ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้มือถือจะต้องมาคู่กับเทคโนโลยีชาร์จเร็ว อันเนื่องมาจากปริมาณแบตเตอรี่ที่ขยายใหญ่ขึ้น หากไม่มีเทคโนโลยีชาร์จเร็วเข้ามาช่วยแล้วจะทำให้ต้องใช้เวลาชาร์จที่นานเอามาก ๆ ซึ่งเหล่าผู้ผลิตก็เข้าใจตริงนี้และได้ใสเทคโนโลยีชาร์จเร็วเพิ่มเข้ามาให้ แต่ทว่าแต่ละยี่ห้อนั้นก็จะมีระบบชารฺจเร็วเป็นของตัวเอง บางรายก็ใช้ระบบชาร์จเร็วแบบมาตราฐาน ซึ่งวันรี้เราจะมาสรุปกันว่าในปัจจุบันนี้มีเทคโนโลยีชาร์จเร็วอะไรบ้าง มีกี่แบบ ถ้าอยากรุ้กันแล้วไปดูกันได้เลย
หลักการทำงานของระบบชาร์จเร็ว
ระบบชาร์เร็วนั้นจะจ่ายไฟเข้าสูงแบตเตอรี่ด้วยการเพิ่มแรงดันไฟฟ้า (V) หรือเพิ่มกระแสำฟฟ้า (A) เข้าไป โดยจะมีชิปสำหรับควบคุมติดตั้งเอาไว้ที่อุปกรณ์ชาร์จและที่มือถือด้วย ซึ่งเมื่อทำการเสียบสายชาร์จชิปปตัวนี้ที่มีอยู่ทั้งในที่ชาร์จและมือถือจะทำการตรวจสอบกันและกัน หากเป็นมาตรฐานเดียวกันจึงจะเริ่มชาร์จด้วยความเร็วสูงตามมาตรฐานนั้น ๆ แต่ถ้าไม่ตรงกันก็จะจ่ายไฟขั้นต่ำสุดเหมือนการชาร์จแบตเตอรี่แบบทั่วไปแทน
ระบบชาร์จเร็วจะจ่ายไฟมากน้อยตามสถานะของแบตเตอรี่ โดยจะลดกำลังไฟลงเมื่อแบตเตอรี่ใกล้เต็มเพื่อป้องกันอันตรายจากกระแสไฟเกิน และนี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมเวลาชาร์จมือถือจึงใช้เวลาชาร์จในช่วง 80% ขึ้นไปนานกว่าปกติ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ มาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ความร้อน เพราะหากมือถือมีความร้อนที่สูง ตัวชิปจะปล่อยกระแสไฟเข้าแบตเตอรี่อ่อนลงเพื่อป้องกันไม่ให้แบตเตอรี่ร้อนเกินไปนั่นเอง
ข้อดีของเทคโนโลยีชาร์จเร็ว
- เติมแบตเตอรี่ให้กับอุปกรณ์ได้โดยใช้ระยะเวลาไม่นานมาก
- อแดปเตอร์มักมีขนาดไม่ใหญ่มาก ทำให้พกพาง่าย
- อุปกรณ์ที่รองรับการชาร์จเร็ว (อุปกรณ์พกพา เช่น แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน) มักจะใช้ร่วมกันได้ เพราะมาจากพื้นฐานเทคโนโลยีรูปแบบเดียวกัน
- เพิ่มความสะดวกสบายในการใช้งาน ไม่ต้องรอชาร์จแบตเตอรี่นาน
ข้อเสียของเทคโนโลยีชาร์จเร็ว
- ตัวเครื่องในระหว่างการชาร์จมักจะมีความร้อนสูงกว่าการชาร์จระบบปกติ
- อุปกรณ์เสริมมีราคาแพง (โดยมากจะเป็นเฉพาะอุปกรณ์ที่รองรับการจ่ายไฟสูงมาก ๆ)
- เทคโนโลยีของผู้ผลิตบางรายไม่สามารถใช้ร่วมกับอุปกรณ์ยี่ห้ออื่นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
- อายุการใช้งานของแบตเตอรี่อาจจะน้อยกว่าอุปกรณ์อื่น
เทคโนโลยีชาร์จในมือถือ
USB Power Delivery (USB-PD)
USB Power Delivery (USB-PD) คือเทคโนโลยีมาตรฐานในการจ่ายไฟผ่านพอร์ต USB Type-C สามารถจ่ายไฟได้สูงสุดถึง 100W จึงเหมาะที่จะใช้งานกับอุปกรณ์อื่นที่ใหญ่กว่ามือถือด้วย เช่น แล็ปท็อป เป็นต้น อุปกรณ์ที่นำมาตรฐานนี้มาใช้ ได้แก่ iPhone, iPad, Macbook ของ Apple และ Pixel ของ Google
ในส่วนของ iPhone และ iPad หากต้องการใช้เทคโนโลยีชาร์จไว USB-PD จำเป็นต้องใช้อุปกรณ๋เฉพาะทั้งอะแดปเตอร์ชาร์จ 18W / 20W และสาย USB Type-C to Lightning (หลายตังอยู่ถ้าต้องซื้อ แต่มีของ Third Party สามารถซื้อมาใช้แทนได้ เช่น ZMI) แต่ถึงอย่างนั้นการชาร์จไวจะใช้ได้แค่ช่วง 0% – 79% เท่านั้น หลังจากนั้นจะลดความเร็วในการชาร์จลงจนกระทั่งเต็ม 100%
Quick Charge (Qualcomm)
เทคโนโลยีชาร์จเร็วจาก Qualcomm ที่เป็นผู้ผลิตชิปเซ็ตรายใหญ่ โดยเทคโนโลยีที่ติดมากับชิปเซ็ตตระกูล Snapdragon ทำให้ผู้ผลิตมือถือสามารถซื้อลิขสิทธิ์เทคโนโลยีนี้ไปใช้ได้ ส่งผลให้ระบบ Quick Charge ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายมาก
การทำงานของระบบ Quick Charge จะเป็นการเพิ่มแรงดันไฟฟ้า (V) ซึ่งส่งผลให้กำลังไฟฟ้า (W) เพิ่มขึ้นตาม ซึ่งตัวระบบ Quick Charge 3.0 ที่นิยมใช้กันมากที่สุดในปัจจุบันนั้น สามารถจ่ายกระแสไฟได้ต่ำสุด 3.6V สูงสุด 20V โดยจะมีเทคโนโลยี Intelligent Negotiation for Optimum Voltage (INOV) คอยปรับกำลังไฟให้เหมาะสมที่สุดตามช่วงการชาร์จ โดยในช่วงพีคสุดจะจ่ายไฟได้สูงสุดที่ 18W และในเวอร์ชั่นล่าสุดอย่าง Quick Charge 4.0+ นั้น สามารถชาร์จมือถือได้ 50% ภายในเวลา 15 นาที ซึ่งชาร์จได้เร็วกว่า Quick Charge 3.0 ถึง 2 เท่า
ความเจ๋งของ Quick Charge คือมันมีระบบปรับสมดุลความร้อนอัจฉริยะ ที่จะส่งกระแสไฟผ่านจุดที่เย็นที่สุด และเซ็นเซอร์ในมือถือจะคอยควบคุมอุณหภูมิของตัวเครื่องและพอร์ตเชื่อมต่อ เพื่อป้องกันการโอเวอร์ฮีตและกระแสไฟฟ้าลัดวงจร
Adaptive Fast Charge (Samsung)
Adaptive Fast Charging คือระบบชาร์จเร็วของ Samsung ที่มากับชิปเซ็ตประมวลผล Exynos ในมือถือ Galaxy ทุกรุ่น ในทางทฤษฎีสามารถจ่ายไฟได้สูงสุดที่ 9V/2A (18W) แต่ต้องใช้อุปกรณ์ชาร์จที่รองรับมาตรฐานนี้เท่านั้น อย่างไรก็ตามมือถือ Galaxy บางรุ่นรองรับการชาร์จด้วยกำลังไฟมากกว่า 18W ได้ เช่น Samsung Galaxy Note10 Plus ที่มีแบต 4,300mAh รองรับการชาร์จด้วยกำลังไฟสูงสุด 45W แต่ในกล่องที่แถมมาจะมีขนาดเพียง 25W จำเป็นต้องใช้อแดปเตอร์ชาร์จแบบพิเศษที่จ่ายไฟ 10V/4.5A (45W) ซึ่งแพงเอาเรื่อง ทว่าในปัจจุบันมือถือของ Samsung ทุกรุ่นนั้นจะชาร์จเร็วได้สุงสุด 25W เท่านั้นแล้ว
TurboPower (Motorola)
TurboPower ของ Motorola นั้นถูกดัดแปลงมาจาก Quick Charge 2.0 โดยติดมากับมือถือ Motorola ทุกรุ่นตั้งแต่ Moto G7 เป็นต้นมา มีทั้งหมด 3 เวอร์ชั่น ได้แก่ TurboPower 15, TurboPower 25, และ TurboPower 30 ซึ่ง TurboPower 30 คือเวอร์ชั่นที่เร็วที่สุด โดยจะจ่ายไฟแรงดัน 5V ที่มีกระแสไฟสูงสุด 5.7A รวมแล้วเป็น 28.5W ซึ่ง Motorola เคลมว่า สามารถช่วยให้มือถือ Moto ใช้งานได้ถึง 152 ชั่วโมง ด้วยการชาร์จเพียงแค่ 15 นาที
Pump Express Plus (MediaTek)
Pump Express คือระบบชาร์จเร็วที่ MediaTek พัฒนาขึ้นมา ซึ่งมาตรฐาน Pump Express 2.0+ จะถูกนำไปใช้กับมือถือระดับเริ่มต้นที่ใช้พอร์ตชาร์จแบบ Micro-USB และ USB Type-C ส่วน Pump Express 3.0 จะใช้กับมือถือที่มีราคาแพงขึ้นมาอีกระดับ และ Pump Express 4.0 นั้นจะเหมือนกับ Pump Express 3.0 แต่จะรองรับระบบชาร์จไวไร้สายมาตรฐาน Qi ที่จ่ายกำลังไฟ 15W ด้วย
เรื่องความเร็วในการชาร์จนั้น MediaTek เคลมว่า Pump Express 2.0+ สามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้ 75% ภายในเวลา 30 นาที และ Pump Express 3.0 หรือ 4.0 สามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้ 75% ภายในเวลา 20 นาที ขณะเดียวกัน ยังมีระบบนิรภัยกว่า 20 ชั้นในการป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร และมีเทคโนโลยีบนตัวชิปเซ็ตที่ช่วยป้องกันไฟเกิน และ overheat อีกด้วย
** Pump Express 3.0 เข้ากันได้กับอแดปเตอร์ USB-PD ที่รองรับการจ่ายไฟ 3V ถึง 6V ที่ 5A ขึ้นไป และสายเคเบิลที่รองรับกระแสไฟ 5A ได้ ส่วน Pump Express 4.0 ก็เข้ากันได้กับอแดปเตอร์ USB-PD 3.0 เช่นกัน **
SuperVOOC / VOOC Flash Charge (OPPO)
SuperVOOC / VOOC Flash Charge คือเทคโนโลยีชาร์จเร็วที่ OPPO พัฒนาขึ้นมาเอง และเป็นระบบชาร์จเร็วรายแรกของโลกอีกด้วย โดยในปัจจุบันนั้น Super VOOC มักจะอยู่ในมือถือระดับเรือธงเป็นหลัก ส่วน VOOC Flash Charge นั้นแทบจะมีในมือถือของ OPPO ทุกรุ่นยกเว้นรุ่นเริ่มต้นที่จะไม่มีให้ โดยตอนนี้ Super VOOC นั้นสามารถจ่ายไฟได้สูงถึง 65W เลยทีเดียว ซึ่งในปัจจุบัน OPPO เคลมว่า SuperVOOC 2.0 สามารถชาร์จแบตเตอรี่จาก 0 – 100% ได้ภายในเวลาเพียง 38 นาทีเท่านั้น
หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่ามันจะปลอดภัยไหม ทำไมมันใช้เวลาน้อยขนาดนี้ อันนี้ต้องบอกก่อนว่า SuperVOOC / VOOC Flash Charge มีระบบป้องกันอันตรายมากมาย ได้แก่
- ตัวทดสอบแรงดันไฟฟ้าที่ติดตั้งในอะแดปเตอร์
- ตัวบ่งชี้ VOOC ที่ติดตั้งอยู่ในอะแดปเตอร์
- ตัวบ่งชี้ VOOC ที่ติดตั้งอยู่ในโทรศัพท์
- ตัวทดสอบแรงดันไฟฟ้าที่อยู่ในโทรศัพท์
ทำให้เรามั่นใจได้เลยว่าการใช้ SuperVOOC / VOOC Flash Charge นั้นจะมีความปลอดภัยอย่างแน่นอน
Dash Charge / Warp Charge (OnePlus)
ระบบ Dash Charge และ Warp Charge ของ OnePlus มีพื้นฐานมาจากระบบ VOOC ของ OPPO ถูกใช้มาตั้งแต่ OnePlus 3 เป็นต้นมา ก่อนจะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Warp Charge ในรุ่น OnePlus 6T McLaren ซึ่งระบบ Dash Charge และ Warp Charge นี้จะใช้ได้กับสมาร์ทโฟน OnePlus รุ่นที่รองรับเท่านั้น และจะต้องใช้สาย Dash Charge โดยเฉพาะด้วย ซึ่งสายจะใหญ่กว่าสายชาร์จทั่วไปเพื่อรองรับแรงดันไฟฟ้าที่สูงกว่าปกติได้ ทั้งนี้สมาร์ทโฟน OnePlus จะแถมอแดปเตอร์และสาย Dash Charge หรือ Warp Charge มาให้ในกล่องอยู่แล้ว ไม่ต้องไปซื้อเพิ่มแต่อย่างใด
ความเทพที่ OnePlus พัฒนาเพิ่มขึ้นมาคือระบบนิรภัย Dash Charge และ Warp Charge ถูกออกแบบมาเพื่อให้ระบายความร้อนชณะชาร์จได้อย่างรวดเร็ว เพราะหัวชาร์จต้องแปลงแรงดันไฟฟ้าสูงจากแหล่งจ่ายไฟให้ต่ำลงทำให้เกิดความร้อนขึ้น แต่ความร้อนจะถูกสกัดไม่ให้ไปถึงตัวสมาร์ทโฟน และความเสถียรของกระแสไฟฟ้ายังช่วยรักษาความเร็วในการชาร์จ ไม่ให้ลดลงจากความร้อนด้วย
SuperCharge (Huawei)
SuperCharge คือระบบชาร์จไวของ Huawei มีคุณสมบัติคล้ายกับ Quick Charge โดยอาศัยการจ่ายแรงดันไฟฟ้า (V) ที่สูงกว่าการชาร์จทั่วไปเพื่อให้ชาร์จเร็วขึ้น โดยจะแปลงกระแสไฟจากแหล่งจ่ายตามสถานะของตัวแบตเตอรี่และอุณหภูมิในตัวมือถือเอง
อแดปเตอร์ SuperCharge รุ่นเก่าๆ รองรับการชาร์จ 3 ระดับ ได้แก่ 5V/2A, 4.5V/5A, และ 5V/4.5A (กำลังไฟสูงสุด 22.5W) และใช้ชิปที่อยู่ในหัวชาร์จปรับกระแสไฟฟ้า ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องความร้อนจากการแปลงกระแสไฟ แถมเข้ากันได้กับมาตรฐาน USB-PD ด้วย เนื่องจากมีเทคโนโลยี Smart Charge ที่จะเปลี่ยนโหมดการชาร์จตามประเภทของอแดปเตอร์นั่นเอง
นอกจากนี้ตัวเทคโนโลยี Smart Charge นี้ก็เป็นระบบนิรภัยให้ด้วย เพราะมันจะตรวจสอบกำลังการผลิตไฟฟ้าของหัวชาร์จและสายชาร์จ และจะลดกระแสไฟฟ้าลงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ขณะเดียวกัน ยังมีระบบระบายความร้อน 8 ชั้น ที่ช่วยลดอุณหภูมิได้ถึง 5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระบบชาร์จเร็วของเจ้าอื่น
และทั้งหมดนี่ก็คือเทคโนโลยีชาร์จเร็วทั้งหมดที่มีอยู่ในมือถือยุคปัจจุบันนี้แล้ว ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วระบบชาร์จเร็วทั้งหมดจะมีจุดเริ่มต้นมาจาก USB-PD และ Quick Charge แล้วหลาย ๆ เจ้าค่อยเอาไปต่อยอดอีกที แต่ก็มีบางเจ้าที่คิดค้นขึ้นมาได้เอง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับทางผู้ผลิตแล้วว่าจะใส่ระบบชาณืจเร็วขนาดเท่าไรมาในมือถือ โดยความเร็วจะอิงกับราคาเครื่องเป็นหลัก และถึงแม้อุปกรณ์ชาร์จอย่างอะแดปเตอร์และสายชาร์จจะมีราคาแพง แต่ในปัจจุบันนี้อะแดปเตอร์และสายชาร์จจาก Third Party ก็มีให้เลือกซื้อมายมากบนร้านค้าออนไลนื แถมยังราคาถูกอีกด้วย หากอุปกรณ์พังหรืือทำหายก็สามารถไปซื้อยี่ห้ออื่นที่มีเทคโนโลยีชาร์จเร็วแบบเดียวกันมาใช้แทนก็ได้