ในบทความนี้ จะเป็นการยกเอาบทความ Hands-on จากในงานเปิดตัว HTC One รอบสื่อมวลชนมา แล้วก็เพิ่มส่วนของรีวิวลงไปนะครับ เนื่องจากในบทความเก่านั้น มีการลงรายละเอียดที่น่าสนใจเอาไว้ค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะในส่วนของซอฟต์แวร์ ทางเราจึงจับมารวมกัน กลายเป็นรีวิว HTC One ขึ้นมา เพื่อผู้อ่านจะได้รับข้อมูลทั้งหมดได้ภายในบทความเดียวเลย
เริ่มต้นด้วยการพูดถึงวิวัฒนาการของสมาร์ทโฟนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่ผ่านมากว่า 10 ปีก่อนเลย
สิ่งแรกเกี่ยวกับ HTC One ที่มีการนำเสนอ ก็คือฟีเจอร์ใหม่ที่เรียกว่า BlinkFeed ซึ่งเป็นหน้าโฮมสกรีนแบบใหม่ที่มีมิติมากขึ้น สามารถสื่อสารกับผู้ใช้งานได้ดีกว่าเดิม ด้วยการแสดงฟีดข่าว, ตารางนัดหมาย รวมไปถึงข้อมูลต่างๆ บน social network มาจัดเรียงให้ผู้ใช้งานสามารถรับข่าวสารได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องเปิดแอพพลิเคชันแยกแต่ละตัวเลยก็ยังได้
โดยเนื้อหาที่แสดงนั้น จะใช้การโหลดเนื้อหาตัวเต็มจากอินเตอร์เน็ตมาแสดง ทำให้สามารถใช้งานได้แทบจะตลอดเวลา แต่สำหรับใครที่อยากใช้งานหน้าโฮมสกรีนแบบเดิมๆ ก็สามารถใช้งานได้อยู่เช่นเดิม โดยให้ swipe จากขอบจอด้านขวาเข้ามาตรงกลางจอเท่านั้นเอง ตัวอย่างตามภาพการใช้งานและสกรีนช็อตด้านล่าง
มาถึงจุดไฮไลท์ของ HTC One แล้วครับ คือเรื่องเทคโนโลยีกล้องนั่นเอง
ส่วนที่สองซึ่งเป็นไฮไลท์ที่สุดตัวหนึ่งใน HTC One ก็คือเรื่องฮาร์ดแวร์กล้องที่ HTC ปฏิวัติวงการสมาร์ทโฟน ด้วยการนำเสนอ ?กล้องที่เน้นคุณภาพมากกว่าจำนวนพิกเซล? โดยการใช้เซ็นเซอร์รับภาพขนาด 1/3? แต่มีความพิเศษอยู่ที่เม็ดพิกเซลบนเซ็นเซอร์ ทำให้ตัวชุดเซ็นเซอร์ของ HTC One มาในชื่อที่เรียกว่า UltraPixel
ตัวเม็ดพิกเซลของ UltraPixel จะมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม โดยมีขนาดถึง 2 x 2 ไมโครเมตร2 เทียบกับ iPhone 5 และ Nokia Lumia 920 ที่มีขนาดเพียง 1.4 x 1.4 ไมโครเมตร2 เท่านั้น แถมยังใหญ่กว่ากล้องคอมแพ็คระดับไฮเอนด์หลายๆ รุ่นอีกต่างหาก ซึ่งเม็ดพิกเซลที่ใหญ่ ส่งผลให้สามารถรับแสงและสีได้มากกว่าเม็ดพิกเซลขนาดทั่วๆ ไปถึง 300% แต่ก็เนื่องด้วยขนาดของเม็ดพิกเซลที่ใหญ่ขึ้น ทำให้บนเซ็นเซอร์สามารถบรรจุเม็ดพิกเซลได้น้อยลง ทำให้ความละเอียดของภาพสูงสุดที่ HTC One สามารถถ่ายได้จะอยู่แค่เพียง 4 MP เท่านั้น แต่ก็นับว่าเป็น 4 MP ที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับกล้องมือถือความละเอียด 8 MP หรือ 13 MP หลายๆ ตัวในตลาดได้เลย ซึ่งในช่วงท้ายของบทความนี้จะมีตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้อง HTC One มาให้ชมด้วยครับ
นอกจากเรื่อง UltraPixel แล้ว จุดที่น่าสนใจในระบบกล้องเรื่องอื่นๆ ก็เช่น
- กล้องหลัง f/2.0
- กล้องหน้าใช้เลนส์มุมกว้าง 88 องศา
- มาพร้อมระบบป้องกันการสั่นไหว 3D OIS
- ถ่ายภาพรัว (burst) ได้ความเร็ว 8 ภาพต่อวินาที
- ถ่ายวิดีโอในโหมด HDR ได้
- ถ่ายวิดีโอความคมชัดระดับ HD ได้ 60 fps (1080p ได้ 30 fps)
- มี effect สำหรับแต่งภาพเพิ่มมา 7 แบบ เช่น ทำ big-eye, ดัดแปลงรูปทรง (ตัวอย่างเช่นการเหลาคางให้เรียวแหลมขึ้น), เอา object ส่วนเกินในภาพออก
โดยการแชร์ภาพนั้นจะเป็นระบบที่ให้ผู้ใช้ทำการเลือกก่อนว่าจะแชร์ไปที่ไหน จากนั้นถึงจะเป็นการเลือกรูปที่อยากแชร์ ซึ่งนอกเหนือจากการแชร์ไปยัง Facebook, Twitter และอีเมลแล้ว ยังมีระบบการแชร์ของ HTC เองที่มีชื่อว่า HTC Share ที่จัดระบบเป็นแบบ Collection เพื่อให้ง่ายต่อการเรียกดูรูปภาพ จากนั้นจึงทำการแชร์ลิงค์ HTC Share ไปยัง Social Network หรือเข้าอีเมลเพื่อให้ผู้อื่นสามารถคลิกลิ้งค์เข้าไปดูภาพได้ ตามสกรีนช็อตด้านล่างนี้
หน้าตาของ HTC Share ครับ
ส่วนตัวอย่างของการแต่งภาพด้วยเอฟเฟ็คท์ที่มีใน HTC One ก็เช่นการแต่งหน้าให้เรียวขึ้น ตามภาพด้านล่างนี้
ด้านของแอพพลิเคชันที่มาเสริมการใช้งานทั้งด้านกล้องและด้านการใช้งานทั่วไปก็คือ HTC Zoe (อ่านว่า โซ-อี้) ที่เข้ามาผนวกเป็นส่วนหนึ่งของ Gallery ภายในเครื่อง โดยจะมีฟีเจอร์เด่นในการนำเสนอภาพถ่าย/วิดีโอ เช่นช่วยให้ผู้ใช้สามารถกดแค่ปุ่มเดียว ก็สามารถโชว์สไลด์ภาพ+วิดีโอในอัลบั้มทั้งหมดได้แบบอัตโนมัติ หรือจะเป็นการถ่ายภาพรัวๆ แล้วรวมเป็นคลิปความยาว 3 วินาทีเพื่อความบันเทิง หรือจะถ่ายภาพแบบ Sequence Shot ที่กล้องจะเก็บภาพไว้หลายๆ ช็อต แล้วให้ผู้ใช้ปรับแต่งได้ว่าจะเก็บช็อตไหนไว้ เพื่อนำไปสร้างเป็นภาพแสดงลำดับต่างๆ ของเหตุการณ์นั้นๆ (ตัวอย่างในภาพซ้ายล่างสุด)
เพื่อให้สมกับความเป็นสมาร์ทโฟนเพื่อการเอนเตอร์เทน นอกจากความสามารถเรื่องกล้องแล้ว เรื่องเสียงก็เป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน โดยใน HTC One จะใช้ชื่อเรียกเทคโนโลยีเสียงว่า Boom Sound ที่มีจุดเด่นคือลำโพงคู่ตรงด้านหน้า (บนและล่างสุดของเครื่อง) ทำให้เสียงที่ออกมาจากลำโพงทั้งดังและมีคุณภาพมากกว่าลำโพงในสมาร์ทโฟนทั่วๆ ไป นอกจากนี้ยังมาพร้อมกับระบบประมวลผลเสียงจาก Beats Audio อยู่เช่นเดิม ทำให้เสียงที่ได้จาก HTC One ไม่ว่าจะทั้งด้วยลำโพงหรือการใช้งานหูฟัง ให้ประสบการณ์การใช้งานที่ดีกับผู้ใช้ และตอบสนองด้านความบันเทิงได้ไม่แพ้กับชุดเครื่องเสียงเลยทีเดียว
จากเท่าที่ทดลองฟังเพลงจากลำโพง พบว่าเสียงที่ออกมานั้นดังดีมาก แม้เสียงรบกวนในห้องจะค่อนข้างดัง แต่ก็ยังได้ยินเพลงค่อนข้างชัดเจน แต่เนื้อเสียงยังไม่สามารถบอกได้ครับ เพราะเสียงรบกวนขณะทดสอบค่อนข้างดัง ส่วนการใช้หูฟังนั้น ให้เสียงที่ถ่ายทอดออกมาดีเยี่ยม ต่างจากสมาร์ทโฟนหลายๆ รุ่นที่ผมเคยลอง ทั้งเรื่องของไดนามิกเสียง เบส และสเตจ โดยรวมจัดว่าเหมาะกับการใช้ฟังเพลงเลยทีเดียว
ส่วนด้านล่างนี้เป็นสไลด์เรื่องตัวเครื่องนะครับ ซึ่งจะขอยกไปกล่าวถึงในการบรรยายตัวเครื่องดีกว่า
HTC One จะมีสองสีให้เลือก คือสีเงินกับสีดำ โดยมีความจุให้เลือกคือ 32 และ 64 GB ส่วนสเปก HTC One คร่าวๆ มีดังนี้
- ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon 600 (APQ8064T) Quad-core ความเร็ว 1.7 GHz มาพร้อมชิปกราฟิก Adreno 320
- RAM 2 GB
- ความจุที่มีให้เลือกคือ 32 และ 64 GB
- หน้าจอ Super LCD 3 ขนาด 4.7 นิ้ว ความละเอียด 1920 x 1080 ใช้กระจกจอเป็น Gorilla Glass 2
- กล้องหลังเทคโนโลยี UltraPixel ความละเอียด 4 MP
- กล้องหน้าความละเอียด 2.1 MP
- แบตเตอรี่ li-polymer ความจุ 2300 mAh
- น้ำหนัก 143 กรัม
- ใช้งาน 3G ได้ทุกเครือข่าย และรองรับ 4G LTE ด้วย
- ราคา 21,900 บาท
- สเปก HTC One แบบเต็มๆ
ตัวเครื่องของ HTC One นั้นใช้วัสดุหลักภายนอกเป็นอะลูมิเนียมทั้งหมด (ยกเว้นส่วนจอ) ทำให้ดูหรูหราและแข็งแรงซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของสมาร์ทโฟน HTC มานาน แม้ว่าดูจากด้านหน้าแล้วจะคล้ายคลึงกับสมาร์ทโฟนบางรุ่นในตลาดปัจจุบันอยู่บ้างก็ตาม
หน้าจอของ HTC One มีขนาด 4.7 นิ้ว ให้แสงสะท้อนออกมาจากจอค่อนข้างน้อย อยู่ในระดับที่น่าพอใจ ส่วนเรื่องของความคมชัดนั้นหายห่วงได้เลย เนื่องจากหน้าจอที่มีขนาด 4.7 นิ้ว ความละเอียดระดับ Full HD ส่งผลให้มีค่าความหนาแน่นของเม็ดพิกเซลสูงถึง 468 PPI สูงกว่า iPhone 5 จอ Retina Display ที่มีค่า PPI เพียง 326 PPI เท่านั้น โดยรวมถ้าให้จัดคุณภาพจอ ส่วนตัวผมว่า HTC One คือสมาร์ทโฟนที่จอสวยที่สุดตัวหนึ่งในตลาดขณะนี้ได้อย่างสบายๆ เลยครับ ทั้งเรื่องของความละเอียดสูง ขนาดจอพอดีๆ สีสันสดใสสมจริง ใครที่กำลังมองหามือถือตัวท็อปจอสวยๆ อยู่ ถ้าตามร้านใกล้บ้านมี HTC One ให้ลอง แนะนำว่าไปลองเล่นดูก่อนครับ น่าจะมีถูกใจกันบ้าง
ส่วนของปุ่มสำหรับใช้งาน HTC One นั้น ใช้เป็นปุ่มแบบสัมผัสแยกออกมาจากจอแสดงผล โดยเหลือแค่สองปุ่มคือปุ่ม Back กับปุ่มโฮมเท่านั้น ตัดปุ่ม Recent app ออก ซึ่งใครจะเปิดใช้งาน Recent app ให้กดปุ่มโฮมสองครั้งติดๆ ครับ และจุดที่ทำให้หลายคนสับสนก็คือโลโก้ HTC ที่เชื่อได้ว่าต้องมีหลายคนเผลอกดเพราะนึกว่าเป็นปุ่มอย่างแน่นอน โดยความจริงแล้ว ภายใต้โลโก้นั้น ก็มีเซ็นเซอร์รับการสัมผัสของผู้ใช้อยู่ แต่ทาง HTC ปิดการใช้งานเอาไว้ครับ
อีกจุดที่น่าสนใจคือเรื่องดีไซน์โดยรวม ไม่ว่าจะทั้งเนื้ออะลูมิเนียมที่มีความเรียบเนียน รวมไปถึงช่องลำโพงอย่างในภาพด้านบน จะเห็นว่ามีความใกล้เคียงกับใน MacBook มาก โดยเฉพาะผิวสัมผัสของอะลูมิเนียม ที่จับแล้วให้ความรู้สึกที่ใกล้เคียงกับ iPhone 5
มาดูฝาหลังของ HTC One แผ่นหลังทั้งหมดเป็นอะลูมิเนียมชิ้นเดียวตามโครงสร้างแบบ Unibody ที่ไร้รอยต่อ ทำให้สัมผัสของตัวเครื่องออกมานิ่มนวล ตัวเครื่องนูนขึ้นตรงกลางทำให้สามารถจับใช้งานได้ง่ายและรับกับอุ้งมือ ประกอบกับผิวอะลูมิเนียมที่ทำออกมาได้เป็นอย่างดี พูดตรงๆ ก็คือมันคล้ายกับ iPhone 5 หรือ MacBook มากทีเดียว ใครที่เคยใช้งานผลิตภัณฑ์ทั้งสองรุ่นดังกล่าวมาก่อน แล้วมาสัมผัส HTC One จะพบว่ามันใกล้เคียงกันมากๆ (แต่ไม่แน่ใจว่ารุ่นสีดำจะลอกเหมือน iPhone 5 หรือเปล่านะ)
ทั้งนี้ ฝาหลังของ HTC One ไม่สามารถถอดออกได้นะครับ ส่วนในรูปของเครื่องที่เราได้รับมารีวิว (พื้นหลังจะเป็นโซฟาสีน้ำตาล) ด้านหลังของเครื่องจะมีฟิล์มติดมา พื้นผิวเลยจะดูเป็นจุดๆ ขรุขระเล็กน้อยตามเนื้อฟิล์ม
ส่วนด้านข้างของ HTC One เริ่มจากด้านบนจะมีปุ่มเปิด/ปิด/ล็อกเครื่อง อยู่ ซึ่งปุ่มจะเป็นสีเงินๆ มีลักษณะนูนออกมาจากขอบเครื่องเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และเปลี่ยนมาอยู่ทางฝั่งซ้าย จากที่เคยวางไว้ตรงกลางใน HTC Butterfly ส่วนด้านล่างมีช่อง micro USB และไมค์รับเสียง ซึ่งตัวปุ่มจะนูนขึ้นจากขอบเครื่องแค่เล็กน้อยเท่านั้น ทำให้เวลาคลำนิ้วเพื่อจะกดปุ่มโดยไม่มองทำได้ลำบากพอสมควร ต้องอาศัยความเคยชินซักระยะหนึ่งจึงจะใช้งานได้คล่อง
คราวนี้มาดูด้านข้างกันบ้าง ฝั่งซ้ายมีถาดใส่ซิมการ์ดแบบไมโครซิม ส่วนด้านขวาจะมีปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงที่ทำออกมาในแบบใกล้เคียงกับ HTC Butterfly
ที่น่าสนใจอีกจุดก็คือความบางของตัว HTC One ที่บางสุดเพียง 4 มิลลิเมตร (หนาสุด 9.3 มิลลิเมตร) เท่านั้น ประกอบกับน้ำหนัก 143 กรัม ทำให้ขณะใช้งานจริงไม่ถือว่าหนักเท่าไร
ส่วนตรงขอบตัดรอบเครื่องนั้น จะมีการกลึงเนื้ออะลูมิเนียมลึกลงไป ทำให้มีความแวววาว ถ้านึกไม่ออก ก็นึกถึงใน iPhone 5 ก็ได้ครับ ลักษณะใกล้เคียงกัน แต่เป็น HTC One ที่ทำออกมาได้ดูประณีตกว่า มีการลบเหลี่ยมมุมที่คมๆ ออก ทำให้จับแล้วไม่สะดุดหรือบาดมือ จัดว่า HTC ดูแลงานผลิตและใส่ใจรายละเอียดได้ดีทีเดียว
ต่อมา เราลองมาเทียบ HTC One กับ iPhone 5 และ Nexus 4 กันบ้าง
ถ้าเทียบในเรื่องวัสดุระหว่าง HTC One สีเงินและ iPhone 5 สีเงิน/ขาว พบว่ามันน่าจะเป็นเนื้อชนิดเดียวกันเลย ต่างกันแค่ผิวของ HTC One จะออกหนืดกว่าเล็กน้อย
เทียบ HTC One กับ Nexus 4 บ้างครับ ด้วยหน้าจอขนาด 4.7 นิ้วเท่าๆ กัน ทั้งน้ำหนักก็ใกล้เคียงกันด้วย (Nexus 4 หนัก 139 กรัม)
ทีนี้มาดูในส่วนของซอฟต์แวร์กันบ้าง เนื่องด้วยใน HTC One มีการเปลี่ยนไปใช้ Sense เวอร์ชันใหม่ในชื่อว่า The new Sense (หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า Sense 5) โดยจุดที่เห็นการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดก็อย่างเช่นการเพิ่ม HTC BlinkFeed เข้ามาในตัว รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนหน้าแสดงไอคอนแอพ ที่ผู้ใช้สามารถสร้างโฟลเดอร์รวมแอพในหน้า App drawer ได้ ส่วนหน้าเมนูและแอพประจำเครื่องต่างๆ ยังคงใกล้เคียงกับ Sense เวอร์ชันปัจจุบันอยู่ ผู้ใช้จึงแทบไม่ต้องปรับตัวมากนัก ตัวอย่างของแต่ละหน้าจอ ก็ตามภาพด้านล่างนี้เลย (ทุกภาพสามารถคลิกเพื่อชมภาพขนาดใหญ่ได้)
ส่วนภาพอินเตอร์เฟสต่างๆ มีให้ชมในหน้าถัดไปครับ
อีกข้อที่ HTC ชูเป็นจุดเด่นของ HTC One ก็คือความสามารถในการซิงค์ข้อมูลแบ็คอัพจากสมาร์ทโฟนรุ่น/ยี่ห้ออื่นๆ โดยที่โดดเด่นที่สุดก็คือสามารถซิงค์ไฟล์ Backup iPhone มาใช้งานใน HTC One ได้ด้วยครับ อยู่ในเมนู Transfer Content ใน Settings
จากภาพด้านบน จะเห็นว่าสามารถ restore backup มาได้จากสมาร์ทโฟนหลายๆ ยี่ห้อทีเดียว รวมไปถึงไฟล์แบ็คอัพของ iPhone ด้วย
มาดูภาพถ่ายจากกล้องของ HTC One กันบ้าง สภาพที่ถ่ายนั้นแสงค่อนข้างน้อย ส่วนคุณภาพจะเป็นอย่างไร ลองพิสูจน์กันได้เลย
ส่วนตัวผมว่าภาพที่ถ่ายจาก HTC One นั้นก็คมชัดดี มี noise ค่อนข้างน้อย แต่ยังมีติดเรื่องสีเพี้ยนๆ อยู่บ้าง รวมไปถึงแสงที่ยังมีความฟุ้งอยู่ โดยเฉพาะเมื่อลองเทียบบางภาพกับภาพที่ถ่ายด้วย iPhone 5 ตามด้านล่างนี้ครับ
(ซ้าย: HTC One มี ratio เป็น 16:9 / ขวา iPhone 5 มี ratio เป็น 4:3)
ถ้าคลิกซูมลงไปที่แต่ละภาพ จะเห็นว่าภาพของ HTC One มี noise บนภาพน้อยกว่า iPhone 5 จริงๆ แต่ทั้งนี้กลไกเรื่องของการถ่ายภาพไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่เลนส์และเซ็นเซอร์เท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับการประมวลผลด้วยชิปประมวลผล และชุดซอฟต์แวร์คำสั่งด้วย ซึ่งในเรื่องนี้ดูเหมือน iPhone จะยังทำได้ดีกว่าในบางจุด ทั้งนี้ก็คาดว่าแพทช์อัพเดตของ HTC น่าจะเข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าวได้ เพราะในด้านของฮาร์ดแวร์นั้นเหนือกว่าคู่แข่งพอสมควร เหลือก็แต่เรื่องซอฟต์แวร์เท่านั้นเอง
ส่วนภาพด้านล่างนี้เป็นภาพถ่ายเทียบกันระหว่าง HTC One (ซ้าย) และ Sony Xperia Z (ขวา) ซึ่งภาพที่มองเห็นจากตาผมจริงๆ คือจะซีดกว่าภาพที่ได้จากกล้อง HTC One เล็กน้อย แต่สีสดกว่ากล้องจาก Xperia Z?
ลิ้งค์ภาพถ่ายและสกรีนช็อตอื่นๆ เพิ่มเติม
การทดสอบประสิทธิภาพ
SunSpider (หน่วยเวลาเป็น ms ยิ่งน้อยยิ่งดี)
HTC One ทำเวลาในการทดสอบคำนวณชุดคำสั่ง Javascript ของ SunSpider ไปแค่เพียง 1,209.8 ms เท่านั้น เหนือกว่าสมาร์ทโฟนตัวท็อปรุ่นอื่นๆ ในตลาดไปพอสมควร ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากชิป Snapdragon 600 (APQ8064T) ที่เป็นชิป quad-core ตัวแรงล่าสุดจาก Qualcomm แต่ก็ยังเป็นรองชิป Apple A6 ใน iPhone 5 อยู่พอสมควร
BrowserMark (คิดเป็นคะแนน ยิ่งมากยิ่งดี)
Browsermark เป็นการทดสอบประสิทธิภาพด้วยการวัดคะแนนจากการประมวลผลชุดคำสั่งกราฟิกและการเรนเดอร์ต่างๆ บนเว็บเบราเซอร์ ซึ่ง HTC One สามารถทำคะแนนไปได้ 2,357 คะแนน เหนือกว่าสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นๆ
GLBenchmark 2.5 Onscreen (หน่วยเป็นจำนวนเฟรมเรต ยิ่งมากยิ่งดี)
เมื่อลองทดสอบด้วย GLBenchmark 2.5 ที่ใช้สำหรับวัดประสิทธิภาพการประมวลผลกราฟิกของ GPU ปรากฏว่า HTC One สามารถรีดเฟรมเรตในโหมด Onscreen (เทสตามความละเอียดของจอ) ไปได้ 31 fps เหนือกว่าสมาร์ทโฟนจอ Full HD หลายรุ่น ทั้งที่ใช้ GPU เป็น Adreno 320 เหมือนๆ กันครับ แต่ถ้ามองในเรื่องของแง่การเล่นเกม ก็คงจะไม่ต่างกันมากนัก เล่นเกมในปัจจุบันได้ทุกเกมแน่นอน
GLBenchmark 2.5 Offscreen?(หน่วยเป็นจำนวนเฟรมเรต ยิ่งมากยิ่งดี)
ส่วนในโหมด Offscreen ซึ่งบังคับให้ทดสอบด้วยความละเอียด 1920 x 1080 ผลปรากฏว่า HTC One สามารถรีดเฟรมเรตได้สูงสุดคือ 34 fps ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในฐานข้อมูลของเราเลยทีเดียว
ภาพขวาล่างนี้เป็นคะแนนจากผลการทดสอบด้วย 3DMark บน Android นะครับ คะแนนออกมาก็ไม่หนีไปจากเครื่องรุ่นที่ใช้ชิป APQ8064 ที่เป็นรุ่นก่อนหน้ามากนัก (Nexus 4 ของผมทำคะแนนได้ 10474 กับ 5558 คะแนนจากในสองการทดสอบ)
ระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่
ด้านระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่นั้น HTC One สามารถทำได้ดีกว่า HTC Butterfly อย่างเห็นได้ชัด สามารถใช้งานได้กว่า 12 ชั่วโมง แม้ว่าจะมีการใช้งานทั้ง 3G, GPS, WiFi รวมไปถึง Notification ต่างๆ ที่เปิดทำงานอยู่ตลอด แต่ก็ยังสามารถใช้งานได้สบายๆ เพราะตามปกติ คนส่วนใหญ่คงไม่ได้เปิดมือถือเล่นตลอดเวลาทั้งวัน ส่วนระยะเวลาในการชาร์จแบตจนเกือบเต็มนั้นก็กินเวลาราวๆ 2 ชั่วโมงกว่าครับ
ถ้าให้สรุปความรู้สึกที่มีต่อ HTC One แบบสั้นๆ ง่ายๆ ก็สรุปได้ตามนี้
- เป็นสมาร์ทโฟนที่งานประกอบดีมากๆ เครื่องหนึ่งในตลาด ทำมาได้สมกับเป็นรุ่นไฮเอนด์
- ประสิทธิภาพการใช้งานดี ไหลลื่น แทบไม่มีกระตุก
- ใครที่ชอบฟีลลิ่งการใช้ iPhone น่าจะพอใจกับ HTC One ได้ไม่ยากนัก
- งานประกอบดี สวยงามน่าใช้ ขนาดตัวเครื่องกำลังดี ออกแบบมาให้เข้ากับการจับถือมากๆ
- เร็ว แรง ใช้งานได้ทันใจ
- จอสวย ทั้งในด้านความละเอียดภาพ,? สีสันและมุมมอง
- ระยะเวลาใช้งานแบตเตอรี่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นจาก HTC Butterfly แล้ว
- ลำโพงให้เสียงดัง มีคุณภาพกว่าลำโพงในมือถือรุ่นอื่นๆ
- มาพร้อมฟีเจอร์เรื่องกล้องมากมาย เช่นการตกแต่งภาพและการแชร์ภาพ ที่ช่วยเพิ่มประสบการณ์การใช้งานรูปแบบใหม่
- ความละเอียดภาพสูงสุดแค่ 4 MP ซึ่งไฟล์จะไม่ใหญ่เกินไป ทำให้สามารถแชร์ภาพไปบน Social Network ได้สะดวกโดยไม่ต้องย่อไฟล์เลยก็ยังได้
- HTC Blinkfeed อาจทำให้หลายๆ คนรำคาญขณะใช้งานได้
- กล้องยังไม่ดีอย่างที่โฆษณา (ต้องรอดูว่าหลังอัพเดตแล้วจะดีขึ้นมากขนาดไหน เพราะคิดว่าฮาร์ดแวร์น่าจะออกมาดีแล้ว เหลือปรับปรุงแต่เรื่องซอฟต์แวร์ประมวลผลภาพเท่านั้น)
- ปุ่ม Power กดใช้งานยาก เพราะมันราบกับขอบบนเครื่องมากไปนิด ต้องใช้ระยะเวลาในการจดจำตำแหน่งเล็กน้อย