นับวันสมาร์ทโฟนก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ บวกกับการออกแบบในหลายๆ รุ่นที่มักจะเป็นแบบบางเบาทั้งสิ้น ทำให้หลายคนประสบกับปัญหาแบตเตอรี่ไม่พอใช้กันอย่างถ้วนหน้า จนแทบจะลืมไปแล้วว่าครั้งหนึ่งโทรศัพท์นั้นเคยชาร์จครั้งเดียวใช้ได้เป็นอาทิตย์ๆ
ล่าสุดมีการวิจัยของ Jaephil Cho นักวิจัยชาวเกาหลีใต้จากสถาบันวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำเมืองอุลซาน จับมือกับนักวิจัยของบริษัท LG Chem ที่เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนให้กับรถยนต์พลังไฟฟ้าอย่าง Chevrolet Volt โดยมีการเปลี่ยนอาโนด(ขั้วบวก) จากเดิมที่เป็นกราไฟต์ ไปเป็นท่อเจอร์เมเนียมขนาดนาโน เพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บ และคลายประจุขึ้นถึง 5 เท่าตัว ทั้งยังสามารถเก็บประจุได้มากขึ้นกว่าเดิมอีกถึง 4 เท่า แม้ว่าจะยังมีรอบการชาร์จอยู่ที่ราว 400 รอบ ซึ่งน้อยกว่าทั่วไปที่สามารถชาร์จได้ประมาณ 400 – 1,200 รอบ
ถ้าเท่านั้นยังดูน้อยไป นักวิจัยกลุ่มนี้ยังกำลังดำเนินการวิจัยต่อ โดยเปลี่ยนวัสดุเป็นท่อซิลิคอนขนาดนาโน ที่สามารถเก็บประจุได้มากกว่าแบตเตอรี่ทั่วไปถึง 10 เท่าในน้ำหนักเท่ากัน แต่ข้อเสียของท่อซิลิคอนคือรอบการชาร์จที่น้อยลงไปอีกเพียง 200 รอบ แถมยังมีปัญหาเรื่องการหดตัว และบวมอีกด้วย
แผนการณ์ขั้นต่อไปของทีมวิจัยนี้คือการพัฒนาอาโนดที่ดีขึ้นด้วยการใช้วัสดุที่สามารถเก็บประจุแบตเตอรี่ได้มากกว่า โดยตัวเลือกในตอนนี้คือการใช้ทั้งซิลิคอน และเจอร์เมเนียมร่วมกัน
ปัญหาคือวัสดุอย่างเจอร์เมเนียมในปัจจุบันยังมีต้นทุนที่สูงมาก แต่ Cho เชื่อว่าราคาเจอร์เมเนียมในปัจจุบันนั้นสูงเนื่องมาจากยังขาดความต้องการในการใช้งาน หากว่าผู้ผลิตแบตเตอรี่ให้ความสนใจในการใช้เพิ่มขึ้นจะช่วยให้ค่าใช้จ่ายลดลงอย่างแน่นอน
ที่มา : technology review