เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่หลายคนเฝ้ารอคอยสมาร์ทโฟนเรือธงสำหรับระบบปฏิบัติการใหม่ของ Google นั่นก็คือกลุ่มเครื่องในตระกูล Nexus ที่มีจุดเด่นในเรื่องของระยะเวลาการ support ด้านซอฟต์แวร์ที่ยาวนานกว่าสมาร์ทโฟน Android หลายๆ รุ่นในตลาด แถมในรอบนี้เป็น LG ที่รับหน้าที่เป็นผู้ออกแบบและผลิตส่วนของฮาร์ดแวร์ให้ด้วย ทำให้กลายเป็น Nexus 4?ที่ออกมาเป็นสมาร์ทโฟนจาก Google โดยมีจุดที่น่าสนใจคือด้านของดีไซน์เป็นที่น่าจับตามองมาก แต่ถ้าใครติดตามข่าวเรื่อง Nexus มาซักระยะหนึ่งก็จะเห็นว่ามีภาพหลุดหน้าตาของ Nexus 4 ออกมานานแล้ว และสุดท้ายก็แทบไม่มีเซอร์ไพรส์แต่อย่างใด (เพราะมันมาตามข่าวลือเป๊ะ) แต่อย่างไรก็ตาม Nexus 4 ก็ยังคงเป็นสมาร์ทโฟน Android ที่น่าสนใจอยู่เช่นเดิมครับ จะน่าสนใจอย่างไร เราไปชมกันเลย
Google Nexus 4 จัดว่าเป็นสมาร์ทโฟนที่ส่วนตัวผมมองว่าเป็นเครื่องที่อยู่ในระดับไฮเอนด์ของ Android ได้สบายๆ ทั้งในเรื่องของสเปก ที่มีจุดน่าสนใจดังนี้
- ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon S4 Pro (APQ8064) Quad-core ความเร็ว 1.5 GHz มาพร้อม GPU เป็น Adreno 320
- RAM 2 GB
- พื้นที่เก็บข้อมูล 16 GB (รุ่นที่ขายโดย LG ประเทศไทย) ส่วนในต่างประเทศจะมีรุ่นความจุ 8 GB ด้วย
- ไม่สามารถใส่ microSD เพิ่มได้
- หน้าจอพาเนล True HD IPS+ ขนาด 4.7 นิ้ว ความละเอียด 1280 x 768 (320 ppi) กระจกหน้าจอเป็นกระจก Gorilla Glass 2
- แบตเตอรี่ Li-Polymer ความจุ 2100 mAh
- กล้องหลังความละเอียด 8 MP พร้อมแฟลช LED
- กล้องหน้าความละเอียด 1.3 MP
- น้ำหนัก 139 กรัม
- รองรับ 3G ในไทยทุกเครือข่าย ส่วน 4G LTE นั้นยังไม่รองรับในขณะนี้
- รองรับ NFC และการชาร์จไฟแบบไร้สายตามมาตรฐาน Qi
- เครื่องศูนย์ไทยมีระยะเวลาการรับประกัน 1 ปี 6 เดือน
- ไม่รองรับฟีเจอร์ USB OTG
- ราคา 17,900 บาท
- สเปกเต็มๆ ของ Nexus 4
![]() |
![]() |
กล่องของ Nexus 4 มาในแพ็คเกจหุ้มด้านนอกเป็นกระดาษแข็ง ส่วนด้านในก็เป็นกล่องกระดาษแข็ง(กว่า) สีดำดูหรูหราพอควร เปิดมาภายในกล่องก็จะพบกับตัวเครื่องวางอยู่ชั้นบนสุด ส่วนด้านล่างก็มีของแถมมาให้ดังนี้
- คู่มือและใบรับประกัน
- สาย USB สำหรับชาร์จไฟและซิงค์ข้อมูลกับคอมพิวเตอร์
- อะแดปเตอร์
- เข็มจิ้มดึงถาดซิมออก
หน้าจอของ Nexus 4 ก็สามารถทำได้ตามมาตรฐานของความเป็นจอ IPS นั่นคือมีมุมมองหน้าจอที่ค่อนข้างกว้าง สีสันและภาพคมชัดตามความละเอียดของจอในระดับ HD แต่มีจุดที่ด้อยกว่าก็คือเรื่องของความสว่างจอที่อยู่ในระดับพอสู้แสงจ้าได้เท่านั้น การใช้งานกลางแจ้งค่อนข้างลำบากเมื่อเทียบกับหลายๆ รุ่นที่ให้แสงสว่างมากกว่า อีกอย่างที่ดูจะด้อยกว่าสมาร์ทโฟนหลายๆ รุ่นก็คือความสดของสีจอค่อนข้างน้อยจนเข้าขั้นจืดเลย (ใครที่ชอบถ่ายรูป+แต่งรูปก่อนอัพอาจจะลำบากหน่อยครับ เพราะภาพที่ออกมาสุดท้ายสีอาจจะจัดเกินไปก็ได้)
ด้านรูปทรงของเครื่องนั้น ถ้าดูจากด้านหน้าจะพบว่ามีความใกล้เคียงกับ Galaxy Nexus มาก โดยเฉพาะตรงส่วนขอบมุมโค้งมนทั้งสี่มุมของเครื่อง แต่ถ้าในส่วนของรายละเอียดปลีกย่อยพบว่ามีการปรับเปลี่ยนไปพอสมควรทีเดียว
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ด้านหน้าของตัวเครื่องไม่มีปุ่มกดใดๆ มีแต่เพียงแผ่นกระจก Gorilla Glass 2 ด้านหน้าเท่านั้น แต่ในส่วนของกระจกนั้นถูกออกแบบมาให้มีส่วนโค้งเล็กน้อยตรงขอบซ้าย/ขวาเพื่อช่วยให้ผู้ใช้สามารถ swipe หน้าจอจากด้านข้างได้อย่างไม่มีสะดุด โดยส่วนบนของหน้าจอนั้นมีการปรับให้ลำโพงสนทนาไปอยู่ตรงขอบบนสุดของเครื่อง กล้องหน้าอยู่เยื้องไปทางขวา ส่วนด้านซ้ายจะเป็นตำแหน่งของเซ็นเซอร์ตรวจจับความสว่างของแสงภายนอก เพื่อใช้งานร่วมกับระบบปรับแสงความสว่างจออัตโนมัติของตัวเครื่อง ส่วนด้านล่างของจอนั้นไม่มีปุ่มกดใดๆ เนื่องจากใช้เป็นปุ่มแบบ Soft key บนหน้าจอไปเลย โดยมีด้วยกัน 3 ปุ่มคือ Back, Home และ Recent App แต่ถ้าใครต้องการค้นหาที่แต่เดิมใช้ปุ่ม Search ในการเปิดใช้งานฟีเจอร์ค้นหานั้น ใน Nexus 4 ได้เปลี่ยนไปใช้งาน Google Now แทน ซึ่งสามารถเรียกขึ้นมาใช้งานได้โดยการกดปุ่ม Home ค้างไว้นิดหนึ่งแล้วปาดนิ้วขึ้นมา ก็จะเป็นการเรียกใช้งาน Google Now แล้ว (มีอธิบายเพิ่มเติมในช่วงหลัง)
และอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจของด้านล่างหน้าจอก็คือตรงที่เป็นวงกลม (เป็นวงเนื่องจากฟิล์มกันรอยเว้นที่ไว้ให้นะครับ) เนื่องจากด้านล่างนั้นเป็นตำแหน่งของไฟ LED Notifications ที่ใช้สำหรับแจ้งเตือนว่ามี Notification รอให้เปิดเข้าไปดูอยู่ โดยในเบื้องต้นจะมีด้วยกัน 3 สี ตามสถานการณ์ (เท่าที่ผมเจอ) ดังนี้
- สีขาว – ติดเมื่อมี missed call
- สีเขียว – เมื่อมีข้อความแชทเข้ามา
- สีน้ำเงิน – เมื่อมีอีเมลหรือ notification ของ Facebook
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ด้านหลังของ Nexus 4 ใช้กระจกติดเป็นแผ่นหลังทั้งหมด ใต้ชั้นกระจกมีการออกแบบให้เป็นลาย glitter (จะให้เห็นภาพง่ายๆ ก็คือเป็นลายแบบจุดๆ วิ้งๆ นั่นล่ะครับ) ซึ่งจะสะท้อนแสงแตกต่างกันไปตามมุมมองและมุมตกกระทบของแสง ช่วยเพิ่มความหรูหราให้กับตัวเครื่องได้ในระดับหนึ่ง กล้องหลังถูกวางอยู่เหนือคำว่า Nexus ขึ้นไปเล็กน้อย ทุกส่วนบนฝาหลังเรียบเนียนไปทั้งหมด ด้านล่างมีโลโก้ LG ซึ่งเป็นผู้ผลิตติดอยู่ เยื้องไปทางขวาเล็กน้อยก็เป็นตำแหน่งของลำโพงครับ ซึ่งการวางลำโพงแบบนี้ทำให้เวลาวางฝาหลังราบไปกับพื้น เสียงจะถูกกลบไปพอสมควรเลย ซึ่งเราน่าจะได้เห็นธีมการออกแบบที่ใกล้เคียงกับ Nexus 4 บนสมาร์ทโฟนของ LG อีกหลายๆ รุ่นในปีนี้ (ตามที่ LG ประกาศออกมาก่อนหน้านี้)
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
มาดูด้านข้างของ Nexus 4 กันบ้าง ขอบข้างของตัวเครื่องใช้เป็นวัสดุพื้นผิวแบบซอฟท์ทัช ที่ช่วยให้จับเครื่องได้ถนัดมือ เท่าที่ใช้งานมาก็ยังไม่พบรอยขึดข่วนแต่อย่างใด จะมีก็แต่เพียงรอยนิ้วมือที่ติดเป็นคราบได้ง่าย แต่ก็สามารถเช็ดออกได้ง่ายเช่นเดียวกัน
ด้านบนของตัวเครื่องมีช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตรกับช่องรับเสียงของไมค์ตัดเสียงรบกวน ด้านล่างมีช่อง micro USB สำหรับเสียบสายชาร์จ ส่วนที่เป็นช่องอยู่ริมซ้าย/ขวานั้นเป็นรูน็อตยึดเครื่อง ฝั่งขวาของเครื่องนั้นมีปุ่มปิด/เปิดและปลดล็อกเครื่องอยู่ตรงบริเวณหัวแม่มือพอดี (ถ้าจับเครื่องด้วยมือขวา) ส่วนฝั่งซ้ายจะมีปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง ใกล้ๆ กันนั้นมีช่องใส่ถาดไมโครซิมติดตั้งอยู่
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ลองจับมาเทียบกับ iPhone 5 ดูบ้างครับ เห็นได้ชัดว่า Nexus 4 มีขนาดที่ใหญ่กว่า รวมไปถึงหนากว่าด้วย (Nexus 4 หนา 9.1 มิลลิเมตร ส่วน iPhone 5 หนา 8.9 มิลลิเมตร)
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
Lockscreen
มาดูส่วนของการใช้งานซอฟต์แวร์กันบ้าง Nexus 4 มาพร้อมกับ Android 4.2.1 Jelly Bean (ซึ่งล่าสุดสามารถอัพเดตเป็น 4.2.2 ได้แล้ว) โดยใน Android 4.2 เป็นต้นมา Google ได้ทำการเพิ่มฟีเจอร์และ UI การแสดงผลขึ้นมาในหลายจุดทีเดียว ไล่ตั้งแต่หน้าล็อกสกรีนที่ผู้ใช้สามารถเพิ่มวิดเจ็ตบางส่วนลงไปได้ เช่นนาฬิกา ปฏิทิน หน้ารวมอีเมล ซึ่งผู้ใช้สามารถกดไปที่วิดเจ็ตเพื่อเปิดใช้งานแอพของวิดเจ็ตนั้นได้ทันที เช่นถ้าปาดหน้าล็อกสกรีนจากขวาไปซ้ายก็จะเป็นการเปิดใช้งานกล้องถ่ายรูปได้เลย
Notification & Quick Settings
ส่วนต่อไปที่เพิ่มขึ้นมาใน Android 4.2 ก็คือแถบ Quick Settings ที่ซ้อนอยู่ใน Notifications อีกที โดยสามารถเรียกขึ้นมาใช้งานได้โดยกดไปที่ปุ่มตรงมุมขวาบนของหน้าแสดง Notifications หรือจะใช้สองนิ้วลากจากขอบจอบนลงมาก็ได้ ซึ่งหน้า Quick Settings (รูปล่างขวา) จะเป็นที่รวมทางลัดเข้าไปปรับการตั้งค่าที่ผู้ใช้มักใช้งานบ่อยๆ เช่นหน้าการเชื่อมต่อ WiFi, ส่วนควบคุมแสงสว่างหน้าจอ, ?การเชื่อมต่อ Bluetooth เป็นต้น และถ้าอัพเดตเป็น Android 4.2.2 แล้ว พบว่าบางปุ่มจะกลายเป็นสวิตช์เปิด/ปิดการทำงานของส่วนนั้นๆ ด้วย ซึ่งสามารถเปิด/ปิดได้ด้วยการกดที่ปุ่มดังกล่าวค้างไว้ระยะหนึ่ง ตัวอย่างของปุ่มที่ทำหน้าที่เป็นสวิตช์ด้วยก็คือ WiFi และ Bluetooth
น่าเสียดายที่ยังไม่สามารถเพิ่มหรือลดปุ่ม toggle เหล่านี้ได้นะครับ นอกจากนี้ส่วนของแถบ Notifications ตามปกติก็มีการเปลี่ยนแปลงไปจาก Android เวอร์ชันก่อนหน้าด้วย คือมีการเพิ่มพรีิวิวให้กับ Notifications ของบางแอพด้วย เช่นอย่างใน Carbon (Twitter Client อีกตัวหนึ่ง) ถ้ามีคน reply มาหาเรา ก็จะมีปุ่มให้กด reply ได้จากแถบ Notification ทันที ช่วยทำให้ใช้งานได้สะดวกและสนุกยิ่งขึ้นมากทีเดียว
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
Google Now
Google Now เป็นชื่อบริการของ Google ที่สร้างมาเพื่อปฏิวัติการค้นหาข้อมูลบนสมาร์ทโฟน โดยสามารถสั่งงาน/ค้นหาได้ทั้งใช้เสียงและใช้การพิมพ์ตามปกติ (Siri ได้แค่ใช้เสียงเท่านั้น) แต่จุดที่ทำให้มันแตกต่างไปจากการค้นหาอื่นๆ ก็คือมันสามารถคาดการณ์ได้ว่าผู้ใช้งานจะต้องการอะไร โดยอิงทั้งจากรูปแบบการใช้งาน และข้อมูลเชิงกายภาพต่างๆ เช่น ตำแหน่งที่อยู่จาก GPS ในเครื่อง เสร็จแล้วจึงทำการแสดงผลในรูปแบบ Card เป็นใบๆ ที่ถูกจัดเรียงข้อมูลไว้ให้อ่านได้อย่างง่ายดาย โดยข้อมูลที่สามารถแสดงได้ก็เช่น ข้อมูลสภาพอากาศ (อิงตำแหน่งจาก GPS), ข้อมูลสภาพจราจรระหว่างที่ทำงาน – ที่พัก, ผลการแข่งขันกีฬาของทีมโปรด, วันเกิดของเพื่อน (อิงข้อมูลจาก Google+) ข้อมูลเที่ยวบิน โดยการ์ดที่ผมเจอแล้วประทับใจที่สุดก็คือ การ์ดแสดงข้อมูลรอบหนังของโรงภาพยนตร์ที่อยู่ใกล้ออฟฟิศ เวลาใกล้กับเวลาเลิกงาน โดยขึ้นมาเลยว่ามีเรื่องอะไรบ้าง มีรอบกี่โมง และที่สำคัญคือการ์ดนี้มันแสดงขึ้นมาในช่วงเย็นวันศุกร์ครับ เสมือนมันจะเดาว่าผู้ใช้คงอยากไปดูหนังหลังเลิกงานแน่ๆ ตรงนี้ผมว่ามันเจ๋งเลยทีเดียว
นอกจากนี้ตรงช่องค้นหาที่อยู่ด้านบนของ Google Now ก็สามารถใช้ค้นหาและแสดงผลการค้นหาได้ทันที โดยไม่ต้องเปิดหน้าเว็บเบราเซอร์เลย (แต่ถ้าจะดูข้อมูลในหน้าเว็บก็ต้องเข้าเว็บเบราเซอร์อยู่ดี) ซึ่งช่องนี้สามารถค้นหาได้แบบ universal search นั่นคือสามารถหาได้ทั้งจาก content ในเครื่องและค้นหาจากอินเตอร์เน็ตได้ในตัว ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ได้ดี จนทำให้กลายเป็นหนึ่งในนวัตกรรมยอดเยี่ยมแห่งปี 2012 เลย
การใช้งานทั่วไป
ถ้าพูดถึงการใช้งานทั่วไปนั้นเรียกได้ว่าหายห่วงเลย เนื่องด้วยสเปกของ Nexus 4 ที่แรงเหลือเฟือ ไม่ว่าจะทั้งชิปประมวลผลแบบ Quad-core รุ่นใหม่ รวมไปถึงแรมที่ให้มามากถึง 2 GB (เหลือให้ใช้งานทั่วไปประมาณ? 1 GB กว่าๆ) ทำให้สามารถสลับใช้งานแอพพลิเคชันได้อย่างไหลลื่น อนิเมชันการเปลี่ยนหน้าต่างๆ ก็ไม่มีกระตุกหรือสะดุดให้เห็นเลย นับว่าเป็นสมาร์ทโฟน Android รุ่นหนึ่งที่สร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับผู้ใช้ได้อย่างสบายๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เกิดมาจากทั้งส่วนของฮาร์ดแวร์ที่แรงเหลือเฟือในขณะนี้ และส่วนของตัว Android เองที่ได้รับการปรับปรุงให้ทำงานได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถ้าให้เทียบความลื่นของ Nexus 4 กับ iPhone 5 นั้น เรียกได้ว่าแทบจะไม่ต่างกันเลยก็ว่าได้ ด้านของความร้อนขณะใช้งานก็ไม่ต่างไปจากสมาร์ทโฟนทั่วไปตามท้องตลาดมากนัก
ด้านของคีย์บอร์ดนั้น คีย์บอร์ดเดิมๆ ที่ติดมากับเครื่องก็จัดว่าสามารถใช้งานได้เป็นอย่างดีทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย โดยเฉพาะคีย์บอร์ดภาษาอังกฤษที่รองรับการสั่งงานแบบ swipe (ลากนิ้วบนตัวอักษรแล้วให้ระบบเดาคำให้) ซึ่งเท่าที่ลองใช้งานดูพบว่าสามารถเดาคำได้ค่อนข้างแม่นยำทีเดียว ทั้งยังสามารถใช้งานได้ง่ายอีกด้วย
ด้านของ UI นั้นก็มาในแบบ Pure Google ที่เรียบง่าย มาในธีมแบบ Holo ที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ Android 4.0 Ice Cream Sandwich แต่ได้รับการขัดเกลาให้แสดงผลได้สวยงามและดูลุคเป็นความไฮเทคมากขึ้น หรือถ้าใครอยากเปลี่ยนหน้าตาไปใช้แบบอื่นๆ ก็สามารถดาวน์โหลด Launcher ที่ตนเองชอบจาก Play Store มาใช้งานได้เช่นเดิม รวมไปถึงใครที่อยากแฟลชรอม แฟลช kernel ก็ยังสามารถทำได้เช่นกันครับ มีคนพัฒนารอม โมรอมให้กับ Nexus 4 อยู่ในบอร์ด XDA หลายคนให้เลือกเลย แถมมั่นใจได้ว่าจะมีรอมให้เล่นไปอีกนานแน่ๆ จุดนี้ล่ะครับที่เป็นข้อดีของเครื่องในตระกูล Nexus
![]() |
![]() |
Photo Sphere
ด้านของฟีเจอร์การถ่ายภาพก็มีความเปลี่ยนแปลงไปจาก Android 4.1 เช่นเดียวกัน โดยมีฟีเจอร์การถ่ายภาพที่เพิ่มขึ้นมาก็คือ Photo Sphere ที่ผู้ใช้สามารถถ่ายรูปบรรยากาศได้แบบ 360 องศารอบตัว ตัวอย่างภาพก็ด้านล่างนี้เลยครับ (ส่วนการถ่ายพาโนรามาตามปกติก็ยังมีอยู่นะ)
UI ของแอพถ่ายภาพ
![]() |
![]() |
ด้านหน้าตาอินเตอร์เฟสของแอพถ่ายภาพก็มีการเปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกัน เน้นความเรียบง่ายและซ่อนปุ่มตั้งค่าต่างๆ ลงไป เมื่อเปิดมาจะเห็นแค่ปุ่มสลับโหมดกล้อง, ปุ่มชัตเตอร์และปุ่มรวมเมนูเท่านั้น โดยการเรียกเมนูตั้งค่าต่างๆ ขึ้นมาสามารถทำได้ทั้งกดที่ปุ่มเมนู และการจิ้มนิ้วค้างไว้บนจอจากนั้นก็ใช้การเลื่อนนิ้วไปตรงจุดที่ต้องการปรับค่าแบบไม่ต้องยกนิ้วขึ้น ส่วนการซูมก็ใช้เป็นแบบ pinch-to-zoom ไปยังที่ว่างบนจอได้เลย ซึ่งหากชินกับ Android รุ่นก่อนหน้า ช่วงแรกๆ อาจจะสับสนเล็กน้อย แต่พอเริ่มคล่องแล้วก็จะใช้งานได้อย่างสบายๆ ครับ
ส่วนการใช้งานกล้องจริงๆ นั้น พบว่า Nexus 4 มีปัญหาเรื่องการโฟกัส บางครั้งจับโฟกัสได้แล้ว พอกำลังจะกดถ่าย ปรากฏว่าหลุดโฟกัสไปหน้าตาเฉยก็มี ภาพที่ออกมาก็จัดว่าค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับ Nexus รุ่นก่อนหน้าที่ขึ้นชื่อว่ากล้องไม่ค่อยจะดีเท่าไร ถ้าเทียบกับกลุ่มสมาร์ทโฟน Android ในปัจจุบันนี้ด้วยกันก็จัดว่าอยู่ในระดับที่ดีและพอใช้พึ่งพาได้เลย จะมีอาการ White Balance เพี้ยนบ้างในบางครั้ง แต่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ และไม่ได้เกิดบ่อยๆ ครับ โดยรวมแล้วถือว่าน่าพอใจเลย
ตัวอย่างภาพจากกล้อง Nexus 4
ภาพด้านล่างนี้เป็นภาพที่ถ่ายโดยเปิดแฟลชนะครับ
?ภาพนี้ถ่ายในห้องมืดสนิทด้วยการใช้แฟลช Nexus 4 ช่วย
ภาพนี้ถ่ายตอนกลางคืนแบบไม่เปิดแฟลชครับ
ส่วนภาพอื่นๆ สามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมได้จากที่นี่?นอกจากนี้เรามีภาพที่ถ่ายในมุมและสถานการณ์เดียวกัน จากกล้องของ iPhone 5 มาให้เปรียบเทียบด้วยครับ สามารถเข้าไปชมภาพเต็มๆ ได้ที่อัลบั้มนี้ได้เลย
Performance
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
เบื้องต้นก็ดูสเปกคร่าวๆ จากเท่าที่ลองเช็คจากแอพพลิเคชัน
![]() |
![]() |
มาเริ่มดูคะแนนจาก Geekbench 2 กันก่อนแล้วกัน คะแนนสรุปสุดท้ายออกมาที่ 2,096 คะแนน ซึ่งมากกว่า iPhone 5 ก็จริง แต่คะแนนในส่วนของ Memory และ Stream ของ Nexus 4 ให้ผลออกมาน้อยกว่า iPhone 5 ซึ่งคะแนนทั้งสองจุดนี้เกี่ยวกับเรื่องการเชื่อมต่อกับหน่วยความจำภายในเครื่องครับ
Sunspider
Sunspider เป็นการทดสอบการคำนวณตาม javascript โดยรันอยู่บนเว็บเบราเซอร์ โดยให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นเวลาเฉลี่ยที่ CPU คำนวณชุดสคริปต์เสร็จสมบูรณ์ของแต่ละรอบ โดยยิ่งใช้เวลาน้อยก็ยิ่งแสดงให้เห็นประสิทธิภาพที่ดีของ CPU
ผลออกมาปรากฏว่า Nexus 4 ทำได้ไม่ค่อยดีเท่าไร (ซึ่งจากเท่าที่ลองทดสอบกับมือถือที่ใช้ชิป APQ8064 ผลที่ได้ก็ออกมาประมาณนี้เช่นกัน)
Browsermark
Browsermark เป็นการทดสอบพลังการประมวลผลสคริปต์การเรนเดอร์ต่างๆ บนเว็บเบราเซอร์ เช่นทดสอบการเรนเดอร์ 2D, 3D, CSS, กราฟิกต่างๆ รวมไปถึงทดสอบระยะเวลาการโหลดเพจด้วย ให้ผลออกมาเป็นคะแนน ซึ่งยิ่งคะแนนสูงก็ยิ่งดี
ปรากฏว่า Nexus 4 ทำคะแนนไปได้ 1,978 คะแนน เกาะกลุ่มอยู่ในระดับเดียวกับสมาร์ทโฟนระดับท็อปในตลาดหลายๆ รุ่น จะมีก็แต่ iPhone 5 ที่คะแนนกระโดดมากๆ
GLBenchmark 2.1 : High
เป็นการทดสอบพลังการประมวลผลกราฟิกของ GPU โดยในโหมด High จะเป็นการเรนเดอร์ที่ความละเอียดของจอภาพโดยตรง ซึ่งผลที่ได้จะออกมาเป็นเฟรมเรตที่แสดงผล ที่ใช้วัดว่าสามารถแสดงผลได้ไหลลื่นขนาดไหน (ไม่สามารถนำไปเทียบเครื่องต่อเครื่องได้โดยตรง)
Nexus 4 สามารถเรนเดอร์ได้ 59 fps ซึ่งจัดว่าดีมากทีเดียว
GLBenchmark 2.1 : Offscreen
ส่วนการทดสอบในโหมด offscreen จะเป็นการบังคับให้ GPU เรนเดอร์ที่ความละเอียดตายตัวเท่ากันทุกเครื่องคือ 720p ทำให้สามารถเทียบประสิทธิภาพได้ (เฟรมเรตยิ่งมากยิ่งดี)
ส่่วนคะแนนของ GLBenchmark 2.5 ได้ออกมาตามในภาพด้านล่างนี้ครับ
ต่อไปเป็นเรื่องการใช้งานแบตเตอรี่บ้าง เท่าที่ลองใช้งานทั่วๆ ไป เช่น Facebook, Twitter, Line เปิดเว็บบ้าง ระหว่างช่วงทำงานก็ต่อ WiFi ผลออกมาก็คือสามารถใช้งาน 1 วันได้สบายๆ เลยทีเดียว
ส่วนการชาร์จ ผมทดลองชาร์จขณะที่แบตเตอรี่เหลืออยู่ 10% ชารจ์ไปจนถึง 96% ปรากฏว่าใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงกว่าๆ ถ้าให้ประมาณคร่าวๆ คาดว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่งถึงจะชาร์จแบตเต็ม
![]() |
![]() |
สรุปปิดท้าย
Google Nexus 4 จัดว่าเป็นสมาร์ทโฟน Android ที่คุ้มที่สุดเครื่องหนึ่งในขณะนี้ได้อย่างไม่ยากเย็น ไม่ว่าจะฮาร์ดแวร์ที่ทำออกมาได้ดีทั้งรูปลักษณ์ภายนอกและสเปกภายในที่มาพร้อมกับชิป Quad-core และ RAM 2 GB ซึ่งช่วยให้ระบบทำงานได้อย่างไม่มีสะดุด รวมไปถึงซอฟต์แวร์ Android 4.2 ที่มากับเครื่อง ซึ่งได้รับการพัฒนาให้สามารถทำงานได้ดี และมีปัญหาในการใช้งานที่ลดลงจากเวอร์ชันก่อนๆ หน้าลงไปมาก ทำให้ Nexus 4 เป็นสมาร์ทโฟน Android ที่น่าใช้ที่สุดในช่วงนี้ไปอย่างไม่ยากเย็น อีกทั้งเครื่องที่ขายผ่านทาง LG ประเทศไทยยังได้รับระยะเวลาการรับประกันเพิ่มเป็น 1 ปีครึ่งอีกด้วย ประกอบกับการสนับสนุนด้านซอฟต์แวร์จาก Google ที่มั่นใจได้ว่าจะได้รับการอัพเดตรอมที่ยาวนานกว่าหลายๆ แบรนด์อย่างแน่นอน
จะมีก็แต่เรื่องการหาซื้อเครื่องที่ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากปริมาณสินค้ามีน้อยจนไม่ค่อยเพียงพอกับความต้องการของตลาด ซึ่งก็หวังว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นโดยเร็วครับ เพราะโดยรวมแล้วเป็นมือถือที่น่าใช้มากๆ
ข้อดี
- Android 4.2 เร็ว แรง ลื่น
- Google Now สามารถทำงานได้ดี
- งานประกอบดี ตัวเครื่องขนาดกำลังพอดีสำหรับการใช้งาน ไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป
- การออกแบบตัวเครื่องดีไม่ว่าจะทั้งจุดสัมผัสต่างๆ และดีไซน์ที่ดูเรียบหรูสวยงาม
- ราคาคุ้มค่ามาก แม้ราคาในไทยจะค่อนข้างสูง แต่ก็ยังคุ้มกับสเปกและประสบการณ์การใช้งานที่ได้รับ
- รับประกันนานถึง 1 ปีครึ่ง
ข้อสังเกต
- หน้าจอสู้แสงไม่ค่อยดี สีจืดไปหน่อย
- หาซื้อในไทยค่อนข้างยาก แม้จะเริ่มวางขายมานานแล้ว
- (อาจจะ) ไม่รองรับ LTE
- บางครั้งใช้เวลาในการชาร์จแบตเตอรี่นานเกินไป (เป็นแค่บางครั้ง)