แน่นอนว่ามือถือระดับเรือธงรุ่นใหม่ๆ ทุกวันนี้มีราคาที่ค่อนข้างสูง เรียกว่าบางรุ่นนั้นแตะ 30,000 บาทเลยทีเดียว จึงทำให้ในบางครั้งหลายๆ คนมีความรู้สึกว่ามันจำเป็นจริงๆ หรือเปล่าที่จะต้องจ่ายสูงขนาดนี้ แล้วก็เริ่มถอดใจหันไปเลือกซื้อมือถือระดับกลางที่มีสเปคดีๆ แทน แต่ก็อย่างว่านั่นแหละครับ มือถือระดับกลางนั้นย่อมไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของเราได้ทั้งหมด จึงเกิดทางเลือกขึ้นอีกหนึ่งช่องทางที่เป็นที่นิยมไม่แพ้กันนั่นคือ “การซื้อเครื่องมือสอง” ซึ่งก็มีทางเลือกอีกว่าจะซื้อตามตู้ หรือซื้อ-ขายแบบตัวต่อตัว อันนี้ก็แล้วแต่ทางเลือกของใครของมัน
ซึ่งข้อดีในการซื้อแบบนี้นั่นคือเราจะสามารถซื้อรุ่นที่ต้องการได้ในราคาที่ถูกกว่าซื้อเครื่องมือหนึ่งมากพอสมควร แต่ความเสี่ยงก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้หลายๆคนกลัวที่จะซื้อมือถือมือสองมาใช้งาน แต่ในความเป็นจริงแล้วเครื่องมือสองนั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เราคิดเลย เพราะจริงๆแล้วมันขึ้นอยู่กับเจ้าของคนก่อนต่างหากว่าใช้งานมาในระดับไหน (ในกรณีที่ซื้อแบบตัวต่อตัว) ถ้าใช้งานมาแบบทะนุถนอมก็เท่ากับว่าเราได้กำไรไปแบบเต็มๆ แต่หากซื้อตามตู้เราก็ต้องตรวจเช็คอย่างละเอียดว่าเครื่องที่เรากำลังจะซื้อนั้นย้อมแมวมาขายหรือเปล่า? ใช้ไปนานๆจะมีปัญหาตามมาหรือไม่?
และวันนี้ผมจะมาพูดถึง 10 ขั้นตอนง่ายๆ ที่ควรทำ หากคุณกำลังต้องการที่จะซื้อมือถือมือสองมาใช้งาน จะมีขั้นตอนหรือวิธีการอย่างไรบ้างไปติดตามได้เลยครับ
1. เช็คสภาพกล่อง
สิ่งที่เราจะต้องทำเป็นอันดับแรกนั่นคือตรวจสอบสภาพกล่อง ก่อนที่เรานั้นจะเปิดเข้าไปเช็คสภาพตัวเครื่องว่าเป็นอย่างไร เราจะต้องเช็คสภาพกล่องที่บรรจุมาก่อนเป็นอันดับแรก เชื่อหรือไม่ว่าบางคนนั้นได้ราคาที่ถูกลงไปอีกเพราะแค่กล่องบุบหรือฉีกขาดมาเท่านั้น ยิ่งถ้ากล่องมีสภาพที่คล้ายกับเคยเปียกน้ำมาก่อนเราอาจจะใช้จุดนี้ในการต่อรองให้ลดราคาลงไปได้ในจุดที่คุ้มกับเรามากขึ้น (ในกรณีที่ซื้อแบบตัวต่อตัว) แต่หากซื้อตามตู้ก็ขึ้นอยู่กับศิลปะในการเจรจาของเรา
เพราะพ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้มักจะพูดว่าได้กำไรแค่นิดหน่อยเองกับการขายรุ่นนี้ จนเราต้องยอมจ่ายหากเราอยากได้มาใช้จริงๆ เพราะฉะนั้นจะไม่เหมือนกับการซื้อแบบตัวต่อตัว เพราะคนขายก็ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางมายังจุดนัดพบ และการกลับบ้านพร้อมเงินสดเป็นสิ่งที่คนกลุ่มนี้คาดหวังเป็นอันดับต้นๆ อยู่แล้ว การมาแบบเสียเที่ยวเป็นสิ่งที่คนกลุ่มนี้ไม่อยากเจอมากที่สุด
2. ตรวจสอบอุปกรณ์ข้างในกล่อง
เป็นสิ่งที่ผมเชื่อเหลือเกินว่าต้องทำกันอยู่แล้ว เพราะคงไม่มีใครอยากได้แค่ตัวเครื่องมาเพียงอย่างเดียวเท่านั้นจริงๆ เรื่องของอุปกรณ์เสริมนั้นเป็นสิ่งที่เราไม่ควรจะมองข้ามเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากอุปกรณ์อยู่ในสภาพที่สมบูณณ์มากๆ หรือเรียกว่าไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อนเลยจะยิ่งคุ้มกับเรามากขึ้นไปอีก และเรื่องของราคานั้นจะเริ่มสำคัญน้อยลงหรืออาจเรียกว่าวินๆ ทั้งคู่ไม่มีใครได้ใครเสีย แต่หากเปิดกล่องมาแล้วพบว่าอุปกรณ์ภายในกล่องนั้นมีการใช้งานมาอย่างหนักหน่วง เช่นสายไฟมีรอยแตก หรือมีคราบหมองเกิดขึ้น หูฟังไม่มีมาให้ อะไรแบบนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดี
เราก็สามารถกดราคาลงไปได้อีกโดยอ้างอิงจากองค์ประกอบเหล่านี้ทำให้คนขายจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ดังนั้นเวลาที่ประกาศขายคนขายก็มักจะระบุมาตั้งแต่ต้นว่าอุปกรณ์ใดที่ขาดไปบ้างหรือมีตำหนิดังนั้นเราก็ควรจะคิดถึงข้อนี้ก่อนจะทำการนัดเจอกัน เพื่อไม่ให้เราต้องเสียเวลาและโอกาสในการได้เครื่องที่มีสภาพโดยรวมสมบูรณ์มากกว่านั่นเอง
3. เช็คสภาพตัวเครื่อง
ไม่มีใครหรอกครับที่เปิดกล่องมาเจอเครื่องกดปุ่มเปิดเครื่องแล้วแค่หน้าจอติดขึ้นมาก็โอเค ยื่นเงินรับเครื่องเรียบร้อยและกลับไปนอนเล่นที่บ้านอย่างสบายใจ เพราะในความเป็นจริงแล้วผมเชื่อว่าการตรวจสอบสภาพของตัวเครื่องนั้นเป็นสิ่งที่เรานั้นให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ กันอยู่แล้ว และเราต้องทำการตรวจสอบอะไรบ้าง? อย่างแรกก็ได้แก่ริ้วรอยที่เกิดขึ้นจากการใช้งาน เช่นรอยถลอก,รอยขูดขีด,รอยขนแมว รอบๆตัวเครื่องทั้งบนหน้าจอและด้านหลังตัวเครื่อง
และสิ่งที่ขาดไปไม่ได้นั่นคือปุ่มหลักๆที่เราต้องกดอยู่เสมอในการใช้งาน เช่นปุม Home,ปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง,ปุ่ม Power ที่ใช้ในการเปิด/ปิดเครื่อง และอย่าลืมเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ (สำหรับรุ่นที่มี) อย่างเด็ดขาด ซึ่งถ้าตัวเครื่องมีริ้วรอยหรือตำหนิมากจนเกินไปผมก็แนะนำให้เก็บเงินไว้รอเครื่องที่มีสภาพที่สมบูรณ์กว่าจะดีที่สุด ถึงตรงนี้คนขายอาจจะเชียร์ให้เรานั้นซื้อของๆ เขาหรืออาจจะใช้ของแถม อย่างเช่นเคสของแท้จากแบรนด์ต่างๆ มาเป็นตัวล่อให้่เราสนใจก็แนะนำให้ตัดใจเสียดีกว่า เพราะหากเราซื้อเครื่องที่มีตำหนิมาเชื่อว่าอาจจะเบื่อเอาง่ายๆ และที่สำคัญคือเวลาจะขายต่อนั้นทำได้ยากมากๆ อีกด้วย
4.เช็คฟิล์มกันรอยหน้าจอ
ถ้าถามว่าจำเป็นด้วยหรือที่เราควรจะเช็คเรื่องของฟิล์มกันรอยบนหน้าจอ คำตอบคือจำเป็นเพราะฟิล์มกันรอยบนหน้าจอนั้นแสดงถึงความใส่ใจและความทะนุถนอมในการใช้งานของคนขาย เพราะทุกวันนี้มีฟิล์กันรอยแบบที่เป็นกระจก ซึ่งการติดในแต่ละครั้งนั้นก็มีค่าใช้จ่ายที่แพงกว่าฟิล์มพลาสติกทั่วไป เพราะความแข็งแรงของกระจกมันมากกว่านั่นเอง
หรืออาจจะคิดง่ายๆ ว่าฟิล์มยิ่งแพงการดูแลรักษานั้นก็จะยิ่งดีตามไปด้วย เพราะผมเชื่อว่าไม่มีใครติดฟิล์มกระจกราคาแพงๆ เพื่อนำมาขูดขีดเล่นอย่างแน่นอน ดังนั้นการเช็คในเรื่องของฟิล์มกันรอยที่เจ้าของเดิมติดมานั้นก็เป็นเรื่องสำคัญที่เราควรจะนำไปประกอบการตัดสินใจด้วยเช่นกัน
5. เปิดเครื่องหา Dead Pixel และแสงลอด
สิ่งที่เราจะต้องทำอีกหนึ่งอย่างนั่นก็คือการเปิดเครื่องขึ้นมาแล้วทำการหา Dead Pixel หรือเรียกแบบบ้านๆ ว่าเม็ดพิกเซลที่ตายแล้วบนหน้าจอของเรา ซึ่ง Dead Pixel คือ จุดๆหนึ่งบนหน้าจอภาพที่เกิดความผิดปกติของเม็ดพิกเซลทำให้จุดนั้นไม่สามารถตอบสนองต่อแสงใดๆ ได้ โดยปกติแล้วเม็ดพิกเซลจะเปลี่ยนสีไปตามสัญญาญที่ได้รับ
และหากมือถือที่เราจะซื้อนั้นมีเคสแบบนี้เกิดขึ้นก็ให้เรานั้นรีบเลี่ยงไปโดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เราต้องมาเสียค่าใช้จ่ายไปกับการซ่อมหน้าจอซึ่งมีราคาสูงมาก และอีกหนึ่งอย่างที่เราต้องเช็คนั่นคือมือถือระดับเรือธงจะต้องไม่มีแสงลอดออกมาจากด้านข้างหน้าจอ หากเครื่องที่เรากำลังจะซื้อมานั้นมีแสงลอดออกมาจากด้านข้างหน้าจอ เพื่อเป็นการเซฟตัวเองให้เรารีบปฎิเสธการซื้อขายไปในทันที หรืออาจจะใช้วิธีแบบค่อยๆปฎิเสธ พร้อมบอกเหตุผลก็ได้
6. เช็คระบบอื่นๆ ในโหมดเทส
มือถือทุกรุ่นจะมาพร้อมกับโหมดเทสประสิทธิภาพตัวเครื่อง ที่ดีกว่าการใช้แอพหรืออาจจะเรียกว่าเป็นฟังก์ชั่นลับที่จะช่วยให้เรานั้นเช็คการทำงานของส่วนต่างๆ ในมือถือ อย่างเช่น การเชื่อมต่อ Blutooth,GPS,Wifi,ระบบสั่น,ไมโครโฟน,ลำโพงสนทนา,ไฟแฟลช,ไฟ LED ว่าผิดปกติหรือไม่ ซึ่งการจะเช็คได้นั้นเราจะต้องใส่โค้ดลับเพื่อเปิดการใช้งานในโหมดนี้ และทุกวันนี้ก็สามารถหาโค้ดหรือรหัสลับในการตรวจสอบตัวเครื่องของแบรนด์ต่างๆ ได้ง่ายๆ จาก Google และหากเราทดสอบเจอความผิดปกติในส่วนที่จำเป็นต่อการใช้งาน เช่น การเชื่อมต่อ Wifi,3G ก็ให้เรานั้นรีบยกเลิกการซื้อขายโดยเร็วที่สุด
7. เช็คการใช้งานโทรศัพท์และการเชื่อมต่อต่างๆ
ในบางครั้งการทดสอบด้วยโหมดเทสนั้นก็อาจจะใช้เวลานาน และอาจเกิดความผิดพลาดขึ้นได้ (มีโอกาสน้อยมาก) ดังนั้นการทดสอบด้วยการโทรออกมันซะเลยก็ย่อมเป็นสิ่งที่ง่ายและดีที่สุด โดยเราจะสามารถเช็คในเรื่องของความดังของลำโพงสนทนาและความชัดเจนของเสียงที่เรานั้นพูดออกไปว่ามีเสียงดังฟังชัดหรือไม่ เราได้ยินเสียงของคู่สนทนาปกติดีหรือเปล่า เรียกว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่ง เพราะถ้าเราไม่ได้ตรวจสอบให้ดีพอก่อนจะจ่ายเงินไปก็อาจจะกลายเป็นเราที่ต้องเป็นฝ่ายขาดทุนเสียเอง ดังนั้นยอมเสียเวลาเล็กๆ น้อยๆ ตรงนี้สักนิดนึงจะดีที่สุด
นอกจากเรื่องของการโทรแล้วเรื่องของการเชื่อมต่อต่างๆ นั้นก็เป็นสิ่งที่จำเป็นที่เรานั้นต้องเช็คก่อนเป็นอันอับแรกๆ ว่าเชื่อมต่อ Wifi,3G/4G ได้หรือไม่และที่สำคัญคือรับสัญญาณได้ดีขนาดไหนซึ่งในส่วนนี้ก็ขึ้นอยู่กับแพ็กเกจที่เราใช้งานอยู่ด้วย และอาจจะเปิดเพลงหรือกล้องเพื่อทำการทดสอบอื่นๆ ไปพร้อมๆ กันด้วยก็ได้เพื่อเป็นการลดระยะเวลาที่ใช้ในการซื้อขายให้สั้นลง
8.เหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจขาย
อีกสิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะมองข้ามไปนั่นคือเหตุผลที่ทำให้เจ้าของเดิมเขาตัดสินใจนำมือถือที่ใช้อยู่มาขาย และเชื่อหรือไม่ว่าคำถามเพียงแค่ทำไมถึงมาขายเป็นคำถามที่ทำให้ใครหลายคนอ้ำๆอึ้งๆ ในการตอบมาแล้วไม่น้อย เพราะหากเขาตอบว่าเล่นเกมนั้นเกมนี้ไม่ได้หรือข้อบกพร่องอื่นๆ ก็อาจจะทำให้โอกาสในการขายนั้นหลุดลอยไปอย่างง่ายๆ และระหว่างที่เราถามไปนั้นให้สังเกตุกิริยาท่าทางของผู้ขายด้วยว่ามีอาการส่อแววพิรุธ ออกมาหรือไม่
และแน่นอนว่าคำตอบที่ได้รับกลับมาส่วนใหญ่ก็จะเป็น กำลังร้อนเงิน,เครื่องใหญ่เกินไปพกพาไม่สะดวก,ไม่ชอบดีไซน์,มีเครื่องหลักที่ใช้อยู่อีกหนึ่งเครื่อง ซึ่งก็แล้วแต่วิจารณญาณของคุณว่าจะเชื่อเหตุผลเหล่านี้หรือไม่ เพราะถ้าเป็นผมถ้ากลัวร้อนเงิน,กลัวพกพาลำบาก หรือไม่ชอบดีไซน์ผมก็คงจะไม่ซื้อตั้งแต่ทีแรก อันนี้ผมฝากไว้ให้คิดสักเล็กน้อยแล้วกันนะครับ
9.หมายเลข IMEI ต้องตรงกับข้างกล่อง
คนเรายังต้องมีหมายเลขประจำตัวประชาชนมือถือก็เช่นกันที่จะต้องมีหมายเลยประจำหรือหรือที่เราเรียกกันว่า เลข IMEI ที่จะใช้เพื่อระบุตัวตนของมือถือว่าเป็นรุ่นอะไรผลิตที่ไหน และในบางประเทศยังหมายถึงใครเป็นเจ้าของเครื่องอีกด้วย และวิธีการการตรวจสอบนั้นก็ง่ายๆ เพียงแค่เรากด *#06# เท่านั้นเลข IMEI ของเครื่องจะแจ้งขึ้นมาบนหน้าจอในทันทีและที่สำคัญคือหมายเลข IMEI ของมือถือที่เราจะซื้อนั้นจะต้องเหมือนกับหมายเลขข้างกล่องที่ใส่มา หากไม่เหมือนกันให้ตั้งข้อสังเกตุก่อนเลยว่าเราอาจจะโดนย้อมแมวเสียแล้ว แนะนำให้รีบยกเลิกการซื้อขายโดยเร็วที่สุด
10. สอบถามเรื่องการรับประกัน
และมาถึงหัวข้อสุดท้ายที่เป็นหัวใจของการซื้อขายนั่นคือเรื่องของการรับประกันสินค้า สำหรับการซื้อขายมือถือมือสองนั้นอาจจะเรียกระยะเวลารับประกันนั้นเป็นสิ่งที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับมือถือที่เราจะขายและที่เราต้องการจะซื้อได้เป็นอย่างดี หากลองสังเกตุดูดีๆจะเห็นว่ายิ่งประกันเหลือเยอะเท่าไหร่ราคาของตัวเครื่องนั้นก็จะสูงตามไปด้วย แต่ไม่ว่ายังไงก็จะไม่สูงเท่าเครื่องมือหนึ่งอย่างแน่นอน เรียกว่าได้ของใหม่เหมือนกันในราคาที่ถูกกว่ากันเยอะเลยล่ะครับ
และเมื่อเราต้องการที่จะซื้อมือถือมือสองเราไม่ควรที่จะลืมพูดถึงเรื่องของการรับประกัน เพราะถึงแม้ว่าเครื่องจะหมดประกันศูนย์ไปแล้ว แต่โดยส่วนใหญ่ก็จะมีประกันร้านหรือตู้ที่เรานั้นไปซื้อมาซึ่งไม่เกิน 6 เดือนเท่านั้น และหากเราเลือกซื้อแบบตัวต่อตัวก็อย่าลืมขอรายละเอียดเรื่องของการรับประกันมาด้วย เพื่อความอุ่นใจและเพื่อให้เกิดความคุ้มค่ากับเงินที่เราเสียไปให้มากที่สุดนั่นเอง
คำเตือน!!! ควรใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจให้มากๆ เพราะการซื้อมือถือมือสองนั้นมีโอกาสที่ท่านจะโดนโกงได้ง่ายกว่าการซื้อเครื่องจากศูนย์ รวมไปถึงคุณภาพของตัวเครื่องที่วางขายกันตามร้านมือสองบางร้านนั้นอาจจะมีการสับเปลี่ยนอะไหล่เกิดขึ้นได้ ดังนั้นการจะซื้อเครื่องมือสองนั้นจะต้องทำการศึกษาให้ดีในระดับหนึ่งเสียก่อน เพื่อประโยชน์ของตัวท่านเอง