ในช่วงครึ่งปีหลังมานี้ผลิตภัณฑ์ของ Lenovo ในกลุ่มสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตจัดว่ามาแรงมากๆ เริ่มด้วยการเปิดตัวสมาร์ทโฟนทั้ง 5 รุ่่น ซึ่งก็ได้เสียงตอบรับเป็นอย่างดี คราวนี้ก็มาถึงสินค้ากลุ่มแท็บเล็ตที่เข้ามาทำตลาดบ้าง ซึ่งรุ่นแรกที่เริ่มวางจำหน่ายอย่าง Lenovo A1000 ก็ได้กระแสตอบรับที่ค่อนข้างดี ด้วยความที่ราคาเปิดตัวไม่สูง แถมยังสามารถใช้โทรได้เหมือนโทรศัพท์อีกด้วย
คราวนี้เราจะมาดูแท็บเล็ต Lenovo รุ่นสูงกว่า A1000 ขึ้นมานิดนีง นั่นคือ Lenovo A3000 ครับ ที่ถึงแม้ว่าจะมีวางขายกันไปพอสมควรแล้ว แต่ก็จัดว่ายังเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจในตลาดอยู่ดี
สเปค Lenovo A3000
- ชิปประมวลผล MedtaTek MT8389 Quad-core ความเร็ว 1.2 GHz มาพร้อมชิปกราฟิก PowerVR SGX544
- แรม 1 GB
- หน่วยความจำในตัว 16 GB สามารถใส่ microSD เพิ่มได้
- หน้าจอขนาด 7 นิ้ว ความละเอียด 1024 x 600
- กล้องหลัง 5 ล้านพิกเซล กล้องหน้า VGA
- แบตเตอรี่ความจุ 3500 mAh
- รองรับ 2 ซิม (ซิม 1 ใช้ 3G/2G ส่วนซิม 2 ใช้ได้แค่ 2G) สามารถใช้โทรได้ทั้ง 2 ซิม
- รองรับ 3G 900/2100 MHz
- ราคากลาง 6,990 บาท
- สเปค Lenovo A3000 เพิ่มเติม
หน้าตาโดยรวมส่วนของหน้าจอก็จะคล้ายๆ กับ A1000 เลยครับ คือเป็นหน้าจอเรียบๆ ปุ่มสั่งงานจะใช้เป็นปุ่มบนหน้าจอของ Android ทั้งหมด ทำให้ด้านหน้าไม่มีปุ่มใดๆ เลย มีแต่จุดเด่นก็คือลำโพงสนทนาที่เราสามารถยกขึ้นมาแนบหูเพื่อใช้โทรได้เหมือนโทรศัพท์เลย
ฝาหลังของ Lenovo A3000 มีพื้นผิวขรุขระแบบตะแกรงซี่ถี่ๆ ลื่นมือพอสมควร งานประกอบโดยทั่วไปแน่นหนาดีมากครับ จับแล้วให้ความรู้สึกดีกว่า A1000 พอตัว
กล้องหลังจะอยู่มุมซ้ายบนของฝาหลัง มีลักษณะนูนขึ้นมาเล็กน้อย ส่วนด้านล่างเป็นตำแหน่งของลำโพงทั้งสองตัว?
A3000 สามารถแกะฝาหลังได้นะครับ แต่ไม่สามารถถอดแบตเตอรี่ได้
โดยด้านบนจะมีช่องใส่ microSD อยู่ซ้ายสุด ไล่เข้ามาเป็นช่องใส่ซิม 1 และริมนอกสุดเป็นช่องใส่ซิม 2 ซึ่งตัวช่องใส่ซิมออกแบบมาให้ใช้กับซิมขนาดปกติครับ หรือจะใส่ไมโครซิม นาโนซิมก็ได้ แต่ต้องวางตำแหน่งของซิมให้ตรงกับหน้าสัมผัสทองเหลืองให้ดีๆ ก็ใช้งานได้เหมือนกัน
ลองเทียบกับ A1000 (ขวา) ดูครับ เห็นได้ชัดเลยว่าด้านหลังแตกต่างกัน ช่วยให้สังเกตได้ง่ายขึ้น
ด้านบนของ Lenovo A3000 จะมีปุ่ม Power อยู่ฝั่งขวา (เมื่อหันจอเข้าตัว) ถัดมาเป็นช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร ส่วนริมสุดเป็นช่อง Micro USB สำหรับชาร์จไฟ
ด้านล่างของตัวเครื่องมีแค่เพียงช่องรับเสียงของไมค์สนทนาเท่านั้น
ด้านซ้ายของเครื่องไม่มีปุ่มหรือเซ็นเซอร์ใดๆ อยู่เลย ส่วนด้านขวาจะมีแถบปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงอยู่ซีกบนของตัวเครื่อง และถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นช่องสำหรับแงะฝาหลังออกอยู่ด้วยครับ
ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหลังของ Lenovo A3000
ตัวอย่างอินเตอร์เฟสหน้าจอของ Lenovo A3000
Lenovo A3000 มาพร้อมกับ Android 4.2.2 พื้นที่ความจุตัวเครื่อง 16 GB เมื่อเปิดเครื่องใช้งานครั้งแรกจะเหลือพื้นที่ให้ใช้ราวๆ 13 GB ด้วยกัน
เรื่องการรองรับ 3G นั้น ที่แน่ๆ คือสามารถใช้งาน 3G ความถี่ 2100 ได้ทุกเครือข่ายครับ อย่างที่ผมลองก็ใช้เป็น dtac Trinet 2100 MHz (52005) ก็สามารถใช้งานได้ไม่มีปัญหาอะไร ใครที่ใช้งานในบริเวณที่คลื่น 3G ความถี่ 2100 MHz ครอบคลุมอยู่คงไม่ประสบปัญหากับการใช้งานเท่าไรนัก
หน้าตาคีย์บอร์ดที่ติดมากับเครื่อง ก็เป็นทรงเดียวกับคีย์บอร์ดมาตรฐานของ Android นั่นเอง
ผลทดสอบประสิทธิภาพ Lenovo A3000
ผลทดสอบประสิทธิภาพของ Lenovo A3000 ออกมาน่าพอใจมาก เมื่อดูจากราคาค่าตัวเครื่องประมาณ 7,000 บาท คะแนนบางจุดนี่ได้พอๆ กับเครื่องราคาหลักหมื่นเลยด้วยซ้ำไป ดังนั้นใครที่จะเอามาใช้งานทั่วไป เล่นเน็ต เปิดเว็บ เล่น Facebook คุยไลน์ก็สบายๆ หรือเล่นเกมก็น่าจะไม่มีปัญหาแต่อย่างใดครับ ส่วนตัวผมก็ลองเอามาเล่น Minion Rush (Despicable Me) ดู กราฟิกในเกมก็พอโอเคครับ มีหน่วงๆ บ้างนิดหน่อย
สรุปโดยภาพรวมแล้ว Lenovo A3000 จัดเป็นแท็บเล็ตสุดคุ้มตัวหนึ่งในตลาดขณะนี้ก็ว่าได้ ด้วยค่าตัวประมาณ 6,990 บาท (บางร้านถูกกว่านี้) สเปคก็จัดว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่ที่เด่นจริงๆ ก็คือการรองรับ 2 ซิมและใช้โทรได้เหมือนโทรศัพท์มือถือทั่วไป นับว่าเป็นแท็บเล็ตอินเตอร์แบรนด์ที่เด่นที่สุดในช่วงราคาไม่เกินหมื่นเลยก็ว่าได้ งานประกอบโดยรวมก็โอเค เหมาะสำหรับเป็นได้ทั้งมือถือเครื่องหลัก หรือจะซื้อมาใช้งานเป็นแท็บเล็ต 3G ก็ยังไหว
สำหรับใครที่สนใจ สามารถหาซื้อได้ตามตัวแทนจำหน่ายของ Lenovo, ร้านขายสมาร์ทโฟนชื่อดัง เช่น Jaymart, TGFone เป็นต้น หรือตามบิ๊กซี โลตัสใกล้ๆ บ้านก็น่าจะมีกระจายของ