ถ้าใครที่ตามข่าวเรื่องการประมูลคลื่นความถี่ 3G 2100 เมื่อปลายปี 2555 รวมถึงข่าวยิบย่อยต่างๆ ที่ผ่านมา ก็จะพอทราบว่ามีประเด็นที่หลายคนสงสัยว่าเกิดการฮั้วประมูลกันหรือเปล่า เนื่องด้วยราคาที่แต่ละเครือข่ายเสนอกันมานั้นสูงกว่าราคาตั้งต้นเพียงเล็กน้อย และจำนวนใบอนุญาตที่ออกมาให้ประมูลก็มีออกมาแค่ 3 ใบเท่ากับจำนวนค่ายมือถือรายใหญ่ของไทยที่เข้าร่วมประมูลคือ AIS, dtac และ Truemove H ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันเพื่อประมูลอย่างที่ควรจะเป็น (ถ้าอยากให้เกิดการแข่งขันจริงๆ ควรมีใบอนุญาตให้ประมูลอย่างมากสุดแค่ 2 ใบเท่านั้น) และทำให้เกิดข้อสงสัยว่า กสทช. เองมีส่วนเอื้อให้เกิดการฮั้วหรือไม่
ล่าสุด อนุกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการชี้มูลความผิดคณะกรรมการบอร์ด กทค. มีชื่อเต็มคือคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กสทช. แบ่งภายในเป็นสองฝ่ายย่อยคือ กสช. ดูด้านทีวีวิทยุ และ กทค. ดูแลด้านโทรคมนาคม คลื่นมือถือ) ว่ามีส่วนเอื้อประโยชน์ต่อการประมูล 3G 2100 ของเอกชนทั้งสามราย ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันอย่างที่ควรจะเป็น ส่งผลให้รัฐเสียหาย โดยอันที่จริงแล้ว ผลชี้มูลความผิดดังกล่าวได้มีผลมาตั้งแต่เดือนมีนาคมแล้ว โดยในลำดับต่อไป คณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. จะส่งเรื่องต่อไปให้ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ดำเนินการชี้มูลความผิดอีกครั้งหนึ่งครับ
สำหรับบอร์ด กทค. ที่?ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดก็มีด้วยกัน 4 คนคือ
- พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
- พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร
- นายสุทธิพล ทวีชัยการ
- นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์
ส่วนข้อมูลที่ทางอนุกรรมการ ป.ป.ช. ใช้ในการชี้มูลความผิดก็คือผลสรุปการศึกษาการประมูล 3G ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ผู้วิจัยยกตัวอย่างไว้ว่า ถ้าหากมีผู้เข้าร่วมประมูลเพียง 3 ราย กสทช. ควรจะต้องตั้งราคาเริ่มต้นไม่ต่ำกว่า 82% ของมูลค่าคลื่นต่อ 1 สล็อตที่ศึกษาโดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ผลออกมาจริงๆ กสทช. กลับตั้งราคาเพียงแค่ 70% ของมูลค่าคลื่นเท่านั้น ประกอบกับประเด็นเรื่องจำนวนใบอนุญาตที่มีอยู่ 3 ใบ เท่ากับจำนวนผู้เข้าร่วมประมูล จึงต้องสงสัยว่าอาจจะมีการฮั้วกันนอกรอบไปก่อนการประมูลแล้ว
เอาเป็นว่าก็คงต้องรอติดตามข่าวกันต่อไปว่าเรื่องการประมูล 3G 2100 จะจบลงอย่างไร สำหรับประเด็นว่าคลื่น 3G 2100 จะโดยยึดคืนไปหรือไม่ อันนี้ก็ยังไม่สามารถตอบได้ครับ แต่ถ้าพูดถึงผู้ที่จะเสียผลประโยชน์ที่สุดในบรรดา 3 ค่ายมือถือใหญ่ถ้าหากเกิดการยึดคลื่นคืน ก็คือฝั่งของ AIS ที่ในขณะนี้ดำเนินการเปิดใช้งาน 3G บนคลื่นความถี่ 2100 เป็นหลักเต็มๆ ส่วน dtac เองยังคงมี 3G บนความถี่ 850 เปิดให้บริการอยู่ ปิดท้ายด้วย Truemove-H นั้นก็สบายตัวเช่นกัน เพราะยังมี 3G 850 MHz ให้บริการอยู่ด้วยเช่นกัน?ส่วนการประมูล 4G LTE นั้น คงต้องรอกันต่อไป เผลอๆ ปลายปีนี้อาจจะเลื่อนออกไปอีกด้วยซ้ำไป
ที่มา: Blognone, กรุงเทพธุรกิจ