หลายคนคงเคยได้ยินมาบ้างว่าโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนในปัจจุบันจะสามารถติดไวรัสได้ ด้วยเหตุผลที่ว่าสมาร์ทโฟนก็ไม่ได้ต่างไปจากคอมพิวเตอร์นัก เพราะนอกจากจะมีฮาร์ดแวร์ในการประมวลผลแล้ว ก็ยังมีระบบปฏิบัติการอีกด้วยเช่นกัน โดยสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ๆ ให้การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีการพัฒนาไวรัสให้ทำงานบนอุปกรณ์อย่างสมาร์ทโฟนได้ แต่รูปแบบการโจมตีนั้นอาจจะมุ่งประเด็นไปที่การเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก ด้วยการติดไวรัสผ่านทั้งการเชื่อมต่อและการใช้อุปกรณ์ต่อพ่วงร่วมกันเป็นหลักนั่นเอง ดังนั้นเรามาดูกันว่าสมาร์ทโฟนนั้นมีโอกาสติดไวรัสได้ในแบบใดบ้าง
1.ติดผ่านแอพฯ บนร้านออนไลน์ เวลาที่ผู้ใช้ส่วนใหญ่จะติดตั้งแอพฯ ลงไปในสมาร์ทโฟน ก็มักจะดาวน์โหลดจากร้านค้าออนไลน์ได้ทันที ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่การให้บริการเหล่านี้จะมีความเข้มงวดในเรื่องความปลอดภัยของผู้ที่ดาวน์โหลดมาใช้ แต่สิ่งที่น่าห่วงก็คือ โดยปกติสมาร์ทโฟนในแต่ละแพลตฟอร์มจะเปิดให้ดาวน์โหลดและติดตั้งแอพฯ จากร้านค้า App ออนไลน์ของตัวเองเท่านั้น เช่น App Store และ Play Store ที่มีการตรวจสอบรัดกุม แต่บางกรณีผู้ใช้อาจเลือกติดตั้งได้จากแหล่งอื่น ซึ่งเป็นช่องทางที่ไม่ปลอดภัยนัก ด้วยการ Root หรือ Jailbreak เพื่อให้ติดตั้งแอพฯ จากแหล่งอื่นที่อาจจะไม่มีการตรวจสอบความปลอดภัยของแอพฯ เท่าที่ควร ในจุดนี้ก็ต้องระวัง
2.ติดจากการต่ออินเทอร์เน็ต การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจะเป็นกรณีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านบราวเซอร์ ซึ่งโปรแกรมบราวเซอร์ของสมาร์ทโฟนจะมีการพัฒนาให้สามารถรันสคริปต์หรือปลั๊กอินต่างๆ ได้ดีมากขึ้น แต่ก็เป็นช่องทางที่ทำให้ไวรัสแพร่กระจายเข้ามาได้รวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการหลอกให้ติดตั้งโปรแกรมหรือปลั๊กอินเพิ่ม รวมถึงการรันสคริปต์เพื่อหาช่องโหว่ในการโจมตีนั่นเอง แต่เว็บไซต์ไวรัสส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกออกแบบสคริปต์มาให้รันบนมือถือ ดังนั้นโอกาสในการติดไวรัสผ่านบราวเซอร์นั้นจึงน้อยมาก หรือแทบจะไม่เกิดเลย แม้ว่าคุณจะโดนเพื่อนส่งลิงก์ไวรัสมาทางเมล์
3.ติดผ่านอุปกรณ์ต่อพ่วงแฟลชไดรฟ์ สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ จะมีความสามารถเชื่อมต่อพอร์ต USB ได้ในตัวหรือผ่านอุปกรณ์เสริม ทำให้ผู้ใช้สามารถนำแฟลชไดรฟ์มาต่อใช้งานกับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเลตได้ทันที ซึ่งก็หมายถึงความเสี่ยงให้ติดไวรัส เพราะแฟลชไดรฟ์ยังถือว่าเป็นตัวแพร่กระจายไวรัสได้ดีที่สุดอีกตัวหนึ่ง แต่ไวรัสคอมพิวเตอร์ที่อยู่บนแฟลชไดรฟ์จะไม่มาติดบนสมาร์ทโฟน เพราะถึงแม้แฟลชไดรฟ์จะมีไวรัสอยู่ ไวรัสดังกล่าวก็น่าจะเป็นไวรัสที่โจมตีวินโดวส์มากกว่า จึงไม่ส่งผลกระทบกับตัวสมาร์ทโฟน แต่ก็เท่ากับว่าสมาร์ทโฟนของเราอาจจะกลายเป็นพาหะนำไวรัสไปติดยังคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นๆ ที่เรานำสมาร์ทโฟนไปเชื่อมต่อก็เป็นได้
4.ติดจากระบบ IM หรือ SMS เป็นรูปแบบการติดผ่านอีเมล์หรือข้อความ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไวรัสที่ทำงานบนคอมพิวเตอร์และไม่ได้สร้างอันตรายให้กับสมาร์ทโฟนมากนัก ในกรณีที่มีลิงก์หรือข้อความผิดปกติ ส่งมาให้ผ่านทาง SMS หรือโปรแกรม IM ต่างๆ ที่มีเฉพาะบนมือถือ อาจจะต้องระวังและตรวจสอบที่มาที่ไปเสียก่อนที่จะคลิกเข้าไปดูจะเป็นการดีกว่า
5.ติดผ่านการเชื่อมต่อสมาร์ทโฟน ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อเพื่อถ่ายโอนข้อมูล หรือเพื่อเสียบชาร์จ การต่อสมาร์ตโฟนไว้กับคอมพิวเตอร์ผ่านพอร์ต USB แล้วทำให้คอมพิวเตอร์มองเห็นเป็นแฟลชไดรฟ์ ในกรณีที่เครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณติดไวรัสอยู่ หน่วยความจำบนโทรศัพท์มือถือของคุณมีความเสี่ยงที่ติดไวรัสมากที่เดียว แต่ก็เพราะคอมพิวเตอร์นั้นมองเห็นสมาร์ทโฟนเป็นแฟลชไดรฟ์ ก็จะกระจายไวรัสเข้าไป แต่เนื่องจากเป็นไวรัสที่ทำงานบนวินโดวส์ สมาร์ทโฟนที่ใช้ จึงไม่เสียหายใดๆ เพียงแค่มีไวรัสฝังอยู่ภายในและรอเวลาในการติดต่อกับคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นๆ เท่านั้น
จะเห็นได้ว่าโอกาสที่จะติดไวรัสบนสมาร์ทโฟนมีได้หลายทางเลยทีเดียว แม้ว่าบางโอกาสจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็ยังมีทางออกคือ การติดตั้งแอนตี้ไวรัสในการป้องกัน อย่างไรก็ดีสิ่งที่จะป้องกันได้ดีที่สุด ก็คือพฤติกรรมของผู้ใช้เอง ที่จะช่วยให้ปลอดภัยจากการใช้งานมากที่สุด