หลังจาก Lenovo ได้จัดงานเปิดตัวสมาร์ทโฟนของตนในไทยไปแล้วเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา (ข่าวเก่า) ซึ่งในการบุกตลาดไทยครั้งนี้ ทาง Lenovo เองนั้นเรียกได้ว่าจัดเต็มสำหรับตลาดทุกกลุ่ม ด้วยสมาร์ทโฟนหลากหลายช่วงราคาให้เลือก เริ่มตั้งแต่รุ่นราคาไม่ถึง 3,000 บาท ไปจนถึงรุ่นท็อปที่ราคาไม่ถึง 17,000 บาท ซึ่งในบทความรีวิวนี้ เราได้นำรุ่นเล็กสุดมาให้ได้ชมกันก่อน กับ Lenovo A390 ที่น่าจะโดนใจหลายๆ คนไม่ยากนัก
ตัวของ Lenovo A390 นั้น ถูกออกแบบมาเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นเล็กสุด (ในไลน์ที่นำเข้ามาขายในไทย) โดยมุ่งไปที่กลุ่มเป้าหมายคือผู้ที่อยากเริ่มใช้งานสมาร์ทโฟนหรืออยากหาเครื่องสำรองที่ดีกว่าฟีเจอร์โฟน ด้วยราคาค่าตัวเพียง 2,990 บาท แต่สเปคนั้นจัดว่าเกินตัวมากๆ ทีเดียวครับ
สเปค Lenovo A390
- ชิปประมวลผล MediaTek MT6577 (Cortex-A9) Dual-core ความเร็ว 1 GHz มาพร้อมชิปกราฟิก PowerVR SGX531
- RAM 512 MB
- หน้าจอขนาด 4 นิ้ว ความละเอียด 800 x 480
- พื้นที่เก็บข้อมูลภายใน (ROM) 4 GB รองรับ microSD ได้สูงสุด 32 GB
- ใช้งานได้ 2 ซิม (3G+2G กับ 2G)
- รองรับ 3G ความถี่ 2100 MHz เท่านั้น
- กล้องหลังความละเอียด 5 MP ไม่มีกล้องหน้า
- มี GPS
- แบตเตอรี่ความจุ 1500 mAh
- น้ำหนัก 131 กรัม
- มีวิทยุ FM
- มาพร้อม Android 4.0
- ราคา 2,990 บาท
- สเปค Lenovo A390 เต็มๆ
ถ้าดูจากสเปคแล้ว เรียกได้ว่าจัดเต็มมากๆ กับราคา 2,990 บาทที่สามารถตีตลาดฟีเจอร์โฟนได้สบายๆ แถมยังสู้กับสมาร์ทโฟนช่วงราคาเดียวกันได้อย่างไม่มีปัญหา เพราะถ้าดูจากในตลาด พบว่ามือถือที่ราคาไม่ถึง 3,000 บาท มักจะมาพร้อมกับชิปประมวลผลแบบ single core เท่านั้น ความละเอียดหน้าจอก็น้อยกว่า แถมตัว A390 ยังจัดเป็นมือถือมีแบรนด์ (จนบางครั้งผมยังคิดเลยว่า Lenovo ตั้งราคามาถูกไปหรือเปล่า)
ตัวเครื่อง Lenovo A390 น้ันใช้วัสดุหลักเป็นพลาสติก แต่ส่วนหน้าของเครื่องใช้เป็นแผ่นกระจกปิดทั้งหน้าเช่นเดียวกับสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ตัวกระจกเองสะท้อนแสงพอสมควร แต่ก็ไม่ลำบากกับการใช้งานกลางแจ้งมากนัก สีสันของจอสวยงามสดใส ภาพไม่แตก ส่วนหนึ่งก็เพราะความละเอียดจอ 800 x 480 บนหน้าจอขนาด 4 นิ้ว ซึ่งทำให้ภาพบนจอดูละเอียดสวยงามสีสันสดใส เป็นหนึ่งในสมาร์ทโฟนรุ่นเล็กที่จอมีคุณภาพดีสำหรับช่วงราคานี้เลยครับ
แต่ก็ยังมีจุดที่ขาดไปอยู่ นั่นคือ Lenovo A390 ไม่มีเซ็นเซอร์วัดแสง ทำให้ไม่มีระบบปรับความสว่างจออัตโนมัติ ซึ่งจุดนี้ใครที่ต้องใช้งานเครื่องสลับกันระหว่างที่ร่มและกลางแจ้งอาจจะลำบากเรื่องการปรับความสว่างจอพอสมควรทีเดียว โดยในระหว่างที่ทำการรีวิว Lenovo A390 เครื่องนี้สลับกันระหว่างในที่ร่มและกลางแจ้งแดดจัดๆ ก็ค่อนข้างลำบากพอสมควรทีเดียวที่ต้องคอยปรับความสว่างจอให้เหมาะสมกับการใช้งานจริง
ถัดลงมาดูด้านล่างจอกันบ้าง แถบปุ่มกดสั่งงานนั้นใช้เป็นแบบ capacitive ที่แยกออกมาจากจอภาพ ตัวปุ่มจะมีไฟสว่างขึ้นมาเล็กน้อย ช่วยให้สังเกตเห็นปุ่มได้ง่าย โดยปุ่มที่มีก็คือปุ่มเมนู,? โฮมและปุ่ม back
ส่วนอินเตอร์เฟสนั้น ใช้เป็นของ Lenovo เองที่มีชื่อว่า IdeaDesktop ซึ่งมีจุดเด่นคือวิดเจ็ตที่หน้าตาคล้ายดอกไม้ (ภาพบน) ในแต่ละส่วนจะมีไอคอนแอพหลักๆ อยู่ โดยผู้ใช้สามารถเปลี่ยนเอาแอพที่ต้องการมาวางแทนได้ ความลื่นไหลโดยรวมก็จัดว่าโอเคครับ จากที่พบในการรีวิว Lenovo A390 เครื่องนี้ คืออาจจะมีอาการหน่วงๆ บ้างตอนเปิดหน้ารวมแอพ (App Drawer) แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่นัก เพราะสมาร์ทโฟน Android หลายๆ รุ่นก็เป็นเหมือนกัน ไล่ตั้งแต่รุ่นเล็กขึ้นไปถึงรุ่นท็อปๆ เลย
ฝาหลังของ Lenovo A390 ใช้วัสดุเป็นพลาสติกสีดำที่ไม่ถึงกับดำสนิทนัก ผิวสัมผัสลื่นเล็กน้อย แต่ไม่เปื้อนรอยนิ้วมือ สามารถทำความสะอาดได้ง่าย แถมยังมีข้อดีคือมันแข็งแรงและเนื้อหนามากครับ ถ้าให้นับโดยรวมแล้ว จัดว่าเป็น Lenovo A390 สมาร์ทโฟนที่งานประกอบในเกณฑ์ดีเลยล่ะ ตัวเครื่องจับถนัดมือพอดีๆ ไม่ใหญ่ไม่เล็กเกินไป
กล้องหลังความละเอียด 5 MP ถูกติดตั้งอยู่ส่วนบนของเครื่อง นูนขึ้นมาจากฝาหลังเล็กน้อย มีขอบโลหะที่ทำหน้าที่ป้องกันขอบกระจก รวมถึงเพิ่มความสวยงามติดตั้งอยู่ แต่ทั้งนี้ กล้องของ Lenovo A390 จะเป็นแบบ Fixed Focus คือไม่สามารถเลือกจุดโฟกัสได้เลย ภาพถ่ายที่ออกมาจะไม่มีจุดชัดตื้นนะครับ เหมาะสำหรับการถ่ายรูปเก็บภาพทั่วไปที่ไม่เน้นจุดใดจุดหนึ่งเป็นพิเศษ ซึ่งในช่วงท้ายของรีวิว Lenovo A390 นี้ ก็จะมีตัวอย่างภาพถ่ายมาให้ชมกันด้วย
ส่วนด้านล่างก็มีช่องลำโพงอยู่ ตรงกึ่งกลางระหว่างช่องลำโพงนั้นจะเป็นจุดนูนขึ้นมาเล็กๆ จุดประสงค์ก็เพื่อเปิดให้มีช่องว่างระหว่างพื้นที่วางเครื่องกับช่องลำโพง เพื่อเสียงจะได้ไม่ถูกพื้นกั้นไปหมด ซึ่งจุดนี้พบว่าเริ่มถูกละเลยไปจากสมาร์ทโฟนหลายๆ รุ่นในปัจจุบัน ที่วางช่องลำโพงไว้ตรงฝาหลัง ทำให้เกิดปัญหาพื้นกั้นเสียงลำโพงซะหมด นับว่า Lenovo ออกแบบตรงนี้มาได้ดีครับ แม้อาจจะช่วยแก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็ยังดีกว่าปล่อยให้มันราบเรียบไปเลย
ลองแกะฝาหลังออกมาบ้าง โดยจะมีจุดที่ออกแบบมาให้แงะฝาหลังออกมาอยู่ตรงบริเวณฝั่งซ้ายของช่องลำโพงครับ การแกะต้องใช้แรงพอสมควรทีเดียว เพราะมันล็อกไว้ค่อนข้างแน่นหนามาก
เมื่อแกะออกมาแล้วก็จะพบกับแบตเตอรี่ความจุ 1500 mAh แบบที่สามารถถอดเปลี่ยนได้เอง
ส่วนด้านบนไล่จากซ้ายสุดจะเป็นช่องใส่ microSD, ช่องใส่ซิม 1 และช่องใส่ซิม 2 ซึ่งซิมที่ใช้นั้นเป็นซิมการ์ดขนาดเต็ม (หรือที่มีชื่อเรียกจริงๆ คือ Mini SIM) ทั้งสองช่อง แต่ในภาพนั้นผมใส่เป็นไมโครซิมนะครับ ที่สามารถใช้งานได้เหมือนกัน เพียงแต่ต้องใส่เข้าไปให้ขั้วทองแดงแต่ละเส้นแตะกับแผงทองแดงบนซิมเราให้ถูกต้องแค่นั้นเอง โดยซิมที่ผมใส่ใช้งานระหว่างทดสอบและรีวิว Lenovo A390 นั้นเป็นของเครือข่าย Taiwan Mobile ในไต้หวันที่ใช้งาน 3G บนคลื่นความถี่ 2100 MHz อยู่แล้ว จึงสามารถใช้งาน 3G ได้อย่างไม่มีปัญหา ส่วนในไทยนั้นก็เริ่มมีบางค่ายเปิดให้ใช้งานเป็นบางพื้นที่แล้ว (ยกเว้นพวก TOT MMO เช่น i-mobile 3GX ที่เปิดมานานแล้ว)
ซึ่งถ้าเปิดให้ใช้งาน 3G 2100 MHz เต็มรูปแบบเมื่อไร Lenovo A390 ก็พร้อมที่จะใช้งานได้เต็มศักยภาพของมันเมื่อนั้นครับ ตอนนี้ซื้อมาก็อาจจะใช้งานได้แค่ EDGE เป็นหลัก
ด้านบนของ Lenovo A390 มีปุ่ม Power, ช่อง Micro USB, และช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร ซึ่งจากเท่าที่รีวิว Lenovo A390 มา ส่วนตัวคิดว่าออกแบบมาได้เหมาะสำหรับการใช้งานจริงดีครับ เพราะจะช่วยให้ส่วนที่เป็นสายเชื่อมต่อมาอยู่ด้านเดียวของตัวเครื่องทั้งหมด สามารถเสียบหูฟังฟังเพลงและเสียบสายชาร์จพร้อมกัน แล้วใส่ในกระเป๋ากางเกงได้อย่างสบายๆ ไม่ต้องกลัวสายพับงอ ที่อาจจะเสี่ยงให้สายหักในได้
ส่วนด้านข้างของ Lenovo A390 มีแต่เพียงด้านขวาที่มีปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงเท่านั้น โดยอยู่ในตำแหน่งที่สามารถใช้นิ้วหัวแม่มือกดได้สะดวก (จากภาพในรีวิว ฝาหลังเครื่องปิดไม่สนิทนะครับ)
ต่อไปเป็นภาพหน้าจอสำหรับรีวิว Lenovo A390 นะครับ
ชุดภาพข้างบนนี้ก็คือสกรีนช็อตหน้าจอต่างๆ ที่น่าสนใจในรีวิว Lenovo A390 ไม่ว่าจะเป็นส่วนลันเชอร์ IdeaDesktop รวมไปถึงคีย์บอร์ดที่ติดตั้งมาในเครื่อง ปิดท้ายด้วยผลการทดสอบประสิทธิภาพเล็กๆ น้อยๆ จากการรีวิว Lenovo A390 ของเรา โดยตัวการทดสอบพลังประมวลผลชุดคำสั่งจาก SunSpider พบว่าสามารถทำเวลาได้อยู่ในระดับกลางๆ ถ้าให้เทียบความแรง ก็อยู่ในระดับเดียวกับชิปประมวลผลที่อยู่ใน Lumia 620 ช้ากว่า Galaxy S III เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าชิปประมวลผลจาก MediaTek ในช่วงหลังๆ มานี้ก็มีความแรงในระดับที่น่าพอใจเลยทีเดียว โดยในด้านการใช้งาน ในช่วงที่รีวิว Lenovo A390 นั้น การใช้งานทั่วไปก็จัดในระดับที่ไหลลื่นพอประมาณ มีอาการหน่วงๆ บ้าง เช่นเวลาเปิดหน้ารวมแอพทั้งหมด หรือใช้งานแอพที่โหลดเครื่องหนักๆ แต่ถ้าใช้ Facebook, แชท, คุย LINE นั้นสามารถทำได้อย่างสบายๆ
แต่การทดสอบด้วย GFXBench (ชื่อเดิมคือ GLBenchmark) ปรากฎว่าสามารถทดสอบได้แค่ GFXBench 2.5 Onscreen เท่านั้น เนื่องด้วยแรมกราฟิกไม่เพียงพอ แต่ถ้าเทียบจากชิปกราฟิกที่เป็น PowerVR SGX531 นั้น ก็พอที่จะเล่นเกมได้อยู่ ส่วนเรื่องการใช้งานทั่วไปนั้นหายห่วงครับ
คราวนี้มาดูตัวอย่างภาพถ่ายสำหรับรีวิว Lenovo A390 กันบ้าง
จากภาพที่ได้ออกมา พบว่าส่วนที่เป็นสีดำก็จะดำสนิทจนถึงขั้นดำเกินไป และแทบไม่เห็นรายละเอียดของจุดนั้นๆ เลย ดังนั้นจึงน่าจะเหมาะกับการถ่ายภาพในที่มีแสงสว่างมากพอ เช่นกลางแจ้ง เพราะให้สีโทนภาพและการชดเชยความสว่างที่ค่อนข้างดี (ทุกภาพที่ถ่ายมาใช้เป็นแบบ Auto ทั้งหมด)
สรุปปิดท้ายรีวิว Lenovo A390
จากรีวิว Lenovo A390 นั้น ตัวของ Lenovo A390 จะจัดให้เป็นสมาร์ทโฟนที่คุ้มค่าที่สุดเครื่องหนึ่งในเวลานี้ก็คงจะไม่ผิดนัก ด้วยช่วงราคาที่สามารถตีตลาดฟีเจอร์โฟนได้ ทั้งยังมีราคาต่ำกว่าสมาร์ทโฟนรุ่นเริ่มต้นของหลายแบรนด์ในตลาด แต่สเปคและการทำงานโดยรวมนั้น แซงหน้าคู่แข่งหลายรุ่นไปได้อย่างสบายๆ เหมาะกับผู้ที่ต้องการเริ่มใช้งานสมาร์ทโฟนเครื่องแรก รวมไปถึงผู้ที่มองหาสมาร์ทโฟนราคาย่อมเยามาใช้งาน ไม่ว่าจะใช้เป็นเครื่องหลักหรือเครื่องรองก็ได้ทั้งสิ้นครับ
ส่วนเรื่องการวางจำหน่ายนั้น หลักๆ แล้วจะสามารถหาซื้อได้จากร้านขายมือถือไม่ว่าจะเป็น TGFone, Jaymart และตามร้านตัวแทนจำหน่ายของ Lenovo ซึ่งจะขยายช่องทางการจำหน่ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้สามารถหาซื้อได้ง่ายและทั่วถึงที่สุดในอนาคต
ข้อดี
- ราคาย่อมเยา สเปคแรงพอตัว ใช้งานได้สบายๆ
- ใช้งานได้ 2 ซิม
- เป็นหนึ่งในสมาร์ทโฟนรุ่นที่คุ้มที่สุดในช่วงราคาไม่เกิน 5,000 บาท
- งานประกอบดี ตัวเครื่องแข็งแรง
ข้อสังเกต
- ใช้งานได้เฉพาะ 3G ความถี่ 2100 MHz เท่านั้น (แต่ต่อไปคงไม่เป็นปัญหา เมื่อทุกเครือข่ายเปิดใช้งาน 3G 2100 เต็มตัว)
- ไม่มีระบบปรับแสงสว่างจออัตโนมัติ
ขอจบรีวิว Lenovo A390 แค่นี้นะครับ ^^