วิธียื่นภาษี 2565 แบบออนไลน์ (ยื่นในปี 2566) สำหรับ ภ.ง.ด. 90/91 ลดหย่อนอะไรได้บ้างทำตามได้เลยง่ายๆ อัพเดท 2566
ขึ้นสู่ปีใหม่ทีไร เหล่าคนทำงานประจำและฟรีแลนซ์ที่เป็นบุคคลธรรมดา ทั้งคนที่ทำมานานแล้วหรือคนที่เพิ่งเริ่มทำงานประจำเป็นปีแรก สิ่งที่ทุกคนต้องทำช่วงต้นปีเป็นประจำก็คือการยื่นภาษี ถึงแม้ว่าจะเงินเดือนในแต่ละปีจะถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียหรือไม่ ก็ควรที่จะต้องยื่นให้เพื่อให้กรมสรรพากรรู้ว่าเรานั้นมีตัวตนอยู่ และเพื่อแสดงรายการภาษีว่ามีรายได้เข้ามาเป็นประจำ และยิ่งเป็นคนจำเป็นต้องเสียภาษีก็ยิ่งควรที่จะรีบยื่น ก่อนที่กรมสรรพากรปิดกำหนดวันยื่นภาษี และมีปัญหาโดนค่าปรับตามมาอีกด้วย โดยการยื่นภาษีตอนนี้ก็สามารถทำได้ง่ายๆ ผ่านระบบออนไลน์พร้อมจ่ายภาษีได้เลย ใครที่เคยยื่นประจำอยู่แล้วคงไม่ใช่เรื่องยาก แต่ถ้าเป็นมือใหม่อาจจะมีการสับสนกันได้ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง เดี๋ยววันนี้ทาง Specphone จะมาบอกวิธียื่นภาษี 2565 แบบออนไลน์ (ที่ต้องยื่นในปี 2566 นี้) สำหรับ ภ.ง.ด. 90/91 มีวิธีทำยังไง ทำตามได้เลยง่ายๆ และเราสามารถลดหย่อนอะไรได้บ้าง อัพเดทปี 2566
- ยื่นภาษี 2565 แบบออนไลน์ (ยื่นในปี 2566) หมดเขตเมื่อไหร่?
- เงินเดือนหรือรายได้เท่าไหร่ ถึงต้องเสียภาษี?
- ยื่นภาษี 2565 ลดหย่อนอะไรได้บ้าง
- วิธียื่นภาษี 2565 แบบออนไลน์ (ยื่นในปี 2566) สำหรับ ภ.ง.ด. 90/91
ยื่นภาษี 2565 แบบออนไลน์ (ยื่นในปี 2566) หมดเขตเมื่อไหร่?
สิ่งแรกที่จำเป็นต้องรู้เลยก็คือวันกำหนดของกรมสรรพากร ที่กำหนดให้แต่ละปีจำเป็นต้องยื่นภาษีเงินได้ประมาณช่วงวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 มีนาคมของทุกๆ ปี (ในกรณีไปยื่นที่สำนักงานกรมสรรพากร) แต่ว่าการยื่นภาษีแบบออนไลน์ในปี 2566 นี้ กรมสรรพากรได้กำหนดวันยื่นภาษีไว้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึง 10 เมษายน 2566 นี้ แต่ถ้าหากเราหลงลืมหรือว่าจงใจไม่ไม่จ่ายเงินภาษี และไม่ยื่นภาษี (ในกรณีที่จำเป็นต้องชำระ) จ่ายไม่ครบ ยื่นแบบล่าช้า จะมีความผิดทั้งต้องเสียเงินเพิ่ม และเสียค่าปรับตามกฎหมายกำหนด ถ้าหากไม่จ่ายอะไรเลย จะมีความผิดทางอาญาและมีบทลงโทษดังนี้
- บุคคลธรรมดาที่ไม่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ภายในวันที่กำหนดของทุกปี หรือว่ายื่นแบบฯ เกินกำหนดเวลา จะโดนโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท (แต่สามารถขอลดค่าปรับได้)
- ในกรณีที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 และมีเงินภาษีที่ต้องชำระ แต่ไม่จ่ายภาษีภายในเวลาที่กำหนด จะถือว่าไม่ได้ยื่นแบบและต้องไปยื่นแบบที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ พร้อมเสียเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ โดยนับตั้งแต่วันที่หมดเวลายื่นภาษีจนถึงวันจ่ายภาษี รวมถึงค่าปรับในข้อ 1 ด้วย
- ในกรณีที่ถูกตรวจสอบออกหมายเรียก และไม่ได้ยื่นแบบฯ หรือยื่นแล้วแต่ชำระขาดไป จะต้องชำระเงินเพิ่มแล้ว และต้องเสียค่าปรับเพิ่มอีก 1 เท่าหรือ 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระแล้วแต่กรณี (สามารถขอลดหรืองดได้)
- หากมีการจงใจให้ข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จรวมไปถึงการฉ้อโกง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท
- หากเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
ดูข้อกฎหมายเพิ่มเติมที่ กรมสรรพากร
เงินเดือนหรือรายได้เท่าไหร่ ถึงต้องเสียภาษี?
สิ่งที่น่าปวดหัวไม่แพ้การยื่นภาษีประจำปีก็คือเรื่องของเงินได้หรือเงินเดือน และเงินได้สุทธิในแต่ละปีที่หลายคนอาจจะงงๆ ว่าเงินอะไรคืออะไรกันแน่ และมีวิธีคำนวณภาษีอย่างไร ซึ่งการคำนวณภาษีเหล่านี้แนะนำว่าให้โหลดแอพ RD Smart Tax หรือ iTax มาคำนวณจะง่ายที่สุด ส่วนเงินที่เราได้รับในแต่ละเดือนและแต่ละปีจะมีการแยกมาคิดอีกที โดยเงินที่ได้รับเป็นเงินประจำสำหรับพนักงานในแต่ละเดือนจะเรียกว่า “เงินได้” แต่การคิดเงินสำหรับมาคำนวณในการเสียภาษีจะเรียกว่า “เงินได้สุทธิ” ซึ่งทุกคนจะได้รับการลดหย่อนภาษีค่าใช้จ่ายในแต่ละปีอยู่แล้วได้แก่
- ค่าใช้จ่ายส่วนตัว 100,000 บาท
- ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
- เงินสะสมกองทุนประกันสังคม 9,000 บาท (ในกรณีที่ส่งเงินประกันสังคม)
โดยวิธีคิดแบบเบื้องต้นง่ายๆ ว่าจำเป็นต้องเสียภาษีหรือไม่ ให้นำเงินที่ได้รับทั้งหมดทั้งปี ลบกับค่าใช้จ่ายส่วนตัว 100,000 บาท ลบค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาทและลบประกันสังคม 9,000 บาท (ตามสูตราเงินได้สุทธิ = เงินได้ทั้งปี − ค่าใช้จ่ายส่วนตัว – ค่าลดหย่อน – ประกันสังคม) ยกตัวอย่างเช่นเงินได้ทั้งปีคือ 300,000 บาทก็จะต้องนำไปหักลบดังนี้ 300,000 – 100,000 – 60,000 – 9,000 = 131,000 ก็จะเท่ากับเงินได้สุทธิ และนำเงินได้สุทธิที่คำนวณได้นี้มาเทียบกับตาราง (ด้านล่าง) ว่าถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีหรือไม่ ถ้าหากถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีให้นำ เงินได้สุทธิ (สูตรแบบขั้นบันได) X อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่ายนั่นเอง (ยังไม่รวมค่าลดหย่อนอื่นๆ)
เงินได้สุทธิ อัตราภาษี 1 – 150,000 บาท ได้รับการยกเว้น 150,001 – 300,000 บาท ร้อยละ 5 (5%) 300,001 – 500,000 บาท ร้อยละ 10 (10%) 500,001 – 750,000 บาท ร้อยละ 15 (15%) 750,001 – 1,000,000 บาท ร้อยละ 20 (20%) 1,000,000 – 2,000,000 บาท ร้อยละ 25 (25%) 2,000,001 – 5,000,000 บาท ร้อยละ 30 (30%) 5,000,001 บาทขึ้นไป ร้อยละ 35 (35%)
ส่วนเงินเดือนขั้นต่ำที่คำนวณแล้วไม่ต้องเสียภาษีคือเงินเดือนเดือนละ 26,583.33 บาท (ไม่รวมโบนัสและรายได้จากทางอื่น) จากการคำนวณขั้นต่ำของเงินได้สุทธิที่ต้องเสียภาษีคือ 150,000 เมื่อนำมารวมกับค่าลดหย่อนก็จะได้เท่ากับ 150,000 + 100,000 + 60,000 + 9,000 จะได้เท่ากับ 319,000 บาท (ไม่ได้จ่ายประกันสังคมจะเป็น 310,000 บาท) เมื่อหาร 12 เดือนก็จะได้ 26,583.33 บาท (ไม่รวมโบนัสและรายได้ทางอื่น) หรือสรุปง่ายๆ ว่า
- บุคคลธรรมดาที่มีเงินเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ไม่ต้องยื่นภาษี
- บุคคลธรรมดาที่จ่ายประกันสังคม และมีเงินเดือนไม่เกิน 26,583.33 บาท ต้องยื่นภาษี แต่ไม่ต้องเสียภาษี
- บุคคลธรรมดาที่จ่ายประกันสังคม และมีเงินเดือนเกิน 26,583.33 บาท ต้องยื่นภาษี และต้องเสียภาษี
- บุคคลธรรมดาที่ไม่ได้จ่ายประกันสังคม และมีเงินเดือนไม่เกิน 25,833.33 บาท ต้องยื่นภาษี แต่ไม่ต้องเสียภาษี
- บุคคลธรรมดาที่ไม่ได้จ่ายประกันสังคม และมีเงินเดือนเกิน 25,833.33 บาท ต้องยื่นภาษี และต้องเสียภาษี
ทั้งนี้การคำนวณที่กล่าวมาข้างต้นหมายถึงเฉพาะผู้ที่มีรายได้ทางเดียว ไม่รวมโบนัสหรือรายได้จากการขายของ ฟรีแลนซ์ ฯลฯ ที่เป็นรายได้นอกเหนือจากเงินเดือนที่ได้รับ ถ้ามีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือน สามารถนำมาคำนวณได้อีกรูปแบบคือแบบเหมา โดยใช้สูตรภาษีแบบเหมา = (เงินได้ทุกประเภท – เงินเดือน) x 0.005 ถ้าหากคำนวณแล้วภาษีไม่ถึง 5,000 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษี แต่ถ้าใครอ่านแล้วงงจัดจริงๆ แนะนำว่าให้โหลดแอพคำนวณภาษีมาจะดีที่สุด ส่วน ภ.ง.ด. 90 และ 91 ต่างกันดังนี้
- ภ.ง.ด. 90 คือบุคคลที่มีเงินได้ 2 ประเภทขึ้นไป โดยเป็นรายได้อื่นนอกจากเงินเดือนประจำ หรือบุคคลที่ไม่ได้รับเงินเดือนประจำ เช่น ฟรีแลนซ์ เงินปันผลจากกองทุน นักลงทุน นักเล่นหุ้น ขายของ ขายของออนไลน์ มรดก ฯลฯ (ยื่นภาษีประจำปีครั้งเดียว)
- ภ.ง.ด. 91 คือบุคคลที่มีเงินได้จากการจ้างงาน หรือเงินเดือน โบนัสหรือเบี้ยต่างๆ เพียงทางเดียวไม่มีรายได้อย่างอื่น (ยื่นภาษีประจำปีครั้งเดียว)
ยื่นภาษี 2565 ลดหย่อนอะไรได้บ้าง
สำหรับการลดหย่อนภาษีในแต่ละปีนั้น ถ้าเราคำนวณแล้วว่ารายได้สุทธิที่ได้นั้นไม่เสียภาษีแน่ๆ แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องลดหย่อนภาษีอีก เพราะการลดหย่อนภาษีจะมีประโยชน์สูงสุดก็ต่อเมื่อรายได้สุทธิที่คำนวณตลอดทั้งปีเข้าเกณฑ์ที่รัฐกำหนดไว้ (ตามตารางด้านบน) โดยจะมีการปรับเปลี่ยนค่าลดหย่อนในแต่ละรายการและต่อปีจะไม่เหมือนกัน มีค่าลดหย่อนตามแต่ละแบบดังนี้
ค่าลดหย่อนกลุ่มพื้นฐาน (ค่าใช้จ่ายส่วนตัว)
- ค่าลดหย่อนส่วนตัว
- ค่าลดหย่อนคู่สมรส
- ค่าลดหย่อนบุตร
- ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร
- ค่าลดหย่อนเลี้ยงดูบิดามารดา
- ค่าลดหย่อนเลี้ยงดูผู้พิการ หรือทุพพลภาพ
ค่าลดหย่อนเบี้ยประกัน และการลงทุนในกองทุนต่างๆ
- เบี้ยประกันชีวิต
- เบี้ยประกันสุขภาพตัวเอง
- เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา
- เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
- กองทุน กบข. และกองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF
- ลงทุนกองทุนรวมเพื่อการออม หรือ SSF
- ลงทุนกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช.
- เงินประกันสังคม
ค่าลดหย่อนตามมาตรการรัฐ
- ช้อปดีมีคืน 2565
- ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย
- เงินลงทุนธุรกิจในวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise
ค่าลดหย่อนจากการบริจาค
- เงินบริจาคทั่วไป
- บริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคมและโรงพยาบาลรัฐ
- เงินบริจาคพรรคการเมือง
วิธียื่นภาษี 2565 แบบออนไลน์ (ยื่นในปี 2566) สำหรับ ภ.ง.ด. 90/91
สำหรับวิธียื่นภาษี 2565 แบบออนไลน์ที่ต้องยื่นในปี 2566 ตั้งแต่วันนี้ถึง 10 เม.ย. 2566 บนหน้าเว็บกรมสรรพากรแบบ E-Filling หรือแอพ RD Smart Tax ของบุคคลธรรมดาที่เป็นภ.ง.ด. 90/91 สามารถยื่นผ่านระบบออนไลน์ได้เลยง่ายๆ มีวิธีทำเหมือนกัน โดยมีสิ่งที่ต้องเตรียมก่อนการยื่นภาษี 2565 แบบออนไลน์และมีวิธียื่นดังนี้
- หนังสือรับรองภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ)
- เอกสารหรือรายการลดหย่อนภาษีตลอดทั้งปี 2565 (ถ้ามี)
1. เข้าไปยังหน้าเว็บการยื่นแบบ E-Filling ของกรมสรรพากร จากนั้นเลือกเมนู “ยื่นแบบออนไลน์” เพื่อเข้าสู่ระบบได้เลย
1.1 หากใครที่ยังไม่เคยยื่นภาษีเลย จำเป็นต้องสมัครสมาชิกก่อน โดยการสมัครนั้นจำเป็นต้องใช้เลขประจำตัวประชาชน วัน/เดือน/ปีที่เกิด เลขหลังบัตรประชาชน ที่อยู่ Email และสร้างรหัสผ่านเพื่อใช้ในการเข้าสู่ระบบครั้งต่อไปสำหรับยื่นภาษีออนไลน์
2. เมื่อสมัครสมาชิกเรียบร้อยแล้ว หรือว่าใครที่เคยยื่นแล้วก็กดเข้าสู่ระบบได้เลย ด้วยการใส่เลขประจำตัวประชาชน รหัสผ่าน จากนั้นให้ยืนยัน OTP ด้วยเบอร์มือถือของตัวเองที่ใช้งานอีกครั้งเพื่อเข้าสู่ระบบ
3. หลังจากเข้าสู่ระบบแล้วให้อ่านเงื่อนไขและข้อตกลงก่อนกดยอมรับ จากนั้นให้เลือก “ยื่นแบบ” สำหรับบุคคลธรรมดา ภ.ง.ด. 90/91
4. กรอกข้อมูลผู้มีเงินได้ทั้งหมดในช่อง (ถ้าหากเคยยื่นแล้วสามารถกดแก้ไขข้อมูลได้) เมื่อใส่ข้อมูลครบแล้วให้กด “ถัดไป”
5. กรอกข้อมูลรายได้จากเงินเดือน โดยข้อมูลทั้งหมดนี้จะมีอยู่ในหนังสือรับรองภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) รวมไปถึงรายได้ฟรีแลนซ์, รับจ้างทั่วไป, วิชาชีพอิสระ และอื่นๆ (ถ้ามีก็ใส่ไปให้ครบ ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องใส่) โดยส่วนของการ “ระบุข้อมูล” เมื่อกดเข้าไปแล้วให้ใส่ข้อมูลให้ครบ รวมไปถึงเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของบริษัทที่ทำงานอยู่ด้วย เมื่อใส่ข้อมูลทั้งหมดแล้วให้กด “ถัดไป”
6. กรอกข้อมูลค่าลดหย่อนตามความจริงได้เลย โดยระบบจะคำนวณสิทธิลดหย่อนให้สูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดให้เราอัตโนมัติ (อ่านให้ครบอย่าลืมใส่ค่าเงินสมทบกองทุนประกันสังคมถ้ามี) เมื่อใส่ครบแล้วกด “ถัดไป”
7. หลังจากนั้นระบบจะคำนวณข้อมูลทั้งหมด ให้เราตรวจสอบข้อมูลให้ครบว่าถูกต้องหรือไม่ ถ้าถูกต้องดีแล้วให้กด “ถัดไป”
8. เมื่อกดมาแล้วระบบจะขึ้นข้อมูลโดยละเอียดอีกครั้งเพื่อการยืนยันความถูกต้อง ทั้งแบบยื่น การคำนวณภาษี การลดหย่อนภาษี หากข้อมูลครบทุกอย่างแล้วให้กด “ยืนยันการยื่นแบบ” ก็จะสามารถยื่นภาษี 2565 แบบออนไลน์ได้ครบทั้งหมดแล้ว
ทั้งนี้ก็ยังสามารถบันทึกร่าง หรือพิมพ์แบบออกมาเก็บไว้ได้ด้วย ถ้าหากใครที่ไม่ต้องเสียภาษีระบบจะแจ้งผลทุกอย่างพร้อมเอกสารและใบเสร็จอื่นๆ ออกมาให้เลย แต่ถ้าหากชำระภาษีไว้เกินก็สามารถขอเงินคืนผ่าน พร้อมเพย์ และบัญชีของธนาคารกรุงไทย อีกทั้งยังสามารถติมตามสถานะได้ด้วยบนเว็บ rd.go.th
ส่วนในกรณีที่ต้องเสียภาษีหรือต้องจ่ายเพิ่มเติม สามารถเลือกได้เลยว่าจะชำระผ่าน QR Code, E-Payment, บัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตผ่านช่องทางออนไลน์, Internet Banking, ATM, Counter Service, Tele Banking, Phone Banking และ Mobile Banking ตามที่ระบบมีให้เลือก โดยหากมียอดเกิน 3,000 บาทขึ้นไป สามารถเลือกผ่อนชำระภาษีได้สูงสุด 3 งวดเท่าๆ กัน ซึ่งระบบจะบอกข้อมูลการชำระทั้งหมดไว้ให้เลย
ทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อมูลเกี่ยวกับการยื่นภาษี 2565 ล่าสุดที่เราได้นำมาอัพเดท และวิธียื่นภาษี 2565 แบบออนไลน์ ที่ต้องยื่นในปีนี้ก่อนสิ้นสุดวันสุดท้ายวันที่ 10 เมษายน 2566 ถ้าทำความเข้าใจเกี่ยวกับการยื่นภาษีและวิธีคำนวนแบบต่างๆ รวมไปถึงการยื่นก็ไม่ได้มีวิธีซับซ้อน หรือยากอย่างที่คิด ถ้าหากเรามีข้อมูลถูกต้องครบถ้วนก็แค่ใส่ข้อมูลยื่นภาษีต่างๆ ไปให้เรียบร้อย เดี๋ยวระบบก็จะคำนวณและจัดการให้เราเอง แต่ก็อยากจะแนะนำว่ารหัสที่เข้าสู่ระบบควรเป็นรหัสที่พอจำได้ง่ายหน่อย เพราะใช้งานเพียงปีละครั้ง อาจจะทำให้ลืมกันไปบ้าง ส่วนใครที่ยังสับสนเกี่ยวกับการคำนวณในการยื่นภาษี 2565 ก็สามารถโหลดแอพมาลองใช้งานดูตามที่เราบอกกันไปได้เลย และถ้ามีเรื่องไหนน่าสนใจอีก เราก็จะนำมาฝากกันเรื่อยๆ เลยนะครับ
ขอบคุณข้อมูลยื่นภาษี 2565 ต่างๆ ทั้งหมดจาก กรมสรรพากร