ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา Lenovo ได้เริ่มบุกตลาดสมาร์ทโฟนในไทยโดยใช้ Lenovo K900 เป็นรุ่นเรือธง ซึ่งกระแสตอบรับก็ถือว่าโอเคเลยทีเดียว เนื่องด้วยสเปคตัวเครื่องที่แรงระดับท็อปๆ หน้าจอขนาดใหญ่ ราคาก็อยู่ในระดับที่จับต้องได้ไม่ยากนัก และในปีนี้ Lenovo ก็มาต่อยอดความสำเร็จของรุ่นเรือธงด้วยการส่งรุ่นใหม่เข้ามาแทน นั่นคือ Lenovo Vibe Z ที่มีรหัสโมเดลคือ K910L ทางเราก็ได้โอกาสรับเครื่องมารีวิวด้วยเช่นกันครับ สำหรับใครที่อยากรู้ว่า Lenovo Vibe Z เป็นอย่างไร ดีขนาดไหน มาชมกันในรีวิว Lenovo Vibe Z กันได้เลย
แกะกล่อง Lenovo Vibe Z
หน้าตากล่องของ Lenovo Vibe Z ก็จะคล้ายกับ Lenovo Vibe X ที่เรารีวิวไปก่อนหน้านี้เลย (รีวิว Lenovo Vibe X) คือมีกระดาษแข็งหุ้มอยู่ด้านนอก กล่องชั้นในก็จะเป็นฝาครอบลงไปบนตัวกล่อง
อุปกรณ์ภายในก็จะมีอะแดปเตอร์ชาร์จไฟ, สาย Micro USB, หูฟังแบบ In-Ear, เข็มจิ้มถาดใส่ซิมและเหล่าเอกสารคู่มือต่างๆ
สเปค Lenovo Vibe Z
- ชิปประมวลผล Snapdragon 800 Quad-core ความเร็ว 2.2 GHz พร้อมชิปกราฟิก Adreno 330
- แรม 2 GB
- หน้าจอ IPS ขนาด 5.5 นิ้ว ความละเอียด 1920 x 1080 Full HD
- รอมเก็บข้อมูลขนาด 16 GB ไม่สามารถเพิ่ม MicroSD ได้
- Android 4.3 Jelly Bean
- รองรับ 4G LTE ในไทยได้ ใช้งาน 3G ได้ทุกเครือข่าย
- ใช้งานได้ 1 ซิม (ไมโครซิม)
- กล้องหลังความละเอียด 13 ล้านพิกเซล พร้อม Dual-LED Flash
- กล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซล
- แบตเตอรี่ Li-Polymer ความจุ 3000 mAh
- รองรับ USB OTG
- หนัก 147 กรัม
- ราคา 14,990 บาท
- สเปค Lenovo Vibe Z เต็มๆ
เรื่องสเปค Lenovo Vibe Z (K910L) ถือว่าหายห่วงเลยครับ เพราะหลายๆ จุดนี่มันแรงเท่ากับมือถือระดับราคาสองหมื่นกว่าบาทเลยทีเดียว ถ้าเทียบราคาเครื่องศูนย์ในไทยแล้ว Vibe Z น่าจะเป็นเครื่องที่ใช้ชิป Snapdragon 800 พร้อมรองรับ 4G LTE ในไทยที่มีราคาคุ้มค่าที่สุดตัวหนึ่งเลยทีเดียว แถม Vibe Z เองก็เป็นสมาร์ทโฟนรุ่นแรกของ Lenovo ที่ใช้งาน 4G LTE ได้อีกด้วย เรื่องประสิทธิภาพเรียกว่าเหลือเฟือ ด้วยพลังประมวลผลระดับท็อปในปัจจุบัน สามารถใช้งานแอพ เล่นเกมได้ทุกเกมแน่นอน ใครหวังจะซื้อ Vibe Z ไปใช้งาน เล่นเกม ดูหนัง ฟังเพลงก็รับรองว่าสบายๆ
รีวิวหน้าตา Lenovo Vibe Z
หลังจากดูส่วนของสเปคไปแล้ว คราวนี้มาดูหน้าตาของ Lenovo Vibe Z กันบ้าง เรื่องรูปร่าง รูปทรงก็จะออกมาในพิมพ์คล้ายๆ กับ Vibe X ที่เป็นรุ่นรองลงมาเลยครับ ลักษณะตัวเครื่องค่อนข้างเพรียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเทียบกับ Lenovo K900 ที่เป็นรุ่นเรือธงของปีที่แล้ว จะพบว่า K900 ดูตัวเครื่องอ้วนกว่ามาก ทั้งๆ ที่หน้าจอมีขนาด 5.5 นิ้วเท่ากัน เนื่องจากขอบจอของ K900 หนากว่า Vibe Z อยู่พอสมควร ด้านหน้าใช้กระจกทั้งแผ่น ตัดขอบเครื่องด้วยอะลูมิเนียมที่ให้ทั้งความแข็งแกร่ง ความสวยงาม และยังช่วยเพิ่มความโดดเด่นให้กับหน้าจออีกด้วย
ด้านอินเตอร์เฟสก็มาพร้อมกับ Lenovo Smart User Interface ของ Lenovo เอง ที่จะใช้การวางไอคอนแอพทั้งหมดไว้บนหน้าโฮม ไม่มีไอคอนรวมแอพ (App Drawer) เหมือนกับลันเชอร์ทั่วๆ ไปของ Android ดังนั้นใครที่เคยใช้งานมือถือ Android รุ่นอื่นมาก่อนก็อาจจะต้องปรับตัวกันนิดหน่อย ส่วนใครที่ใช้งาน iOS มาก่อนจะพบว่ามันมีลักษณะการทำงานที่ใกล้เคียงกัน ทำให้สามารถปรับตัวมาใช้งานได้ง่ายครับ
หรือถ้าอยากจะเปลี่ยนไปใช้ลันเชอร์ตัวอื่น ก็สามารถดาวน์โหลดจาก Play Store มาได้เช่นกัน มีให้เลือกใช้เยอะแยะเลย ทั้งที่ฟรีและเสียเงิน
ด้านบนของจอก็จะมีแถบลำโพงสนทนา กล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซลและก็เซ็นเซอร์วัดแสงกับเซ็นเซอร์วัดระยะห่างติดตั้งไว้ให้ครบถ้วน
ด้านล่างเป็นตำแหน่งของปุ่มสั่งงานหลักๆ ทั้ง 3 ปุ่ม ได้แก่ปุ่มเมนู (กดค้างจะเป็น Recent Apps เพื่อเรียกดูแอพล่าสุดที่ใช้งาน) ตรงกลางเป็นปุ่มโฮม (กดค้างจะเป็นการเรียกใช้งาน Google Now) ส่วนริมขวาสุดเป็นปุ่มย้อนกลับ โดยที่แต่ละปุ่มจะใช้การส่องสว่างของไฟ LED ที่อยู่ใต้ปุ่มลงมา ซึ่งผู้ใช้งานสามารถปรับได้ว่าจะให้ไฟ LED ที่ปุ่มติดอยู่นานขนาดไหน ส่วนตัวผมชอบปรับให้มันส่องสว่างตลอดเวลาที่ใช้งานเครื่อง (หน้าจอเปิดอยู่) ครับ ส่วนช่องเล็กๆ ใต้ปุ่มโฮมนั้นเป็นช่องรับเสียงของไมโครโฟนสนทนา
รีวิวหน้าจอ Lenovo Vibe Z
หน้าจอ Lenovo Vibe Z ใช้พาเนลแบบ IPS ที่มีจุดเด่นในเรื่องสีสันสวยสมจริง มุมมองจอที่กว้าง สามารถมองภาพได้ชัดเจนแม้จะเอียงหน้าจออยู่ ซึ่งจากเท่าที่เราได้รีวิว Vibe Z มา ก็พบว่าหน้าจอมันให้สีสันที่สดใสโอเคดีเลยครับ ไม่จัดเกินไปนัก ความสว่างกำลังดี สู้แสงภายนอกได้ ระบบการปรับแสงสว่างหน้าจออัตโนมัติก็ทำได้ดี
มุมมองด้านข้างจอทำออกมาได้ดีเลยทีเดียว สามารถมองภาพบนจอได้ชัดเจนแม้ว่าจะหันข้างอยู่ด้วยหน้าจอที่มีขนาดใหญ่ 5.5 นิ้ว ทำให้ผมที่ชอบใช้งานมือถือด้วยมือเดียวไม่ค่อยชินอยู่บ้าง เพราะนิ้วเอื้อมไปกดบางปุ่มบนคีย์บอร์ดไม่ถึง แต่ถ้าให้เทียบกับตอนรีวิว Lenovo K900 แล้ว ตัวของ Vibe Z สามารถใช้งานได้ง่ายกว่ามากครับ เพราะขอบจอที่บางกว่า รูปทรงตัวเครื่องที่เพรียวกว่าเยอะ การใช้งานทั่วไป การตอบสนองก็ทำได้รวดเร็ว ไหลลื่น ด้วยพลังประมวลผลของ Snapdragon 800 ที่แรงเหลือเฟือสำหรับสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน
ด้านหลัง Lenovo Vibe Z
ด้านหลังของ Lenovo Vibe Z จะใช้วัสดุแยกเป็นสองชิ้นหลักๆ ส่วนฝาแผ่นใหญ่ด้านบนเป็นพลาสติก ส่วนล่างที่เป็นมันวาวคืออะลูมิเนียมที่เป็นชิ้นเดียวกับขอบเครื่อง ซึ่งดีไซน์นี้เราจะเห็นได้จากมือถือ Lenovo เองหลายรุ่นในปีนี้ เช่น Lenovo S930, S650 และ Vibe X โดยจะมีพื้นผิวลักษณะขรุขระเล็กน้อยทำให้การจับถือทำได้ค่อนข้างสบายมือ แต่ถ้าหากมือเปียกน้ำหรือมีเหงื่ออยู่ ก็ต้องระวังในการถือเช่นกัน เพราะตัวเครื่องมันจะลื่นมือขึ้นพอสมควรเลย แต่ก็ยังดีที่ไม่ทำให้มีคราบรอยนิ้วมือติดฝาหลัง อ้อ! รุ่นนี้ถอดฝาหลังไม่ได้นะครับ อย่าเผลอไปนั่งแงะล่ะ
ด้านบนเป็นตำแหน่งของกล้องหลังที่หุ้มไว้ด้วยกรอบอะลูมิเนียมดูแข็งแรงดี ติดตั้งแฟลช LED มาให้ 2 ดวงเลย รับรองเรื่องความสว่างของแฟลชได้ ส่วนช่องข้างๆ คือช่องรับเสียงของไมโครโฟนตัดเสียงรบกวน
ส่วนตรงแถบอะลูมิเนียมด้านล่างจะมีช่องเสียงของลำโพงอยู่ โดยเสียงที่ได้จากลำโพง Lenovo Vibe Z ก็ดังโอเคดีครับ แต่คุณภาพเสียงยังไม่หนีไปจากสมาร์ทโฟนระดับเดียวกันในตลาดมากนัก เนื่องจากจุดเด่นของ Vibe Z ไม่ได้อยู่ที่ลำโพง เน้นไปที่ความคุ้มค่าซะมากกว่า
ด้านบนของ Lenovo Vibe Z ก็จะมีปุ่ม Power อยู่ทางขวา (ถ้าหันหน้าจอเข้าหาตัว) ซึ่งถ้าใครใช้งานเครื่องด้วยมือขวามือเดียวอาจจะรู้สึกแปลกๆ เวลากดซักหน่อย ส่วนฝั่งซ้ายจะมีช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตรตามปกติ
ด้านล่างของตัวเครื่องมีแต่เพียงช่อง Micro USB สำหรับชาร์จแบตเตอรี่และเสียบสายเพื่อซิงค์ข้อมูลกับคอมพิวเตอร์ ทั้งยังสามารถใช้งานฟีเจอร์ USB OTG ได้อีกด้วย เพียงแค่ซื้อสาย USB OTG มาเพิ่มเท่านั้นเอง เราก็จะสามารถนำอุปกรณ์ USB อื่นๆ มาเสียบใช้งานร่วมกับ Vibe Z ได้แล้วครับ เท่าที่ลองใช้งานดูก็สามารถใช้ได้ทั้งเม้าส์ คีย์บอร์ด หรือจะนำ USB drive มาเสียบก็สามารถเข้าถึงข้อมูลใน USB drive ได้เช่นกัน เพียงเท่านี้ก็ไม่ต้องกลัวว่าพื้นที่เก็บข้อมูลภายในเครื่องจะไม่พออีกแล้ว เพราะเราสามารถสำรองข้อมูลลง flashdrive เอาไว้ภายนอกได้ด้วย จะใช้งานก็แค่เสียบเข้ากับสาย USB OTG เท่านั้นเอง
ฝั่งซ้ายของเครื่องมีแต่แถบปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงเท่านั้น ตำแหน่งของปุ่มจะอยู่บริเวณนิ้วชี้มือขวาพอดีครับ (ถ้าใช้มือขวาถือเครื่อง)?
ส่วนด้านขวาก็จะมีถาดใส่ซิมการ์ดอยู่ครับ การดึงถาดออกมาก็ให้ใช้เข็มที่มีแถมมาให้ในกล่องจิ้มเข้าไปในช่องเล็กๆ ข้างถาดใส่ซิม การจิ้มต้องจิ้มแล้วกดเข้าไปลึกพอสมควรเลย ถาดใส่ซิมถึงจะเด้งออกมา
หน้าตาถาดใส่ซิมครับ วัสดุเป็นโลหะแข็งแรงดี ถ้าดูดีๆ เหมือนว่าตรงตัว X จะเป็นช่องใส่ซิมได้อีกอันหนึ่ง ซึ่งก็เป็นเรื่องจริงครับ เพราะ Lenovo Vibe Z มีการแบ่งเป็นโมเดลย่อยลงไปอีก โดยโมเดลที่ขายในบางประเทศจะเป็นรุ่น 2 ซิม ส่วนรุ่นที่ขายในไทยที่รองรับ 4G LTE จะใช้งานได้แค่ซิมเดียวเท่านั้น โดยซิมที่ใช้จะเป็นขนาดไมโครซิมนะครับ เมื่อใส่ซิมเข้าไปแล้วก็ต้องตั้งค่า APN กันนิดหน่อย ถึงจะใช้งาน 3G/4G ได้
รีวิวภาพถ่ายจาก Lenovo Vibe Z
หน้าตาของแอพกล้องใน Lenovo Vibe Z ก็เหมือนกับในมือถือ Lenovo หลายๆ รุ่นครับ มีการปรับตั้งค่าพื้นฐานต่างๆ ตามปกติ มีฟิลเตอร์และเอฟเฟ็คท์ใส่ให้กับภาพด้วย แทบไม่ต้องหาแอพเสริมก็สามารถโพสต์รูปลง Instagram, Facebook หรือส่งใน LINE ได้สบายๆ การจับภาพและโฟกัสถือว่าทำได้เร็วดี แต่บางทีเมื่อกดถ่ายภาพไปแล้ว หน้าจอจะดูนิ่งๆ ไปบ้าง ต้องคอยสังเกตที่ช่องพรีวิวรูปที่ถ่ายก่อนหน้าซึ่งจะเป็นช่องเล็กๆ เอาครับ ว่าได้ถ่ายรูปไปแล้วหรือยัง
คราวนี้เรามาดูตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหลังของ Lenovo Vibe Z (K910L) กันบ้าง ทุกภาพใช้โหมดออโต้ ปิดแฟลช
ส่วนภาพด้านล่างนี้เป็นการลองถ่ายในเวลากลางคืนดูครับ เพื่อลองใช้งานโหมด Super Night ดู ภาพบนเป็นการถ่ายแบบออโต้ปกติ ปิดแฟลช
ภาพด้านล่างนี้เปิดใช้งานโหมด Super Night ซึ่งหลักการทำงานคือระบบจะเปิดชัตเตอร์รับแสงให้นานขึ้นกว่าเดิม สังเกตได้จากตอนถ่ายรูป จะมีคำเตือนว่าให้ถือเครื่องให้นิ่งที่สุดนั่นเอง (บังคับปิดแฟลช) ซึ่งผลก็ออกมาตามภาพด้านล่างครับ
รายละเอียดของภาพมาเยอะขึ้น มองเห็นวัตถุได้มากขึ้น มี noise เกิดขึ้นด้วยเป็นเรื่องธรรมดา แต่อย่างน้อยก็เห็นวัตถุในภาพเยอะขึ้นล่ะนะ
ภาพชุดต่อไปก็เช่นเดียวกันครับ ภาพบนคือถ่ายด้วยโหมดออโต้ธรรมดา ปิดแฟลช
ส่วนภาพด้านล่างนี้ถ่ายด้วยโหมด Super Night รายละเอียดของภาพที่ได้แทบจะเหมือนถ่ายภาพช่วงเย็นๆ ที่ยังพอมีแสงอยู่บ้างเลยทีเดียว
ส่วนชุดภาพด้านล่างนี้เป็นการถ่ายภาพเทียบระหว่างเปิดกับปิดแฟลชครับ ภาพบนคือถ่ายแบบปิดแฟลชตามปกติ
ส่วนภาพล่างคือเปิดแฟลชถ่ายภาพ ?จะเห็นว่าแสงสาดไปถึงข้างหลังได้ค่อนข้างดี รายละเอียดของภาพมามากขึ้น และก็ตัวแบบไม่ดูสว่างโอเวอร์เกินไปนัก
ส่วนตัวอย่างภาพจากกล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซลมีมาภาพเดียวนะครับ แหะๆ ถ้าดูที่วัตถุ จะเห็นว่าลายเส้นต่างๆ ค่อนข้างชัดเจนทีเดียว เผลอๆ ภาพจะคมชัดกว่ากล้องหลังของมือถือหลายๆ รุ่นอีกด้วยซ้ำ
ตัวอย่างหน้าจอ Lenovo Vibe Z
หน้าตาของลันเชอร์ Lenovo Smart User Interface ก็จะมีหน้าตามาตรฐานมาให้แบบดังในภาพด้านบนครับ มีการติดตั้งแอพพื้นฐานยอดฮิตมาให้บ้าง เช่น Facebook, Twitter และเหล่าแอพของ Google ที่ใส่รวมไว้ให้ในโฟลเดอร์เดียวกันบนหน้าจอ โดยแอพตัวหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ SHAREit ซึ่งสามารถรับส่งไฟล์ระหว่างมือถือ แท็บเล็ต Android ด้วยกันโดยไม่ต้องต่อเน็ต ไม่ได้ใช้ Bluetooth ด้วย ถ้าอยากทำความรู้จักและทดลองใช้งาน สามารถเข้าไปอ่านต่อได้จากในบทความแนะนำแอพ SHAREit ของเราเลยครับ
สำหรับใครที่อยากเปลี่ยนธีมของ Lenovo Smart User Interface ก็สามารถทำได้อย่างง่ายดายจากแอพ Theme Center ที่ติดตั้งมาให้แล้วในตัวเครื่องได้เลย ซึ่งก็มีธีมให้เลือกหลักๆ ด้วยกัน 8 รูปแบบ โดยนอกเหนือจะกดเปลี่ยนทั้งชุดธีมได้แล้ว ผู้ใช้งานยังสามารถเลือกปรับเฉพาะบางส่วนได้ด้วย เช่นอยากใช้หน้าล็อคสกรีนเป็นของธีม 1 แต่หน้า Desktop เป็นของธีม 2 ก็สามารถทำได้ครับ นับว่าช่วยอำนวยความสะดวกได้ดีทีเดียว
Lenovo Vibe Z มาพร้อมกับ Android 4.3 Jelly Bean ส่วนพื้นที่เก็บข้อมูลจาก 16 GB จะเหลือพื้นที่ให้ใช้งานประมาณ? 14.34 GB ซึ่งสำหรับการใช้งานทั่วๆ ไป เล่นเกมนิดหน่อย ก็จัดว่าค่อนข้างพอเพียงในระดับใกล้เต็มกันเลยทีเดียว แนะนำว่าควรบริหารจัดการพื้นที่รอมกันดีๆ แอพไหนที่ไม่ใช้ก็ลบๆ ออกไปบ้าง
ด้านการปรับรูปแบบการทำงานของฟีเจอร์ต่างๆ บน Lenovo Vibe Z ก็สามารถทำได้พอสมควรใกล้เคียงกับมือถือ Lenovo รุ่นอื่นๆ แต่อาจจะยังมีบางฟีเจอร์ที่ตกไปบ้างครับ เช่นการปาดนิ้วบริเวณปุ่มกด capacitive เพื่อปลดล็อคหน้าจอซึ่งมีอยู่บน Vibe X แต่คาดว่าน่าจะมีการอัพเดตตามมาให้ในภายหลัง เพราะเป็นฟีเจอร์ที่น่าจะเปิดใช้งานได้ไม่ยากนัก
ฟีเจอร์ Multi-Window
สำหรับฟีเจอร์นี้หลายๆ ท่านอาจจะพอคุ้นหน้าตากันบ้างครับ เพราะก็มีอยู่ในสมาร์ทโฟนหลากรุ่นหลายแบรนด์กันพอสมควร กับการเปิดใช้งานแอพหน้าจอเล็กๆ ระหว่างที่ใช้งานแอพอื่นอยู่ ทำให้สามารถใช้งานแอพได้มากกว่า 1 ตัวพร้อมกัน เนื่องด้วยพลังประมวลผลที่เหลือเฟือ แถมด้วยหน้าจอที่มีขนาดใหญ่ของมือถือสมัยนี้ ทำให้สามารถใช้งานได้อย่างสบายๆ
ซึ่งจากที่ได้รีวิว Lenovo Vibe Z มา ก็ได้ลองใช้งานฟีเจอร์ Multi-Window บ้างเล็กน้อยครับ ตัวแอพที่เรียกขึ้นมาเป็นหน้าจอย่อยสามารถย้ายตำแหน่งได้ด้วยการกดที่ปุ่มลูกศรสี่ทิศตรงกลางด้านล่างของแอพเพื่อย้ายตำแหน่ง ส่วนถ้าจะปิดแอพย่อยนี้ลงไปก็ให้กดที่ปุ่มกากบาทตรงมุมซ้ายล่างของแอพ ถ้าจะขยายหน้าจอก็ให้ลากที่มุมซึ่งมีสัญลักษณ์เป็นจุดๆ ให้สังเกตง่าย เพื่อปรับเปลี่ยนขนาดของหน้าแอพตามที่ต้องการ ส่วนถ้าต้องการเปิดแอพเต็มจอก็สามารถกดที่ไอคอนแอพที่อยู่มุมขวาล่างของหน้าต่างได้เลย แอพก็จะรันเต็มหน้าจอในทันที
การเรียกใช้งาน Multi-Window ตามค่าเริ่มต้นแล้ว ระบบจะเปิดฟีเจอร์นี้มาให้เลยครับ โดยเรียกเปิดได้จากแถบจางๆ สีเทาไล่เฉดที่อยู่ทางขวาของจอ โดยในแถบนั้นจะมีรูปหน้าต่างซ้อนกันอยู่ เมื่อกดแล้วก็จะมีหน้าต่างกรอบย่อยแสดงขึ้นมาให้เราเลือกแอพที่ต้องการเรียกมาใช้งาน ซึ่งก็เป็นแอพพื้นฐาน เช่นเครื่องคิดเลข อีเมล เป็นต้น แต่เราสามารถเพิ่มแอพอื่นเข้าไปเป็นตัวเลือกเพื่อใช้งานได้ด้วยครับ ซึ่งสามารถเลือกได้แทบทุกแอพบนเครื่องเลยทีเดียว ส่วนตัวผมเลยลองเลือก CPU-Z ดู ตัวอย่างก็เป็นดังภาพเลย
การปรับแต่งอื่นที่น่าสนใจก็เช่นการปรับสมดุลสี ความคมชัดของจอภาพซึ่งสามารถปรับได้นิดหน่อยตามที่ต้องการครับ นอกจากนี้ยังพอปรับการทำงานของไฟ LED แจ้งเตือนได้อีกเล็กน้อยด้วย โดยมันจะแจ้งเตือเฉพาะกรณีที่มีสายไม่ได้รับ กับข้อความเข้าที่ยังไม่ได้อ่านเท่านั้นเอง
อีกหนึ่งแอพที่อยู่คู่มือถือ Lenovo มานาน และจัดเป็นแอพที่มีประโยชน์ก็คือ Power Manager ตัวนี้ครับ ความสามารถมันก็สมชื่อเลย คือสามารถเรียกดูข้อมูลและจัดการเรื่องการใช้พลังงานได้ครอบคลุมหลายๆ ส่วนทีเดียว อย่างในหน้าแรกก็จะแสดงว่าแบตเตอรี่ยังเหลืออีกกี่เปอร์เซ็นต์ อยู่ได้นานสุดๆ อีกขนาดไหน ซึ่งในหน้านี้ก็จะมีการรวมสวิทช์ปิด/เปิดโมดูลการทำงานส่วนต่างๆ เอาไว้ให้ด้วย เช่น WiFi, 3G/4G, การปรับระดับความสว่าง เป็นต้น เหมาะสำหรับคนที่ต้องการให้มือถือสามารถใช้งานแบตเตอรี่ได้ยาวนานที่สุด เพียงแค่เปิดแอพ Power Manager ขึ้นมาก็สามารถปิดการทำงานส่วนต่างๆ ได้ในที่เดียว
ถ้ากดที่ตัว S ที่มุมบนขวาของแอพก็จะพบกับตัวเลือกการปรับแต่งอื่นๆ ของระบบอีก เช่นการเคลียร์แอพที่รันค้างไว้แบบอัตโนมัติเมื่อปิดจอ เพื่อประหยัดพลังงานเครื่องให้ถึงที่สุด ซึ่งในหลายๆ หัวข้อ ถ้าตั้งค่าดีๆ รับรองว่าจะช่วยเพิ่มระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ได้อีกมากแน่ๆ
หน้าต่อมาคือหน้า Usage ที่ใช้แสดงสถิติการใช้พลังงาน โดยแยกเป็นฝั่งของซอฟต์แวร์กับฮาร์ดแวร์ ให้สามารถดูได้ง่ายดายว่าแอพหรือฮาร์ดแวร์ส่วนไหนกินแบตเตอรี่ขนาดไหน
หน้า Charging เป็นหน้าแสดงสถานะการชาร์จแบตเตอรี่ที่จะบอกว่าชาร์จอยู่ในระดับไหน (ชาร์จเร็ว > ชาร์จเรื่อยๆ > ค่อยๆ ชาร์จเพื่อรักษาประจุ) รวมถึงสามารถแสดงระยะเวลาที่เหลือ ที่คาดว่าจะชาร์จจนแบตเตอรี่เต็ม
ส่วนหน้า Mode จะเป็นตัวช่วยปรับรูปแบบการทำงานของเครื่องอย่างรวดเร็วครับ เช่นถ้าต้องการเน้นระยะเวลาสแดนต์บายเครื่องนานๆ เผื่อต้องรอรับสายโทรศัพท์ ก็กดเปิดใช้งานโหมด Long standby ไปได้เลย ระบบจะทำการตัดการทำงานส่วนที่ไม่จำเป็นไปซะเพื่อประหยัดพลังงานให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ยังคงเชื่อมต่อสัญญาณมือถือเอาไว้อยู่ ส่วนถ้าเราต้องการสร้างโหมดการทำงานขึ้นมาเอง ก็สามารถตั้งค่าได้ตั้งแต่ในหน้าแรกของ Power Manager เลย เมื่อเรียบร้อยแล้วก็กดเซฟ มันก็จะกลายเป็น Custom Mode ตามที่เราต้องการครับ
ผลทดสอบประสิทธิภาพ Lenovo Vibe Z
ด้วยพลังของ Snapdragon 800 (MSM8974) ชิปกราฟิก Adreno 330 แรม 2 GB รับรองว่าแรงเหลือเฟือแน่นอนครับ
ผลทดสอบจาก SunSpider ตัว Lenovo Vibe Z ใช้เวลาประมวลผลไป 762.5 ms ซึ่งจัดว่าเร็วแล้วครับ ใกล้เคียงกับบน Nexus 5 แถมยังเร็วกว่าเครื่องรุ่นอื่นบางตัวที่ใช้ชิป Snapdragon 800 เหมือนกันนิดหน่อยด้วย
ส่วนการทดสอบด้วย GFXBench ในรูปขวานั้น เนื่องจากตัวแอพมีการอัพเดตเวอร์ชันและชุดการทดสอบเพิ่มเข้ามาใหม่ ทางเราเลยจัดการทดสอบมาให้ทั้งชุดเก่า (T-Rex กับ T-Rex Offscreen) และชุดใหม่ (Manhattan กับ Manhattan Offscreen) เลยแล้วกัน
โดยขอนำเฉพาะชุด T-Rex มาเทียบนะครับ เพราะฐานข้อมูลคะแนนมีจำนวนมากพอให้เปรียบเทียบแล้ว ผลคือ Lenovo Vibe X สามารถทำคะแนนและเฟรมเรตออกมาได้น่าพอใจเลย อยู่ในระดับเดียวกับ Nexus 5 ที่ใช้ชิปตัวเดียวกัน ดังนั้นเรื่องประสิทธิภาพของระบบใน Lenovo Vibe X ในด้านการ benchmark ก็ไม่น้อยหน้าเครื่องอื่นเหมือนกัน
ลองใช้ 3DMark ทดสอบดูบ้าง ผลคะแนนของชุดทดสอบ Ice Storm Unlimitted ออกมา 16,885 คะแนน
ส่วนการทดสอบโดย AnTuTu ก็มีมาฝากกันด้วยครับ จัดไป 34,455 คะแนนเลย
สำหรับการใช้งานทั่วไป ถือว่าไหลลื่นน่าพอใจเลยครับ ด้วยพลังประมวลผลที่แรงเหลือเฟือสำหรับการใช้งาน การตอบสนองการสั่งงานก็ทำได้รวดเร็ว แต่อาจจะยังไม่ถึงระดับเดียวกับ Nexus 5 นะครับ อาจมีจังหวะหน่วงอยู่นิดหน่อย ส่วนระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ น่าเสียดายที่มันมีเวลาอยู่กับเราสั้นไปนิด จึงไม่สามารถทดสอบใช้งานแบบเต็มๆ ได้มากนัก แต่จากที่ลองใส่ซิม ใช้งาน WiFi บ้าง 3G บ้าง ทดสอบประสิทธิภาพจากแอพ Benchmark บ้าง ก็สามารถใช้งานได้เป็นวันอยู่นะ
สรุปรีวิว Lenovo Vibe Z
เรียกว่าเป็นมือถือที่เปิดราคามาได้ตื่นตาตื่นใจอีกรุ่นหนึ่งทีเดียว สำหรับ Lenovo Vibe Z ในราคา 14,990 บาท มีจุดเด่นคือสามารถใช้งาน 4G LTE ในไทยได้อย่างสบายๆ ทั้งยังได้พลังประมวลผลแรงระดับ Snapdragon 800 ในราคาที่สุดคุ้มมากๆ ทั้งยังมาพร้อมกับฟีเจอร์อีกหลายอย่างที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งานได้จริง เช่นกล้องถ่ายรูปที่สามารถถ่ายในสภาพแวดล้อมมีแสงน้อยได้ดี แฟลช LED 2 ดวง การรองรับ USB OTG ที่ทำให้สามารถเก็บสำรองไฟล์ หรือจะเก็บไฟล์หนังแยกไว้ใน flashdrive แล้วค่อยมาเสียบใช้งานเมื่อเวลาที่ต้องการจะใช้ก็ได้ เป็นการลดการใช้พื้นที่เก็บข้อมูลในตัวเครื่องไปได้อีกมากทีเดียว ตัวเครื่องที่มีขนาดพอดีๆ มือไม่หนาและไม่กว้างเกินไปนัก เรียกว่าหลายอย่างก็พอฟัดพอเหวี่ยงกับ Nexus 5 ในเรื่องของความคุ้มค่าได้อย่างสบายๆ เลยด้วยซ้ำไป (Nexus 5 เครื่องศูนย์ไทยราคาสูงกว่า Vibe Z อีกต่างหาก)
สำหรับใครที่สนใจจะซื้อ Lenovo Vibe Z นะครับ ตอนนี้ก็เริ่มมีวางจำหน่ายบ้างแล้วตามทรูช้อปและร้านตัวแทนจำหน่ายที่เป็นทรูพาร์ทเนอร์ โดยจะเริ่มกระจายสินค้าออกไปเรื่อยๆ แต่ที่มีแน่นอนก็คือในงาน Thailnad Mobile Expo 2014 ซึ่งจะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 13 – 16 กุมภาพันธ์นี้ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มาพร้อมโปรโมชันจากทรูมูฟเอชอีกด้วยครับ
ข้อดี
- ราคาเปิดมาแค่ 14,990 บาท
- สเปคแรง คุ้มค่า จอสวย รองรับ 4G LTE ในไทยด้วย
- ตัวเครื่องเพรียวบาง จับถือง่ายกว่า K900 มาก
- กล้องถ่ายรูปสามารถถ่ายในสภาพแสงน้อยได้ดี ทั้งยังมีโหมด Super Night ช่วยอีกด้วย
- แบตเตอรี่ความจุสูง และยังมีแอพ Power Manager ช่วยจัดการการใช้แบตเตอรี่ได้อีก
ข้อสังเกต
- หน่วยความจำในเครื่องมีแค่ 16 GB แถมยังเพิ่มด้วย MicroSD ไม่ได้ แต่ยังดีที่รองรับ USB OTG ทำให้สามารถสำรองข้อมูลหรือเก็บไฟล์ใหญ่ๆ ลง flashdrive แยกต่างหากได้
- UI ยังมีหน่วงๆ อยู่นิดหน่อยบางจังหวะ
- ขาด NFC ไป ถ้ามีจะสมบูรณ์กว่านี้มาก