ถ้าจะพูดถึงจุดเด่น จุดขายของสมาร์ทโฟน Android ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่แล้วก็จะนึกถึงในเรื่องของสเปกและความเร็วของเครื่องเป็นหลัก รองลงมาก็เป็นเรื่องจอ เรื่องกล้อง เรื่องการเชื่อมต่อ 3G รองๆ กันลงมา แต่สำหรับสมาร์ทโฟนรุ่นที่เราจะรีวิวในครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นอีกรุ่นที่มีจุดเด่นแตกต่างออกไปจากหลายๆ เครื่องในตลาด นั่นก็คือจุดเด่นในเรื่องของการใช้งานแบบ 3D ที่เรียกได้ว่ามีเพียงไม่กี่รุ่นในตลาดเท่านั้นที่จะมาเล่นในจุดนี้
ซึ่งสมาร์ทโฟนรุ่นที่เรานำมารีวิวในครั้งนี้ก็คือ LG Optimus 3D Max (P725) ที่เป็นรุ่นต่อยอดของ LG Optimus 3D ซึ่งเคยสร้างกระแสเรื่องการแสดงผล 3D ในตลาดช่วงก่อนหน้านี้ไประยะหนึ่ง เพราะจัดได้ว่าเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นแรกๆ ของโลกที่สามารถแสดงผล 3D ได้โดยแบบไม่ต้องใช้แว่นในการมองภาพ ดังนั้น ตัวของ LG Optimus 3D Max จึงน่าจะได้รับการคาดหวังว่าจะมีจุดที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาให้มากกว่าที่รุ่นเก่าเคยทำเอาไว้ ซึ่งในส่วนของฟีเจอร์เราจะมาพูดถึงในภายหลังครับ มาเริ่มที่สเปกเครื่องกันก่อนเลยดีกว่า
สเปกของ LG Optimus 3D Max
- ชิปประมวลผล TI OMAP 4430 ความเร็ว 1.2 GHz พร้อมหน่วยประมวลผลกราฟิก PowerVR SGX540
- RAM 1 GB
- พื้นที่หน่วยความจำภายใน 8 GB
- จอพาเนลแบบ IPS ขนาด 4.3 นิ้ว ความละเอียด 800×480 รองรับการแสดงผล 3D แบบไม่ต้องใช้แว่น
- Android 2.3 (Gingerbread)
- กล้องหลังความละเอียดสูงสุด 5 MP
- กล้องหลังรองรับการถ่ายภาพแบบ 3D ที่ความละเอียดสูงสุด 3MP
- ใช้งาน 3G ได้ที่ความถี่คลื่น 900/1900/2100 MHz (ส่วนรุ่น P720 จะรองรับแค่ 850 กับ 2100 MHz)
- แบตเตอรี่ความจุ 1,520 mAh
- น้ำหนักเครื่อง 148 กรัม
สเปกเครื่องแบบเต็มๆ : LG Optimus 3D Max
ถ้าในประเด็นของสเปกนั้น ก็จัดได้ว่า LG Optimus 3D Max เป็นเครื่องที่มาพร้อมกับสเปกเครื่องระดับกลางเกือบสูง จุดเด่นนั้นอยู่ที่ส่วนของชิปกราฟิกที่ค่อนข้างแรงอย่าง PowerVR SGX540 ซึ่งสาเหตุที่จำเป็นต้องมีส่วน GPU ค่อนข้างแรงก็เพื่อในการแสดงผลแบบ 3D ที่จะต้องเรนเดอร์ภาพเดียวกันขึ้นมา 2 ชุด เพื่อให้แสดงผลบน layer ของจอที่ต่างกัน จึงจะทำให้ภาพออกมาเป็น 3 มิติ ทั้งนี้เพราะการแสดงภาพแบบ 3D ไม่ใช่แค่ภาพนิ่งแต่เพียงอย่างเดียว เพราะมันยังมีทั้งการแสดงวิดีโอ รวมไปถึงการเล่นเกมในแบบ 3D อีกด้วย
ส่วนในเรื่องของ OS นั้น แม้ว่าจะมาเป็น Android 2.3 แต่ถ้าดูจากสเปกจริงๆ แล้วนั้น สามารถทำการอัพเดตเป็น Android 4.0 Ice Cream Sandwich ได้สบายๆ เนื่องด้วยชิปภายในแทบจะไม่ต่างกับตัวของ Galaxy Nexus มากนัก ซึ่งในเรื่องนี้ก็คงขึ้นอยู่กับทาง LG แล้วว่าจะปล่อยอัพเดตให้เมื่อไร แต่ทั้งนี้ก็มีประเด็นหนึ่งที่น่าเป็นห่วง นั่นคือถ้าอัพเดตแล้ว ยังจะสามารถแสดงผลแบบ 3D ได้ไหลลื่นอย่างตอนนี้หรือเปล่า
หน้าตาของ LG Optimus 3D Max
หน้าตาของ LG Optimus 3D Max นั้นแทบจะถอดมาจากรุ่นก่อนหน้าอย่าง LG Optimus 3D เลย ทั้งตัวลำโพงสนทนา กล้องหน้า ขอบมุม แต่สิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงไปคือมีการเปลี่ยนมาจากวัสดุผิวหน้าเป็นพลาสติกสีดำชิ้นเดียวกันทั้งหมด โดยถ้าดูจริงๆ แล้ว ดีไซน์หน้าตาของ LG Optimus 3D Max เครื่องนี้ดูจะได้แรงบันดาลใจจากตัวของ LG Prada 3.0 มาไม่น้อยทีเดียว ตัวปุ่มการทำงานทั้ง 4 ปุ่มยังคงเป็นปุ่มแบบ capacitive เช่นเดิม แต่มีการปรับให้ไฟแสดงผลของปุ่มสามารถดับลงไปได้เมื่อไม่ได้ใช้งาน ซึ่งจะทำให้ส่วนหน้าของตัวเครื่องกลายเป็นสีดำเรียบไปทั้งหมด ดูสวยงามกว่ารุ่นเก่าไม่ใช่น้อย แต่อาจจะมีปัญหากับผู้ใช้เครื่องช่วงแรกๆ ที่อาจไม่ชินว่าตำแหน่งปุ่มใดอยู่ตรงไหน เพราะในบางครั้งถึงแม้ว่าจอจะยังเปิดใช้งานอยู่ แต่ไฟที่ปุ่มก็ดับลงไปได้เหมือนกัน แต่ถ้าได้ลองใช้ซักระยะ เดี๋ยวก็ชินไปเอง
ลำโพงสนทนาให้เสียงที่ค่อนข้างดีตามปกติ ส่วนตัวเครื่องในขณะที่ใช้งานจริงนั้น ก็สามารถจับใช้งานได้ถนัดมือดี เนื่องด้วยการออกแบบสันเครื่องส่วนฝาหลังมีความกลมมน ทำให้ไม่รู้สึกบาดมือในเวลาใช้งาน แต่ถ้ามือมีเหงื่อหรือเปียกน้ำอยู่อาจจะใช้งานได้ลำบากกว่าปกติเล็กน้อย เพราะตัวเครื่องอาจลื่นหลุดมือได้
จอจัดได้ว่าเป็นอีกส่วนที่สำคัญของ LG Optimus 3D Max เครื่องนี้ เนื่องด้วยมันสามารถแสดงผลภาพ 3D ได้โดยไม่ต้องใช้แว่นตาในการรับชม แต่?. มุมมองของการรับชมภาพ 3D นั้น มุมที่ดีที่สุดคือต้องหันจอให้ตรงๆ กับสายตา ทิ้งระยะห่างประมาณ 30-40 เซนติเมตรจากตาของผู้ใช้ ส่วนใครที่จะมองจากด้านข้าง หรือเยื้องๆ ออกไปจากแนวตั้งฉากของจอ ภาพที่เห็นอาจจะดูไม่ชัดเจน เพราะภาพจะเหลื่อมกันอย่างเห็นได้ชัด ส่วนถ้าดูภาพ 2D ปกติ ก็ไม่พบปัญหาอะไร แถมมุมมองของภาพกว้างกว่าแบบ 3D มากทีเดียว
ความสว่างของจอ ทาง LG ได้โฆษณาไว้เลยว่ามีสูงถึง 600nits ด้วยเทคโนโลยีจอในชื่อของ NOVA จากทาง LG เอง
ฝาหลังของ LG Optimus 3D Max นั้นใช้พลาสติกสีดำความยืดหยุ่นสูงเป็นวัสดุ สามารถบิดงอได้พอประมาณ ส่วนนอกมีการทำพื้นผิวคล้ายๆ รวงผึ้ง ซึ่งถ้าใช้งานไปนานๆ อาจจะเกิดคราบสะสมภายในได้บ้าง ทางที่ดีก็ควรจะหมั่นเช็ดทำความสะอาดเป็นระยะๆ ด้านล่างของตัวเครื่องจะมีลักษณะโป่งนูนขึ้นมาเล็กน้อย ซึ่งช่วยทำให้จับตัวเครื่องในแนวตั้งได้ถนัดมือยิ่งขึ้น เพราตำแหน่งนั้นจะเป็นตำแหน่งที่นิ้วล่างสุดของมือผู้ใช้วางนิ้วบนฝาหลังเครื่องขณะใช้งานอยู่พอดิบพอดี อีกทั้งใกล้ๆ กันนั้นก็จะมีช่องลำโพงอยู่ โดยถ้าสังเกตจากตำแหน่งช่องลำโพงแล้ว จะพบว่ามันอยู่หลบเข้ามาในช่องว่าง ไม่ได้อยู่ตรงสันของส่วนโค้ง ซึ่งด้วยการวางตำแหน่งแบบนี้ จะช่วยทำให้เกิดการกระจายเสียงจากใต้เครื่อง เมื่อเครื่องวางแบบหันจอขึ้นด้านบนอยู่ ทำให้ช่วยในการกระจายเสียงริงโทนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ส่วนคุณภาพเสียงที่ได้ จัดว่าอยู่ในระดับปานกลาง
ด้านของกล้องหลัง เนื่องด้วย LG Optimus 3D Max มาพร้อมกับความสามารถในการถ่ายภาพแบบ 3 มิติ จึงทำให้ต้องมีกล้องมาให้ 2 ตัว ซึ่งจะใช้งานทั้ง 2 ตัวก็ต่อเมื่อถ่ายภาพแบบ 3D เท่านั้น โดยเมื่อถ่ายภาพแบบ 3D ความละเอียดของภาพจะลดลงมาเหลือ 3 MP ทั้งนี้ยังสามารถเปิดใช้งานแฟลชได้ เพียงแต่แฟลชจะไม่ได้ยิงออกมาแบบกระพริบเหมือนปกติ แต่จะเป็นการส่องสว่างแบบไฟฉายเลย และอีกข้อหนึ่งที่สำคัญก็คือ เมื่อถ่ายภาพแบบ 3D ผู้ใช้จะไม่สามารถเลือกจุดโฟกัสด้วยตนเองได้ ส่วนตัวอย่างภาพนั้น สามารถลองชมได้จากด้านล่างนี้ครับ
ถ่ายภาพแบบภาพปกติ
ภาพที่ได้จะติดสว่างๆ ไปซักหน่อยตามปกติของกล้องมือถือ ส่วนรายละเอียดของภาพก็จัดได้ว่าเก็บได้ค่อนข้างดีครับ ส่วนในภาพล่างขวานั้น เป็นภาพที่ถ่ายจากในโหมด 3D ซึ่งเอาจริงๆ แล้วในกระบวนการบันทึกรูป ตัวเครื่องจะทำการบันทึกทั้งในแบบของ 2D และ 3D ไปพร้อมๆ กันเลย เพื่อที่จะได้สามารถนำไปเปิดในโหมด 3D ได้ด้วยในตัว
ภาพในโหมด 3D
ส่วนในการบันทึกภาพแบบ 3D นั้น จะมีการบันทึกเป็นภาพเหลื่อมๆ กันเล็กน้อย 2 ภาพ เพื่อจะได้นำไปแสดงผลบนจอแบบแยก layer ได้และกลายเป็นภาพ 3 มิติให้ผู้ใช้ชม ส่วนถ้านำไฟล์ภาพ 3D มาลงในคอมพิวเตอร์ จะเห็นว่านามสกุลของไฟล์จะเป็นนามสกุล .jps ซึ่งไม่สามารถเปิดชมได้แบบปกติ ถ้าอยากจะนำมาดูแบบปกติก็ให้เปลี่ยนนามสกุลไฟล์เป็น .jpg ครับ
ส่วนด้านข้างของเครื่อง มาเริ่มดูจากด้านบนกันก่อนเลย ก็จะมีตัวของปุ่มเปิด/ปิด/ล็อคจอ และช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร ด้านล่างมีช่องรับเสียงของไมค์ ใกล้ๆ กันนั้นก็มีช่องสำหรับแงะเปิดฝาหลังของเครื่อง ส่วนทางสันด้านซ้ายของเครื่องจะมีแถบปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง ถัดมาก็เป็นช่อง microUSB ที่มีฝาเลื่อนสำหรับปิดพอร์ตได้ ตัวฝานั้นใช้วัสดุเป็นอะลูมิเนียม ทำให้ดูสวยงามและแข็งแรงไปด้วยในตัว อีกทั้งยังป้องกันฝุ่นได้ดี ตัดปัญหาเรื่องฝาปิดพอร์ตพังในบางรุ่นที่เลือกใช้ฝาปิดพอร์ตเป็นยางได้เป็นอย่างดี
ส่วนสันทางด้านขวาของตัวเครื่องนั้นจะมีปุ่มกล้องอยู่ ทำให้สามารถเข้าสู่แอพถ่ายรูปได้สะดวกยิ่งขึ้น
เมื่อเปิดฝาหลัง ภายในจะพบแบตเตอรี่ความจุ 1,520 mAh, ช่องใส่ microSD และช่องใส่ซิมการ์ด โดยซิมการ์ดที่ใช้นั้นต้องใช้เป็นซิมการ์ดขนาดปกติครับ น้ำหนักของเครื่องเมื่อชั่งน้ำหนักจริงอยู่ที่ 148 กรัม ตามที่แจ้งไว้ในสเปกพอดิบพอดี โดยน้ำหนักนี้เรียกได้ว่าเท่าๆ กับ iPhone 4 เลย
ต่อไปก็เป็นช่วงของซอฟต์แวร์และผลเทสกันบ้าง
เริ่มด้วยซอฟต์แวร์ภายในเครื่องกันก่อน ตัว Android ที่ติดตั้งมาใน LG Optimus 3D Max นั้นเป็นเวอร์ชัน 2.3.6 โดยมีพื้นที่เหลือภายใน ROM ให้ติดตั้งโปรแกรมเพิ่มได้อีกราวๆ 890 MB (ที่เห็นในภาพคือติดตั้งแอพและเกมบางส่วนเข้าไปแล้ว) ส่วนภาพขวาล่างนั้นมีความน่าสนใจคือตัวเครื่องจะมาการแจ้งเตือนด้วยว่าการชาร์จครั้งนี้อาจจะช้าหน่อยนะ เพราะสายที่ใช้หรือระบบไฟฟ้าที่เสียบเครื่องชาร์จอยู่นั้นจ่ายไฟให้ได้ไม่เต็มกำลัง
ส่วนท่านไหนที่กังวลว่าแรมจะเหลือใช้งานเพียงพอหรือไม่ ด้วย LG Optimus 3D Max นั้นให้แรมมาถึง 1 GB และเอาจริงๆ จะเหลือให้ใช้งานราวๆ 560 MB ก็เรียกได้ว่าใช้งานทั่วไปได้อย่างสบายๆ ไม่ต้องมาคอย Kill Task อีกต่อไป
หน้าตา launcher ของ LG เองก็ยังคงสไตล์เดิมเอาไว้อย่างครบถ้วน ตัว widget ก็เช่นเดียวกับ Android หลายๆ รุ่นทั่วไป แต่จะมีการจัดหน้าตาของการเลือกวาง widget ที่ต่างออกไปจากหลายๆ เครื่อง นับว่าดูน่าสนใจดีเหมือนกัน
แบตเตอรี่ของ LG Optimus 3D Max ก็จัดได้ว่าอยู่ในระดับของสมาร์ทโฟนทั่วไป เมื่อใช้ทำงานปกติ เช่น ต่อ 3G, เล่น Facebook, เล่น Twitter, เปิดหน้าเว็บบ้าง ใช้กล้องถ่ายรูปนิดหน่อย ก็สามารถใช้งานประมาณเกือบ 1 วัน แถมตื่นเช้ามาแบตก็ยังเหลืออยู่นิดหน่อยด้วย
ผลการทดสอบ
BrowserMark
ผลเทสนี้จะเป็นการทดสอบประสิทธิภาพของเบราเซอร์ด้วยการรัน JavaScript เเละการเรนเดอร์ HTML ซึ่งความเร็วเเละสถาปัตยกรรมซีพียูมีผลสำคัญต่อคะเเนน (คะเเนนมากกว่าเท่ากับดีกว่า)
Sunspider 0.9.1 JavaScript Benchmark
Sunspider เป็นชุดผลเทสอีกชุดหนึ่งของ JavaScript ในการดูประสิทธิภาพของ Browser อีกเช่นกัน ซึ่งความเร็วเเละสถาปัตยกรรมซีพียูมีผลสำคัญต่อคะเเนน (คะเเนนน้อยกว่าเท่ากับดีกว่า)
GLBenchmark 2.1.4 Egypt High
GLBenchmark เป็นการทดสอบประสิทธิภาพของกราฟฟิคที่ใช้ OpenGL ES ที่ถูกใช้ในอุปกรณ์พกพา โดยใช้การทดสอบในชุด Egypt ในความละเอียด High การทดสอบนี้จะมีความเเปรผันตามขนาดหน้าจอของเครื่องด้วย เฟรมเรทสูงสุดถูกกำหนดไว้ที่ 60 เฟรมต่อวินาทีเพื่อไม่ให้ภาพเเสดงผลเร็วจนเกินไป (คะเเนนมากกว่าเท่ากับดีกว่า)
GLBenchmark 2.1.4 Egypt Offscreen
ผลการทดสอบนี้เหมือนกับชุดบน เเต่การเทสจะถูกรันบนความละเอียด 720p โดยไม่สนความละเอียดของหน้าจอ การทดสอบนี้เพื่อดูว่าตัวประมวลผลกราฟฟิคอะไรมีประสิทธิภาพมากกว่ากันโดยไม่ เกี่ยวกับการใช้งานจริงบนเครื่อง
สรุปปิดท้าย
LG Optimus 3D Max นั้น ถ้าจะให้จัดหมวดหมู่ ดูแล้วก็น่าจะอยู่ในกลุ่มเครื่องความแรงระดับกลางๆ ทั้งในด้านการประมวลผล และสเปกโดยรวม แต่จะมีจุดเด่นเพิ่มเข้ามาก็อย่างเช่น การถ่ายภาพ การเล่นเกม และการแสดงผลภาพแบบ 3D (ที่ไม่สามารถ capture หน้าจอ หรือถ่ายภาพมาให้ชมได้ เพราะถึงถ่ายออกมา ก็มองเห็นเป็นแค่ 2D ตามปกติอยู่ดี) รวมไปถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของเครื่อง เช่นฝาปิดพอร์ต microUSB ที่เรียกได้ว่าทำมาได้ดีและน่าสนใจมาก แถมยังไม่มีแบรนด์ใดทำออกมาได้น่าสนใจเช่นนี้ด้วย ก็นับว่าเป็นการใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ได้ดี
โดยกลุ่มเป้าหมายของ LG Optimus 3D Max นั้น น่าจะเป็นในกลุ่มผู้ที่ต้องการสมาร์ทโฟน Android ที่เครื่องไม่จำเป็นต้องแรงมากนัก แต่ต้องการฟีเจอร์ที่ล้ำกว่าเครื่องอื่นเล็กน้อย โดยในเครื่องได้มีการแถมเกมที่สามารถเล่นในโหมด 3D ได้มาให้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น Asphalt 6, N.O.V.A. และ Let?s Golf 2 ซึ่งระบบ 3D ที่มีก็สามารถเล่นได้เพลินๆ แต่ทางที่ดีก็ควรมีระยะเวลาในการพักสายตาบ้าง เพราะสามารถทำให้สายตาล้าได้พอสมควรเลย
ถ้าให้ประเมินเทียบกับ LG Optimus 3D รุ่นแรก ก็นับว่า LG Optimus 3D Max เป็นรุ่นที่ได้รับการพัฒนาเรื่องดีไซน์ขึ้นมาได้อย่างน่าสนใจ ดูโดดเด่น ดูเป็นแฟชันมากขึ้น รับรองว่าถือใช้งานเดินตามย่านแฟชันได้อย่างสบายๆ เลยทีเดียว