะสำหรับผู้ที่อยากได้มือถือที่กล้องดีๆ ระบบลื่นๆ ใช้งานพื้นฐานได้ แต่กว่าจะใช้งานได้จนชินก็คงต้องใช้เวลาซักพัก เพื่อปรับตัวเองให้ชินกับตัวของ Windows Phone แต่กับใครที่อยากลองใช้งาน Windows Phone ดูก่อนว่าเป็นอย่างไร จะชอบหรือเปล่า แนะนำว่าลองมองดูรุ่นที่ราคาต่ำกว่านี้อาจจะเหมาะกว่าครับ อย่างน้อยถ้าไม่ชอบก็จะได้ไม่เจ็บตัวเยอะ อีกทั้งในขณะนี้ยังหาซื้อง่ายกว่าด้วย เช่นตัวของ Nokia Lumia 820 ที่ราคาย่อมเยากว่า หาซื้อได้ง่ายกว่า (ส่วนตัวผมว่า Nokia Lumia 920 เป็นสมาร์ทโฟนที่ดีในตลาดขณะนี้เลย ติดที่ว่า Windows Phone 8 ยังไม่สมบูรณ์พอเท่านั้นเองครับ)
ข้อดี
- ตัวเครื่องงานประกอบดี แน่นหนา ไว้ใจได้
- ระบบลื่น แทบไม่มีกระตุกหรือค้างให้เห็น
- ฮาร์ดแวร์กล้องดี เทคโนโลยี PureView ช่วยให้การถ่ายภาพในที่แสงน้อยได้เยี่ยม
- Environment โดยรวมเกือบสมบูรณ์ ทำให้สามารถแชร์ข้อมูลไปยังแอพหลักๆ ทำได้ง่าย
- รองรับระบบการชาร์จไฟแบบไร้สาย
- จอสีสวย ภาพคมชัด สู้แสงได้ดี
- ชุดซอฟต์แวร์ของ Nokia ทำออกมาได้ดี ใช้งานได้จริง
- คีย์บอร์ดและการแสดงผลภาษาไทยสามารถใช้งานได้สมบูรณ์แล้ว
- ฟีเจอร์ยิบย่อยแต่น่าสนใจเยอะ เช่นสามารถใช้งานแม้ใส่ถุงมือได้
ข้อสังเกต
- ระบบปฏิบัติการ Windows Phone 8 ยังไม่สมบูรณ์ในองค์รวมพอที่จะไปเทียบกับ iOS หรือ Android ได้
- แอพที่มียังไม่ครอบคลุมการใช้งาน หรือถึงมีแล้ว ฟีเจอร์ก็ยังไม่ครบถ้วนและดึงดูดให้ไปใช้
- ถ้าใช้งานเครื่องติดต่อกัน พบว่าแบตหมดเร็ว