เราคงได้เห็นดีไซน์ของมือถือ Samsung กันมาหลายปีแล้วนะครับ ซึ่งแต่ละปีก็จะมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดนิดๆ หน่อยๆ ตรงไหนที่ดีอยู่แล้วก็ดีไป ตรงไหนที่คนไม่ค่อยชอบใจ ก็ยังมีคงอยู่ให้ได้เห็นกันบ้างเป็นบางจุด แต่ที่ดูจะหนักกว่านั้นคงเป็นเรื่องที่หน้าตาของแต่ละรุ่นในช่วงปีเดียวกัน แทบจะเหมือนกันเป๊ะ 99.99% อย่างเช่น Galaxy Grand ราคาหมื่นต้นๆ หน้าตานี่บล็อคเดียวกันกับ Galaxy S5 เรือธงที่ราคาสองหมื่นกว่าเลย ทำให้หลายๆ คนไม่ชอบใจซักเท่าไหร่ จะโชว์ให้เห็นว่าใช้เครื่องราคาแพงก็ยาก เพราะหน้าตารุ่นถูกกับรุ่นแพงนี่แทบจะไม่ต่างกัน จนทำให้หลายคนสงสัยว่า Samsung มีดีไซน์เนอร์มาทำงานอยู่หรือเปล่า ไม่เห็นเหมือนคู่แข่งหลายๆ ยี่ห้อ ที่เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงหน้าตาแทบทุกปี แถมดูเข้าท่ากว่า Samsung เยอะเลยด้วย
ล่าสุดมีผู้มาตอบข้อสงสัยแล้วครับ ซึ่งก็คือ Kevin Lee อดีตหัวหน้างานวางแผนผลิตภัณฑ์ และงานดีไซน์ user experience ให้กับผลิตภัณฑ์ของ Samsung โดยเฉพาะไลน์ของมือถือ ที่ประจำอยู่ในสหรัฐอเมริกา ตัวเขาเองเคยได้พูดคุยและสัมผัสบรรยากาศการทำงานภายในของ Samsung มามากพอสมควร โดยเฉพาะส่วนงานออกแบบ เขาเล่าให้ฟังว่า จริงๆ แล้ว Samsung มีดีไซน์เนอร์ที่ทำงานให้เยอะมาก มีดีไซน์เนอร์ที่มีผลงานระดับโลกอยู่ก็หลายคน และแน่นอนว่ามีการเสนอไอเดีย คอนเซ็ปท์ ตัวต้นแบบของผลิตภัณฑ์ออกมาเยอะมากๆ ตัวเขาเองที่เคยเห็น เคยสัมผัสยังรู้สึกทึ่ง และตะลึงไปกับผลงานหลายๆ ชิ้นเลยด้วยซ้ำ เขายอมรับด้วยว่าถ้า Samsung ผลักดันเอาสิ่งเหล่านั้นมาเป็นผลิตภัณฑ์ออกขายได้จริง รับรองว่าแบรนด์อื่นได้ม้วนเสื่อเก็บกลับบ้านแทบไม่ทันแน่ เผลอๆ ถึงขั้นล้มละลายได้เลย
แต่สาเหตุที่ผลิตภัณฑ์ของ Samsung กลายออกมาเป็นอย่างที่เห็น ก็อันเนื่องมาจากฝ่ายบริหาร และกระบวนการทำงานภายในของ Samsung เอง ที่ยึดหลักความเป็นตะวันออกมากเกินไป เน้นการประนีประนอม การผสมผสานไอเดียหลายๆ อย่างไว้ด้วยกัน อารมณ์ประมาณว่ารักษาน้ำใจซึ่งกันและกัน และเป็นเรื่องของโครงสร้างการเมืองภายใน เลยกลายเป็นว่าผลิตภัณฑ์ที่ออกมา ดูออกเป็นลูกผสม ไปไม่สุดซักทาง ซึ่งตรงข้ามกับรูปแบบการทำงานของประเทศฝั่งตะวันตก ที่ดีไซน์เนอร์จะมีอีโก้ของตัวเองที่สูง เชื่อมั่นในแนวทางการออกแบบของตนเอง และจะฝ่าฝันจนความคิดของตนเองออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ในที่สุด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดสุดก็คือ Apple นี่ล่ะครับ นอกจากจะยึดในอีโก้สุดๆ แล้ว ผลงานยังออกมาได้ดีจริง เลยกลายเป็นประสบความสำเร็จเข้าไปอีก ตัว Lee เองเลยเรียกความยึดมั่นถือมั่นในแบบนี้ของดีไซน์เนอร์ว่าเป็นโรค Steve Jobs Syndrome ซะ และดูเหมือนว่าบริษัทใหม่ๆ ในย่าน Silicon Valley (ใกล้ๆ กับ Apple) ก็ดูจะยึดแนวทางนี้กันซะด้วย เราเลยได้เห็นผลิตภัณฑ์ดีไซน์แหวกแนวออกมามากขึ้นเรื่อยๆ
อีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้ดีไซน์ของมือถือ Samsung ออกมาห่วย (ต้นฉบับใช้คำว่า stink ที่แปลได้ว่าแย่มากๆๆๆ) ก็คือกระบวนการออกแบบของดีไซน์เนอร์ด้วย เพราะต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับสายงานผลิตของ Samsung ที่เน้นซอยรุ่นย่อยเยอะๆ ตัดสเปคไปเรื่อยๆ จนครบทุกช่วงราคาที่ลูกค้าจะสามารถซื้อได้ ซึ่งการที่จะทำให้ช่วยลดต้นทุน ก็คือต้องใช้การออกแบบที่ไม่เปลี่ยนรูปแบบมากนัก (จะได้ใช้แท่นพิมพ์เดิมได้) ซึ่งในรุ่นราคาถูก ก็ต้องผลิตออกมาเป็นจำนวนมากๆ เพื่อให้ขายได้เยอะที่สุด เนื่องจากกำไรต่อตัวอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก (high volume low margin) ซึ่งเมื่อดูจากผลประกอบการณ์ที่ออกมาในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าทั้ง Samsung และ Apple ต่างก็มีรายได้ออกมาราวๆ 4.5 หมื่นล้านเหรียญเหมือนกัน แต่กลายเป็นว่า Apple สามารถทำกำไรได้มากกว่า Samsung เกือบสองเท่า ซึ่งก็เป็นเพราะหลักการขายของ Apple ที่เน้นกำไรต่อชิ้นมาก และไม่ซอยรุ่นเยอะจนเกินไป
Lee ยังให้ความเห็นของตนเองทิ้งท้ายไว้อีกด้วยว่า ตัวเขาเองไม่คิดว่าจะได้เห็น Samsung เปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานในเร็วๆ นี้แน่นอน แม้ว่าจะจ้าง Lee Don-tae ที่เคยทำงานอยู่ในสตูดิโอเดียวกับ Jony Ive มาก็ตาม ซึ่งก็คงเพราะว่ามันกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรไปแล้วนั่นเอง
ที่มา: Fast Company, Blognone