ในการอ่าน ebook อ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ถ้าเมื่อก่อนก็มักจะนิยมใช้เป็นเครื่องอ่าน ebook โดยเฉพาะ ซึ่งมักใช้หน้าจอประเภท e-ink ที่สบายตากว่าหน้าจอ LCD/LED ส่วนการจะหา e-book มาอ่านก็ต้องอาศัยการซื้อผ่าน store ที่มากับเครื่องหรือนำเข้าเป็นไฟล์ EPUB ไฟล์ PDF เป็นหลัก แต่ในปัจจุบันเครื่องอ่าน ebook ก็มีการพัฒนามาใช้ Android และหลายรุ่นก็สามารถลงแอปเพิ่มได้ด้วย ในบทความนี้จึงขอเรียกเป็นแท็บเล็ตอ่านหนังสือไปเลย ซึ่งเราก็จะมาแนะนำ 7 รุ่นที่น่าสนใจ ทุกเครื่องล้วนมี Play Store ทำให้ลงแอปเพิ่มได้ และมีราคาไม่ถึง 10,000 บาท เน้นเป็นเครื่องที่มีตัวแทนจำหน่ายไทยเป็นหลัก และมีบริการหลังการขายในกรณีที่เครื่องมีปัญหานะครับ
1) BOOX Poke5S – จอ E-ink รุ่นเริ่มต้น
จัดว่าเป็นแท็บเล็ตอ่านหนังสือแบบที่ลงแอปได้ในระดับรุ่นเริ่มต้น เหมาะสำหรับมือใหม่ในการเข้าสู่วงการนี้ก็ว่าได้ กับราคา 4,990 บาท มาพร้อมกับสเปคดังนี้
- หน้าจอสัมผัส 6″ E-ink Carta ความละเอียด 1024×578 (212 PPI) แสดงผลแบบ grayscale
- มีไฟปรับระดับความสว่างหน้าจอได้สองโทนอุณหภูมิสี (warm and cold)
- ชิปประมวลผล quad-core แรม 2GB
- พื้นที่เก็บข้อมูล 32GB เพิ่ม MicroSD ได้สูงสุด 512GB
- Android 11
- น้ำหนัก 160 กรัม
- แบตเตอรี่ 1500 mAh ชาร์จผ่านพอร์ต USB-C รองรับ OTG
- Wi-Fi 2.4GHz และ 5GHz + Bluetooth 5.0
- ไฟล์เอกสารที่รองรับ: pdf, epub, mobi, doc, txt, djvu, fb2, html, chm และอื่น ๆ (เปิดไฟล์ภาษาไทยได้)
- ข้อมูลบนหน้าเว็บ
BOOX Poke5S เป็นเครื่อง ereader ที่มีจุดเด่นในเรื่องน้ำหนักเบา สเปคก็ให้มาในระดับที่สามารถใช้อ่านหนังสือทั่วไปได้สบาย ๆ ทั้งยังมีความสามารถในการเชื่อมต่อกับพื้นที่เก็บข้อมูลบนคลาวด์ เช่นใน OneDrive, Google Drive รวมถึง Dropbox เพื่อดึงไฟล์หนังสือมาอ่านแบบออนไลน์ได้ทันที หรือจะโหลดไฟล์ลงเครื่องก็ทำได้เช่นกัน ที่สำคัญคือรองรับ Play Store ด้วย ทำให้สามารถดาวน์โหลดแอปแพลตฟอร์ม ebook เช่น meb หรือรายอื่น ๆ มาใช้ในเครื่องก็ได้เช่นกัน
ส่วนหน้าจอก็จะเป็นแบบ E-ink ที่ทำให้อ่านหนังสือเป็นเวลานานได้โดยไม่ล้าสายตามากนัก มีไฟช่วยเพิ่มความสะดวกกับการอ่านในที่มีแสงน้อย แต่ก็จะมีข้อสังเกตนิดนึงคือค่า PPI ที่บ่งบอกถึงความหนาแน่นพิกเซลต่อตารางนิ้วที่จะอยู่ที่ 212 PPI เท่านั้น ซึ่งอยู่ในระดับที่ใช้อ่านตัวหนังสือได้ไม่มีปัญหา แต่กับการแสดงภาพอาจจะทำได้ไม่ค่อยคมมากนัก จึงอาจจะเหมาะกับสายชอบอ่านนิยายที่ไม่เน้นภาพประกอบมากนัก เหมาะมากสำหรับการหยิบมานั่งอ่านระหว่างรอเวลา ระหว่างอยู่บนรถไฟฟ้า เพราะมีขนาดแค่ 6″ และมีน้ำหนักเพียง 160 กรัมเท่านั้น ซึ่งเบากว่า iPhone 15 อยู่เล็กน้อย
2) BOOX Poke5 – จอ E-ink รุ่นเริ่มต้นที่ตีบวก+
ยังคงอยู่ที่แบรนด์ BOOX เช่นเดิม แต่ขยับมาเป็นรุ่นสูงขึ้นเล็กน้อยนั่นคือ Poke5 รุ่นปี 2024 ที่ขยับสเปคให้สูงขึ้น แต่ก็มีราคาเพิ่มขึ้นมาด้วย อยู่ที่ 6,490 บาท
- หน้าจอสัมผัส 6″ E-ink Carta 1300 ปิดทับด้วยกระจก AG ความละเอียด 1448×1072 (300 PPI) แสดงผลแบบ grayscale
- มีไฟปรับระดับความสว่างหน้าจอได้สองโทนอุณหภูมิสี (warm and cold)
- ชิปประมวลผล quad-core แรม 2GB
- พื้นที่เก็บข้อมูล 32GB เพิ่ม MicroSD ได้สูงสุด 512GB
- Android 11
- น้ำหนัก 160 กรัม
- แบตเตอรี่ 1500 mAh ชาร์จผ่านพอร์ต USB-C รองรับ OTG
- Wi-Fi 2.4GHz และ 5GHz + Bluetooth 5.0
- ไฟล์เอกสารที่รองรับ: pdf, epub, mobi, doc, txt, djvu, fb2, html, chm และอื่น ๆ (เปิดไฟล์ภาษาไทยได้)
BOOX Poke5 จะเป็นแท็บเล็ตอ่านหนังสือที่มีสเปคส่วนใหญ่เหมือนกับ Poke5S เลยก็ว่าได้ แต่ส่วนที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดก็คือหน้าจอที่มีความละเอียดสูงขึ้น ส่งผลให้มีค่า PPI สูงขึ้นด้วย ทำให้ตัวหนังสือและภาพที่แสดงบนหน้าจอจะดูสวย เนียนตาขึ้นกว่ารุ่นเล็กพอสมควร ส่วนความสามารถที่สำคัญของบทความนี้ยังการรองรับ Play Store เพื่อให้สามารถลงแอปได้ แท็บเล็ตอ่านหนังสือรุ่นนี้ก็แน่นอนว่าทำได้สบาย ๆ เลย แต่ก็จะมีข้อจำกัดด้วยเรื่องขนาดหน้าจอนิดนึงตรงที่อาจจะใช้อ่านไฟล์ pdf ได้ไม่สะดวกมากนัก เพราะจอมีขนาดเล็กไปหน่อย แต่ถ้าใครเป็นสายอ่าน epub ก็บอกเลยว่าสบาย ใช้อ่านมังงะก็ได้เลยด้วยค่า PPI ของจอที่สูง แต่ถ้าเป็นเรื่องที่มีการแบ่งช่องเยอะ ๆ มีตัวหนังสืออัดกันตัวเล็ก ๆ อันนี้อาจจะไม่สะดวกมากนัก เนื่องจากหน้าจอมีขนาดเพียง 6″ เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ถ้าต้องการเครื่องไว้ใช้งานได้หลากหลายจริง ๆ ระหว่าง Poke5S กับ Poke5 ก็แนะนำว่าซื้อตัวหลังน่าจะคุ้มกว่าครับ จ่ายเพิ่มประมาณ 1,500 บาท แต่ได้จอละเอียดกว่า ดูภาพได้สบายตากว่า แต่ถ้าติดเรื่องงบจริง ๆ Poke5S ก็ยังเป็นตัวเลือกที่ดีอยู่ ในกรณีที่ต้องการแท็บเล็ตอ่านหนังสือที่ลงแอปเพิ่มได้
3) Meebook M6C – จอ E-ink แสดงสีได้
ขยับมาที่หน้าจอสีกันบ้าง รุ่นที่น่าสนใจและมีราคาย่อมเยาก็จะเป็น Meebook M6C ที่มีขนาดกะทัดรัดเท่า ๆ กับสองรุ่นในข้างต้น แต่หน้าจอจะพิเศษกว่าตรงที่สามารถแสดงได้สองโหมด คือแบบขาวดำ grayscale และแบบสี ที่สีสันก็อาจจะไม่ถึงระดับแท็บเล็ต Android ทั่วไป แต่จะเน้นเป็นสีโทนนวลตา ติดเฟดนิดหน่อยตามข้อจำกัดของจอ E-ink ส่วนราคาก็อยู่ที่ 6,990 บาท ได้สเปคตามนี้
- หน้าจอสัมผัส 6″ E-ink Kaleido 3 ความละเอียด 1448×1072
- รองรับการแสดงภาพทั้งแบบสี (ได้ 150 PPI) และแบบขาวดำ grayscale (ได้ 300 PPI)
- มีไฟปรับระดับความสว่างหน้าจอได้สองโทนอุณหภูมิสี (warm and cold) ปรับได้ 24 ระดับ
- ชิปประมวลผล quad-core 1.8GHz แรม 3GB
- พื้นที่เก็บข้อมูล 32GB เพิ่ม MicroSD ได้สูงสุด 1TB
- Android 11
- น้ำหนัก 180 กรัม
- แบตเตอรี่ 2200 mAh สแตนด์บายได้ประมาณ 5 สัปดาห์ ชาร์จผ่านพอร์ต USB-C รองรับ OTG
- Wi-Fi 2.4GHz และ 5GHz + Bluetooth 5.0
- ไฟล์เอกสารที่รองรับ: pdf, epub, mobi, doc, txt, djvu, fb2, html, chm, azw และอื่น ๆ (เปิดไฟล์ภาษาไทยได้)
- ข้อมูลบนหน้าเว็บ
Meebook M6C เป็นแท็บเล็ตอ่านหนังสือที่ลงแอปเพิ่มได้ ซึ่งมาพร้อมหน้าจอที่สามารถแสดงสีสันได้ด้วย จึงทำให้สามารถใช้อ่านหนังสือที่มีภาพประกอบได้ในระดับหนึ่งเลย แต่จากที่ลองดูรีวิวของผู้ใช้งานจริง บางส่วนจะระบุว่าตัวเครื่องอาจมีการตอบสนองช้าบ้างเล็กน้อยตอนเปลี่ยนหน้า แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้งานทั่วไปได้ ใช้อ่านมังงะก็ไหว แม้หน้าจอจะเล็กไปนิดนึง แต่ถ้าเป็นสายอ่านไลท์โนเวล อ่านนวนิยาย นิยายจีน บอกเลยว่าไซซ์นี้คืออ่านสนุกมาก เพราะพกง่าย น้ำหนักเบา ใส่ในกระเป๋ากางเกงยังพอได้เลย
4) Meebook P78 Pro – จอ E-ink ในไซซ์ iPad mini
ส่วนถ้าอยากได้หน้าจอใหญ่ขึ้น เพื่อให้อ่านหนังสือ อ่านมังงะได้เต็มตาและสะดวกกว่าเดิม แต่ยังอยากได้เป็นจอ E-ink และลงแอปเพิ่มผ่าน Play Store ได้ในงบไม่เกินหมื่นอยู่ ก็จะมี Meebook P78 Pro ที่น่าสนใจครับ เพราะตัวเครื่องอย่างเดียวจะมีราคาอยู่ที่ 8,990 บาท โดยหน้าจอจะมีขนาด 7.8″ เทียบขนาดเครื่องแล้วใกล้เคียงกับ iPad mini 6 มาก ๆ และนอกจากจะใช้อ่าน ebook ได้แล้ว ยังสามารถใช้เป็นสมุดจดบันทึกได้ด้วย เพราะหน้าจอรองรับการใช้งานร่วมกับปากกาสไตลัส ซึ่งถ้าซื้อพร้อมเครื่องก็จะราคาเกือบหมื่นพอดี สำหรับสเปคที่ได้ มีดังนี้
- หน้าจอสัมผัส 7.8″ E-ink Carta ความละเอียด 1404×1872 (300 PPI) แสดงผลแบบ grayscale
- มีไฟปรับระดับความสว่างหน้าจอได้สองโทนอุณหภูมิสี (warm and cold)
- ชิปประมวลผล quad-core แรม 3GB
- พื้นที่เก็บข้อมูล 32GB เพิ่ม MicroSD ได้สูงสุด 1TB
- Android 11
- น้ำหนัก 267 กรัม
- แบตเตอรี่ 3200 mAh ชาร์จผ่านพอร์ต USB-C รองรับ OTG
- มีลำโพงในตัว
- มีปุ่มกดเปลี่ยนหน้าอยู่ข้างจอ
- Wi-Fi b/g/n + Bluetooth 4.2
- ไฟล์เอกสารที่รองรับ: pdf, epub, mobi, doc, txt, djvu, fb2, html, chm, azw และอื่น ๆ (เปิดไฟล์ภาษาไทยได้)
- ข้อมูลบนหน้าเว็บ
แม้สเปคในบางจุดอาจจะดูไม่เชิงว่าเป็นเวอร์ชันล่าสุดนัก แต่ก็อยู่ในระดับที่สามารถใช้อ่านหนังสือได้สบายมาก โดยข้อที่เป็นจุดเด่นเลยก็อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นคือหน้าจอขนาด 7.8″ ที่หลายท่านยกให้เป็นขนาดที่กำลังพอเหมาะพอเจาะ คือยังพกได้ไม่ลำบากนัก แต่ก็ได้พื้นที่แสดงผลที่ใหญ่เพียงพอสำหรับการอ่านหนังสือได้สบายตา สามารถถืออ่านมือเดียว นอนอ่านหนังสือได้สบาย จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มองว่าหน้าจอ 6″ นั้นดูเล็กไป แต่ถ้าเป็นกลุ่มจอ 10″ ขึ้นไปก็ใหญ่เกิน แต่ย้ำอีกครั้งว่ารุ่นนี้แสดงได้เฉพาะขาวดำแบบ grayscale นะครับ
5) Samsung Galaxy Tab A9 LTE 8/128 – แท็บเล็ต Android แบรนด์ดังต่ำหมื่นตัวคุ้ม
แท็บเล็ตปกติก็เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่หลายคนนำมาใช้อ่าน ebook เช่นกัน แต่ถ้าแบ่งอัตราส่วนรูปแบบการใช้งานก็อาจจะมีการนำมาใช้อ่านหนังสือน้อยลงมากว่าพวก ereader ซักหน่อย เช่นอาจจะเอาไว้ใช้เล่นเน็ต เล่นแอป เล่นเกมในเวลาปกติ ส่วนเวลาว่าง ๆ หรือก่อนนอนก็หยิบมาใช้อ่าน ebook บ้าง ซึ่งถ้าไลฟ์สไตล์ของคุณมีแนวโน้มว่าจะซื้อแท็บเล็ตมาใช้ในลักษณะคล้าย ๆ กันนี้ การเลือกแท็บเล็ต Android ซักเครื่องที่มีขนาดพกพาง่ายก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจเช่นกัน
ซึ่งถ้าหากต้องการเป็นแท็บเล็ต Android แบรนด์ดัง กะว่าใช้งานได้นานหน่อย ราคาไม่แรงเกิน ช่วงนี้ Samsung Galaxy Tab A9 LTE น่าสนใจมากครับ
- หน้าจอสัมผัส 8.7″ ความละเอียด 1340×800 (179 PPI)
- ชิปประมวลผล MediaTek Helio G99
- แรม 4GB หรือ 8GB
- พื้นที่เก็บข้อมูล 64GB หรือ 128GB เพิ่ม MicroSD ได้สูงสุด 1TB
- Android 13
- น้ำหนัก 333 กรัม
- แบตเตอรี่ 5100 mAh ชาร์จผ่านพอร์ต USB-C
- มีลำโพงในตัว
- Wi-Fi 5 + Bluetooth 5.3 + 4G LTE
- กล้องหลัง 8MP กล้องหน้า 2MP
- ข้อมูลบนหน้าเว็บ Samsung
สำหรับ Samsung Galaxy Tab A9 จะมีจุดที่น่านำมาใช้เป็นแท็บเล็ตสำหรับอ่าน ebook ก็ตรงที่หน้าจอมีขนาด 8.7″ ที่กำลังพอเหมาะสำหรับใช้อ่านหนังสือ เพราะไม่เล็กและไม่ใหญ่เกินไป นอกจากนี้ยังสามารถใช้ตอบโจทย์ความบันเทิงในด้านอื่น ๆ ได้ด้วยในเครื่องเดียว แต่ตัวหนังสือบนจออาจจะไม่ชัดแบบคมกริบมากนัก เนื่องด้วยค่า PPI ของจอที่อาจไม่ค่อยสูงซักเท่าไหร่ โดยถ้าให้แนะนำก็ควรเลือกเป็นรุ่นแรม 8GB รอม 128GB ไปเลยดีกว่า ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 6 พันกลาง ๆ ถึงเกือบ 7 พันบาท
6) Xiaomi Redmi Pad SE 6 – แท็บเล็ตจอใหญ่ อ่านได้ ดูหนังก็ดี
ต่อกันอีกรุ่นกับสายแท็บเล็ต Android ปกติที่นำมาใช้อ่านหนังสือก็ดีอย่าง Xiaomi Redmi Pad SE 6 ที่จะขยับหน้าจอมาเป็น 11″ เอาใจคนอยากได้แท็บเล็ตอ่านหนังสือจอใหญ่ ๆ เพื่อการอ่านได้แบบเต็มตา หรือจะใช้เปิดให้เด็ก ๆ ดูเพื่อประกอบการเรียนรู้ก็ทำได้ง่ายด้วย ส่วนสเปคเครื่องก็ตามนี้
- หน้าจอสัมผัส 11″ ความละเอียด 1920×1200 (207 PPI) 90Hz
- ชิปประมวลผล Snapdragon 680 8 คอร์
- แรม 6GB
- พื้นที่เก็บข้อมูล 128GB เพิ่ม MicroSD ได้สูงสุด 1TB
- Android 13
- น้ำหนัก 478 กรัม
- แบตเตอรี่ 8000 mAh ชาร์จผ่านพอร์ต USB-C 10W
- มีลำโพง 4 ตัว ระบบเสียง Dolby Atmos
- Wi-Fi 5 + Bluetooth 5.0
- กล้องหลัง 8MP กล้องหน้า 5MP
- ข้อมูลบนหน้าเว็บ Mi
Xiaomi Redmi Pad SE 6 เป็นแท็บเล็ตรุ่นคุ้มราคาอีกตัวที่เหมาะสำหรับมาใช้ในการอ่านหนังสือบนจอใหญ่ ๆ ด้วยหน้าจอที่ใหญ่ถึง 11″ โดยมีค่าความหนาแน่นพิกเซลต่อตารางนิ้ว 207 PPI ทำให้สามารถแสดงตัวอักษรและรูปภาพได้อย่างคมชัด นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์ลดแสงสีฟ้าและมีโหมดอ่านหนังสือให้เปิดใช้งานได้ จึงทำให้สามารถซื้อมาใช้ในการอ่านหนังสือในยามว่างได้สบาย ๆ แต่ก็จะยังมีข้อจำกัดในเรื่องแสงสะท้อนจากกระจกหน้าจอ และรูปแบบการแสดงผลที่อาจทำให้ใช้อ่านติดต่อกันนาน ๆ ไม่ได้แบบกลุ่มของ ereader ที่ใช้จอ E-ink อยู่บ้าง แต่ก็จะเหมาะกับโจทย์การใช้งานที่คล้าย ๆ กับ Samsung Galaxy Tab A9 ในแง่ที่ต้องการแท็บเล็ตอเนกประสงค์ ใช้อ่านหนังสือได้ ใช้เล่นโซเชียล ใช้ดูหนังฟังเพลงได้ในเครื่องเดียว ส่วนราคาก็จะอยู่ที่ประมาณ 6,000 บาทสำหรับรุ่น 6/128GB และประมาณ 7,000 บาทสำหรับรุ่น 8/256GB
7) BOOX Palma – จอ E-ink ขนาดเท่ามือถือ
แต่ถ้าต้องการเครื่องอ่าน ebook ที่พกสะดวกแบบขีดสุดจริง ๆ ก็คงต้องยกให้ BOOX Palma ที่จุดเด่นก็ตามชื่อรุ่นเลยคือมีขนาดกะทัดรัด สามารถถือได้ในมือเดียว เพราะมีขนาดเท่า ๆ กับสมาร์ตโฟนทั่วไปเลย โดยที่ใช้จอเป็นแบบ E-ink และเป็นระบบปฏิบัติการ Android ที่สามารถติดตั้งแอปเพิ่มผ่าน Play Store ได้เช่นกัน สเปคเครื่องมีดังนี้
- หน้าจอสัมผัส 6.13″ E-ink Carta 1200 จอกระจก ความละเอียด 1648×824 (300 PPI) แสดงผลแบบ grayscale
- มีไฟปรับระดับความสว่างหน้าจอได้สองโทนอุณหภูมิสี (warm and cold)
- ชิปประมวลผล Qualcomm แบบ octa-core แรม 6GB
- พื้นที่เก็บข้อมูล 128GB เพิ่ม MicroSD ได้สูงสุด 512GB
- Android 11
- น้ำหนัก 170 กรัม
- กล้องหลัง 16MP สำหรับใช้สแกนเอกสาร
- แบตเตอรี่ 3950 mAh ชาร์จผ่านพอร์ต USB-C รองรับ OTG
- มีลำโพงในตัว
- Wi-Fi 2.4 และ 5GHz + Bluetooth 5.0
- ไฟล์เอกสารที่รองรับ: PDF, DJVU, CBR, CBZ, EPUB, AZW3, MOBI, TXT, DOC, DOCX, FB2, CHM, RTF, HTML, ZIP, PRC, PPT, PPTX (เปิดไฟล์ภาษาไทยได้)
- ข้อมูลบนหน้าเว็บ
ด้วยความที่หน้าจอมีขนาดเล็กกว่าแท็บเล็ต ทำให้ค่า PPI ของจอสูงถึง 300 PPI แน่นอนว่าจะช่วยให้ตัวอักษรและภาพที่แสดงบนจอมีความคมชัด ตัดขอบสวยเนียนตาแทบไม่ต่างจากการใช้มือถือปกติเลย และเมื่อประกอบกับความสามารถในการติดตั้งแอปผ่าน Play Store ได้ ทำให้สามารถลงแอปเพื่อใช้งานได้เสมือนเป็นมือถือเครื่องนึงในการไถฟีดโซเชียลเลยก็ยังได้ การทำงานโดยรวมก็จัดว่ารวดเร็วพอตัว ส่วนการรีเฟรชจอ จากที่มีผู้ใช้งานรีวิวไว้ ส่วนใหญ่ระบุว่าค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบกับกลุ่มจอ E-ink ด้วยกัน อีกฟังก์ชันที่น่าสนใจก็คือมีกล้องหลังไว้ใช้สำหรับสแกนเอกสารเก็บเป็นไฟล์ในเครื่องได้อีกด้วย ส่วนราคาก็จะสูงหน่อย แต่ยังอยู่ในงบแบบตึง ๆ ซักนิดนึง โดยเริ่มต้นที่ประมาณ 9,900 บาท ถ้ารูปแบบการใช้งานจะต้องเน้นที่พกสะดวก เน้นความคล่องตัวมาก ๆ เช่นยืนอ่านขณะโดยสารรถไฟฟ้า หยิบขึ้นมาอ่านระหว่างนั่งรอ เครื่องนี้ก็น่าจะตอบโจทย์ได้ดีทีเดียว
สรุป แท็บเล็ตอ่านหนังสือ+ลงแอปได้ เลือกแบบไหนดี
ในกรณีที่ต้องการแท็บเล็ตอ่านหนังสือมาใช้ซักเครื่อง ความสามารถในการติดตั้งแอปพลิเคชันเพิ่มได้ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่น่าสนใจ เพราะเท่ากับว่าผู้ใช้จะสามารถติดตั้งแอปร้านหนังสืออื่นนอกเหนือจากระบบที่ติดมากับเครื่องได้ รวมถึงยังสามารถลงแอปอื่นเพื่อใช้งานได้ด้วย อาทิแอปฟังเพลง แอปโซเชียล ซึ่งแท็บเล็ตในกลุ่มนี้ เท่าที่นิยมในปัจจุบันก็จะมีสองกลุ่มใหญ่ ๆ คือแท็บเล็ตอ่านหนังสือที่ใช้เป็นจอ E-ink ซึ่งจุดเด่นคือหน้าจอจะเหมาะกับการใช้อ่านหนังสือติดต่อกันนาน ๆ ทั้งยังกินแบตต่ำ สามารถสแตนด์บายเครื่องได้เป็นเดือนโดยไม่ต้องชาร์จ แต่อาจจะได้ภาพที่ไม่สวยคม สีสัดมากนัก แม้จะมีรุ่นจอสีก็ตาม อย่างไรก็ตามก็จะมีจุดเด่นอื่นอีก เช่น น้ำหนักที่ค่อนข้างเบา ขนาดกะทัดรัด จึงเหมาะสำหรับการซื้อมาเพื่อใช้อ่านหนังสือเป็นหลัก ส่วนฟังก์ชันการลงแอปได้ก็จะถูกมองว่าเป็นฟังก์ชันรองลงมานิดนึง สำหรับในช่วงราคาไม่เกินหมื่นก็มักจะได้เป็นรุ่นจอ 6″ ที่มีตัวเลือกค่อนข้างหลากหลายหน่อย สำหรับแบรนด์ที่มีตัวแทนจำหน่ายและบริการหลังการขายในไทยอย่างเป็นทางการ
ส่วนอีกกลุ่มก็คือการซื้อแท็บเล็ต Android ทั่วไปมาใช้ในการอ่านหนังสือไปเลย แน่นอนว่าหน้าจอก็จะมีสีสันสวยงาม การแสดงผลก็ลื่นไหลกว่าจอ E-ink รวมถึงยังมีสเปคที่แรงกว่า ใช้งานได้หลากหลายกว่ามาก กลุ่มนี้มองว่าจะเหมาะสำหรับการนำมาใช้งานอย่างอื่น ใช้เพื่อความบันเทิงเป็นหลัก ส่วนการอ่านหนังสือดูจะเป็นความสำคัญระดับรองลงมามากกว่า สำหรับในงบไม่เกินหมื่น ตัวเลือกในปัจจุบันจะมีหลากหลายมาก ๆ ทั้งจากแบรนด์จีนที่มีหลายระดับ อินเตอร์แบรนด์อย่าง Samsung ก็มีให้เลือก หน้าจอก็จะมีหลากหลายขนาดเช่นกัน ส่วนใหญ่ก็จะเริ่มที่ 7″ ขึ้นไป