รีวิว ASUS Fonepad: แท็บเล็ตโทรได้ในราคาคุ้มค่า

เมื่อก่อนเราอาจจะมองว่าแท็บเล็ตนั้นมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ ไม่สะดวกกับการพกพาเท่าสมาร์ทโฟน แถมยังรองรับการเชื่อมต่อ WiFi แค่อย่างเดียว (หรือรุ่น 3G ก็สามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตได้เท่านั้น) ทำให้ผู้ใช้ส่วนใหญ่เลือกที่จะพกอุปกรณ์สองเครื่องคือทั้งสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน เช่นอาจจะเปิดเว็บ/ebook อ่านบนแท็บเล็ต ส่วนมือถือก็มีไว้กระจาย 3G เป็น Hotspot หรือมีไว้แชทเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น

แต่ในปัจจุบัน เทรนด์ของสมาร์ทโฟนจอใหญ่เริ่มมาแรงขึ้นเรื่อยๆ เดินคู่ไปกับขนาดจอของมือถือที่ใหญ่ขึ้นจนใกล้เคียงแท็บเล็ตมากขึ้น จึงเริ่มเกิดอุปกรณ์กลุ่มแท็บเล็ตที่สามารถใช้งานเป็นโทรศัพท์ได้ด้วยขึ้นมา เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานไม่ต้องพกสองเครื่องพร้อมกัน ขอแค่แท็บเล็ตเครื่องเดียวก็สามารถใช้งานได้ครบครันแทบจะทุกการทำงานแล้ว ซึ่งตัวของ ASUS Fonepad ก็เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ดังกล่าวครับ ซึ่งทางเราเห็นว่าเป็นแท็บเล็ตเครื่องที่น่าสนใจดี เลยขอหยิบมารีวิวให้ชมกัน

ASUS Fonepad Review 001ตัวของ ASUS Fonepad นั้น จัดว่าอยู่ในกลุ่มแท็บเล็ตราคาย่อมเยา ที่มาพร้อมความสามารถในการใช้เป็นโทรศัพท์และใช้งาน 3G ได้อย่างครบถ้วน เรื่องของสเปคก็ตามนี้ครับ

  • ชิปประมวลผล Intel Atom Z2420 (Single core ที่รองรับ Hyper Threading ทำให้เสมือนว่ามี 2 คอร์) ความเร็ว 1.2 GHz มาพร้อมชิปกราฟิก PowerVR SGX540
  • RAM 1 GB
  • พื้นที่เก็บข้อมูลภายใน 8 GB รองรับการเพิ่มความจุด้วย microSD
  • หน้าจอพาเนล IPS ขนาด 7 นิ้ว ความละเอียด 1280 x 800
  • กล้องหลังความละเอียด 3 MP กล้องหน้าความละเอียด 1.2 MP
  • รองรับการเชื่อมต่อ 3G ทุกเครือข่าย (ใช้ไมโครซิม)
  • น้ำหนักเครื่อง 340 กรัม
  • แบตเตอรี่ความจุ 4270 mAh
  • มาพร้อม Android 4.1.2 Jelly Bean
  • ราคา 7,900 บาท
  • สเปค ASUS Fonepad

จุดเด่นในด้านสเปคของ Fonepad นั้น ก็คือเรื่องชิปประมวลผล Intel Atom Z2420 (โค้ดเนม Lexington) ที่เป็นชิประดับเริ่มต้นของ Intel Atom ที่แม้ว่าจะมีคอร์ประมวลผลเดียว แต่ก็รองรับเทคโนโลยี Hyper Threading ทำให้เสมือนว่ามีสองคอร์ช่วยในการประมวลผล ซึ่งเทคโนโลยีนี้ก็เป็นการยกเครื่องมาจากชิปประมวลผลตระกูลเดสก์ท็อปของ Intel เอง ดังนั้นจึงรับรองได้ว่าเพียงพอกับการใช้งานทั่วๆ ไปบนแพลตฟอร์มสำหรับโมบายล์แน่นอน แต่ในเรื่องของการประมวลผลกราฟิกนั้นอาจจะทำได้ไม่ดีมากนัก เพราะใช้ชิปประมวลผลเป็น PowerVR SGX540 ที่ค่อนข้างเก่าไปหน่อยสำหรับหลายๆ เกมในปัจจุบัน ดังนั้น Fonepad จึงอาจไม่เหมาะกับเรื่องการใช้งานกราฟิก เช่น เล่นเกมใหม่ๆ ที่กินทรัพยากรหนักๆ เท่าไร

ส่วนสเปคที่เหลือก็จัดว่าอยู่ในระดับปานกลาง และเป็นสเปคที่พบเห็นได้ทั่วไปบนสมาร์ทโฟน/แท็บเล็ตในปัจจุบันครับ จะมีก็เรื่องราคาที่เปิดมา 7,900 บาท ซึ่งอยู่ในช่วงที่น่าสนใจมาก เมื่อมองว่ามันเป็นแท็บเล็ตที่สามารถใช้เป็นโทรศัพท์ได้ในตัว ต่อไปเรามาดูรูปร่างหน้าตากันบ้างครับ

ASUS Fonepad Review 031 ASUS Fonepad Review 032

อุปกรณ์ที่ให้มาในชุดจัดจำหน่ายก็เช่นเดียวกับแท็บเล็ตทั่วๆ ไป ได้แก่ สาย Micro USB, อะแดปเตอร์ชาร์จไฟ และเอกสารคู่มือ ไม่มีหูฟังแถมมาด้วยนะครับ แต่สามารถใช้หูฟังหรือ small talk อื่นๆ ได้ตามปกติ หรือถ้าไม่สะดวกจะยกขึ้นมาโทร ก็สามารถหาหูฟัง Bluetooth มาใช้งานได้เช่นกัน

ASUS Fonepad Review 004

ASUS Fonepad Review 003ASUS Fonepad Review 002

ด้านหน้าของเครื่องเป็นแผ่นกระจกปิดหน้าทั้งแผ่น ยกเว้นแต่บริเวณลำโพงสนทนาที่มีตะแกรงโลหะปิดเอาไว้ กระจกหน้าจอนั้นสะท้อนแสงมากพอสมควรทีเดียว ทำให้ค่อนข้างลำบากพอสมควรเวลาใช้งานในที่มีแสงมาก ซึ่งนอกจากแสงจะท้อนจากจอเยอะแล้ว ยังทำให้เห็นรอยนิ้วมือบนจอชัดด้วย ทางที่ดีก็ควรจะมีผ้าเช็ดจอติดตัวไว้ หรือถ้าเป็นไปได้ ลองหาฟิล์มกันรอยนิ้วมือที่ช่วยลดแสงสะท้อนจากจอลงได้ด้วยก็จะช่วยให้ใช้งานสะดวกขึ้นมากทีเดียว

ส่วนด้านล่างของจอนั้นก็ไม่มีปุ่มสั่งการใดๆ เนื่องจากใช้เป็นปุ่มแบบซอฟต์คีย์ของ Android ทั้งหมด มีแต่เพียงโลโก้ ASUS สกรีนอยู่ด้านล่างเท่านั้น

ASUS Fonepad Review 020 ASUS Fonepad Review 022สิ่งที่ Fonepad สร้างความประทับใจได้ดีจุดหนึ่งเลยก็คือหน้าจอครับ เพราะถึงแม้ตัวเครื่องจะมีราคาเพียงแค่ 7,900 บาท แต่ก็ยังมาพร้อมพาเนลจอแบบ IPS ที่จัดว่าอยู่ในระดับค่อนข้างดีทีเดียว ในด้านของการให้สีสัน ความคมชัด ซึ่งส่วนตัวมั่นใจว่าดีกว่าแท็บเล็ตจีนหลายๆ รุ่นแน่นอน ถือว่าเป็นแท็บเล็ตราคาไม่แพงที่มาพร้อมจอคุณภาพเลยครับ ซึ่งจุดนี้แนะนำว่าให้ไปลองเล่นตัวจริงดู ก็น่าจะเห็นสีสันได้ดีและชัดกว่าในรูปถ่ายมากทีเดียว

อัตราส่วนจอของ Fonepad นั้นเป็นแบบ 16:10 ทำให้พื้นที่การแสดงผลในด้านกว้างมากกว่าแท็บเล็ต 7 นิ้วหลายๆ รุ่นที่ใช้อัตราส่วนจอเป็น 16:9 ซึ่งเป็นอัตราส่วนยอดนิยมของแท็บเล็ต Android ในท้องตลาด ซึ่งจะเหมาะกับการใช้อ่านข้อความยาวๆ เพราะพื้นที่แสดงผลแนวกว้างมีมากขึ้น ทำให้บรรทัดสำหรับแสดงตัวอักษรยาวขึ้นด้วย
ASUS Fonepad Review 005

ASUS Fonepad Review 007ASUS Fonepad Review 012

ASUS Fonepad Review 013

ส่วนของช่องใส่ซิมการ์ดนั้น จะซ่อนอยู่ใต้แถบปิดด้านบนของเครื่อง ซึ่งต้องใช้มือดันฝาปิดไปด้านบน ฝาถึงจะค่อยๆ หลุดออกมา แต่การถอดฝานั้นอาจจะยากและต้องใช้แรงเยอะหน่อย เพราะไม่มีจุดช่วยสะกิดฝาขึ้นเลย รวมถึงพื้นผิวที่ลื่น ทำให้ไม่สะดวกแก่การดึงฝาปิดออกมาบ่อยๆ นัก โดยภายใต้ฝาปิดจะมีทั้งช่องใส่ไมโครซิมและการ์ดเพิ่มหน่วยความจำ (microSD) อยู่ ใต้ฝาปิดจะเป็นตำแหน่งของกล้องหลัง ซึ่งมีขอบโลหะนูนขึ้นมาเล็กน้อยช่วยปกป้องกระจกเลนส์จากการขูดขีดเมื่อวางราบกับพื้นอยู่

เรื่องของงานประกอบนั้น จัดว่าทำออกมาได้ดีเมื่อเทียบกับราคา แม้วัสดุที่ใช้จะเป็นพลาสติกก็ตาม แต่ก็ให้ความรู้สึกที่ดูมั่นคงแข็งแรง ต่างจากแท็บเล็ตหลายๆ รุ่นที่เนื้องานดูก๊องแก๊งเกินไป ส่วนของผิวสัมผัสนั้นค่อนข้างลื่น เวลาจับถืออาจจะต้องระมัดระวังซักเล็กน้อย โดยเฉพาะเวลาที่มือเปียกน้ำ

ASUS Fonepad Review 006ASUS Fonepad Review 016

ส่วนด้านล่างของฝาหลังนั้น จะมีโลโก้ Intel สกรีนติดอยู่ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าใช้ชิปประมวลผลจาก Intel ในตระกูล Atom สำหรับโมบายล์ ส่วนบริเวณที่เป็นช่องตะแกรงนั้น เป็นช่องสำหรับลำโพงจากภายในเครื่องครับ เสียงที่ออกจากลำโพงนั้นจัดว่าธรรมดาๆ เสียงเตือนเมื่อมี notification หรือริงโทนเวลาคนโทรเข้ามาก็ดังใช้ได้ (ตัวเครื่องมีระบบสั่นด้วย)

ASUS Fonepad Review 010ASUS Fonepad Review 011
ASUS Fonepad Review 009ASUS Fonepad Review 008

ทีนี้มาดูด้านข้างกันบ้าง เริ่มจากด้านบนสุดมีเพียงช่องไมค์ตัดเสียงรบกวนเท่านั้น ด้านล่างสุดจะมีช่องไมค์สนทนา,? ช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร ตรงกลางเป็นช่อง Micro USB สำหรับเสียบสายชาร์จ

ฝั่งขวาของเครื่องไม่มีปุ่มใดๆ ส่วนฝั่งซ้ายมีปุ่ม Power และแถบปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง ซึ่งการวางตำแหน่งของปุ่ม Power จะพอดีกับนิ้วสำหรับกดของแต่ละมือพอดีๆ โดยถ้าถือเครื่องด้วยมือซ้ายข้างเดียวก็จะพอดีกับนิ้วหัวแม่มือ (แต่จะกดลำบาก) ส่วนถ้าถือเครื่องด้วยมือขวาข้างเดียวก็จะพอดีกับนิ้วชี้ ซึ่งจะกดได้ค่อนข้างสะดวก แต่ทางที่ดี แนะนำว่าใช้สองมือจะดีที่สุดครับ ป้องกันเครื่องลื่นหลุดมือ

ASUS Fonepad Review 029 ASUS Fonepad Review 030 ASUS Fonepad Review 025ASUS Fonepad Review 027 ASUS Fonepad Review 028

ในการใช้งานจริงนั้น ตัว Fonepad ก็คือสมาร์ทโฟนเครื่องหนึ่งดีๆ นี่เอง เพียงแต่ตัวเครื่องและหน้าจอใหญ่ขึ้น สามารถใช้งานได้สบายตากว่ามือถือทั่วๆ ไป แต่ก็แลกมาด้วยความไม่สะดวกในเรื่องของการพกพาและหยิบขึ้นมาใช้งานครับ

Screenshot_2013-04-19-21-05-20Screenshot_2013-04-19-21-06-06
Screenshot_2013-04-19-21-06-10Screenshot_2013-04-19-21-06-12
Screenshot_2013-04-19-21-04-09Screenshot_2013-04-19-21-04-31

ด้านของซอฟต์แวร์นั้น ASUS Fonepad ก็มาพร้อมกับ Android 4.1.2 (Jelly Bean) โดยมีพื้นที่เหลือให้ใช้งานราว 4 GB กว่าๆ สามารถใช้งานเมนูเป็นภาษาไทย และใช้งานคีย์บอร์ดไทยได้ในตัว หน้าตาของคีย์บอร์ดก็ใช้เป็นแบบเดียวกับคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ ทำให้สามารถพิมพ์ได้สะดวก ประกอบกับขนาดของปุ่มที่ค่อนข้างใหญ่ ทำให้พิมพ์ได้ง่ายมาก

ส่วนของปุ่มซอฟต์คีย์สำหรับสั่งงานทั้งสี่ปุ่มเรียงจากซ้ายไปขวาก็มีดังนี้

  • ปุ่ม Back
  • ปุ่ม Home
  • ปุ่ม Recent App สำหรับเรียกดูรายการแอพที่เปิดล่าสุด
  • ปุ่มเรียกใช้งาน Floating Apps ซึ่งจะเป็นวิดเจ็ตเล็กๆ ลอยอยู่บนหน้าจอให้สามารถเรียกใช้งานได้จากทุกหน้าแอพพลิเคชัน
นอกจากนี้ใครที่ชอบแคปหน้าจอ ตัว Fonepad ก็อำนวยความสะดวกให้เต็มที่ เพราะผู้ใช้สามารถกดปุ่ม Recent App ค้างไว้เพื่อแคปหน้าจอได้เลย
Screenshot_2013-04-19-21-06-54Screenshot_2013-04-19-21-07-48
Screenshot_2013-04-19-21-40-08Screenshot_2013-04-19-21-41-12

ด้านของซอฟต์แวร์เสริมจาก ASUS นั้น ก็เรียกว่าจัดเต็มไม่แพ้แท็บเล็ตรุ่นใหญ่ของตนเลย โดยตัวที่เด่นๆ ก็เช่น

  • ASUS Splendid เป็นแอพสำหรับปรับสีการแสดงผลของจอ เช่นเดียวกับโปรแกรมที่อยู่ในโน้ตบุ๊คของ ASUS เลย ช่วยให้ผู้ใช้สามารถปรับสีเพื่อแก้ปัญหาจอสีเพี้ยนได้เป็นอย่างดี จัดว่าเป็นแอพที่น่าสนใจมาก เพราะมีมือถือ/แท็บเล็ตไม่กี่รุ่นเท่านั้นที่มีแอพประเภทนี้มาให้
  • AudioWizard เป็นแอพสำหรับปรับโปรไฟล์เสียง เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานต่างๆ เช่น ดูหนัง, ฟังเพลง, บันทึกเสียง, เล่นเกมและการสนทนา
  • Floating Apps เป็นกลุ่มแอพดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น โดยแอพที่สามารถลากมาใช้งานเป็นวิดเจ็ตได้ก็เช่น สมุดจด, เครื่องคิดเลข, ปฏิทิน, เว็บเบราเซอร์, นาฬิกาจับเวลา, อีเมล เป็นต้น ซึ่งจากที่ทดลอง สามารถเรียกมาใช้งานพร้อมกันได้สูงสุดถึง 6 แอพ พร้อมกับอาการหน่วงลงของเครื่องเล็กน้อย

Screenshot_2013-04-19-21-10-12

Screenshots_20130419_090312Screenshot_2013-04-23-13-49-42
Screenshot_2013-04-19-21-09-29Screenshot_2013-04-23-18-57-35

แอพที่น่าสนใจชุดต่อมาก็ได้แก่

  • MyPainter ไหนๆ ก็เป็นแท็บเล็ตแล้ว ASUS จึงได้ใส่แอพสำหรับวาดรูปมาให้ด้วย ซึ่งก็สามารถใช้งานได้ดี มีอุปกรณ์ให้เลือกใช้ขีดเขียนหลายชิ้น จะใช้วาดรูปเล่นก็ได้ หรือใช้ทำเป็นโปสการ์ดอิเล็กทรอนิกส์ส่งไปให้เพื่อนก็ดีทีเดียว
  • ASUS Customized Setting เป็นหน้าจอสำหรับตั้งค่าการทำงานต่างๆ จากทาง ASUS เอง ซึ่งสามารถปรับการทำงานพิเศษต่างๆ ได้ เช่น ปรับการแสดงผลหน้าจอให้ใช้งานในที่แจ้งได้ดีขึ้น, ปรับการแคปหน้าจอว่าจะให้ใช้เป็นการกดปุ่ม Recent Apps ค้างไว้หรือไม่ เป็นต้น
  • BuddyBuzz เป็นแอพรวมการแสดงผลโซเชียลเน็ตเวิร์ค ซึ่งผู้ใช้สามารถล็อกอินได้ทั้ง Facebook, Twitter และ Plurk เพื่อให้ BuddyBuzz แสดง timeline ของแต่ละโซเชียลเข้าไว้ในตัวเดียว ทำให้สะดวกต่อการใช้งานมากทีเดียว แถมยังมีวิดเจ็ตให้นำไปวางบนหน้าจอได้อีกด้วย
  • Instant Dictionary เป็นดิกชันนารีแบบที่ผู้ใช้สามารถเรียกใช้งานได้ง่ายมากๆ โดยเมื่อเปิดใช้งานแล้ว จะมีไอคอนกลมๆ สีฟ้าไปเกาะติดอยู่ตรงขอบจอ วิธีใช้งานดิกชันนารีก็เพียงแค่กดให้ปุ่ม Instant เป็นสีฟ้า จากนั้นก็ไปกดค้างไว้ตรงคำที่ต้องการทราบคำแปล แล้วก็จะมีกล่องแสดงคำแปลลอยขึ้นมาให้อ่านได้เลย หรือจะใช้เป็นการลากนิ้วคร่อมคำยาวๆ / ประโยคที่ต้องการแปลก็ได้ แต่การจะใช้งาน Instant Dictionary จำเป็นจะต้องเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตด้วยนะครับ (ส่วนถ้าไม่มีเน็ต ก็ให้ใช้แอพ Dictionary ในเครื่องแทน แต่จะไม่มีภาษาไทย)
Screenshot_2013-04-25-14-23-21Screenshot_2013-04-23-13-58-39

ส่วนการใช้งานเป็นเครื่องอ่านนิตยสาร/ไฟล์ PDF นั้น ผู้ใช้สามารถหาไฟล์มาลงในเครื่องได้โดยตรง หรือจะใช้งานแอพ Press Reader ที่อยู่ในเครื่องก็ได้ ซึ่งตัวของ Press Reader นี้เป็นแหล่งรวมหนังสือพิมพ์ของแทบจะทั่วทั้งโลกเอาไว้เลย โดยเราสามารถสมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับหนังสือพิมพ์ที่ต้องการมาอ่านได้จากในตัวแอพ

ด้านของการใช้งานนั้น พบว่ามีอาการหน่วงๆ และกระตุกขณะเปลี่ยนหน้า การแสดงผลตัวอักษรก็ไม่สมบูรณ์ในบางจุด เรียกว่าอยู่ในระดับที่พอใช้งานได้ ?อาจจะมีขัดใจเวลาโหลดบ้าง สำหรับคนที่ชอบอ่าน ebook ครับ

Screenshot_2013-04-23-13-53-58Screenshot_2013-04-23-13-55-45
Screenshot_2013-05-08-13-59-02Screenshot_2013-04-23-13-54-28

การใช้งานเว็บเบราเซอร์ก็ทำได้น่าพอใจ แสดงภาษาไทยได้ถูกต้องดีตามมาตรฐานของ Android

การใช้งานแบตเตอรี่

Screenshot_2013-04-29-20-37-31Screenshot_2013-04-29-20-37-18
Screenshot_2013-05-08-13-41-34Screenshot_2013-05-08-13-41-15

การใช้งานแบตเตอรี่ของ ASUS Fonepad นั้น ทำได้ในระดับกึ่งกลางของแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน ด้วยแบตเตอรี่ความจุสูงถึง 4270 mAh แต่ก็จะมีโมดูล Cellular ที่เปิดใช้งานอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถ้าในรูปแบบการใช้งานปกติก็รับรองว่าใช้งานได้เกินหนึ่งวันแน่ๆ แต่ที่น่าแปลกใจก็คือตัวของ BuddyBuzz ที่มีอัตราการใช้งานแบตเตอรี่สูงกว่าแอพอื่นๆ อยู่มาก ซึ่งถ้าปิดการทำงานของ BuddyBuzz ไป คาดว่าน่าจะช่วยให้ใช้งานแบตเตอรี่ต่อการชาร์จหนึ่งครั้งได้อีกพอสมควร

ผลทดสอบประสิทธิภาพ

Sunspider?(หน่วยเวลาเป็น ms ยิ่งน้อยยิ่งดี)sunspider

Sunspider เป็นการทดสอบความสามารถในการประมวลผลชุดคำสั่ง Javascript แล้วจับเวลาเฉลี่ยว่าใช้เวลาประมวลผลนานเท่าไร ผลทดสอบออกมา Fonepad ที่ใช้ชิปเป็น Intel Atom Z2420 ตัวนี้กลับทำได้ไม่ค่อยดีเท่าไร เมื่อเทียบกับ Acer Liquid C1 ที่ใช้ชิปตัวเดียวกัน

Browsermark?(หน่วยเป็นคะแนน ยิ่งมากยิ่งดี)browsermark

ส่วนการทดสอบด้วย Browsermark เป็นการวัดคะแนนจากการประมวลผลชุดคำสั่ง CSS และกราฟิกต่างๆ บนเว็บเบราเซอร์ ผลออกมาก็คือ Fonepad สามารถทำคะแนนไปได้ 2046 คะแนน อยู่ในระดับเดียวกับ Liquid C1 ที่ใช้ชิปตัวเดียวกัน

GLBenchmark 2.5

Screenshot_2013-04-22-11-24-59ส่วนการวัดพลังการประมวลผลกราฟิกด้วย GLBenchmark นั้น ผลออกมาคือไม่ค่อยดีนัก ซึ่งก็ไม่จัดว่าแปลกนัก เพราะใช้หน่วยประมวลผลกราฟิกเป็น PowerVR SGX540 ที่เป็นรุ่นล่างในปัจจุบันเท่านั้น ทำให้ Fonepad ดูจะเหมาะกับการใช้งานทั่วไปมากกว่า

ASUS Fonepad Review 033

สรุปปิดท้ายรีวิว

ASUS Fonepad เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่น่าสนใจในช่วงนี้ เนื่องด้วยเป็นการผสมผสานกันระหว่างแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนได้ลงตัว ทำให้มีจุดเด่นทั้งขนาดหน้าจอใหญ่ ใช้งานได้สบายตา รวมไปถึงความสามารถในการใช้เป็นโทรศัพท์และใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่านเครือข่าย 3G ได้ในตัว ช่วยให้ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องพกอุปกรณ์หลายเครื่องพร้อมกันให้ลำบาก ซึ่งน่าจะถูกใจหลายๆ คนที่กำลังมองหามือถือจอใหญ่ๆ อยู่บ้างพอสมควร แถมยังมาในราคาที่น่าคบหาเพียงแค่ 7,900 บาทเท่านั้น

ส่วนเรื่องของชิปประมวลผลที่ใช้เป็น Intel Atom นั้น ก็แทบไม่ต้องห่วงเรื่องความร้อนและระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่เลย เพราะสามารถทำออกมาได้ใกล้เคียงกับชิปตระกูล ARM ที่ใช้ในสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตส่วนใหญ่ในท้องตลาด และมีแนวโน้มที่จะทำออกมาได้ดีขึ้นกว่าปัจจุบันอีกด้วย ด้านความเข้ากันได้ของแอพพลิเคชันก็แทบจะไม่มีปัญหาอะไรเลย ผู้ใช้สามารถติดตั้งแอพจาก Play Store ได้ทันที ทำให้ ASUS Fonepad เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่อยากได้มือถือจอใหญ่ สบายตา (และสามารถพกพาได้)

ข้อดี

  • ราคาคุ้มค่า
  • เครื่องไม่ร้อน แบตใช้งานได้นาน
  • จอแสดงผลมีคุณภาพดี ให้สีสันสวยงาม

ข้อสังเกต

  • ขณะใช้งาน มีอาการหน่วงๆ และกระตุกเป็นบางช่วง
  • อาจจะไม่เหมาะสำหรับใช้เล่นเกมหนักๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก