คู่มือเบื้องต้นในการอ่านสเปคและรู้จักเทคโนโลยีบนมือถือ

การเลือกซื้อมือถือซักรุ่นในปัจจุบันนี้อาจจะมีความลำบากอยู่บ้างสำหรับคนที่ไม่ได้ติดตามข่าวคราวและความเคลื่อนไหวในแวดวงของเทคโนโลยี ซึ่งในปัจจุบันเราสามารถพูดได้ว่ามือถือที่เราใช้อยู่ในตอนนี้สามารถใช้งานได้สะดวกไม่แพ้กับบนพีซีหรือโน้ตบุ๊ก สาเหตุหนึ่งก็เป็นเพราะเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นในฝั่งของโลกมือถือนั้นยังคงมีออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในบทความนี้เราจะมาพูดถึงเกี่ยวกับเทคโนโลยีและสเปคของมือถือในช่วงนี้กันครับ

 

ซีพียู

tegra_k1_frontback-590x330

เมื่อจำนวนคอร์ถูกนำมาใช้โฆษณามากขึ้น

หนึ่งในเรื่องที่ถูกพูดถึงสำหรับในปีนี้คือเรื่องของจำนวนคอร์ที่ถูกเพิ่มมามากขึ้นเมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา จากสองคอร์และสี่คอร์จนมาเป็นแปดคอร์ในปีนี้ ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นมาจาก Samsung Galaxy S4 ที่ใช้ Exynos 5 Octa ตัวประมวลผล 8 คอร์ตัวแรกที่ออกมาในระดับไฮเอนด์ และในช่วงของปลายปี 2013 นั้นเราก็เริ่มเห็นว่าตัวประมวลผลในระดับเริ่มต้นอย่าง MediaTek ก็เริ่มลงมาทำในแบบ 8 คอร์ด้วยเหมือนกัน

ประเด็นหนึ่งที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดนั้นคือจำนวนคอร์ที่มากขึ้นกว่าเดิมทุกคอร์นั้นไม่ได้เพิ่มความเร็วกว่าเดิมเป็นสองเท่าเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น ซีพียูแบบ 4 คอร์ที่ความเร็ว 1 GHz ไม่ได้เร็วกว่าซีพียู 2 คอร์ความเร็ว 1 GHz ในทุกครั้ง ซึ่งความเร็วที่เพิ่มขึ้นนั้นอยู่ที่หลายปัจจัย แต่ส่วนใหญ่อยู่ที่การปรับแต่งของซอฟแวร์หรือแอพคลิเคชันว่าจะสามารถนำคอร์ที่เพิ่มมานั้นไปใช้ประโยชน์ได้แค่ไหนมากกว่า ดังนั้น ซีพียูแบบ 8 คอร์นั้นเวลาใช้งานจริงอาจจะไม่ถึง 8 คอร์ก็ได้เพราะแอพลิเคชันหรือระบบนั้นยังไม่ได้ถูกปรับแต่งมาให้ใช้ซีพียู 8 คอร์อย่างสมบูรณ์

นอกจากเรื่องของการแอพที่ไม่สามารถดึงการใช้งานออกมาได้ทุกคอร์แบบสมบูรณ์แล้ว ซีพียู ARM ที่ใช้บนมือถือบางรุ่นนั้นไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้ทุกคอร์พร้อมกันด้วยสถาปัตยกรรมแบบ big.LITTLE ที่ออกแบบมาเพื่อการประหยัดพลังงานเป็นหลัก ซึ่งภายในนั้นจะจัดซีพียูออกเป็นสองชุดคือชุดแรกสำหรับประมวลผลงานที่ต้องใช้พลังงานการคำนวณสูง และซีพียูอีกชุดหนึ่งที่เน้นการประหยัดพลังงานสำหรับงานประมวลผลที่ไม่สูงมากนัก ซึ่งจะสลับกันทำงานตามสภาวะการใช้งานขณะนั้น ซีพียูในกลุ่มนี้ได้แก่ Exynos 5 Octa 5410 ที่ใช้ ARM Cortex A7 จำนวน 4 คอร์ที่เน้นด้านประหยัดพลังงาน และ ARM Cortex A15 อีก 4 คอร์ที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งการใช้งานนั้นจะสามารถใช้งานได้สูงสุดครั้งละ 4 คอร์เท่านั้น ซึ่งเมื่อเครื่องต้องการประมวลผลหนักขึ้นก็จะสลับจาก Cortex A7 ไปเป็น Cortex A15 แทน

ดังนั้นถึงแม้ว่า Exynos 5 Octa จะเป็นซีพียูแบบ 8 คอร์ที่การทำงานจริงๆ นั้นสามารถใช้ได้สูงสุดเพียง 4 คอร์เท่านั้น (ปัญหานี้ถูกแก้ด้วย Exynos 5 Octa 5422 รุ่นใหม่ในช่วงต้นปี 2014 ที่สามารถใช้งานได้พร้อมกัน 8 คอร์จริงๆ) ดังนั้น ถึงแม้ว่าจำนวนคอร์มากๆ จะดูดีในเชิงทฤษฏี แต่ประสิทธิภาพที่จะได้เพิ่มหรือไม่นั้นค่อนข้างที่จะมีตัวแปรหลากหลายมากกว่า เวลาดูเรื่องซีพียูนั้นจึงไม่ควรจะยึดติดว่าจำนวนคอร์ที่มากนั้นจะดีกว่าเสมอไปมากนักครับ

ความเร็ว

แล้วถ้าจะดูเรื่องซีพียูเป็นหลักแล้ว ความเร็วนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่ายที่สุดเพราะค่าที่ยิ่งมากนั้นก็หมายถึงว่าสามารถประมวลผลได้ดีขึ้น ซึ่งหน่วยนั้นเริ่มจาก MHz และเมื่อครบหนึ่งพัน MHz แล้วก็จะขยับขึ้นเป็น GHz ซึ่งชัดเจนว่าซีพียูความเร็ว 1.5 GHz นั้นเร็วกว่าซีพียูความเร็ว 1 GHz ที่สถาปัตยกรรมเดียวกันอย่างแน่นอนและเห็นผลผ่านการใช้งานได้ชัดที่สุด เรื่องสถาปัตยกรรมก็เช่นกัน ซีพียูระดับบนที่ใหม่ก็จะเร็วกว่าซีพียูระดับบนรุ่นเก่า ซึ่งเป็นสูตรคลาสสิคในการเลือกซีพียูที่ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย

Screen Shot 2013-07-17 at 11.44.51 AM

สถาปัยกรรมและเทคโนโลยีการผลิต

สถาปัตยกรรมของซีพียูในระดับไฮเอนด์ยังอยู่ที่ Cortex A15 เป็นหลักสำหรับผู้ผลิตอื่นและ Krait 400 สำหรับ Qualcomm Snapdragon ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแบบ 4 และ 8 คอร์ ซึ่งถ้าเห็นชื่อของซีพียูทั้งสองตัวนี้ก็นับว่าเป็นซีพียูระดับสูงแน่นอน รุ่นของซีพียูเหล่านี้ได้แก่ NVIDIA Tegra 4, Samsung Exynos 5 Octa, Qualcomm Snapdragon 800 หรือ 600 ก็ยังจัดอยู่ในกลุ่มนี้ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกใช้กับเครื่องระดับท็อปของแต่ละแบรนด์ครับ

ส่วนซีพียูระดับกลางในปีนี้นั้นส่วนใหญ่จะเป็น ARM Cortex A7 เป็นส่วนมาก ส่วนของฝั่ง Qualcomm นั้นก็จะเป็น Krait 200 ซึ่งมีทั้งแบบดู 2 คอร์และ 4 คอร์ ซีพียูในกลุ่มนี้ได้แก่ Qualcomm Snapdragon 400 รวมไปถึงชิปที่เราเห็นในมือถือจีนอย่าง MediaTek MT6572 (Cortex A7 แบบ 2 คอร์), MT6582 (Cortex A7 แบบ 4 คอร์) และ AllWinner A20 และ A31 ต่างก็ใช้ Cortex A7 แบบ 2 คอร์และ 4 คอร์ตามลำดับเช่นกัน ซึ่งในปีนั้นส่วนใหญ่เราจะพบมือถือจีนในราคาหลักพันจนไปถึงหลักหมื่นต่างก็ใช้ซีพียูตระกูลนี้ค่อนข้างมากครับ

ในระดับล่างนั้นก็ส่วนใหญ่ก็จะเป็น ARM Cortex A5 ซึ่งในตอนนี้จะพบกับใน Snapdragon 200 เกือบทั้งหมด เช่น Snapdragon 8210 ที่เป็น Cortex A5 แบบดูอัลคอร์และ 8265Q ที่เป็นแบบควอดคอร์ตามลำดับครับ

ส่วนเทคโนโลยีการผลิตนั้นในปัจจุบันเกือบทุกรุ่นจะถูกผลิตที่ขนาด 28 นาโนเมตร แต่ก็มีซีพียูระดับเริ่มต้นบางรุ่นอย่าง Snapdragon 200 ที่ถูกผลิตที่ 45 นาโนเมตร ในปี 2015 นั้นเราก็น่าจะเริ่มเห็นชิปที่ถูกผลิตที่ขนาด 20 นาโนเมตรแล้ว ซึ่งขนาดการผลิตนั้นยิ่งเล็กก็ยิ่งจะทำให้ชิปนั้นมีความร้อนน้อยลงและสามารถใส่ทรานซิสเตอร์จำนวนมากเข้าไปได้ จึงทำให้ประหยัดพลังงานและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่งด้วยครับ

 

หน้าจอ

lgd_slimmest_full_hd_lcd_panel_1

ในตอนนี้นั้นหน้าจอระดับ HD นั้นถือเป็นมาตรฐานของมือถือปัจจุบันไปแล้ว ซึ่งหน้าจอในปัจจุบันของมือถือก้ได้พัฒนาความละเอียดเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เข้าสู่ยุคของ Full HD หน้าจอมือถือในปัจจุบันก็จะแบ่งประเภทความละเอียดออกมาได้ดังนี้ครับ

1. HD หรือ High Definition ยุคเริ่มแรกของหน้าจอความละเอียดสูง โดยหน้าจอความละเอียดที่ 1280 x 720 พิกเซล

2. Full HD หรือ Full High Defnition ยุคหน้าจอความละเอียดถัดมาในปัจจุบัน ความละเอียดเพิ่มมาที่ 1920 x 1080 พิกเซล

3. Quad HD หรือ Quad High Definition ที่เริ่มได้เห็นในปีนี้ โดยมีความละเอียดหน้าจอที่ 2560 x 1440 พิกเซล

4. Quad Full HD หรือ Quad Full High Definition มีความเป็นว่าจะเห็นหน้าจอความละเอียด 3840 x 2160 พิกเซลนี้บนมือถือในปี 2015

นอกจากในแง่ของความละเอียดแล้ว ชนิดของหน้าจอก็มีหลายประเภทซึ่งมีข้อได้เปรียบและเสียบเปรียบตามแต่เทคโนโลยีดังนี้ครับ

  • LCD หน้าจอ LCD นั้นถือเป็นมาตรฐานของหน้าจอที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ ข้อได้เปรียบของ LCD สำหรับในแง่ของผู้ใช้งานนั้นไม่ได้มีอะไรโดดเด่นมากนัก แต่เนื่องจากหน้าจอ LCD นั้นเป็นเทคโนโลยีที่มีมานานจึงมีราคาที่ไม่สูงผู้ผลิตต่างๆ จึงนิยมนำมาใช้ ซึ่งหน้าจอนั้นก็มีหลายระดับ ทั้งที่มีคุณภาพที่ดี ปานกลางแล้วแต่ผู้ผลิตจะเลือกใช้ ซึ่งโดยรวมๆ แล้วหน้าจอ LCD นั้นถ้ามีคุณภาพสูงก็จะสามารถแสดงสีได้ออกมาเป็นธรรมชาติไม่แพ้กับหน้าจอชนิดอื่นเช่นกัน
  • IPS LCD หน้าจอแบบ IPS นั้นถือเป็นพาเนลที่ได้รับการยอมรับกันว่าดีกว่าหน้าจอ LCD ทั่วๆ ไป ซึ่งจะมีความคมชัด ความสว่างและการแสดงสีที่ดีกว่าจอ LCD แบบปกติที่ใช้พาเนลแบบ TN อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งผู้ผลิตถ้ามีการใช้หน้าจอชนิดนี้จะมีการบอกไว้อย่างแน่นอนเพราะเป็นหน้าจอที่มีคุณภาพสูงและคนรู้จักหน้าจอชนิดนี้กันพอสมควร ผู้ผลิตที่มีการใช้หน้าจอชนิดมากนี้ก็มีอย่าง LG หรือ Huawei และ Acer สำหรับมือถือและแท็บเล็ตบางรุ่นครับ
  • AMOLED ในปัจจุบันนั้นเราอาจจะได้พูดได้ว่าผู้ที่นำจอแบบ AMOLED มาใช้บนมือถือนั้นมีแต่เพียง Samsung เท่านั้น หน้าจอ AMOLED มีข้อดีในเรื่องของคอนทราสที่สูงทำให้ภาพออกมานั้นมีสีสันสวยงามสดใส และการแสดงสีดำของจอ AMOLED นั้นจะให้สีดำที่สนิทกว่าเนื่องจากจอไม่ได้เปล่งแสงออกมาจริงๆ ซึ่งจุดนี้ต่างจากจอ LCD ที่สีดำนั้นจะแสดงได้ไม่สนิทเท่าเพราะว่าจะยังมีแสงสีขาวออกมาจากจออยู่บ้าง ซึ่งในอดีตนั้นจอ AMOLED นั้นมีจุดอ่อนหลายอย่าง ทั้งในเรื่องของการเรียงพิกเซลแบบ Pentile นั้นทำให้หน้าจอไม่คมชัดและแสดงสีได้ดีเท่าที่ควรเนื่องจากมีการซับพิกเซลนั้นมีจำนวนน้อยกว่าปกติ แต่ปัญหานี้ถูกแก้ไขด้วยเทคโนโลยีของหน้าจอที่มีความละเอียดสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เรารู้สึกว่าหน้าจอ AMOLED ในยุคนี้นั้นมีความคมชัดในระดับที่ดี ต่างกับจอ AMOLED ในยุคก่อน HD ที่มีความละเอียดที่ WVGA (800 x 480 พิกเซล) หรือ qHD (960 x 540 พิกเซล)

 

แรม

ToshibaMRaminNANDHDD-e1355193025983

แรมนั้นเปรียบเสมือนที่พักของแอพและเซอร์วิสอื่นๆ ที่เรายังไม่ได้ใช้ในปัจจุบันและเก็บส่วนที่อาจจะใช้งานในอนาคตไว้ในแรมก่อน ซึ่งจะช่วยให้การใช้งานของเครื่องนั้นเป็นไปได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้นเนื่องจากมี ทำให้สามารถเรียกใช้งานได้ทันที นอกจากนี้แล้วแรมถ้ามีจำนวนมากบน Android เมื่อเราสลับงานหลายๆ แอพคลิเคชันพร้อมกัน จะสามารถใช้งานแอพลิเคชันนั้นต่อได้ทันทีหลังจากที่เราสลับจากแอพหนึ่งมาจากอีกแอพหนึ่ง เพราะ Android ถ้ามีแรมไม่พอนั้นเมื่อเราสลับแอพมา ตัวแอพจะเริ่มทำงานใหม่แต่ต้นทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่นเมื่อเราเปิดลิงค์เว็บจาก Facebook ไปยัง Chrome จากนั้นกลับมายัง Facebook ใหม่ แอพ Facebook จะทำการรีเฟรชหน้า Feed ใหม่ทั้งหมดเพราะระบบ Android นั้นได้ทำการ Kill Task ดังกล่าวไปแล้วการเปิดนั้นจึงเหมือนการเรียกแอพลิเคชันใหม่ตั้งแต่ต้น (แอพ Facebook จะทำการรีเฟรชหน้า Feed ใหม่ทุกครั้งที่เปิดแอพใหม่) แต่ถ้าเครื่องมีแรมที่เพียงพอนั้น เมื่อเรากลับเข้ามาใน Facebook ตัวแอพจะอยู่ที่ตำแหน่งล่าสุดที่เราอ่านค้างเอาไว้ ซึ่งทำให้เราไม่ต้องเลื่อนสกรอลจากด้านบนลงมาจนถึงตำแหน่งล่าสุดที่เราอ่านไว้

ในปี 2014 นี้มีมาตรฐานของแรมได้เพิ่มมาเป็นที่ 3 GB และเป็นไปได้ว่าจะมีการเห็นแรมขนาด 4 GB บนมือถือบางรุ่นที่ใช้ตัวประมวลผลแบบ 64 บิทที่น่าจะเป็นมาตรฐานของตัวไฮเอนด์ต่อไปในปี 2015 ในปัจจุบันนี้แรมขนาด 1 GB ได้เป็นมาตรฐานของมือถือระดับกลางๆ แล้ว ส่วนรุ่นระดับเริ่มต้นนั้นก็ยังเห็นได้ว่ามีแรม 512 MB อยู่ในบางรุ่นซึ่งการใช้งานจะค่อนข้างจำกัดพอสมควร โดยสรุปแล้วจำนวนของแรมนั้นยิ่งมีมากก็ยิ่งดีอย่างแน่นอนครับ

 

พื้นที่เก็บข้อมูลหรือรอม

galaxy-s4-usable-space

พื้นที่เก็บข้อมูลนั้นคือพื้นที่ส่วนที่เราสามารถติดตั้งแอพลิเคชันรวมไปถึงสามารถเก็บรูปถ่าย เพลง และวีดีโอต่างๆ ไว้ในเครื่อง ในปัจจุบันนั้นพื้นที่เก็บข้อมูลนั้นส่วนใหญ่จะมี 3 ขนาดคือ 16, 32 และ 64 GB (ส่วนใหญ่ในบ้านเราจะเห็นที่ 16 และ 32 GB เป็นส่วนมาก) สำหรับเครื่องระดับเริ่มต้นนั้นบางครั้งเราก็ยังเห็นที่ขนาดที่ 4 GB และ 8 GB อยู่บ้าง

สิ่งที่หนึ่งที่ควรพึงระวังไว้คือ พื้นที่เก็บข้อมูลที่โฆษณานั้นไม่ได้ตรงกับพื้นที่ใช้งานจริงในทุกกรณี สาเหตุนั้นก็เพราะว่าจะมีพื้นที่ส่วนหนึ่งที่ถูกเก็บไว้สำหรับระบบปฏิบัติการตั้งแต่ 2-7 GB แล้วแต่ความใหญ่เล็กของรอมซึ่งถูกหักออกไปจากพื้นที่เก็บข้อมูลที่เราควรจะมีทั้งหมด ซึ่งจะนำถูกออกมาแบ่งเป็นพื้นที่ส่วนที่ไว้ติดตั้งแอพลิเคชันและเก็บข้อมูลแยกกันอีกทีหนึ่ง ดังนั้น Android ส่วนใหญ่จึงมี microSD มาเพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บข้อมูลให้ส่วนหนึ่งด้วยครับ

จากที่กล่าวมาข้างต้นนั้นคงเห็นได้ว่ายิ่งพื้นที่เก็บข้อมูลมีขนาดน้อยก็ทำให้การใช้งานต่างๆ ก็ไม่สะดวกนัก โดยเฉพาะเรื่องการติดตั้งแอพลิเคชันที่ต้องคอยหมั่นตรวจสอบพื้นที่เหลือกันให้ดี เพราะอาจจะมีปัญหาเรื่องพื้นที่ติดตั้งไม่พอได้ครับ

 

กล้อง

SensorSize_v2_1000px

เทคโนโลยีกล้องบนมือถือนั้นเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้นและเริ่มมีการนำเทคโนโลยีระดับสูงมาใช้บนมือถือ แต่สิ่งที่ทำให้รูปที่ถ่ายออกมาดีหรือไม่ดีนั้นไม่ได้อยู่แค่เพียงเทคโนโลยีของกล้องที่ทันสมัยเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับเทคนิคและความเข้าใจในการถ่ายภาพของแต่ละคนด้วย แต่เทคโนโลยีกล้องที่ดีนั้นก็ทำให้เราได้ภาพถ่ายสวยๆ ออกมาได้ง่ายขึ้น

พูดถึงเรื่องกล้องนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดกลับไม่ใช่ความละเอียดสูงสุดของภาพที่ถ่ายออกมาได้ที่ส่วนใหญ่เราเข้าใจว่าความละเอียดยิ่งสูงน่าจะทำให้ภาพออกมานั้นมีรายละเอียดที่ดียิ่งขึ้น แต่จริงๆ สิ่งที่ทำให้ภาพรายละเอียดออกมาดีนั้นอยู่ที่ขนาดของเซนเซอร์ เพราะเซนเซอร์นั้นคือส่วนที่รับภาพจริงๆ จากกล้อง ถ้าเราลองนึกภาพการทำงานของกล้องว่าเมื่อถ่ายไปแล้วสิ่งที่ใช้บันทึกรูปก่อนคือลงบนเซนเซอร์ จากนั้นจึงแปลงไปเป็นพิกเซล ดังนั้นขนาดเซนเซอร์ที่ใหญ่ขึ้นก็ย่อมทำให้มีการเก็บรายละเอียดได้ดีกว่าเซนเซอร์ที่มีขนาดเล็ก กล้องที่มีความละเอียดพิกเซลสูงแต่เซนเซอร์มีขนาดเล็กก็จะทำให้รูปถ่ายออกมาไม่ดีนักเพราะว่าต้นทางก็คือเซนเซอร์นั้นเก็บรายละเอียดไม่ดีมากตั้งแต่ต้นแล้ว

รายละเอียดของ Sensor บนมือถือนั้นหาได้ไม่ง่ายนัก แต่ก็พอจะหาผ่านอินเตอร์เน็ตได้บ้าง หน่วยที่ใช้คือคือนิ้วซึ่งมีตั้งแต่ 1/3.2? มาจนถึง 1/1.2? ซึ่งตัวเลขนิ้วยิ่งน้อยถือว่าเซนเซอร์ยิ่งมีขนาดใหญ่ครับ อย่างไรก็ตาม เรื่องของภาพที่ออกมานั้นยังมีส่วนของหน่วยประมวลผลภาพ (ISP – Image Signal Processer) มาช่วยโปรเซสภาพออกมาด้วย ซึ่งการดูว่ากล้องรุ่นไหนดีหรือไม่ดีนั้นควรดูจากภาพตัวอย่างจริงๆ ประกอบด้วยจะชัดเจนมากกว่าสเปคแต่เพียงอย่างเดียวครับ

นอกจากเรื่องคุณภาพของภาพถ่ายตรงอย่างเซนเซอร์และความละเอียดแล้ว สิ่งที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้นก็คือเรื่องการช่วยถ่ายภาพในที่แสงน้อย ซึ่งแต่ละเจ้าก็จะมีเทคโนโลยีแตกต่างกันไปในการใช้ตัวประมวลผลภาพคำนวณแสงและแสดงเป็นรูปออกมา แต่ในฝั่งของเซนเซอร์นั้นก็มีเทคโนโลยีที่เรียกว่า BSI หรือ Back-Side Illumianted ที่ย้ายโลหะมาไว้ด้านหลังของเซนเซอร์ทำให้รับแสงได้ดีขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งจะเห็นผลมากเมื่อถ่ายในที่แสงน้อย อย่างตอนกลางคืนเป็นต้น ซึ่งภาพที่ได้จะเหนือกว่าเซนเซอร์กล้องที่ไม่มี BSI อย่างแน่นอน

อีกหนึ่งในเทคโนโลยีที่เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นก็คือ OIS หรือ Optical Image Stabilization ที่ช่วยป้องกันภาพสั่น ซึ่งจะทำให้ทั้งภาพและวีดีโอที่บันทึกนั้นมีความนิ่งและชัดขึ้น สำหรับบนมือถือนั้นส่วนใหญ่จะเป็นการตรวจจับด้วยซอฟแวร์หรือที่เรียกว่า Digital Image Stabilization ซึ่งเป็นการตัดขอบส่วนเกินจากวีดีโอที่สั่นออกไปทำให้วีดีโอนั้นดูนิ่งมากขึ้น แต่ก็มีมือถือบางรุ่นนั้นใช้ Gyroscope เพื่อตรวจจับการสั่นไหวและเคลื่อนไหวเลนส์เพื่อชดเชยกับการสั่นแทน ซึ่งส่วนมากแล้วการกันสั่นด้วยฮาร์ดแวร์จะเห็นผลดีกว่าแบบซอฟแวร์

 

NFC

Sony-QX10_life5

NFC หรือ Near Field Communication นั้นเป็นเทคโนโลยีที่พึ่งได้รับความนิยมมาไม่นานนี้ การทำงานของมันนั้นไม่ต่างกับ Bluetooth ที่สามารถเชื่อมต่อหรือแพร์เข้ากับอุปกรณ์ที่ต้องการได้ แต่การเชื่อมต่อแบบ NFC นั้นมีความสะดวกมากกว่า Bluetooth เนื่องจากมีความเร็วในการเชื่อมต่อที่ดีกว่าและไม่จำเป็นต้องเลือกเครื่องที่ต้องการแพร์ผ่านทางมือถือเหมือนกับ Bluetooth ซึง NFC จะสามารถนำบริเวณด้านหลังของมือถือนั้นไปแตะกับอุปกรณ์ที่ต้องการจะเชื่อมต่อด้วยเพียงแค่นั้นก็ถือว่าสำเร็จแล้ว

ในตอนนี้ NFC ส่วนใหญ่จะสนับสนุนกับมือถือในระดับไฮเอนด์เป็นส่วนมาก ส่วนอุปกรณ์ที่รองรับการใช้งานนั้นถือว่าน่าสนใจและมีมากขึ้นเรื่อยๆ จากความสะดวกในการใช้งานที่ดีกว่า Bluetooth ในตอนนี้ก็มีเช่น ลำโพง หูฟัง สมอล์ทอล์ก รวมไปถึงเลนส์กล้องแยกของ Sony อย่าง QX10 หรือ QX100 ก็ใช้การเชื่อมต่อผ่าน NFC ด้วยเช่นกันครับ

 

USB OTG

usb_adaptor-2_610x435

USB OTG นั้นเป็นหนึ่งในฟีเจอร์ที่ได้รับความนิยมในช่วงหลังๆ ที่มีอุปกรณ์เสริมที่เชื่อมต่อด้วยพอร์ท USB กับกับมือถือมากขึ้น แต่การใช้งานนั้น ก่อนอื่นจำเป็นต้องมีสาย USB OTG ก่อน ซึ่งลักษณะของสายนั้นจะมีลักษณะที่แปลงจากพอร์ท microUSB ของมือถือให้กลายเป็นพอร์ท USB แบบใหญ่ที่เราใช้งานกันบนพีซี จากนั้นก็จะสามารถนำอุปกรณ์ที่ใช้พอร์ท USB มาเสียบและใช้งานได้เลยทันที แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแอพลิเคชันด้วยว่ารองรับหรือไม่ อย่างเช่นเกมแพด แต่ถ้าเป็น Flash Drive, External Harddisk หรือ Keyboard ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรครับ

ที่สำคัญนั้นคือไม่ใช่มือถือทุกรุ่นที่สามารถใช้งาน USB OTG ได้ แต่มือถือนั้นส่วนใหญ่จะรองรับอยู่แล้วโดยเฉพาะรุ่นที่เป็นที่รู้จักันในท้องตลาดอย่าง Samsung Galaxy S4, S3, S2, Galaxy Note 3, 2, Galaxy Nexus, LG G2, Optimus G, HTC One, Huawei Ascend D และอีกหลายรุ่น ซึ่งถ้าอยากรู้ว่าสามารถใช้งานได้หรือไม่นั้นสามารถหาข้อมูลด้วยชื่อรุ่นมือถือตามด้วย USB OTG ก็น่าจะได้ข้อมูลเพิ่มเติมครับ

 

สิ่งอื่นๆ ที่ควรนึกถึงในการซื้อมือถือ

htc

มุมมองสำหรับคนเลือกซื้อมือถือนั้นคงไม่ได้มีแต่เพียงสเปคหรือต้องเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดเท่านั้น เพราะแต่ละคนนั้นก็มีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน อย่างเรื่องความสวยงาม ความชื่นชอบในแบรนด์เป็นการส่วนตัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีอะไรกำหนดตายตัวว่าซื้อรุ่นนั้นดีกว่ารุ่นนี้ คนซื้อรุ่นนี้ผิด ถ้าเรารู้ว่าต้องการอะไรและรู้ว่าซื้อเพราะอะไรถึงซื้อรุ่นนี้ ซึ่งด้านล่างนี้เป็นเพียงมุมมองของผมที่คิดว่าควรที่จะลองคิดพิจารณาสักนิดก่อนซื้อมือถือครับ

1. ราคา เรื่องของราคานั้นเป็นปัจจัยที่สุดแสนจะคลาสสิค (อาจจะออกแนวสำคัญที่สุดด้วยซ้ำสำหรับบางคน) สำหรับผมแล้ว เรื่องของราคาสามารถกรองเครื่องที่เราจะซื้อต่อไปได้สะดวกยิ่งขึ้นเพราะตัดตัวเลือกออกไปได้มาก ซึ่งจากนั้นค่อยไปคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ที่เราอยากได้ต่อไป ถ้าเรายังไม่รู้ว่าอยากได้อะไรก็ลองลดตัวเลือกลงด้วยเรื่องราคาได้ครับ

2. เครื่องนอกหรือเครื่องศูนย์ คนที่เปลี่ยนเครื่องบ่อยนั้นการเล่นเครื่องนอกอาจจะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจเพราะว่าเครื่องนอกนั้นมักจะมีราคาตกลงค่อนข้างเร็วและมีเครื่องใหม่ๆ ทียังไม่ขายผ่านศูนย์ไทยเสียมาก จึงเหมาะกับคนที่ชอบเล่นของอะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา แต่การซื้อเครื่องนอกนั้นก็มักจะมีปัญหาในเรื่องของประกันซึ่งส่วนใหญ่เป็นประกันร้าน และเมื่อเครื่องมีปัญหานั้นก็ต้องเปลี่ยนข้ามประเทศกันเลย ซึ่งก็ถือว่ามีความเสี่ยงพอสมควรเหมือนกัน

3. ความสม่ำเสมอในการอัพเดท สำหรับคนที่อยากให้มือถือตัวเองทันสมัยอยู่ตลอดเวลา การเลือกแบรนด์ที่หมั่นออกตัวอัพเดทใหม่ๆ ให้กับมือถือตัวเดิมของตนก็ถือเป็นเรื่องที่ควรจะทำ นอกจากการเลือกแบรนด์แล้ว ระดับมือถือที่ตัวเองเลือกนั้นก็มีผลต่อการอัพเดทเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมือถือระดับกลางและสูงนั้นจะได้รับอัพเดทมากกว่ามือถือระดับเริ่มต้นที่ราคาไม่เกินหมื่นบาทที่มักจะมีข้อจำกัดเรื่องฮาร์ดแวร์ที่ไม่รองรับตัวอัพเดทในอนาคต หรือถ้าคำนึงถึงเรื่องนี้มากๆ อาจจะเลือกมือถือตระกูล Nexus ไปเลยก็ได้ครับ

4. ศูนย์บริการ ศูนย์บริการบางครั้งนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องที่สำคัญสำหรับบางคน แต่สำหรับบางคนนั้นเป็นการสร้างความมั่นใจว่าตนเองนั้นจะได้รับการบริการและความช่วยเหลือเป็นอย่างดีเมื่อมือถือที่ตัวเองซื้อไปเมื่อเกิดปัญหา ซึ่งข้อมูลส่วนนี้สามารถหาอ่านได้จากเว็บบอร์ดหรือแลกเปลี่ยนกันสำหรับผู้ที่เคยใช้งานศูนย์บริการของแบรนด์นั้นไปก่อนหน้าแล้ว

5. ความชอบส่วนตัว การซื้อมือถือซักเครื่องนั้นบางทีถ้าเราไม่ได้คำนึงถึงเรื่องสเปคเพียงอย่างเดียว ถ้าเราชอบในดีไซน์หรือแบรนด์นั้นเป็นการส่วนตัวแล้ว ก็อาจจะไม่ต้องคิดอะไรมากนักให้ยืดยาว ซึ่งต่างกับคนที่ซื้อแล้วต้องการความคุ้มค่าเน้นใช้งานระยะยาวที่อาจจะต้องพิจารณาในเรื่องของสเปคหรือตัวอัพเดทเพิ่มเติมครับ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก