ด้านใครที่กำลังตามข่าวแท็บเล็ตเด็กเพื่อการศึกษาของอดีตรัฐบาลอยู่ ก็น่าจะพอทราบถึงปัญหาที่ผ่านมาของโครงการกันมาบ้างไม่มากก็น้อย ที่เห็นได้ชัดเลยก็คือคุณภาพของตัวเครื่่อง เนื้อหา รวมถึงกระบวนการจัดการตัวเครื่องที่ขาดการดูแลเอาใจใส่อย่างจริงจังจากหลายภาคส่วน ทำให้โครงการจัดซื้อแท็บเล็ตในปีนี้ถูกจับตามองเป็นอย่างมากว่าจะเดินต่อไปอย่างไร โดยเฉพาะหลังช่วงรัฐประหารโดย คสช.
และในที่สุด ผลก็ออกมาแล้วครับ เมื่อ พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะรองหัวหน้า คสช. กำกับดูแลฝ่ายสังคมจิตวิทยา ได้มีมติยุติแผนจัดซื้อแท็บเล็ตในโครงการ 1 คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ต่อ 1 นักเรียน?ทั้งในโซน 4 ประจำปีงบประมาณ 2556 (เหลืออยู่โซนเดียวที่ยังไม่มีการจัดซื้อ) รวมไปถึงยุติโครงการจัดซื้อทั้งหมดทุกโซนประจำปีงบประมาณ 2557 ที่กำลังจะมีการจัดซื้อกันในเร็วๆ นี้ด้วย โดยให้เหตุผลหลัก 4 ข้อ ได้แก่
- นักเรียนทุกคนไม่จำเป็นที่ต้องได้รับแจกแท็บเล็ตเป็นของตัวเอง เพราะใช้เรียนแค่ 1-2 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น ซึ่งอาจใช้งานหมุนเวียนกับนักเรียนทุกๆ คน ทุกๆ ชั้นในโรงเรียน จึงไม่คุ้มค่า ไม่เหมาะสมที่จะจัดซื้อให้นักเรียนทุกคน
- แท็บเล็ตไม่เหมาะ-ไม่ควรที่นำมาใช้สอนตลอดเวลา ควรใช้เป็นเครื่องในการเรียนบางชั่วโมง และเด็กๆ ควรเรียนรู้จากครูผู้สอน
- แท็บเล็ตมีขนาดหน้าจอเล็ก ทำให้นักเรียนมีปัญหาด้านสายตา เนื่องด้วยเป็นเครื่องแท็บเล็ตราคาถูก อายุการใช้งานสั้นแค่ 3 ปี การซ่อมบำรุงไม่คุ้มค่าเมื่อต้องซ่อมแซม (ความเห็นส่วนตัว: จอมันไม่ดีถ้าต้องใช้งานติดต่อกันนานๆ จริงๆ ?ครับ)
- แท็บเล็ตเป็นครุภัณฑ์ของโรงเรียน ไม่เหมาสมที่จะนำไปมอบให้นักเรียนเป็นของส่วนตัวได้ รวมถึงคณะกรรมการว่าด้วยพัสดุกรมบัญชีกลางก็แจ้งว่าไม่สามารถมอบแท็บเล็ตให้เด็กได้
ส่วนงบประมาณที่เหลือจากการจัดซื้อโซนที่ 4 จำนวน 1,170 ล้านบาท กับงบประจำปี 2557 อีก 5,800 ล้านบาท ก็ให้ยกไปทำด้านอื่นที่มีประโยชน์ต่อการศึกษาแทน นอกจากนี้ยังจะมีการตรวจสอบการจัดซื้อแท็บเล็ตในโครงการย้อนหลังไปถึงปี 2555 อีกด้วย
ที่มา: PostToday