รู้หรือไม่ Intel เคยทำชิปสถาปัตยกรรม x86 ออกมาขายในตลาดสมาร์ทโฟน แต่ไม่นานนักก็หายไป มาดูเหตุผลกันว่าทำไมยักษ์ใหญ่อย่าง Intel ถึงไปไม่รอดในตลาดสมาร์ทโฟน
บางท่านอาจสงสัยว่าเหตุใดสมาร์ทโฟนที่ใช้ชิปเซ็ท x86 แบบเดียวกับที่ใช้งานบนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะหรือโน๊ตบุ๊คจึงไม่มีออกมาวางจำหน่าย แต่ทว่าสำหรับผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนมาตั้งแต่เริ่มและติดตามข่าวสมาร์ทโฟนมาโดยตลอดหลายๆ คนน่าจะรู้อยู่แล้วว่าที่แท้จริงเรามีสมาร์ทโฟนที่ใช้ชิปเซ็ท x86 ออกมาวางจำหน่ายมาก่อนตั้งแต่ช่วงปี 2012
มีแบรนด์ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนหลายแบรนด์ต่างๆ เริ่มเปิดตัวสมาร์ทโฟนที่ใช้ชิปเซ็ท x86 ที่ชื่อ Atom ของ Intel ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่บริษัทยกย่องว่าเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่มีความเจ๋งและสำคัญต่อบริษัทที่สุดไม่น้อยไปกว่าผลิตภัณฑ์ในไลน์อื่นเลย ตลาดสมาร์ทโฟนมีมูลค่าสูงด้วยตัวของมันเองซึ่งทำให้ทาง Intel ตัดสินใจเข้าสู่ตลาดนี้ นอกไปจากนั้นก่อนหน้าปี 2012 ทาง Intel ก็ได้ปูทางการใช้งานชิปเซ็ท Atom กับอุปกรณ์เคลื่อนที่ขนาดเล็กมาก่อนหน้าแล้วด้วย ดังนั้นทาง Intel น่าจะไม่มีปัญหาอะไรที่จะลงตลาดสมาร์ทโฟนด้วย Atom โดยมีคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้ออยู่เจ้าเดียวนั่นก็คือ Arm ซึ่งหากทาง Intel ยึดตลาดสมาร์ทโฟนได้แแล้วล่ะก็นั่ันหมายความว่า CPU ของ Intel จะอยู่ทุกหนแห่งอย่างเป็นทางการ
แต่ในความเป็นจริงพอมาถึงปี 2018 สมาร์ทโฟนที่มาพร้อมกับชิปเซ็ท x86 หรือ Atom ได้ก้าวเข้าสู่ยุคตกต่ำแล้วด้วยระยะเวลาเพียงไม่นานและ Atom เองก็ถูกสื่อเก็บเข้าสู่รายชื่อ CPU ที่แย่ที่สุดของ Intel เมื่อมองย้อนกลับไปแล้ว ไม่น่าเชื่อว่า Intel จะพา Atom เข้าสู่ยุคที่เลวร้ายขนาดนี้ได้ ท้ายที่สุดแล้ว Intel ได้ก้าวผิดพลาดในทุกส่วนของธุรกิจตั้งแต่ปี 2017 (จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ถึงจะเริ่มฟื้นตัว) แต่ความล้มเหลวของ Intel ในการเข้าถึงตลาดสมาร์ทโฟนนั้นซับซ้อนกว่าเทคโนโลยีที่ไม่ดีหรือว่าเป็นเพราะความผิดพลาดทางธุรกิจ ในบทความนี้เราจะมาดูกัน
- ประวัติโดยย่อของชิปเซ็ท x86 นาม Atom บนสมาร์ทโฟน
- Atom บุกเข้าไปในระบบนิเวศซอฟต์แวร์ของสมาร์ทโฟนไม่ได้
- Intel ไม่ยอมให้สิ่งที่จำเป็นแก่ Atom สำหรับสมาร์ทโฟน
- Intel ฝันใหญ่เกินไปจนทำให้ Atom สำหรับสมาร์ทโฟนไม่สมบูรณ์
ประวัติโดยย่อของชิปเซ็ท x86 นาม Atom บนสมาร์ทโฟน
ตั้งแต่กลางทศวรรษ 2000 ทั้ง Intel และ AMD มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาซิลิคอน(SoC) แบบดั้งเดิมในเวอร์ชันที่เล็กลงแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น AMD พอใจที่จะสร้างพีซีและโน๊ตบุ๊คขนาดเล็กด้วยสถาปัตยกรรม Bobcat APU แต่ Intel มีแนวคิดที่ยิ่งใหญ่เกี่ยวกับชิปเซ็ท Atom คู่แข่งที่ประกาศเปิดตัวครั้งแรกในปี 2008 มันไม่ใช่แค่คอมพิวเตอร์แบบพีซีโฮมเธียเตอร์และโน๊ตบุ๊คขนาดเล็กเท่านั้น แต่ทว่าทางบริษัทตั้งใจที่จะทำให้มันพิชิตโลกของ SoC เราจะเห็น Atom ในเครื่องเล่นเพลง, โทรทัศน์, อุปกรณ์ GPS, คอนโซลเกมมือถือและสมาร์ทโฟน Intel ซึ่งกำลังจะบุกเข้าสู่ฐานที่มั่นที่สำคัญที่สุดของ Arm และพยายามที่จะยึดครองไปให้ได้
แน่นอนว่า Atom ไม่ได้เข้าสู่ตลาดสมาร์ทโฟนทันทีเพราะ Intel ต้องวางรากฐานก่อน ดังนั้นปีในช่วงปี 2008 และ 2009 ชิปเซ็ท Atom จึงมาและผ่านไปได้ด้วยดีโดยที่ยังคงไม่มีสมาร์ทโฟนที่ใช้ชิปเซ็ท x86 ทว่าในที่สุด Intel ก็ได้เปิดตัว Atom CPU ที่จะใช้กับโทรศัพท์ในปี 2010 โดยมีชื่อเรียกสถาปัตยกรรมนั้นว่า Moorestown ซึ่งแน่นอนว่ายังคงต้องแข่งขันกับผู้ครอบครองตลาดชิปเซ็ทสมาร์ทโฟนอย่าง ARM แต่ Moorestown ก็มีความก้าวหน้าและทรงพลังมากจน Intel มั่นใจว่าจะเป็นบริษัทผลิตชิปเซ็ทให้กับสมาร์ทโฟนชั้นนำโดยมีแบรนด์ใหญ่ๆ (ณ ตอนนั้น) สามในห้าแบรนด์มาสร้างอุปกรณ์ที่ใช้ชิป Atom ให้
ของใหม่ที่มาพร้อมกลยุทธ์เก่า ท้ายที่สุดพยายามมากแค่ไหนก็ไปไม่รอด
ปี 2010 มาและผ่านไปโดยไม่มีการประกาศเปิดตัวสมาร์ทโฟน x86 แต่ก็ไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีการประกาศเปิดตัวสมาร์ทโฟนที่ใช้ชิปเซ็ทดังกล่าวด้วยความรวดเร็ว จากนั้นปี 2011 ก็มาถึงและผ่านไปโดยไม่มีสมาร์ทโฟนหรือแม้แต่การประกาศเกี่ยวกับอนาคต จนกระทั่งในปี 2012 มาถึงก็มีโทรศัพท์ที่ใช้ Atom เครื่องแรกเปิดตัวออกมาแต่ก็เป็นเพียงการออกแบบอ้างอิงที่ Intel และ Google สร้างขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงอย่างที่ทุกคนคิดเอาไว้ ในเวลาเดียวกัน Motorola, ZTE และ Lava กลายเป็นพันธมิตรรายแรกของ Intel ในด้านสมาร์ทโฟน ซึ่งนั่นทำให้ผู้ใช้ในสมัยนั้นเห็นแนวทางบางอย่างของสมาร์ทโฟนที่มาพร้อมกับชิปเซ็ท x86 นี้
จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม ใน 4 ปีต่อจาก 2012 นั้นไม่มีอะไรเกิดขึ้นจริงๆ เลยแม้แต่นิดเดียว มันไม่มีการออกแบบที่ยิ่งใหญ่ใดๆ ไม่มี CPU Atom ที่เร็วอย่างน่าทึ่งออกมา โดยถึงแม้ว่าในปี 2016 Intel ได้ประกาศครั้งใหญ่ว่ากำลังจะยกเลิก Atom SoCs ที่คาดว่าทางบริษัทจะปล่อยออกมาถึงสำหรับสมาร์ทโฟนซึ่งความจริงแล้วนั้นมันก็เป็นเช่นนั้นคือมันไม่มี Atom SoC ถูกเปิดตัวออกมาอีกเลย
ทำให้เป็นที่เข้าใจได้ว่าจะไม่มีสมาร์ทโฟนที่ใช้สถาปัตยกรรม x86 ออกมาอีกต่อไป และถึงแม้ว่า Atom ยังได้รับการอัปเดตอยู่ก็ตาม แต่การอัปเดทนั้นก็เป็นเพียงแค่การสร้าง Atom SoC ตัวสุดท้ายสำหรับบริษัทที่ทำข้อตกลงกับทาง Intel เอาไว้เท่านั้น ซึ่งกว่าที่บริษัทนั้นจะเปิดตัวสมาร์ทโฟนที่มาพร้อมกับ Atom SoC รุ่นสุดท้ายออกมามันก็เข้าสู่ปี 2018 แล้วแถมมันก็ยังแย่เอามากๆ อีกด้วยต่างหาก
ทั้งหมดนี้คือจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดอันรวดเร็วของสมาร์ทโฟนที่ใช้ชิปเซ็ท x86 ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้นเพราะ Intel มีทั้งทรัพยากรและความสามารถรวมไปจนถึงประสบการณ์มากมายในการผลิตหน่วยประมวลผลหรือกระทั่งชิปเซ็ท SoC มาอย่างยาวนานแต่มันก็เกิดขึ้นแล้วกับการที่เข้ามาในตลาดและจากไปอย่างเงียบๆ ของชิปเซ็ท x86 อย่าง Atom เวอร์ชันสำหรับสมาร์ทโฟนที่เชื่อเหลือเกินว่าหลายคนที่มองหาความแรงในยุคสมัยนั้นเคยคาดหวังเอาไว้มากกับชิปเซ็ท x86 ของทาง Intel นี้
Atom บุกเข้าไปในระบบนิเวศซอฟต์แวร์ของสมาร์ทโฟนไม่ได้
อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดและชัดเจนที่สุดสำหรับ Intel คือการสนับสนุนทางด้านซอฟต์แวร์ ซึ่งหลายคนรู้ดีว่าจะต้องลำบากตั้งแต่เมื่อเปิดตัวในปี 2008 เนื่องจาก Arm ครองตลาดสมาร์ทโฟนอยู่ ณ เวลานั้น มันไม่ใช่แค่เรื่องของบริษัทที่เคยร่วมงานกับ Arm หรือใช้ชิปเซ็ท ARM ในสมาร์ทโฟนของพวกเขาเท่านั้น ปัญหาที่ใหญ่กว่าที่ Intel ต้องประสบก็คือซอฟต์แวร์ทั้งหมดที่เคยมีมาก่อนที่ Intel จะลงตลาดนั้นได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับสถาปัตยกรรมของชิปเซ็ท ARM เท่านั้นซึ่งมันไม่สามารถที่จะใช้งานได้เลยกับชิปเซ็ท x86 ของทาง Intel
โดยพื้นฐานแล้ว CPU ทุกตัวจะใช้สถาปัตยกรรมชุดคำสั่ง (หรือ ISA) ซึ่งกำหนดว่า CPU สามารถทำอะไรได้บ้างโดยพื้นฐานและอ่านโค้ดอย่างไร (มันลึกไปถึงขั้นของสถาปัตยกรรมชุดคำสั่งจริงและการใช้งานในระดับ bit หรือพื้นฐานซอฟต์แวร์ที่เป็นตัวเลข 0 กับ 1 ไม่ใช่ภาษาการเขียนโค้ดที่นัพพัฒนาใช้เช่น Python หรือ C++) Arm มี (และยังคงมี) ความได้เปรียบอย่างมากในตลาดชิปเซ็ทสมาร์ทโฟน เนื่องจากซอฟต์แวร์ทั้งหมดถูกสร้างขึ้นสำหรับชิป ARM ตั้งแต่ระบบปฏิบัติการเช่น iOS และ Android ไปจนถึงแอปพลิเคชั่นที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการทั้ง 2 ด้วย
Intel รู้ดีเกี่ยวกับความท้าทายในการแนะนำชุดคำสั่งในชิปเซ็ท(ISA) ใหม่ที่อยู่บนชิปเซ็ท x86 Atom สู่ตลาดที่ซึ่งคุ้นเคยกับการใช้งาชุดคำสั่ง(ISA) อื่น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยก็คือหน่วยประมวลผล Itanium ซึ่งเป็นซีพียู 64 บิตตัวแรกของ Intel ที่ใช้สถาปัตยกรรม IA-64 ซึ่งมาพร้อมกับชุดคำสั่ง(ISA) ใหม่ แทนที่จะเป็นเวอร์ชันอัปเกรดของ x86 ที่สามารถรองรับ 64 บิตได้ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็ถือว่าเป็นข้อผิดพลาดร้ายแรงสำหรับ Itanium เพราะชิป Opteron คู่แข่งของ AMD ใช้ x86-64 ที่มาพร้อมกับชุดคำสั่ง(ISA) เวอร์ชันอัปเกรดให้รองรับ 64 bit ทำให้หน่วยประมวลผลของทาง AMD มีจุดเด่นที่ดีกว่าสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์และมันก็สามารถที่จะครองตลาดเซิร์ฟเวอร์เกือบ 25% ซึ่งในที่สุด Intel ก็ต้องทุ่มงบและกลับลำสร้างชิปเซิร์ฟเวอร์ x86-64 ของตัวเองออกมาใหม่ซึ่งนั่นก็คือ Xeon และยังใช้ x86-64 สำหรับ CPU อื่นๆ ทั้งหมดนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ถึงกระนั้น นี่คือสิ่งที่ Intel น่าจะสามารถคาดกาลและมองเห็นได้จากช่วงแรกๆ ในการจะพยายามเข้าสู่ตลาดสมาร์ทโฟนอยู่แล้วและด้วยการทุ่มเทให้กับชิปเซ็ทสำหรับสมาร์ทโฟนมากพอ จึงเป็นสิ่งที่ทาง Intel ควรจะสามารถเอาชนะได้อย่างไม่ยากนัก(เพราะมีประสบการณ์มาแล้ว) อันที่จริงมีสมาร์ทโฟนจำนวนมากที่ใช้ Atom CPU เช่นซีรีส์ Zenfone ของ Asus ซึ่งเป็นหนึ่งในชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ Intel อย่างไรก็ตามเรื่องของการพัฒนาซอฟต์แวร์ในระยะยาวดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องที่ Intel ให้ความสนใจเท่าไรนัก นอกไปจากนั้นแล้วมันยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ซับซ้อนอยู่ซึ่งทำให้ Intel ไปได้ไม่ไกลมากพอที่จะเข้ามายึดตลาดชิปเซ็ทสมาร์ทโฟนอย่างที่คาดเอาไว้
Intel ไม่ยอมให้สิ่งที่จำเป็นแก่ Atom สำหรับสมาร์ทโฟน
ในยุคแรกๆ ของ Atom น่าเสียดายที่มันกลายเป็นที่จดจำว่าค่อนข้างช้าในการใช้งานจริง และนั่นก็ไม่ได้ไม่ยุติธรรมกับ Intel เลย เพราะถึงแม้ว่าชิป Atom จะไม่ได้แย่ไปซะทุกอย่าง(หนึ่งในสมาร์ทโฟน x86 รุ่นแรกๆ จริงๆ แล้วมีประสิทธิภาพค่อนข้างดี) แต่ก็ไม่สามารถวัดกับชิปที่ใช้สถาปัตยกรรม ARM จากบริษัทอย่าง Qualcomm และ Apple ได้ นี่ไม่ได้เป็นเพียงผลลัพธ์ของวิศวกรรมที่ไม่ดีในส่วนของ Intel เท่านั้น แต่มันแสดงให้เห็นว่า Intel ยังขาดการจัดลำดับความสำคัญที่ทำให้ Atom เสียเปรียบคู่ต่อสู้อีกด้วย
โหนดกระบวนการหรือ Process nodes มีความสำคัญมากสำหรับชิปสมาร์ทโฟน การอัปเกรดจากกระบวนการหนึ่งไปอีกกระบวนการหนึ่งไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มความหนาแน่น(หมายความว่าคุณสามารถสร้างชิปขนาดเล็กลงหรืออัดชิ้นส่วนมากขึ้นในพื้นที่เดียวกันได้) แต่มันยังหมายถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลอีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
ประสิทธิภาพที่สูงขึ้นหมายถึงอายุการใช้งานแบตเตอรี่ที่ดีขึ้นและประสิทธิภาพที่ดีขึ้นโดยการใช้พลังงานเท่าเดิม แต่ Intel มักจะปล่อยให้ซีพียูเดสก์ท็อป, โน๊ตบุ๊คและเซิร์ฟเวอร์ของตนได้รับความสำคัญในการตรวจสอบก่อนเกี่ยวกับกระบวนการผลิตล่าสุด ซึ่งนั่นทำให้กว่าที่ Atom จะได้รับการอัปเกรดนั้นก็ตีเวลาเข้าไปประมาณหนึ่งหรือสองปีหลังจากนั้นในทุกเจเนอเรชันดังนั้นมันจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ Atom จะขาดในเรื่องประสิทธิภาพและประสิทธิผลเมื่อเทียบกับชิปเซ็ทของคู่แข่งที่มีการอัปเกรดออกมาใหม่ทุกๆ ปี
Extremetech ยังเสนอทฤษฎีที่ว่า Intel ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจสำหรับ Atom ออกมาซึ่งได้เขียนเอาไว้ในปี 2016 ไม่นานหลังจากที่ Intel ยกเลิกชิปเซ็ทสมาร์ทโฟน Atom โดยได้ระบุเอาไว้ว่า Intel “ไม่เต็มใจที่จะเสี่ยงที่จะทำลายโมเดลทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนให้กลายเป็นยักษ์ใหญ่แห่งการประมวลผล” Intel ไม่ต้องการผลิตโปรเซสเซอร์ราคาถูกสำหรับสมาร์ทโฟน ในเมื่อสามารถสร้างอัตรากำไรที่สูงกว่าในตลาดอื่นๆ ได้ หลังจากที่สูญเสียเงินหลายพันล้านดอลลาร์จากการพยายามเพียงครึ่งเดียว Intel ก็ยอมแพ้ทันทีที่บริษัทมองว่าชิปเซ็ทสำหรับตลาดสมาร์ทโฟนเป็นเรื่องที่ยากลำบากและต้องสูญงบประมาณไปโดยใช่เหตุ
Intel ฝันใหญ่เกินไปจนทำให้ Atom สำหรับสมาร์ทโฟนไม่สมบูรณ์
ระหว่างความยากลำบากอย่างยิ่งในการบุกเข้าไปในระบบนิเวศฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่จัดตั้งขึ้น(โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่า Intel มีประสบการณ์โดยตรงแล้ว) และความประมาทเลินเล่อทั่วไปต่อ Atom เป็นที่ชัดเจนว่า Intel ประเมินตัวเองสูงเกินไปเมื่อพูดถึงชิปเซ็ทสำหรับสมาร์ทโฟน บริษัทคิดว่าเพียงเพราะเป็นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมจึงสามารถเดินเข้าสู่ตลาดชิปเซ็ทตลาดสมาร์ทโฟนและจะคว้าชัยชนะได้เหมือนกับที่เคยมีกับเดสก์ท็อป, โน๊ตบุ๊คและเซิร์ฟเวอร์
ความโอหังแบบเดียวกันนั้นคือสิ่งที่ทำให้ Intel คิดว่าจะซื้อบริษัทแล้วบริษัทเล่าด้วยเงินหลายพันล้านดอลลาร์ โดยตั้งเป้าเพื่อให้ได้กำไรรุ่นต่อรุ่นที่สูงอย่างน่าเหลือเชื่อด้วยโหนดกระบวนการผลิต 10nm และยึดครอง 30% ของตลาดซิลิคอนทั้งหมด รวมถึง CPU, GPU และ FPGA ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ส่งผลต่อ Intel ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วเช่นเดียวกับที่ทำกับชิปเซ็ท x86 สำหรับตลาดสมาร์ทโฟนและถึงแม้ว่ามันจะเป็นการต่อสู้ที่ยากเย็นแสนเข็ญในการเอาชีวิตรอดในตลาดสมาร์ทโฟน x86 แต่ความประมาทเลินเล่อของ Intel อาจถึงวาระที่จะล้มเหลวได้ อย่างไรก็ตามโชคยังดีที่สุดท้ายทาง Intel ก็ยังสามารถที่จะหาทางเอาตัวรอดได้กับตลาด CPU, GPU และ FPGA ในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมานี้(กับกระบวนการผลิตที่ระดับ 10nm อย่างที่ตัวเองกำเอาไว้ไม่ยอมปล่อยออกมาสักที)
ที่มา : xda-developers