ในปีนี้ คาดกันว่าน่าจะเป็นปีที่สมาร์ทโฟนรุ่นท็อปหลายๆ รุ่นมาพร้อมกับหน้าจอขนาด 5 นิ้ว และความละเอียดสูงถึงระดับ Full HD โดยเห็นได้จากแบรนด์ใหญ่รายต่างๆ ทยอยเปิดตัวมือถือที่มีลักษณะดังกล่าวออกมาสู่ตลาดมาตั้งแต่ช่วงต้นปี ซึ่ง Sony เองก็เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ผลิตรายแรกๆ ที่เปิดตัวสมาร์ทโฟนในกลุ่มนี้ออกมา รุ่นที่พูดถึงก็คือ Sony Xperia Z นั่นเอง (อ่านเป็น Xperia ซี นะครับ) โดยทางเราได้ไปเสาะหาเครื่องศูนย์ไทยมารีวิวให้ทุกท่านได้ชมกันเช่นเคยครับ ไปดูกันเลยดีกว่า
เปิดมาด้วยภาพโชว์ฟีเจอร์เด่นของ Sony Xperia Z กันเลยทีเดียว นั่นก็คือความสามารถในการกันน้ำได้นั่นเอง ซึ่งถือว่าเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นท็อปเบอร์แรกๆ ที่มาพร้อมความสามารถในการกันน้ำ/กันฝุ่นอีกด้วย ส่วนสเปคก็ตามนี้เลยครับ
- ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon S4 Pro (APQ8064) Quad-core ความเร็ว 1.5 GHz มาพร้อม GPU เป็น Adreno 320
- RAM 2 GB
- หน้าจอใช้พาเนล TFT ขนาด 5 นิ้ว ความละเอียด 1920 x 1080 พร้อมระบบ Sony Mobile BRAVIA Engine 2
- พื้นที่เก็บข้อมูล 16 GB รองรับ microSD สูงสุด 32 GB
- กล้องหลังใช้เซ็นเซอร์เทคโนโลยี Exmor RS ความละเอียดสูงสุด 13 MP
- กล้องหน้าใช้เซ็นเซอร์เทคโนโลยี Exmor R ความละเอียดสูงสุด 2 MP
- กันน้ำตามมาตรฐาน IPX5/7 (กันได้ลึก 1 เมตร นาน 30 นาที) และกันฝุ่นตามมาตรฐาน IP5X
- แบตเตอรี่ความจุ 2330 mAh
- น้ำหนักเครื่อง 146 กรัม
- มี NFC
- รุ่นที่ขายในไทย (C6602) ไม่รองรับ 4G ส่วน 3G สามารถใช้ได้ทุกเครือข่าย
- เครื่องที่ขายในไทยมีให้เลือก 2 สีคือสีขาวกับสีดำ
- ราคาเครื่องศูนย์ไทย 20,900 บาท
- สเปค Sony Xperia Z
เริ่มตั้งแต่กล่อง ที่ดูแล้วก็มาเป็นลักษณะเดียวกับรุ่นอื่นๆ ของ Sony เอง คือเป็นกล่องกระดาษแข็ง ภายในมีอุปกรณ์ต่างๆ ดังนี้
- ตัวเครื่อง Sony Xperia Z
- หูฟัง Sony MH-EX300AP มีไมค์ในตัว พร้อมจุกหูฟังมาให้อีก 2 คู่
- อะแดปเตอร์ชาร์จไฟ
- สาย Micro USB
- คู่มือและเอกสารเล็กๆ น้อยๆ
มาดูที่ตัวเครื่องกันบ้าง Sony Xperia Z นั้นถูกออกแบบมาให้มีหน้าตาเรียบหรู มีสไตล์แบบคลาสสิก ทั้งด้านหน้าและด้านหลังของเครื่องปิดด้วยกระจก ซึ่งบนกระจกทั้งสองชิ้นจะมีฟิล์มบางๆ ติดมาให้ตั้งแต่โรงงาน มีหน้าที่ป้องกันเศษกระจกกระจายออกมาถ้าหากกระจกแตก ส่วนถ้าใครต้องการติดฟิล์มกันรอยนั้น ก็คงต้องไปหาติดเพิ่มตามร้านนะครับ เพราะฟิล์มที่โรงงานติดมาให้นั้นไม่ได้ทำหน้าที่ป้องกันรอยขีดข่วนแต่อย่างใด โดยเครื่องรุ่นสีดำนั้น อันที่จริงไม่ถือว่าดำสนิท เพราะถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่าโทนสีออกไปทางน้ำเงินนิดๆ ด้านของโครงสร้างภายในนั้น Sony ให้ข้อมูลว่าโครงเฟรมของเครื่องทำมาจากกระจก Fibre Polyamide ซึ่งมีการประยุกต์ใช้แทนเหล็กสำหรับในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บางส่วนด้วย ดังนั้นมั่นใจเรื่องความแข็งแรงได้เลย
ดีไซน์ของด้านหน้านั้น แบนเรียบไม่มีปุ่มกดใดๆ อยู่เลย เพราะ Xperia Z ถูกออกแบบมาให้ใช้งานปุ่มแบบซอฟต์คีย์บนหน้าจอแทน ทำให้ด้านหน้าเครื่องมีเพียงกล้องหน้าที่อยู่ข้างซ้ายของโลโก้ Sony พร้อมลำโพงสนทนาด้านบนสุด และช่องรับเสียงของไมค์ที่ด้านล่างสุดของเครื่องเท่านั้น
ส่วนตรงมุมขวาบนสุดของเครื่องจะเป็นตำแหน่งของไฟ LED แสดง Notification โดยจะมีสีไฟตามสถานะต่างๆ กันไป เช่น สีส้มขณะชาร์จแบตอยู่, สีฟ้าถ้ามี Facebook Notification, สีเขียวเมื่อมีอีเมลเข้า เป็นต้น
ปุ่มสั่งงานเครื่องทั้งสามปุ่มก็มี Back, Home และ Recent Apps ตามปกติของ Android โดยผู้ใช้สามารถเรียกใช้งาน Google Now ได้ด้วยการวางนิ้วค้างไว้ที่ปุ่มโฮม จากนั้นก็ปาดขึ้นมาด้านบนเหมือนกับใน Nexus 4 ที่เป็น Pure Google ส่วนปุ่ม Recent Apps นั้น นอกเหนือจะโชว์หน้าต่างของแอพที่เปิดใช้งานล่าสุดแล้ว ยังมีแถบของ Widget พิเศษที่สามารถนำขึ้นมาใช้งานบนหน้าจอได้อีกด้วย (จะกล่าวถึงในส่วนของซอฟต์แวร์อีกที)
เรื่องของฟีลลิ่งการจับเครื่องนั้น สามารถจับเครื่องให้อยู่ในอุ้งมือได้พอดีๆ แม้ว่าค่อนข้างหนักมือไปนิด แต่การจะเอื้อมนิ้วหัวแม่มือข้ามไปข้ามมาระหว่างแถบ Notification กับแถบปุ่มกดสั่งงานทั้งสามปุ่มด้านล่างอาจจะลำบากไปซักหน่อย การจะขยับมือลงมาเพื่อให้กดได้ถนัดขึ้นนั้นก็ต้องเพิ่มความระวังลงไปด้วย เนื่องจากผิวหลังของตัวเรื่องเป็นกระจกที่ลื่น แต่ที่น่าเสียดายที่สุดในส่วนของการดีไซน์ก็คือขอบของตัวเครื่อง ที่ออกแบบมาเป็นเหลี่ยมแบบชัดเจนมาก ทำให้ส่วนตัวผมรู้สึกเหมือนถูกบาดมือเวลาใช้งาน โดยเฉพาะเวลายกขึ้นมาแนบหูระหว่างโทรศัพท์ ในจุดนี้ แนะนำว่าไปลองเล่นตัวเครื่องที่วางโชว์ตามศูนย์ก่อนก็จะดีครับ เพื่อจะได้ตัดสินใจว่าโอเคกับจุดนี้หรือเปล่า เพราะเรื่องฟีลลิ่งการใช้งานนั้น ก็สำคัญไปไม่น้อยกว่าสเปคเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านที่จำเป็นต้องใช้งานเป็นประจำ จับถือเครื่องในมือบ่อยๆ การเลือกเครื่องที่สามารถจับได้ถนัดมือก็นับเป็นปัจจัยสำคัญทีเดียว
ส่วนของฝาหลังนั้น Sony Xperia Z ถูกออกแบบมาให้มีการซีลปิดตัวเครื่องเป็นอย่างดี ทำให้ฝาหลังไม่สามารถแกะออกได้ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงที่น้ำจะเข้าไปตามรอยต่อต่างๆ ทำให้หน้าตานั้นออกมาเป็นกระจกไปทั้งแผ่น มีคำว่า Xperia อยู่ตรงเกือบกึ่งกลางเครื่อง (ส่วนตัวผมดูแล้วสวยหรูมากๆ) ด้านบนสุดเป็นกล้องถ่ายรูปที่ออกแบบมาให้เรียบไปกับฝาหลังเลย ทำให้ไม่มีส่วนนูนขึ้นมาแต่อย่างใด ใกล้ๆ กันนั้นเป็นแฟลช LED ปกติ ส่วนที่เป็นช่องเล็กๆ นั้น คือช่องรับเสียงของไมโครโฟนด้านหลัง ปิดท้ายด้วยสติ๊กเกอร์เล็กๆ สีดำ นั่นคือสติ๊กเกอร์ที่แสดงว่าเครื่องนี้มี NFC สามารถแกะออกได้ ไม่มีผลกับการทำงานของเครื่องแต่อย่างใดจ้า ส่วนในการใช้งานจริง พบว่าผิวฝาหลังมีรอยนิ้วมือติดง่ายมาก ดังนั้นใครที่อยากให้เครื่องดูสวยแวววาวอยู่ตลอด ก็คงต้องหมั่นเช็ดทำความสะอาดกันบ่อยนิดนึง
ด้านล่างของฝาหลังก็มีโลโก้มาตรฐานรับรองต่างๆ สกรีนติดอยู่
ถัดมาก็เป็นส่วนของด้านข้างเครื่อง เริ่มที่ฝั่งขวากันก่อนนะครับ จะเห็นจุดเด่นที่สุดก็คือหมุดใหญ่สีเงิน นั่นคือปุ่ม Power ของ Xperia Z ซึ่งนูนขึ้นมาชัดเจนและสะดุดนิ้วมากๆ ถัดลงมาด้านล่าง (เมื่อวางเครื่องในแนวตั้ง) ก็เป็นตำแหน่งของปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง ที่ส่วนตัวผมค่อนข้างลำบากในการใช้งานจริง เนื่องจากต้องงอนิ้วหัวแม่มือลงมากด หรือไม่ก็ต้องเลื่อนมือลงมาเพื่อให้กดได้สะดวก แล้วทีนี้ก็ต้องระวังเครื่องลื่นหลุดมืออีก จัดว่าสร้างความลำบากในการใช้งานไม่น้อยเลย ส่วนช่องเล็กๆ ที่เห็นเป็นขีดนั้น คือช่องลำโพงของตัวเครื่องครับ เสียงที่ได้จากลำโพงนั้นไม่ดีมาก อยู่ในระดับที่พอฟังได้
ย้อนขึ้นมาดูส่วนบนเหนือปุ่ม Power จะเป็นตำแหน่งของช่องใส่ไมโครซิม ซึ่งจะต้องเปิดฝาขึ้น แล้วใช้เล็บแงะถาดซิมออกมาครับ
มาดูฝั่งซ้ายกันบ้าง เริ่มจากด้านบนสุดจะเป็นช่องของพอร์ต Micro USB ถัดลงมาเป็นช่องเสียบการ์ด microSD ซึ่งทั้งสองช่องต่างก็มีฝาปิดอยู่ โดยถ้าสังเกตดีๆ บริเวณฝาจะมีซีลยางสำหรับกันน้ำติดตั้งไว้ ซึ่งสามารถกันนำได้เป็นอย่างดี แต่ก็แน่นอนว่ามันย่อมมีอายุการใช้งานที่จำกัดในระดับหนึ่ง ดังนั้นถึงแม้ว่ามันจะกันน้ำได้จริง ก็อย่าเอาไปแช่หรือถูกน้ำบ่อยๆ นะครับ ถ้าเกิดยางมันเริ่มเสื่อมขึ้นมา อาจจะทำให้ประสิทธิภาพการกันน้ำลดลง และน้ำหรือความชื้นเข้ามาในเครื่องได้ แต่ดูแล้วก็น่าจะสามารถใช้งานได้นานจนกว่าจะเปลี่ยนเครื่องใหม่
ส่วนขั้วทองแดงสองขีดนั้น คือส่วนพอร์ตสำหรับเชื่อมต่อกับแท่น Dock สำหรับชาร์จไฟที่เป็นอุปกรณ์เสริมของ Xperia Z (ในไทยไม่มีแถมให้) ซึ่งรูปร่างหน้าตาก็ตามภาพด้านบนเลยครับ ประโยชน์หลักๆ ก็คือช่วยให้สามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้โดยไม่ต้องเปิดพอร์ต Micro USB ขึ้นมา โดยใครที่สนใจหาซื้อ สามารถสั่งจองกับทาง Sony Store หรือระบบ Sony Store Online ไทยได้แล้ว สนนราคาที่ 1,090 บาท (ลิ้งค์ไปหน้า Sony Store Online)
ด้านบนก็มีช่องพอร์ตหูฟังสำหรับเสียบแจ็คขนาด 3.5 มิลลิเมตรอยู่ โดยจะซ่อนอยู่ใต้ฝาปิดกันน้ำเช่นเดียวกัน ซึ่งการซ่อนพอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ ด้วยฝาปิดเช่นนี้ นอกจากจะช่วยกันน้ำ/ความชื้น/ฝุ่นแล้ว ยังให้ในเรื่องของความสวยงาม เพราะด้านข้างจะเรียบเนียนไปหมด แต่จุดที่อาจจะทำให้หลายๆ คนรำคาญก็คือระหว่างใช้งานช่องต่างๆ เช่น Micro USB หรือช่องเสียบหูฟัง ฝาปิดจะเผยอขึ้นมา เพราะมีหัวแจ็คเสียบอยู่ ซึ่งเสี่ยงต่อการที่ฝาจะไปกระแทก หรือถูกกระชากได้ ดังนั้นระหว่างการใช้งานพอร์ตต่างๆ ก็ต้องระมัดระวังในจุดนี้ด้วย
มาพูดถึงเรื่องการใช้งานเชิงซอฟต์แวร์กันบ้าง หน้าตา UI ของรอม Sony Xperia Z นั้น ก็เป็นแนวเดียวกับเครื่องรุ่นอื่นๆ ของ Sony ในซีรี่ส์ NXT ทำให้ผู้ที่ใช้งานสมาร์ทโฟน Sony รุ่นก่อนหน้านี้มาไม่ต้องปรับตัวในการใช้งานมากนัก หน้าตาโดยรวมนั้นสวย เรียบหรู ดูดีตามแบบของ Sony
แต่ในเรื่องของจอแสดงผล ถ้าใช้งานเครื่องจริง จะพบว่าสีจอออกอมเหลืองและซีดอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ให้สีสันโดยรวมที่สบายตา ไม่จัดว่าแย่นัก ส่วนเรื่องมุมมองจอนั้นอาจจะแคบกว่าสมาร์ทโฟนรุ่นท็อปของแบรนด์อื่นๆ เนื่องด้วย Sony Xperia Z เลือกใช้พาเนลจอแบบ TFT ซึ่งมีมุมมองของภาพไม่กว้างเท่า IPS ที่หลายๆ คนน่าจะคุ้นเคยกันแล้ว ดังนั้นเรื่องจอคงเป็นจุดหักคะแนนจุดหนึ่งของ Xperia Z ได้ สำหรับคนที่ต้องการมือถือจอสวยสีสันสดใสครับ และอาจจะเป็นรองสมาร์ทโฟนตัว flagship ในตลาดรุ่นอื่นๆ พอสมควร
Sony Xperia Z มาพร้อมกับ Android 4.1.2 Jelly Bean การทำงานโดยรวมไหลลื่นดีสมกับใช้ชิปประมวลผลแบบ Quad-core ตัวไลน์บนของปัจจุบัน ส่วนจุดเด่นด้านซอฟต์แวร์อื่นๆ ก็เช่น
- Mobile BRAVIA Engine 2 เป็นเอนจิ้นที่ช่วยให้การแสดงผลภาพและวิดีโอมีสีสันสวยงาม ด้วยการปรับการแสดงผลสีและ contrast ให้จัดขึ้น ทำให้ภาพที่แสดงผลบนจอดูสวยงามกว่าปกติ ซึ่งผลของ BRAVIA Engine 2 นี้จะเป็นเฉพาะภาพที่แสดงบนจอเท่านั้น ไม่ได้มีการปรับแก้ภาพจริงแต่อย่างใด ดังนั้นถ้าใครต้องการดูภาพที่สีสันใกล้เคียงกับภาพที่ถ่ายจริงมากที่สุด ก็ควรปิดการใช้งาน BRAVIA Engine ไปครับ
- หน้าต่างเตือนให้ระวังฝาปิด ในกรณีที่เปิดฝาของพอร์ตต่างๆ ใช้งาน จะมีหน้าต่างแจ้งเตือนให้ปิดฝาให้สนิทด้วย เพื่อป้องกันน้ำและความชื้นเข้าไปยังภายในเครื่อง
- ระบบ Power Management เป็นระบบช่วยดูแลการใช้พลังงานของเครื่อง ซึ่งสามารถปรับการทำงานได้หลายแบบ เช่น STAMINA Mode เพื่อให้ระบบปิดการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตในขณะที่ปิดจออยู่ เป็นต้น ซึ่งเหมาะกับผู้ที่จำเป็นต้องใช้งานมือถือเป็นระยะเวลานานๆ แล้วไม่สามารถหาที่ชาร์จแบตได้
ลองจับ Sony Xperia Z มาเทียบกับ iPhone 5 ดูบ้างครับ ขนาดเครื่องต่างกันมากทีเดียว
ต่อมาก็เป็นส่วนที่เราลองจุ่ม Xperia Z ในน้ำดูบ้าง เพื่อแสดงให้เห็นว่าสามารถกันน้ำได้จริง
ซึ่งเมื่อจอเปียกน้ำนั้น การใช้งานจอจะทำได้ลำบากขึ้น เนื่องจากจอรับประจุไฟฟ้าจากน้ำ ทำให้เสมือนว่าเป็นการสั่งการจากผู้ใช้ (ตามปกติคือจอรับประจุไฟฟ้าจากนิ้วเรา) ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้งานจอได้ตามปกติ ซึ่งจอสัมผัสของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่กันน้ำในท้องตลาดส่วนใหญ่ก็จะเป็นแบบนี้เช่นเดียวกัน
ภาพถ่ายจากกล้องของ Sony Xperia Z
ถ่ายในที่มีแสงน้อย
ถ่ายในโหมดพาโนรามา
ภาพถ่ายจากกล้องหลังนั้น ให้สีสันที่ค่อนข้างตรง แต่ออกซีดกว่ากล้องจากสมาร์ทโฟนตัวท็อปหลายๆ เครื่อง ใครที่หวังไว้ว่า Xperia Z จะกล้องดีขั้นเทพ คงจะผิดหวังไปซักเล็กน้อย แต่จุดที่น่าสนใจในเรื่องของการถ่ายรูปก็คือโหมดการถ่ายที่มีชื่อว่า Superior Auto เนื่องจากสามารถคำนวณและปรับเปลี่ยนการตั้งค่าแบบอัตโนมัติได้แม่นยำดี ช่วยให้สามารถถ่ายภาพได้ง่ายและสะดวกขึ้น
ตัวอย่างคลิปวิดีโอที่ถ่ายใต้น้ำ
การจะถ่ายวิดีโอใต้น้ำ ต้องกดถ่ายตั้งแต่อยู่บนบก จากนั้นค่อยเอาเครื่องลงในน้ำนะครับ เพราะไม่สามารถกดถ่ายจากใต้น้ำได้
ต่อมาก็เป็นหน้าตาอินเตอร์เฟสต่างๆ กันบ้าง
? | |
คีย์บอร์ดภาษาไทยที่ติดมากับเครื่องนั้น ส่วนตัวผมคิดว่ามันใช้งานยากไปหน่อย เพราะมีการปรับ layout ของปุ่มต่างๆ ไป เช่นการซ่อนสระและวรรณยุกต์ไว้ แต่ก็ทดแทนมาด้วยความสามารถในการ swipe เพื่อเลือกคำในภาษาไทยได้ในตัว ซึ่งในจุดนี้ถ้าใครไม่ชิน ก็สามารถดาวน์โหลดคีย์บอร์ดภาษาไทยตัวอื่นๆ จาก Play Store มาลงได้ตามปกติเหมือนเช่น Android เครื่องอื่นๆ
หนึ่งประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจ ก็คือข่าวลือที่พูดคุยกันว่า Xperia Z เครื่องศูนย์ไทย ตัวรอมมีปัญหา ใช้งานแอพแล้วเด้ง โดยจากที่ผมลองใช้งานตั้งแต่ซื้อเครื่องมาแล้วแกะกล่องครั้งแรก พบว่ามีปัญหาดังกล่าวจริงกับแอพ Facebook ซึ่งผมก็ลอง Reset เครื่องให้เหมือนออกมาจากโรงงาน แล้วลองอัพเดตแอพทุกตัวในเครื่องใหม่หมด ก็ปรากฏว่าปัญหาดังกล่าวหายไป และไม่พบอีกเลยครับ ดังนั้นใครที่ซื้อเครื่องศูนย์ไทยมาแล้วเจอปัญหาดังกล่าว แนะนำว่าลอง Factory Reset ดูซักครั้งครับ ปัญหาน่าจะหายไปหรือลดลง หรือถ้าไม่หายก็อาจจะต้องรอการอัพเดตจาก Sony อีกทีหนึ่ง
อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่น่าสนใจก็คือบรรดา widget ต่างๆ ที่สามารถลากให้มาลอยอยู่ชั้นบนสุดของหน้าจอชั่วคราวได้ โดย widget เหล่านี้ใช้ชื่อเรียกว่า Small Apps ซึ่งเป็นแอพอรรถประโยชน์ตัวเล็กๆ ที่สามารถลากมาใช้งานบนจอได้โดยไม่ต้องเปิดแอพตัวเต็มขึ้นมา ตัวอย่างของ Small Apps ก็เช่น เครื่องคิดเลข, กระดาษจดโน้ต, กล้องถ่ายรูป, นาฬิกาจับเวลา นอกจากนี้ผู้ใช้ยังสามารถดาวน์โหลด Small Apps เพิ่มเติมจากใน Play Store ได้ด้วย ตัวอย่างของแอพที่มีให้โหลดใน Play Store ก็เช่น
- ตัวแปลงหน่วย
- ตัวแปลงค่าเงิน
- วิดเจ็ตสำหรับเปิด/ปิดการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต
- ตัวอ่านฟีด RSS
- Task Manager
ด้านบนนี้เป็นตัวอย่างการใช้งานแอพฟังเพลง หรือที่ Sony ใช้ชื่อว่า Walkman นั่นเอง ซึ่งสามารถทำมาได้ดีทั้งหน้าตาและการใช้งาน เพราะสามารถปรับแต่งเสียงได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการปรับรูปแบบของการจำลองทิศทางเสียง (Surround), Clear Phase ที่ช่วยให้เสียงจากลำโพงในเครื่องให้เสียงออกมาได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมี Equalizer ให้ปรับแต่งได้อย่างอิสระ นับว่าทำออกมาเอาใจคอเพลงกันเต็มที่ ซึ่งเสียงที่ออกมาก็ไม่ทำให้ผิดหวังอีกด้วย ยิ่งมีไฟล์เพลงคุณภาพสูง ผสมกับหูฟังดีๆ ซักตัว รับรองว่ามีฟังเพลินจนลืมเวลากันได้สบายๆ
ด้านล่างนี้เป็นตัวอย่างหน้าจอของแอพถ่ายภาพครับ มีโหมดให้ปรับเยอะมาก
มาดูเรื่องการใช้งานแบตเตอรี่กันต่อเลย (ไม่ได้เปิดโหมดประหยัดพลังงาน)
ในการใช้งานจริง ต่อเน็ต เล่นเกมบ้าง เปิดโซเชียลต่างๆ ก็พบว่าสามารถใช้งานหนึ่งวันได้อย่างไม่มีปัญหาครับ ส่วนถ้าใช้งาน 3G ระยะเวลาการใช้งานก็จะลดจากนี้ลงไปนิดนึง คือราวๆ 9-10 ชั่วโมงตามมาตรฐานของสมาร์ทโฟนตัวท็อป แต่ถ้าใครใช้งานเครื่องหนักๆ เช่นเปิดจอความสว่างสูง, เปิด GPS แทบตลอด อันนี้ก็จะยิ่งกินแบตขึ้นกว่าปกติไปอีก
ส่วนความร้อนระหว่างการใช้งานนั้น ถ้าใช้ปกติ เล่นเว็บ เล่น Facebook คุย Line ธรรมดาๆ ตัวเครื่องก็ไม่ร้อนเท่าไร สามารถจับได้สบายๆ ส่วนถ้าเล่นเกมหรือใช้งานแอพที่ประมวลผลหนักๆ ตรงบริเวณใกล้ๆ กับกล้องหลังจะมีความร้อนสูงขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด คาดว่าตรงจุดนั้นน่าจะเป็นตำแหน่งที่ติดตั้งชิปประมวลผลเอาไว้ จึงมีความร้อนสูงขึ้นมากว่าบริเวณอื่น
รูปอินเตอร์เฟสและภาพถ่ายเพิ่มเติม
ผลการทดสอบประสิทธิภาพ
SunSpider
SunSpider เป็นการทดสอบประสิทธิภาพการประมวลผลของ CPU ในการคำนวณชุดคำสั่ง Javascript เพื่อวัดว่า CPU เราสามารถคำนวณได้เร็วขนาดไหน โดยผลที่ได้จะออกมาเป็นเวลาในหน่วย ms ซึ่งเลขยิ่งน้อยก็ยิ่งดี ทั้งนี้ Sony Xperia Z ใช้เวลาในการคำนวณเฉลี่ยเป็น 1,322.2 ms ซึ่งจัดว่าแรงกว่าชิปตัวเดียวกันในสมาร์ทโฟนรุ่นอื่น อยู่พอสมควร (ในเครื่องรุ่นอื่นจะเกาะอยู่ในช่วง 1,700 ms ขึ้นไป)
Browsermark
Browsermark เป็นชุดทดสอบประสิทธิภาพการประมวลผลชุดคำสั่งและการทำงานของเว็บเบราเซอร์จาก CPU อีกเช่นเดียวกัน โดยผลที่ได้จะออกมาเป็นคะแนน ซึ่งยิ่งมากก็ยิ่งดี ทั้งนี้ Sony Xperia Z สามารถทำคะแนนได้ 2,326 คะแนน ใกล้เคียงกับ HTC One ซึ่งใช้ชิปรุ่นที่แรงกว่า นับว่า Xperia Z สามารถทำคะแนนในการประมวลผลได้ดีมาก สำหรับทั้งสองการทดสอบของเรา
GLBenchmark 2.5 Onscreen
ในการทดสอบ GLBenchmark นี้ ทางเราได้เปลี่ยนมาใช้เวอร์ชัน 2.5 แทนนะครับ
ตัว GLBenchmark เป็นการทดสอบพลังประมวลผลกราฟิกของ GPU ซึ่งคิดคะแนนออกมาเป็นจำนวนเฟรมต่อวินาที (framerate) โดย Sony Xperia Z ที่ใช้ GPU เป็น Adreno 320 สามารถแสดงผลได้ที่ 30 fps ทั้งๆ ที่จอความละเอียด 1920 x 1080 จัดว่าอยู่ในระดับที่แรงเหลือเฟือสำหรับเล่นเกมในปัจจุบันแน่นอน ดังนั้นใครที่จะซื้อมาเล่นเกมก็ไม่ต้องกังวลเลยครับ แรงเหลือเฟือเลยทีเดียว
GLBenchmark 2.5 Offscreen
ส่วนการทดสอบในโหมด Offscreen นั้น เป็นการรันชุดเทสแบบบังคับให้ GPU รันบนความละเอียด 1920 x 1080 เท่ากันทุกเครื่อง เพื่อให้สามารถวัดประสิทธิภาพและเปรียบเทียบระหว่างเครื่องได้โดยตรง (แบบ Onscreen จะรันตามความละเอียดของจอ) โดย Sony Xperia Z สามารถทำคะแนนเฟรมเรตในโหมด Offscreen ได้ 26 fps ซึ่งถือว่าน้อยกว่ารุ่นอื่นๆ ที่ใช้ GPU เดียวกันอยู่อย่างเห็นได้ชัด แต่อย่างไรก็ตาม ยังถือว่าอยู่ในกลุ่มท็อปของสมาร์ทโฟนในปัจจุบันได้อยู่
(ซ้าย) เป็นผลการทดสอบจากแอพ Geekbench 2 ซึ่ง Xperia Z มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับที่สูงกว่า HTC Butterfly แต่ก็ยังได้คะแนนน้อยกว่าผลเทสของ Asus Padfone 2, Nexus 4 ส่วนท็อปสุดจากฐานข้อมูล Geekbench จะเป็นตัว HTC One ครับ
(ขวา) เป็นผลการทดสอบจากแอพ 3DMark ที่เพิ่งมีให้ใช้งานบน Android ได้ไม่นาน ซึ่งแกนหลักของโปรแกรมก็คือทดสอบประสิทธิภาพการประมวลผลกราฟิกของ GPU ด้วยชุดการทดสอบสองชุด (Ice Storm กับ Ice Storm Extreme ที่เทสโหดกว่าปกติ) ซึ่งผลที่ได้ออกมา Xperia Z จัดว่าอยู่ในระดับที่ได้คะแนนค่อนข้างสูงครับ ส่วนเรื่องการเปรียบเทียบนั้น คงต้องรออีกซักพักใหญ่ๆ จึงจะสามารถใช้ 3DMark เป็นมาตรฐานได้ เพราะตัวแอพสามารถรันได้เฉพาะเครื่องที่มีแรมอย่างต่ำ 1 GB เป็นต้นไปเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถเทสกับเครื่องหลายๆ รุ่นในตลาดได้ คงต้องรอจนกว่าเครื่องส่วนใหญ่ในตลาดใช้แรม 1 GB เป็นอย่างต่ำกันซะก่อน จึงจะสามารถใช้เป็นมาตรฐานเปรียบเทียบกันตรงๆ ได้ครับ
Sony Xperia Z จัดเป็นหนึ่งในสมาร์ทโฟนที่น่าใช้เครื่องหนึ่ง เนื่องด้วยเป็นรุ่น flagship ที่มีจุดเด่นทั้งในด้านของสไตล์ที่สะดุดตาเหนือไปจากรายอื่นๆ รวมไปถึงฟีเจอร์เด็ดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการกันน้ำกันฝุ่น, ระบบแสดงผล BRAVIA Engine ที่ช่วยให้ภาพมีสีสันสดใสยิ่งขึ้น ซึ่งยกมาจากทีวีของ Sony เอง, ระบบ Walkman ที่รองรับการปรับแต่งเสียงได้หลากหลายสะใจนักฟังเพลง ส่วนด้านของความแรงความลื่นในการใช้งาน ก็เรียกได้ว่าหายห่วง เนื่องด้วยพลังการประมวลผลของชิปรุ่นล่าสุดในยุคนี้ ทำให้ Sony Xperia Z เหมาะกับการใช้งานในแทบจะทุกรูปแบบไม่ว่าจะดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม เล่นโซเชียลเน็ตเวิร์ค การตอบสนองก็รวดเร็วทันใจ อาการหน่วง ช้า กระตุกแทบจะไม่มีให้เห็นเท่าไร
ข้อดี
- หน้าตาสวยงาม ดูมีสไตล์ฉีกไปจากรุ่นอื่นๆ ในตลาด
- สามารถกันน้ำ กันฝุ่นได้ตามมาตรฐานรับรอง
- สามารถเพิ่มความจุได้ด้วย microSD (รุ่นท็อปหลายรุ่นในตลาดไม่รองรับ microSD)
- มาพร้อมระบบเสียงที่มีคุณภาพดี ฟังเพลงสนุก
- จอใหญ่ มองแล้วสบายตา และมาพร้อมระบบ BRAVIA Engine ที่ช่วยให้การแสดงผลภาพดูคมชัด สดใสขึ้น
ข้อสังเกต
- เครื่องศูนย์ไทยมีอาการแอพเด้งออก (Force Close) บ้างจริง และไม่รองรับการเชื่อมต่อ 4G LTE เหมือนรุ่นต่างประเทศ
- สีจอซีดไป และมุมมองด้านข้างไม่กว้างนัก เนื่องจากใช้พาเนลแบบ TFT ผิดจากรุ่นท็อปหลายๆ ตัวที่ใช้พาเนล IPS กันหมด
- กล้องไม่ดีเท่าที่หลายคนคาดหวัง แต่ก็จัดว่าอยู่ในระดับโอเค
- ลักษณะตัวเครื่องมีเหลี่ยมมุมมากเกินไป ทำให้รู้สึกบาดมือเวลาจับ อีกทั้งตำแหน่งของปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง ตั้งอยู่ในจุดที่กดได้ยาก
- ในขณะใช้งานพอร์ต Micro USB หรือเสียบแจ็คหูฟังอยู่ ฝาปิดพอร์ตจะเผยอออกมา ต้องระมัดระวังในการใช้งานมากขึ้น