ในปัจจุบันเทรนการซื้อมือถือมือสองถือเป็นหนึ่งในสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป โดยเฉพาะมือถือระดับเรือธงนั้นจะได้รับความนิยมเป็นพิเศษ อันเนื่องมาจากมีราคาที่สูงมาก ๆ ทำให้คนทั่วไปจับต้องได้ยาก แต่เมื่อกลายมาเป็นเครื่องมือสองแล้วราคาก็ลดลงมาถึงจุดที่สามารถจับต้องได้ง่ายยิ่งขึ้น ถึงแม้เทคโนโลยีจะไม่ได้ใหม่ที่สุด แต่สเปคที่มีนั้นก็แรงพอที่จะเอาไปใช้ต่อได้อีกหลายปี ทำให้คนที่ไม่ได้แคร์เรื่องที่ต้องเป็นเทคโนโลยีใหม่ตลอด สนเพียงราคาถูกจะหันไปสนใจเครื่องมือสองกัน
ทว่าถึงแม้เครื่องมือสองจะถูกกว่าเครื่องมือหนึ่งมาก แต่มันก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่สมน้ำสมเนื้อเช่นกัน เพราะเวลาเราหาเครื่องมือสองนั้นแหล่งที่เราหาได้คือผ่านเว็บไซต์รวมไปถึงร้านตู้ต่าง ๆ ซึ่งเราไม่รู้ว่าเจ้าของคนก่อนเอาไปใช้งานมาจนโทรมขนาดไหน หรือร้านแอบเอาชิ้นส่วนปลอมมาเปลี่ยนใส่แทนหรือไม่ ซึ่งวิธีตรวจสอบคร่าว ๆ ก่อนจ่ายเงินนั้นสามารถทำตามวิธีในบทความนี้ได้เลย
1. เช็คกล่อง, อุปกรณ์ และ IMEI
ก่อนอื่นอย่างแรกที่เราสามารถเช็คได้เลยในทันทีก็คือตัวกล่องว่ามีสภาพเป็นอย่างไร มีอุปกรณ์ครบตามที่แจ้งไว้ไหม และมี IMEI ตรงกับตัวเครื่องไหม โดย IMEI ที่ตัวเครื่องนั้นสามารถเช็คได้ง่าย ๆ ด้วยการกด *#06# ในส่วนของอุปกรณ์นั้นหากเป็นฝั่งของ Android จะดูค่อนข้างยากหน่อยแต่หากเป็นของฝั่ง Apple จะสามารถดูได้ง่ายกว่าเพราะวัสดุที่ใช้ทำจะเป็นคนละแบบกับของก๊อปทำให้สามารถรู้ได้ทันมีเพียงแค่สัมผัส
2. เช็ครอยรอบเครื่อง
อีกสิ่งที่เช็คได้ทันทีก็คือร่องรอยรอยตัวเครื่อง ทั้งรอยขีดข่วน, รอยบุบ และรอยแตก รวมถึงฝุ่นที่จะเข้าไปอยู่ในจุดต่าง ๆ ใต้กระจกอย่างเช่นใต้จอหรือในเลนส์กล้อง ทั้งหมดจะต้องไม่มีแม้แต่จุดเดียว เว้นเสียแต่ว่าคนที่ขายได้บอกเอาไว้ก่อนแล้วและเรายังเลือกที่จะซื้ออยู่ดี โดยจุดที่จะต้องเช็คทั้งหมดมีดังนี้
- ด้านหน้าของตัวเครื่อง ให้ทำการตรวจเช็คหน้าจอต้องไม่มีรอยร้าวใดๆ และไม่มีเม็ดฝุ่นในหน้าจอ รวมถึงตรวจสอบปุ่มกดต่างๆ ต้องสามารถใช้งานได้ปกติ Sensor ตรวจจับต่างๆ ก็ต้องสามารถทำงานได้ปกติด้วย
- ด้านข้างของตัวเครื่องโดยรอบ (บน,ล่าง, ซ้าย, ขวา) ให้ทำการตรวจเช็คขอบตัวเครื่องทั้งหมด ซึ่งต้องไม่มีรอยบุบ บิ่นใดๆ ทั้งสิ้นและรวมถึงปุ่มกดและช่องเสียบพอร์ทต่างๆ (ปุ่ม Power, Volume, พอร์ต MicroUSB, รูเสียบหูฟัง 3.5) ต้องสามารถใช้งานได้ปกติ
- ด้านหลังของตัวเครื่อง ให้ทำการตรวจเช็คบริเวณเลนส์กล้องเป็นพิเศษ ซึ่งต้องไม่มีเม็ดฝุ่นหรือรอยขูด-ขีดใดๆ บนตัวเลนส์กล้องเมื่อทำการส่องกับแสง ในขณะที่บริเวณพื้นผิวฝาหลังตัวเครื่องต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ไม่มีการแตกหักใดๆ ตามตัวล็อคต่างๆ รวมถึงต้องไม่มีรอยข่วนใดๆ บนฝาหลังด้วย
ให้เช็คดูทุกจุดว่าเป็นไปตามที่ผู้ขายบอกไหม ถ้ามีรอยนอกเหนือจากที่ผู้ขายบอกสามารถนับเป็นจุดตำหนิเพื่อให้ผู้ขายปรับราคาลงได้
3. เช็คระบบภายใน
หลังจากที่เช็ครอยตัวเครื่องเป็นที่เรียบร้อยแล้วคราวนี้ก็ถึงคิดเช็คระบบภายในกันบ้าง โดยให้ทำการเปิดเครื่องแล้วกดรหัสเพื่อเช็คเครื่อง (ใช้ได้เฉพาะ Android) โดยรหัสจะมีดังนี้
- Samsung กด *#0*#
- OPPO และ realme กด *#808#
- Vivo กด *558#
- Huawei กด *#2846#
- Asus เข้าโปรแกรมเครื่องคิดเลขแล้วกด .12345+=
- Sony กด *#*#7378423#*#
- Xiaomi กด *#*#6484#*#*
สำหรับ iPhone นั้นจะไม่มีรหัสให้กด ดังนั้นเราจึงต้องมานั่งไล่เช็คไปทีละจุดดังนี้
- เช็คว่าเครื่องเคยโดนน้ำหรือไม่ โดยให้ดูที่แถบวัดความชื้นในถาดใส่ซิมการ์ดของตัวเครื่อง หากเคยโดนน้ำเข้ามาก่อนแถบวัดจะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีแดง
- พอร์ต Lightning สามารถชาร์จแบตเตอรี่ และเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ได้
- ปุ่มทุกปุ่มทำงานเป็นปกติ ไม่หน่วง ไม่ค้าง
- Face ID ต้องใช้งานได้
- ล้องหลังมีฝุ่นเข้าไปข้างในเลนส์หรือไม่
- ตรวจหา Dead Pixel โดยต้องเช็คกับภาพที่มีสีเดียวทั้งภาพ หรือไม่ก็ใช้วิธีคร่าว ๆ อย่างการเพิ่มแสงจนสุดและลดแสงจนสุด
- ทดสอบการเชื่อมต่อ 4G, Wi-Fi และการโทรเข้า-โทรออก
- เช็คสภาพแบตเตอรี่ โดยไปที่ Settings > Battery > Battery Health ซึ่งตัวเลขตรงนี้ทางที่ดีไม่ควรต่ำกว่า 90%
4. เช็คประกัน
มาถึงสิ่งสุดท้ายแล้วนั่นคือการเช็คประกันก่อนที่จะหิ้วเครื่องกลับบ้าน เพราะระยะประกันจะส่งผลกับราคาของตัวเครื่อง หากระยะประกันยังยาว หมายความว่าเครื่องยังใหม่ทำให้ราคาอาจจะยังส๔ูง แต่หากเครื่องมีราคาถูกกว่าปกติให้คิดไว้ก่อนเลยว่ามือถือเครื่องนี้ประกันเหลือน้อยหรืออาจจะหมดไปแล้วก็ได้ ซึ่งทางที่ดีควรเลือกมือถือที่ยังมีระยะประกันเหลือมากกว่า 6 เดือนจะดีที่สุด เว้นแต่ว่าจะเป็นรุ่นที่เก่าจริง ๆ ซึ่งหาแบบมือ 1 ในปัจจุบันไม่ได้แล้ว
ทั้ง 4 ข้อนี้คือสิ่งที่ต้องเช็คก่อนจะหิ้วเครื่องกลับบ้าน แต่ทว่าก็ยังมีสิ่งที่ต้องทำนอกเหนือจากการเช็คเครื่องด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเอง ซึ่งจะมีสิ่งที่ต้องทำดังนี้
- ไม่ควรซื้อมือถือที่ถูกแสนถูก จากราคาจริงจนน่าตกใจ
- อย่าโอนเงินก่อนเด็ดขาด
- นัดเจอในสถานที่มีผู้คนพลุกพล่าน
- พาเพื่อนที่ไว้ใจได้ไปเป็นเพื่อน หากไม่มั่นใจว่าจะสามารถปกป้องตัวเองได้
ทั้ง 4 ข้อนี้คือสิ่งที่ควรกระทำเพื่อความปลอดภัย เพราะเราไม่อาจรู้ได้ว่าคนที่ติดต่อด้วยเป็นคนดีเต็มร้อยไหม เครื่องที่ซื้อเป็นเครื่องย้อมแมวหรือเครื่องขโมยมาไหม เราไม่รู้อะไรเลย ฉะนั้นทางที่ดีควรจะหาทางป้องกันให้คลอบคลุมทุกทางมากที่สุดจะดีกว่า