กลับมาพบการรีวิวสมาร์ทโฟนกันอีกครั้ง โดยคราวนี้เรามีสมาร์ทโฟนที่น่าสนใจอย่าง LG Optimus VU มาให้ชมกันครับ โดยตัวของ LG Optimus VU นั้นมีจุดเด่นอยู่ที่หน้าจอและวัตถุประสงค์การใช้งานที่ LG ออกแบบมา โดยจะเป็นอย่างไรนั้น ไปติดตามชมกันได้เลยครับ
กล่องของ LG Optimus VU นั้นเป็นกล่องกระดาษแข็งสีขาว ขนาดสามารถใส่ตัวเครื่องได้พอดีๆ
เมื่อเปิดฝาออกมา ก็จะพบกับตัวเครื่อง LG Optimus VU ตั้งอยู่ส่วนบนสุดของกล่อง ยกขึ้นมาก็จะพบกับอุปกรณ์เสริมอื่นๆ ได้แก่
- ปากกาสไตลัส
- สาย micro USB
- อะแดปเตอร์สำหรับชาร์จไฟ
- หูฟัง
- แถบ NFC
- เอกสารและคู่มือการใช้งาน
- เข็มจิ้มช่องใส่ซิม
ส่วนของตัวเครื่อง LG Optimus VU นั้น จุดเด่นที่สุดก็คือหน้าจอขนาด 5 นิ้ว ความละเอียด 1024 x 768 ซึ่งอัตราส่วนจอนั้นอยู่ที่ 4:3 เรียกได้ว่าเป็นสมาร์ทโฟนที่ใช้จออัตราส่วน 4:3 เครื่องแรกๆ ของโลกเลยทีเดียว โดยจุดประสงค์หลักสำหรับ LG ?Optimus VU นั้นก็คือเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ที่อยากอ่าน ebook บนมือถือ หรือต้องการใช้มือถือที่จอมีขนาดใหญ่และไม่อยากพกแท็บเล็ต ด้วยจอที่มีความกว้างกว่าสมาร์ทโฟนทั่วๆ ไปในท้องตลาด ด้านของประสิทธิภาพก็จัดว่าไม่น้อยหน้าสมาร์ทโฟนตัวท็อปมากนัก ด้วยชิปประมวลผล NVIDIA Tegra 3 ที่ยังจัดว่าใช้งานในปัจจุบันได้ดีอยู่ รวมไปถึงการเล่นเกมด้วย
ส่วนสเปก LG Optimus VU คร่าวๆ ก็มีดังนี้
- ชิปประมวลผล NVIDIA Tegra 3 ความเร็วสูงสุด 1.5 GHz
- จอ IPS ขนาด 5 นิ้ว ความละเอียด 1024 x 768
- RAM 1 GB
- Android 4.0
- พื้นที่เก็บข้อมูลภายใน 32 GB
- ไม่มีช่องใส่ microSD
- กล้องหลังความละเอียด 8 MP กล้องหน้าความละเอียด 1.3 MP
- แบตเตอรี่ความจุ 2080 mAh
- น้ำหนัก 168 กรัม
- ราคา 18,900 บาท
ด้านของจอนั้น มีความหนาแน่นของเม็ดพิกเซลอยู่ที่ 256 ppi ซึ่งก็ถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ สามารถมองได้อย่างสบายตา ด้านบนของจอมีกล้องหน้าติดตั้งอยู่ ส่วนปุ่มด้านล่างทั้งสี่ปุ่มเป็นแบบสัมผัสที่ีมีไฟในตัว โดยทั้งสี่ปุ่มได้แก่
- ปุ่ม Back
- ปุ่ม Home ซึ่งถ้ากดติดๆ กันสองครั้ง จะเป็นการปรับอัตราส่วนจอของแอพ (แอพต้องรองรับด้วย)
- ปุ่ม Recent App ใช้ย้อนดูแอพที่เปิดใช้งานล่าสุดตามลำดับ
- ปุ่ม Menu
แต่จะเป็นพลาสติกธรรมดาก็ไม่ใช่ LG ซะแล้ว เพราะด้านหลังมีการทำลวดลายให้เสมือนว่าเป็นหนัง ทำให้เวลาจับแล้วรู้สึกถึงความพรีเมียม และยังมีประโยชน์อีกก็คือทำให้สามารถจับเครื่องได้ถนัดมือมากกว่าตัวเครื่องแบบเรียบๆ
กล้องหลังและแฟลช LED ถูกติดตั้งอยู่ตรงมุมบนซ้ายของเครื่องภายในกรอบอะลูมิเนียม ภาพรวมของฝาหลังดูแล้วออกแนวจะเป็นมือถือเพื่อแฟชันตามรูปแบบของ LG อยู่พอสมควรเลยทีเดียว แต่น่าเสียดายที่ไม่สามารถถอดฝาหลังออกมาได้
ตรงส่วนล่างของฝาหลังจะมีลำโพงติดตั้งอยู่ ซึ่งถ้าเพ่งดูดีๆ ตรงกึ่งกลางระหว่างลำโพงทั้งสองตัวจะมีจุดนูนขึ้นมา ซึ่งตามหลักแล้วมันจะช่วยให้ส่วนของช่องลำโพงไม่ถูกปิดแน่นกับพื้น แต่ในการใช้งานจริงพบว่าเสียงที่ได้กลับมีคุณภาพลดลงไป ทำให้ดูเหมือนว่าจุดนูนไม่ได้ช่วยกระจายเสียงได้เท่าที่ควรจะเป็น
ด้านข้างของเครื่อง เริ่มจากด้านบนจะมีส่วนสำคัญอยู่หลายจุดทีเดียว จากในรูปซ้ายบน ปุ่มแรกสุดคือปุ่มเปิด/ปิดเครื่องรวมไปถึงปิดหน้าจอด้วย ถัดมาเล็กน้อยก็จะเป็นช่อง micro USB ที่มีจุดเด่นคือมีฝาปิดอะลูมิเนียมปิดพอร์ตให้ด้วย ซึ่งจัดว่าเป็นจุดที่สร้างความประทับใจได้มากทีเดียว เนื่องจากมีเพียงไม่กี่รายที่มีฝาปิดพอร์ตแบบแข็งแรงให้แบบ LG
ถัดมาอีกหน่อยก็จะพบกับปุ่มสีเงินๆ ที่ใช้สำหรับแคปภาพหน้าจอและเก็บภาพนั้นเข้าสู่แอพ LG QuickMemo ที่ใช้สำหรับเขียนโน้ตลงในภาพ ซึ่งถ้าไม่ได้เขียนอะไรเพิ่มลงไป ก็นับได้ว่ามันคือปุ่มแคปภาพดีๆ นี่เอง
ส่วนด้านข้างขวาของเครื่องก็มีปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงเท่านั้นครับ
ส่วนฝั่งซ้ายจะมีช่องใส่ซิมการ์ดซ่อนอยู่ การเปิดช่องใส่นั้นสามารถทำได้โดยใช้เข็มจิ้มถาดซิม จิ้มเข้าไปในช่องเล็กๆ จากนั้นก็แงะฝาปิดออกมา โดยซิมที่ใช้นั้นจะเป็นไมโครซิมครับ
อุปกรณ์เสริมที่สำคัญที่สุดของ LG Optimus VU ก็คือปากกาสไตลัสที่ LG ให้ชื่อว่า Rubberdium โดยตัวปากกานั้นใช้วัสดุเป็นโลหะอย่างดี แน่นหนา สามารถจับได้อย่างมั่นคง ปลายปากกาส่วนที่ใช้เขียนนั้นจะเป็นยางแข็งสีดำให้ความรู้สึกในการเขียนได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ลื่นถึงขั้น Note II ส่วนในการเขียนนั้นสิ่งที่ต้องระวังอย่างหนึ่งก็คือการวางมือบนจอครับ เพราะไม่สามารถใช้ปากกาเขียนไปวางมือบนจอไปได้ ซึ่งก็เป็นปัญหาเดียวกับที่ทุกๆ เครื่องประสบปัญหาเช่นกัน
ก็จบลงไปนะครับสำหรับส่วนของฮาร์ดแวร์? ต่อไปเรามาดูซอฟต์แวร์กันต่อว่า LG Optimus VU จะมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง
เริ่มกันที่ส่วนของอินเตอร์เฟสใสแอพทั่วๆ ไปกันก่อน เนื่องด้วยจอมาในอัตราส่วน 4:3 ที่ไม่เหมือนสมาร์ทโฟนทั่วไป ทำให้พื้นที่การแสดงผลบนจอดูกว้างกว่าปกติ ซึ่งก็ส่งผลดีคือทำให้ปุ่มต่างๆ ดูกว้างใหญ่ขึ้น กดได้สะดวกมือ จำนวนคอลัมน์ของแอพในหน้า App Drawer ก็มี 5 คอลัมน์ และที่เห็นผลชัดๆ เลยก็คือการแสดงผลหน้าเว็บที่ทำให้สามารถอ่านเนื้อหาได้ง่ายกว่าจอ 16:9 มากพอตัวเลย
นอกจากนี้ส่วนที่น่าสนใจก็คือ Notifications เพราะผู้ใช้สามารถตั้งค่าได้ด้วยว่าจะให้ตัวปรับตั้งค่าตัวไหนขึ้นมาแสดงบ้าง ทำให้สะดวกกับการใช้งานพอสมควรทีเดียว
ในเรื่องของอัตราส่วนจอ 4:3 นั้น ถ้าใครกลัวว่าจะเกิดปัญหากับแอพ ระบบก็ได้เตรียมทางเลือกไว้ให้แล้ว นั่นคือสามารถสลับไปแสดงผลจอแบบอัตราส่วน 16:9 ได้ด้วย โดยการสลับก็ให้กดปุ่มโฮมติดกันสองครั้ง จากนั้นก็จะมีตัวเลือกขึ้นมาอย่างในรูปของแอพ Facebook ด้านบนสุด ที่ให้เลือกว่าจะปรับอัตราส่วนการแสดงผลหรือไม่ ซึ่งเมื่อปรับแล้ว จะพบว่าตรงขอบซ้ายขวาของแอพจะกลายเป็นขอบดำ ทำให้สามารถแสดงแอพในอัตราส่วนแบบ 16:9 ได้
ซึ่งในการปรับอัตราส่วนจอ ระบบจะบังคับให้แอพปิดตัวลงไป จากนั้นจะโหลดแอพขึ้นมาใหม่ เรนเดอร์ภาพใหม่ ทำให้ไม่เป็นการสะดวกแน่ๆ ถ้าจะสลับอัตราส่วนจอไปมาระหว่างการใช้งาน อีกทั้งภาพของแอพที่ปรากฏบนจอที่แสดงแบบ 16:9 พบว่าภาพจะไม่คมชัดเท่ากับอัตราส่วนภาพแบบ 4:3 อีกด้วย โดยเฉพาะเกมที่จะพบปัญหาทั้งภาพที่ไม่คมมากนักและอัตราส่วนของภาพในเกมที่ผิดเพี้ยนไปบางส่วนด้วย ดังนั้นถ้าจะใช้งาน LG Optimus VU จริงๆ ก็ใช้อัตราส่วนจอ 4:3 ไปดีกว่าครับ
อีกจุดที่เป็นฟีเจอร์เด่นของ LG Optimus VU ก็คือส่วนของการจดบันทึกในแอพ Notebook และ LG QuickMemo ที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว
ส่วนของแอพ Notebook นั้น หน้าที่ก็คือใช้สำหรับจดบันทึกต่างๆ สามารถลากแปะภาพลงในโน้ตได้ครับ ซึ่งก็สามารถใช้งานทั่วไปได้ดี แต่ตัวฟีเจอร์ก็ไม่ถึงกับขั้น advance มากนัก
ต่อมาเรามาดูเรื่องผลการทดสอบประสิทธิภาพของ LG Optimus VU กันบ้างครับ
SunSpider
ตัวของ SunSpider นั้นเป็นการทดสอบประสิทธิภาพของ CPU ในการคำนวณและประมวลผลชุดคำสั่ง Javascript โดยตรง จึงสามารถใช้วัดประสิทธิภาพการประมวลผลได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งผลออกมาคือ LG Optimus VU ใช้เวลาในการประมวลผล SunSpider ไปราวๆ 1,544.5 ms เป็นรอง Samsung Galaxy S III อยู่เล็กน้อย แต่ถ้าเทียบกับเครื่องรุ่นอื่นที่ใช้ชิป NVIDIA Tegra 3 เหมือนกันก็ถือว่า VU ทำได้ดีกว่าเล็กน้อย
Browsermark
ด้าน Browsermark นี้ เป็นการทดสอบพลังประมวลผลของ CPU ในการเรนเดอร์หน้าเว็บบนเว็บเบราเซอร์ ซึ่งผลออกมาก็คือสามารถทำได้ 121,819 คะแนน มากกว่า Nexus 7 อยู่เล็กน้อย (จากในภาพ กราฟของ Nexus 7 และ VU จะสลับตำแหน่งกันอยู่นะครับ)
ต่อมาก็เป็นการทดสอบประสิทธิภาพการประมวลผลกราฟิกด้วย GLBenchmark 2.1 กันต่อ โดยในโหมดแรกนี้เป็นการทดสอบแบบ On screen ที่จะมีปัจจัยเรื่องของความละเอียดหน้าจออยู่ด้วย ดังนั้นจึงไม่สามารถนำเฟรมเรตที่ได้ของแต่ละเครื่องมาเปรียบเทียบกันได้โดยตรง เพียงแต่ให้สามารถใช้ดูได้ว่าเครื่องจะสามารถรันได้ไหลลื่นขนาดไหน
โดยจากผลการทดสอบพบว่า LG Optimus VU สามารถทำได้ 54 เฟรมต่อวินาที (fps) ซึ่งก็ถือว่าลื่นเลยทีเดียว
GLBenchmark?(Off screen)
ส่วนการทดสอบ GLBenchmark 2.1 แบบ Off screen นั้น เป็นการทดสอบแบบเจาะจงความละเอียดหน้าจอ ทำให้ทุกเครื่องถูกบังคับให้ต้องเรนเดอร์ที่ความละเอียดหน้าจอเท่ากัน ดังนั้นจึงสามารถใช้ในการเปรียบได้ ซึ่งก็น่าแปลกใจว่า LG Optimus VU ที่ใช้ NVIDIA Tegra 3 นั้นสามารถเรนเดอร์ได้ 30 fps เท่านั้น
เรื่องของระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่นั้น ถ้าใช้งานธรรมดาทั่วไป เล่น social, เปิด 3G สแตนด์บายตลอดก็สามารถใช้ได้เป็นวันอยู่แล้ว แต่ถ้าใช้งานหนักหน่อย ขยันเช็ค Facebook แทบทั้งวันก็อาจจะจำเป็นต้องพกแหล่งพลังงานสำรองติดตัวกันบ้าง ซึ่งในจุดนี้ LG ก็คงเห็นความจำเป็นในระดับหนึ่งแล้ว จึงมีการจัดโปรโมชันแถมแบตเสริมให้กับผู้ที่ซื้อ LG Optimus VU ชุดแรกๆ ด้วย
สรุป
LG Optimus VU เครื่องนี้ ถูกออกแบบมาให้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการสมาร์ทโฟนสำหรับใช้ทำงาน เนื่องด้วยจอที่มีขนาดกว้างกว่าสมาร์ทโฟนปกติ รวมไปถึงอัตราส่วนจอที่เป็น 4:3 ซึ่งเหมาะกับการแสดงหน้า ebook, ไฟล์เอกสาร หรือจะเป็นไฟล์สไลด์นำเสนอก็สามารถทำได้อย่างไม่มีปัญหา ประกอบกับปากกาสไตลัสที่แถมให้มาก็สามารถใช้จดงานได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว
แต่ด้วยความที่หน้าจอมีขนาดใหญ่และกว้างกว่าปกติ ทำให้มีปัญหาในการใช้งานอยู่บ้าง เช่นการจับรอบตัวเครื่องที่อาจจะลำบากเล็กน้อยสำหรับคนที่มือเล็ก หรือในคุณผู้ชายที่นิยมพกโทรศัพท์ด้วยการใส่ในกระเป๋ากางเกง ที่อาจจะทำให้ลำบากเวลาต้องยกขาเดินขึ้นสะพานลอยอยู่บ้างพอสมควร ทำให้น่าจะเหมาะกับการพกใส่กระเป๋าถือของผู้หญิงมากกว่า
ข้อดี
- หน้าจอขนาดใหญ่ ใช้งานได้สบายตา
- อัตราส่วนจอเป็นแบบ 4:3 ทำให้สามารถอ่านเอกสาร PDF, ebook ได้สะดวก
- มีปากกาสไตลัสแถมให้ใช้งานด้วย
- มีปุ่มสำหรับแคปภาพหน้าจอให้สามารถใช้งานได้ง่าย
- มี NFC ช่วยให้การเปลี่ยนโปรไฟล์การตั้งค่าเครื่องง่ายขึ้น (เอาหลังเครื่องแตะแถบ NFC)
ข้อสังเกต
- ขนาดตัวเครื่องค่อนข้างใหญ่ บางครั้งอาจจับได้ไม่ถนัดมือ
- ตัวเครื่องไม่มีช่องให้เก็บปากกาสไตลัส
- เปิดฝาหลังเครื่องไม่ได้