แม้ผู้ใช้สมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ในบ้านเรา จะเปลี่ยนมาใช้คลื่นโทรศัพท์ความถี่ 850/900/2100 MHz จากค่ายต่างๆ กันแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีผู้ใช้งานอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังคงใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz ที่เป็น 2G เต็มตัวอยู่ ?เพราะมันก็เพียงพอกับการใช้งานทั่วไปของมือถือ นั่นคือการใช้งานโทรศัพท์แบบ Voice, การรับ-ส่ง SMS เป็นต้น รวมไปถึงลูกค้าบางรายก็ยังติดสัญญาพ่วงด้านโปรโมชันกับผู้ให้บริการอยู่ จึงยังต้องใช้งานคลื่นความถี่ 1800 MHz ต่อไป
แต่ในช่วงก่อนหน้านี้ มีประกาศจาก กสทช. ออกมาว่า สัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่ใช้บริการอยู่ในปัจจุบันจะหมดอายุการให้บริการ และจำเป็นต้องปิดการให้บริการ และดึงคลื่นความถี่กลับคืน เพื่อจะได้ทำการจัดสรรคลื่น 1800 MHz สำหรับการประมูลเพิ่มเติมในอนาคต ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ใช้บริการ 2G บนความถี่ 1800 MHz กว่า 18 ล้านคนได้รับผลกระทบกับการใช้งาน โดยในบทความนี้เราจะมาดูกันครับ ว่าภาพรวมของสถานการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างไร แบบเข้าใจง่ายๆ ดังนั้นจะขอไม่พูดถึงรายละเอียดเชิงลึกนะครับ คัดเอามาแต่ส่วนที่ผู้ใช้อย่างเราๆ จะได้พบเท่านั้น
เครือข่ายใดที่จะได้รับผลกระทบ ?
ผู้ที่จะได้รับผลกระทบในกรณีนี้เต็มๆ มีสองรายครับ นั่นคือ
- DPC (เป็นเครือของ AIS เอง) มีลูกข่ายใช้บริการอยู่ประมาณ 80,000 ราย
- Truemove มีลูกข่ายใช้บริการอยู่เกือบ 17 ล้านราย (อันนี้คือทรูมูฟ ไม่ใช่ทรูมูฟเอช)
ซึ่งสาเหตุที่ทั้ง DPC (AIS) และ Truemove ได้รับผลกระทบก็เพราะว่าสัญญาสัมปทานการใช้งานคลื่น 1800 MHz ของทั้งสองหมดลงในวันที่ 15 กันยายน 2556 จึงทำให้หมดสิทธิ์ในการให้บริการต่อ เนื่องจากต้องคืนคลื่นความถี่ให้ กสทช.?ส่วน dtac นั้นถือว่าลอยตัวครับ เพราะสัญญาสัมปทานการใช้งานคลื่น 1800 MHz จะไปหมดอายุก็เดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2561 หรืออีกราว 5 ปีข้างหน้าเลยทีเดียว แถม dtac เองก็ยังมีคลื่นความถี่ 1800 MHz ส่วนที่ยังไม่ได้ใช้งานเหลือสำรองอยู่อีก จึงลอยตัวเหนือปัญหานี้ได้สบายๆ (คลื่นสำรองนี้ต้องได้รับการอนุมัติจาก กสทช. ก่อน ถึงจะนำมาใช้งานได้)
โดยตามสิ่งที่ควรจะเป็น ทางแก้ไขปัญหานี้ก็คือ กสทช. หรือผู้มีอำนาจในขณะนั้น ควรจะจัดการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ล่วงหน้าก่อนสัมปทานหมดอายุไม่ต่ำกว่า 2-3 ปีแล้ว เพื่อที่จะได้สามารถดำเนินการต่อได้อย่างไม่มีสะดุด ไม่ว่าจะเป็นการนำคลื่น 1800 มาให้บริการ 2G ตามเดิม หรือจะแบ่งส่วนคลื่นเพื่อทำ 4G LTE หรืออะไรก็ว่าไป แต่เมื่อไม่มีการประมูลเกิดขึ้น จึงทำให้เกิดช่องว่างหลังหมดสัญญาสัมปทานเกิดขึ้นดังในปัจจุบัน
แนวทางการแก้ไขปัญหา
ในเรื่องนี้ ก็มีการพูดคุยกันมานานพอสมควร จนได้ข้อสรุปออกมาดังนี้ครับ
- กสทช. จะยังให้ความคุ้มครองชั่วคราวกับผู้ใช้งานโทรศัพท์บนคลื่นความถี่ 1800 MHz ต่อไปอีก 1 ปี
- ต่อจากนี้ ห้าม AIS (DPC) และ Truemove รับลูกค้าบนคลื่นความถี่ 1800 MHz เพิ่มเติมอีก
- จะมีการประมูลคลื่น 1800 MHz ในเดือนกันยายน ปีหน้า
- ทั้ง AIS และ Truemove จะต้องดำเนินการประชาสัมพันธ์กับลูกค้าของตน เกี่ยวกับการย้ายเครือข่าย และเปิดโอกาสให้สามารถย้ายได้ทั้งแบบเข้ามาเครือข่ายของตน หรือจะย้ายไปเครือข่ายอื่นก็ได้
ส่วนที่จะเกี่ยวข้องกับผู้ใช้ทั่วไป
ส่วนในแง่ของผู้ใช้งานทั่วไปที่ยังใช้งาน 2G ความถี่ 1800 MHz (AIS ดั้งเดิมและ Truemove) ที่เป็นแบบ voice อย่างเดียว ซึ่งก็พออนุมานได้ว่าเป็นผู้ใช้ระดับบ้านๆ ทั่วไป และผู้ใช้งานในเชิงธุรกิจที่ใช้มือถือมานาน จะได้รับผลดังนี้
- ใครที่ยังใช้งาน 2G ความถี่ 1800 MHz อยู่ จะยังใช้งานได้ตามปกติถึง 15 กันยายน 2557 หลังจากนั้นจะไม่สามารถใช้งานได้
- ผู้ใช้ที่เข้าข่ายนี้ จำเป็นจะต้องทำเรื่องขอย้ายเครือข่าย เข้ามายังคลื่นความถี่ 850/900 หรือ 2100 MHz
ทีนี้มาดูแยกเครือข่ายกันครับ
AIS (DPC)
ฝั่งของ AIS นั้น ดูจะมีปัญหาน้อยหน่อย เพราะจำนวนผู้ใช้งานมือถือคลื่น 1800 MHz มาเพียงราวๆ 80,000 ราย เท่านั้น ทำให้ทาง AIS ประกาศออกมาชัดเจนเลยว่า หลังวันที่ 15 กันยายน 2557 ทาง AIS จะปิดให้บริการคลื่นความถี่ 1800 MHz ในทันที พร้อมทั้งยุติการให้บริการโปรโมชันต่างๆ ที่พ่วงกันอยู่ด้วย ไม่มีนโยบายโอนย้ายเครือข่ายให้กับผู้ใช้?สำหรับใครที่ยังต้องการใช้ AIS อยู่ ต้องไปจัดการย้ายเครือข่ายด้วยตนเอง โดยสามารถเลือกได้เองว่าจะยังคงใช้ AIS อยู่ หรือจะย้ายไป dtac หรือ Truemove H ตามใจชอบ
Truemove
แต่กับทาง Truemove นั้น ดูจะมีปัญหาอย่างชัดเจนครับ เพราะมีลูกค้าในเครือข่ายกว่า ?17 ล้านราย ทำให้ Truemove จำเป็นที่จะต้องมีมาตรการดูแลผู้ใช้งาน เพราะถ้าหากทำเช่นเดียวกับ AIS จะทำให้บริษัทเสียผลประโยชน์จำนวนมหาศาล ดังนั้นทาง Truemove จึงมีมาตรการออกมาดังนี้ครับ
- Truemove (1800) จะค่อยๆ ทำการโอนย้ายลูกค้าไปเครือข่าย Truemove H (850/2100) โดยอัตโนมัติ เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้งานได้ตามปกติ
- แต่สำหรับใครที่ไม่ต้องการย้ายมา Truemove H ให้แจ้งเรื่องไปที่เบอร์ 02-6479999 เพื่อระงับการย้ายเครือข่ายแบบอัตโนมัติ
- สำหรับลูกค้าที่อัพเกรดไปเป็น Truemove H และใช้งานต่อเนื่องไปถึงสิ้นปี 2556 จะได้รับมือถือ Samsung Hero 3G หรือ Nokia 208 3G ฟรี เริ่มรับเครื่องหลังวันที่ 31 ธันวาคมเป็นต้นไป
หน้าลิ้งค์เว็บไซต์ชี้แจงของ Truemove
ถ้าดูจากมาตรการของฝั่ง Truemove แล้ว ก็น่าจะช่วยให้การเปลี่ยนถ่ายเครือข่ายเป็นไปได้ด้วยดีในระดับหนึ่งครับ เพราะเป็นการทยอยเปลี่ยนให้แบบอัตโนมัติ ลูกค้าแทบไม่จำเป็นต้องไปดำเนินการเอง แล้วหลังจากการเปลี่ยนเครือข่ายแล้ว ลูกค้าก็ยังคงใช้งานได้ตามปกติด้วย แม้ว่ามือถือที่ใช้จะไม่รองรับความถี่ 850/2100 ก็ตาม เหตุเพราะระบบจะใช้การ roaming สัญญาณ เพื่อสลับไปใช้งานความถี่ 1800 MHz ตามเดิม (แต่ตัวบัญชีของเบอร์และของเรา จะเข้าไปอยู่ใน Truemove H แล้ว) และถ้าใครใช้งานถึงเกณฑ์ที่กำหนด ก็จะได้รับมือถือที่รองรับการใช้งาน Truemove H ไปใช้งานฟรีๆ ด้วย ซึ่งถ้าเป็นไปได้ตามนี้ การโอนย้ายเครือข่ายของ True ก็ไม่น่าจะมีปัญหาเกิดขึ้น โดยถ้าอิงข้อมูลที่ว่า ปัจจุบันผู้ให้บริการเครือข่ายสามารถจัดการย้ายเครือข่ายได้สูงสุดวันละประมาณ 60,000 เลขหมายต่อวัน เมื่อคำนวณจากเลขหมายกว่า 17 ล้านรายแล้ว ก็น่าจะใช้เวลาไม่เกิน 300 วัน ถึงจะนับว่าฉิวเฉียด แต่ก็ไม่น่ามีปัญหาถ้าทำได้ตามนั้นจริงๆ
ดังนั้น กลุ่มที่เสี่ยงต่อปัญหาซิมดับ ดูแล้วน่าจะเป็นผู้ใช้งาน AIS (1800 MHz) ที่ไม่ทำเรื่องย้ายเครือข่ายเท่านั้นครับ เพราะผู้ใช้จะต้องไปจัดการด้วยตนเอง ซึ่งการจูงใจหรือบังคับผู้ใช้งานน่าจะเป็นข้อยากที่สุดแล้วสำหรับผู้ให้บริการ ก็ต้องคอยดูกันต่อไปว่า AIS จะจัดการอย่างไร
ส่วนใครที่ใช้งาน AIS 900 / AIS 3G 2100 / dtac 850 / dtac TriNet / Truemove H อยู่แล้ว กลุ่มนี้จะไม่มีปัญหาครับ สามารถใช้งานต่อไปได้ตามเดิม