
Redmi K Pad แท็บเล็ตไซส์เล็กเปิดตัวในจีนไปเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2025 โดยตัว Redmi K Pad นั้นเป็นแท็บเล็ตขนาดกะทัดรัดที่ไม่ได้มีดีแค่พกพาง่าย แต่มาพร้อมสเปคระดับ “เรือธง” ที่พร้อมท้าชนทุกรุ่นในตลาด และที่น่าจะถูกมองเป็นคู่แข่งมากที่สุดคงไม่พ้น iPad mini อย่างแน่นอน แต่ ๆ เรื่องนั้นไว้ก่อน ในบทความนี้เราจะมาทำการรีวิว Redmi K Pad กัน
ซึ่งบอกไว้ก่อนเลยว่า Redmi K Pad นั้นไม่มีขายในไทยนะครับ แต่มีข่าวลือมาว่าอาจจะมีการเปิดตัวแบบ Global ในชื่อ POCO F Pad ก็เป็นได้ครับ ใครที่สนใจก็อาจจะต้องรอลุ้นกันไปก่อนนะครับ
สารบัญ
- ดีไซน์
- ประสิทธิภาพและการเล่นเกม
- การใช้งานทั่วไป
- การถ่ายภาพ
- แบตเตอรี่และการชาร์จ
- สรุปการรีวิว
- สเปคเครื่องอย่างละเอียด
ดีไซน์

Redmi K Pad เป็นแท็บเล็ตที่เน้นไปที่ด้านการพกพาและการใช้งานมือเดียวด้วยขนาดหน้าจอที่ 8.8 นิ้วและน้ำหนักเพียง 326 กรัม ทำให้ตัวเครื่องมีขนาดไม่ใหญ่มากและสามารถจับถือด้วยมือเดียวได้สบาย ทั้งยังมาพร้อมความละเอียดที่สูงถึง 3K รองรับการแสดงผล HDR Vivid และ Dolby Vision นอกจากนี้ยังมีอัตรารีเฟรชสูงถึง 165Hz อีกด้วย สำหรับการปกป้องหน้าจอนั้นทาง Redmi K Pad ใช้กระจก Gorilla Glass 5 ช่วยป้องกันรอยขีดข่วนและทนทานต่อการตกกระแทกในระดับหนึ่งครับ

สำหรับตัวเครื่องด้านหลังนั้นจะมาด้วยวัสดุเป็นอลูมิเนียมอัลลอยแบบ Unibody ทั้งชิ้น ทำให้ตัวเครื่องมีความทนทานสูงและยังช่วยในเรื่องการระบายความร้อนได้ด้วย ที่มุมบนซ้ายของตัวเครื่องจะมีโมดูลกล้องหลัง, ไฟแฟลช และไมโครโฟนรับเสียงอยู่ครับ ซึ่งตัว Redmi K Pad นั้นจะมีสีสันให้เลือกอยู่ทั้งหมด 3 สีคือ สีดำ Deep Black, สีม่วง Smoky Purple และสีเขียว Spruce Green และที่เราซื้อมาทำรีวิวก็คือสีเขียว Spruce Green นั่นเองครับ
สำหรับขอบรอบตัวเครื่องนั้น (เมื่อถือแนวตั้ง) จะมีปุ่ม Power อยู่ที่ด้านบนริมฝั่งขวา ปุ่มปรับระดับเสียงอยู่ที่ฝั่งขวา มีพอร์ตชาร์จแบบ USB-C อยู่ที่ฝั่งซ้ายและด้านล่าง ซึ่งทั้ง 2 พอร์ตนี้รองรับการชาร์จเร็วที่ 67W เท่ากัน (ช่องชาร์จที่อยู่ด้านล่าง (ฝั่งสั้น) จะไม่รองรับการถ่ายโอข้อมูลนะครับ) นอกจากนี้ยังมีลำโพงคู่และไมโครโฟนคู่อยู่ที่ด้านบนและล่างด้วยครับ
หรือถ้าใครอยากเห็นตัวเครื่องแบบภาพเครื่องไหวก็สามารถดูได้ที่
ประสิทธิภาพและการเล่นเกม

เมื่อพูดถึงการใช้งานสิ่งแรกที่เราต้องพูดถึงเลยก็คือประสิทธิภาพของตัวเครื่องและการเล่นเกมที่เป็นจุดเด่นที่สุดของ Redmi K Pad โดย Redmi K Pad นั้นใส่ชิปประมวลผลหลักมาเป็น MediaTek Dimensity 9400+ ชิปเรือธงของ MediaTek ที่มีประสิทธิภาพในการประมวลผลขั้นสูง และสามารถจัดการพลังงานได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้สามารถใช้งานทั่วไปหรือเล่นเกมที่ต้องใช้กราฟิกสูง ๆ ได้อย่างดี นอกจากนี้ยังมาพร้อมระบบระบายความร้อนด้วย Vapor Chamber ขนาดใหญ่ถึง 12,050 ตร.มม. ที่ทำจากอลูมิเนียมอัลลอย ทำให้มีน้ำหนักที่เบากว่า Vapor Chamber ทั่วไปอีกด้วย
โดยตัวชิป MediaTek Dimensity 9400+ นั้นจากการทดสอบ Geekbench ทำคะแนนไปได้อยู่ที่ 2648 คะแนนในแบบ Single-core และ 8222 คะแนนในแบบ Multi-core รวมถึงได้คะแนน AnTuTu สูงถึง 2,749,793 คะแนนเลยครับ

ในด้านการเล่นเกม เราได้ทดสอบกับเกมยอดนิยมอย่าง RoV, PUBG Mobile, Genshin Impact และ Delta Force ซึ่งทุกเกมสามารถปรับตั้งค่ากราฟิกระดับสูงสุดและเล่นได้อย่างลื่นไหล อีกทั้งด้วยระบบระบายความร้อนที่ดีมาก ทำให้ตัวเครื่องมีความร้อนสะสมที่น้อยจนสามารถถือเล่นยาว ๆ ได้อย่างสบายเลย โดยตอนที่ทดสอบเล่นนั้นได้ทดลองเล่นแต่ละเกมต่อเนื่องเกมละ 1 ชั่วโมง ความร้อนที่เกิดขึ้นมานั้นอยู่ในระดับที่ไม่ได้ร้อนมากนัก ยังสามารถถือเล่นต่อได้อยู่ เนื่องจากความร้อนนั้นจะสะสมอยู่บริเวณกลางเครื่อง เลยทำให้มือได้รับความร้อนไม่มากนักนั่นเอง

ในเรื่องการตั้งค่าต่าง ๆ นั้นตัวเกม RoV และ Genshin Impact ผมปรับกราฟิกที่สูงสุดและเปิดเฟรมเรทสูงสุดได้ที่ 60fps ครับ ส่วน PUBG Mobile และ Delta Force นั้นผมปรับกราฟิกลงมาที่ต่ำสุดเพื่อให้สามารถเปิดเฟรมเรทที่ 120fps ได้ ถึงจะน่าเสียดายที่ไม่สามารถดันเฟรมเรทของเกม Delta Force ขึ้นไปที่ 144Hz ได้ก็ตาม
แต่หนึ่งฟีเจอร์ที่ทำให้ผมค่อนข้างประทับใจเลยก็คือฟีเจอร์ปรับขนาดหน้าจอ ซึ่งฟีเจอร์นี้จะทำการลดขนาดหน้าจอลงมา ทำให้พื้นที่ระยะสัมผัสลดลงด้วย สำหรับบางเกมแล้วช่วยให้เล่นเกมได้ง่ายขึ้นเยอะเลยครับ โดยตัวระบบนั้นมีให้เลือกปรับอยู่ 4 รูปแบบคือ แบบเต็มจอ, ชิดบน, อยู่กลางจอ และชิดล่าง ครับ

อีกฟีเจอร์หนึ่งที่ช่วยให้การเล่นเกมลื่นขึ้นและช่วยอำนวยความสะดวกให้ก็คือ Ultimate Mode ที่จะซ่อนอยู่ด้านข้างของหน้าจอ ซึ่งวิธีการเรียกก็ไม่ได้ยาก แค่ปัดขวาตรงบริเวณกลาง ๆ ริมขอบจอด้านขวาที่มีขีดเล็ก ๆ อยู่ โดยตัว Ultimate Mode นี้จะมีตัวเลือกว่าจะใช้งานแบบปกติหรือแบบ Wild Boost ที่จะรีดประสิทธิภาพของเครื่องออกมาทั้งหมด พร้อมทั้งยังแสดงค่าเฟรมเรทแบบเรียลไทม์ขณะนั้นให้ด้วย ส่วนด้านล่างก็จะมีให้ตั้งค่าสัญญาณ, ความเร็วในการตอบสนองต่อการสัมผัส เป็นต้น, โหมดเปลี่ยนเสียง, Screenshot, บันทึกหน้าจอ, ตั้งค่าปุ่มมาโคร, แชร์หน้าจอ เป็นต้น
การใช้งานทั่วไป

ในส่วนของการใช้งานทั่วไปทั้งการเล่นโซเชียลและความบันเทิงต่าง ๆ ทั้งการดูหนังหรือการอ่าน E-Book ตัว Redmi K Pad ก็สามารถใช้งานได้ดีทุกด้าน โดยเฉพาะการอ่าน E-Book นี่น่าสนใจที่สุดเลย เพราะขนาดหน้าจอ 8.8 นิ้วนั้น ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังถือหนังสืออยู่เลย แถมภาพที่แสดงก็มาแบบเต็ม ๆ จอพอดี นอกจากจะเอามาเล่นเกมแล้ว เหมาะจะเอามาใช้อ่าน E-Book ด้วยจริง ๆ ครับ

สำหรับในเรื่องการเล่นโซเชียลนั้นหากเป็นการเล่นแบบแนวตั้งนั้นภาพที่ได้จะเต็มตาแบบสะใจมากเลย แต่หากเปลี่ยนมาเล่นแบบแนวนอนแล้ว แอปฯ Facebook นั้นจะให้ภาพที่ใหญ่เกินไปหน่อย ส่วนแอปฯ อื่น ๆ ก็จะอยู่ในสภาพที่แสดงเป็นแนวตั้งพร้อมขอบข้าง (ซึ่งเอาจริง ๆ แล้วก็เป็นกับแท็บเล็ต Android ทุกเครื่องอยู่แล้ว)

ส่วนเรื่องการดูหนังนั้นภาพที่ได้นั้นให้ภาพเต็มตา คมชัด สีสันสวยสด มีขอบดำบน-ล่างน้อยและด้วยความที่มีลำโพงคู่แบบสเตอริโอ ทำให้เสียงที่ได้นั้นดังกระหึ่มสะใจมาก โดยเรื่องคุณภาพเสียงเท่าที่ฟังก็นับว่าน่าสนใจไม่น้อยเพราะมาครบทุกย่านเสียง แค่เสียงเบสจะดูเบาไปหน่อย (แต่ก็ยังพอได้ยินอยู่นะ) สำหรับคนที่เป็นสายเปิดลำโพงผมว่าลำโพงในตัว Redmi K Pad ก็นับว่าใช้ได้อยู่นะครับ ไม่จำเป็นต้องพึ่งลำโพงเสริมก็ได้ (แต่ถ้าจะต่อเพิ่มก็ได้นะ)
การถ่ายภาพ

ในด้านการถ่ายภาพนั้นโดยปกติกล้องของแท็บเล็ตนั้นจะคาดหวังอะไรไม่ได้มาก แต่สำหรับ Redmi K Pad แล้วส่วนตัวมองว่าค่อนข้างน่าสนใจไม่น้อยเลยครับ ถึงความละเอียดกล้องที่ให้มาจะไม่ได้ดูโดดเด่นอะไร ด้วยกล้องหลังความละเอียด 13MP และกล้องหน้าความละเอียด 8MP แต่พอได้ลองเอาไปใช้จริงนี่ผมถึงกับว้าวมากเลย เพราะรายละเอียดของภาพ ความคมชัด สีสัน นี่เรียกว่าไม่ธรรมดาเลยครับ แต่ที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือตัวกล้องมีโหมด Portrait ให้เลือกด้วยครับ ทั้งที่ปกติแท็บเล็ตจะไม่ค่อยให้มากันเท่าไร

ส่วนเรื่องการบันทึกวิดีโอนั้นกล้องหลังสามารถบันทึกได้ความละเอียดสูงสุดที่ 4K 30fps ส่วนกล้องหน้าบันทึกได้สูงสุดที่ 1080P 30fps ซึ่งก็นับว่าสูงสุดเท่าที่ตัวเซ็นเซอร์จะทำได้แล้วครับ

ตัวอย่างภาพถ่าย
แบตเตอรี่และการชาร์จ

ในเรื่องของแบตเตอรี่และการชาร์จนั้น ตัว Redmi K Pad ให้แบตเตอรี่มาขนาด 7,500 mAh ซึ่งถือว่าเยอะกว่าแท็บเล็ตในขนาดเดียวกันมาก ซึ่งจากที่ได้ลองใช้ดูแล้วบอกเลยว่าแบตเตอรี่ถึกใช้ได้เลย หากไม่เล่นเกมต่อเนื่องนาน ๆ อย่างเล่นเกมบ้าง เล่นโซเชียลบ้าง ดูหนังบ้าง อย่างละนิดอย่างละหน่อย ตัวแบตเตอรี่สามารถอยู่จนจบวันได้สบาย ๆ เลย ทั้งนี้ก็เพราะชิปประมวลผล Dimensity 9400+ ที่แรงจนไม่จำเป็นต้องใช้ความสามารถทั้งหมดในการประมวลผล แถมยังมีความสามารถในการจัดการพลังงานได้ดีอีกด้วย

ในเรื่องของการชาร์จนั้นตัว Redmi K Pad รองรับการชาร์จเร็วที่ 67W และด้วยความที่มีพอร์ตชาร์จถึง 2 จุด ทำให้สามารถชาร์จไปเล่นไปได้โดยไม่เกะกะมือเลยครับ แถมยังรองรับฟีเจอร์ Bypass Charging ด้วย ทำให้สามารถชาร์จไปเล่นไปได้เลย ส่วนเรื่องระยะเวลาในการชาร์จนั้นผมทดลองชาร์จตอนแบตเตอรี่เหลืออยู่ 5% ในช่วง 10 นาทีแรกจะได้แบตเตอรี่เพิ่มขึ้นมาเป็น 22% และเมื่อครบ 30 นาทีจะได้แบตเตอรี่เพิ่มขึ้นมาเป็น 54% ส่วนระยะเวลาชาร์จรวมตั้งแต่เริ่มชาร์จที่ 5% จนเต็ม จะใช้เวลารวมทั้งหมด 61 นาที หรือ 1 ชั่วโมง 1 นาที ซึ่งก็ถือว่าไม่ได้นานเลยสำหรับแบตเตอรี่ขนาด 7,500 mAh แถมในระหว่างการชาร์จ ความร้อนสะสมระหว่างชาร์จก็น้อยด้วยครับ

สรุปการรีวิว

สรุปรีวิว Redmi K Pad จากที่ได้ลองเอาไปใช้งานมาบอกเลยว่าติดใจครับ ตัวเครื่องขนาดพกพามาก พกไปไหนมาไหนก็ง่าย และด้วยชิปเรือธงที่แรงสุด ๆ ทำให้สามารถเอาไปใช้เล่นเกมได้ทุกเกมที่มีตอนนี้ได้หมดเลย หรือจะเอาไปอ่าน E-Book ก็ได้ สามารถเอาไปใช้งานให้ความบันเทิงได้ค่อนข้างหลากหลายเลยทีเดียว เชื่อว่าสายเล่นเกมน่าจะชอบเครื่องนี้ไม่น้อยเลยครับ และหากว่า Redmi K Pad นั้นเหมาะกับใคร ก็ต้องบอกเลยว่าเหมาะกับคนที่กำลังหาแท็บเล็ตแรง ๆ ที่พกพาง่าย ๆ ในราคาไม่แรง, ชาวเกมเมอร์ที่ชื่นชอบการเล่นเกมมือถือ, น้อง ๆ นักเรียน-นักศึกษา เป็นต้น
สำหรับคนที่สนใจนั้น Redmi K Pad ไม่ได้มีขายในประเทศไทยนะครับ ขายแค่ในประเทศจีนเท่านั้น แต่ก็มีข่าวลือแว่วมาว่าอาจจะมีการเปิดตัวเวอร์ชั่น Global ด้วย แต่อาจจะมาในชื่อ POCO F Pad ทั้งนี้อาจจะต้องรอติดต่ามข่าวสารกันต่อไปพร้อมาช่วยกันลุ้นให้มีการเปิดตัวแบบ Global ด้วยสเปคเดียวกันนี้ด้วย แต่ถ้าใครรอไม่ไหวก็จะเหลือแค่ 2 ตัวเลือกคือไปซื้อที่จีนเองเลย หรือจะให้ร้านช่วยรับหิ้วให้แทนครับ สำหรับราคาที่ขายในจีนแปลงเป็นเงินไทยก็จะเริ่มที่ราว ๆ 14,000 บาทครับ
สเปคเครื่องอย่างละเอียด
สเปค | Redmi K Pad |
---|---|
สีสัน | Deep Black, Spruce Green, Smoky Purple |
ขนาด | 205.13 x 132.03 x 6.46 มม. |
น้ำหนัก | 326 กรัม |
หน้าจอ | – พาแนล IPS-LCD – ขนาด 8.8 นิ้ว – ความละเอียด 3008 x 1880 พิกเซล (3K) – Refresh Rate: สูงสุด 165Hz – Finger Touch Sampling Rate: สูงสุด 372Hz – Instantaneous Touch Sampling Rate: สูงสุด 1080Hz – Stylus Touch Sampling Rate: 240Hz – ความสว่างสูงสุด 700nits – ขอบเขตสี P3 – ความลึกสี 12bit – รองรับการแสดงผล HDR Vivid, Dolby Vision – กระจก CORNING GORILLA GLASS 5 |
ชิปประมวลผล | MediaTek Dimensity 9400+ |
แรม / ความจุ | – 12GB+256GB (LPDDR5X/UFS4.1) – 12GB+512GB (LPDDR5X/UFS4.1) – 16GB+512GB (LPDDR5T/UFS4.1) – 16GB+1TB (LPDDR5T/UFS4.1) |
กล้องหลัง | – 13MP, f/2.2, PDAF (เซ็นเซอร์ OV13B, 1/3.06″, 1.12μm) – รองรับการบันทึกวิดีโอสูงสุด 4K 30fps |
กล้องหน้า | – 8MP, f/2.28, PDAF (เซ็นเซอร์ OV08F 1/4″ 1.12μm) – รองรับการบันทึกวิดีโอสูงสุด 1080P 30fps |
แบตเตอรี่ | 7,500 mAh |
ระบบชาร์จ | – 67W Ultra-Fast Charging – 18W Wired Reverse Charging – Protocol PD3.0 / PD2.0 – รองรับ Bypass Charging |
ระบบปฏิบัติการ | Xiaomi HyperOS 2 |
การเชื่อมต่อ | – Wi-Fi 7,802.11 a/b/g/n/ac/ax/be – Bluetooth 5.4 – USB-C 3.2 Gen1 (5 Gbps) – USB-C 2.0 (480 Mbps) |
เซ็นเซอร์ | – Accelerometer – Gyroscope – Front ambient light (color temperature) sensor – Hall sensor – Geomagnetic sensor – Distance sensor – X-axis linear motor |
ระบบเสียง | – Stereo Dual Speakers – Hi-Res & Hi-Res Wireless Audio Certification – Dolby Atmos – Spatial Audio |
ระบบระบายความร้อน | อลูมิเนียมอัลลอยด์ Vapor Chamber ขนาด 12,050 ตร.มม. |