ช่วงปลายปีที่ผ่านมา สินค้าที่ Apple เปิดตัวสู่ท้องตลาดนั้นค่อนข้างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น iPad mini, iMac รุ่นใหม่ หรือจะเป็น MacBook Pro with Retina Display 13? ซึ่งสินค้าแต่ละชิ้นก็ล้วนเป็นไปตามความคาดหมายของหลายๆ คน ที่เก็งกันไว้ว่า Apple น่าจะนำมาเปิดตัวในงานอีเว้นท์รอบสุดท้ายของปีนี้ แต่มีสินค้าอยู่ไลน์หนึ่งที่ค่อนข้างเหนือความคาดหมายในเรื่องการเปิดตัวไปซักเล็กน้อยก็คือตัวของ iPad with Retina Display ที่ทาง Apple เรียกชื่อว่าเป็น iPad 4th Generation เนื่องจากมันเป็น iPad รุ่นที่ 4 ของ Apple หรือถ้าให้เรียกสั้นๆ แบบเข้าใจง่ายก็คือ iPad 4 นั่นเอง
ตัวของ iPad 4 นั้น แต่เดิมคาดการณ์กันว่า Apple คงเก็บไว้เปิดตัวในงานช่วงต้นปีหน้าแน่นอน ตามระยะเวลาการเปิดตัวปกติของ iPad คือช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี แต่ Apple ก็ทำพลิกความคาดหมายด้วยการนำมาเปิดตัวพร้อมกับ iPad mini ในครั้งนี้ ทำให้พอจะคาดเดาได้ต่อไปว่า Apple คงตั้งใจจะปรับรอบการเปิดตัว iPad ทั้งหมดมาเป็นช่วงปลายปีแทน และที่สำคัญกว่านั้นก็คือน่าจะเป็นการเร่งให้ผู้ใช้งานหันมาใช้พอร์ต Lightning ที่เป็นพอร์ตเชื่อมต่อแบบใหม่แทน Dock 30 พินแบบเก่าโดยเร็วที่สุดด้วย
ด้านราคาและตำแหน่งในแง่การตลาดนั้น Apple ตั้งใจให้ iPad 4 มาเป็นตัวแทนของ iPad 3 โดยการปลด iPad 3 ออกจากการขายอย่างสมบูรณ์ และตั้งราคาของ iPad 4 ออกมาเท่ากับ iPad 3 ดังนี้
รุ่น Wi-Fi
- 16 GB ราคา 16,500 บาท
- 32 GB ราคา 19,500 บาท
- 64 GB ราคา 22,500 บาท
รุ่น Wi-Fi + Cellular
- 16 GB ราคา 20,500 บาท
- 32 GB ราคา 23,500 บาท
- 64 GB ราคา 26,500 บาท
- ชิปประมวลผล Apple A6X Dual-core ความเร็ว 1.4 GHz มาพร้อมชิปประมวลผลกราฟิก PowerVR SGX554MP4 ที่เป็นแบบ Quad-core
- RAM 1 GB
- มีความจุให้เลือกสามขนาดคือ 16, 32 และ 64 GB
- น้ำหนัก 652 กรัม (WiFi)
- มีทั้งรุ่น WiFi และรุ่น WiFi+Cellular (รองรับ 3G ทุกเครือข่าย และ 4G LTE โดยสามารถใช้งาน data ได้เท่านั้น ใช้ซิมแบบ Micro SIM)
- จอพาเนล IPS ขนาด 9.7 นิ้ว ความละเอียด 2048 x 1536 ความคมชัดระดับ Retina Display
- กล้องหลัง (iSight) ความละเอียด 5 MP กล้องหน้า (FaceTime) ความละเอียด 1.2 MP
- แบตเตอรี่สามารถใช้เล่นเว็บผ่าน WiFi ฟังเพลง ดูวิดีโอได้นาน 10 ชั่วโมง
- สเปก iPad 4 เต็มๆ
กล่องของ iPad 4 นั้น หน้าตาก็จะใกล้เคียงกับ iPad รุ่นก่อนหน้านี้ ใช้วัสดุเป็นกระดาษแข็งสีขาว มีพลาสติกใสแบบนิ่มหุ้มอยู่ (ถ้าไปเจอพลาสติกแข็งก็อย่าซื้อมานะครับ) เมื่อเปิดกล่องออกมาก็จะพบกับตัวเครื่อง iPad 4 วางอยู่ส่วนบนสุดของกล่อง หยิบออกมาก็จะพบซองใส่เอกสารและสติ๊กเกอร์รูป Apple ดึงซองเอกสารออกมาก็จะเจอสาย Lightning เป็น USB ที่แถมมาเป็นมาตรฐานในอุปกรณ์ iDevice ทุกเครื่องอยู่แล้ว ส่วนอะแดปเตอร์สำหรับชาร์จไฟนั้น ก็จะเป็นแบบหม้อแปลงลูกเหลี่ยมๆ แบบเดียวกับที่ใช้ใน MacBook แต่มีขนาดย่อมเยากว่า สามารถถอดส่วนที่เป็นปลั๊กไฟออกมาได้ แต่ส่วนที่น่าสนใจก็คือเรื่องของกำลังการจ่ายไฟของอะแดปเตอร์ ที่เพิ่มขึ้นเป็นสูงสุด 12W จากเดิมที่เป็น 10W (ส่วนของ iPhone จะแค่ 5W เท่านั้น)
ด้านของหูฟังนั้น จะไม่มีแถมมาในกล่องนะครับ เช่นเดียวกับ iPad รุ่นก่อนๆ ใครอยากใช้งาน EarPods ก็คงต้องหาซื้อเพิ่มเติมภายหลังกันเอง
ตัว iPad 4 เองนั้น ถ้าดูเผินๆ ภาพนอกจะพบว่ามันก็เหมือนๆ กับ iPad 3 แทบทุกประการ โดยเฉพาะหน้าตาโดยรวมที่ยังคงเป็นแบบเดิม ผิวหน้าเป็นกระจกกันรอย มีให้เลือกทั้งรุ่นสีขาวและสีดำ ฝาหลังเป็นอะลูมิเนียมที่มีคุณสมบัติทั้งด้านความแข็งแรง และสามารถระบายความร้อนได้ดี? หน้าจอใช้พาเนลแบบ IPS ขนาด 9.7 นิ้ว ความละเอียด 2048 x 1536 ที่มีความหนาแน่นของเม็ดพิกเซล 264 ppi ซึ่งจัดว่าเป็นจอระดับ Retina Display ตามเกณฑ์ของ Apple
คุณสมบัติของจอ Retina Display ของ Apple (รวมไปถึงจอที่มีค่า PPI สูงๆ) นั้นก็คือ ถ้ามองจอด้วยสายตา ในระยะปกติ จะมองเห็นเม็ดพิกเซลได้ยากหรือแทบมองไม่เห็นเป็นเม็ดเลย ต้องใช้กล้องในการถ่ายจึงจะสามารถมองเห็นได้ จนบางครั้งก็ดูเหมือนว่าเป็นแผ่นกระดาษจริงๆ ได้เลย โดยเฉพาะขณะที่อ่าน Ebook หรือดูรูปภาพก็ด้วยเช่นกัน
มุมมองของจอก็ยังกว้าง สามารถมองจอจากด้านข้างได้ดีตามคุณสมบัติของจอ IPS สีสันสดใส ความสว่างจออยู่ในระดับที่พอสู้แสงแดดภายนอกได้ แต่ถ้าถามว่าเหมาะกับการใช้งานกลางแจ้งหรือไม่ ก็คงตอบได้ว่าไม่เหมาะเท่าไรนัก ครับ เพราะจอยังคงสะท้อนแสงค่อนข้างมาก ใช้ไปนานๆ อาจจะตาพร่าได้ ถ้าไปอยู่ในที่มีแสงจัดๆ
ส่วนบนเหนือจอก็จะเป็นตำแหน่งของกล้อง FaceTime (กล้องหน้า) ความละเอียด 1.2 MP ที่สามารถถ่ายวิดีโอได้ความละเอียดไฟล์ที่ HD 720p ที่สามารถใช้งาน FaceTime ได้ทั้งบนเครือข่าย 3G และ WiFi ส่วนเหนือกล้องขึ้นไปเล็กน้อยจะเป็นตำแหน่งของเซ็นเซอร์ตรวจจับความสว่างแสงภายนอก เพื่อนำไปใช้ในการปรับระดับความสว่างของจอขณะใช้งาน
ด้านใต้ของจอยังคงมีปุ่มโฮมเช่นเดิม ซึ่งจากเท่าที่ใช้งานแล้วพบว่าปุ่มถูกออกแบบมาให้ไม่ต้องกดลึกเท่ากับ iPhone?
สันของตัวเครื่องก็ยังคงเป็นแบบเดียวกับ iPad 3 อยู่ ยังไม่ได้เปลี่ยนไปใช้การตัดขอบด้วยเพชรอย่างของ iPhone 5, iPad mini และ iPod Touch Gen 5 ที่เป็นดีไซน์แบบใหม่ของเหล่า iDevice ซึ่งก็พอคาดเดาได้ว่า iPad รุ่นหน้า (iPad 5) น่าจะเปลี่ยนไปใช้การตัดขอบเครื่องเช่นเดียวกับดีไซน์ใหม่ๆ รวมไปถึงฝาหลังของเครื่องด้วย
ฝาหลังของ iPad 4 นั้น ยังคงใช้อะลูมิเนียมสีเทาเช่นเดิมทั้งรุ่นสีดำและสีขาว ตรงส่วนที่เป็นมุมโค้งก็จะรับมือพอดี แผ่นหลังราบเรียบ ให้สัมผัสที่ลื่นมือ แต่ถ้าใช้ไปนานๆ จะพบว่ามีคราบรอยนิ้วมือสะสมอยู่พอสมควร ซึ่งเอาเข้าจริงเชื่อว่าหลายท่านคงไม่พบกับปัญหานี้มากนัก เพราะส่วนใหญ่ก็คงใส่เคสกันอยู่แล้ว ส่วนของลำโพงก็เป็นลำโพงตัวเดียวติดตั้งอยู่ทางฝั่งขวาล่างของเครื่อง (หันจอเข้าหาตัว) เรื่องพลังเสียงนั้นจัดว่าพัฒนามาจาก iPad 3 พอตัวเลยทีเดียว ทั้งเรื่องระดับความดังของเสียง และคุณภาพ โดยเท่าที่ลองฟังพบว่าลำโพงให้เสียงกลางที่โดดเด่นกว่าย่านเสียงอ่ืนๆ ซึ่งก็เป็นตามปกติของลำโพงสมาร์ทโฟน/แท็บเล็ต แต่ที่เหนือกว่ารุ่นอื่นๆ ทั่วไปก็คือความกว้างของย่านเสียงที่ช่วยให้ฟังเพลงแล้วสนุกกว่าเดิม เสียงไม่แห้งมากนัก เรียกได้ว่าสร้างความประทับใจได้มากกว่าแท็บเล็ตหลายๆ ตัวในตลาดที่เคยลองมาเลยก็ว่าได้
จุดเด่นที่ช่วยให้แยก iPad 4 ออกจาก iPad 3 ได้ง่ายที่สุดก็คือเรื่องพอร์ตเชื่อมต่อ เนื่องจาก Apple จัดการเปลี่ยนไปใช้พอร์ต Lightning แทนที่พอร์ต Dock 30 พินอย่างเดิม ซึ่งคุณสมบัติและประโยชน์ที่เห็นได้ชัดของพอร์ต Lightning ในขณะนี้ก็ได้แก่
- สามารถเสียบสาย Lightning ได้ง่าย เพราะทั้งสายและพอร์ตถูกออกแบบมาให้สามารถเสียบได้ทั้งสองด้าน
- พอร์ตมีขนาดเล็ก ทำให้ Apple สามารถออกแบบและจับอุปกรณ์ใส่ในเครื่องได้มากกว่าเดิม
- ตัวพอร์ตมีความแข็งแรง สามารถยึดสายได้มั่นคง
- ความเร็วในการเชื่อมต่ออยู่แค่เพียงระดับ USB 2.0
- Lightning to Micro USB
- Lightning to 30-pin
- Lightning to SD Card Camera Reader
- Lightning to VGA Adapter
- Lightning to Digital AV (HDMI)
บรรดาปุ่มควบคุมต่างๆ ของเครื่องก็ยังคงวางไว้ตามตำแหน่งเดิม นั่นคือปุ่ม Sleep เครื่องอยู่ที่มุมขวาบน (หันจอเข้าหาตัว), ปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงอยู่ตรงสันด้านขวาบนของเครื่อง เหนือขึ้นไปเล็กน้อยก็เป็นปุ่มที่ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะให้ทำหน้าที่ใด ระหว่าง
- เปิด/ปิดเสียง
- เปิด/ปิดระบบตรวจจับและพลิกจออัตโนมัติ
ภาพเปรียบเทียบ iPad 4 กับ iPhone 5 ซักเล็กน้อย ส่วนภาพด้านล่างนี้เป็นการทดลองใช้งาน iPad 4 ในการเล่นเกม เล่นเว็บ อ่าน Ebook ครับ
โดยเท่าที่ลองใช้งานดู ก็พบว่ามันยังคงหนักเกินไปที่จะถือใช้งานเป็นระยะเวลานานๆ เช่นเดิม เนื่องด้วยน้ำหนักของตัวเครื่องไม่ได้ลดลงจาก iPad 3 เลย ซึ่งถ้าใครอยากได้แท็บเล็ตมาสำหรับอ่าน Ebook แนะนำว่าไปทางแท็บเล็ตขนาด 7 นิ้ว เช่นพวก iPad mini จะดีกว่าครับ ด้วยน้ำหนักที่เบากว่ากันครึ่งต่อครึ่ง แม้จะเสียเปรียบตรงด้านของความละเอียดจอที่ไม่คมชัดหรือสวยสดเท่า iPad 4 ก็จริง แต่ได้เรื่องน้ำหนักที่ถือในอุ้งมือได้สบายกว่ากันมาก
ด้านความร้อนขณะใช้งานนั้น ส่วนที่ร้อนที่สุดจะเป็นส่วนของมุมซ้ายล่างของเครื่อง (หันจอเข้าหาตัว) เนื่องด้วยเป็นตำแหน่งของชิปประมวลผลต่างๆ ของเครื่อง ทำให้เป็นบริเวณที่มีความร้อนสะสมมากที่สุดของเครื่อง อีกทั้งฝาหลังที่ใช้เป็นอะลูมิเนียมอีก ซึ่งช่วยให้ความร้อนภายในถ่ายเทออกมาได้เร็ว แต่ทั้งนี้ก็จะทำให้รู้สึกร้อนมือได้เร็วเช่นเดียวกัน โดยเท่าที่ลองใช้งานมาระยะหนึ่ง พบว่าความร้อนของเครื่องน้อยกว่า iPad 3 อยู่เล็กน้อย ขณะเล่นเกมก็ยังพอสามารถจับเครื่องเล่นได้อยู่ (นั่งในห้องแอร์หรือห้องที่มีพัดลมเป่าตลอด) แต่ถ้าอยู่ในบริเวณที่ค่อนข้างร้อน ส่วนซ้ายล่างของเครื่องจะร้อนมากจนแทบจะจับนานๆ ไม่ได้เช่นเดิมครับ ดังนั้นดูแล้วการหาเคสมาใส่เพื่อกันความร้อนแผ่ถึงมือก็เป็นทางเลือกที่ดีเช่นเดิม
ซอฟต์แวร์และอินเตอร์เฟสบางส่วน
iOS เวอร์ชันที่ติดตั้งมาในเครื่องรุ่นแรกๆ จะเป็น iOS 6.0 ปกติ ซึ่งในการทดสอบของเราก็ได้จัดการอัพเดตเป็น iOS 6.0.1 เรียบร้อย สามารถใช้งานฟีเจอร์ใน iOS 6 ได้แทบทุกจุด ด้านตัวแอพต่างๆ ก็สามารถแสดงผลได้เหมือน iPad รุ่นก่อนหน้าทุกประการ ดังนั้นใครที่คุ้นเคยกับ iPad อยู่แล้วก็สามารถเปลี่ยนมาใช้ iPad 4 ได้สบายๆ เนื่องจากมันเป็นรุ่นที่ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนอะไรมากนัก นอกจากพอร์ตเชื่อมต่อ และสเปกภายในบางจุดเท่านั้น
ส่วนด้านล่างนี้เป็นตัวอย่างการใช้งานบนแอพต่างๆ ครับ เช่น เปิดเว็บบน Safari, แอพอ่านข่าวอย่าง Flipboard และ Zite, แอพแต่งรูป Snapseed, แอพ Instagram (ที่มีออกแบบมาสำหรับใช้งานบน iPhone/iPod Touch) ซึ่งการแสดงผลของบรรดาแอพที่ออกแบบมาให้ใช้งานบน iPad ได้นั้นก็สมบูรณ์ดี ส่วนของแอพที่ยังไม่มีเวอร์ชัน iPad ออกมา ที่จริงก็สามารถใช้งานได้ แต่ขนาดของตัวแอพจะเท่ากับที่ทำงานใน iPhone/iPod Touch นั่นเอง
ลองเล่นเกม Hayday หรือจะเป็น Theatrhym Final Fantasy ก็สามารถเล่นได้อย่างไม่มีปัญหาในการทำงาน แต่ถ้าเรื่องน้ำหนักของตัวเครื่องก็ต้องยอมรับว่ามันหนักเอาเรื่องสำหรับคนไทย จนบางครั้งอาจจะต้องวางเพื่อเล่นเกม
ทดสอบประสิทธิภาพ
เริ่มกันด้วย GeekBench ที่ยอดนิยมสำหรับการทดสอบประสิทธิภาพอุปกรณ์ iDevice ซึ่ง iPad 4 เองก็สามารถทำคะแนนรวมได้ 1,786 คะแนน สูงกว่า iPad 3 ที่โดยเฉลี่ยแล้วจะได้คะแนนเพียง 750 – 770 คะแนนเท่านั้น และถ้ามามองคะแนนทั้งสี่ด้าน จะพบว่า iPad 4 สามารถทำได้เหนือกว่า iPad 3 จริงๆ ดังเช่น
- Integer : iPad 4 ได้ 1,346 คะแนน ส่วน iPad 3 เฉลี่ยที่ 690 คะแนน
- Floating Point : iPad 4 ได้ 2,265 คะแนน ส่วน iPad 3 เฉลี่ยที่ 910 คะแนน
- Memory : iPad 4 ได้ 2,070 คะแนน ส่วน iPad 3 เฉลี่ยที่ 827 คะแนน
- Stream : iPad 4 ได้ 1,082 คะแนน ส่วน iPad 3 เฉลี่ยที่ 343 คะแนน
SunSpider
SunSpider เป็นการทดสอบความสามารถในการประมวลผลชุดคำสั่ง Javascript ซึ่งจะวัดพลังการคำนวณของ CPU ตรงๆ วัดได้ผลออกมาเป็นเวลาที่ใช้ในการคำนวณ? (หน่วยเป็น ms) ซึ่งเลขยิ่งน้อย ยิ่งแสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพในการประมวลผลมีสูง
ผลออกมาก็คือ iPad 4 ใช้เวลาในการประมวลผลชุดคำสั่ง Javascript เพียง 853.9 ms เท่านั้น นับว่าเร็วที่สุดในบรรดาสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตในปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงพลังของชิป Apple A6X ด้านการประมวลผลได้ค่อนข้างชัดเจนทีเดียว
BrowserMark
BrowserMark เป็นการทดสอบความสามารถในการรันชุดคำสั่งต่างๆ บนหน้าเว็บเบราเซอร์ โดยจะวัดออกมาเป็นคะแนนของตัว BrowserMark เอง ซึ่งยิ่งได้คะแนนมาก ยิ่งดี
พบว่า iPad 4 ทำคะแนนการทดสอบได้น้อยกว่า iPhone 5 อยู่ราวๆ 60 คะแนนเท่านั้น จึงแทบจะเรียกว่าทั้งสองไม่มีความแตกต่างกันในด้านพลังประมวลผลเมื่อทดสอบด้วย BrowserMark มากนัก
GLBenchMark 2.1 (High)
GLBenchMark 2.1 เป็นการทดสอบพลังประมวลผลกราฟิกของ GPU โดยตรง ซึ่งจะวัดออกมาเป็นจำนวนเฟรมเรตต่อวินาที โดยในโหมด High นี้จะเป็นการวัดพลังประมวลผลที่มีความละเอียดหน้าจอเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะระบบจะรันที่เต็มความละเอียดเท่าที่จอสามารถแสดงผลได้ ซึ่งในกรณีของโหมด High อาจจะไม่สามารถเทียบประสิทธิภาพของแต่ละเครื่องได้โดยตรง แต่ก็สามารถใช้พิจารณาพอได้ว่าแต่ละเครื่องสามารถรันการทดสอบได้ไหลลื่นขนาดไหน โดยตัวเลข FPS ยิ่งสูงก็ยิ่งดี (สูงสุดคือ 60)
ผลออกมาก็คือ iPad 4 สามารถทดสอบออกมาได้ 59 fps ซึ่งก็คือลื่นสุดๆ นั่นเอง แม้ว่าตัวเองจะต้องแสดงผลภาพด้วยความละเอียดสูงถึง 2048 x 1536 ก็ตาม แต่ยังรีดเฟรมเรตออกมาได้สูงมากขนาดนี้ แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของ PowerVR SGX554MP4 ในตัวที่มีสี่คอร์ได้ดีทีเดียว
GLBenchMark 2.1 (Off Screen)
ส่วนในโหมด Off Screen นั้น จะเป็นการบังคับให้แต่ละเครื่องเรนเดอร์ที่ความละเอียดตามตัวเท่ากันทั้งหมด ทำให้สามารถวัดและเปรียบเทียบเฟรมเรตของทุกเครื่องได้โดยตรง
ผลออกมาก็คือ iPad 4 สามารถรีดเฟรมเรตออกมาได้สูงถึง 129 fps ถือว่าสูงสุดในตอนนี้เลยก็ว่าได้ครับ
ส่วนของระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ เท่าที่ผมใช้งานปกติ ตอนอยู่บ้านกับขณะนั่งรถใช้อ่านการ์ตูน ขณะอยู่ออฟฟิศก็เชื่อมต่อ WiFi เล่นเกม เล่นแอพบ้าง พบว่าก็ใช้งานข้ามวันได้อย่างสบายๆ เนื่องด้วยความจุแบตเตอรี่ที่ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว
ภาพถ่ายจากกล้องหลัง iPad 4
ด้านของกล้องถ่ายรูป จัดว่าไม่โดดเด่นไปจากรุ่นอื่นๆ ในตลาดมากนัก สามารถถ่ายรูปได้ในระดับทั่วๆ ไปของสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต รูปที่ได้ออกมาจะดูสีเข้มเล็กน้อย น่าจะเป็นผลจากการปรับของระบบที่เร่ง contrast ขึ้นมา ส่วนอาการภาพติดชมพูที่พบใน iPhone 5 นั้น ก็มีเกิดขึ้นบ้างเล็กน้อยใน iPad 4 แต่ก็อยู่ในระดับเดียวกับที่สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตในตลาดหลายๆ เครื่องเป็น ดังนั้นก็ไม่ต้องห่วงปัญหาแฟลร์สีชมพูดังกล่าวได้เลย
สรุป
iPad 4 จัดได้ว่ายังคงเป็น iPad ที่ไม่ทำให้ผิดหวังได้เช่นเดิม เนื่องด้วยจุดประสงค์ของรุ่นนี้ก็คือเพื่อรีเฟรชพอร์ตเชื่อมต่อในสินค้า iDevice ทุกตระกูลของ Apple ให้ไปใช้พอร์ต Lightning กันทั้งหมด ในด้านของประสิทธิภาพ ก็ยังยกให้เป็นเบอร์หนึ่งของแท็บเล็ตได้อยู่ดี ประกอบกับความร้อนระหว่างใช้งานที่ดูจะน้อยกว่ารุ่นก่อนหน้า และที่สำคัญที่สุดสำหรับการใช้งานแท็บเล็ตก็คือแอพพลิเคชัน ซึ่งแพลตฟอร์ม iOS ของ iPad จัดว่าเป็นแพลตฟอร์มที่มีความพร้อมด้านแอพพลิเคชันให้ใช้งานอยู่แล้ว
ดังนั้นใครที่ลังเลอยู่ว่า iPad 4 นั้นคุ้มค่าที่จะซื้อหรือไม่ ก็ขอตอบเป็นดังนี้ครับ
- ถ้ามี iPad 3 ไว้ใช้งานทั่วไปอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องซื้อ iPad 4 ก็ได้
- ถ้ามี iPad 3 อยู่ แต่อยากเล่นเกมให้ลื่นๆ การเปลี่ยนไปใช้ iPad 4 ก็เป็นทางเลือกที่ดี
- ถ้ายังไม่มี iPad เลย แล้วอยากได้แท็บเล็ตที่ครบครันมาใช้งาน ก็ซื้อ iPad 4 ได้ครับ
- ถ้ามี iDevice ที่ใช้พอร์ต Lightning อยู่แล้ว จัด iPad 4 โลดครับ เพราะสามารถใช้สายเดียวกันได้เลย
- ถ้าต้องการแท็บเล็ตสำหรับอ่านหนังสือ แนะนำว่าไปทาง iPad mini จะดีกว่า
ส่วนด้านข้อดีและข้อสังเกต ก็ตามด้านล่างนี้เลย
ข้อดี
- ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นจาก iPad 3 อย่างเห็นได้ชัด เปิดและใช้งานแอพได้แบบไม่มีกระตุกหรือหน่วง
- พอร์ต Lightning สามารถใช้งานได้อย่างสะดวก
- ความร้อนจากตัวเครื่องน้อยลง
- ลำโพงเสียงดีขึ้นกว่า iPad 3 พอตัว
ข้อสังเกต
- น้ำหนักยังคงมากไปที่จะใช้งานติดต่อกันนานๆ
- ไม่มีการเปลี่ยนดีไซน์ไปจาก iPad 3 มากนัก